เปิดข้อมูลผู้บาดเจ็บจากเหตุปะทะในการชุมนุมตลอดปี 2564 พบผู้บาดเจ็บ 528 คน เป็นตำรวจ 146 นาย ผู้ชุมนุมเสียชีวิต 1 คน ตาบอด 2 คน เป็นนักข่าวบาดเจ็บ 29 คน ส่วนใหญ่จากเหตุปะทะดินแดง และโดนกระสุนยางยิงแบบขัดหลักสากล
จากการรวบรวมข้อมูลผู้บาดเจ็บจากการสังเกตการณ์ของเว็บไซต์ Mobdatathailand.org และโครงการ Child in Mob, ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, การรายงานของศูนย์บริการการแพทย์ฉุกเฉินกรุงเทพมหานคร(ศูนย์เอราวัณ) และการรายงานข่าวของสื่อกระแสหลักและตำรวจ พบว่า ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 มีรายงานผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 528 คน (มีอย่างน้อย 2 คนที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง และ 1 คนได้รับบาดเจ็บ 3 ครั้ง) แบ่งเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน 348 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 88 คน (มีซ้ำ 1 คน), นักข่าว 29คน (มีซ้ำ 2 คน), อาสาแพทย์และพยาบาล 3 คน, ผู้สังเกตการณ์ 2 คน, ตำรวจ 146 นาย และทหาร 1 นาย
อาการบาดเจ็บที่ถูกนับรวมในจำนวนนี้ สำหรับคนที่ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐนับเฉพาะกรณีที่การบาดเจ็บทางร่างกายที่เกิดขึ้นเกี่ยวเนื่องกับการชุมนุม ไม่นับรวมกิจกรรมแสดงออกที่ไม่ได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วมด้วย เช่น กิจกรรมติดป้ายที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อคืนวันที่ 12 พฤศจิกายน 2564 และไม่นับการข่มขู่คุกคามที่ไม่ก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อร่างกาย กรณีที่บาดเจ็บจากการทำร้ายร่างกายหรือมีวัตถุไม่ทราบชนิดมากระทบร่างกาย นับรวมทั้งกรณีที่พบและไม่พบบาดแผลภายนอกร่างกาย ส่วนการบาดเจ็บจากแก๊สน้ำตา นับจากกรณีที่เข้ารับการปฐมพยาบาลหรือเป็นสถิติที่ถูกรายงานจากหน่วยแพทย์ในพื้นที่ชุมนุม
ดังนั้น สถิติผู้บาดเจ็บที่รวบรวมไว้ในที่นี้ อาจยังไม่ครอบคลุมกรณีการบาดเจ็บของผู้ชุมนุมและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตาอีกจำนวนมากที่ไม่เข้ารับการรักษา หรืออาจยังไม่ครอบคลุมกรณีที่ถูกยิงกระสุนยาง แต่ไม่ได้เกิดบาดแผลจึงไม่เข้ารับการรักษาหรือไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ
สำหรับการนับจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บของเจ้าหน้าที่รัฐ เราใช้สถิติที่ศูนย์เอราวัณหรือตำรวจรายงานต่อสาธารณะ ไม่ได้เป็นผู้กำหนดเกณฑ์การนับ อาการบาดเจ็บเริ่มตั้งแต่การปวดศีรษะเพราะอากาศร้อน, ได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา, ถูกกระแทกด้วยของแข็งและถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด
เดือนสิงหาคม บาดเจ็บสูงสุด #ม็อบ28กุมภา พบคนเจ็บมากสุดในวันเดียว
ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 23 ธันวาคม 2564 มีรายงานผู้บาดเจ็บจากการชุมนุมทางการเมืองอย่างน้อย 528 คน (มีอย่างน้อย 2 คนที่ได้รับบาดเจ็บ 2 ครั้ง และ 1 คนได้รับบาดเจ็บ 3 ครั้ง) แบ่งเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน 348 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็กและเยาวชนอย่างน้อย 88 คน (มีซ้ำ 1 คน), นักข่าว 29คน (มีซ้ำ 2 คน), อาสาแพทย์และพยาบาล 3 คน, ผู้สังเกตการณ์ 2 คน, ตำรวจ 146 นาย และทหาร 1 นาย
