18 สิงหาคม 2557
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจารณาคดีที่ 16
ศาลนัดไต่สวนคำร้องของฝ่ายจำเลย ที่ยื่นขอให้เลื่อนการพิจารณาคดีออกไป เนื่องจากปัญหาอาการป่วยเส้นเลือดในสมองแตกของจำเลย ทำให้ไม่สามารถพูดและสื่อสารได้ และไม่สามารถต่อสู้คดีในช่วงนี้ได้ โดยนัดไต่สวนแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่รักษาอาการป่วยและออกใบรับรองให้จำเลย
ฝ่ายอัยการโจทก์ไม่มาศาล ภรรยาของจำเลยพาจำเลยที่นั่งบนรถเข็นมาศาล และทีมงานของทนายจำเลยมาศาล
เวลา 9.35 น. ผู้พิพากษาหญิงขึ้นนั่งบัลลังก์ และเวลาประมาณ 9.52 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนขึ้นนั่งบัลลังก์ ในระหว่างนี้พิจารณาคดีอื่นๆ ที่มีนัดในวันนี้ไปก่อน เพื่อรอแพทย์ที่ยังเดินทางมาไม่ถึง
เวลา 11.30 น.เมื่อเห็นแพทย์ยังเดินทางมาไม่ถึง ศาลได้สอบถามภรรยาของจำเลยถึงอาการของจำเลย ภรรยาของจำเลยกล่าวว่าจำเลยต้องไปทำกายภาพและไปรับยาป้องกันอาการชักที่โรงพยาบาลประสาทเป็นประจำ และไปพบแพทย์เพื่อฟื้นฟูร่างกายสัปดาห์ละสองครั้ง ปัจจุบันอาการดีขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังสื่อสารได้ลำบาก โดยไม่สามารถสื่อสารถึงความคิดของตนเองได้เลย และอาจต้องใช้เวลาฟื้นฟูอาการทั้งหมดราว 5 ปีขึ้นไป
เวลา 11.50 น.เจ้าหน้าที่ศาลนำโทรศัพท์มาให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนพูดคุยกับแพทย์ ก่อนศาลซึ่งลงไปพูดคุยโทรศัพท์ในห้องด้านหลังบัลลังก์ จะแจ้งฝ่ายจำเลยว่าได้นัดแพทย์ให้มาเบิกความในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น.
เวลา 14.29 น. แพทย์หญิงปรัชญพร คำเมืองลือ แพทย์ประจำโรงพยาบาลมหาราชนครพิงค์ เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู ขึ้นให้การต่อศาล โดยศาลเป็นผู้สอบถามพยานเอง
แพทย์หญิงปรัชญพรให้การว่าตนเริ่มเป็นแพทย์ด้านนี้ตั้งแต่ปี 2553 เชี่ยวชาญด้านระบบประสาท โดยดูแลผู้ป่วยที่มีอาการอัมพาต และอาการบาดเจ็บทางไขสันหลังหรือสมอง โดยให้การรักษาคนไข้ประเภทนี้ราว 3-4 รายต่อสัปดาห์ ส่วนจำเลยนั้นมาตรวจและรับคำปรึกษากับตนตั้งแต่ช่วงต้นปี 2556 จนถึงปัจจุบัน จำเลยได้รับบาดเจ็บทางสมองและได้รับการผ่าตัดจากแพทย์ท่านอื่นมาก่อน โดยตนเป็นคนตรวจประเมินถึงความสามารถในการทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ ของจำเลย และมีนักกายภาพบำบัดคอยทำงานช่วยฟื้นฟูการเคลื่อนไหวต่างๆ
ศาลได้สอบถามถึงการพูดและการสื่อสารของจำเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง แพทย์หญิงปรัชญพรให้การว่าจำเลยสามารถพูดได้เป็นคำๆ แต่ไม่สามารถจับใจความการพูดของจำเลยได้ และจำเลยยังไม่สามารถเข้าใจคำถามได้ โดยอาการของจำเลยเกิดจากปัญหาอาการบาดเจ็บของสมองซีกซ้าย ซึ่งส่งผลต่อการควบคุมร่างกายซีกขวา และการควบคุมการพูดและการสื่อสาร
แพทย์หญิงปรัชญพรประเมินว่าในช่วงปีกว่าที่ผ่านมา จำเลยมีพัฒนาการเรื่องการเคลื่อนไหวดีขึ้น สามารถเดินได้โดยใช้ไม้เท้าช่วย แต่มีพัฒนาการด้านการพูดและการสื่อสารเพียงเล็กน้อย ส่วนใหญ่แล้วทักษะการพูดนี้จะค่อยๆ ฟื้นฟูเอง แต่จากพัฒนาการของจำเลยที่เป็นไปอย่างช้าๆ อาจจะต้องใช้เวลาเป็นปีในการพัฒนา ไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่าต้องใช้ระยะเวลานานเท่าใด ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและการช่วยฝึกกระตุ้นจากครอบครัวด้วย
ในช่วงนี้ศาลได้พูดติดตลกขึ้นด้วยว่าจำเลยมาฝึกพูดโดยสู้คดีในศาลไหม แพทย์หญิงปรัชญพรเบิกความตนว่าไม่รู้จักจำเลยมาก่อน และไม่ใช่ญาติของจำเลย
ศาลเปิดโอกาสให้ทนายจำเลยสอบถามพยาน ทนายสอบถามถึงการออกบัตรคนพิการให้จำเลย แพทย์หญิงปรัชญพรเบิกความว่าตนเป็นผู้วินิจฉัยอาการและออกใบรับรองแพทย์ให้จำเลย ซึ่งครอบครัวจำเลยได้นำไปให้หน่วยงานอื่นออกบัตรนี้เอาไว้ ทนายจำเลยจึงได้อ้างส่งสำเนาบัตรคนพิการของจำเลยเป็นหลักฐานให้ศาล
ภายหลังพยานเบิกความ ศาลวินิจฉัยว่าเพื่อประโยชน์ในการวินิจฉัยของศาล ควรต้องให้นายแพทย์อีกท่านหนึ่งและนักจิตวิทยาที่ตรวจประเมินอาการของจำเลยจากโรงพยาบาลสวนปรุงมาเบิกความเพิ่มเติมด้วย โดยให้ออกหมายเรียกพยานทั้งสองปากมาศาลในวันที่ 3 กันยายน 2557 เวลา 13.30 น.
