- คดีชุมนุม, ฐานข้อมูลคดี
บก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน: ใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
หลังเหตุการณ์ 19 พ.ค. 53 สมบัติ บุญงามอนงค์ปราศรัยในที่ชุมนุมวิจารณ์การสลายการชุมนุมของทหารที่ใต้ทางด่วนรามอินทราซึ่งเป็นการละเมิดพ.ร.ก.ฉุกเฉิน
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
สมบัติ บุญงามอนงค์ ชื่อเล่น หนูหริ่ง หรือนามแฝงที่ใช้ในอินเทอร์เน็ท: บ.ก.ลายจุด เป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง เว็บมาสเตอร์ของเว็บไซต์เพื่อสังคมหลายแห่ง และอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา
กิจกรรมด้านสังคมในอดีต สมบัติ เคยเป็นอาสาสมัครของกลุ่มละครมะขามป้อม เป็นผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิกระจกเงา เป็นผู้ก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชน "บ้านนอกทีวี" เป็นผู้ก่อตั้งศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการอาสาสมัครในช่วงภัยพิบัติสึนามิปี 2546 และเหตุการณ์มหาอุทกภัยปี 2554
กิจกรรมด้านการเมือง สมบัติ เป็นแกนนำกลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ ต่อต้านการทำรัฐประหารและรณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับของ คมช. โดยก่อนหน้านั้น เป็นหนึ่งในแกนนำเครือข่าย 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และต่อมามีชื่อกลุ่มที่ตั้งใหม่ว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) โดยนายสมบัติ เป็นแกนนำ นปก.รุ่น 2 ภายหลังแกนนำ นปก.รุ่นแรก ถูกคุมขัง อีกทั้งยังเป็นผู้เสนอการรณรงค์ "แดงไม่รับ" เป็นสีตรงข้ามกับ สีเขียว ในการรณรงค์การลงมติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 ทำให้ผู้ที่ต่อต้านการรัฐประหาร โดยเฉพาะคณะรัฐประหาร ของพลเอกสนธิ บุญยรัตกลินนิยมใส่เสื้อสีแดงมาร่วมชุมนุมหรือกิจกรรมการเมืองจนถึงปัจจุบัน
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
21 พ.ค. 2553 นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และประชาชนประมาณ 1,000 คน ร่วมชุมนุมบริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ โดยนายสมบัติได้ใช้โทรโข่งพูดเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของทหารในการสลายการชุมนุมเมื่อ 19 กันยายน 2553 ในทำนองว่าไม่เห็นด้วย และนายสมบัติยังได้ชวนคนอื่นขึ้นพูดในที่ชุมนุม โดยตัวเองเป็นผู้ดำเนินรายการ นอกจากนี้ก็มีการปิดภาพถ่ายการสลายการชุมนุมของประชาชนที่เสาและผนังใต้ทางด่วน ซึ่งถือว่าเป็นการฝ่าฝืนต่อการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง
พฤติการณ์การจับกุม
26 มิถุนายน 2553 เวลาประมาณ 17.00 น. นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นัดสมาชิกกลุ่มในเฟซบุคไปผูกผ้าสีแดง ที่ป้ายสี่แยกราชประสงค์ บริเวณสี่แยกราชประสงค์ ซึ่งเคยเป็นที่ตั้งเวทีปราศรัยของแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคมที่ผ่านมา ก่อนถูกสลายการชุมนมุวันที่ 19 พ.ค.
ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาพูดคุยกับนายสมบัติ และเชิญตัวไปสอบถามเพิ่มเติมที่ สน.ลุมพินี ขณะที่ภายนอก สน.ลุมพินี มีกลุ่มผู้สนับสนุน และเพื่อนของนายสมบัติมาให้กำลังใจจำนวนมาก
หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี นำนายสมบัติเดินทางไปยังกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 ต.คลอง 5 อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี เพื่อให้พนักงานสอบสวนของ ศอฉ. เดินทางมาสอบสวนนายสมบัติที่นั่น
นายสมบัติ ศอฉ.ควบคุมตัว โดยอ้างอำนาจตาม พรก.ฉุกเฉิน ไว้ที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายเเดน ภาค 1 คลอง 5 จังหวัดปทุมธานี ตั้งแต่วันที่ 26 มิถุนายน 2553 ก่อนได้รับประกันตัวในวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 รวม14วัน
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีบก.ลายจุดฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชุมนุมใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์
ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ ห้องพิจารณาคดี 25 จำเลย นายสมบัติ บุญงามอนงค์ และทนายจำเลย นายอานนท์ นำภา มาศาล ฝ่ายโจทก์ไม่มาศาลขึ้นบัลลังก์เวลา 9.20 น. โดยผู้พิพากษาหนึ่งท่าน พิจารณาคดีอื่นก่อน จากนั้นเริ่มอ่านคำพิพากษาเวลา 9.50 น.
ศาลอ่านทวนฟ้องของโจทก์และคำพิพากษาของศาลชั้นต้นโดยสรุป ก่อนจะอ่านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ ดังนี้
ศาลอุทธรณ์ตรวจสำนวนคดีปรึกษาแล้ว มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจริงหรือไม่ จากที่พยานโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.วังทองหลาง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2553 ทราบว่า บริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ มีประชาชนมาชุมนุมประมาณ 1,000 คน บางส่วนอยู่บนผิวถนน และมีการนำภาพถ่ายการสลายการชุมนุมมาติดที่เสาและผนังของใต้ทางด่วน จำเลยใช้โทรโข่งพูดวิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของทหาร ไม่เห็นด้วยกับการสลายการชุมนุม นอกจากนี้ก็เชิญชวนผู้อื่นให้พูดด้วย โดยจำเลยเป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งการกระทำของจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ขณะนั้นไม่ได้เข้าไปจับกุมทันที เพราะผู้ชุมนุมมีจำนวนมาก เกรงว่าจะเกิดการปะทะกัน ในชั้นสอบสวนได้ตั้งข้อหาฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน จำเลยให้ปฏิเสธ
จำเลยสู้ว่า ตนไปห้างอิมพีเรียลที่ปกติเป็นที่รวมตัวของคนเสื้อแดงอยู่แล้ว แต่ตำรวจไปปิดล้อม จึงไปที่สวนสาธารณะบริเวณใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ พบประชาชนอยู่ก่อนแล้ว ตนก็พูดคุยแลกเปลี่ยนความเห็นกับคนอื่นๆ ภาพถ่ายการสลายการชุมนุมก็เป็นภาพที่ประชาชนนำมาจัดนิทรรศการ ไม่ใช่ของตนและไม่ทราบว่าเป็นของใคร ตนอยู่จนถึงเวลา 16.00 น. มีประชาชนประมาณ 100 คน มีรถชะลอจอดบ้าง แต่ไม่ได้ปิดกั้นการจราจร จำเลยได้แสดงความเห็นอย่างสงบ ส่วนโทรโข่งที่ใช้ก็มีประชาชนเป็นผู้นำมาให้ ไม่ได้ใช้เพื่อการยั่วยุหรือมีเหตุการณ์ความวุ่นวายอะไร จำเลยเชื่อว่าเป็นการแสดงความเห็นโดยสงบ ไม่ใช่เป็นการมั่วสุมเพื่อมีเจตนาให้เกิดความวุ่นวาย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า พยานโจทก์เป็นพนักงานของรัฐซึ่งกระทำตามหน้าที่ ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยมาก่อน ศาลเชื่อว่าพยานโจทก์เบิกความตามความจริง และจำเลยก็เบิกความว่าตนใช้โทรโข่ง และการชุมนุมเกิน 5 คน ก็ทำให้รถชะลอจอดกีดขวางการจราจร และจำเลยได้เชิญชวนให้ผู้อื่นพูดต่อต้านรัฐบาล การกระทำของจำเลยเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักหักล้างโจทก์ ส่วนข้ออ้างอื่นๆ ไม่มีผลให้เปลี่ยนแปลงการคำวินิจฉัย ศาลอุทธรณ์เห็นด้วยกับศาลชั้นต้น พิพากษายืน
ศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น เวลา 10.00 น.
