14 กุมภาพันธ์ 2558
พันธ์ศักดิ์ร่วมกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับจัดกิจกรรม “เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก” เพื่อรำลึกถึงการเลือกตั้งที่เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ถูกศาลตัดสินให้เป็นโมฆะ และนำมาสู่การรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 โดยกิจกรรมดังกล่าวทำให้พันธ์ศักดิ์และพวกอีก 3 คน ถูกจับดำเนินคดีข้อหาฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน โดยคดีนี้จะต้องถูกดำเนินคดีที่ศาลทหาร
12 มีนาคม 2558
พันธ์ศักดิ์และผู้ถูกกล่าวหาอีก 3 รายในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ได้ออก
แถลงการณ์ถึงประธานศาลฎีกาเรียกร้องสิทธิพลเมือง โดยเรียกร้องให้ประมุขฝ่ายตุลาการและข้าราชการฝ่ายตุลาการ ยืนยันอำนาจตามรัฐธรรมนูญและตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา ที่จะเป็นผู้พิจารณาคดีพลเรือน และปฏิเสธอำนาจศาลทหารเหนือคดีพลเรือน
14 มีนาคม 2558
ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า เมื่อพันธ์ศักดิ์เริ่มเดินเท้าออกจากบ้านพักที่บางบัวทองได้ประมาณ 5 กิโลเมตร ก็ถูกตำรวจ สภ.บางบัวทอง ประมาณ 5 นาย นำรถตู้เข้าประกบเพื่อควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน โดยมี พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 1 เดินทางมาพบพันธ์ศักดิ์ด้วย
พล.ต.ท.อำนวย เปิดเผยว่า การเดินครั้งนี้มีนัยยะทางการเมือง เพราะมีการนัดหมายล่วงหน้า โดยประกาศผ่านสื่อสังคมออนไลน์ และกิจกรรมบริเวณหน้าสำนักงานไทยรัฐก็ยังไม่ได้ทำหนังสือขออนุญาตจาก คสช. จึงเกรงว่ากิจกรรมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดความไม่สงบแก่บ้านเมือง จึงต้องยกเลิกกิจกรรมดังกล่าว
เวลา 12.00 น. ศูนย์กลางนิสิต นักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) เริ่มเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อเยี่ยมพันธ์ศักดิ์ที่ สน.ปทุมวัน และทวงถามความยุติธรรม
เวลาประมาณ 16.00 น. พันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัว ภาวิณี ชุมศรี ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมุษยชนกล่าวว่า เหตุที่ตำรวจ สภ.บางบัวทอง จับตัวนายพันธ์ศักดิ์มาที่สน.ปทุมวัน เพราะเข้าใจว่าติดเงื่อนไขในการประกันตัว จากการชุมนุมเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา แต่ความจริงพันธ์ศักดิ์ไม่ได้ติดเงื่อนไขและไม่ได้หลบหนี ดังนั้นทาง สน.ปทุมวัน จึงปล่อยตัวโดยไม่แจ้งข้อหาแต่อย่างใด
15 มีนาคม 2558
ประชาไท รายงานว่า เวลา 9.00 น. พันธ์ศักดิ์เริ่มต้นกิจกรรม "พลเมืองรุกเดิน" ด้วยการอ่านบทกวีและวางดอกไม้รำลึกถึงน้องเฌอตรงจุดที่ถูกยิงเสียชีวิต ก่อนจะเดินเท้าต่อวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร และเดินต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
16 มีนาคม 2558
พันธ์ศักดิ์ อานนท์ วรรณเกียรติ และ สิรวิชญ์ เริ่มเดินจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปที่ท่าเรือผ่านฟ้า เพื่อขึ้นเรือด่วนคลองแสนแสบต่อไปยัง สน.ปทุมวัน
ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. ที่ศาลทหารกรุงเทพ พนักงานสอบสวน สน.ปทุมวัน ยื่นเรื่องส่งฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ต่ออัยการศาลทหารฯ เพื่อพิจารณาส่งฟ้องต่อตุลาการศาลทหารฯ เนื่องจากฝ่าฝืนประกาศ คสช. เรื่องการห้ามชุมนุมเกิน 5 คน จากกรณีจัดกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก"
ต่อมา เวลาประมาณ 17.30 น. กลุ่มนักศึกษาซึ่งจัดกิจกรรมตั้งโต๊ะลงชื่อคัดค้าน “พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร” อยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เดินเท้ามาที่ศาลทหารเพื่อให้กำลังใจผู้ต้องหาทั้ง 4 คน และกล่าวโจมตีการทำงานของศาลทหาร โดยระบุว่า ไม่เป็นไปตามหลักของกระบวนการยุติธรรม และเรียกร้องให้พลเรือนไม่ต้องขึ้นศาลทหาร
เวลาประมาณ 18.30 น. อัยการศาลทหาร มีคำสั่งไม่รับคำร้องขอฝากขัง โดยให้เหตุผลว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและไม่มีพฤติกรรมหลบหนี และนัดฟังความเห็นของอัยการว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ ในวันที่ 27 มีนาคม
25 มีนาคม 2558
เวลาประมาณ 18.00 น.
ไทยรัฐออนไลน์ รายงานว่า นายอำเภอบางบัวทองในฐานะฝ่ายปกครอง พร้อมด้วย พ.ท.ทรงวุฒิ อินทรภักดี ชี้แจงกับ พันธ์ศักดิ์ กรณีการเดินเท้าไปศาลทหารกรุงเทพในวันที่ 26 มีนาคมว่า ไม่อยากให้จัดกิจกรรมดังกล่าว เพราะไม่อยากให้เกิดความไม่สงบ ขณะที่พันธ์ศักดิ์ชี้แจงเหตุผลและยืนยันที่จะเดินเท้าไปศาลทหารตามที่ตั้งใจไว้ หลังพูดคุยกันประมาณ 15 นาที เจ้าหน้าที่ได้แยกย้ายกลับไป
26 มีนาคม 2558
เวลาประมาณ 00.30 น. ขณะที่พันธ์ศักดิ์จอดรถเตรียมเข้าบ้าน เจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.ท.ทวีวงศ์ ดิษฐแย้ม สารวัตรกองกำกับการสืบสวน 4 กองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจนครบาล ควบคุมตัว พันธ์ศักดิ์ ไปที่ สน.ชนะสงคราม โดยมีหมายจับศาลทหารลงวันที่ 17 มีนาคม 2558 ตั้งข้อหาพันธ์ศักดิ์กรณีจัดการเดินเท้า "พลเมืองรุกเดิน" จากบ้านที่ อ.บางบัวทอง มาที่ศาลทหารกรุงเทพฯ
เวลาประมาณ 01.00 น. เฟซบุ๊กของพลเมืองโต้กลับรายงานว่า
พันธ์ศักดิ์ถูกควบคุมตัวมาที่ สน.ชนะสงครามแล้ว และกำลังนั่งรออยู่ในห้องสอบสวน โดยมี อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนและเป็น 1 ใน 4 ผู้ต้องหา ฝ่าฝืนประกาศ คสช. กรณีกิจกรรม "เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก" เป็นทนายความให้พันธ์ศักดิ์ในวันนี้ด้วย อานนท์ระบุว่า พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล จะเดินทางมาสอบสวนพันธ์ศักดิ์เอง
อย่างไรก็ตาม
เฟซบุ๊กของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เวลาประมาณ 01.10 น. มีการเชิญตัว อานนท์ ออกจากห้องสอบสวนและปฏิเสธไม่ให้ทนายความอยู่ระหว่างทำบันทึกการจับกุม โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่าอยู่ระหว่างทำบันทึกการจับกุม นายพันธ์ศักดิ์ยังไม่ใช่ผู้ถูกจับ ทนายความจึงยังไม่มีสิทธิดังกล่าว หากยืนยันจะอยู่ในห้องอาจถือเป็นการขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน
ต่อมาในเวลา 02.20 น. ทนายสามารถเข้าไปในห้องสอบสวนได้
เวลา 02.30 น. อานนท์ ในฐานะทนายความ ระบุว่าพันธ์ศักดิ์ ถูกตั้งข้อหา 3 ข้อหา ได้แก่ หนึ่ง ขัดประกาศ คสช. ฉบับที่ 7 สอง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 และ สาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 หรือความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุฯ ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน
เวลา 08.30 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม คุมตัวพันธ์ศักดิ์ไปตรวจสภาพร่างกายหลังการจับกุมที่โรงพยาบาลวชิระพยาบาล
เวลาประมาณ 09.50 น.
ประชาไท รายงานบรรยากาศหน้ากระทรวงกลาโหม ที่ตั้งศาลทหารว่า เจ้าหน้าที่ทหารปิดกั้นพื้นที่รอบกระทรวงกลาโหม และมีการตรวจบัตรประชาชนอย่างเข้มงวด โดยอนุญาตให้เพียงทนายความและนายประกันของพันธ์ศักดิ์เท่านั้นที่เข้าไปพบกับพันธ์ศักดิ์ในศาลทหารได้
พนักงานสอบสวนได้ยื่นคำร้องขอฝากขังชั่วคราวผลัดที่ 1 โดยระบุเหตุผลว่า ยังเหลือพยานต้องสอบหลายสิบปาก และต้องรอสอบประวัติอาชญากรรมรวมทั้งรอยพิมพ์นิ้วมือของผู้ต้องหา พร้อมทั้งขอคัดค้านการประกันตัว เนื่องจากเป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ซึ่งศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน ด้านทนายความของพันธ์ศักดิ์ยื่นประกันตัวโดยมีหลักทรัพย์เป็นเงินสด 500,000 บาท ซึ่งมาจากการระดมทุนจากประชาชนทั่วไปผ่านเฟซบุ๊ก
เวลาประมาณ 14.20 น.ศาลทหารมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยเรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสด 70,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขประกอบการอนุญาตประกันตัว ดังนี้
1. ห้ามผู้ต้องหากระทำการใดๆ อันมีลักษณะเป็นการยั่วยุ ปลุกปั่น ชักชวน ปลุกระดม ไม่ว่าด้วยวิธีการใดๆ เพื่อให้มีการชุมนุม อันจะก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง หรือก่อให้เกิดภยันตรายใดๆ อันกระทบต่อความเสียหาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือกระทำการใดๆ เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
2. ห้ามผู้ต้องหาเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล
เวลา 19.30 น. พันธ์ศักดิ์ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพ
19 มิถุนายน 2558
นัดฟังคำสั่งอัยการ
อัยการศาลทหารกรุงเทพรับฟ้องคดีของพันธ์ศักดิ์ กรณีวางแผนเดินเท้าเรียกร้องความยุติธรรมมาฟังคำสั่งฟ้องในคดี เลือกตั้งที่ (รัก) ลัก ซึ่งถือเป็นความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ความผิดฐานปลุกปั่นยั่วยุตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(3)
ทั้งนี้ ศาลทหารกรุงเทพอนุญาตให้ประกันตัวพันธ์ศักดิ์ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 70,000 บาท
29 ตุลาคม 2558
พันธศักดิ์โพสต์ภาพ
หมายเรียก ของศาลทหารกรุงเทพ ซึ่งระบุให้พันธ์ศักดิ์ไปรายงานตัวเพื่อสอบคำให้การในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2558 เวลา 8.30 น. บนเฟซบุ๊กของตนเอง พร้อมโพสต์ข้อความว่า "ได้เวลาออกเดิน"
5 พฤศจิกายน 2558
นัดสอบคำให้การ
ศาลทหารนัดสอบคำให้การ เวลา 8.30 น. ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวด วันนี้เจ้าหน้าที่ขอถ่ายรูปบัตรประจำตัวของผู้เข้าสังเกตการณ์ ขณะเดียวกันก็มีสื่อมวลชนจำนวนมากมารอทำข่าว และมีประชาชนจำนวนหนึ่งมารอมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่พันธ์ศักดิ์
ประมาณ 9.20 น. พันธ์ศักดิ์เดินทางถึงศาลทหารกรุงเทพ พร้อมกับนัชชชา ซึ่งเป็นผู้ต้องหาคดีชุมนุมหน้าหอศิลป์ และศาลนัดสอบคำให้การพร้อมกัน ที่หน้าทางเข้าศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าวันนี้จะไม่รับอำนาจศาลทหาร ทั้งนี้หลังจากลูกชายถูกยิงตายก็ไม่มีอะไรให้กังวลอีกแล้ว
ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลขึ้นบัลลังก์ เวลาประมาณ 11.30 น. ทนายของพันธ์ศักดิ์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลทหารกรุงเทพวินิจฉัยชี้ขาดเขตอำนาจศาล ตาม พ.ร.บ.วินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 ศาลจึงสั่งให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว
เพื่อให้โจทก์ทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน จากนั้นศาลจะทำความเห็นส่งไปให้ศาลอาญาพิจารณา และเมื่อศาลอาญาทำความเห็นส่งกลับมาแล้ว ก็จะนัดคู่ความมาฟังความเห็นและคำสั่งศาลต่อไป
1 เมษายน 2559
นัดฟังคำวินิจฉัยเขตอำนาจศาล
ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำสั่งเรื่องเขตอำนาจศาล หลังทนายขอยื่นคำร้องให้ศาลอาญาวินิจฉัยเมื่อวันนัดสอบคำให้การปีที่ผ่านมา(5 พฤศจิกายน 2558) บรรยากาศที่ศาลทหารช่วงเช้า มีสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งมารอทำข่าว พันธ์ศักดิ์เดินทางมาถึงศาลเวลา 09.10 น. โดยทนายความมารออยู่เเล้ว หลังจากนั้นเวลาประมาณ 09.30 น.ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี ศาลเริ่มจากอ่านคำสั่งว่า ตามที่ส่งคำร้องวินิจฉัยเขตอำนาจศาลไปที่เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ศาลอาญามีความเห็นลงวันที่ 29 มีนาคม 2559 ใจความว่า การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติยึดอำนาจสำเร็จ และเข้าควบคุมสถานการณ์ประเทศ ในขณะที่ประกาศกฎอัยการศึก และออกคำสั่งต่างๆ คำสั่งและประกาศนั้นถือเป็นกฎหมายดังนั้นประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ผู้ต้องหาคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ถูกนำพิจารณาคดีที่ศาลทหาร จึงผูกพันต่อคดีนี้ด้วย ศาลทหารจึงมีอำนาจพิจารณาคดีนี้
หลังอ่านคำสั่ง ศาลอ่านบรรยายฟ้อง ซึ่งจากกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน พันธ์ศักดิ์ถูกฟ้องดำเนินคดีถึง 3 ข้อกล่าวหาคือ ชุมนุมฝ่าฝืนประกาศคสช.ที่7/2557, ยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ สอบถามคำให้การพันธ์ศักดิ์ให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดี ต่อมาอัยการโจทก์ขอให้ศาลนัดวันสืบพยานเลย แต่ทนายขอค้าน เพราะเห็นว่าคดีนี้มีพยานหลักฐานซับซ้อนเพราะพันธ์ศักดิ์ถูกฟ้องถึง 3 ข้อหา และเหตุเกิดในท้องที่หลาย สน. รวมถึงทนายอยากรู้แนวทางการนำสืบพยานจึงขอนัดตรวจพยานหลักฐานก่อน
ศาลอนุญาติให้มีนัดตรวจพยานหลักฐาน จึงให้ทั้งสองฝ่ายนัดวัน กระทั่งได้วันที่ 11 กรกรฎาคม 2559 เป็นวันตรวจพยานหลักฐาน หลังเสร็จสิ้นฟังคำสั่ง พันธ์ศักดิ์ให้สัมภาษณ์ถึงคำวินิจฉัยของศาล และกล่าวกับสื่อมวลชนว่า แม้จะอยู่ในช่วงพิจารณาคดีและต้องขึ้นศาลทหาร ก็ยังทำกิจกรรมได้เรื่อยๆ ไม่มีผลอะไร ช่วงนี้ทำกิจกรรม 'วิ่งเฉยๆ'
11 กรกฎาคม 2559
นัดตรวจพยานหลักฐาน
นัดตรวจพยานหลักฐานถูกเลื่อนออกไปวันที่ 1 มีนาคม 2560
1 มีนาคม 2560
20 มิถุนายน 2560
นัดสืบพยานโจทก์
ประมาณ 10.00 น. ห้องห้องพิจารณาที่ 1 ศาลทหารกรุงเทพ
อัยการถาม พ.ต.อ.สถิตย์ พยานผู้กล่าวหาในประเด็นเกี่ยวกับการติดตามการเคลื่อนไหวของจำเลยทางเฟซบุ๊กว่า มีการโพสต์เชิญชวนร่วมกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน” เรียกร้องให้พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร ระหว่างวันที่ 14-16 มีนาคม 2558
พยานให้การว่า ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 พันธ์ศักดิ์เดินทางจากบ้านน้องเฌอ ซึ่งเป็นบุตรชายที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมปี 2553 แต่ระหว่างเดินทางถูกเชิญตัวไป สน.ปทุมวัน โดย พ.ต.อ.สถิตย์ ไม่ทราบว่าถูกดำเนินคดีหรือไม่ ก่อนวันที่ 15 มีนาคม 2558 จำเลยจะเริ่มกิจกรรมที่ “หมุดเฌอ” ซึ่งเป็นจุดที่บุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุมปี 2553 ในซอยรางน้ำ ไปยังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ระหว่างทางมีผู้เข้ามาร่วมเดินเพิ่มอีก 6 คน ในจำนวน 6 คนนี้ หนึ่งในนั้นคือปรีชา ซึ่งรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาจำคุก 6 เดือน ปรับ 8 พันบาท จำเลยรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง โทษจำคุกรอลงอาญา 1 ปี
พ.ต.อ.สถิตย์ ให้เหตุผลในการกล่าวหาจำเลยตามข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปว่า เนื่องจากจำเลยมีข้อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร และชื่อกลุ่มของจำเลย คือ กลุ่มพลเมืองโต้กลับ มีนัยเกี่ยวกับการเมือง จึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหมด 7 คน
ส่วนข้อหายุยงยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 นั้น พยานเห็นว่า การเชิญชวนให้คนออกมาชุมนุมทางการเมือง ถือเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนฝ่าฝืนประกาศ คสช. ซึ่งถือเป็นกฎหมาย และเมื่อโพสต์เชิญชวนทางเฟซบุ๊ก จึงเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เกี่ยวกับการนำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผิดต่อความมั่นคงด้วย
ทั้งนี้ ระหว่างที่อัยการถามความพยานอยู่นั้น ทนายความได้โต้แย้งว่าอัยการถามคำถามนำบ่อยครั้ง ช่วงหนึ่ง โจทก์และทนายความจำเลยลุกขึ้นมาโต้เถียงกันเกี่ยวกับจำนวนผู้ที่ร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ตามที่พยานเบิกความ ซึ่งทนายความเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดี ศาลได้ตักเตือนอัยการไม่ให้ถามนำ และขู่ว่าจะดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาล หากทนายความไม่เชื่อฟังศาล
อย่างไรก็ตาม การสืบพยานปากนี้ยังไม่เสร็จสิ้น ทนายความจำเลยจะถามค้าน พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ต่อในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เวลา 08.30 น.
13 กรกฎาคม 2561
นัดสืบพยาน
สืบพยานโจทก์ปากที่ 4 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ
ที่ศาลทหารกรุงเทพ เวลาประมาณ 10.00 น. ศาลขึ้นบัลลังก์แต่หลังจากเริ่มสืบพยานไม่ถึง 10 นาทีศาลสั่งห้ามผู้เข้าฟังในห้องพิจารณาจดบันทึก ทั้งๆที่การพิจารณานัดก่อนๆไม่ได้มีการสั่งห้ามเช่นนี้ ขณะเดียวกันแม้ว่าทนายจำเลยขออนุญาตให้เสมียนที่มาด้วยเป็นผู้จดบันทึกก็ตาม ศาลกลับอนุญาตแค่ให้ทนายจดบันทึกเท่านั้น และกระทั่งหลังออกจากห้องพิจารณาก็มีเจ้าหน้าที่ศาลมาถามผู้เข้าร่วมรับฟังการพิจารณาบางท่านเพื่อทำการยึดสมุดและฉีกหน้ากระดาษที่มีการบันทึกเกี่ยวกับการสืบพยานครั้งนี้ ซึ่งส่วนมากเป็นข้อมูลในช่วง 10 นาทีแรกหลังจากการเริ่มสืบพยานก่อนที่จะมีการสั่งห้ามไม่อนุญาตให้จดบันทึกเท่านั้น
จากนั้นทนายเริ่มถามค้านในหลายคำถาม พยานตอบสรุปใจความได้ว่า ผู้บังคับบัญชาของตนคือพลเอกสมโภชน์ วังแก้ว ผู้บังคับบัญชากองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ ผู้บังคับบัญชากองกำลังสังกัดกระทรวงกลาโหม และตนสำเร็จการศึกษาปริญญาโทจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เคยดำรงตำแหน่งในกรมพระธรรมนูญ มีความรู้ด้านกฎหมายอาญาและกฎหมายทหารพอสมควร
ทนายถามว่า จากความรู้รวมทั้งความคิดเห็นของพยาน พยานว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 นั้นอาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึกหรือไม่
พยานตอบว่า ไม่ได้ใช้ แต่อาศัยอำนาจรัฎฐาธิปัตย์
ทนายนำเอกสารประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้พยานดูประโยคบนประกาศมีใจความประมาณว่า "ประกาศนี้อาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึก" และถามต่อว่าพยานยืนยันข้อความนี้ในเอกสารฉบับนี้หรือไม่
พยานตอบว่า ยืนยันครับ
ทนายถามต่อว่า ถ้าตามที่พยานเบิกความเบื้องต้นว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ใช้อำนาจจากรัฎฐาธิปัตย์ ดังนั้นข้อความในเอกสารดังกล่าวที่ระบุว่าประกาศอาศัยอำนาจจากกฎอัยการศึกเป็นเท็จหรือไม่
พยานตอบว่า ไม่เป็นเท็จครับ
ทนายถามต่อว่า ถ้าอย่างนั้นด้วยความรู้ของพยาน รัฎฐาธิปัตย์คืออะไร คสช.ถือเป็นรัฎฐาธิปัตย์หรือไม่
พยานตอบว่า รัฎฐาธิปัตย์คือบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศขณะนั้น คสช.ถือเป็นรฎฐาธิปัตย์หลังจากการยึดอำนาจสำเร็จในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และคสช. ไม่ได้เข้ามาบริหารแบบหลักประชาธิปไตย สำหรับประเทศไทย พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขเช่นเดิมแต่ตนไม่ขอตอบว่าเป็นประมุขในระบอบอะไร
ทนายถามว่า ประชาชนไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยตามคสช.ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่จำเป็น
ทนายถามต่อว่า หากประชาชนเห็นต่างกับรัฐบาลคสช.ถือเป็นการทำผิดกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่
ทนายถามต่อว่า มีประชาชนออกมาต่อต้านการรัฐประหารและถูกดำเนินคดีหรือไม่ พยานตอบว่า มี บางกลุ่มเท่านั้นส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา
ทนายถามว่า พยานเห็นด้วยกับประกาศคสช.หรือไม่ พยานตอบว่า ตนเห็นด้วยเป็นบางฉบับ
ทนายถามต่อว่า พยานเห็นว่าประกาศคสช.ถือว่าละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่ พยานตอบว่า เป็นบางฉบับ
ทนายถามต่ออีกว่า พยานมีความคิดเห็นอย่างไรกับประกาศคสช.ที่นำพลเรือนขึ้นรับการพิจารณาคดีจากศาลทหาร ถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิของพลเรือนหรือไม่
พยานตอบว่า ไม่ถือเป็นการละเมิดครับ ยกเว้นเป็นช่วงที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกเพราะไม่อนุญาตให้มีการอุธทรณ์และฎีกา
ทนายขอให้พยานเขียนคำว่า "รัฎฐาธิปัตย์" เหตุเพราะเจ้าหน้าที่ศาลพิมพ์คำนี้ผิด
พยานมีการโวยวายเสียงดังเล็กน้อยว่าเหตุใดตนต้องเขียน อีกทั้งศาลยังตำหนิทนายพร้อมตักเตือนว่าอย่าเล่นแง่
ทนายจึงเปลี่ยนเป็นขอให้พยานสะกดแทน โดยถามว่าคำว่ารัฎฐาธิปัตย์ มี ราษ'ฎ'ร หรือไม่
พยานตอบว่า ไม่มี
ทนายบอกว่า รัฎฐาธิปัตย์ มี ราษ'ฎ'ร และขอให้เจ้าหน้าที่ศาลแก้ไขบันทึกศาล
ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่ามาตรา 116 นั้นมีข้อยกเว้น
พยานตอบว่า ไม่แน่ใจ และถามว่ามาตราที่ใช้ยกเว้นคือมาตราอะไร
ทนายนำบทกฎหมายมาตรา 116 เพื่อให้พยานอ่านเรื่องการยกเว้นแต่พยานบอกให้ทนายบอกตนเลย ตนเห็นแล้วว่าแต่บทกฎหมายจริง
ทนายจึงบอกว่า มาตรา 116 นั้นมีข้อยกเว้นในตัวมาตราเองครับ เพราะในมาตรานี้ระบุไว้ว่าหากจำเลยปฏิบัติตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญและสุจริตจะไม่ถือว่าการกระทำของจำเลยนั้นเป็นการปลุกปั่น เป็นการอ่านตีความกลับหลังของมาตรา 116 ครับ
พยานตอบว่า ก็ตามที่ทนายกล่าวมาแหละครับ ผมก็นึกว่ามีมาตรายกเว้น
ทนายถามว่า พยานเห็นว่าเหตุผลของการให้พลเรือนขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหารคืออะไร
พยานตอบว่า เพื่อความรวดเร็วที่มีมากกว่า เพราะในขณะนั้นได้ทีการประกาศกฎอัยการศึก ทำให้มีการพิจารณาคดีแค่ศาลเดียว จบภายในศาลเดียวจึงรวดเร็วกว่ากระบวนการยุติธรรมตามปกติ
ทนายถามว่า จากเหตุผลที่พยานยกมาข้างต้น พยานทราบหรือไม่ว่าในความเป็นจริงแล้วศาลทหารมีการพิจารณาคดีที่ช้ากว่าศาลพลเรือนทั่วไปอย่างมาก
พยานตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าการล่าช้าชองศาลทหารนั้นเป็นหนึ่งในเหตุผลของจำเลยที่ปฏิเสธการขึ้นพิจารณาคดีที่ศาลทหาร
พยานตอบว่า ไม่ทราบ (พร้อมกับเสียงที่เริ่มดังขึ้น)
ศาลตักเตือนทนายว่าคำถามเหล่านี้อาจเป็นการดูหมิ่นศาลและกระทบศาลมากเกินไป พร้อมอธิบายว่าศาลทหารมีคดีของทหารมาก เพราะบุคลากรไม่เพียงพอจึงเป็นการยากที่จะรองรับคดีพลเรือนจึงเป็นเหตุของความล่าช้าดั่งที่ทนายกล่าวมา
ทนายชี้แจงต่อศาลว่าตนและจำเลยไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือกล่าววาจากระทบกระทั่งต่อศาลทหารแต่อย่างใด เพียงแต่ตนกล่าวตามความเป็นจริงเพื่อพิสูจน์ว่าจำเลยนั้นมีเหตุผลสุจริตตามข้อยกเว้นในมาตรา 116
ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าศาลพลเรือนมีการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องและพิจารณาเสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือนซึ่งแตกต่างจากศาลทหารที่ทำการนัดพิจารณาคดีเดือนครั้งหรือสองเดือนครั้ง
พยานตอบว่า ไม่ทราบว่าศาลพลเรือนพิจารณาคดีอย่างไร แต่ตนทราบว่าศาลทหารก็มีการพิจารณาคดีอย่างต่อเนื่องเป็นบางคดีเช่นกัน
ทนายถามว่า พยานเห็นว่าเหตุผลของจำเลยนั้นถือว่าเป็นเหตุผลที่สุจริตและไม่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
พยานตอบด้วยน้ำเสียงที่ไม่พอใจและเสียงดังว่า ผมไม่ทราบ! ที่คุณกล่าวมาเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลย จะมาถามผมทำไมผมไม่ทราบ!
