ถอดข้อเท็จจริงแนวปะทะสมรภูมิดินแดง 18 ครั้ง ตลอดเดือนสิงหาคม 2564

ในเดือนสิงหาคม 2564 แยกดินแดง บริเวณจุดตัดถนนอโศก-ดินแดงเข้าสู่ถนนวิภาวดีกลายเป็นพื้นที่ปะทะกันด้วยความรุนแรงระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมที่ขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับตำรวจชุดควบคุมฝูงชนอย่างน้อย 18 วัน จนถูกตั้งชื่อเล่นว่า “สมรภูมิดินแดง” ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมก็ตั้งชื่อตัวเองภายหลังอย่างไม่เป็นทางการว่า “ทะลุแก๊ซ” ซึ่งน่าจะมาจากการฟันฝ่ากับแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้กับผู้ชุมนุมอย่างไม่ลดละ

สาเหตุที่จุดนี้กลายเป็นจุดปะทะหลัก เนื่องจากเป็นเส้นทางที่จะเดินทางจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิซึ่งเป็นเสมือนพื้นท่ี่นัดหมายรวมตัวไปยังกรมทหารราบที่ 1 มหาเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ หรือ “ราบ1” ซึ่งภายในเป็นที่ตั้งของบ้านพักพล.อ.ประยุทธ์ ที่ระหว่างช่วงการระบาดของโควิดก็ทำตามนโยบาย ‘Work from Home’ แทบไม่ปรากฏตัวต่อสาธารณะ และสถานที่แห่งนี้ยังมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อคณะรัฐมนตรีของพล.อ.ประยุทธ์เอง ออกพระราชกำหนดโอนให้ค่ายทหารแห่งนี้กลายเป็นส่วนราชการในพระองค์​ ทำให้ต่อมาตำรวจอ้างว่าเป็น “เขตพระราชฐาน” ที่ต้องปกป้อง พร้อมกับวางตู้คอนเทนเนอร์กั้นขวางไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าถึงรั้วของค่ายทหารได้

การเผชิญหน้าที่แยกดินแดงครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 โดยไม่ได้มาจากความตั้งใจหรือไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแผนการชุมนุม ในวันดังกล่าวมีกิจกรรมคาร์ม็อบ “สมบัติทัวร์” ซึ่งนัดหมายกันมาขับรถวนรอบถนนวิภาวดี หลังประกาศยุติการชุมนุมในเวลาประมาณ 16.00 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนก็เริ่มปรากฏตัวแล้วเข้ายึดพื้นที่จึงเกิดเหตุปะทะขึ้นบริเวณแยกดินแดง 

ในวันที่ 7 สิงหาคม 2564 เป็นการปะทะครั้งใหญ่ สืบเนื่องจากกิจกรรมที่เพจ “เยาวชนปลดแอก” ประกาศนัดหมายเริ่มจากเป้าหมายแรกเป็นพระบรมมหาราชวัง สร้างความตื่นกลัวให้กับตำรวจที่ทำหน้าที่ป้องกัน และเปลี่ยนสถานที่ชุมนุมถึงสองรอบไปยังทำเนียบรัฐบาล และเปลี่ยนมาเป็น “ราบ1” ในวันดังกล่าวตำรวจเริ่มสลายการชุมนนุมตั้งแต่ก่อนเวลานัดหมาย วางตู้คอนเทนเนอร์ ตู้โบกี้รถไฟ และแนวกีดขวางอย่างหนาแน่นทุกจุด ทำให้สถานการณ์ตึงเครียดตั้งแต่เช้าจนกระทั่งจุดสุดท้ายที่เป็นเป้าหมายผู้ชุมนุมก็เดินไปให้ถึงไม่ได้ และกลายเป็นจุดปะทะที่รุนแรง