เดือนสิงหาคม 2564 เป็นเดือนที่พบผู้บาดเจ็บมากที่สุดคือ 175 คน เกิดขึ้นในการชุมนุม 15 วัน รองลงมาคือเดือนกันยายน 2564 ที่จำนวน 123 คนเกิดขึ้นในชุมนุม 16 วัน โดยการชุมนุมในสองเดือนนี้ส่วนใหญ่เป็นการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระบริเวณแยกดินแดงและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง
วันที่มีรายงานผู้บาดเจ็บมากที่สุดคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 การชุมนุม #28กุมภาบุกรังขี้ข้าปรสิต ของรีเด็ม ที่เคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ วันดังกล่าวมีผู้บาดเจ็บอย่างน้อย 63 คนแบ่งเป็นผู้ชุมนุมและประชาชน 34 คน, อาสาพยาบาล 1 คนและตำรวจ 28 นาย โดยปรากฏภาพที่รัฐนำกระสุนยางออกมาใช้เพื่อปราบปรามผู้ชุมนุมเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่การสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง โดยไม่มีการแจ้งเตือนและไม่มีเหตุอันควรจะใช้ วันดังกล่าวตำรวจเปิดฉากสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรงมีการผลัก เตะเข้าที่กลางลำตัวและทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมที่ไม่มีอาวุธ
จากนั้นตำรวจบริเวณโรงพยาบาลทหารผ่านศึกใช้กระสุนยางยิงใส่ผู้ชุมนุมโดยไม่ประกาศเตือน ทราบจากหลักฐานภายหลังคือปลอกกระสุนยางตกที่พื้น นอกจากนี้มีรายงานการยิงกระสุนยางใส่เยาวชนเข้าที่กลางหลัง รวมทั้งตำรวจยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้ามาที่เต็นท์พยาบาลที่ปั๊มเชลล์ฝั่งตรงข้ามราบ 1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ผู้ชุมนุมใช้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับการรักษาพยาบาลและการส่งผู้ชุมนุมกลับบ้าน
วันที่มีรายงานผู้บาดเจ็บรองลงมาคือ วันที่ 20 มีนาคม 2564 ในการชุมนุมจำกัดอำนาจสถาบันกษัตริย์ของรีเด็มที่สนามหลวง มีรายงานผู้บาดเจ็บ 43 คน จากข้อมูลของศูนย์เอราวัณระบุว่า มีตำรวจบาดเจ็บ 13 นาย ไม่มีรายละเอียดอาการบาดเจ็บและจากการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบเพิ่มเติมทั้งจากศูนย์เอราวัณและการสังเกตการณ์พบว่า มีประชาชนและผู้ชุมนุมบาดเจ็บ 26 คน, อาสาพยาบาล 1 คนและผู้สื่อข่าว 3 คน กรณีของผู้สื่อข่าวทั้ง 3 คนได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยางทั้งหมด เจ็บหนักสุด คือ ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกกระสุนยางยิงเข้าที่ขมับต้องเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู, ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกกระสุนยางเข้าที่สะบักหลังและผู้สื่อข่าวข่าวสดที่บริเวณต้นขา
ขณะที่มีผู้บาดเจ็บจากการถูกยิงด้วยกระสุนจริงหนึ่งคน มติชนออนไลน์รายงานว่า หลังสิ้นสุดการชุมนุมในเวลา 21.00 น. แบงค์ การ์ดอาชีวะ อายุ 17 ปี กำลังเดินทางกลับบ้าน แต่พบผู้ก่อเหตุไม่ทราบจำนวนขับรถจักรยานยนต์มาที่ด้านหน้าแมคโดนัลด์ ราชดำเนินกลาง จากนั้นใช้ปืนคาดว่า เป็นปืนลูกซองสั้นยิงออกมาหนึ่งนัดถูกเข้าบริเวณขาของแบงค์ ต้องนำส่งโรงพยาบาล