ทนายจึงทวนคำถามข้างตนเพื่อสรุปคำเบิกความของพยานเพื่อที่ยืนยันว่าตนและพยานเข้าใจตรงกัน หากแต่พยานนั้นมีอารมณ์โมโหและตะคอกใส่ทนายว่า ผมไม่ทราบ! คุณจะย้ำทำไมก็ผมบอกว่าผมไม่ทราบมันเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลย!
ถามผมเรื่องเหตุการแจ้งความสิ อันนั้นผมตอบได้แต่คุณดันถามผมเรื่องความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลยแล้วคุณยังถามผมเรื่องสถาบันอีก ผมไม่สามารถตอบได้!
พยานเบิกความข้างต้นด้วยเสียงดังพร้อมทั้งผายมือไปทางทนายและตบโต๊ะพยานเล็กน้อย
ทนายกล่าวกับศาลว่า ท่านจะให้พยานขึ้นเสียงใส่ผมแบบนี้เหรอครับ จากนั้นทนายจึงขอพักการพิจารณาคดีเป็นเวลา 5 นาทีเพราะพยานไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้
ด้วยความที่ขณะนั้นเป็นเวลา 11.00 น. จวนจะ 12.00 น.แล้ว ศาลจึงถามว่าถ้าหากเปลี่ยนจากการพักพิจารณาคดีเป็นเลิกศาลและพิจารณาคดีต่อในนัดต่อไปจะดีกว่าไหม ทนายตอบตกลงตามที่ศาลเสนอ หากแต่พยานปฏิเสธที่จะพิจารณาคดีต่อในนัดครั้งหน้าพร้อมบอกว่า เอาให้เสร็จวันนี้แหละมันเสียเวลาผม
ทนายจึงแย้งขึ้นมาว่า พยานควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้แล้วนะครับ แต่พยานยืนยันที่จะทำการสืบพยานต่อให้เสร็จภายในวันนี้ ทนายยินยอมและขอให้พยานสงบอารมณ์ลงก่อนแล้วจึงเริ่มทำการสืบพยานต่อ
ทนายมีการย้ำคำถามและคำตอบก่อนหน้านี้โดยสรุปว่า พยานไม่ทราบเพราะเป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลยถูกต้องไหมครับ พยานตอบว่า ใช่
ทนายถามว่า พยานมีเฟซบุ๊กหรือไม่ หากมีชื่อเฟซบุ๊กของพยานคืออะไร
พยานตอบว่า มีแต่ไม่บอกชื่อเฟซบุ๊ก
ทนายจึงแซวว่า พยานเป็นเพื่อนกับตนบนเฟซบุ๊กหรือไม่ เพื่อให้บรรยากาศในการพิจารณาคดีนั้นลดความตึงเครียดลง
ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยมีเฟซบุ๊กเช่นกัน หากทราบพยานเคยได้อ่านบทความของจำเลยที่เขียนลงให้เฟซบุ๊กของจำเลยเองหรือไม่
พยานตอบว่า ไม่ทราบว่าจำเลยมีเฟซบุ๊กและไม่เคยอ่านบทความที่เขียนโดยจำเลย
ทนายถามว่า พยานทราบหรือไม่ว่าจำเลยเป็นอดีตนักฟุตบอลและเป็นบิดาของน้องเฌอ
พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่มาทราบหลังจากแจ้งความ
ทนายถามต่อว่า พยานทราบหรือไม่ว่าน้องเฌอ ลูกสาวของพยานได้เสียชีวิตระหว่างการสลายชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงในปี 53 โดยทำการสลายชุมนุมโดยเจ้าหน้าที่ทหาร
พยานตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายถามว่า พยานคิดว่าการที่ลูกสาวของจำเลยเสียชีวิตจากปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทหาร ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมนั้นเป็นเหตุผลเพียงพอหรือไม่ที่จำเลยจะต่อต้านการให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร
พยานตอบว่า ไม่ทราบ เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของจำเลย ผมไม่ทราบ
ทนายถามว่า พยานเคยเห็นโพสต์ของจำเลยที่ระบุว่า "อย่ามาเกินสี่คนนะ เดี๋ยวเกินห้าคน" หรือไม่พร้อมนำรูปภาพข้อความที่จำเลยโพสต์ให้พยานดู แล้วถามต่อว่า หากพยานเห็นแล้ว พยานคิดว่าเจตนาของจำเลยในโพสต์นี้คืออะไร
พยานตอบว่า เคยเห็นครับ ผมคิดว่าเจตนาของจำเลยคือการหลีกเลี่ยงการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดการชุมนุมเกินห้าคน
ทนายถามว่า การที่มีผู้มาให้กำลังใจและให้ดอกไม้แก่จำเลยในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ อีกทั้งเดินเว้นระยะห่างจากจำเลย 5 – 10 เมตร เท็จจริงถูกต้องหรือไม่ครับ
พยานตอบว่า ถูกต้อง
ทนายถามต่อว่า ในที่ 14 กุมภาพันธ์จำเลยมีการปราศรัยเรื่องการเมืองระหว่างการเดินหรือไม่ครับ
พยานตอบว่า ไม่มี หากแต่การกระทำของจำเลยถือเป็นการปลุกปั่นอารมณ์ต่อกลุ่มอื่นบางกลุ่ม
ทนายถามว่า แล้วการที่ชาวบ้านเกินห้าคนเดินทางมาให้กำลังใจและดอกไม้กับนายกรัฐมนตรีในเวทีปราศรัยนโยบายต่างๆถือว่าเป็นการชุมนุมเกินห้าคนหรือเป็นการปลุกระดมไหมครับ
พยานถามทนายว่า ปราศรัยอะไรครับ ทนายขยายความว่า เวลามีการชี้แจงเรื่องนโยบายต่างๆครับ
พยานตอบว่า การชี้แจงหรอครับ ไม่ครับ พยานเบิกความเพิ่มเติมว่า ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมเพื่อต่อต้านหรือสนับสนุนรัฐบาลก็โดนหมดครับ ชุมนุมให้กำลังใจท่านประวิตรก็โดนดำเนินคดีครับ
ทนายถามว่า พยานคิดว่านอกจากเจตนาของจำเลยที่โพสต์ข้อความก่อนหน้านี้ลงเฟสบุ๊คเพื่อเป็นการเลี่ยงข้อกฎหมาย จำเลยมีเจตนาอื่นอีกหรือไม่
พยานตอบว่า ตนคิดว่าเป็นการปลุกระดมบุคคลอื่นบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายได้
ทนายถามว่า พยานสนิทสนมกับจำเลยจนสามารถรับรู้เจตนาของจำเลยได้หรือไม่
พยานตอบว่า ไม่
ทนายถามว่า การยึดอำนาจของรัฐบาลคสช.นั้นได้รับการยอมรับจากนานาประเทศหรือไม่
พยานตอบว่า ได้รับการยอมรับ เป็นระบอบที่สากลยอมรับ
ทนายถามต่อว่า การที่ต่างประเทศหลายประเทศไม่อนุญาตให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าประเทศถือเป็นการได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเหรอครับ
พยานตอบว่า ไม่ทราบเรื่องที่หลายประเทศไม่อนุญาตให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเข้าประเทศ หากแต่รัฐบาลและพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้รับการยอมรับจากนานาประเทศเพราะเป็นระบอบสากล ใครๆก็ใช้กัน เช่นเดียวกับการยึดอำนาจในปี 2475 ที่ได้รับการยอมรับจากนานาชาติ
ตอบอัยการถามติง
เหตุใดพยานจึงคิดว่าข้อความโพสต์โดยจำเลยมีเจตนาเป็นการปลุกระดม
พยานตอบว่า เพราะจำเลยเคยมีพฤติการณ์ทำให้คิดเช่นนั้น
อัยการถามต่อว่า พฤติการณ์เช่นอะไรคะ
พยานตอบว่า การเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองประมาณนั้น
หลังเสร็จสิ้นการสืบพยานปากนี้ ศาลนัดสืบพยานปากต่อไป 14 กันยายน 2561
14 กันยายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์ปากที่สาม พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ รองผู้กำกับการสน.ชนะสงคราม
พ.ต.อ.สมยศเบิกความต่ออัยการทหารว่า ขณะเกิดเหตุเขารับราชการที่สน.ชนะสงครามมีหน้าที่สืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำความผิดและทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย เกี่ยวกับคดีนี้ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 เขาได้รับการประสานจากพ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ กองกำกับการสืบสวน กองบังคับการนครบาล 1 ว่าจะมีมวลชนกลุ่มพลเมืองโต้กลับมาทำกิจกรรมพลเมืองรุกเดิน เรียกร้องให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ภายใต้แนวคิด เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินไปหามัน
พ.ต.อ.สมยศเห็นว่าเป็นการชุมนุมทางการเมืองเพราะมีการโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเชิญชวนคนที่ไม่เห็นด้วยกับการออกกฎหมายของคสช.มาร่วมเดินเท้า พ.ต.อ.สมยศเห็นว่าการกระทำดังกล่าว กระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน จึงสั่งการให้ตรวจสอบ ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 มอบหมายให้พ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา นำกำลังไปประจำการบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยฝั่งบริษัทรถเบนซ์ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ชุมนุมจะเข้าท้องที่ของสน. ส่วนตัวของเขาประจำการอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เกี่ยวกับกิจกรรมในวันที่ 15 มีนาคม 2558 พ.ต.อ.สมยศเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์เริ่มเดินจากซอยรางน้ำเพื่อวางดอกไม้บริเวณจุดที่บุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตในปี 2553 ซึ่งมีหมุดที่ระลึกฝังไว้ หลังจากนั้นพันธ์ศักดิ์และมวลชนเดินเท้าจากผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสรณ์สถานซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความหมายทางการเมืองก่อนจะเดินมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพันธ์ศักดิ์และมวลชนรวมเจ็ดคน ที่เหลือเป็นฝ่ายข่าวเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาล ฝ่ายข่าวทหาร และหน่วยข่าวกรอง ที่แยกออกจากมวลชนเพราะจะคอยถ่ายภาพและรายงานผู้บังคับบัญชา