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
จับบก.ลายจุดหวังหยุด facebook ค้านเผด็จการ นักกิจกรรมฮือต้านหยุดบ้าอำนาจจี้ปล่อยตัวทันที (อ้างอิง 13 ก.ค. 55)
สั่งจำ บก.ลายจุด6เดือน ปรับ6,000บาทฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินแต่ให้รอลงอาญา (อ้างอิง 10 ก.ค. 55)
“บก.ลายจุด” ได้ประกันตัว ออกจากห้องขังแล้ว (อ้างอิง 13 ก.ค. 55)
สมบัติ บุญงามอนงค์, เว็บไซต์วิกิพีเดียว (อ้างอิงวันที่ 20 ก.ค. 55)
9 กรกฎาคม 2553
ศาลอาญา ซึ่งเป็นศาลที่มีอำนาจออกคำสั่งเกี่ยวกับระยะเวลาการควบคุมตัวตามพ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีคำสั่งไม่รับคำร้องให้ขยายเวลาควบคุมตัวนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือบก.ลายจุด ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ยื่นให้คุมขังต่อเป็นผลัดที่สอง แต่ทนายความยื่นคำร้องคัดค้านการขยายระยะเวลาดังกล่าว เจ้าหน้าที่จึงนำตัวนายสมบัติไปยื่นฟ้องต่อศาลแขวงพระนครเหนือในวันนั้น
ศาลแขวงพระนครเหนือ อนุญาตให้ประกันตัวนายสมบัติในวงเงินประกัน 3 หมื่นบาท และกำหนดนัดวันพร้อมหรือชี้สองสถาน ในวันที่ 9 ส.ค. 53 ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ
เมื่อเวลา 15.00 น. นายสมบัติเดินออกจากที่คุมขังด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เขากล่าวว่าอยากรีบกลับไปออนไลน์เฟซบุ๊ค ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับสถานการณ์ปัจจุบันที่คนทั่วไปสามารถใช้แสดงความคิดเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ
วันนัดสืบพยาน
ที่ศาลแขวงพระนครเหนือโดย นายธิติพันธ์ ฉายบาง ผู้พิพากษา ขึ้นนั่งบัลลังก์คำพิพากษาในคดีนายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด แกนนำกลุ่ม 19 กันยา ต้านรัฐประหาร และกลุ่มพลเมืองภิวัตน์ จากเหตุการณ์การชุมนุมบริเวณแยกใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ใกล้ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว เมื่อวันที่ 21 พ.ค.53 (คดีดำที่ 1189/2553)
อัยการโจทก์ระบุว่า นายสมบัติและผู้ชุมนุมประมาณ 1,000 คนได้ชุมนุมบริเวณทางเท้าและพื้นผิวถนน มีการกล่าวปราศรัยโดยใช้โทรโข่งรวมถึงมีการแสดงภาพถ่ายผู้เสียชีวิต ภาพทหารถืออาวุธสงคราม และภาพพระภิกษุถูกจับกุมโดยทหาร ในบริเวณดังกล่าว เป็นการขัดต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และก่อให้เกิดความเดือดร้อน เนื่องจากกีดขวางทางจราจร โดยนายสมบัติเป็นผู้กล่าวปราศรัยและดำเนินการให้มีผู้อื่นมากล่าวปราศรัย
ทนายจำเลยโต้แย้งว่า นายสมบัติ(จำเลย)เห็นว่าการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.53 เป็นการกระทำโดยมิชอบของรัฐ ขัดต่อกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Convenant on Civil and Political Right- ICPR ) และอ้างว่าจำเลยเป็นอนุกรรมการสอบหาข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุม 10 เมษยน 2553 ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พร้อมยืนยันว่า การเคลื่อนไหวดังกล่าวเป็นไปในหน้าที่ของอนุกรรมการสิทธิฯ ในการสอบหาข้อเท็จจริง และนิทรรศการภาพไม่ใช่ภาพของจำเลย แต่ไม่ทราบว่าเป็นของใคร ในการปราศรัย มีผู้นำโทรโข่งมาให้ ซึ่งได้ปราศรัยแนวคิดทางการเมืองเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยและสันติวิธี
14 กันยายน 2554