หลังจากนั้นวันที่ 11 สิงหาคม 2564 กลุ่ม “ทะลุฟ้า” ยังนัดหมายชุมนุมเพื่อจะเดินไปบ้านพล.อ.ประยุทธ์ อีกสอครั้ง โดยประกาศใช้สันติวิธีแต่ตำรวจกลับเข้าสลายการชุมนุม และผู้ชุมนุมก็ตอบโต้ที่แยกดินแดง แล้วความต่อเนื่องของเหตุปะทะที่ดินแดงก็ค่อยๆ ชัดเจนขึ้น ตลอดการชุมนุมหลายครั้งภาพจำที่สังคมจะนึกถึงสมรภูมิดินแดง ก็คือ ภาพการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง อย่างไม่เลือกเป้าหมาย รวมทั้งรถฉีดน้ำ และการใช้ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนพร้อมโล่และกระบองตั้งแถวกรูเข้าจับกุมจนมีผู้ได้รับบาดเจ็บ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า 1-29 สิงหาคม 2564 ตำรวจจับกุมผู้ชุมนุมและที่เกี่ยวข้องจากเหตุการชุมนุมเฉพาะบริเวณแยกดินแดงหรือที่มีเป้าหมายที่แยกดินแดงไม่น้อยกว่า 224 คน ในจำนวนนี้อายุระหว่าง 15-18 ปี 63 คน และต่ำกว่า 15 ปี 5 คน  พวกเขาถูกตั้งข้อกล่าวหา เช่น ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการรวมตัวที่ออกตามความในมาตรา 9 ของพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 ฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง การควบคุมตัวหลายกรณีเกิดขึ้นหลังช่วงเวลาเคอร์ฟิว คนที่ถูกจับมักถูกพาตัวไปที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) เพื่อแจ้งข้อหาและสอบสวน หรืออาจแยกตัวไปตามสน.ต่างๆ เท่าที่มีรายงานทุกคนได้รับการประกันตัวหลังเสร็จกระบวนการ

รวมข้อมูลเหตุการปะทะที่แยกดินแดง

วันที่การชุมนุมหลักที่นัดหมายเหตุการณ์สำคัญจำนวนคนถูกจับ
1 ส.ค. 64สมบัติ บุญงามอนงค์ จัดกิจกรรมคาร์ม็อบ “สมบัติทัวร์” 
7 ส.ค. 64เยาวชนปลดแอกจัดกิจกรรมเคลื่อนขบวนไปพระบรมมหาราชวัง ย้ายเป้าหมายมาจากพระบรมมหาราชวัง และการเผารถผู้ต้องขัง7
10 ส.ค. 64คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช
นัดหมายโดยแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
เผาป้อมจราจรบริเวณเกาะพญาไทและตำรวจยิงใส่รถบรรทุกสินค้าที่ไม่เกี่ยวข้อง48
11 ส.ค. 64“ไล่ทรราช” เคลื่อนขบวนไป ‘ราบ1’ นัดหมายโดยกลุ่มทะลุฟ้าสลายการชุมนุมทะลุฟ้าและเผารถยกสน.ดินแดง17
13 ส.ค. 64ทะลุฟ้าเคลื่อนขบวนไป ‘ราบ1’ นัดหมายโดยกลุ่มทะลุฟ้าลูกนัท-ธนัตถ์ถูกยิงตาบอด1
15 ส.ค. 64ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อและสมบัติ บุญงามอนงค์ทำกิจกรรม “คาร์ปาร์ค”ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ชวนผู้ชุมนุมให้ถอยหลังและกลับบ้าน แต่ไม่สำเร็จ4
16 ส.ค. 64ทะลุฟ้าเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปทำเนียบรัฐบาลมีผู้ชุมนุมถูกยิงด้วยกระสุนจริงสาหัส 2 คน13
17 ส.ค. 64ทะลุฟ้าจัดกิจกรรมที่หน้าสตช. 1
18 ส.ค. 64ทะลุฟ้าจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยการจัดกิจกรรมอิสระเป็นครั้งแรกๆ2
19 ส.ค. 64ทะลุฟ้าจัดกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 7
20 ส.ค. 64ทะลุฟ้าจัดกิจกรรมคาร์ม็อบสัญจรมีภาพตำรวจขึ้นรถกระบะไล่ยิงเป็นครั้งแรก และยิงเข้าไปในแฟลตดินแดง27
21 ส.ค. 64ไม่มี
กลุ่มทะลุแก๊สนัดหมายกันเอง
การถอยแนวตู้คอนเทนเนอร์ไปที่หน้าราบ 17
22 ส.ค. 64ไม่มี
กลุ่มทะลุแก๊สนัดหมายกันเอง
การล้อมจับผู้ชุมนุมในแบบ “ปิดกล่อง”42
23 ส.ค. 64ไม่มี
กลุ่มทะลุแก๊สนัดหมายกันเอง
เยาวชนวัย 15 ปีถูกยิงด้วยกระสุนยางที่บริเวณหน้าผาก5
24 ส.ค. 64ไม่มี กลุ่มทะลุแก๊สนัดหมายกันเองเยาวชนวัย 15 ปีถูกยิงด้วยกระสุนยางที่บริเวณกกตา
25 ส.ค. 64ทะลุฟ้าที่รัฐสภาชายวัย 19 ปีถูกยิงด้วยกระสุนยางทะลุมหมวกกันน็อคเข้าศีรษะ1
28 ส.ค. 64ไม่มี
กลุ่มทะลุแก๊สนัดหมายกันเอง
 9
29 ส.ค. 64ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อจัดกิจกรรม “คาร์ม็อบ คอลเอาท์”รุมทำร้ายทหารนอกเครื่องแบบและผู้ชุมนุมเตะบอลหลังตำรวจออกจากพื้นที่31