3 กันยายน 2557
ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ห้องพิจารณาคดีที่ 16
จำเลย และทนายจำเลยมาศาล พนักงานอัยการโจทก์มาศาล อัยการแจ้งต่อศาลว่าตนติดการพิจารณาในคดีอื่น และไม่ติดใจค้านคำร้องของฝ่ายจำเลยในคดีนี้
เวลา 13.45 น. ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนนั่งบัลลังก์ และนายแพทย์ กิตติพงศ์ สานิชวรรณกุล แพทย์จิตเวชประจำโรงพยาบาลสวนปรุงขึ้นให้การต่อศาล โดยศาลเป็นผู้ซักถามเอง แล้วใช้วิธีเรียบเรียงเป็นบันทึกคำให้การในช่วงท้ายหลังซักถามเสร็จ
นายแพทย์กิตติพงศ์แจ้งแก่ศาลว่านักจิตวิทยาที่ศาลออกหมายเรียกมาให้การนั้น ไม่ได้มาในวันนี้ เพราะเป็นเพียงผู้ตรวจประเมินเฉยๆ ในกรณีผู้ป่วยรายนี้ ไม่สามารถประเมินอะไรได้ เพราะผู้ป่วยไม่สามารถจะสื่อสารได้
นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การว่าจำเลยมีอาการเป็นอัมพาตครึ่งซีกข้างขวา สมองซีกซ้ายถูกทำลาย โดยปกติสมองซีกซ้ายจะควบคุมเรื่องความคิด ภาษา การวางแผน และควบคุมร่างกาย ซีกตรงกันข้าม คือซีกขวา ซึ่งสาเหตุเกิดจากจำเลยมีอาการเลือดออกในสมอง ทำให้เส้นประสาทส่วนนั้นถูกทำลาย ซึ่งทำให้ไม่สามารถตีความเสียงต่างๆ ที่เป็นภาษา และไม่สามารถพูดเป็นถ้อยคำออกมาได้
ศาลสอบถามถึงวิธีการแก้ไขรักษาอาการ นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การว่าไม่มีวิธีการแก้ไข ทำได้เพียงอาศัยเวลาให้สมองส่วนที่เสียหายฟื้นฟูตัวมันเอง โดยอาศัยแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และคนรอบข้างช่วยฟื้นฟูได้ระดับหนึ่ง โดยหลักจะพยายามให้สมองอีกข้างทำงานแทน แต่ผู้ป่วยบางคนก็ทำไม่ได้ หรือฟื้นฟูขึ้นมาได้เพียงระดับหนึ่ง ในระดับที่พอใช้ชีวิตด้วยตนเองได้
ศาลถามว่าจะสามารถใช้วิธีการเขียนหรือวิธีอื่นๆ ในการสื่อสารแทนได้หรือไม่ นายแพทย์กิตติพงศ์กล่าวว่าไม่ว่าจะสื่อสารโดยการพูดหรือเขียน จำเลยก็ต้องฟังก่อนแล้วรับรู้ ตีความ จึงค่อยสื่อสารกลับไป แต่การฟังและการเข้าใจความของจำเลยยังมีปัญหา ส่วนของความคิดที่จะวางแผน กะเกณฑ์ คำนวณ บวกลบเลข การตัดสินใจต่างๆ จำเลยไม่สามารถทำได้เลย
ศาลสอบถามทนายจำเลยเรื่องการสอบข้อเท็จจริงของคดีว่าได้ทำมาก่อนหรือไม่ ทนายจำเลยกล่าวว่าจำเลยมีอาการเส้นเลือดในสมองแตกขณะคดียังอยู่ในชั้นอัยการ และตนไม่ได้สอบข้อเท็จจริงไว้ เพราะตอนนั้นจำเลยเดินทางไปพบอัยการด้วยตนเองอยู่
ศาลแจ้งแก่คู่ความว่าตามองค์ประกอบการดำเนินคดี ศาลก็จะต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ทั้งผู้เสียหายคือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และจำเลยที่ถูกตั้งข้อกล่าวหานี้ โดยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำเลยต้องถึงขนาดวิกลจริต ถึงจะทำให้จำหน่ายคดีออกชั่วคราวได้