พ.ต.อ.สมยศเบิกความต่อว่า มวลชนที่เดินมาร่วมกับพันธ์ศักดิ์มีทั้งหมดเจ็ดคน คนที่ทราบชื่อมีพันธ์ศักดิ์และปรีชา ส่วนผู้ต้องหาคนอื่นอีกสี่คนตามภาพที่อัยการทหารนำมาให้ดู พ.ต.อ.สมยศไม่ทราบชื่อและมีหนึ่งคนที่ไม่แน่ใจอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ เมื่อพันธ์ศักดิ์และมวลชนเดินมาถึง พ.ต.อ.สมยศเชิญพันธ์ศักดิ์ไปพูดคุยกับผู้ช่วยอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ ที่ห้องประชุมตึกโดมโดยตัวพ.ต.อ.สมยศร่วมพูดคุยด้วย
สำหรับเนื้อหาการพูดคุยพ.ต.อ.สมยศเบิกความว่า สอบถามพันธ์ศักดิ์ว่าจะมาทำกิจกรรมอะไร จากนั้นผู้ช่วยอธิการบดีชี้แจงกับพันธ์ศักดิ์ว่าหากบุคคลภายนอกต้องการจัดกิจกรรมในมหาวิทยาลัยจะต้องทำหนังสือแจ้งล่วงหน้า และเมื่อทราบการทำกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์จะมีการนอนค้างคืน ตัวแทนมหาวิทยาลัยก็ชี้แจงว่าทางมหาวิทยาลัยมีระเบียบห้ามบุคคลภายนอกนอนค้างคืนในมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ตัวพ.ต.อ.สมยศก็แจ้งกับพันธ์ศักดิ์ว่าการทำกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์อาจเข้าข่ายความผิดตามคำสั่งคสช. ฉบับที่ 7/2557 (พยานเบิกความว่าคำสั่งไม่ใช่ประกาศ) สำหรับผลการพูดคุยพันธ์ศักดิ์บอกว่าจะไม่ทำกิจกรรม ไม่ใช้เครื่องเสียง แต่จะไปนั่งพักผ่อนพูดคุยกับคนที่มาให้กำลังใจที่บริเวณลานปรีดีซึ่งมีที่นั่งที่ประชาชนทั่วไปสามารถนั่งพักผ่อนได้และจะไม่มีการพักค้างคืนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
หลังการพูดคุยแล้วเสร็จ พันธ์ศักดิ์และมวลชนประมาณ 20 คน เดินไปนั่งจับกลุ่มคุยกันที่บริเวณลานปรีดี บางกลุ่มนั่งกันห้าคน บางกลุ่มนั่งรวมกันสิบคน พ.ต.อ.สมยศไม่ทราบว่าพันธ์ศักดิ์กับมวลชนที่มาพูดคุยอะไรกัน นอกจากการพูดคุยก็มีมวลชนนำสติกเกอร์แผ่นละ 15 – 20 บาทมาจำหน่ายด้วย สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ พ.ต.อ.สมยศเบิกความว่าเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์การพูดคุยของพันธ์ศักดิ์และมวลชนที่มาให้กำลังใจ และรายงานสถานการณ์ให้ผู้บังคับบัญชาทราบ กลุ่มดังกล่าวนั่งคุยถึงประมาณ 19.00 จึงได้สลายตัวกลับบ้าน
หลังจากนั้นวันที่ 16 มีนาคม 2558 มีคำสั่งกองบัญชาการตำรวจนครบาล แต่งตั้งพ.ต.อ.สมยศเป็นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน ร่วมกับตำรวจท้องที่อื่นที่พันธ์ศักดิ์เดินผ่าน รวบรวมพยานหลักฐาน และทำรายงานสถานการณ์ความมั่นคงเสนอต่อผู้บังคับบัญชา พ.ต.อ.สมยศ ทำรายงานพร้อมส่งภาพถ่ายที่อัยการทหารอ้างส่งศาลระหว่างการสืบพยานวันนี้ให้ผู้บังคับบัญชาพร้อมทั้งเบิกความว่าเขา
ไม่เคยรู้จักหรือมีเหตุโกรธเคืองกับพันธ์ศักดิ์มาก่อน
อัยการแถลงหมดคำถาม ทนายจำเลยแถลงขอเลื่อน สืบพยานถามค้าน ออกไปก่อนเพราะมีคำถามที่ต้องถามค้านพยานปากนี้จำนวนมากจะขอให้ศาลออกหมายเรียกบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของพยานปากนี้มาเพื่อเตรียมถามค้าน อัยการทหารแถลงต่อศาลว่าไม่คัดค้านการขอเลื่อนนัด ศาลนัดสืบพยานปากนี้ต่อในวันที่ 29 ตุลาคม 2561 ซึ่งเป็นวันที่คู่ความนัดกันไว้แล้ว อัยการทหารยังแถลงขอให้ศาลส่งหมายเรียกไปให้พ.ต.อ.สมยศ ที่สน.ดุสิตซึ่งเป็นต้นสังกัดปัจจุบันของพยานด้วย
29 ตุลาคม 2561
นัดสืบพยานโจทก์
ศาลทหารเลื่อนนัดสืบพยานโจทก์ออกไปเป็นวันที่ 12 พฤศจิกายน 2561 เนื่องจากพยานโจทก์ไม่มาศาลเพราะติดราชการ
12 พฤศจิกายน 2561
นัดสืบพยานโจทก์
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนให้ข้อมูลว่าการสืบพยานปาก พ.ต.อ.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เสร็จสิ้นแล้ว ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานปากต่อไปวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562
25 กุมภาพันธ์ 2562
นัดสืบพยานโจทก์
พันธ์ศักดิ์ พร้อมทนายมาถึงศาลทหารกรุงเทพในเวลาประมาณ 10.00 น. เมื่อมาถึงได้รับแจ้งว่าพยานโจทก์ที่นัดไว้วันนี้ไม่มาศาลเนื่องจากติดราชการ เจ้าหน้าที่ศาลทหารนำคำสั่งศาลเรื่องการจำหน่ายคดีเฉพาะข้อกล่าวหาตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มามอบให้ทนายจำเลยด้วย โดยการจำหน่ายคดีเฉพาะข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดขึ้นหลังพล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคสช.ในส่วนดังกล่าวไป
สำหรับการสืบพยานนัดต่อไปศาลทหารสั่งเลื่อนไปสืบพยานในวันที่ 5 มีนาคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่คู่ความกำหนดวันนัดไว้ก่อนแล้ว
5 มีนาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์ปากที่สี่ ร.ต.อ.ปภาณ สีหาอาจ รองสารวัตรสืบสวนส.น.นางเลิ้ง
การสืบพยานคดีนี้เริ่มในเวลาประมาณ 9.45 น.
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความตอบศาลว่า ขณะที่เบิกความต่อศาลเขาปฏิบัติหน้าที่เป็นรองสารวัตรจราจร สน.บางโพงพาง โดยปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2559
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความตอบอัยการทหารว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับคดีนี้เพราะขณะเกิดเหตุปฏิบัติหน้าที่เป็นรองสารวัตรปราบปรามและรองสารวัตรสืบสวน สน.นางเลิ้ง มีหน้าที่สืบสวนหาผู้ค้ายา และปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย โดยเหตุในคดีนี้ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นในเขตรับผิดชอบของสน.นางเลิ้งด้วย
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์กับพวกร่วมกันดำเนินการทางการเมือง เข้าข่ายเป็นการฝ่าฝืนอำนาจคสช. และฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.เรื่องห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน
อัยการทหารขอให้ร.ต.อ.ปภาณชี้ตัวว่าพันธ์ศักดิ์อยู่ในห้องพิจารณาคดีด้วยหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณหันไปชี้ตัวพันธ์ศักดิ์ซึ่งนั่งอยู่ในห้องพิจารณาคดี
อัยการทหารขอให้ร.ต.อ.ปภาณเล่าเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุที่อยู่ในความรับผิดชอบของเขา ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าคดีนี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 มีนาคม 2558 โดยการกระทำของจำเลยที่อยู่ในเขตรับผิดชอบของเขาเกิดขึ้นระหว่างเวลาประมาณ 10.00 น. – 12.00 น.
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความต่อว่า ในวันที่ 14 มีนาคม 2558 พ.ต.อ.สถิตย์ สังข์ประไพ ผู้กำกับการสืบสวนตำรวจนครบาล 1 ในขณะนั้น แจ้งกับผู้บังคับบัญชาของเขาว่า เพจเฟซบุ๊ก พลเมืองโต้กลับ ประกาศเชิญชวนคนทำกิจกรรมทางการเมืองระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2558 โดยมีข้อเรียกร้องไม่ให้ดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าจำเลยเป็นสมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับดังกล่าว ส่วนที่พ.ต.อ.สถิตย์ มาแจ้งเหตุกับผู้บังคับบัญชาของเขาน่าจะเป็นเพราะกลุ่มของจำเลยจะเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าที่การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำทางการเมืองเป็นเพราะมีการโพสต์ข้อความเชิญชวนให้สมาชิกกลุ่มและประชาชนออกมาต่อต้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารซึ่งถือเป็นการต่อต้านอำนาจคสช.และอำนาจของรัฐบาลในขณะนั้น
เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในคดีนี้ ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าผู้บังคับบัญชาสั่งการให้เขาไปสังเกตการณ์ การกระทำของจำเลยในวันเกิดเหตุ ผู้บังคับบัญชาแจ้งกับเขาด้วยว่า ได้รับข้อมูลมาจากทางไลน์ว่าพันธ์ศักดิ์จะเดินมาจากซอยรางน้ำ จากนั้นจะเดินผ่านถนนศรีอยุธยาแล้วเลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชดำเนิน เส้นทางเดินจะผ่านพื้นที่ของสน.พญาไท สน.ดุสิต จากนั้นจึงเข้าพื้นที่รับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง โดยพันธ์ศักดิ์จะเดินเข้าพื้นรับผิดชอบของสน.นางเลิ้งที่แยกมิสกวัน โดยในวันเกิดเหตุเขาไปยืนรอพันธ์ศักดิ์ที่บริเวณแยกมิสกวัน ในเวลาประมาณ 10.00 น.