ผู้ชุมนุมถูกทำร้ายร่างกาย เจ็บหนักเฉียดเสียชีวิตใน #ม็อบ14พฤศจิกา
จากหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากทั้งภาพและคลิปวิดีโอ แสดงให้เห็นว่า ปี 2564 มีเหตุการณ์ที่ตำรวจทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมและผู้ที่เกี่ยวข้องอยู่บ่อยครั้ง เริ่มจากกรณีเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 ในการชุมนุมของราษฎรที่หลังแกนนำประกาศยุติการชุมนุมแล้วยังคงมีผู้ชุมนุมที่ไม่ยอมเลิกชุมนุม ขว้างปาสิ่งของเข้าไปที่แนวของตำรวจ จนกระทั่งตำรวจประกาศให้เวลา 30 นาทีและจะดำเนินการสลายการชุมนุม ทว่าผ่านไปเพียง 5 นาที ตำรวจเริ่มต้นเดินเท้าออกมาจากแนวกั้นบริเวณศาลฎีกา จากนั้นวิ่งไล่จับกุมและทำร้ายร่างกายผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าว พบหลักฐานอย่างน้อยสองกรณี ดังนี้
๐ จากคลิปวิดีโอของประวิตร โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวข่าวสด เห็นว่า ตำรวจเข้าคุมตัวผู้ชุมนุมรายหนึ่งและลากเข้ามาในวงตำรวจไม่น้อยกว่า 10 นายจากนั้นตำรวจจึงรุมทำร้ายร่างกายผู้ชุมนุมคนดังกล่าว แม้ว่า ผู้ชุมนุมรายนี้ไม่ได้มีท่าทีจะต่อสู้ก็ตาม
๐ หนึ่งในทีมแพทย์และพยาบาลอาสาของ DNA กำลังจะออกพื้นที่ระหว่างการสลายการชุมนุม โดยตำรวจที่เข้ามาชุดแรกเห็นว่า เป็นทีมแพทย์ฯ จึงบอกว่า ให้รอก่อน เดี๋ยวจะให้ออกไป แต่ตำรวจที่วิ่งไล่มาอีกชุดหนึ่งมาถึงกลับทำร้ายร่างกายทีมแพทย์ฯ คนนั้นจนสลบไป ภาพหลังถูกทำร้ายร่างกายปรากฏในสื่อต่างประเทศอย่างรอยเตอร์ หลังจากนั้นเขาถูกคุมตัวไปที่ตชด. และมีการต่อรองไม่ให้ฟ้องร้องเอาผิดตำรวจ จนถึงปัจจุบันยังไม่เคยมีเจ้าหน้าที่คนใดมาขอโทษผู้ที่ถูกกระทำรายนี้
อีกกรณีหนึ่ง คือ การชุมนุมที่บริเวณแยกดินแดงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม 2564 ซึ่งมีข้อกล่าวหาการกระทำการละเมิดของตำรวจหลายกรณีหลังการจับกุม ยกตัวอย่างเช่น
- วันที่ 10 สิงหาคม 2564 เยาวชนรายหนึ่งเล่าว่า ที่บริเวณแยกดินแดง เขาอยู่บนแท็กซี่กำลังเดินทางกลับบ้าน ตำรวจเห็นจึงเข้ามาล้อมแท็กซี่และสั่งให้ลงมา จากนั้นให้ถอดเสื้อ จับมือไพล่หลังและทำร้ายร่างกาย หลังเหตุการณ์เยาวชนคนนี้เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งแพทย์ระบุว่า มีรอยฟกช้ำที่ด้านหลังและศีรษะกะโหลกร้าวหรือยุบ
- วันที่ 20 สิงหาคม 2564 เยาวชนรายหนึ่งเล่าว่า เขาขี่รถจักรยานยนต์ผ่านจุดตรวจตำรวจแห่งหนึ่ง ตำรวจประมาณสิบนายเรียกให้หยุดและเข้ามาจับกดศีรษะกระแทกพื้น ทุบหลัง กระทืบหลัง
- วันที่ 21 สิงหาคม 2564 เด็กอายุ 14 ปีเล่าว่า เขาถูกตำรวจประมาณเจ็ดนายล้อมจับ สั่งให้นอนกับพื้น ถีบที่ท้ายทอย, ตีที่ศีรษะและเตะที่หน้าอก
- วันที่ 6 กันยายน 2564 ที่บริเวณกรมดุริยางค์ทหารบก ตำรวจยิงกระสุนยางเข้าใส่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ จากนั้นตำรวจหลายนายวิ่งเข้าไปที่รถคันดังกล่าว ตำรวจไม่น้อยกว่าห้านายเข้าล้อมและพาตัวชายผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ลงมาจากรถ ต่อมาตำรวจสี่นายกดตัวชายผู้ถูกคุมตัวลงที่พื้นถนน แม้เขาไม่ได้มีท่าทีต่อสู้ แต่ตำรวจอีกนายใช้กระบองยางฟาดเข้าที่ท้ายทอยชายคนดังกล่าวอย่างแรง
