11 มีนาคม 2556
รายการตอบโจทย์ประเทศไทย เริ่มแพร่ภาพเทปรายการในชุด “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ซึ่งแบ่งออกเป็นห้าตอน
ตอนที่หนึ่ง เป็นการสนทนากับ สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
12 มีนาคม 2556
ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอนที่สอง มี ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นแขกรับเชิญ
13 มีนาคม 2556
ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอนที่สาม มี พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร อดีตนายตำรวจประจำราชสำนัก ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแขกรับเชิญ
14 มีนาคม 2556
ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอนที่สี่มี ดร.สมศักดิ์ เจียมธีรสกุลกับ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาออกรายการพูดคุยแลกเปลี่ยนทรรศนะกัน
15 มีนาคม2556
เวลาประมาณ 14.00 น. กลุ่มผู้ไม่เห็นด้วยกับการนำเสนอประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเดินทางไปร้องเรียนและปักหลักอยู่ที่สถานี
ต่อมานายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอส นำข้อร้องเรียนของผู้ชุมนุมเข้าไปในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบาย หลังการพิจารณาผู้ร่วมประชุมส่วนใหญ่เห็นว่าเทปรายการตอบโจทย์ตอนที่ห้าสามารถออกอากาศได้
ในช่วงข่าวภาคค่ำ ทางสถานีจึงชี้แจงการออกอากาศว่า จะเผยแพร่เทปรายการตอบโจทย์ตอนที่ห้าตามปรกติและจะเปิดพื้นที่สำหรับความคิดเห็นที่แตกต่างเพิ่มขึ้น จากนั้น ทางสถานีนำความเห็นของที่ประชุมมาแจ้งให้กับผู้ชุมนุมซึ่งยังปักหลักอยู่ที่ทำการของไทยพีบีเอสรับทราบ ผู้ชุมนุมมีท่าทีไม่พอใจและประกาศว่า หากไทยพีบีเอสเผยแพร่เทปรายการดังกล่าว ผู้ชุมนุมจะกระจายข่าวทางโซเชียลมีเดียเชิญชวนให้ผู้ไม่เห็นด้วยมาค้างคืนกันที่อาคารไทยพีบีเอส
หลังการเจรจากับผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวและฝ่ายบริหารของไทยพีบีเอสประชุมกับนายสมชัยเพื่อแจ้งท่าทีของผู้ชุมนุมและหาทางออก ที่ประชุมกังวลว่า การทำหน้าที่ของสื่ออาจนำไปสู่การเผชิญหน้าและความรุนแรง นายสมชัยจึงตัดสินใจชะลอการออกอากาศเทปดังกล่าวก่อนเวลาออกอากาศเพียง 15 นาทีเท่านั้น เพื่อรอให้คณะอนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนพิจารณาเทปรายการอีกครั้ง
ต่อมา สำนักข่าวอิศรารายงานโดยอ้างแหล่งข่าวในไทยพีบีเอสว่า มีพนักงานของสถานีไทยพีบีเอส ระดับบก. สองคน คือ น.ส.ณาตยา แวววีรคุปต์ บก.ข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะ และนายบุตรรัตน์ บุตรพรหม บก.รายการข่าว เข้าพบนายสมชัย สุวรรณบรรณ ผอ.สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก่อนรายการตอบโจทย์ ตอน สถาบันพระกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไทย 5 จะถูกสั่งให้ยุติการออกอากาศ ส่วน น.ส.ณัฏฐา โกมลวาทิน ไม่ได้เข้าพบ แต่แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า ไม่เห็นด้วยที่จะให้ออกอากาศรายการตอบโจทย์ฯ เทปดังกล่าว
16 มีนาคม 2556
นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา ผู้ดำเนินรายการ ประกาศยุติบทบาทการทำรายการตอบโจทย์ประเทศไทย โดยให้เหตุผลว่า เพื่อแสดงจุดยืนต่อวิชาชีพสื่อมวลชนและเพื่อแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยต่อการระงับการออกอากาศเทปรายการตอบโจทย์ฯ 5
17 มีนาคม 2556
ณาตยา แวววีรคุปต์ บก.ข่าวสังคมและนโยบายสาธารณะของไทยพีบีเอสโพสต์ข้อความบน facebook ส่วนตัวสรุปความได้ว่า การนำเสนอเรื่องสถาบันกษัตริย์เป็นเรื่องยากที่จะทำอย่างฉาบฉวย สื่อจึงต้องทำเรื่องนี้ด้วยความรับผิดชอบ เพื่อหาวิธีการนำเสนออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะเมื่อเป็นเรื่องความศรัทธาของคนส่วนใหญ่นั้นจะอันตรายหากจะหาคำตอบจากคนไม่กี่คน และไม่มีวันที่จะได้คำตอบที่ดีพอ