นายแพทย์กิตติพงศ์ให้การเพิ่มเติมแก่ศาลว่า ตามหลักวิชาการ คำว่าวิกลจริต ซึ่งเป็นอาการทางสมอง สามารถแยกเป็นสามรูปแบบ คือโรคจิต เป็นอาการทางจิตเวชโดยตรง ที่ผู้ป่วยจะมีความคลุ้มคลั่ง อาละวาด หรือไม่รู้สึกตัว, อาการจิตบกพร่อง เป็นอาการที่สมองผิดปกติมาตั้งแต่เกิด หรือมีปัญหาในการพัฒนาการจากวัยเด็ก เช่น กรณีเด็กปัญญาอ่อน หรือพิการทางสมอง, อาการจิตฟั่นเฟือน เป็นอาการที่คนปกติ แต่ต่อมาได้รับโรคหรือประสบอุบัติเหตุที่กระทบต่อสมอง รวมทั้งกรณีคนสูงวัยที่ความจำเสื่อม โดยอาการจำเลยเข้าข่ายการอาการจิตฟั่นเฟือนนี้ นอกจากนั้นจำเลยยังมีโรคแทรกซ้อนอยู่ด้วย เช่น โรคความดันโลหิตสูง จึงต้องตรวจอาการเป็นระยะๆ โดยตนเคยมาให้การต่อศาลถึงผู้ป่วยที่มีลักษณะนี้หลายครั้ง ศาลก็จะให้จำหน่ายคดีชั่วคราว แล้วให้ดูอาการไปเรื่อยๆ ทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี
ศาลได้สอบถามภรรยาจำเลย ถึงสภาวะของครอบครัว รายได้ในปัจจุบัน และสาเหตุที่ถูกดำเนินคดี โดยภรรยาของจำเลยกล่าวว่าตนคิดว่าสามีไม่ได้มีเจตนาในการหมิ่นฯ เพราะในวันเกิดเหตุ ถ้าคนจะไปก่อเรื่องอะไร จะมีการพรางตัวไปก่อน แต่อารมณ์ในตอนนั้นคล้ายๆ กับเขาไม่พอใจฝ่ายที่ความคิดทางการเมืองไม่ตรงกัน พอเห็นสีเหลืองก็โมโห โดยไม่ทันได้ดูด้วยซ้ำว่าเป็นอะไร
ศาลแจ้งให้คู่ความนัดมาฟังคำสั่งการจำหน่ายคดีชั่วคราวในวันที่ 1 ตุลาคม 2557 เวลา 10.00 น.
เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 16 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ศาลนัดฟังคำสั่งเรื่องการงดพิจารณาคดีเป็นการชั่วคราว เนื่องจากปัญหาสุขภาพของจำเลย จำเลย ภรรยาของจำเลย และทนายจำเลยมาศาล แต่พนักงานอัยการไม่มาศาล
เวลา 11.10 น. เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์แจ้งให้ย้ายไปฟังคำสั่งที่ห้องพิจารณาคดีพิเศษ 1 เนื่องจากศาลติดการพิจารณาในคดีอื่นอยู่
เวลา 11.35 น. ศาลเริ่มอ่านคำสั่งคดีนี้ว่า อาการป่วยของจำเลยเกิดจากเส้นเลือดในสมองแตก ส่งผลกระทบต่อการทำงานของสมองซีกซ้าย ทำให้เกิดอาการอัมพาตครึ่งซีกทางด้านขวา และไม่สามารถสื่อสารได้อย่างคนปกติทั่วไป
จากความเห็นของแพทย์ถือได้ว่าจำเลยเป็นโรคจิตฟั่นเฟือน เป็นอาการของคนที่เคยปกติ แต่ได้รับการกระทบกระเทือนทางสมองในภายหลัง ถือเป็นส่วนหนึ่งของการเป็นบุคคลวิกลจริต ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ขณะนี้จำเลยยังอยู่ในระหว่างการฟื้นฟูอาการ จึงยังไม่สามารถสอบคำให้การได้
ในการดำเนินคดี จำเลยย่อมต้องได้รับการคุ้มครองจากรัฐให้ต่อสู้คดีได้ ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่จำเลยไม่สามารถต่อสู้คดีได้ในขณะนี้ ศาลจึงมีอำนาจงดการพิจารณาคดีของเขาไว้ชั่วคราว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 14 ให้ส่งตัวจำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุง และให้จิตแพทย์ที่ดูแลอาการของจำเลย ทำรายงานเสนอต่อศาลภายใน 180 วัน ให้มีหนังสือถึงโรงพยาบาลสวนปรุงทราบถึงคำสั่งศาล และให้มีการนัดพร้อมเพื่อดูอาการของจำเลยอีกครั้ง ในวันที่ 22 เมษายน 2558 เวลา 10.00 น.