- ไม่ทราบวันที่แน่ชัด รสิตา โรจนกุลกร ทีมแพทย์และพยาบาลอาสาเล่าว่า ผู้ถูกจับกุมที่แยกดินแดงส่วนใหญ่คือวิ่งหนีไม่ทันและโดนเจ้าหน้าที่ทำร้าย ทุบตี มีกรณีที่เขากลัวมากและถามว่า “พี่ผมจะตายไหม เมื่อกี้เหมือนผมจะตายเลย” สภาพของผู้ชุมนุมรายนี้ คือ ศีรษะแตก
นอกจากนี้รสิตาเล่าด้วยว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลือทางการแพทย์ในพื้นที่ชุมนุม บาดแผลของผู้ชุมนุมที่ถูกกระสุนยางร้ายแรงที่สุดคือวันที่ 14 พฤศจิกายน 2564 บริเวณหน้าสถาบันนิติเวช โรงพยาบาลตำรวจ ผู้ชุมนุมถูกยิงในระยะประชิด 3 คน สามารถยืนยันว่า บาดแผลเกิดจากกระสุนยาง 2 คน คือ กรณีของอลงกต อายุ 33 ปีที่บริเวณไหปลาร้าและอนันต์ อายุ 19 ปีที่บริเวณหัวไหล่ ส่วนภิญโญ อายุ 23 ปีถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดทะลุปอด
จากรายงานการตรวจสอบของกรรมาธิการพัฒนาการเมืองฯ ระบุว่า จนถึงปัจจุบันตำรวจไม่เคยแสดงหลักฐานที่ได้จากแพทย์ว่า กระสุนที่ยิงออกมานั้นเป็นชนิดใด วันเกิดเหตุนั้นรสิตาและทีมแพทย์อยู่ในพื้นที่ทำการช่วยเหลือและวันนั้นโชคดีที่มีศัลยแพทย์ลงพื้นที่ด้วย ทำให้ช่วยเหลือภิญโญเบื้องต้นได้ดีจนรอดชีวิต เธอบอกว่า ถ้าวันนั้นไม่มีศัลยแพทย์อยู่และส่งโรงพยาบาลช้ากว่านั้น ภิญโญอาจเสียชีวิต
“ตอนที่ม็อบกำลังเลี้ยวผ่านหน้าทางเข้าโรงพยาบาลตำรวจแล้วเกิดมีการปะทะกันเกิดขึ้น แล้วทีนี้มีคนโดนยิงกระสุนยาง หนึ่งคนถูกยิงทะลุเข้าไปข้างในไปโดนปอดทำให้ปอดฉีก ตอนที่ปฐมพยาบาลเบื้องต้นข้างหน้า มันเป็นจังหวะที่พอปอดเป็นรู มันก็ผุดแล้วเป็นลมเอาเลือดออกมา อันนี้ก็เป็นเคสที่ร้ายแรงมากสำหรับกระสุนยาง กับอีกเคสหนึ่งคือ โดนกระสุนยางเข้าไหปลาร้า จนไหปลาร้าหัก อันนี้เป็นเคสกระสุนยางที่รุนแรงมาก เราเอาน้องที่โดนยิงโดนปอดไปส่งโรงพยาบาล โชคดีมากที่วันนั้นมีหมอศัลยแพทย์มาด้วยคนหนึ่ง หมอก็สามารถทำอะไรได้บ้างบนรถก่อนจะนำส่ง ถ้าสมมติว่า วันนั้นไม่มีหมอศัลย์ฯ มาและฉุกเฉินมาก น้องมีสิทธิเสียชีวิตได้”
อ่านเพิ่มเติม : การสลายการชุมนุมและการใช้กระสุนยางขัดหลักสากล
ผู้ชุมนุมเยาวชนเสียชีวิตคนแรก สูญเสียการมองเห็นสองคน
ในปี 2564 มีผู้ชุมนุมเสียชีวิตจากการเข้าร่วมชุมนุม เป็นคนแรกและทุพพลภาพ 2 คน โดยเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นที่บริเวณแยกดินแดงทั้งสิ้น ดังนี้
กรณีเสียชีวิต คือ วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถือเป็นผู้ชุมนุมคนแรกที่เสียชีวิตนับตั้งแต่การชุมนุมปี 2563 อาการบาดเจ็บสืบเนื่องจากวันที่ 16 สิงหาคม 2564 หลังตำรวจสลายการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่ทำเนียบรัฐบาล มีผู้ชุมนุมอิสระย้อนกลับไปที่แยกดินแดง ต่อมาเวลาประมาณ 21.00 น. สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า พบเยาวชนรายนี้บาดเจ็บที่หน้าสน.ดินแดง นำตัวส่งโรงพยาบาลราชวิถี แรกรับหมดสติ ไม่หายใจ ไม่มีชีพจร ตรวจพบบาดแผลจากกระสุนที่ลำคอด้านซ้าย ทีมแพทย์ทำการปั๊มหัวใจประมาณหกนาที ทำให้กลับมามีสัญญาณชีพได้
จากการตรวจเพิ่มเติมโดยการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์สมองพบกระสุนปืนค้างอยู่บริเวณก้านสมองหนึ่งนัดและกระดูกต้นคอซี่ที่หนึ่งและสองแตก หลังอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าสองเดือน วาฤทธิ์เสียชีวิตลงในช่วงเข้าของวันที่ 28 ตุลาคม 2564 นอกจากวาฤทธิ์แล้ว วันที่ 16 สิงหาคม 2564 ยังมีผู้ถูกยิงด้วยกระสุนจริงอีกสองคนคือ เยาวชนอายุ 14 ปีถูกยิงไหล่ขวาบริเวณซอยประชาสงเคราะห์ 14 และจากการแถลงข่าวของตำรวจระบุว่า มีชายอายุ 20 ปีถูกยิงที่บริเวณเท้า
