17 พฤษภาคม 2553
ในช่วงเวลาที่รัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะมีการประกาศใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 อยู่ กลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงรายได้รวมตัวกัน ที่ถนนหน้ากองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย ก่อนจะพากันเดินไปยังศาลากลางจังหวัด เพื่อทำการยื่นหนังสือขอให้ทางรัฐบาลอย่าใช้ความรุนแรงต่อคนเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ที่สี่แยกราชประสงค์
14 มิถุนายน 2553
สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงรายได้แจ้งข้อกล่าวหาละเมิด พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แก่ดีเจและแกนนำการชุมนุม 5 คน ฝ่ายจำเลยเข้ามอบตัวและให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
26 กรกฎาคม 2554
สำนักงานอัยการจังหวัดเชียงราย ได้ออกคำสั่งไปยังผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงราย แจ้งให้ยุติการดำเนินคดีนี้
6 กุมภาพันธ์ 2555
อัยการจังหวัดเชียงรายดำเนินการสั่งฟ้องคดีต่อศาลจังหวัดเชียงราย โดยคำฟ้องระบุแยกข้อกล่าวหาเป็น 2 ส่วน ได้แก่
กรณีนายธนิต บุญญนสินีเกษม นายวิทยา ตันติภูวนาท และนางพิมพ์นารา หนองหารพิทักษ์ ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ในมาตรา 9, ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215 โดยชักชวนและจัดให้มีการชุมนุมและมั่วสุมกันของประชาชนตั้งแต่สิบคนขึ้นไป ยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยด้วยการปลุกระดมให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมรวมตัวกันต่อต้านรัฐบาลไทย ก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งประกาศให้เป็นพื้นที่ในเขตสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงอยู่ และข้อหาความผิดตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 จากการปิดกั้นทางหลวงในลักษณะที่อาจเกิดอันตรายหรือเสียหายแก่ยานพาหนะหรือบุคคล โดยไม่ได้รับอนุญาต
ส่วนกรณีนายทรงธรรม คิดอ่าน และนายอรรถกร กันทไชย ไม่ได้ไปร่วมชุมนุม แต่ได้จัดรายการในสถานีวิทยุชุมชนคลื่น 107.5 MHz และกล่าวออกอากาศมีใจความว่ารัฐบาลและทหารไทยได้ร่วมกันฆ่าประชาชนที่ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลและรัฐบาลบริหารราชการแผ่นดินไม่เป็นธรรม พร้อมชักชวนให้ประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล จึงเป็นความผิดจากการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ตามมาตรา 9 เรื่องการชักชวนให้ประชาชนที่ได้รับฟังรายการดังกล่าวเข้าร่วมการชุมนุมต่อต้านรัฐบาล และเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ทำให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว และทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉิน จนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนในทั่วราชอาณาจักร
11 ธันวาคม 2556
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษา
ศาลได้แจ้งแก่ฝ่ายจำเลยว่า ขอเลื่อนการอ่านคำพิพากษาออกไป เนื่องจากศาลต้องส่งให้สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจคำพิพากษาก่อน ศาลและฝ่ายจำเลยจึงได้ตกลงกันเลื่อนฟังคำพิพากษาไปเป็นวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2557 เวลา 9.00 น.
11 กุมภาพันธ์ 2557
ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษา ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 13 จำเลยทั้ง 5 คน และทนายจำเลยมาศาล โดยมีผู้เข้าร่วมฟังการพิจารณาราว 10 คน ส่วนโจทย์ไม่มา
ต่อมาเวลา 9.47 น. สุรสิทธิ์ อิงสถิตธนวันต์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และรองผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเชียงราย ขึ้นนั่งบัลลังก์
ศาลแจ้งกับฝ่ายจำเลยว่าเนื่องจากคดีนี้เป็นคดีสำคัญ จึงต้องส่งร่างคำพิพากษาให้ทางสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ตรวจ และทางศาลภาคได้มีหนังสือตอบมา ว่าขอให้มีการทบทวนรูปแบบของการเขียนร่างคำพิพากษาใหม่
โดยหนังสือตอบนี้ศาลเพิ่งได้กลับมาเมื่อวันศุกร์ ทำให้ในวันนี้ไม่สามารถอ่านคำพิพากษาได้ทัน เพราะศาลต้องเอาสำนวนมาเรียงใหม่ และต้องใช้เวลาราว 15 วัน ก่อนส่งร่างคำพิพากษากลับไปที่ศาลภาคใหม่อีกครั้ง ทำให้ต้องใช้เวลาอีกราว 1 เดือน โดยตั้งแต่ศาลทำคดีมา ก็เพิ่งเคยมีเรื่องลักษณะนี้เป็นครั้งแรก จึงต้องขอโทษฝ่ายจำเลยที่ทำให้เสียเวลาหลายครั้ง
ฝ่ายจำเลยพยายามสอบถามว่า ศาลหมายถึงจะให้มีการเปลี่ยนคำพิพากษาหรือไม่ ศาลชี้แจงว่าศาลภาค 5 ขอให้เปลี่ยนรูปแบบการเขียน แต่ไม่ได้มายุ่งกับธงของร่างคำพิพากษาเดิม คดีนี้ศาลรับผิดชอบสำนวนอยู่ คนตรวจไม่ได้เกี่ยวด้วย
จากนั้นผู้พิพากษาได้ส่งหนังสือจากสำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ให้ฝ่ายจำเลยดู โดยในหนังสือระบุให้ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนปรับปรุงร่างคำพิพากษา แล้วส่งกลับไปยังศาลภาคใหม่อีกครั้ง (โดยศาลไม่ได้ส่งหนังสือแนบที่ระบุถึงรายละเอียดที่สำนักงานอธิบดีผู้พิพากษาภาค 5 ต้องการให้ปรับปรุงแก้ไขมาให้ดูด้วยแต่อย่างใด)
ศาลและฝ่ายจำเลยจึงตกลงนัดวันฟังคำพิพากษาใหม่ โดยศาลขอให้นัดหมายภายในเดือนมีนาคม เนื่องจากศาลเจ้าของสำนวนต้องโอนย้ายไปยังพื้นที่อื่น
ฝ่ายจำเลยจึงตกลงนัดฟังคำพิพากษาใหม่อีกครั้งเป็นวันที่ 25 มีนาคม 2557 เวลา 9.00 น.