ในวันเดียวกันสำนักข่าวอิศรา เสนอข่าวว่า จากที่สำนักข่าวอิศราเคยเสนอข่าวว่ามีพนักงานระดับบก.ตบเท้าเข้าพบนายสมชัย สุวรรณบรรณ ไม่เป็นความจริง โดยสำนักข่าวอิสราได้อ้างถึงแหล่งข่าวในสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสว่า เป็นการเรียกประชุม ไม่ใช่การตบเท้าเข้าพบ โดยก่อนที่นายสมชัยจะตัดสินใจเลื่อนการออกอากาศรายการตอบโจทย์ฯ เทปดังกล่าว ก็มีผู้ร่วมประชุมอยู่ในห้องราว 11-14 คน นอกจากนายสมชัยก็มีนายมงคล ลีลาธรรม รองผอ.ไทยพีบีเอส ฝ่ายกฎหมาย บก.จำนวนหนึ่ง และผู้ประสานงานกับทีมตอบโจทย์ ที่เดินเข้าเดินออก โดยแหล่งข่าวกล่าวว่า เป็นการสั่งเลื่อนเพื่อพิจารณาให้รอบคอบ ไม่ใช่การยุติ และในที่ประชุมไม่มีใครเสนอให้ยุติหรือแบนแต่อย่างใด และที่ข่าวเสนอว่า น.ส.ณัฏฐา เป็นหนึ่งในบก. ที่เข้าพบนายสมชัยก็ไม่ได้เกี่ยวข้อง เนื่องจากเวลานั้นกำลังจัดรายการที่นี่ไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นรายการสดอยู่
18 มีนาคม 2556
นายสมชัย สุวรรณบรรณ ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์มติชนรายวัน บทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งระบุว่า ขณะนี้เทปของรายการตอบโจทย์ยังไม่ได้ถูกแบนอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ ทางสถานีเพียงแต่ชะลอการออกอากาศไว้เพื่อให้อนุกรรมการรับและพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้พิจารณาเทปรายการอย่างรอบคอบเสียก่อน
ขณะเดียวกัน พันเอก.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. เปิดเผยว่า ได้ตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาพิจารณากรณีสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ไม่ให้เทปรายการตอบโจทย์ฯ 5 ออกอากาศแล้ว โดยเห็นว่ากรณีดังกล่าวคล้ายกับกรณีที่สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 ยกเลิกการออกอากาศละครเรื่องเหนือเมฆ 2 ประเด็นซึ่งต้องมีการพิจารณา คือ 1. เนื้อหาไม่ได้ออกอากาศ จึงไม่ต้องพิจารณาว่าเนื้อหาผิดหรือถูก 2. ผู้อำนวยการสถานีเป็นผู้ออกคำสั่งให้ยุติการออกอากาศ จึงต้องมีการพิจารณาว่าคำสั่งดังกล่าวเหมาะสมหรือไม่ และมีอำนาจในการสั่งยุติหรือไม่ โดยคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคมนี้
เวลาต่อมาของวันเดียวกัน คณะกรรมการนโยบาย องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์สรุปความว่า คณะอนุกรรมการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชนวินิจฉัยว่า การชะลอการแพร่ภาพรายการตอบโจทย์เป็นการผิดข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยจริยธรรมของวิชาชีพ ข้อ 6.1 คณะอนุกรรมการฯ เห็นควรเผยแพร่เทปที่ถูกชะลอการออกอากาศโดยเร็วเพื่อเยียวยาผู้ชมที่ได้รับผลกระทบ
เวลา 21.45 น. สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทยตอนที่ห้า ตามมติคณะอนุกรรมการรับเรื่องและพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากประชาชน นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการไทยพีบีเอสกล่าวถึงการเสนอประเด็น “สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ของไทยพีบีเอสว่า เป็นการทำหน้าที่ของสื่อสาธารณะเพื่อให้ประเด็นที่กำลังโต้เถียงกันมาปรากฏอยู่ในที่สาธารณะพร้อมระบุว่า เป็นการปลอดภัยกว่าที่จะถกเถียงประเด็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์และประเด็นมาตรา 112 ในที่แจ้ง
19 มีนาคม 2556
