- คดีมาตรา112, ฐานข้อมูลคดี
แฮรี่: คนเขียนนิยาย
อัปเดตล่าสุด: 09/07/2564
ผู้ต้องหา
แฮรี่ น.
สถานะคดี
ตัดสินแล้ว / คดีถึงที่สุด
คดีเริ่มในปี
2551
โจทก์ / ผู้กล่าวหา
พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 8 สำนักงานอัยการสูงสุด
แฮรี น.ผู้ประพันธ์นิยายเรื่อง"Verisimilitude" ถูกตัดสินจำคุก6ปีด้วยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯเพราะหนังสือมีเนื้อพาดพิงเชื้อพระวงศ์ ได้รับพระราชทานอภัยโทษหลังถูกคุมขังมา 6 เดือน
สารบัญ
ภูมิหลังผู้ต้องหา
แฮรี่ น. อายุ 41 ปี เป็นออสเตรเลียเชื้อสายกรีก จบการศึกษาจาก La Trobe University ในปี 2531 ก่อนถูกจับกุมมีอาชีพเป็น นักเขียน และ ครูสอนภาษาอังกฤษ
แฮรี่เดินทางมาประเทศไทยในปี 2547 โดยทำงานเขียนหนังสือและเป็นบล็อกเกอร์ เขาเคยเขียนคอลัมน์เล่าถึงผู้หญิงทำงานบาร์ และเขียนบทความเกี่ยวกับภาพโป๊เด็ก เขาบรรยายตัวเองว่าเป็น ""คนๆ หนึ่งที่ประสบความสำเร็จโดยอาศัยพรสวรรค์ล้วนๆ และความมั่นคงพากเพียร""
นอกจากงานเขียนหนังสือ เขาเคยสอนภาษาอังกฤษระยะสั้นๆ รวมทั้งเคยช่วยแปลบทบรรยายสารคดีเฉลิมพระเกียรติของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้า หลวง จ.เชียงรายด้วย
ข้อหา / คำสั่ง
มาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา
การกระทำที่ถูกกล่าวหา
แฮรี่ น. ถูกจับกุมในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม 2551
หนังสือที่เป็นปัญหาในคดีนี้และเป็นเหตุให้เขาถูกจับกุมคือนิยายชื่อ "verisimilitude"ที่เขาเขียนขึ้นเมื่อปี 2548 ซึ่งตีพิมพ์ออกมาประมาณไม่เกิน 50 เล่ม และขายออกไปเพียง 10 เล่ม ในหนังสือดังกล่าว มีเนื้อความกล่าวถึง ‘ข่าวลือ' เรื่อง ‘โรแมนติก' ของเชื้อพระวงศ์โดยไม่ได้ระบุชื่อ อยู่ประมาณ 1 ย่อหน้า
ก่อนตีพิมพ์นิยายเล่มดังกล่าว แฮรี่ส่งเนื้อหาให้สำนักพระราชวังพิจารณาพร้อมสอบถามว่าข้อความเช่นนี้หมิ่นเหม่หรือไม่ แต่ไม่มีการตอบกลับ จนกระทั่งเขาถูกจับกุมที่สนามบิน ในความผิดตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา
พฤติการณ์การจับกุม
แฮรี่ระบุว่า เขาทราบในภายหลังว่ามีการออกหมายจับตั้งแต่เดือนมีนาคม 2551 ระหว่างนั้นจนถึงวันที่ถูกจับ ซึ่งเป็นเวลาประมาณ 5 เดือน เขาสามารถเดินทางเข้าออกประเทศไทยผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองหลายครั้งโดยไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ขณะเดินทางกลับออสเตรเลีย เจ้าหน้าที่ตำรวจทำการจับกุมเขาที่สนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งกรณีนี้ไม่ปรากฏเป็นข่าวในประเทศไทยแต่อย่างใด
บันทึกสังเกตการณ์ในชั้นศาล
ไม่มีข้อมูล
หมายเลขคดีดำ
อ.4550/2551
ศาล
ไม่มีข้อมูล
เนื้อหาอื่นๆที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล
แหล่งอ้างอิง
กรณีแฮรี่ นิโคไลดส์. LM Watch Blogspot. 16 เมษายน 2552 (เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2556)
แฮรี่ นิโคไลดส์ ได้รับพระราชทานอภัยโทษ. ประชาไท 21 กุมภาพันธ์ 2552 (เข้าถึงเมื่อ 19 มิถุนายน 2556)
3 กันยายน 2551
สำนักข่าวเอบีซีนิวส์รายงานทางเว็บไซด์ว่า แฮรี น. ถูกปฏิเสธการประกันตัวและถูกส่งกลับไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สำนักข่าวเอบีซียังให้ข้อมูลไว้ท้ายข่าวว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพรุนแรงที่สุดในโลกด้วย ทั้งนี้สำนักข่าวเอบีซีนิวส์เป็นสื่อของออสเตรเลียสำนักแรกที่รายงานข่าวของแฮรี่ น.