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์เดินเข้าพื้นที่มากับพวกรวมห้าคน โดยมีนักข่าวและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบตามมาด้วย ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเขาแยกระหว่างผู้ทำกิจกรรมกับนักข่าวหรือเจ้าหน้าที่ออกเพราะพฤติการณ์ของคนทำกิจกรรมจะเดินโบกไม้โบกมือแต่นักข่าวหรือเจ้าหน้าที่จะเดินตามโดยมีการเว้นระยะ และจะถ่ายรูปการทำกิจกรรม นอกจากนี้นักข่าวหรือเจ้าหน้าที่จะมีการห้อยบัตรแสดงตัว
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าพันธ์ศักดิ์และพวกรวมห้าคนเดินผ่านสะพานมัฆวานจากนั้นแวะรับประทานอาหารที่ร้านไก่ย่างผลเจริญ โดยในจำนวนบุคคลที่เดินมาทั้งหมดห้าคนมีสี่คนรวมทั้งพันธ์ศักดิ์จำเลยคดีนี้ที่เข้าไปรับประทานอาหาร ส่วนอีกคนหนึ่งรออยู่ด้านนอก โดยก่อนหน้าที่พันธ์ศักดิ์กับพวกจะเข้าไปก็มีคนรออยู่ในยร้านแล้วสี่คน ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเขาทราบเหตุการณ์ภายในร้านเพราะประตูของร้านเป็นกระจกมองเข้าไปได้ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่ในร้านส่งข้อมูลและภาพถ่ายผ่านแอพพลิเคชันไลน์มาให้
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าบุคคลทั้งแปดรับประทานอาหารจนถึงเที่ยงจึงออกมาจากร้าน โดยคนที่ออกมาเดินต่อคือพันธ์ศักดิ์และพวกรวมสี่คนที่เดินเข้าไปรับประทานอาหารและคนที่ร่วมเดินอีกหนึ่งคนที่ไม่ได้เข้าไปรับประทานอาหารแต่รออยู่หน้าร้านร่วมเดินต่อ ส่วนคนที่รออยู่ในร้านอีกสี่คนไม่ได้ออกมาร่วมเดินด้วย สำหรับเส้นทางที่เดินต่อร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่ากลุ่มดังกล่าวเมื่อออกจากร้านแล้วก็เดินไปทางแยกจปร.และสะพานผ่านฟ้า
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเมื่อเดินออกจากร้านแล้วเขาเดินตามกลุ่มดังกล่าวไปถึงแยกผ่านฟ้าซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสน.สําราญราษฎร์ เขาจึงได้รายงานผู้บังคับบัญชาทางโทรศัทพ์และทางแอพพลิเคชันไลน์ โดยได้ส่งภาพถ่ายไปทางแอพพลิเคชันไลน์ด้วย โดยเมื่อเดินมาถึงแยกผ่านฟ้าก็พบว่ามีเจ้าหน้าที่จากสน.สำราญราษฎร์มารอรับช่วงต่อแล้ว อัยการทหารนำภาพถ่ายสามภาพมาให้ร.ต.อ.ปภาณดูแล้วถามว่าใช่ภาพที่ร.ต.อ.ปภาณถ่ายแล้วส่งให้ผู้บังคับบัญชาทางแอพลิเคชันไลน์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณรับว่าใช่
ระหว่างการถามคำถาม อัยการทหารให้ร.ต.อ.ปภาณดูภาพถ่ายบุคคล ซึ่งร.ต.อ.ปภาณยืนยันว่ามีภาพของพันธ์ศักดิ์และภาพของบุคคลที่ร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ในวันเกิดเหตุ
ร.ต.อ.ปภาณเบิกความว่าเขาเคยถูกเชิญไปให้ปากคำที่สน.สำราญราษฎร์ซึ่งเขาได้ลงรายมือชื่อไว้ในไว้ในเอกสารสอบปากคำด้วย
อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่าข้อเรียกร้องในการกระทำของจำเลยคดีนี้คือการเรียกร้องให้ยุติการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าเจตนารมณ์ของศาลทหารคือใช้พิจารณาคดีทหาร ไม่ใช่พลเรือนใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าใช่ ทนายจำเลยถามว่าจำเลยมีสิทธิรณรงค์ในประเด็นดังกล่าวหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณเห็นว่าจำเลยเป็นพลเรือนสามารถรณรงค์ไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหารได้
ทนายจำเลยถามว่าในวันที่ 14 มีนาคม ที่มีการกล่าวหาว่ามีการโพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนมาชุมนุม ตัวร.ต.อ.ปภาณเคยเห็นโพสต์ดังกล่าวหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าตัวเขาไม่ได้เห็นโพสต์ดังกล่าวเองและไม่ทราบว่ามีโพสต์ดังกล่าว และว่าข้อความในโพสต์ดังกล่าวจะมีเจตนาปลุกปั่นให้ประชาชนละเมิดกฎหมายบ้านเมืองหรือไม่
ทนายจำเลยถามว่า ช่วงเวลาที่พันธ์ศักดิ์อยู่ในท้องที่รับผิดชอบของสน.นางเลิ้ง เหตุการณ์เป็นไปโดยสงบใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์มีการปราศรัยปลุกระดมหรือไม่ และระหว่าเวลา 10.00 – 12.00 น. รัฐบาลที่บริหารประเทศในขณะนั้นก็บริหารราชการแผ่นดินไปโดยปกติใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่าในท้องที่ของเขาการทำกิจกรรมเป็นไปโดยสงบ ไม่มีการปราศรัย และรัฐบาลก็บริหารราชการแผ่นดินไปโดยปกติ
ทนายจำเลยถามว่า ในชั้นสอบสวนร.ต.อ.ปภาณไม่ได้ให้การเรื่องเรื่องการส่งภาพถ่ายให้ผู้บังคับบัญชาผ่านแอพพลิเคชันไลน์ และไม่ได้ให้การเรื่องว่ามีบุคคลใดบ้างที่ร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ใช่หรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณรับว่าไม่ได้ให้การทั้งสองเรื่องกับพนักงานสอบสวน
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
ตอบอัยการถามติง
อัยการทหารถามร.ต.อ.ปภาณว่า ที่ตอบทนายจำเลยว่าไม่เคยให้การเรื่องการส่งภาพถ่ายให้ผู้บังคับบัญชาทางแอพพลิเคชันไลน์ และเรื่องที่ไม่ได้ให้การกับพนักงานสอบสวนว่ามีบุคคลใดบ้างร่วมเดินกับพันธ์ศักดิ์ ร.ต.อ.ปภาณยืนยันคำให้การในชั้นศาลตามที่ได้เบิกความไปหรือไม่ ร.ต.อ.ปภาณตอบว่ายืนยันคำเบิกความ
อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
ศาลแจ้งให้คู่ความมาสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 19 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่คู่ความนัดกันไว้แล้ว
19 มีนาคม 2562
นัดสืบพยานโจทก์
2 เมษายน 2562
นัดสืบพยานโจทก์
สืบพยานโจทก์ปากที่ห้า ด.ต.พงศ์เทพ โกฎเพชร ผู้บังคับหมู่งานสืบสวนสน.พญาไท
ศาลทหารเริ่มการสืบพยานในเวลาประมาณ 9.45 น. ด.ต.พงศ์เทพเบิกความต่อศาลว่า ขณะเบิกความเขารับราชการตำรวจเป็นผู้บังคับหมู่งานสืบสวนส.น.พญาไท มีหน้าที่สืบสวนจับกุมผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาและปฏิบัติหน้าที่อื่นตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ชอบด้วยกฎหมาย เกี่ยวของกับคดีนี้เนื่องจากได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่า มีเฟซบุ๊กเพจชื่อ พลเมืองโต้กลับ โพสต์ข้อความเชิญชวนประชาชนร่วมการชุมนุมระหว่างวันที่ 14 – 16 มีนาคม 2558 เพื่อเรียกร้องไม่ให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยจะมีช่วงหนึ่งที่กิจกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของสน.พญาไท
ด.ต.พงศ์เทพเบิกความรับว่า ตัวเขาเองไม่ได้เห็นหรืออ่านโพสต์ดังกล่าวด้วยตัวเอง แต่ทราบจากคำบอกของผู้บังคับบัญชาเท่านั้น และไม่ทราบว่าบุคคลใดเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว ผู้บังคับบัญชาสั่งให้เขาไปสังเกตการณ์และดูแลความเรียบร้อย ระหว่างที่พันธ์ศักดิ์และพวกเข้ามาทำกิจกรรมในพื้นที่รับผิดชอบของสน.พญาไท ในการไปสังเกตการณ์ ทางสน.เองก็มีความกังวลเรื่องความปลอดภัย เพราะการทำกิจกรรมทางการเมืองย่อมมีทั้งผู้เห็นด้วยและเห็นต่าง คนที่เห็นต่างอาจมาทำร้ายผู้ชุมนุมได้
อัยการทหารถามว่า เหตุใดจึงเห็นว่าการทำกิจกรรมของพันธ์ศักดิ์กับพวกเป็นการทำกิจกรรมทางการเมือง ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เพราะการฝ่าฝืนอำนาจ คสช. ซึ่งขณะนั้นเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารประเทศ
อัยการทหารถามด.ต.พงศ์เทพเกี่ยวกับการจัดกำลังเพื่อสังเกตการณ์กิจกรรม ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า วันที่ 14 มีนาคมซึ่งเป็นวันก่อนวันเกิดเหตุในท้องที่ การเฝ้าระวังสถานการณ์เป็นเวรของชุดสืบสวนอีกชุดหนึ่ง ส่วนวันเกิดเหตุ 15 มีนาคม 2558 การปฏิบัติหน้าที่เฝ้าระวังเป็นของเขากับพวก ในวันเกิดเหตุพันธ์ศักดิ์เดินเข้าพื้นรับผิดชอบของสน.พญาไทบริเวณซอยรางน้ำในเวลาประมาณ 9.00 น. โดยข้ามถนนราชปรารภมาจากทางเท้าฝั่งตรงข้ามซอยรางน้ำซึ่งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสน.ดินแดง
อัยการทหารขอให้ด.ต.พงศ์เทพยืนยันภาพถ่ายพันธ์ศักดิ์ในสำนวนคดีและใช้ชี้ตัวพันธ์ศักดิ์ในห้องพิจารณาคดี ด.ต.พงศ์เทพยืนยันเอกสารและหันมาชี้ตัวพันธ์ศักดิ์ ด.ต.พงศ์เทพ เบิกความต่อว่า ตัวเขาไปยืนรอพันธ์ศักดิ์ตั้งแต่บริเวณปากซอยรางน้ำฝั่งถนนราชปรารภ พันธ์ศักดิ์เดินเข้ามาในพื้นที่เพียงคนเดียว พอเข้าพื้นที่แล้วเขาก็เดินตามพันธ์ศักดิ์ไป พันธ์ศักดิ์เดินจากซอยรางน้ำ ข้ามถนนพญาไทด้วยสะพานลอย เดินเข้าไปในซอยโยธี พอถึงบริเวณกรมวิทยาศาสตร์บริการก็มีคนแต่งกายชุดนักศึกษาสามคนนำดอกกุหลาบสีแดงมามอบให้พันธ์ศักดิ์ หลังมอบดอกไม้ พันธ์ศักดิ์เดินต่อไป ส่วนชายสามคนที่มอบดอกไม้ให้เขาก็เดินตามไปห่างๆ เว้นระยะประมาณห้าเมตรจากพันธ์ศักดิ์
ด.ต.พงศ์เทพเบิกความต่อว่า พันธ์ศักดิ์และพวกเคลื่อนขบวนต่อไปทางถนนพระรามหกมุ่งหน้าสู่แยกตัดกับถนนศรีอยุธยา จากนั้นก็ข้ามถนนไปที่กรมทางหลวง เมื่อถึงที่นั่นมีชายสวมหมวกเดินเข้ามาพูดคุยด้วย ด.ต.พงศ์เทพเบิกความกับอัยการว่า ทั้งตอนที่มีคนแต่งตัวคล้ายนักศึกษาและตอนที่ชายสวมหมวกเดินมาคุยกับพันธ์ศักดิ์ ตัวเขาไม่ทราบว่า มีการคุยอะไรกันบ้าง
ด.ต.พงศ์เทพเบิกความต่อว่า พันธ์ศักดิ์กับพวกที่เข้ามาคุยเดินต่อไปยังทางรถไฟที่แยกเสาวนีย์ มุ่งหน้าลานพระราชวังดุสิต เมื่อถึงแยกเสาวนีย์เขากับพวกก็ยุติการติดตามและเดินทางกลับ เพราะเป็นพื้นที่รับผิดชอบของสน.ดุสิตแล้ว โดยเขตรับผิดชอบของสน.พญาไทจะสิ้นสุดลงตรงทางรถไฟก่อนถึงแยกเสาวนีย์ อัยการทหารถามว่า ในวันเกิดเหตุนอกจากพันธ์ศักดิ์กับพวกและชุดปฏิบัติการของด.ต.พงศ์เทพที่ไปติดตามพันธ์ศักดิ์แล้ว ยังมีบุคคลใดไปติดตามกลุ่มของพันธ์ศักดิ์อีกบ้าง ด.ต.พงศ์เทพตอบว่ามีนักข่าวและเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวจากสังกัดอื่นๆ มาด้วย