สว.สรรหา อาทิ นายวันชัย สอนศิริ นางตรึงใจ บูรณสมภพ และสว.สรรหาท่านอื่นๆ ให้ความเห็นในทางลบกับเนื้อหาของรายการตอบโจทย์ชี้ว่าเนื้อหาของรายการทำร้ายจิตใจประชาชนชาวไทยและตั้งข้อสงสัยว่าเนื้อหาของรายการอาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
ขณะที่นางสาวรสนา โตสิตระกูล หนึ่งในกลุ่ม 40 สว.กล่าวว่ากรณีนี้ ไทยพีบีเอสออกอากาศรายการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์โดยเชิญบุคคลคนเดียวมาออกรายการถึงสามตอน แม้สองตอนหลังมีผู้อื่นร่วมสนทนาแต่ทั้งสองก็มีแนวคิดที่เหมือนกันรายการจึงเป็นเหมือนการสนทนาของลูกคู่
ขณะเดียวกันด้านภาคประชาชนก็มีการเคลื่อนไหว กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "กลุ่มประชาชนทนไม่ไหว" ประกาศจัดชุมนุมที่หน้าสถานีไทยพีบีเอสในวันที่ 20 มีนาคม 2556 ระบุว่าชุมนุมเพราะไทยพีบีเอสไม่ทำตามที่รับปาก
20 มีนาคม 2556
คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงานเสวนาสาธารณะเรื่อง “ตอบโจทย์เรื่องตอบโจทย์ : ทีวีสาธารณะกับบทบาทพื้นที่สาธารณะในสังคมไทย” นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้ร่วมการเสวนายืนยันว่าการตัดสินใจชะลอการออกอากาศรายการตอบโจทย์เป็นความจำเป็นที่ต้องทำเพื่อป้องกันการเผชิญหน้า ต้องดูแลความปลอดภัยและทรัพย์สินของสถานที่ราชการ ไม่ให้พนักงานเกิดความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย พร้อมชี้ว่าเป็นหน้าที่ของสื่อสาธารณะที่จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีความเห็นต่างมาแสดงความเห็นแลกเปลี่ยนทรรศนะกัน
ขณะที่อีกด้านหนึ่ง กลุ่ม "ประชาชนทนไม่ไหว" ประมาณ 50-100 คน รวมตัวกันบริเวณหน้าสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ถนนวิภาวดี เพื่อแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการที่สถานีตัดสินใจออกอากาศรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้รัฐธรรมนูญ ตอนที่ห้า
โดยเวลาประมาณ 12.15 น. ตัวแทนของสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเดินทางออกมารับหนังสือ ตัวแทนของกลุ่มประชาชนทนไม่ไหวอ่านแถลงการณ์ประนามการออกอากาศรายการเทปดังกล่าว เห็นว่าเป็นการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการทำผิดกฎหมาย เพราะบุคคลที่ร่วมในรายการมีแนวคิดที่เป็นอันตรายต่อสถาบันอันเป็นที่รักและเทิดทูนของคนไทยทั้งประเทศ พร้อมเรียกร้องให้คณะผู้บริหารสถานีรับผิดชอบด้วยการลาออก และขอโทษสังคมไทยโดยเร็วที่สุด หากข้อเรียกร้องดังกล่าวนี่ไม่เป็นผลจะขอดำเนินการตามกฎหมายตามที่เห็นสมควรในกระบวนการยุติธรรมต่อไป
21 มีนาคม 2556
พล.ต.ต.ปิยะ อุทาโย โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าคำกล่าวของผู้ร่วมรายการบางท่าน ในรายการดังกล่าวบางช่วงบางตอน เป็นการกระทำที่มีลักษณะเข้าข่ายน่าจะเป็นความผิดตามกฎหมาย ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พิจารณาแล้วเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และอยู่ในความสนใจของประชาชน จึงแต่งตั้งพนักงานสืบสวนสอบสวน ให้มีหน้าที่สืบสวนสอบสวนตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ให้เสร็จสิ้นโดยด่วน และหากการสืบสวนสอบสวนพบว่ามีการกระทำผิดฐานอื่น หรือมีผู้อื่นร่วมกระทำความผิดก็ให้มีอำนาจดำเนินการและหาตัวผู้กระทำผิด แล้วรายงานให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบทุกระยะ 30 วัน นอกจากนี้หากมีผู้ร้องทุกข์หรือกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนในพื้นที่อื่นใด ให้พนักงานสืบสวนสอบสวนตามคำสั่งนี้เป็นพนักงานผู้รับผิดชอบ
25 มีนาคม 2556