พฤศจิกายน 2551
สำนักข่าวเอบีซี นำเสนอคดีของแฮรี่ น.ทางโทรทัศน์ โดยมีสัมภาษณ์แหล่งข่าวอย่างหลากหลาย พี่ชายและทนายความของแฮรี่ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียขอให้พวกเขาอยู่เงียบๆ ไม่เปิดเผยข้อมูลคดี ทว่ากระทรวงการต่างประเทศเองกลับล้มเหลวในการให้ข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวแฮรี่ สิ่งที่ครอบครัวของแฮรี่เรียกร้องต่อรัฐบาลออสเตรเลียคือ การให้ข้อมูลว่ารัฐบาลได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง ทั้งนี้ แม้ว่าเจ้าหน้าที่สถานทูตจะระบุว่าได้พบกับแฮรี่แล้วไม่ต่ำกว่า 15 ครั้ง และกระทรวงการต่างประเทศก็ยื่นเรื่องต่อรัฐบาลไทยแล้วไม่ต่ำกว่า 30 ครั้ง แต่คำถามคือ ""ทางการออสเตรเลียได้ยื่นเรื่องอะไรต่อรัฐบาลไทย และเจราจาเรื่องนี้กับใครในรัฐบาลไทย"" ฟอร์ด น. พี่ชายของเขาตั้งคำถาม
ต่อมา พ่อแม่ของแฮรี่ น. ได้รวบรวมรายชื่อชาวออสเตรเลียเชื้อสายกรีกจากชุมชนกรีกในเมลเบิร์นจำนวนหลายพันรายชื่อยื่นต่อสถานทูตไทยและรัฐบาลออสเตรเลีย เพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวลูกชาย ขณะเดียวกันก็ปรากฏการรณรงค์ออนไลน์ เช่น เว็บไซต์ http://www.bringharryhome.com ซึ่งเรียกร้องให้ปล่อยตัวแฮรี่ และดำเนินการต่อคดีของเขาอย่างเป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีสื่อต่างๆ รวมทั้งบล็อกเกอร์จำนวนมากที่เขียนถึงกรณีของเขา และวิพากษ์วิจารณ์บทบาทอันอ่อนเปลี้ยของรัฐบาลออสเตรเลียต่อเรื่องดังกล่าว
19 มกราคม 2552
ที่ห้องพิจารณาคดีเลขที่ 811 ศาลอาญารัชดา ผู้พิพากษาขึ้นบัลลังก์พิจารณาคดี หมิ่นประมาทดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาต มาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ระหว่างพนักงานอัยการโจทก์ และนายแฮรี่ น.โดยจำเลยให้การรับสารภาพ และโจทก์ไม่ติดใจดำเนินคดีต่อ ศาลจึงนัดฟังคำพิพากษาเวลา 14.00 น. วันเดียวกัน
ทั้งนี้ มีผู้สื่อข่าวต่างประเทศให้ความสนใจติดตามคดีนี้เป็นจำนวนมาก อาทิ รอยเตอร์ เอพี โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งรายงานแบบ real time และนำเสนอวีดีโอ สารคดีสั้นๆ ของคดีดังกล่าวผ่านทางเว็บไซต์ www.abc.net.au/news/
เวลา 14.15 น. ศาลพิพากษาว่า จำเลยเขียนหนังสือชื่อ Verisimilitude ซึ่งมีข้อความเป็นการหมิ่นประมาทและหมิ่นพระเกียรติพระมหากษัตริย์และพระบรมราชกุมาร จึงตัดสินจำคุกจำเลยเป็นเวลา 6 ปี จำเลยสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง (3 ปี) ทั้งนี้ จำเลยเป็นผู้แต่งหนังสือซึ่งเผยแพร่แก่ประชาชนทั่วไป พฤติการณ์เป็นความผิดร้ายแรงไม่สมควรรอลงอาญา
หลังการพิพากษา ผู้สื่อข่าวสอบถามทนายความของแฮรี่ น. ว่าจะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ แต่ทนายปฏิเสธที่จะให้คำตอบ โดยระบุว่า เป็นเรื่องที่ผู้ต้องหาและครอบครัวต้องตัดสินใจ
9 กุมภาพันธ์ 2552
ฌอง ฟรองซัวส์ จูลิอาร์ด เลขานุการขององค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนเตรียมยื่นฎีกาต่อพระมหากษัตริย์ไทย โดยหวังจะได้กราบบังคมทูลถึงการเซ็นเซอร์และการจับกุมที่เกิดขึ้นในนามของพระองค์ พร้อมกันนี้ได้เปิดเว็บไซต์เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้อินเตอร์เน็ตร่วมลงชื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวแฮรี่ น. ส่วนหนังสือฎีกาดังกล่าวได้เปิดให้ลงชื่อออนไลน์ ที่ http://www.rsf.org/freeharry/ ผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนยังเผยแพร่คำพิพากษาของในคดีของแฮรี่ น.ด้วย
19 กุมภาพันธ์ 2552
แฮรี่ น. ได้รับการปล่อยตัวในคืนวันที่19กุมภาพันธ์หลังได้รับพระราชทานอภัยโทษ
20 กุมภาพันธ์ 2552
หลังได้รับการปล่อยตัว ในคืนวันที่19กุมภาพันธ์ แฮรี่ น.ถูกส่งตัวกลับประเทศออสเตรเลียอย่างเร่งด่วนในเวลาเที่ยงคืนของวันที่ 20กุมภาพันธ์
คำพิพากษา
ไม่มีข้อมูล