กรณีทุพพลภาพอย่างน้อยสองคน เกิดขึ้นวันเดียวกัน คือ วันที่ 13 สิงหาคม 2564 กลุ่มทะลุฟ้าจัดการชุมนุม #ศุกร์13ไล่ล่าทรราช ที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและเดินเท้าไปที่ราบ 1 แต่ตำรวจตั้งแนวตู้คอนเทนเนอร์ปิดบริเวณทางลงทางด่วนดินแดง โดยตั้งแต่เวลา 16.30 น. ผู้ชุมนุมขบวนหลักทะลุฟ้ายังเดินมาไม่ถึงแยกดินแดง มีผู้ชุมนุมอีกกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปประชิดตู้คอนเทนเนอร์และมีผู้ชุมนุมที่พยายามจะโยนสิ่งของติดไฟไปหลังแนวคอนเทนเนอร์แต่โยนไม่ข้าม รวมทั้งมีผู้ชุมนุมบางส่วนพยายามติดตั้งอุปกรณ์เพื่อดึงตู้คอนเทนเนอร์ เจ้าหน้าที่จึงเริ่มยิงกระสุนยางและแก๊สน้ำตาเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งพบตำรวจขึ้นไปบนทางด่วนและยิงลงมากลางแยกดินแดง
เวลา 17.19 น. ทีมทะลุฟ้าประกาศให้มวลชนถอยหลังสามก้าว ก่อนจะมีแก๊สน้ำตาหลายกระป๋อง ตกลงมามาตรงจุดรถเครื่องเสียง ซึ่งอยู่กลางแยกดินแดงและผู้ชุมนุมบริเวณนั้นไม่ได้มีท่าทีปะทะกับตำรวจ ต่อมาเวลา 17.35 น. มีรายงานว่า ลูกนัท ธนัตถ์ ธนากิจอำนวยที่อยู่บริเวณรถเครื่องเสียงทะลุฟ้าถูกวัตถุกระแทกเข้าที่ดวงตาด้านขวาเลือดอาบ หลังเข้ารับการรักษาแพทย์วินิจฉัยว่า ตาด้านขวาของลูกนัทบอด มีพยานที่เห็นเหตุการณ์ระบุว่า วัตถุที่ลอยมากระแทกลูกนัทจนเป็นเหตุให้สูญเสียตาขวา คือ ตัวนำแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงมาจากบนทางด่วน
ด้านพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลในขณะนั้นอธิบายว่า เวลาการยิงแก๊สน้ำตา ปลอกแก๊สน้ำตา(กระบอกเหล็ก)จะค้างในลำกล้อง แต่จะมีตัวนำแก๊สเป็นกระบอกสีดำไปหาเป้าหมาย ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่สไลด์ออกปลอกแก๊สน้ำตาจะอยู่ในอาวุธปืน กรณีที่จะพุ่งออกไปทั้ง ปลอกแก๊สน้ำตาจึงเป็นไปไม่ได้ และต่อมามีการสาธิตวิธีการใช้แก๊สน้ำตา ระบุว่า ตัวนำแก๊สน้ำตาเป็นลักษณะพลาสติกสีน้ำเงินภายในบรรจุสารแก๊สน้ำตา ซึ่งสามารถลุกไหม้ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ชนิดระเบิดเหมือนที่เคยใช้ในการสลายการชุมนุมเมื่อช่วงปี 2551 ดังนั้น ชนิดที่ใช้ในปัจจุบันจึงไม่เป็นอันตราย ส่วนปลอกเหล็กจะค้างที่ลำกล้อง
ทั้งนี้ก่อนและหลังการชี้แจงของตำรวจ พบว่า ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาที่มีตัวนำแก๊สเป็นกระบอกเหล็กในการสลายการชุมนุมอยู่หลายครั้ง โดยมีภาพถ่ายเป็นหลักฐานขณะที่กระบอกเหล็กดังกล่าวลอยคว้างพร้อมควันแก๊ส
วันเดียวกันเวลา 17.00 น. ฐนกร ผ่านพินิจ สวมเสื้อแดงขับรถจักรยานยนต์มาดูการชุมนุมที่แยกดินแดง โดยใช้เส้นทางถนนวิภาวดีรังสิต เมื่อไปถึงแยกดินแดงรถสามารถเลี้ยวซ้ายไปทางพระราม 9 ได้เพียงอย่างเดียว เวลานั้นเขาเห็นตำรวจประมาณสิบนายบนทางด่วน ต่อมาตำรวจระดมยิงกระสุนยางใส่จนทะลุหมวกกันน็อคถูกเข้าที่ตาขวาและเฉียดตาซ้าย หลังเข้ารับการรักษา แพทย์พบว่า ตาข้างขวาของเขามีการฉีกขาดรุนแรงอันเนื่องมาจากการถูกของแข็ง แพทย์ได้ทำการผ่าตัดและเย็บแผลที่ฉีกขาด ซึ่งขณะนี้ตาขวายังมองเห็นแสงเลือนๆ ไม่สามารถมองเห็นระบุใบหน้าใครได้
ตามหลักสากล กระสุนยางจะใช้ต่อผู้ที่ใช้ความรุนแรง กรณีที่กำลังจะเกิดอันตรายต่อตำรวจหรือสาธารณะ เล็งที่ท้องส่วนล่างหรือขา การเล็งที่หน้าหรือศีรษะ อาจทำให้กระโหลกศีรษะแตก ตาบอดหรือเสียชีวิตได้ การยิงทีละหลายๆ นัด ไม่มีความแม่นยำขัดต่อหลักความจำเป็นและได้สัดส่วน ขณะที่ในปี 2564 มีรายงานผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณเหนือเอวจำนวนมาก เช่น หน้าอก, สะบักหลังและบริเวณศีระษะ นอกจากนี้ยังมีการยิงในลักษณะประชิดและกระทำต่อผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือใช้ความรุนแรง เช่น ประชาชนทั่วไปและผู้สื่อข่าว
นักข่าวตกเป็นเป้าความรุนแรงระหว่างสลายการชุมนุม
ในปี 2564 มีรายงานว่า นักข่าวที่อยู่ในพื้นที่ชุมนุมได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 28 คน รวม 31 ครั้ง ในจำนวนนี้มี 21 ครั้งที่บาดเจ็บในการชุมนุมของผู้ชุมนุมอิสระบริเวณดินแดงระหว่างเดือนสิงหาคมถึงเดือนตุลาคม 2564 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการปราบปรามโดยรัฐอย่างรุนแรงและผู้ชุมนุมเองก็มุ่งจะใช้สันติวิธีเชิงตอบโต้กับเจ้าหน้าที่ ระหว่างนี้เจ้าหน้าที่รัฐมีการใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชน โดยมีเป้าหมายเพื่อสลายการชุมนุม ตั้งแต่กระบองยาง, แก๊สน้ำตา, ปืนลูกซองสำหรับยิงกระสุนยางและปืน FN 303 ข้อมูลนักข่าวที่ได้รับบาดเจ็บ มีดังนี้
วันที่ | สถานที่เกิดเหตุหรือใกล้เคียง | รายละเอียด |
16 มกราคม 2564 | จามจุรีสแควร์ | ระหว่างการสลายการชุมนุมที่สามย่านมิตรทาวน์มีบุคคลขว้างระเบิดแรงดันต่ำเข้ามาที่จามจุรีสแควร์ ธนกร วงษ์ปัญญา ผู้สื่อข่าว The standard ถูกสะเก็ดระเบิดเข้าที่ขา |
28 กุมภาพันธ์ 2564 | ราบ 1 | ระหว่างการสลายการชุมนุมผู้สื่อข่าวแนวหน้าถูกตำรวจวิ่งเข้ามารวบตัว กดลงกับพื้น ถูกเตะ และถูกกระบองตี ก่อนใช้เคเบิลไทร์รัดข้อมือ แม้จะแสดงตัวเป็นสื่อมวลชน |
20 มีนาคม 2564 | แยกคอกวัว | ผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยาง 3 คน คือ ผู้สื่อข่าวประชาไทที่บริเวณสะบักหลัง, ผู้สื่อข่าวข่าวสดที่บริเวณน่องและผู้สื่อข่าวช่อง 8 ที่บริเวณขมับ |
18 กรกฎาคม 2564 | แยกสะพานผ่านฟ้า | ช่างภาพ Plus seven ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นขา |
18 กรกฎาคม 2564 | แยกนางเลิ้ง | ผู้สื่อข่าวหญิงโดนแก๊สน้ำตาและน้ำแรงดันสูงอัดใส่หน้าจนเลือดกำเดาไหล |
18 กรกฎาคม 2564 | ไม่ทราบสถานที่ | พีระพงษ์ พงษ์นาค ช่างภาพมติชนถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นแขนซ้าย |
18 กรกฎาคม 2564 | พาณิชย์พระนคร | ช่างภาพเดอะแมทเทอร์ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่ต้นแขนซ้าย |
18 กรกฎาคม 2564 | แยกเทวกรรม | ณัฐพงษ์ มาลี สำนักข่าวราษฎรถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณด้านหลัง ชายโครงด้านขวา |
7 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ช่างภาพอิสระถูกยิงด้วยกระสุนยาง |
10 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ผู้สื่อข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยาง 2 คน |