พวกเขาคือใคร? นักสู้ผู้ไม่เกรงกลัว หรือแก๊งวัยรุ่นป่วนเมือง

ผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุมที่สมรภูมิดินแดงแต่ละวัน มีจำนวนหลักหลายร้อย แม้ภาพที่ปรากฏตามสื่อมวลชนส่วนใหญ่จะมีคนหลักสิบหรือหลักหน่วย ที่มีพฤติกรรมขว้างปา หรือเข้าปะทะ แต่บรรยากาศในแนวหลังที่ถัดออกมาจากแนวปะทะในแต่ละวันเป็นบรรยากาศคล้ายการชุมนุมทางการเมืองทางการเมืองครั้งอื่นๆ มีคนมารวมตัวกันรอดูเหตุการณ์ รอช่วยเหลือ ส่งน้ำ ส่งข้าว มีหน่วยปฐมพยาบาล ระหว่างการรวมตัวก็มีการตะโกนด่ารัฐบาล มีคนเอาเครื่องดนตรีมาเล่น มีร้านค้าเอาสินค้าและอาหารมาขาย มีกิจกรรมหลากหลายเกิดขึ้นโดยอิสระ

ชัดเจนว่า มีคนไม่น้อยที่เดินทางไปยังสมรภูมิดินแดงโดย “พกของ” ไปด้วย เช่น ประทัด พลุ หนังสติ๊ก หรือสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ขว้างปาใส่ตำรวจ แต่คนส่วนใหญ่ที่เดินทางไปยังสมรภูมิดินแดงไม่ใช่คนที่พร้อมจะเข้าปะทะ บางคนไปช่วยเพื่อน บางคนไปช่วยน้อง บางคนไปเป็นแนวสนับสนุนช่วยเหลือคนบาดเจ็บ บางคนไปมุงดูเหตุการณ์ กล่าวได้ว่า “แนวหลัง” มีจำนวนมากกว่า ซึ่งเมื่อ “แนวหน้า” ถอยร่นมา แนวหลังก็จะค่อยๆ ถอยตามไป 

ความเป็น “มวลชนอิสระ” ของชาว “ทะลุแก๊ซ” ปรากฏชัดขึ้น ในการชุมนุมตั้งแต่วันที่ 18 สิงหาคม 2564 แม้กลุ่มทะลุฟ้าจะย้ายสถานที่การชุมนุมไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย แต่กลุ่มทะลุแก๊ซ ก็ยังกลับมาที่สมรภูมิดินแดง และเกิดช่องทางที่ใช้การสื่อสารของผู้ชุมนุมเหล่านี้ครั้งแรกในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 มีคนตั้งเพจเฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า “ทะลุแก๊ซ-Thalugaz” นัดหมายควบคู่ไปในเวลาเดียวกันกับการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าและกลุ่มอื่นๆ

เท่าที่สังเกตด้วยสายตา ผู้ชุมนุมส่วนใหญ่บนสมรภูมิดินแดงเป็นผู้ชาย อายุไม่มาก อยู่ระหว่าง 15-25 และมักจะมากันเป็นกลุ่มและใช้รถมอเตอร์ไซด์เป็นยานพาหนะหลัก บางกลุ่มสวมเสื้อที่บ่งบอกถึงความเป็นสถาบันเดียวกันพวกเขาจึงถูกเข้าใจว่าเป็น “อาชีวะ” แต่จากการสอบถามชายวัยรุ่นหลายคน พวกเขาก็กำลังเรียนอยู่สายสามัญ หรือบางคนก็ไม่ได้เรียนต่อ ต้องออกมาทำงานเพราะปัญหาเศรษฐกิจ มีเด็กและเยาวชนในที่ชุมนุมอยู่จำนวนมาก มีทั้งเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และเยาวชนอายุระหว่าง 16-18 ปี ซึ่งส่วนใหญ่น่าจะติดตามกลุ่มเพื่อนเข้าไปร่วมชุมนุม ไม่ใช่ผู้ปกครองพาไป

ภายหลังการปราบอย่างหนักของตำรวจ เมื่อตำรวจใช้ยุทธวิธี “ปล่อยม้า” และวิ่งดาหน้าเข้าจับกุมทำให้ผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งหนีไม่ทัน และตำรวจยังใช้ยุทธวิธีการขึ้นรถกระบะไล่ตามไปยิงกระสุนยางใส่คนที่กำลังเดินทางออกจากพื้นที่ ทำให้ผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มปรับวิธีการคือไม่เข้าไปพื้นที่ที่เสียเปรียบหรือหลบหลีกยาก และเตรียมพร้อมบนรถมอเตอร์ไซด์และหันหัวรถไปในทางปลอดภัย เพื่อการหลบหนีที่คล่องแคล่วรวดเร็วขึ้น

เสียงสะท้อนจากผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งที่พยายามพูดสื่อสารสิ่งที่อยู่ในใจระหว่างการเอาร่างกายเข้าปะทะกับแก๊สน้ำตาและห่ากระสุนยาง คือ ความอดทนไม่ไหวต่อสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันทั้งภาวะเศรษฐกิจ โรคระบาด และการไม่ได้ไปโรงเรียน และเป้าหมายของเขาอยู่ที่การขับไล่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

“จากที่มีเงินเดือนสองหมื่นพร้อมส่งตัวเองเรียนไปด้วย ตอนนี้ผมต้องตกงาน เรียนอย่างเดียว ไหนจะค่ากินและค่าอินเทอร์เน็ต ค่าข้าว ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไป” เสียงจากผู้ชุมนุมคนหนึ่งวัย 22 ปี 

“ชีวิตวัยรุ่นเราควรได้ใช้มากกว่านี้ ต้องการชีวิตวัยรุ่นกลับคืน”  “พูดไม่ถูกอ่ะพี่ เจ็บหรือยังไงมันก็ต้องยอมอ่ะพี่” เสียงจากผู้ชุมนุมวัย 17 ปี