อัยการทหารถามว่า ด.ต.พงศ์เทพแยกว่าบุคคลใดเป็นผู้ชุมนุม บุคคลใดเป็นนักข่าวหรือเป็นเจ้าหน้าที่ออกได้อย่างไร ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า นักข่าวจะห้อยบัตรแสดงตัวและเดินแยกตัวจากผู้ร่วมชุมนุม ส่วนเจ้าหน้าที่สายข่าวก็จะยืนอยู่รอบๆ นอกจากนั้นนักข่าวและเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวก็จะบันทึกภาพการทำกิจกรรมอยู่ตลอดเวลา เมื่อเบิกความถึงตรงนี้อัยการทหารให้ด.ต.พงศ์เทพยืนยันภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่รับผิดชอบของสน.พญาไท ด.ต.พงศ์เทพเบิกความด้วยว่า ในวันเกิดเหตุตัวเขาเองก็ส่งภาพเหตุการณ์ไปรายงานต่อผู้บังคับบัญชา และได้ไปให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนสน.สำราญราษฎร์แล้วเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2558 อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.พงศ์เทพติดตามขบวนของพันธ์ศักดิ์จากไหนไปถึงไหน ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เขาเริ่มเดินตามจากซอยรางน้ำ ไปจนถึงทางรถไฟก่อนถึงแยกเสาวนีย์ ทนายจำเลยถามว่า ก่อนที่พันธ์ศักดิ์จะเข้ามาในพื้นที่สน.พญาไท ด.ต.พงศ์เทพทราบหรือไม่ว่าพันธ์ศักดิ์เดินมาจากที่ใดและทำกิจกรรมอะไรมาบ้างแล้ว ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าไม่ทราบ ทนายจำเลยถามต่อว่า หลังจากพันธ์ศักดิ์ออกนอกพื้นที่ไปแล้ว พันธ์ศักดิ์ไปทำกิจกรรมอะไรต่อ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าไม่ทราบ ทราบเพียงแค่ว่าพันธ์ศักดิ์จะไปทำกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.พงศ์เทพได้เห็นข้อความที่โพสต์บนเฟซบุ๊กกลุ่มพลเมืองโต้กลับด้วยตัวเองหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าเขาไม่ได้เป็นผู้เห็นโพสต์ดังกล่าวด้วยตัวเอง ทนายจำเลยถามต่อว่าที่ด.ต.พงศ์เทพเคยให้การกับพนักงานสอบสวนว่าจำเลยมีพฤติการณ์โพสต์ข้อความปลุกระดม ด.ต.พงศ์เทพทราบมาจากที่ใด ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าได้รับทราบมาจากผู้บังคับบัญชา แต่ไม่ได้เห็นข้อความด้วยตัวเอง
ทนายจำเลยถามว่า ด.ต.พงศ์เทพเคยเบิกความไว้กับพนักงานสอบสวนว่าอย่างไร พร้อมทั้งนำเอกสารคำให้การชั้นสอบสวนมาให้ด.ต.พงศ์เทพดู ด.ต.พงศ์เทพเบิกความว่าได้ให้การว่า พันธ์ศักดิ์มีพฤติการณ์ประกาศทางสื่อสังคมออนไลน์ว่า จะจัดกิจกรรมเดินเท้าโดยมีนัยยะทางการเมือง กล่าวคือ เป็นการเดินเท้าที่มีลักษณะเป็นการเดินต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร เพื่อนัดประชาชนมารวมตัวและจัดการเสวนาทางการเมือง ตามจุดต่างๆ ที่พันธ์ศักดิเดินผ่าน โดยที่ตัวพันธ์ศักดิ์ไม่ได้มีเจตนาที่จะไปพบพนักงานสอบสวนตามปกติ หากแต่เป็นการเดินเท้าเพื่อชักชวนหรือซ่องสุมให้มีการรวมกลุ่มก่อการต่อต้านเจ้าหน้าที่ จึงถือเป็นการชุมนุมทางการเมือง
ทนายจำเลยนำเอกสารหลักฐานที่เป็นโพสต์อันเป็นต้นเหตุแห่งคดีมาให้ด.ต.พงศ์เทพดูแล้วถามว่า ตามโพสต์ดังกล่าวเขียนชัดเจนว่าพันธ์ศักดิ์จะไปพบพนักงานสอบสวนตามนัดใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เขาอ่านโพสต์แล้วไม่เข้าใจว่าหมายความว่าอย่างไร
ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างการเดินพันธ์ศักดิ์มีการปราศรัย หรือโจมตีรัฐบาลหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า ไม่เห็นกล่าวปราศรัยหรือกล่าวโจมตีใคร ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุก็ไม่ปรากฎเหตุการณ์ไม่สงบหรือเหตุวุ่นวายเกิดขึ้นในพื้นที่สน.พญาไทใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพรับว่าใช่ ทนายจำเลยถามต่อว่า ในวันเกิดเหตุรัฐบาลเองสามารถบริหารราชการได้ตามปกติใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า ไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามว่า ในวันเกิดเหตุด.ต.พงศ์เทพได้ขอดูบัตรประชาชนของพันธ์ศักดิกับพวกหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า ไม่ได้ขอดู ทนายจำเลยถามว่าด.ต.พงศ์เทพทราบหรือรู้จักเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวที่มาปฏิบัติการในวันเกิดเหตุทุกคนหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่า เขารู้จักเจ้าหน้าที่บางส่วนเท่านั้น ขณะที่บางส่วนไม่ทราบว่าเจ้าหน้าที่คนไหนเป็นทหารหรือตำรวจ ทนายจำเลยถามต่อว่าภาพถ่ายที่ด.ต.พงศ์เทพรับรองกับอัยการทหาร ด.ต.พงศ์เทพเป็นคนถ่ายเองหรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าตัวเขาไม่ได้ถ่าย เป็นเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเดียวกับเขาที่เป็นคนถ่าย ส่วนจะส่งรูปดังกล่าวให้ผู้บังคับบัญชาอย่างไรนั้นเขาไม่ทราบ ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
ตอบอัยการทหารถามติง
อัยการทหารถามว่า ที่ผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ด.ต.พงศ์เทพคอยสังเกตการณ์การชุมนุม คือ มาดูแลความสงบเรียบและความปลอดภัยในการชุมนุมครั้งนี้ เพราะเป็นการชุมนุมทางการเมืองใช่หรือไม่ ด.ต.พงศ์เทพตอบว่าใช่ และบอกด้วยว่า การที่พันธ์ศักดิ์ออกมาเรียกร้องให้คนมาร่วมการชุมนุมอาจก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือความไม่สงบในบ้านเมืองได้ ส่วนที่เขาแยกผู้ชุมนุมกับเจ้าหน้าที่ออกจากกันได้ เพราะนักข่าวและเจ้าหน้าที่สายข่าวจะเดินแยกไม่ปะปนกับผู้ชุมนุม แม้จะไม่แต่งเครื่องแบบก็พอจะทราบว่าใครเป็นใคร อัยการทหารแถลงหมดคำถาม
เนื่องจากช่วงเดือนพฤษภาคมและมิถุนายน คู่ความและศาลไม่สามารถหาวันว่างตรงกันได้เลย จึงต้องไปนัดสืบพยานครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมรวม 3 นัด ในวันที่ 26 กรกฎาคม วันที่ 16 และ 27 สิงหาคม 2562
26 กรกฎาคม2562
นัดสืบพยานโจทก์
เวลาประมาณ 9.30 พันธ์ศักดิ์, และทนายจำเลยสองคนเดินทางมาถึงศาล พร้อมกับไอดา นายประกันในคดีนี้ จากนั้นจึงขึ้นไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ห้า ศาลขึ้นนั่งบัลลังก์เวลาประมาณ10.10 น.
อัยการทหารแถลงว่า วันนี้ ร.ต.อ.พิเชษฐ์ พุ่มแก้ว พยานโจทก์ที่นัดไว้ไม่มาศาลเนื่องจากติดราชการเร่งด่วน
ศาลถามทนายจำเลยว่า ทนายพอจะทราบเรื่องคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 แล้วใช่หรือไม่ ทนายจำเลยรับว่า ทราบแล้ว
ศาลจึงอธิบายว่าคดีของพลเรือนที่ถูกพิจารณาในศาลนี้จะถูกโอนไปที่ศาลยุติธรรมพร้อมกันในช่วงปลายเดือนสิงหาคม 2562 ลักษณะการโอน คือ โอนไปทั้งหมดที่ศาลยุติธรรมและศาลยุติธรรมจะพิจารณาจ่ายคดีไปยังศาลต่างๆ เอง คาดว่า เดือนกันยายนศาลยุติธรรมจะมีการนัดพร้อมคดีอีกครั้ง
ศาลถามจำเลยว่าวันนี้นายประกันมาศาลด้วยใช่หรือไม่ ไอดาซึ่งเป็นนายประกันแสดงตัวต่อศาล ศาลจึงแจ้งว่า นายประกันไม่ต้องยื่นคำร้องขอประกันตัวใหม่ เนื่องจากสัญญาประกันเดิมยังคงมีผลต่อไป
ศาลอ่านรายงานกระบวนพิจารณาคดีว่า เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2562 มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2562 ยกเลิกประกาศและคำสั่งของ คสช. ที่หมดความจำเป็น กำหนดให้คดีที่อยู่ในอำนาจของศาลทหารตามประกาศและคำสั่งดังกล่าวไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป แต่ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม
จึงให้งดการสืบพยานจำเลยในวันนี้และงดการพิจารณาไว้ชั่วคราวและให้โอนคดีไปศาลยุติธรรมกับจำหน่ายคดีจากสารบบความในศาลนี้ ให้มีหนังสือไปสำนักงานศาลยุติธรรม สัญญาประกันให้มีผลต่อไป
ในเวลาต่อมาศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนูษยชนให้ข้อมูลว่าศาลอาญากำหนดวันนัดพร้อมคดีอัญชัญแล้วเป็นวันที่ 28 มกราคม 2563 เวลา 9.00 น.
28 มกราคม 2563
นัดพร้อม
ศาลนัดพิจารณาคดีนี้ในเวลา 9.00 น. แต่ศาลขึ้นบัลลังก์เวลาประมาณ 11.10 น. เนื่องจากจำเลยในอีกคดีที่ศาลนัดพิจารณาในเวลาเดียวกันยังมาไม่ครบ วันนี้ทนายจำเลยกับอัยการแถลงร่วมกันตัดพยานโจทก์ออกสี่ปากได้แก่ แพทย์ผู้ทำการตรวจร่างกายพันธ์ศักดิ์หลังถูกจับกุมตัว เจ้าหน้าที่ผู้ทำการจับกุมตัวจำเลยสองคนและเจ้าหน้าที่ผู้ควบคุมตัวปรีชา จำเลยที่ถูกดำเนินคดีอีกคดีหนึ่งจากเหตุที่เขามอบดอกไม้ให้พันธ์ศักดิ์ โดยทนายจำเลยระบุว่าข้อเท็จจริงของพยานทั้งสี่ปากไม่เป็นโทษต่อจำเลย การตัดพยานทั้งสี่ปากจึงทำให้คดีมีความกระชับยิ่งขึ้น
4 พฤศจิกายน 2563
ศาลเริ่มสืบพยานในเวลาประมาณ 9.45 น. วันนี้นอกจากคู่ความแล้วไม่มีบุคคลภายนอกมาสังเกตการณ์การพิจารณาคดีแต่อย่างใด
สืบพยานโจทก์ปาก ร.ต.ท.ประเสริฐ ทิณะรัตน์ พนักงานสอบสวนในคดี
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความตอบศาลว่าปัจจุบันเขาอายุ 56 ปี รับราชการตำรวจอยู่ที่ สภ.จังหาร จังหวัดร้อยเอ็ดในตำแหน่งพนักงานสอบสวน
ตอบคำถามอัยการ
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความตอบอัยการว่า ขณะเกิดเหตุคดีนี้เขาเป็นพนักงานสอบสวนประจำสภ.ชนะสงคราม และได้รับแต่งตั้งให้เป็นพนักงานสอบสวนในคดีนี้
ในวันที่ 15 มีนาคม 2558 จำเลยกับพวกร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง โดยเริ่มทำกิจกรรมที่หมุดเฌอซอยรางน้ำ เนื่องจาก ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความในลักษณะถามคำตอบคำ ศาลจึงขอให้ ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความให้ต่อเนื่องและถามว่าหมุดเฌอคืออะไรเพราะศาลไม่ทราบ
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่า หมุดเฌอที่เบิกความถึงเป็นจุดที่บุตรของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553
หลังทำกิจกรรมที่หมุดเฌอซึ่งอยู่บนถนนราชปรารภใกล้ซอยรางน้ำเสร็จ พันธ์ศักดิ์กับพวกเดินเท้าต่อผ่านซอยรางน้ำ เมื่อเดินมาถึงบริเวณกรมวิทยาศาสตร์มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินมาสมทบ และมีคนนำดอกไม้มามอบให้จำเลย จากนั้นจำเลยกับพวกพร้อมทั้งประชาชนที่ตามมาสมทบก็ร่วมกันเดินเท้าต่อไปที่หมุดคณะราษฎร
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่าเมื่อมาถึงที่หมุดคณะราษฎร บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จำเลยกับพวกก็ทำกิจกรรมกันแล้วจึงเดินเท้าต่อ ศาลถาม ร.ต.ท.ประเสริฐ ว่ากิจกรรมที่เบิกความถึงหมายถึงอะไร ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าจำเลยนำดอกไม้ไปวางที่หมุดคณะราษฎร จากนั้นจึงเดินเท้าต่อไปทางสะพานผ่านฟ้า
เมื่อไปถึงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยก็มีประชาชนอีกคนหนึ่งนำดอกไม้มามอบให้จำเลย จากนั้นจำเลยกับพวกก็เดินต่อไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่า เมื่อไปถึงที่ลานปรีดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำเลยจะจัดเสวนาทางการเมืองแต่ไม่ได้รับอนุญาต จำเลยกับพวกซึ่งขณะนั้นมีประมาณ 20 คนจึงจับกลุ่มคุยกัน กลุ่มละประมาณห้าถึงหกคน จนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 19.00 น. จึงได้แยกย้ายกันกลับ
ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความต่อว่าในทางสอบสวนพบว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานชุมนุมมั่วสุมตั้งแต่ห้าคน ขัดคำสั่งคสช. ฐานยุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และความผิดฐานนำเข้าข้อมูลเท็จอันเป็นภัยต่อความมั่นคงตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์
อัยการขอศาลส่งเอกสารหลักฐานได้แก่บันทึกข้อความรายงานการสอบสวนต่อศาล อัยการถาม ร.ต.ท.ประเสริฐ ต่อว่านอกจากจำเลยแล้วทราบหรือไม่ว่ามีบุคคลถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์นี้และทราบหรือไม่ว่าผลของคดีเป็นอย่างไร ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่า เขาทราบว่ามีการดำเนินคดีกับบุคคลชื่อปรีชาที่ศาลทหารกรุงเทพและทราบว่าปรีชารับสารภาพ แต่ศาลจะพิพากษาคดีของปรีชาอย่างไรเขาไม่ทราบ
เนื่องจาก ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความไม่ประติดประต่อ ศาลจึงสอบถามว่าคดีนี้ตำรวจได้ตัวจำเลยมาได้อย่างไร จับกุมตัวหรือออกหมายเรียก ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าตัวเขาไม่ได้สอบปากคำจำเลยด้วยตัวเอง แต่ทราบว่าจำเลยถุกจับกุมตัวตามหมายจับ ในทางคดีเขาทราบภายหลังจำเลยให้การปฏิเสธและให้การเพิ่มเติมเป็นเอกสาร
อัยการแถลงหมดคำถาม
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ทนายจำเลยถามว่า ที่พันธ์ศักดิ์ไปทำกิจกรรมคัดค้านการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร ร.ต.ท.ประเสริฐ ทราบหรือไม่ว่าก่อนหน้านั้นบุตรชายของพันธ์ศักดิ์ถูกยิงเสียชีวิตระหว่างการสลายการชุมนุม และทราบหรือไม่ว่าใครเป็นคนยิง ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามว่า ที่เบิกความว่าพันธ์ศักดิ์ไปทำกิจกรรมที่หมุดคณะราษฎร ตามภาพพันธ์ศักดิ์นำดอกไม้ไปวางที่หมุดคณะราษฎรคนเดียวใช่หรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าใช่ เป็นไปตามภาพถ่าย
ทนายจำเลยถามว่า ระหว่างการเดินพันธ์ศักดิ์มีการปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียงหรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ได้รับรายงานว่ามีการปราศรัยหรือใช้เครื่องขยายเสียง
ทนายจำเลยถามว่าในการเดินเท้า ตัว ร.ต.ท.ประเสริฐ ก็ไม่ได้รับรายงานใช่หรือไม่ว่ามีเหตุรุนแรงหรือเหตุวุ่นวายใดๆ ไม่มีการทำลายทรัพย์สินของราชการ และเมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็ไม่มีเหตุวุ่นวายใดๆใช่หรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่มี
ทนายจำเลยถามว่า ที่ ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความว่าจำเลยกับพวกนั่งจับกลุ่มพูดคุยกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร.ต.ท.ประเสริฐ ก็ไม่ทราบใช่หรือไม่ว่าพวกเขาจะคุยอะไรกัน ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามต่อว่าและตัว ร.ต.ท.ประเสริฐ ก็แยกไม่ออกใช่หรือไม่ว่าคนที่นั่งๆ กันจะมีใครบ้างใครเป็นผู้ชุมนุม นักข่าว หรือเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ทราบ
ทนายจำเลยถามว่าที่คณะทำงานสืบสวนสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาพันธ์ศักดิ์ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ข้อความใดที่คณะทำงานเห็นว่าเป็นปัญหาหรือความผิด ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าข้อความ "พลเรือนต้องไม่ขึ้นศาลทหาร" ทนายจำเลยพยายามถามความเห็นของ ร.ต.ท.ประเสริฐ เกี่ยวกับความเป็นอิสระของศาลทหารเพื่อนำสืบถึงเหตุผลในการออกมาเคลื่อนไหวของจำเลย แต่ศาลบอกทนายว่าไม่ควรถามความเห็นพยาน ให้ถามเน้นไปที่ข้อเท็จจริง
ทนายจำเลยถามว่า ร.ต.ท.ประเสริฐ ได้ทำการสอบสวนในประเด็นความเป็นอิสระของศาลทหารอันเป็นมูลเหตุที่ทำให้จำเลยออกมาเคลื่อนไหวหรือไม่ ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าไม่ได้สอบสวนประเด็นดังกล่าว
ทนายจำเลยถามว่าตัว ร.ต.ท.ประเสริฐ เชื่อมั่นในการอำนวยความยุติธรรมของศาลใดมากกว่ากันระหว่างศาลทหารกับศาลยุติธรรม ร.ต.ท.ประเสริฐ ตอบว่าศาลยุติธรรมเพราะสามารถอุทธรณ์ฎีกาคดีได้
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
ตอบอัยการถามติง
อัยการถามว่า ที่ ร.ต.ท.ประเสริฐ เบิกความตอบทนายจำเลยว่าจำเลยกระทำการโดยสันติ ไม่มีเหตุวุ่นวาย แล้วเหตุใดคณะทำงานจึงมีความเห็นสั่งฟ้องคดี ร.ต.ท.ประเสริฐ นิ่งไปครู่ใหญ่ก่อนจะตอบว่าจำเลยมีพฤติการณ์เดินไปเชิญชวนให้คนออกมาต่อต้าน ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายในช่วงที่คสช.ยึดอำนาจ และมีการห้ามการชุมนุม
อัยการแถลงหมดคำถามและแถลงหมดพยาน ศาลนัดสืบพยานต่อวันที่ 5 พฤศจิกายน โดยจะเป็นการสืบพยานจำเลย
5 พฤศจิกายน 2563
นัดสืบพยานจำเลย
วันนี้ศาลนัดสืบพยานจำเลย โดยมีพยานสองปากเข้าเบิกความได้แก่พันธ์ศักดิ์ จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตัวเองและพูนสุข พูลสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยานผู้เชี่ยวชาญมาเบิกความเกี่ยวกับประเด็นปัญหาของการพิจารณาคดีพลเรือนโดยศาลทหาร
เนื่องจากก่อนหน้านี้พันธ์ศักดิ์โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่าเขาจะเบิกความเป็นพยานในวันนี้จึงปรากฎว่ามีประชาชนอีกสองคนมาร่วมสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในวันนี้ ศาลเริ่มการสืบพยานคดีนี้ในเวลา 9.35 น.
สืบพยานจำเลยปากที่หนึ่ง พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยานผู้เชี่ยวชาญ
พูนสุขเบิกความตอบศาลว่าปัจจุบันเธอประกอบอาชีพเป็นทนายความประจำศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ตอบทนายจำเลยถาม
พูนสุขเบิกความเกี่ยวกับประวัติส่วนตัวว่าเธอสำเร็จการศึกษานิติศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้ศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรด้านกฎหมายมหาชนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้วย เกี่ยวกับการทำงานเธอเริ่มทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2551 และในปี 2557 ก็ได้ร่วมก่อตั้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนหลังการรัฐประหาร 2557
พูนสุขเบิกความว่าศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายกับผู้ได้รับผลกระทบจากการใช้อำนาจของคสช. นอกจากนั้นก็มีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อสังคม
เกี่ยวกับศาลทหาร พูนสุขเบิกความว่าเธอและศูนย์ทนายความฯได้ติดตามการทำงานของศาลทหารตลอดเวลาที่มีการใช้ดำเนินคดีกับพลเรือน ศาลทหารมีปัญหาหลักสามส่วนได้แก่
หนึ่ง ความเป็น อิสระเพราะแม้ตุลาการศาลทหารจะพิจารณาคดีได้อย่างอิสระแต่งานธุรการซึ่งรวมถึงการขึ้นเงินเดือนและชั้นยศอยู่ภายใต้กำกับกระทรวงกลาโหม
ข้อสองด้านความสามารถ ตุลาการศาลทหารในหนึ่งองค์คณะซึ่งมีสามคน จะมีเพียงคนเดียวที่ต้องจบนิติศาสตร์ ส่วนอีกสองคนไม่จำเป็นต้องจบนิติศาสตร์แต่ขอให้เป็นทหารชั้นสัญญาบัตร เบิกความถึงตรงนี้ศาลบอกพยานว่าไม่ต้องลงรายละเอียดจนเกินไปให้เบิกความในส่วนที่เกี่ยวกับประเด็นของคดีนี้
พูนสุขเบิกความต่อว่าขณะเกิดเหตุคดีนี้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วประเทศ ทหารมีอำนาจควบคุมตัวประชาชนโดยไม่ต้องตั้งข้อกล่าวหาเป็นเวลา 7 วัน
แม้ตำรวจจะเป็นผู้ทำสำนวนคดีตามปกติแต่คนที่ฟ้องคดีต่อศาลจะเป็นอัยการทหารและทหารโดยตุลาการทหารก็เป็นผู้พิจารณาคดี เท่ากับว่าอำนาจอธิปไตยทั้งหมดรวมทั้งกระบวนการยุติธรรมอยู่ภายใต้ทหาร และการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนก็ถือเป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมโดยคสช.
ทนายจำเลยให้พูนสุขเบิกความเกี่ยวกับพันธกรณีของไทยตามกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ พูนสุขเบิกความว่า มีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองข้อ 14 ซึ่งเขียนรับรองเกี่ยวกับสิทธิตามกระบวนการยุติธรรม
พูนสุขเริ่มเบิกความในรายละเอียดแต่ศาลบอกว่าศาลสามารถไปอ่านเอกสารหลักฐานส่วนนี้เองได้ แต่ขอให้บอกเลขข้อของกติกาให้ชัดเจน พูนสุขจึงเบิกความย้ำเลขข้อของกติกาซึ่งศาลบันทึกไว้
จากนั้นทนายจำเลยถามถึงกรณีที่สหประชาชาติ โดยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติมีความเห็นต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในไทยในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้ศาลทหารดำเนินคดีพลเรือนว่าเป็นอย่างไร
พูนสุขเบิกความว่าคณะกรรมการดังกล่าวเคยมีความเห็นตอบกลับ ต่อรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย (ฉบับที่สอง) (รายงานที่รัฐบาลไทยนำเสนอต่อสหประชาชาติ ตามกลไกกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง)
ถึงตรงนี้ศาลบอกพยานว่าให้เบิกความเฉพาะสาระสำคัญแล้วให้แจ้งเลขที่เอกสารไว้เพื่อที่ศาลจะไปดูเองในขั้นตอนการทำคำพิพากษา พูนสุขเบิกความต่อว่า ทางคณะกรรมการสิทธิของสหประชาชาติมีความห่วงกังวลต่อกรณีที่คดีที่เกิดขึ้นระหว่างมีการประกาศกฎอัยการศึกไม่สามารถอุทธรณ์ ฎีกาได้
และแนะนำให้โอนคดีของพลเรือนทั้งหมดในศาลทหารไปให้ศาลยุติธรรมพิจารณาตามปกติ จากนั้นทนายจำเลยอ้างส่งเอกสารความเห็นตอบกลับของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติต่อศาล
ทนายจำเลยถามพูนสุขว่าที่ผ่านมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารจำนวนมากน้อยเท่าใด พูนสุขตอบว่าทางศูนย์ทนายความฯเคยขอข้อมูลการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหารจากกรมพระธรรมนูญรวมสามครั้ง
ครั้งสุดท้ายทางกรมพระธรรมนูญส่งเอกสารสถิติมาให้ว่า ระหว่าง 25 พฤษภาคม 2557 ถึง 31 พฤษภาคม 2562 มีพลเรือนถูกฟ้องคดีในศาลทหารทั้งหมด 2204 คน และมีคดีบุคคลพลเรือนรวม 1769 คดี
ทนายจำเลยถามพูนสุขเกี่ยวกับการดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เท่าที่ศูนย์ทนายติดตามให้ความช่วยเหลือว่ามีลักษณะการตั้งข้อกล่าวหาอย่างไร พูนสุขเบิกความว่าบางคดีการกระทำไม่น่าจะเข้าองค์ประกอบความผิดแต่ก็มีการฟ้องคดีเพื่อให้คดีไปอยู่ในอำนาจการพิจารณาโดยศาลทหาร และมีลักษณะเป็นการฟ้องคดีเพื่อหวังผลทางการเมือง
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
อัยการไม่ถามค้าน ศาลจึงสั่งให้นำพยานจำเลยปากที่สองเข้าสืบต่อเลย
สืบพยานโจทก์ปากที่สอง พันธ์ศักดิ์ จำเลยในคดีเบิกความเป็นพยานให้ตัวเอง
พันธ์ศักดิ์ปฏิญาณตัวโดยชูสัญลักษณ์สามนิ้วไปด้วย ศาลสั่งให้หยุดและขอให้ปฏิญาณตัวตามคำที่ศาลกำหนดไว้ตามศาสนา แต่พันธ์ศักดิ์แจ้งศาลว่าตัวเขาไม่ได้นับถือศาสนาใด จึงยืนตรงและปฏิญาณว่าจะเบิกความต่อศาลตามความสัตย์จริง
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อศาลว่าเขาประกอบอาชีพรับจ้างโดยขณะเบิกความอายุ 53 ปี
ตอบทนายจำเลยถาม
ทนายจำเลยถามว่าที่เบิกความว่าประกอบอาชีพรับจ้างคือทำอะไร พันธ์ศักดิ์ตอบว่าเขาประกอบอาชีพขับรถแท็กซี่