11 สิงหาคม 2564 | อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ | ระหว่างเหตุชุลมุนที่ตำรวจเข้ามาไล่จับผู้ชุมนุม ช่างภาพอิสระอยู่บริเวณเกาะพญาไท ตำรวจตีเข้าที่ไหล่ ไม่ทราบชนิดวัตถุ เธอยกกล้องขึ้นมาบังทำให้ฟิลเตอร์กล้องแตกและเลนส์บุบ |
11 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ช่างภาพอิสระถูกยิงด้วยกระสุนยางบริเวณน่อง |
13 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ผู้สื่อข่าวและช่างภาพถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 3 คน |
15 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ประชาไทรายงานว่า มีนักข่าวถูกยิงกระสุนยางอย่างน้อย 2 คน |
21 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ผู้สื่อข่าว The Reporters ถูกวัตถุบางอย่างกระแทกเข้าที่หมวกนิรภัยที่สวมอยู่ด้านขวาอย่างแรง ทำให้เยื่อแก้วหูทะลุ |
29 สิงหาคม 2564 | แยกดินแดง | ฉัตรอนันต์ ฉัตรอภิวัน เป็นผู้สื่อข่าวโพสต์ทูเดย์ได้รับบาดเจ็บบริเวณมือข้างซ้ายมีแผลขนาดใหญ่, วราพงศ์ น้อยทับทิม ช่างภาพเครือเนชั่นมีอาการฟกช้ำที่มือขวา, สันติ เต๊ะเปีย ช่างภาพอาวุโสเอเอสทีวีผู้จัดการรายวัน ได้รับบาดเจ็บบริเวณต้นคอยังไม่ทราบสาเหตุ และศุภชัย เพชรเทวี ได้รับบาดเจ็บจากกระสุนยาง บาดเจ็บบริเวณกกหูด้านขวา |
10 กันยายน 2564 | แยกดินแดง | สื่ออิสระเพจ Live real ไลฟ์เฟซบุ๊กในช่วงเวลา 22.14 น. บริเวณถนนมิตรไมตรี และระบุว่า เขาถูกยิงด้วยกระสุนยาง |
11 กันยายน 2564 | แฟลตดินแดง | ช่างภาพ Rice media ถูกยิงด้วยกระสุนยางที่แฟลตดินแดง |
13 กันยายน 2564 | แยกดินแดง | ณัฐพงษ์ มาลี สำนักข่าวราษฎรถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่บริเวณด้านหลัง |
19 กันยายน 2564 | แยกตึกชัย | นักข่าวถูกยิงด้วยกระสุนยางอย่างน้อย 1 คน |
6 ตุลาคม 2564 | แยกดินแดง | ช่างภาพอิสระถูกยิงด้วยกระสุนยางที่หัวเข่า |
29 ตุลาคม 2564 | แยกประชาสงเคราะห์ | ช่างภาพวอยซ์ทีวีถูกกระสุนไม่ทราบชนิดจากปืน FN 303 ถูกเข้าที่นิ้วเท้าและช่างภาพอิสระถูกเข้าที่เป้า |
ตำรวจหัวใจล้มเหลวกลางม็อบ รวมเจ็บอย่างน้อย 146 นาย
ในการชุมนุมปี 2564 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 146 นาย อาการบาดเจ็บที่ถูกนับเริ่มตั้งแต่เป็นลมเพราะอากาศร้อน, การได้รับผลกระทบจากแก๊สน้ำตา, การถูกสะเก็ดระเบิดแสวงเครื่องและการถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิด มี 1 นายเสียชีวิต คือ ร.ต.อ.วิวัฒน์ สินเสริฐ อายุ 47 ปี ตำรวจสน.ธรรมศาลา หัวใจล้มเหลวขณะปฏิบัติหน้าที่ดูแลการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 โดยวันที่พบตำรวจบาดเจ็บมากที่สุดคือ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 28 นาย รองลงมาคือ วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 20 นาย
ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2564 พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติตอบผู้สื่อข่าวถามถึงเรื่องตำรวจเสียชีวิตที่มีข่าวเผยแพร่ว่า เป็นการใช้กำลังโดยที่ไม่มีการพักผ่อนว่า “ใช้กำลังก็ใช้ตามห้วงเวลาปฏิบัติ แต่ว่างานตำรวจเยอะ จะบอกว่า ใช้โดยไม่ได้พักผ่อน คงเป็นหาเรื่องกัน ผมว่า เขาเสียชีวิตเราก็ดูแลกำลังพลของเรา” ขณะที่พีพีทีวีรายงานคำสัมภาษณ์ของภรรยาของ ร.ต.อ.วิวัฒน์ว่า ระยะหลังมีการชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง สามีเริ่มบ่นว่าเหนื่อยและไม่ค่อยมีเวลาพัก ทำให้เธอเป็นห่วงเรื่องสุขภาพ และขอให้สามีไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล แต่สามีไม่ยอมไปตรวจร่างกาย
จากการสัมภาษณ์ตำรวจระดับปฏิบัติได้ข้อมูลว่า การเกณฑ์ตำรวจตามสถานีต่างๆ มาดูแลการชุมนุม เกณฑ์คัดเลือกคือ อายุไม่เกิน 35 ปี สถานีตำรวจนครบาลจะมีกำลังพลใหม่ทุกปีจึงสามารถใช้กำลังพลอายุน้อยได้ แต่ในต่างจังหวัด สถานีตำรวจบางแห่งมีกำลังพลน้อย ทำให้บางครั้งต้องส่งนายตำรวจอายุมากมาช่วยดูแลการชุมนุม หลังเหตุการณ์การเสียชีวิตของตำรวจสน.ธรรมศาลา มีการเปลี่ยนแปลงในแนวปฏิบัติ มีการจัดหาแพทย์มาตรวจสุขภาพให้แก่ตำรวจ
การใช้ตำรวจอายุมากและเกินเกณฑ์ยังคงปรากฏอยู่ จากการรายงานข่าวของเดลินิวส์ระบุว่า วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 10 นาย หนึ่งในนั้นคือ ร.ต.อ.ปิยะภัทร บัวจูม อายุ 48 ปี รอง สว.สืบสวน สน.ตลาดพลู ซึ่งเป็นลมจากอากาศร้อนระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ และอีกนายหนึ่งถูกยิงด้วยกระสุนจริงเข้าที่ขาที่บริเวณหน้าสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดหรือป.ป.ส. (ชนิดอาวุธได้รับการยืนยันจากทีมแพทย์อาสาแล้ว)
อาการบาดเจ็บหนักของตำรวจในการชุมนุมที่แยกดินแดง ตามรายงานของตำรวจเกิดขึ้นในคืนวันที่ 11 กันยายน 2564 ส.ต.ต.ธนาวุฒิ จิรคเชนทร์ถูกแรงระเบิดไปป์บอมบ์และสะเก็ดระเบิดเข้าที่บริเวณใบหน้าจนได้รับบาดเจ็บสาหัส ต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ตำรวจจับกุมสุขสันต์และไพฑูรย์ อายุ 19 และ 20 ปีตามลำดับ กล่าวหาว่า ทั้งสองเกี่ยวข้องกับการปาระเบิดใส่ส.ต.ต.ธนาวุฒิ ตำรวจตั้งข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงานซึ่งกระทำการตามหน้าที่
อีกครั้งในคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 22.30 น. ระหว่างการสลายการชุมนุมบริเวณแฟลตดินแดง ตำรวจปิดกั้นพื้นที่ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปรายงานข่าว อนุญาตให้อยู่บริเวณถนนด้านหน้าแฟลตดินแดง เยื้องไปทางแยกดินแดงเท่านั้น ต่อมามีรายงานว่า เวลา 22.43 น. ส.ต.ต.เดชวิทย์ เล็ทเทนสัน ถูกยิงด้วยกระสุนไม่ทราบชนิดเข้าที่ขมับศีรษะด้านซ้าย หลังจากนั้นตำรวจทำการ “ซีล” ปิดพื้นที่ซอยต้นโพธิ์ ด้านข้างแฟลตดินแดงและบริเวณโดยรอบทั้งหมดเพื่อค้นหาตัวผู้กระทำการดังกล่าวตลอดทั้งคืน มีผู้ถูกจับกุมอย่างน้อย 34 คน ในจำนวนนี้มี 18 คนเป็นเยาวชน
ในกระบวนการสืบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิด วันที่ 20 ตุลาคม 2564 พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ระบุว่า ตำรวจเตรียมออกหมายจับผู้เกี่ยวข้องในกรณีนี้หลายคน ในข้อหาขัดขวางและข่มขู่การปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยใช้อาวุธจากนั้นจะมีการสืบสวนสอบสวนเพิ่มเติมว่า ในจำนวนนี้หากพบบุคคลใดเป็นผู้ลงมือยิง ส.ต.ต.เดชวิทย์ ก็จะมีการออกหมายจับเพิ่มเติมในข้อหาพยายามฆ่าเจ้าพนักงาน