“ไม่โอเคกับการมีรัฐบาลชุดนี้เลยครับ มันแย่มากๆ” เสียงจากผู้ชุมนุมคนหนึ่ง วัย 20 ปี

ความรุนแรงเริ่มจากการปรากฏตัวของตำรวจ

เหตุการณ์ปะทะที่แยกดินแดงในวันแรก วันที่ 1 สิงหาคม 2564 เป็นวันที่นัดหมายกิจกรรมคาร์ม็อบ ทั่วประเทศ และหลายจุดก็เดินทางมารวมกันที่ถนนวิภาวดีรังสิต โดยไม่มีการประกาศว่าจะบุกไปยังบ้านพักของพล.อ.ประยุทธ์ หรือไป ‘ราบ1’ แต่วันดังกล่าวตำรวจก็เอาตู้คอนเทนเนอร์วางปิดถนนวิภาวดีขาออกฝั่งคู่ขนานด้านหน้า ‘ราบ1’ เป็นเหตุให้เหลือช่องทางเดินรถได้น้อย และการจราจรติดขัดมาก รถที่วิ่งมาทางขาเข้าเพื่อกลับรถที่แยกดินแดงและวนกลับไปรวมกับขบวนบนถนนวิภาวดีติดขัดเพราะผ่านด้านหน้า ‘ราบ1’ ได้ยาก และมีรถของผู้ชุมนุมจอดอยู่บริเวณปั๊ม ปตท. จำนวนไม่น้อย โดยผู้ชุมนุมไม่มีท่าทีที่จะรื้อตู้คอนเทนเนอร์หรือฝ่าแนวเข้าไปยังประตูค่ายทหารเลย

จนกระทั่งผู้นัดหมายประกาศเลิกการชุมนุมในเวลาประมาณ 16.00 น. ผ่านทางคลับเฮาส์ ซึ่งผู้ชุมนุมจำนวนมากไม่ได้ติดตามฟัง ขณะนั้นรถที่มาร่วมชุมนุมยังติดขัดบริเวณแยกดินแดงอยู่อีกหลายร้อยคัน เมื่อทราบการประกาศเลิกก็ทยอยแยกย้ายกันกลับหลายเส้นทาง แต่ยังเดินทางกลับไม่หมด ในเวลาประมาณ​ 17.20 น. ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนก็เดินแถวเข้าเคลียร์พื้นที่บริเวณแยกดินแดง โดยไม่มีการสื่อสารมาก่อน ผู้ชุมนุมที่มาร่วมคาร์ม็อบ ซึ่งไม่ได้เตรียมตัวเพื่อมาสำหรับความรุนแรงและกำลังจะแยกย้ายกลับบ้านก็เกิดความไม่พอใจ และเกิดการปะทะครั้งแรกขึ้น

วันที่ 7 สิงหาคม 2564 เป็นวันที่สองของการปะทะที่สมรภูมิดินแดง และเป็นวันที่ตำรวจยกระดับความรุนแรงไปมาก ที่มาของเหตุการณ์มีความซับซ้อนเพราะผู้ชุมนุมเปลี่ยนแปลงจุดนัดหมายสองครั้ง ทำให้ตำรวจไม่มีเวลามากนักในการเตรียมการป้องกัน จึงวางแนวตู้คอนเทนเนอร์ไว้ที่แยกดินแดง ไม่ให้ผู้ชุมนุมเดินเข้าสู่ถนนวิภาวดีได้เลย แม้ในการชุมนุมวันนั้นผู้ชุมนุมจะมีระบบการจัดการ มีการ์ดกลุ่ม WeVolunteer นำหน้าในแนวปะทะและดูแลผู้ชุมนุมด้วยกัน แต่เนื่องจากตำรวจไม่ได้วางแผนอย่างรัดกุมแน่นหนา หากผู้ชุมนุมรื้อแนวตู้คอนเทนเนอร์ได้ ก็มีโอกาสที่จะฝ่าแนวกั้นของตำรวจไปได้ เพียงแค่ผู้ชุมนุมเดินมาถึงแนวตู้คอนเทนเนอร์ และยืนประจันหน้ากันประมาณ 20 นาที ตั้งแต่ 15.00-15.20 น. ตำรวจก็เริ่มยิงแก๊สน้ำตา