ในเว็บไซต์เฟซบุคมีการแชร์ภาพบันทึกประจำวัน ที่บุคคลหนึ่งไปแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลดอนเมือง เพื่อให้ดำเนินคดีกับ นายภิญโญ ไตรสุริยธรรมา นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยระบุข้อหาว่า “ในความผิดทางอาญาและเกี่ยวกับความมั่นคงของราชอาณาจักร ตามมาตรา 37” กับนายสมชัย สุวรรณบรรณ ระบุข้อหาว่า “ในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามมาตรา 157”
27 มีนาคม 2556
นายกิตติ นิลผาย แจ้งความกับพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง เพื่อให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส 5 คน ได้แก่ นายสมชัย สุวรรณบรรณ ประธานกรรมการและผู้อำนวยการ นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ นายวุฒิ ลีลากุศลวงศ์ นายมงคล ลีลาธรรม และนายพุทธิศักดิ์ นามเดช ฐานปล่อยให้รายการที่มีเนื้อหาเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ออกอากาศ จากการแพร่ภาพรายการตอบโจทย์ประเทศไทย ตอน สถาบันพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ 4 ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2556
1 เมษายน 2556
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณารายการดังกล่าว โดยการเสนอของคณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการที่มี พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ เป็นประธาน โดยคณะทำงานชุดดังกล่าวประกอบด้วย นายจาตุรงค์ ปัญญาดิลก อดีตปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี นายณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย นายอนุสรณ์ ศรีแก้ว นายวีระ อุไรรัตน์ ผู้แทนจากสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และนายเจษฎ์ โทณะวณิก คณะทำงานชุดดังกล่าวจะทำหน้าที่ในการพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหารายการที่ออกอากาศในบริบทของสังคมไทยทุกมิติ รวมทั้งพิจารณาเนื้อหาว่าขัดกฎหมายฉบับใดบ้าง
5 เมษายน 2556
มีการชุมนุมของชมรมคนรักในหลวงในหลายๆ จังหวัด ได้แก่ ขอนแก่น พิษณุโลก และสระบุรี จุดประสงค์ของการชุมนุมคือเพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และประณามรายการตอบโจทย์ฯ และสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีออกอากาศรายการที่มีการดีเบตระหว่างนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ และนายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล โดยให้เหตุผลว่าเนื้อหาของรายการดังกล่าวสร้างความไม่พอใจต่อคนรักในหลวงทั่วประเทศ ทำให้เกิดความเห็นต่างและแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกัน รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้ที่จังหวัดชุมพร ชมรมคนรักในหลวงได้ยื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้นำทหาร เพื่อประณามสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสด้วย
6 เมษายน 2556
ชมรมคนรักในหลวงจังหวัดสงขลาจัดกิจกรรมปกป้องสถาบันฯ โดยมีชมรมคนรักในหลวงทั้ง 16 อำเภอ และประชาชนสวมเสื้อสีชมพูเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก มีตัวแทนของชมรมฯ โดยในแถลงการณ์ระบุว่า การกระทำของไทยพีบีเอสมีวัตถุประสงค์เคลือบแฝงที่ต้องการทำลายความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งส่งผลกระทบต่อจิตใจของคนไทยที่จงรักภักดีต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นอกจากนี้ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า ชมรมคนรักในหลวงขอประณามการกระทำของไทยพีบีเอส พร้อมจะดำเนินการเอาผิดทั้งทางกฎหมายและทางสังคมกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด
4 สิงหาคม 2557
