- คดีสำคัญ
- คดีอื่นๆ, ฐานข้อมูลคดี
Insects in the Backyard
ผู้ต้องหา
สถานะคดี
คดีเริ่มในปี
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
ภาพยนตร์ Insects in the Backyard ถูกสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย ในเดือนธันวาคม 2553 เพราะมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เช่น มีฉากการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น ให้เด็กหญิงและชายขายตัวแทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น ฯลฯ
ผู้กำกับภาพยนตร์ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่ง เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2558 หลังต่อสู้นานห้าปี ศาลปกครองพิพากษาว่า เนื้อหาของภาพยนตร์ไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่มีฉาก 3 วินาทีที่เป็น "หนังเอ็กซ์" จึงต้องสั่งห้ามฉาย ถ้ายอมตัดฉากดังกล่าวจะเป็นประเภท 20+
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์แนวดราม่าที่นำเสนอเรื่องราวของความสัมพันธ์ในครอบครัว ซึ่งเล่าเรื่องผ่านครอบครัวหนึ่ง อันประกอบด้วยพ่อ(ธัญญ่า) แม่ ลูกสาว(เจนนี่) และลูกชาย(จอห์นนี่) แต่แม่เสียชีวิตเมื่อคลอดลูกชาย พ่อจึงทำหน้าที่ดูแลลูกทั้งสองคนตามลำพัง พ่อมีลักษณะทางกายภาพเป็นชายแต่มีเพศสภาพเป็นหญิง ชอบแต่งตัวเป็นผู้หญิง และมีจินตนาการทางเพศกับเพศชาย แม้พ่อจะพยายามให้ความอบอุ่นแก่ลูกๆ ทำหน้าที่ในครอบครัวให้สมบูรณ์มากเพียงใด แต่ลูกทั้งสองก็ไม่ยอมรับสถานภาพของพ่อ และบอกกับคนอื่นๆ ว่าเป็นพี่สาวชื่อ ธัญญ่า ความไม่เข้าใจความหลากหลายทางเพศของพ่อ ทำให้เด็กทั้งสองเลือกออกจากบ้านและพยายามใช้ชีวิตในโลกของตัวเอง ลูกสาวออกไปคบหากับเพื่อนชายที่ขายบริการทางเพศ ส่วนเธอก็อาสาช่วยหารายได้ด้วยการขายบริการทางเพศเช่นเดียวกัน ลูกชาย ที่กำลังเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นอยู่ในวัยหัวเลี้ยวหัวต่อถูกภาวะความสับสนในใจที่มีต่อพ่อผลักดันให้เขาเจริญรอยตามพี่สาว โดยเลือกขายบริการให้คนรักเพศเดียวกัน สุดท้าย เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้ว่า ไม่ว่าจะมีเพศสภาพแบบใด สิ่งสำคัญ คือ ความรัก ความผูกพันที่มนุษย์มีให้กัน
ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นภาพยนตร์อิสระ ไม่สังกัดค่าย กำกับ เขียนบท และแสดงนำโดย ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ (กอล์ฟ) ซึ่งออกเงินลงขันกับเพื่อนสร้างภาพยนตร์เรื่องนี้ขึ้นมาเอง ซึ่งต่อมาหลังจากการต่อสู้ในคดีนี้ ธัญญ์วาริิน ได้รับเลือกให้เป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย คนที่ 5
ก่อนได้รับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในประเทศไทย ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เคยเข้าฉายในงาน เวิลด์ บางกอก ฟิล์ม เฟสติวัล ที่จัดขึ้นที่กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 5-14 พฤศจิกายน พ.ศ.2553งานเทศกาลภาพยนตร์ แวนคูเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ฟิล์ม เฟซติวัล ที่เมืองแวนคูเวอร์ ประเทศแคนนาดา งานเทศกาลภาพยนตร์ โตริโน จีแอลบีที ฟิล์ม เฟซติวัลที่เมืองตูริน ประเทศอิตาลี ในฐานะแขกรับเชิญของงานเทศกาล
ข้อหา / คำสั่ง
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard โดยให้เหตุผลว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาโดยรวมเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน และยังมีภาพเสนอขายบริการทางเพศในขณะที่แต่งกายเครื่องแบบนักเรียน สาระสำคัญของภาพยนตร์มีการแสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การที่ให้เด็กหญิงและชายประกอบอาชีพขายตัวหรือโสเภณี แทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น มีฉากให้เด็กขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน สอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีเล้าโลมทางเพศ รวมทั้งมีฉากที่ตัวละครฝันว่าฆ่าพ่อซึ่งแม้จะเป็นความฝันแต่ก็ไม่สมควร คณะกรรมการเห็นว่า สาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้ถ่ายทอดเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสม อาจทำให้สังคมและผู้ชมเกิดความเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศหรือการขายบริการทางเพศ รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ จึงให้เหตุผลว่า เนื้อหาภาพยนตร์เรื่องนี้ ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
พฤติการณ์การจับกุม
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
วันที่ 4 เมษายน 2554
นัดไต่สวนคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่งชั่วคราว
เวลา 13.00 น. ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องในกรณีที่ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ ยื่นคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่งชั่วคราว ให้สามารถฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษาได้ ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครอง โดยยืนยันว่าจะมีมาตรการควบคุมให้ผู้ชมเฉพาะที่อายุเกิน 20 ปีเข้าชมด้วย
ฝ่ายผู้ฟ้องคดีธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เดินทางมาศาลพร้อมด้วยผู้ที่มาให้กำลังใจจากเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทย และนิตยสารไบโอสโคป ฝ่ายผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ส่งผู้รับมอบอำนาจคือ เชลียง เทียมสนิท ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านกฎหมายและเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมมาศาล ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยนางอุไรรัตน์ รื่นใจชน นักวิชาการวัฒนธรรมชำนาญการ พร้อมด้วยกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์บางท่าน เช่น นายวิภาส สระรักษ์ นายรักศานต์วิวัฒน์สินอุดม และเจ้าหน้าที่กระทรวงวัฒนธรรมอีกหลายท่าน เดินทางมาศาล จนเต็มห้องพิจารณาคดีของศาลปกครอง ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องนำเก้าอี้เข้ามาเสริม
ตุลาการศาลปกครอง 3 ท่านนำโดย นางสาวสายทิพย์ สุคติพันธ์ ตุลาการเจ้าของสำนวน ออกนั่งพิจารณา นางสาวสายทิพย์อธิบายถึงกระบวนพิจารณาในวันนี้ว่า การไต่สวนคำร้องที่ขอให้ทุเลาคำสั่ง เป็นกระบวนการที่ศาลปกครองให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นการพิจารณาในวัตถุแห่งคดี โดยจะต้องตรวจสอบในสามประเด็นสำคัญ คือ หนึ่ง คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายในกรณีนี้น่าจะชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ สอง หากไม่มีการทุเลาคำสั่งจะก่อให้เกิดความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาอย่างไร และสาม หากมีการอนุญาตหรือทุเลาคำสั่ง จะเกิดอุปสรคคต่อการดำเนินงานทางปกครองในหน่วยงานนั้นหรือไม่
ธัญญ์วาริน ผู้กำกับภาพยนตร์ชี้แจงต่อศาลว่า ได้ยื่นภาพยนตร์เพื่อให้คณะกรรมการพิจารณาสองครั้ง ครั้งแรกยื่นโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส ขอเรต 18+ เมื่อไม่ผ่านก็ยื่นเป็นครั้งที่สองยื่นในนามตัวเอง โดยขอเรต ฉ 20 แต่ทั้งสองครั้งทีมงานผู้สร้างไม่เคยได้เข้าชี้แจงในกระบวนการพิจารณา จนในชั้นอุทธรณ์ที่คณะอนุกรรมการพิจารณาและให้ความเห็นได้เรียกธัญญ์วารินเข้าไปพบ แต่การพูดคุยครั้งนั้นมีอนุกรรมการเพียงท่านเดียวเท่านั้นที่สอบถามในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์เรื่องนี้ ขณะที่อนุกรรมการส่วนใหญ่สอบถามเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับประเด็นในภาพยนตร์ เช่น ทำไมจึงมีบัตรประชาชนสองใบ ทำไมถึงเลือกเสนอเรื่องราวเชิงลบ (Negative) แทนที่จะเสนอภาพเชิงบวก (Positive) แบบภาพยนตร์เรื่องสตรีเหล็ก
ธัญญ์วารินเห็นว่า คำสั่งที่ได้รับนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะคณะกรรมการควรชี้แจงเหตุผลให้เข้าใจได้มากกว่านี้ ไม่ใช่บอกเพียงว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ขัดต่อศีลธรรมอันดี ผู้ทำภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ชี้แจงเหตุผล การได้เข้าไปพูดคุย ก็ไม่ได้คุยในรายละเอียดเกี่ยวกับภาพยนตร์ คณะกรรมการที่ลงมติก็มิได้ดูภาพยนตร์ครบทุกคน เจตนาของภาพยนตร์เรื่องนี้ต้องการสะท้อนปัญหาสังคม ไม่ใช่ภาพยนตร์ลามกอนาจารดังที่คณะกรรมการให้ความเห็น นอกจากนี้ ธัญญ์วารินกล่าวเสริมเหตุผลที่รู้สึกถึงความไม่เป็นธรรมว่า คนทุกคนมีสิทธิเลือกเพศ เมื่อผู้มีอำนาจตัดสินเป็นผู้ที่มีอคติไม่อาจเรียกเป็นความยุติธรรมได้ ดังที่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวในงานเสวนาครั้งหนึ่งว่า เป็นเรื่องผิดเพศ เป็นเรื่องอนาจาร
ทั้งนี้ คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ส่งผลต่อชื่อเสียงและหน้าที่การงานของธัญญ์วาริน เพราะเมื่อไปยื่นโครงการทำภาพยนตร์ก็จะมีคำถามว่า จะทำหนังโป๊หรือ ทำแล้วจะได้ฉายหรือไม่ นอกจากนี้ ในแง่ผลกระทบต่อสังคมแล้ว ภาพยนตร์เรื่องนี้มุ่งหวังจะสร้างความเข้าใจในสังคม ให้เห็นมิติความหลากหลายทางเพศในแง่มุมที่แตกต่างแทนการนำเสนอภาพคนรักเพศเดียวกันด้วยภาพลักษณ์แบบเดียวดังที่ปรากฏอยู่ในสื่อทุกวันนี้ และอยากให้เห็นถึงปัญหาครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากความเข้าใจผิด ภาพยนตร์เรื่องนี้จึงจะนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ การศึกษา และให้เกิดความเข้าใจในสิทธิความหลากหลายทางเพศ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ทนายความจากเครือข่ายนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนซึ่งรับผิดชอบคดีนี้กล่าวเสริมว่า เหตุที่ต้องขอการทุเลาคำสั่งให้สามารถฉายภาพยนตร์ในวงจำกัดคือในวงวิชาการและการศึกษาได้ เพราะหลังจากมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ ทั้งวงการภาพยนตร์และวงการนิติศาสตร์ต่างมีความเห็นทั้งสนับสนุนและเห็นแย้ง อีกทั้งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวิดีทัศน์ก็เป็นกฎหมายที่ทุกฝ่ายแม้กระทั่งกระทรวงวัฒนธรรมเองก็ยอมรับว่ามีปัญหาและเห็นตรงกันว่าควรแก้ไข และจากคดีนี้ได้จุดประเด็นให้สังคมสนใจการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว และช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่สังคมต้องช่วยกันคิด ถกเถียงแลกเปลี่ยนเพื่อหาทางเดินไปด้วยกัน ดังนั้น หากจะให้การแลกเปลี่ยนในทางวิชาการเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์ก็จำเป็นต้องมีวัตถุแห่งคดี คือควรได้ดูภาพยนตร์ก่อน
ธัญญ์วารินตอบคำถามตุลาการศาลปกครองว่า การขอให้ทุเลาคำสั่งนี้ มุ่งหวังให้สามารถฉายภาพยนตร์ในกิจกรรมวิชาการ เช่น ในสถานศึกษา การฉายภาพยนตร์จะมีการเสวนาวิชาการประกอบทุกครั้ง โดยจะต้องมีการตรวจบัตรประชาชนเพื่อกำหนดอายุผู้ชุมให้เกิน 20 ปีขึ้นไป และหากจะเป็นการขออนุญาตต่อศาลเป็นครั้งคราวไปก็อาจเป็นได้
นายวิภาส สระรักษ์ อัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการชั้นต้นที่พิจารณาภาพยนตร์เรื่องนี้กล่าวว่า คณะกรรมการดำเนินงานตามกรอบที่กฎหมายกำหนด คือเมื่อมีผู้เสนอภาพยนตร์มา ก็จะตรวจเอกสารหลักฐานให้ครบ เมื่อครบแล้วคณะกรรมการก็จะชมภาพยนตร์ จากนั้นก็จะประชุมเพื่อให้เรทติ้งตามมาตรา 26 (1) – (7) กรณีได้เรท (7) คือห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ก็จบ แต่หากได้รับเรท (1)-(6) คือ เรทส่งเสริม – เรทอายุ 20+ ก็จะพิจารณาในลำดับต่อไปว่า ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีลักษณะเข้าข่ายมาตรา 29 ซึ่งจะพิจารณาว่ามีเนื้อหาบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี กระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศหรือไม่ ซึ่งคณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้แก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาตหรือสั่งไม่อนุญาตเลย โดยไม่ต้องสั่งให้ตัดทอนก่อนก็ได้
นายวิภาสกล่าวว่า คณะกรรมการไม่ได้เรียกให้แก้ไขดัดแปลง เพราะเป็นการสั่งไม่อนุญาตตามมาตรา 29 ซึ่งไม่เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการต้องเรียกให้มาชี้แจง เพราะขั้นตอนนี้ไม่มีในกฎหมาย แต่หากเป็นกรณีที่ภาพยนตร์ถูกให้เรทห้ามฉายตามมาตรา 26 (7) คณะกรรมการถึงจะมีหน้าที่ต้องแจ้งคนทำภาพยนตร์ว่าให้ตัดทอน
กรณีภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ส่งเข้าสู่การพิจารณาครั้งแรกโดยบริษัท ป็อบ พิคเจอร์ส คณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ ว่าให้เรท (6) แต่ขัดต่อมาตรา 29 มิใช่เรทห้ามฉายตามมาตรา 26(7) ดังที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ จากนั้นมีการยื่นภาพยนตร์เรื่องนี้เข้ามาให้พิจารณาอีกครั้ง โดยเปลี่ยนชื่อผู้ยื่นมาเป็นในนามของตัวผู้กำกับเอง พร้อมทั้งเพิ่มข้อความกำกับว่า "ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้าง พฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครเป็นเพียงเรื่องสมมติ" คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาส่วนอื่นๆ ไม่มีการแก้ไขใดๆ เลย จึงมีมติไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ดังเดิม
เชลียง เทียมสนิท ผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนจากกรมศาสนา กล่าวว่า ในชั้นของการอุทธรณ์ คณะกรรมการใช้ดุลพินิจดูภาพยนตร์เรื่องนี้โดยชอบด้วยเหตุผล โดยหลักของวิญญูชน คณะกรรมการประกอบได้ด้วยคณะกรรมการผู้ใหญ่และผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีความเชี่ยวชาญ โดยในวันที่ชมภาพยนตร์นั้นมีผู้เข้าชมทั้งหมด 15 คน ในวันที่ลงมติ มีผู้ร่วมลงมติทั้งสิ้น 22 คน แต่ไม่ได้บันทึกไว้ในรายงานการประชุมว่าผลโดยละเอียดเป็นอย่างไร ซึ่งทางคณะอนุกรรมการจะถอดเทปการประชุมรายงานต่อศาลในภายหลัง
เชลียง เทียมสนิท เสริมข้อมูลว่า ที่ธัญญ์วาริน ผู้ฟ้องกล่าวว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถูกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายนั้นไม่เป็นความจริง เพราะก่อนหน้านี้มีภาพยนตร์ทั้งสิ้น 5 เรื่องที่สั่งไม่อนุญาตให้ฉายตามมาตรา 29 ได้แก่ 1) Zack and Miri Make a Porno 2) ถ้ำมองชอตเด็ด 3) ราคะสาบเสือ 4) เหมยฮัว หญิงร้อยรัก และ 5) รสสวาทสาบภูเขา
ตุลาการศาลปกครองถามคณะกรรมการว่า คณะกรรมการเห็นว่าเนื้อหาใดที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี รักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ ภาควิชาการภาพยนตร์และภาพนิ่ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาในชุดนี้ด้วย กล่าวว่า มีหลายฉากที่ขัดต่อศีลธรรม ได้แก่ ฉากเห็นอวัยวะเพศขณะร่วมเพศซึ่งผิดกฎหมายอยู่แล้ว มีฉากฆ่าบิดามารดาที่แม้จะเป็นความคิดของตัวละครแต่เป็นเรื่องที่ขัดต่อศีลธรรม มีฉากเพศสัมพันธ์ในชุดนักเรียน ขายบริการในชุดนักเรียน มีฉากที่ระบุชื่อสถาบันการศึกษา มีฉากที่ตัวละครชายพูดกับแฟนสาวว่าขอโทษที่ต้องทำให้ไปขายตัวซึ่งตัวละครหญิงตอบว่า "ไม่เป็นไร มันเป็นความคิดของฉัน คนอื่นไม่มีสิทธิมาตัดสิน"
รักศานต์กล่าวว่า ในฐานะอาจารย์เห็นว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ ผู้ทำทำเอง เขียนบทเอง แสดงเอง จึงสะท้อนสิ่งที่อยู่ลึกๆ ในใจตัวผู้กำกับ ไม่ใช่การสะท้อนสังคม เพราะเรื่องรักร่วมเพศสังคมรับได้อยู่แล้ว กรรมการทุกท่านไม่เคยกีดกัน เพียงแต่ประเด็นใหญ่ๆ ที่เป็นเรื่องผิดกฎหมายที่ให้เห็นอวัยวะเพศประมาณ 5 วินาที อีกทั้งฉากร่วมเพศทั้งชายกับชาย หญิงกับหญิง รวมถึงชายกับหญิง ซึ่งเน้นเนื้อหาเรื่องเพศมากเกินไปซึ่งไม่เหมาะกับสังคมไทย
นอกจากนี้รักศานต์เห็นว่า หากอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ แม้จะเป็นเรทอายุ 20 ปีขึ้นไป แต่ก็ไม่สามารถควบคุมคนดูตามอายุได้ตามที่กำหนด เพราะการกำหนดเรทติ้ง คนที่ดูภาพยนตร์ไม่มีความผิด เพราะกฎหมายไม่ได้เขียนเอาผิดผู้ชมไว้ ดังนั้นอาจมีผู้ชมที่อายุต่ำกว่ากำหนดเข้าชมได้
การไต่สวนเสร็จสิ้นเวลา 17.55 น. ตุลาการศาลปกครองคาดว่าใช้เวลาราว 2 สัปดาห์จะสามารถแจ้งผลการขอทุเลาคำสั่งว่าให้ฉายในงานวิชาการได้หรือไม่
ในวันดังกล่าว มีสื่อมวลชนสนใจไปติดตามจำนวนหนึ่ง ธัญญ์วารินจึงจัดแถลงข่าวบริเวณโถงชั้นล่างของศาลปกครอง และมีนักกิจกรรมกลุ่มบางกอกเรนโบว์ไปร่วมให้กำลังใจโดยเตรียมป้ายเพื่อแสดงออกถึงความคิดเห็นไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลปกครองไม่อนุญาตให้ชูป้ายในบริเวณเพื่อให้ถ่ายรูป จึงต้องใช้วิธีวางป้ายไว้กับพื้นซึ่งสามารถทำได้
หมายเลขคดีดำ
ศาล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
แหล่งอ้างอิง
วันที่ 4 พฤศจิกายน 2553
บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ โดยขออนุญาตให้จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ที่เหมาะสมกับผู้มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป (เรท น 18+) และในวันเดียวกัน คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย นายวิภาส สระรักษ์ นายรักศานต์ วิวัฒน์สินอุดม นางสาวววรณสิริ โมรากุล นายนคร วีระประวัติ นายสันติ ชูขวัญทอง นายปกรณ์ ตันสกุล มีมติออกคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
วันที่ 23 พฤศจิกายน 2553
ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉาย ให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายในราชอาณาจักรต่อคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์อีกครั้ง ในนามของตัวเอง โดยขออนุญาตให้จัดอยู่ในภาพยนตร์ประเภทภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู (เรท ฉ 20) และเพิ่มคำเตือนเข้าไปในภาพยนตร์ว่า “ภาพยนตร์เรื่องนี้สร้างขึ้นจากจินตนาการของผู้สร้าง พฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครในเรื่องเป็นเพียงเหตุการณ์สมมติมิได้อ้างถึงบุคคลใดทั้งสิ้น โปรดใช้วิจารณญาณในการรับชม” และในวันเดียวกันคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 ซึ่งประกอบด้วย คณะกรรมการชุดเดิม มีมติออกคำสั่งไม่อนุญาต เนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553
ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายต่อคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ
วันที่ 16 ธันวาคม 2553
คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาอุทธรณ์ และในเวลา 19.00 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติจำนวนหนึ่งเดินทางไปรับชมภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ที่ห้องฉายภาพยนตร์ บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)
วันที่ 22 ธันวาคม 2553
คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ โดยมีนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ประชุมเพื่อพิจารณาอุทธรณ์อีกครั้งและลงมติไม่อนุญาต 13 เสียง อนุญาต 4 เสียง และงดออกเสียง 3 เสียง
วันที่ 28 ธันวาคม 2553 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติออกหนังสือแจ้งมติให้ ธัญญ์วารินทราบ โดยระบุว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อหาโดยรวมเป็นการถ่ายทอดลักษณะเนื้อหาเกี่ยวกับการร่วมเพศระหว่างชายกับชาย หญิงกับหญิง และชายกับหญิง มีการสูบบุหรี่ ดื่มสุราในขณะแต่งกายเครื่องแบบนักเรียนอยู่หลายตอน และยังเสนอขายบริการทางเพศในขณะที่แต่งกายเครื่องแบบนักเรียน สาระสำคัญของภาพยนตร์แสดงออกไปในทางที่ไม่ถูกต้อง เช่น การให้เด็กหญิงและชายประกอบอาชีพขายตัวหรือโสเภณีแทนที่จะแก้ปัญหาโดยหาทางออกด้วยวิธีการอื่น มีฉากให้เด็กขายบริการทางเพศในชุดนักเรียน มีการสอนให้เด็กสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และสอนวิธีเล้าโลม รวมทั้งมีการนำเสนอการฆ่าพ่อ ซึ่งแม้จะเป็นฉากในความฝันแต่ก็ไม่สมควรจะมีเนื้อหาเหล่านี้ คณะกรรมการเห็นว่า เนื้อหาสาระสำคัญของภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นการถ่ายทอดเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่เหมาะสมกับสังคมไทย อาจทำให้สังคมและผู้ชม แม้อายุเกิน 20 ปี เกิดความเข้าใจผิดและเกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศหรือการขายบริการทางเพศ รวมทั้งพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอื่นๆ จึงเป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน การที่คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ไม่อนุญาตให้ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกเผยแพร่เนื่องจากขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชนนั้น จึงชอบแล้ว มีมติยกอุทธรณ์
28 มีนาคม 2554
ธัญญ์วาริน สุขพิสิษฐ์ ในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ร่วมกับ ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง ตัวแทนจากเครือข่ายคนดูหนังแห่งประเทศไทย ผู้ได้รับความเสียหายจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ยื่นฟ้องคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ) เป็นผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 และ คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (ชุดเล็ก) เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อศาลปกครอง ขอให้เพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard โดยอ้างเหตุว่าเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
1. ในการทำคำสั่งทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่เคยแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบเลยว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ใช้ข้อเท็จจริงใดบ้างในการพิจารณาออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นการกระทบสิทธิของผู้ฟ้องคดี และไม่ได้ให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสโต้แย้งและแสดงพยานหลักฐาน หรือชี้แจงข้อเท็จจริงอื่น ซึ่งเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ขัดต่อพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 30 วรรคหนึ่ง ทั้งที่เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 พิจารณาเพื่อทำคำสั่ง นายโสฬส สุขุม หนึ่งในทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์และเป็นตัวแทนของผู้ฟ้องคดีได้เดินทางไปเฝ้ารอการพิจารณาอยู่หน้าห้องพิจารณาตลอดทั้งวัน เพื่อขออนุญาตเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง แต่ถูกปฏิเสธมิให้เข้าชี้แจง และวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2553 และวันที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2553 ซึ่งเป็นวันที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ประชุมกันเพื่อพิจารณา ผู้ฟ้องคดีพร้อมทีมงานผู้สร้างภาพยนตร์ก็เดินทางไปเฝ้ารอหน้าห้องประชุมทั้งสองวัน เพื่อขอโอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แต่ไม่ได้รับเคยอนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีได้โอกาสเข้าชี้แจงข้อเท็จจริงใดๆ เลย
2. กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 หลายท่าน ไม่ได้รับทราบข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญของการพิจารณาภาพยนตร์ กล่าวคือ ไม่ได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ก่อนเข้าร่วมการประชุมและลงมติออกคำสั่ง ทั้งที่เป็นข้อเท็จจริงที่สำคัญมากในการพิจารณา ซึ่งการทำคำสั่งทางปกครองไปทั้งที่ผู้ทำคำสั่งไม่ทราบข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญที่ถูกต้องครบถ้วนย่อมไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเนื่องจากคำว่า “ศีลธรรมอันดี” เป็นคำที่มีความหมายกว้าง ประชาชนย่อมเห็นแตกต่างกันได้ ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ได้หาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการพิจารณาแต่พิจารณาไปโดยความคิดเห็นส่วนตัวแต่เพียงลำพัง จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
3. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 เป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย กล่าวคือ เป็นการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ไปโดยที่ไม่ได้แจ้งให้ผู้ฟ้องคดีมีโอกาสแก้ไขตัดทอนก่อน ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนขั้นตอนที่กำหนดไว้ในประกาศคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ในการตรวจพิจารณาภาพยนตร์และสื่อโฆษณา พ.ศ. 2552 ข้อ 8.
4. การลงมติออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ตั้งอยู่บนความคิดเห็นโดยอิสระของคณะกรรมการ แต่เป็นการทำคำสั่งทางปกครองโดยถูกครอบงำทางความคิดจากบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เพราะเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2553 กระทรวงวัฒนธรรมได้ออกเอกสารหนึ่งเพื่อแจกจ่ายให้กับสื่อมวลชนในวันก่อนที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จะได้ชมภาพยนตร์ แต่เหตุผลในเอกสารฉบับนี้ที่ชี้แจงว่า ภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน กลับเป็นเหตุผลเดียวกับที่ปรากฏในคำวินิจฉัยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1แทบทุกประการ จึงน่าเชื่อได้ว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลงมติทำคำสั่งทางปกครองตามฟ้องนี้ โดยผูกพันอยู่กับความคิดเห็นและเหตุผลที่มีอยู่ก่อนการพิจารณาลงมติแล้ว
5. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่ได้ระบุเหตุผลในการออกคำสั่ง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 37 ระบุเพียงว่าเนื่องจากมีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน แต่ไม่ได้ระบุให้ผู้ฟ้องคดีสามารถเข้าใจได้ว่าฉากใด หรือส่วนใดของภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดี และเนื้อหาเหล่านั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีอย่างไร
6. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่ได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิงในการออกคำสั่ง จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มาตรา 37
7. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นการออกคำสั่งโดยไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ไม่มีเนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือ เหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนา หรือก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ หรือกระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ หรือสาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเนื้อหาของเรื่องแสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ ซึ่งเป็นลักษณะของภาพยนตร์ที่จะถูกจัดเป็นประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักรได้ตามกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒
8. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นคำสั่งที่ให้เหตุผลคลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงทั้งสิ้น เพราะภาพยนตร์เรื่อง Insects in the backyard ไม่ได้มีเนื้อหาที่เป็นการขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ไม่เข้าใจธรรมชาติของภาพยนตร์และใช้วิธีการพิจารณาโดยแยกส่วนฉากแต่ละฉากออกจากกัน ไม่พิจารณาเนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์โดยเชื่อมร้อยรวมกัน ภาพยนตร์เรื่องนี้มีเนื้อเรื่องโดยรวมสื่อถึงปัญหาการไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศที่มีอยู่จริงในสังคม จนก่อให้เกิดปัญหาครอบครัวแตกแยก และหากพิจารณาถึงจำนวนฉากที่มีภาพเกี่ยวกับการร่วมเพศกันแล้ว จะมีเพียง 4-5 ฉาก และแต่ละฉากก็ใช้เวลาไม่กี่วินาทีเท่านั้น ไม่ได้ขัดต่อศีลธรรมอันดีแต่อย่างใด
9. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นการออกคำสั่งที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย เนื่องจากมีภาพยนตร์เรื่องอื่นที่มีลักษณะเดียวกันหรือคล้ายกัน หรือมีฉากประเภทเดียวกันเป็นระยะเวลาที่ใกล้เคียงกันหรือมากกว่า หรือที่มีเนื้อหาคล้ายกันหรือมีเนื้อหารุนแรงกว่าอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ได้รับอนุญาตให้ฉาย โดยผู้ฟ้องคดีได้แนบตัวอย่างภาพยนตร์จำนวน 15 เรื่อง เพื่อส่งให้ศาลพิจารณาประกอบ เช่น เรื่อง A Frozen Flower, น้ำตาลแดง, ผู้หญิงห้าบาป2, 9 วัด, Bruno, The Reader เป็นต้น
10. คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เป็นคำสั่งที่ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล และขัดกับหลักพอสมควรแก่เหตุ จึงเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย กล่าวคือ สื่อลามกอนาจารที่นำเสนอเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์โดยตรง อย่างโจ่งแจ้งที่มีลักษณะผิดกฎหมายสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากอยู่แล้ว ดังนั้นความมุ่งหมายเพื่อที่จะปิดกั้นไม่ให้ประชาชนเข้าถึงสื่อที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศ หรือ เนื้อหาที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 อาจจะเห็นว่าไม่เหมาะสม ไม่อาจจะบรรลุผลในทางความเป็นจริงได้เลย คำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ทำลายสาระสำคัญของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ของผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้เสียไปโดยสิ้นเชิง ขณะที่ผู้ถูกฟ้องมีอำนาจตามกฎหมายสามารถเลือกใช้มาตรการอื่นในการออกคำสั่งทางปกครองเพื่อให้กระทบกระเทือนสิทธิน้อยกว่าได้ เช่น จัดให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู
11. ผู้ฟ้องคดีอ้างถึงบทความที่นักวิชาการหลายท่านเขียนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้เพื่อประกอบคำฟ้อง จำนวน 5 บทความ เช่น บทความของ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ บทความของ อ.วันรัก สุวรรณวัฒนา นักวิชาการคณะศิลปศาสตร์ บทความของวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตบรรณาธิการนิตยสารสารคดี เป็นต้น
12. เนื่องจากคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ฟ้องคดีอย่างร้ายแรง ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายอันไม่อาจคำนวนเป็นตัวเงินได้ ผู้ฟ้องคดีขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีจ่ายเงินชดเชยความเสียหาย คิดเป็นเงิน 400,000 บาท
ขอให้ศาลปกครองพิพากษาเพิกถอนคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและพิพากษาให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองจ่ายเงินชดเชยความเสียหายจำนวน 400,000 บาทด้วย
ในวันเดียวกับที่ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ธัญญ์วาริน และธัชชัย ยื่นคำร้องขอให้ศาลปกครองส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(7) และมาตรา 29 เรื่องอำนาจกำหนดให้ภาพยนตร์เรื่องใดเป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักร และการสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 45 ว่าด้วยเรื่องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกหรือไม่ เพราะแม้จะเป็นข้อยกเว้นให้จำกัดสิทธิได้ด้วยอำนาจตามกฎหมายก็ตาม แต่ก็เป็นกฎหมายที่ให้อำนาจแก่รัฐจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เกินจำเป็น ขัดต่อหลักพอสมควรแก่เหตุ และถ้อยคำที่ให้อำนาจในการจำกัดสิทธิก็คลุมเครือไม่ชัดเจน ขัดกับหลักนิติธรรมตามรัฐธรรมนูญมาตรา 29
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน ผู้ฟ้องคดียังยื่นคำขอให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา อ้างเหตุว่าสังคมกำลังสนใจกับการออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องแรกตั้งแต่ประกาศใช้พ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นต้นมา การที่สังคมกำลังสนใจและวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างสร้างสรรค์ย่อมเป็นประโยชน์กับสังคมในแวดวงวิชาการด้านกฎหมายและสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก แต่หากจะวิพากษ์วิจารณ์กันได้อย่างสมบูรณ์ผู้วิพาษ์วิจารณ์ก็ควรจะได้ชมภาพยนตร์ก่อน ดังนั้น จึงขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาให้สามารถนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉายเฉพาะในงานวิชาการและงานเพื่อการศึกษา ระหว่างรอให้ศาลมีคำพิพากษา เพื่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจทางปกครองอันเป็นสิทธิที่ประชาชนพึงกระทำได้อย่างชอบธรรม
31 มีนาคม 2554
ศาลปกครองออกคำสั่งเรียกให้ผู้ฟ้องคดี และผู้ถูกฟ้องคดีไปศาลในวันที่ 4 เมษายน 2554 เวลา 13.00 เพื่อให้ถ้อยคำต่อศาลประกอบการพิจารณาคำสั่งกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา
4 เมษายน 2554 ศาลปกครองนัดไต่สวนคำร้องขอให้ศาลกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยคู่กรณีทั้งผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ผู้รับมอบอำนาจ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 เดินทางมาศาล ธัญญ์วารินผู้ฟ้องคดีที่ 1 ให้การต่อศาลว่า รู้สึกว่าถูกละเมิดสิทธิจากการไม่อนุญาตให้ฉายภาพยตร์ ในกระบวนการออกคำสั่งไม่เคยให้โอกาสคู่กรณีได้ชี้แจงและไม่เคยให้เหตุผลอันเพียงพอให้สามารถเข้าใจได้และแจ้งต่อศาลว่า ขออนุญาตฉายภาพยนตร์ในกิจกรรมวิชาการ เช่น ในสถานศึกษา ซึ่งจะมีการเสวนาวิชาการประกอบทุกครั้ง โดยจะตรวจบัตรประชาชนเพื่อกำหนดอายุผู้ชุมให้เกิน 20 ปีขึ้นไป
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ให้การต่อศาลยืนยันว่า การออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ทำไปโดยถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย และพิจารณาเนื้อหาภาพยนตร์อย่างดีแล้ว เห็นว่าขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ไม่ควรอนุญาตให้ออกฉาย พร้อมคัดค้านการกำหนดวิธีการทุเลาคำสั่ง
(ติดตามรายละเอียดได้ในบันทึกการสังเกตุการณ์คดี)
วันที่ 8 เมษายน 2554
ศาลปกครองมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ที่ 2 ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง เพราะศาลเห็นว่าสำหรับคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ที่เป็นเพียงตัวแทนจากคณะบุคคลที่รวมตัวกันจากผู้ที่มีความสนใจชมภาพยนตร์ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงและเป็นการเฉพาะตัว จึงไม่ได้เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากคำสั่งทางปกครองดังกล่าว ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
วันที่ 20 เมษายน 2554
ศาลปกครองมีคำสั่งยกคำขอให้ศาลปกครองกำหนดวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา โดยให้เหตุผลว่า ความเสียหายที่เกิดกับผู้ฟ้องคดีจากคำสั่งทางปกครอง คือ ความเสียหายต่อชื่อเสียงที่บุคคลในสังคมอาจเข้าใจผิดว่า ผู้ฟ้องคดีสร้างภาพยนตร์ที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี แต่คำสั่งดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการส่งภาพยนตร์ไปประกวดนอกราชอาณาจักรแต่อย่างใด หากภายหลังศาลพิพากษาว่าคำสั่งทางปกครองนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย คำพิพากษาก็สามารถแก้ไขเยียวยาความเสียหายต่อชื่อเสียงให้หมดไปได้ การให้คำสั่งทางปกครองมีผลต่อไปในระหว่างพิจารณาคดีจึงไม่ได้ทำให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เสียหายอย่างร้ายแรงจนไม่อาจเยียวยาได้ อีกทั้งการฉายภาพยนตร์ในงานวิชการ หรืองานเพื่อการศึกษาก็ไม่ได้เป็นการจัดฉายเฉพาะกลุ่ม ย่อมคาดหมายได้ว่าจะมีผู้สนใจเข้าชมเป็นจำนวนมากอันจะเป็นผลเหมือนการสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้ฉายในราชอาณาจักรได้ กรณีจึงไม่เข้าเงื่อนไขที่จะออกคำสั่งทุเลาการบังคับตามคำสั่งทางปกครองในระหว่างการพิจารณาคดี
17 มิถุนายน 2554
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 ยื่นคำให้การต่อศาล พร้อมเอกสารหลักฐานประกอบคำให้การ และถอดเทปบันทึกการประชุมตามที่ศาลปกครองเรียกให้ส่งเข้ามาในคดี ลงนามโดยนายทรงชัย ประสาสน์วนิช พนักงานอัยการ โดยคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองมีประเด็นกล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ)
1. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมพิจารณาและให้ความเห็นด้านกฎหมายและด้านวินิจฉัยอุทธรณ์ขึ้น ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้ประชุมพิจารณาเรื่องนี้และได้เชิญธัญญ์วาริน หรือผู้ฟ้องคดีที่ 1 เข้าร่วมประชุมชี้แจงแล้ว ในการประชุมวันที่ 9 ธันวาคม 2553 คณะอนุกรรมการฯ ได้สอบถามแล้วว่าจะยินยอมให้ตัดเนื้อหาบางส่วนออกหรือไม่ แต่ผู้ฟ้องคดีที่ 1 แจ้งว่าไม่ประสงค์จะให้ตัดเนื้อหาของภาพยนตร์ออก คำฟ้องที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ไม่เคยให้โอกาสผู้ฟ้องคดีเข้าชี้แจงข้อเท็จจริง และข้อที่ว่าผู้ถูกฟ้องคดีไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนของกฎหมาย จึงฟังไม่ขึ้น
2. การตรวจพิจารณาภาพยนตร์ เป็นกรณีพิจารณาเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ซึ่งผู้ฟ้องคดีได้ส่งภาพยนตร์มาให้ประกอบการพิจารณาอยู่แล้ว จึงเป็นข้อเท็จจริงที่คู่กรณีนั้นให้ไว้ในคำขอแล้ว เป็นข้อยกเว้นตามมาตรา 30 (3) แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ให้ไม่ต้องเปิดโอกาสให้คู่กรณีเข้าชี้แจงก่อน
3. การพิจารณาอุทธรณ์เรื่องนี้ แม้กรรมการของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 บางคนจะไม่ได้เข้าประชุมเนื่องจากติดภารกิจ แต่ก็ดำเนินการตามหลักเกณฑ์ครบองค์ประชุมตามกฎหมาย คือ ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมดแล้ว อีกทั้งการวินิจฉัยความหมายของศีลธรรมอันดี เป็นสิ่งที่วิญญูชนทั่วไปเข้าใจได้อยู่แล้ว
4. ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 ของพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 เนื่องจาก “ขัดต่อศีลธรรมอันดี” เป็นกรณีที่กฎหมายให้อำนาจแก่องค์กรของรัฐพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องๆ ไปไม่อาจวางหลังตายตัวได้ ไม่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 26 (7) ไม่ใช่การสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามฉายในราชอาณาจักรจึงไม่ต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง เรื่อง กำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. 2552 ตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างมา
5. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ขอยืนยันว่า การพิจารณาอุทธรณ์ได้ดูภาพยนตร์ทุกเรื่องและประชุมกัน การวินิจฉัยเป็นไปด้วยความอิสระ และตั้งอยู่บนพื้นฐานของประโยชน์สาธารณะ รวมทั้งมุ่งคุ้มครองเด็ก เยาวชน และสังคม ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยไปตามความคิดเห็นของผู้ใด ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์มาแล้วหลายเรื่อง
6. ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า คำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะ ไม่ได้ระบุข้อกฎหมายที่อ้างอิงในการออกคำสั่งนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้แจ้งแล้วว่าที่สั่งยกอุทธรณ์เพราะเห็นด้วยกับคำสั่งของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และได้ให้เหตุผลไว้โดยถูกต้องตามกฎหมายแล้ว
7. ภาพยนตร์เป็นสื่อประเภทหนึ่งที่มีผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน และสังคม ซึ่งอาจทำให้เกิดการเลียนแบบในพฤติกรรมไม่เหมาะสมได้ การใช้ดุลพินิจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นดุลพินิจที่ปราศจากอคติหรือกลั่นแกล้งผู้ฟ้องคดี และได้ใช้ดุลพินิจตามกฎหมายเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ การกล่าวอ้างของผู้ฟ้องคดีเป็นการกระทำเพื่อตนเองเท่านั้นมิได้คำนึงถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับเด็ก เยาวชน และสังคม
8. เรื่องค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาทนั้น ผู้ฟ้องคดีคิดขึ้นเอง กล่าวอ้างขึ้นโดยปราศจากหลักเกณฑ์และหลักฐานที่จะอ้างอิงได้ ไม่อาจรับฟังได้
ขอให้ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีด้วย
คำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 (ชุดเล็ก)
1. บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด ยื่นคำขออนุญาตนำภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard ออกฉายก่อน เมื่อไม่ได้รับอนุญาตบริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ ก็ไม่ติดใจและไม่อยากมีส่วนเกี่ยวข้องที่จะอุทธรณ์ คงมีเพียงธัญญ์วาริน ที่ติดใจ แต่เนื่องจากไม่ใช่ผู้ขออนุญาตเดิมจึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ จึงต้องยื่นคำขออนุญาตใหม่โดยไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของภาพยนตร์ การยื่นครั้งนี้จึงเป็นการยื่นเพียงเพื่อให้ได้รับสิทธิอุทธรณ์และสิทธิฟ้องคดีต่อศาลเพื่อสร้างกระแสให้มีผู้สนใจในภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard และตัวธัญญ์วารินมากขึ้น โดยธัญญ์วารินตระเตรียมการไว้แล้ว จะเห็นได้จากวันที่เดินทางไปรับทราบคำสั่งพร้อมนักข่าว มีการจัดแถลงข่าว และยังเป็นวันเดียวกับที่ยื่นอุทธรณ์คำสั่งด้วย
2. เนื่องจากภาพยนตร์ที่ยื่นขออนุญาตมีจำนวนมากทุกวัน หากเสนอให้แก้ไขตัดทอนภาพยนตร์ก่อน ก็ต้องดูใหม่ อีกทั้งเรื่อง อาจจะไม่ทันระยะเวลาการพิจารณา 15 วันตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งจะทำให้เท่ากับถือว่าอนุญาต เป็นกรณีจำเป็นรีบด่วนที่หากปล่อยให้เนิ่นช้าไปจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะได้ จึงไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ผู้ฟ้องคดีทราบและให้สิทธิโต้แย้งแสดงข้อเท็จจริง ทั้งไม่ปรากฎว่าผู้ฟ้องคดีมีตัวแทนมารอเข้าชี้แจงแต่อย่างใด
3. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ตรวจพิจารณาภาพยนตร์โดยดูเนื้อหาสาระของภาพยนตร์ตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องแล้ว ทั้ง 7 คน ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่ากรรมการบางคนไม่ได้ชมภาพยนตร์นั้นไม่เป็นความจริง
4. ที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างว่า การออกคำสั่งไม่ได้ทำตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด คือ ไม่ได้สั่งให้ตัดทอนก่อนนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ให้การคัดค้านว่าการพิจารณาภาพยนตร์ต้องพิจารณาก่อนว่าภาพยนตร์เรื่องใดควรจะจัดอยู่ในประเภทใดตาม พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 มาตรา 26(1) – (7) ซึ่งภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard จัดว่าเป็นประเภท (6) คือ ภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดู และหลังจากนั้น กรรมการจึงใช้อำนาจตามมาตรา 29 พิจารณาว่าภาพยนตร์เรื่องนั้นมีลักษณะที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีหรือไม่ เมื่อพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีลักษณะดังกล่าว จึงสั่งไม่อนุญาตให้ฉาย โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 29 ไม่ใช่สั่งให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร ตามมาตรา 26 (7) ทั้งหมดนี้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมายแล้วโดยไม่ต้องสั่งให้ตัดทอนก่อน และไม่ต้องผูกพันตามหลักเกณฑ์ในกฎกระทรวง
5. เนื่องจากภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เคยขออนุญาตโดย บริษัท ป๊อบ พิคเจอร์ จำกัด มาก่อนและไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ผู้ฟ้องคดีนำมายื่นขออนุญาตใหม่โดยไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงเนื้อหา เหตุผลของการสั่งไม่อนุญาตจึงเป็นเหตุผลที่ผู้ฟ้องคดีรู้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลอีก และผู้ฟ้องคดีก็ใช้สิทธิอุทธรณ์ทันทีโดยไม่เคยทวงถามเหตุผลมาก่อน
6. คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎหมายจึงเป็นตัวแทนของวิญญูชนทั่วไปซึ่งเป็นตามเจตนารมย์ของกฎหมาย และได้ใช้ดุลพินิจพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว
7. ภาพยนตร์เรื่องอื่นที่ยกมากล่าวอ้างในคำฟ้อง มีเพียง 2 เรื่องที่ผ่านการตรวจพิจารณาโดย คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ คณะที่ 2 มีหนึ่งเรื่องที่ไม่เคยผ่านการตรวจพิจารณา อีก 12 เรื่องนั้นตรวจโดยคณะอื่น ทั้งนี้ผู้ฟ้องคดีนำเอาบางฉากบางตอนของภาพยนตร์เรื่องอื่นมากล้าวอ้างเพื่อให้ตนเองได้รับประโยชน์ ขัดกับที่ผู้ฟ้องคดีเคยกล่าวว่า การพิจารณาภาพยนตร์ต้องพิจารณาเนื้อหาทั้งหมดของภาพยนตร์โดยเชื่อมร้อยรวมกัน
8. ที่ผู้ฟ้องคดีอ้างว่าคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์ไม่มีทางสัมฤทธิ์ผล เพราะสื่อลามกอนาจารที่นำเสนอเนื้อหาการมีเพศสัมพันธ์โดยตรงอย่างโจ่งแจ้งสามารถเข้าถึงได้ไม่ยากอยู่แล้ว เป็นการแสดงเจตนาไม่รับผิดชอบต่อสังคม เพราะนำเสนอปัญหาแต่ไม่เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เป็นการไม่เคารพต่อกฎหมายที่สร้างขึ้นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน
9. ความเห็นของนักวิชาการที่กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง ล้วนแต่เป็นความเห็นส่วนตัว จึงไม่อาจรับฟังได้
10. รัฐธรรมนูญมาตรา 45 รับรองสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติของกฎหมาย ซึ่งพระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ. 2551 เป็นกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพดังกล่าว การไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard เป็นไปตามกฎหมายที่ให้อำนาจไว้ และผู้ฟ้องคดียังสามารถใช้เสรีภาพดังกล่าวได้ ยังสามารถยื่นขออนุญาตครั้งใหม่ได้ แต่กลับยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้เสรีภาพของตนถูกจำกัดมากกว่า
11. ในเรื่องค่าเสียหายนั้น ค่าเสียหายจำนวน 400,000 บาท เป็นการอ้างเหตุส่วนตัวที่คิดขึ้นเองอย่างเลื่อนลอย ไม่มีเหตุผล ไม่มีที่มาที่ไป ไม่มีพยานหลักฐานยืนยันสนับสนุน จึงไม่อาจรับฟังได้ ไม่มีข้อเท็จจริงฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย ตรงกันข้ามผู้ฟ้องคดีได้รับประโยชน์จากการไม่อนุญาตให้ฉายมากกว่า โดยทำให้ผู้ฟ้องคดีและภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นที่รู้จักแพร่หลายทั่วไป ได้รับการตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์และนิตยสารต่างๆ จนมีชื่อเสียงในสังคม
ขอให้ศาลปกครองพิพากษายกฟ้องของผู้ฟ้องคดีด้วย
2 กันยายน 2554
ผู้ฟ้องคดี ยื่นคำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง แยกเป็นสองฉบับสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีรายละฉบับ คำคัดค้านคำให้การของผู้ฟ้องคดี กล่าวโดยสรุปได้ดังนี้
คำคัดค้านคำให้การของผู้ถูกฟ้องคดี ที่ 1 คณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ (บอร์ดชาติ)
1. เหตุที่ในการประชุมกับคณะอนุกรรมการ ผู้ฟ้องคดีแจ้งว่าไม่ยินดีตัดเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์ออก เพราะผู้ฟ้องคดีไม่เคยทราบเลยว่าสาเหตุที่ไม่อนุญาตให้ฉายเป็นเพราะเหตุใด และไม่ทราบว่าต้องการจะให้ตัดเนื้อหาส่วนใด ฉากใด เพราะเหตุใด และหากยินยอมแล้วจะได้รับอนุญาตให้ฉายภาพยนตร์หรือไม่ คณะอนุกรรมการเพียงแต่ปรึกษาหารือแต่ไม่ได้ออกเป็นคำสั่งซึ่งตามขั้นตอนในกฎหมายจำเป็นต้องออกเป็นคำสั่งที่ชัดเจนว่าให้ตัดทอนส่วนใด เพราะเหตุใด
2. ความเห็นของคณะอนุกรรมการฯ เป็นความเห็นที่คลาดเคลื่อนต่อความเป็นจริงเพราะภาพยนตร์เรื่องนี้ไม่ได้มีเนื้อหาขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน
3. ข้อเท็จจริงที่ปรากฎตามรายงานการประชุมของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 แสดงให้เห็นว่า การออกคำสั่งขัดกับหลักความจำเป็นและพอสมควรแก่เหตุ เพราะผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้ฉายเพราะเหตุว่าในภาพยนตร์มีฉากการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ แต่แม้จะมีฉากดังกล่าว ตามกฎกระทรวงก็สามารถจัดเป็นภาพยนตร์ที่ห้ามผู้มีอายุต่ำกว่า 20 ปีดูได้ ซึ่งได้ผลในการคุ้มครองเด็กและเยาวชนเหมือนกัน แต่จำกัดสิทธิของผู้ฟ้องคดีน้อยกว่า
4. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ใช้อำนาจดุลพินิจนอกเหนือไปจากที่กฎหมายให้อำนาจไว้ เพราะในรายงานการประชุมปรากฏว่ากรรมการบางท่าน แสดงความเห็นว่าไม่อนุญาตให้ฉายภาพยนตร์เรื่องนี้ เพราะมีภาพลามกอนาจารที่อาจเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา ซึ่งไม่ใช่อำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1ที่จะวินิจฉัยว่าสื่อใดเป็นสื่อลามกอนาจารหรือไม่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 มีอำนาจเพียงจัดประเภทภาพยนตร์ตามที่พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดไว้เท่านั้น อย่างไรก็ดี ภาพดังกล่าวปรากฏเพียง 3 วินาทีในจอโทรทัศน์ในความฝันของตัวละครตัวหนึ่งเท่านั้น จึงไม่มีลักษณะก่อให้เกิดอารมณ์ทางเพศ จึงไม่ใช่สื่อลามกอนาจารที่ผิดกฎหมายอาญา ซึ่งกรรมการท่านดังกล่าวก็ได้วินิจฉัยข้อกฎหมายผิดไปด้วย การที่กรรมการบางท่านแสดงความเห็นโดยวินิจฉัยข้อกฎหมายผิด และนอกเหนืออำนาจย่อมมีผลทำให้กรรมการบางท่านอาจคล้อยตามและลงมติไป ทำให้เป็นการออกคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
18 เมษยน 2556
ศาลปกครองออกหมายเรียกให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมเข้ามาเป็นคู่กรณี จำเลยที่ 3 และสั่งให้ผู้ฟ้องคดีส่งสำเนาคำฟ้องและเอกสารให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรมภายใน 10 วัน
30 เมษายน 2556
ทีมกฎหมายของผู้ฟ้องคดียื่นสำเนาคำฟ้องพร้อมเอกสารประกอบแก่ศาลปกครอง เพื่อจัดส่งให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม
3 ธันวาคม 2558
คำพิพากษา
ข้อเท็จจริงในคดีปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้ยื่นขออนุญาตระบุว่าขอให้เป็นภาพยนตร์ประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดู ที่ผู้ถูกฟ้องคดีอ้างว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีการแสดงออกและมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม เป็นเรื่องที่อยู่ในวิจารณญาณของผู้ชมที่อายุตั้งแต่ยี่สิบปีขึ้นไป ที่จะพิจารณาแยกแยะได้ตามวุฒิภาวะของความเป็นผู้ใหญ่ หากอนุญาตให้ฉายในประเภทห้ามผู้มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปีดูอยู่แล้ว ก็ไม่มีเหตุที่ต้องเกรงว่าเด็กและเยาวชนจะลอกเลียนแบบพฤติกรรมในหนัง ระบบการแยกประเภทภาพยนตร์ดังกล่าวจะช่วยจำแนกเยาวชนออกจากเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ข้ออ้างของผู้ถูกฟ้องคดีจึงไม่อาจรับฟังได้
อย่างไรก็ตาม แม้หากพิจารณาถึงเจตนาการนำเสนอเนื้อหาการร่วมเพศในภาพยนตร์เพื่อสร้างจุดเปลี่ยนทางอารมณ์ของตัวละครย่อมมีช่องทางอื่นๆ ในเชิงศิลปะภาพยนตร์ที่รังสรรค์กว่าการนำเสนอฉากร่วมเพศโดยแสดงภาพการสอดใส่ชัดเจน ซึ่งเป็นลักษณะการนำเสนอแบบหนังเอ็กซ์ หรือหนังลามก หากจะมีการแก้ไขลดระดับความแรง หรือตัดทอนเนื้อหาในส่วนนี้ออกก็ไม่กระทบต่อโครงหลักและปมของเรื่องในฉากดังกล่าว และไม่ทำให้อรรถรสของภาพยนตร์เสียไป เนื่องจากภาพการมีเพศสัมพันธ์แบบสอดใส่เป็นเพียงส่วนประกอบย่อยเพื่อประกอบเนื้อหาหลัก