หลังจากนั้นมาการปะทะในพื้นที่สมรภูมิดินแดงก็เริ่มขึ้นในลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ ตำรวจตั้งแนวตู้คอนเทนเนอร์ขวางทางเดินไปยัง ‘ราบ1’ เมื่อผู้ชุมนุมเข้ากระทำกับตู้คอนเทนเนอร์ ทั้งการขว้างปา การเตะ การพ่นสีหรือปาสี ตำรวจก็ไม่รีรอที่จะเปิดฉากใช้อาวุธควบคุมฝูงชนทั้งแก๊สน้ำตา กระสุนยาง และการฉีดน้ำ 

ภาพลักษณ์ของตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ในชุดเต็มยศ ใส่หน้ากากปิดใบหน้า ถือโล่และกระบอง กลายเป็นสัญลักษณ์ของความรุนแรงและเป็นเป้าหมายในการโจมตีของผู้ชุมนุม เนื่องจากมีภาพปรากฏต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ที่ตำรวจในเครื่องแบบเหล่านี้ใช้กำลังกระทืบ หรือใช้กระบองฟาดผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมและยอมจำนนแล้ว มีภาพที่ตำรวจใช้อาวุธปืนยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมแบบไม่เลือกหน้า ทำให้ความโกรธแค้นพุ่งเป้าไปที่เครื่องแบบลักษณะนี้ ยิ่งตำรวจชุดควบคุมฝูงชน (คฝ.) ปรากฏตัวออกมาตั้งแถวเร็ว การปะทะก็จะเกิดตามมาเร็วขึ้น ในบางวันที่ตำรวจเลือกใช้การฉีดน้ำหรือยิงแก๊สน้ำตาออกมาจากหลังแนวตู้คอนเทนเนอร์ก่อน ยังไม่ปรากฏตัว ผู้ชุมนุมก็ไม่ได้ทำอะไรมากนักนอกจากขว้างปาสิ่งของใส่ตู้คอนเทนเนอร์ หรือข้ามแนวตู้คอนเทนเนอร์ไปซึ่งไม่รู้ว่าจะโดนใครหรือไม่

“มันยิงกระสุนยางโดนนิ้วผมช้ำเลย ผมเลยปาของ” เสียงจากผู้ชุมนุมรายหนึ่ง อายุ 16 ปี

“ผมบอกเลยว่าการชุมนุมครั้งนี้ถ้าไม่มีตำรวจไม่รุนแรง ถ้าพวกคุณไม่มาเราจะไปสู้รบกับใคร ถ้าคุณไม่มาเราก็อยู่กันเฉยๆ นี่คุณมาถือปืนจี้ไปทางเราแล้วบอกว่าคุณจี้เฉยๆไม่ยิง มันเป็นไปได้ไหมพี่ ต้องบอกว่าคุณลองไม่เอาตำรวจมาซักวันแล้วคุณจะรู้ว่ามันไม่มีความรุนแรง พวกผมจะสู้กับใครถ้ามันไม่มีตำรวจ” เสียงจาก แป๊ะ สันติภาพ ผู้ชุมนุมวัย 26 ปี

มุมมองของรัฐต่อกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” และการเลือกวิธีการรับมือ

ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 ตำรวจใช้วิธีการรับมือด้วยการตั้งตู้คอนเทนเนอร์ปิดกั้นทางเดินของผู้ชุมนุม และใช้ทางด่วนเป็น “จุดสูงข่ม” ที่ตำรวจขึ้นไปตั้งหลักยิงแก๊สน้ำตาและกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุม เมื่อการปะทะผ่านไประยะหนึ่งตำรวจจะค่อยๆ ขยับแนวและดันพื้นที่เข้าหาผู้ชุมนุมทางอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ผลักดันให้คนที่ยังหลงเหลือในพื้นที่รีบกลับบ้านจนเป็นการสลายการชุมนุมทั้งหมด