25 มีนาคม 2557
เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงราย นัดฟังคำพิพากษาคดีนายอรรถกร กันทไชย และพวก รวม 5 คน ซึ่งเป็นแกนนำและดีเจสถานีวิทยุของกลุ่มคนเสื้อแดงในจังหวัดเชียงราย ในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 จากกรณีเหตุการณ์การสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 2553 โดยศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งห้าคน
รายงานจาก
ประชาไท สำหรับการอ่านคำพิพากษาครั้งนี้ ศาลได้แจ้งฝ่ายจำเลยว่ามีคำพิพากษาให้ยกฟ้อง โดยจะไม่ได้อ่านรายละเอียดของคำพิพากษาให้ฟังแต่อย่างใด เนื่องจากคำพิพากษามีขนาดยาวและยังเป็นร่างลายมือที่ไม่ได้พิมพ์ แต่ศาลได้ส่งคำพิพากษาลายมือดังกล่าวให้ฝ่ายจำเลยและผู้สื่อข่าวที่เข้าฟังการพิจารณาดูคร่าวๆ ด้วย
เนื้อหาของคำพิพากษาบางส่วนระบุว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่าได้กล่าวถ้อยคำบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร เพราะช่วงที่เกิดเหตุการณ์มีการชุมนุมที่กรุงเทพฯ มีการใช้อาวุธ และมีผู้เสียชีวิตจริง การปราศรัยไม่มีข้อความอันทำให้ประชาชนเข้าใจผิดในสถานการณ์ฉุกเฉินจนกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ
ส่วนจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ได้ไปชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธตามระบอบประชาธิปไตย โดยกล่าวปราศรัยเพื่อชักชวนผู้ชุมนุมไปยื่นหนังสือให้รัฐบาลยุติการใช้ความรุนแรงต่อผู้ชุมนุมในกรุงเทพฯ เนื่องจากไม่ต้องการให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายอีกเพียงเท่านั้น โดยไม่ปรากฏจากการนำสืบของโจทก์ให้ชัดแจ้งว่าจำเลยได้ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมเคลื่อนไหวเกินกว่า 10 คนขึ้นไป และไม่ปรากฏว่าการเดินทางไปยื่นหนังสือดังกล่าวก่อให้เกิดความวุ่นวายหรือไม่สงบเรียบร้อยแต่อย่างใด ย่อมเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มาตรา 36 (บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการสื่อสารถึงกันโดยทางที่ชอบด้วยกฎหมาย) และมาตรา 63 (บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ)
พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบมาจึงไม่เพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าฝ่ายจำเลยมีความผิดตามฟ้อง พิพากษายกฟ้อง
ภายหลังฟังคำพิพากษาเสร็จสิ้น นายอรรถกร กันทไชย หนึ่งในจำเลยในคดี กล่าวว่ารู้สึกดีใจ ที่ศาลยกฟ้องให้พวกตนเป็นผู้บริสุทธิ์ เพราะเหตุที่นำไปสู่คดีนี้เป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ โดยในช่วงวันที่ 17 พ.ค. 53 นั้นเป็นช่วงที่เหตุการณ์คับขัน มีความสุ่มเสียงจากการกระชับพื้นที่และมีผู้คนล้มตายกัน จึงได้มีการยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลในช่วงนั้นอย่าใช้ความรุนแรงต่อประชาชน แต่ก็ยังมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากวันที่ 19 พ.ค.53 แต่ก็ถือว่าเราได้ทำหน้าที่ดีที่สุดเพื่อไม่อยากให้เพื่อนร่วมชาติต้องมาเข่นฆ่ากัน โดยคดีนี้ทำให้ตนเสียค่าใช้จ่ายในการต่อสู้คดีไปเยอะ และภรรยาก็ได้รับผลกระทบจากการทำงาน เพราะทนต่อกระแสจากเพื่อนร่วมงานไม่ไหว ต้องเกษียณก่อนกำหนดจากงานราชการ