กสท.มีมติปรับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กรณีออกอากาศรายการตอบโจทย์ ตอนสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นเงิน 50,000 บาท เนื่องจากเป็นเนื้อหาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ต้องห้ามออกอากาศ ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ มาตรา 37
ที่มาข่าว ผู้จัดการออนไลน์
10 มีนาคม 2559
มติชนออนไลน์ รายงานว่า พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยผลการประชุมคณะพนักงานสอบสวนคดีความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นสถาบันฯ ในกรณีนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนเห็นว่าเป็นความผิดกรรมเดียวแต่ผิดกฎหมายหลายฉบับ จึงเห็นควรส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบว่าด้วยการทำความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในองค์การของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 11 ก่อน
ทั้งนี้ คณะพนักงานฯ เห็นว่าในรายการตอนที่ 2, 4 และ 5 มีความผิดฐานหมิ่นประมาทสถาบันฯ ชัดเจน โดยอ้างตามผลการตรวจสอบของคณะกรรมการ กสทช. ที่มีมติสั่งปรับไปแล้ว
ผู้ที่อาจถูกดำเนินคดีประกอบไปด้วยนิติบุคคล 2 ราย และบุคคลอีก 9 คน รวมถึงพิธีกร อดีตผู้บริหารสถานีและสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลด้วย
8 มกราคม 2561
หลังจากที่ไทยพีบีเอสยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้เพิกถอนมติของ กสท. ที่สั่งให้ปรับเป็นเงิน 50,000 บาท โดยไทยพีบีเอสอธิบายในคำฟ้องว่า พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ เข้าร่วมลงมติโดยไม่เป็นกลาง และกสท. ไม่ได้ฟังความรอบด้าน เพราะฟังผู้ที่มาชี้แจงแต่จากฝ่ายความมั่นคง ไม่ได้ฟังนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ที่เป็นกลาง
ศาลปกครองมีคำพิพากษาในคดีนี้เห็นว่า พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ ปฏิบัติหน้าที่ในการพิจารณาเรื่องนี้ทั้งในฐานะประธานอนุกรรมการฯ และกรรมการ กสท. ทั้งสองคณะ ซึ่งเป็นกรณีที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับเรื่องกรรมการที่มีอำนาจพิจารณาไว้ จึงต้องนำเอาพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มาบังคับใช้ ซึ่งมีมาตรา 3 กำหนดว่า กรรมการผู้พิจารณาต้องมีความเป็นกลาง ไม่มีความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคู่กรณี และไม่มีพฤติการณ์อื่นซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันจะทำให้ไม่เป็นกลาง
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า พลโท พีระพงษ์ ไม่เห็นด้วยกับผลการวินิจฉัยของคณะทำงาน และในการประชุมลงมติของคณะอนุกรรมการซึ่ง พลโท พีระพงษ์ เป็นประธาน พลโท พีระพงษ์ ก็ยังเข้าลงมติฝ่ายเสียงข้างมากที่เห็นว่า รายการนี้ขัดต่อมาตรา 37 เมื่อพลโท พีระพงษ์ ยังเข้าประชุมในฐานะกรรมการ กสท. ก็ย่อมต้องมีความเห็นเช่นเดิม ซึ่งเป็นความเห็นที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผู้ฟ้องคดี กรณีนี้ถือได้ว่า เป็นเหตุซึ่งมีสภาพร้ายแรงอันอาจจะทำให้การพิจารณาทางปกครองไม่เป็นกลาง ตามมาตรา 16 ของพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง และเป็นกรณีที่ไม่อาจถือได้ว่า จำเป็นเร่งด่วนไม่มีเจ้าหน้าที่อื่นปฏิบัติหน้าที่แทนได้ คำวินิจฉัยของ กสท. ที่ให้สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสจ่ายค่าปรับ 50,000 บาท จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ส่วนปัญหาอื่นไม่จำเป็นต้องวินิจฉัย
ศาลปกครองพิพากษาให้ เพิกถอนคำสั่งของ กสท. และให้สำนักงาน กสทช. คืนเงินค่าปรับ 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีให้แก่สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส