- คดีหมิ่นประมาท, ฐานข้อมูลคดี
ประธานศาลรัฐธรรมนูญ vs โฆษกพรรคเพื่อไทย
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
พร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย วิจารณ์ วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ว่ามีความสัมพันธ์กับพรรคประชาธิปัตย์และไม่มีความชอบธรรมในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นเหตุให้ถูกดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาท
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ เป็นชาวจังหวัดพังงา เคยเป็นนักแสดงก่อนที่จะผันมาเล่นการเมือง ในปี 2550 พร้อมพงศ์สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคพลังประชาชนที่จังหวัดพังงาแต่ไม่ได้รับเลือก พร้อมพงศ์ได้รับการแต่งตั้งเป็นโฆษกพรรคเพื่อไทยในเดือนธันวาคม 2551
นายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ เป็นอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
8 มิถุนายน 2553 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ด้วยการโฆษณาให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์และสื่อมวลชนอื่นๆ ว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขาดความยุติธรรมและขาดความเป็นกลาง เป็นเหตุทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นเกลียดชังฯ เหตุเกิดที่แขวงทุ่งสองห้อง เขตหลักสี่ กรุงเทพมหานคร ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326,328
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
8 สิงหาคม 2553
นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ คัดค้านการทำหน้าที่ของ นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ และนายจรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ในคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ เนื่องจากเห็นว่าบุคคลทั้งสองเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในคดีดังกล่าว โดยนายวสันต์เคยเป็นทนายความในสำนักงานเดียวกับ นายบัณฑิต ศิริพันธุ์ ซึ่งเป็นทนายความผู้รับผิดชอบคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ส่วนนายจรัญเคยเข้าร่วมประชุมที่บ้านของนายปริญ มาลากุล ก่อนเกิดรัฐประหารวันที่ 19 กันยายน 2549
15 มิถุนายน 2553
วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มอบอำนาจให้ นายสุวิชา โรจน์วณิชย์ ทนายความเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายเกียรติอุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.53 จำเลยทั้งสองร่วมกันแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยหมิ่นประมาทโจทก์ทำนองว่าโจทก์ได้เชิญผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปพุดคุยในห้องทำงานเป็นการส่วนตัว โดยไม่มีเหตุอันควร ในวันที่ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์เดินทางมายื่นคำร้องขอขยายเวลายื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาคดียุบพรรค ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะโจทก์ไม่เคยเชิญหรือยินยอมให้ผู้แทนของพรรคประชาธิปัตย์เข้าไปในห้องทำงาน การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใส่ความโจทก์ทำให้โจทก์เสื่อมเสียชื่อเสีย เพราะประชาชนจะเข้าใจว่าโจทก์ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่น่าเชื่อถือ ขาดความยุติธรรมและความเป็นกลาง รวมทั้งขัดต่อจริยธรรมของตุลาการ ขอให้พิพากษาลงโทษจำเลยตามความผิด และร่วมกันโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์รายวัน 7 ฉบับเป็นเวลา 7 วัน
9 สิงหาคม 2553
นัดไต่สวนมูลฟ้อง
29 – 30 พฤศจิกายน 2554
สืบพยานโจทก์
6-9 ธันวาคม 2554
สืบพยานจำเลย
31 กรกฎาคม 2555
นัดฟังคำพิพากษา
เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญารัชดา ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ. 1886/2553 ที่นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์เป็นโจทก์ ฟ้องนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยและนายเกียรติ์อุดม เมนะสวัสดิ์ ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย ในความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา หลังจำเลยทั้งสองร่วมกันใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณา ให้ข่าวแก่ผู้สื่อข่าว ว่าโจทก์ให้ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์เข้าพบเป็นการส่วนตัวในระหว่างที่มีการพิจารณาคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง
คำพิพากษาสรุปความได้ว่า การกล่าวหาของจำเลยเป็นเรื่องที่ไม่สมควรยิ่ง เพราะโจทก์เคยเป็นผู้พิพากษามาเป็นเวลานาน ย่อมมีความเป็นธรรมและเป็นกลาง การที่จำเลยทั้งสองแถลงข่าว ย่อมเล็งเห็นผลจากการแถลงข่าวได้ว่า โจทก์จะได้รับความเสียหาย เพราะประชาชนทั่วไปจะเข้าใจได้ว่า โจทก์ไม่มีความเป็นกลาง โจทก์ยืนยันว่าวันที่ 10 พฤษภาคม 2553 โจทก์ไปทำงานที่ศาลรัฐธรรมนูญโดยไม่มีใครเข้าพบ และโจทก์มีพยานมาเบิกความยืนยันโดยไม่มีข้อพิรุธ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกล่าวหาโดยไม่มีมูลความจริง การแถลงข่าวของจำเลยจึงไม่ใช่การแสดงความเห็นโดยสุจริต พยานหลักฐานโจทก์มีน้ำหนักรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามฟ้อง พิพากษาว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ประกอบมาตรา 83 ลงโทษจำคุกจำเลยคนละ 1 ปี ปรับ 50,000 บาท จำเลยไม่เคยรับโทษทางอาญามาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี และให้จำเลยทั้งสองเผยแพร่คำพิพากษาย่อคดีนี้ในนสพ.ไทยรัฐ มติชน และกรุงเทพธุรกิจ เป็นเวลา 7วัน ติดต่อกันโดยจำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
หลังฟังคำพิพากษา นายพร้อมพงศ์เปิดเผยว่าน้อมรับคำพิพากษาของศาลแต่จะขอสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ต่อไป
30 สิงหาคม 2556
จำเลยทั้งสองเดินทางมาที่ศาลพร้อมขอเลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป เนื่องจากติดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎร ศาลพิจารณาแล้วเห็นควรให้เลื่อนฟังคำพิพากษา ไปเป็นวันที่ 12 ธันวาคม 2556 แทน
12 ธันวาคม 2556
นัดฟังคำพิพากษาอุทธรณ์
เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณา 802 ศาลอาญารัชดา ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้ลงโทษจำคุกจำเลยหนึ่งปีโดยไม่รอลงอาญาและให้ยกโทษปรับจำเลย
ศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลในการลงโทษจำเลยโดยไม่รอลงอาญาว่า จำเลยที่หนึ่งจบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตและเป็นอาจารย์หลายสถาบัน ส่วนจำเลยที่สองจบปริญญาตรี เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จำเลยทั้งสองจึงเป็นคนมีเกียรติ เป็นที่น่าเชื่อถือของบุคคลทั่วไป ควรทำตัวให้เป็นตัวอย่างที่ดีของสังคม แต่จำเลยทั้งสองกลับร่วมกันใส่ร้ายด้วยข้อความอันเป็นเท็จต่อโจทก์ซึ่งเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ โดยเจตนาไม่สุจริต ทำให้ประชานจำนวนมาก รู้สึกดูหมิ่นดูแคลน ไม่เชื่อถือว่าศาลรัฐธรรมนูญปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นธรรม และเป็นการลดความน่าเชื่อถือของศาลอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ หลังถูกฟ้องจำเลยทั้งสองยังไม่รู้สึกสำนึก แม้จำเลยจะเป็นส.ส.ไม่เคยต้องโทษจำคุกก่อน แต่เพื่อไม่เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง จึงสมควรลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา
หลังฟังคำพิพากษา นายพร้อมพงศ์ และนายเกียรติอุดม ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นเงินสดคนละ 150,000 บาท ขอปล่อยชั่วคราวระหว่างฎีกา ศาลพิจารณาแล้วอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสองได้ โดยตีราคาประกันคนละ 100,000 บาท