ทนายจำเลยขอให้พันธ์ศักดิ์เบิกความถึงประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้
พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าในช่วงเหตุการณ์สลายการชุมนุมปี 2553 บุตรชายของเขาถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 ระหว่างการสลายการชุมนุม โดยบุตรชายของเขาถูกยิงที่ถนนราชปรารภ ใกล้ซอยรางน้ำซึ่งเป็นบริเวณนอกพื้นที่การชุมนุม
โดยในขณะเกิดเหตุพื้นที่ดังกล่าวมีแต่ทหารติดอาวุธ หลังเกิดเหตุเขาร่วมกับกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมจัดตั้งกลุ่มญาติผู้เสียชีวิตเพื่อติดตามและทวงถามความยุติธรรมให้ผู้ตาย
เมื่อเกิดการรัฐประหารในปี 2557 เขาและกลุ่มญาติมีความกังวลเพราะพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณเคยให้สัมภาษณ์ว่าจะรื้อคดีการสลายการชุมนุมช่วงปี 2553 ก่อนหน้านั้นศาลอาญาเคยมีคำสั่งสำคัญๆ เช่น คำสั่งไต่สวนการตายคดีผู้เสียชีวิต 6 ศพ ที่วัดปทุมวนารามว่ากระสุนถูกยิงมาจากฝั่งทหาร
คำสัมภาษณ์ของพล.อ.ประวิตรทำให้เขาและกลุ่มญาติกังวลว่าจะมีการแทรกแซงกระบวนการของศาลเพราะบุคคลที่เคยอยู่ในศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุม
ทั้งพล.อ.ประยุทธ์และพล.อ.ประวิตร (ศาลบันทึกโดยใช้คำว่าเจ้าหน้าที่ระดับสูง) ต่างอยู่ในคสช. เขาจึงทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ในประเด็นดังกล่าวเป็นระยะ เช่น ไปโปรยใบปลิวที่สวนจตุจักร จนถูกคสช.ดำเนินคดีจากกรณีดังกล่าว
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 เขากับพวกอีกสามคนได้แก่ ทนายอานนท์ วรรณเกียรติ และสิรวิชญ์หรือนิว ร่วมกันทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เลือกตั้งที่ลักเพื่อแสดงจุดยืนว่าต้องการให้มีการเลือกตั้งเป็นเหตุให้เขากับพวกถูกดำเนินคดีฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 เรื่องห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน คดีดังกล่าวสน.ปทุมวันนัดพวกเขารายงานตัวในวันที่ 16 มีนาคม 2558
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าหลังถุกดำเนินคดีจากการจัดกิจกรรมเลือกตั้งที่ลักเขาได้ประกาศว่าจะเดินเท้าจากบ้านที่บางบัวทองไปที่สน.ปทุมวันเพื่อรายงานตัวรับทราบข้อกล่าวหา
แผนที่การเดินจะผ่านสถานที่ที่มีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์การต่อต้านรัฐประหาร เช่น สดมภ์นวมทองซึ่งสร้างขึ้นเพื่อระลึกถึง นวมทอง ไพรวัลย์ คนขับรถแท็กซี่ที่ขับรถแท็กซี่ไปชนรถถังเพื่อประท้วงการรัฐประหาร สำหรับเส้นทางเดินจะปรากฎรายละเอียดตามเฟซบุ๊กของพลเมืองโต้กลับซึ่งเป็นเอกสารหลักฐานที่โจทก์นำมาใช้ฟ้องคดี
พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าวันที่ 14 มีนาคม 2558 เขาเริ่มเดินเท้าออกจากบ้านได้ประมาณ 5 กิโลเมตรก็ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.นนทบุรีกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเข้าจับกุมตัว แล้วพาตัวมาที่สน.ปทุมวัน เพื่อส่งตัวให้พนักงานสอบสวนในคดีเลือกตั้งที่ลัก แต่พนักงานสอบสวนสภ.ปทุมวันไม่รับตัวเนื่องจากมีการนัดหมายวันเข้ารายงานตัวแล้วในวันที่ 16 มีนาคม 2558
การถูกจับกุมทำให้ในวันที่ 14 มีนาคม เขาไม่ได้เดินเท้าตามที่ตั้งใจ จากนั้นวันที่ 15 มีนาคม 2558 เขาเริ่มเดินเท้าอีกครั้งโดยตั้งต้นที่หมุดเฌอ ซอยรางน้ำ ซึ่งเป็นจุดที่ลูกชายเขาถูกยิงเสียชีวิต
ระหว่างเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อเดินเท้ามาถึงกรมวิทยาศาสตร์ทหารบกก็มีคนนำดอกไม้มามอบให้ เขาไม่รู้จักบุคคลทั้งสามที่มาแต่ดูจากการแต่งตัวเข้าใจว่าน่าจะเป็นนักศึกษา เขายังบอกให้บุคคลดังกล่าวเดินตามห่างๆหากประสงค์จะร่วมเดินเพราะในที่นั้นมีสื่อและเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบอยู่ด้วยหลายคน
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าจากนั้นเขาก็เดินผ่านแยกเสาวนีย์ไปที่หมุดคณะราษฎรเพื่อวางดอกไม้รำลึกถึงคณะราษฎรที่เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นประชาธิปไตยแล้วจึงเดินไปรับประทานอาหารที่ร้านไก่ย่างใกล้สนามมวยราชดำเนิน
พันธ์ศักดิ์ระบุด้วยว่าเขารับประทานอาหารที่นี่ ไม่ใช่ที่ร้านเมธาวลัยศรแดงดังที่พยานโจทก์เบิกความ หลังจากนั้นเขาก็เดินทางต่อไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเมื่อเดินผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยที่ร้านเมธาวลัยศรแดงมีชายคนหนึ่งทราบภายหลังจากเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบว่าชื่อปรีชานำนมถั่วเหลืองและดอกไม้มามอบให้
พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าเมื่อไปถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รองผู้กำกับสน.ชนะสงครามแจ้งเขาว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ทราบเรื่องที่เขาจัดกิจกรรม เขาได้ไปพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ของธรรมศาสตร์โดยได้แจ้งว่า
เขาไม่มีความประสงค์จะจัดกิจกรรม แค่จะนั่งพักเหนื่อยและพูดคุยกับคนรู้จักซึ่งโดยปกติมหาวิทยาลัยก็เปิดให้ประชาชนทั่วไปผ่านไปมาหรือใช้บริการได้อยู่แล้ว เจ้าหน้าที่ฝ่ายอาคารสถานที่ก็บอกว่าให้แยกย้ายกันกลับช่วงค่ำเพราะกังวลด้านความปลอดภัยจากนั้นเขากับคนรู้จักก็นั่งคุยกันที่ลานปรีดี พนมยงค์
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อว่าในการเดินเขาเดินคนเดียว ไม่มีการใช้เครื่องเสียง ไม่มีการชูป้าย เจตนาในการเดินเป็นไปเพื่อแสดงออกว่าเขาไม่ยอมรับการนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร
ส่วนที่เดินก็เป็นสัญลักษณ์ว่าเข้าพร้อมสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ และการเดินก็มีจุดหมายปลายทางเพื่อเข้ารับทราบข้อกล่าวหากับพนักงานสอบสวน ซึ่งกำหนดการและสถานที่เดินก็มีการประกาศบนเพจพลเมืองโต้กลับแต่ปรากฎว่าเขาถูกจับระหว่างทางเสียก่อน
ทนายจำเลยถามต่อว่าตัวพันธ์ศักดิ์ได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการเดินบนเฟซบุ๊กตัวเอง เพื่อเตือนไม่ให้คนมาเกิน 5 คนด้วยใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์ตอบว่าเขาเขียนชัดเจนว่าหากประชาชนหรือเจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบจะมาให้กำลังใจขอให้เข้ามาหาครั้งละไม่เกินห้าคน เพราะขณะนั้นมีกฎหมายห้ามชุมนุมตั้งแต่ห้าคน
ทนายจำเลยถามความเห็นพันธ์ศักดิ์เกี่ยวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ตอบว่าคนที่ออกมาประท้วงทหารหรือการรัฐประหารถือว่าเป็นคู่ขัดแย้งกับทหารและศาลทหารโดยตรง
นอกจากนั้นการดำเนินคดีในศาลทหารก็อุทธรณ์ฎีกาไม่ได้ ตัวเขาเคยไปศาลทหารราว 20 ครั้ง ระหว่างการต่อสู้คดี ก็เห็นว่าอาคารกรมพระธรรมนูญอยู่ในพื้นที่กระทรวงกลาโหม และในอาคารศาลก็มีภาพตุลาการศาลทหารและสายบังคับบัญชาต่างๆติดไว้ และขณะที่เขาถูกดำเนินคดีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมคือพล.อ.ประวิตรเขาจึงไม่มั่นใจในความเป็นอิสระของศาลทหาร
พันธ์ศักดิ์เบิกความต่อไปว่าการแต่งตั้งตุลาการศาลทหารจะมีการเสนอชื่อต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมก่อนนำขึ้นเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่ง เขาจึงไม่มั่นใจเรื่องความเป็นอิสระ
นอกจากนั้น ในแต่ละองค์คณะตุลาการศาลทหารก็มีเพียงหนึ่งคนที่ต้องจบนิติศาสตร์ส่วนที่เหลือไม่ต้องจบก็ได้เขาจึงไม่มั่นใจในความรู้ความสามารถด้านกฎหมายของตุลาการทหาร และที่ผ่านมาการดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีของเขาในศาลทหารก็ล่าช้ามาก
พันธ์ศักดิ์เบิกความด้วยว่า ในคดีนี้ เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบบุกมาจับกุมเขาที่บ้านในยามวิกาล และเขาก็ได้ข่าวมาว่าศาลทหารอาจไม่ให้เขาประกันตัวระหว่างฝากขังในชั้นสอบสวน จนมีนักศึกษากลุ่มธรรมศาสตร์เสรีเพื่อประชาธิปไตยเดินเท้ามากดดันที่หน้าศาลเขาจึงได้รับการปล่อยตัว
พันธศักดิ์เบิกความด้วยว่าเขารู้สึกกลัวเมื่ออยู่ในศาลทหาร เพราะเป็นพื้นที่ความมั่นคงที่มีทหารอยู่เยอะมาก ทนายจำเลยถามว่าในความเห็นของพันธ์ศักดิ์ เหตุใดจึงมีการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร พันธ์ศักดิ์ตอบว่าน่าจะเป็นเพราะคสช.ต้องการควบคุมสถานการณ์ให้เรียบร้อยในความหมายคือไม่มีใครคัดค้านหรือต่อต้าน ศาลทหารจึงถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อยุติความเคลื่อนไหว
สำหรับการให้การ พันธ์ศักดิ์ยืนยันว่าเขาให้การปฏิเสธมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน
ทนายจำเลยแถลงหมดคำถาม
ตอบอัยการถามค้าน
อัยการถามว่าที่เบิกความว่าวันที่ 14 มีนาคม พันธ์ศักดิ์ถูกจับกุม แต่วันที่ 15 มีนาคม เขาก็กลับมาทำกิจกรรมตามปกติ ตามเส้นทางเดิมที่เคยประกาศใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์ตอบว่าในวันที่ 14 มีนาคม ตำรวจจับเขาโดยอ้างว่าไม่อยากให้ลำบากเดินจะพาไปส่งสน.
เมื่อพนักงานสอบสวนสน.ปทุมวันไม่รับตัวเขา เจ้าหน้าที่ที่ทำการจับกุมก็ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาเขาแต่อย่างใด เขาจึงดำเนินการต่อ
อัยการถามว่าในวันที่ 15 ซึ่งพันธ์ศักดิ์เดิน แม้จะมีการประกาศเรื่องขอให้มาให้กำลังใจครั้งละไม่เกินห้าคน แต่ที่สุดแล้วเมื่อมีคนมาให้กำลังใจและร่วมเดินพันธ์ศักดิ์ก็ไม่ได้ห้ามปรามไม่ให้มาร่วมใช่หรือไม่ พันธ์ศักดิ์เบิกความว่าเขาไม่ทราบว่าคนที่มามีใครบ้าง
บางคนก็เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ อาจจะมีคนเห็นต่างมาเพื่อให้คนเกินห้าคนจนครบองค์ประกอบความผิดหรือเปล่าเขาก็ไม่ทราบ
แต่ตลอดระยะเวลาการเดินเขาก็ไม่ได้พูดคุยกับใคร ส่วนที่นั่งคุยที่ลานปรีดีก็เป็นคนรู้จักนั่งคุยกันเท่านั้น อัยการแถลงหมดคำถาม
ทนายจำเลยไม่ถามติง
ทนายเลยแถลงหมดพยานและขอทำคำแถลงปิดคดีส่งศาล จากนั้นศาลนัดฟังคำพิพากษาวันที่ 16 ธันวาคม 2563
16 ธันวาคม 2563
ศาลอาญามีคำพิพากษายกฟ้องพันธ์ศักดิ์ในทุกข้อกล่าวหาเพราะเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญและเป็นการกระทำโดยสงบ โดยในวันนี้นอกจากตัวพันธ์ศักดิ์แล้วก็มีผู้สังเกตการณ์จากภายนอกอีกหนึ่งคน เจ้าหน้าที่ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งผู้สื่อข่าวจากว๊อยซ์ทีวีอยู่ร่วมฟังคำพิพากษาด้วย
หลังฟังคำพิพากษาพันธ์ศักดิ์เดินทางกลับด้วยแท็กซี่โดยเขาได้พูดกับทนายความและผู้สื่อข่าวก่อนขึ้นรถแท็กซี่เกี่ยวกับคำพิพากษาในวันนี้ว่า "เป็นชัยชนะของประชาชน"