ศาลพิพากษา ว่าการประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ของ ศูนย์อำนวยแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ไม่ขัดต่อบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2550 ในหมวดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุม เนื่องจากเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามกฏหมายตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ สำหรับในกรณีเรื่องการที่จำเลยขอให้มีการไต่สวนเรื่องความถูกต้องในกระบวน การที่รัฐใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พค. 2553 นั้นไม่ได้นำมาประกอบการพิจารณาเนื่องจากไม่ได้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงต่อคดี นอกจากนี้นายสมบัติไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่าในวันเกิดเหตุ ตนเองได้รับแต่งตั้งเป็นคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเหตุการณ์สลายการชุมนุมจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติจริง และที่นำสืบว่าขาดเจตนานั้น ก็เห็นว่านายสมบัติทราบดีอยู่แล้วว่ารัฐบาลออกพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เรื่องห้ามมิให้มีการชุมนุมมั่วสุม จึงถือว่านายสมบัติมีเจตนา คดีนี้ ศาลจึงได้สั่งจำคุกนายสมบัติ เป็นเวลา 6 เดือนและปรับเป็นเงินจำนวน 6,000บาท โดยโทษจำคุกให้รอลงอาญา
หลังจากที่เสร็จสิ้นการพิพากษา นายสมบัติ บุญงามอนงค์ นส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความได้ยืนยันที่จะขอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ พร้อมทั้งเดินทางไปจ่ายเงินค่าปรับจำนวน 6,000 บาท เพื่อที่จะไม่ต้องประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ โดยในการฟังคำพิพากษาคดีดังกล่าว มีผู้ร่วมฟังประมาณ 20คน
นส.ภาวิณี ชุมศรี ทนายความยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ ยกเหตุผลว่า
1. จำเลยไม่ได้กระทำการอันถือเป็นความผิดฝ่าฝืนประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่องห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมแต่อย่างใด การที่จำเลยไปร่วมกิจกรรมบริเวณสวนสาธารณะใต้ทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ ไม่ได้ทำหรือประสงค์ให้การจราจรติดขัดจนไม่อาจสัญจรได้ตามปกติ การชุมนุมเป็นไปโดยสงบและไม่ได้เป็นลักษณะการกระทำที่เป็นความผิดตามประกาศศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน เรื่อง ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุม ตามข้อ ๑. (๑) ถึง (๔) แต่อย่างใด
2. การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน ๒๕๕๓ ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การอ้างว่ามีสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงนั้นเกิดจากมีการชุมนุมโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขัดขวางการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนอื่นทั่วไป ไม่ถือเป็นเหตุตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งข้อเท็จจริง ยังไม่มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น การที่ประชาชนใช้เสรีภาพในการชุมนุมตามวิถีทางของการปกครองระบอบประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
3. การห้ามประชาชนใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมหรือดำเนินกิจกรรมโดยสงบและปราศจากอาวุธเป็นการจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมโดยเกินจำเป็นและกระทบกระเทือนต่อเสรีภาพของประชาชนเกินสมควร และเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน การจะห้ามชุมนุมได้จึงต้องพิจารณาจากข้อเท็จจริงเป็นกรณีๆไป หาใช่เมื่อมีกฎหมายห้ามชุมนุมแล้วไม่ว่าการชุมนุมใดๆ ก็เป็นความผิดทั้งหมด ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
7 สิงหาคม 2556
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคำวินิจฉัยศาลชั้นต้น เห็นว่า การที่จำเลยใช้โทรโข่ง ชุมนุมเกิน 5 คน ทำให้รถชะลอจอดกีดขวางการจราจร และเชิญชวนให้ผู้อื่นพูดต่อต้านรัฐบาล เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างร้ายแรง