ระหว่างวันที่ 10-20 สิงหาคม 2564 ตำรวจวางแนวตู้คอนเทนเนอร์บนถนนวิภาวดี บริเวณทางลงทางด่วนดินแดง ตำรวจไม่เริ่มลงมือสลายการชุมนุมก่อนแต่รอจนกระทั่งมีผู้ชุมนุมบางส่วนเริ่มส่งสัญญาณของความรุนแรง เช่น การขว้างปา การถีบตู้คอนเทนเนอร์ แต่เมื่อตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเริ่มปรากฏตัวแล้วก็จะเดินหน้าปฏิบัติการอย่างไม่หยุดยั้ง แม้ว่าผู้ชุมนุมจะถอยออกจากบริเวณตู้คอนเทนเนอร์ ไปยังแยกดินแดง แฟลตชุมชนดินแดง หรืออนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิแล้ว ตำรวจก็ยังตามไปไล่จับ จนผู้ชุมนุมต้องถอยร่นไปเรื่อยๆ บางส่วนหลบเข้าไปตามตรอกซอยใกล้ๆ บางส่วนขี่รถมอเตอร์ไซค์หลบหนี ทำให้การชุมนุมแตกกระจายเป็นหลายจุด 

หลังมีภาพการใช้กำลังเข้าจับกุมที่รุนแรง ด้วยกระสุนยาง แก๊สน้ำตา กระบอง และการทำร้ายร่างกาย เสียงวิพากษ์วิจารณ์ถึงการใช้กำลังเกินกว่าเหตุและไม่เลือกหน้าของตำรวจดังไปทั่ว ตำรวจเองก็พยายามปรับตัวเพื่อลดเสียงวิจารณ์บ้าง วันที่ 21 สิงหาคม 2564 ตำรวจขยับที่ตั้งตู้คอนเทนเนอร์ไปที่บริเวณทางคู่ขนานหน้าโรงพยาบาลทหารผ่านศึกและจัดกำลังอยู่บริเวณป้ายรถเมล์โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โดยไม่มีการปิดการจราจรถนนวิภาวดีขาออกทั้งหมด ขณะที่ผู้ชุมนุมก็มีลักษณะล่าถอยกลับไปตั้งหลักที่บริเวณปปส. ก่อนจะตัดสินใจกลับมาเผชิญหน้าอีกครั้งที่บริเวณใกล้กับป้ายรถเมล์โรงพยาบาลทหารผ่านศึก

จากการสังเกตพบว่า พฤติการณ์ของตำรวจที่เข้า “จับกุม” ผู้ชุมนุมบนสมรภูมิดินแดงมีความเข้มข้นจริงจังมากขึ้นเรื่อยๆ โดยชุดจับกุมจะเป็นตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.)​ ซึ่งพุ่งเข้าจับกุมพร้อมกันหลายสิบนายเพื่อจับกุมผู้ชุมนุมทีละคน โดยไม่ได้เลือกเป้าหมายชัดเจนว่า คนที่ถูกจับจะต้องเป็นผู้ใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่มุ่งจับทุกคนที่ “หนีไม่ทัน” หรือยังหลงเหลือในพื้นที่ระหว่างที่ตำรวจตั้งแถวเดินเข้ายึดพื้นที่ นอกจากนี้การจับกุมจำนวนไม่น้อยเกิดขึ้นในช่วงเวลาหลังเคอร์ฟิว เมื่อผู้ชุมนุมส่วนใหญ่และสื่อมวลชนส่วนใหญ่เดินทางกลับแล้ว แต่ยังเหลือบางคนอยู่ในพื้นที่แบบประปรายตำรวจก็จะใช้กำลังเข้าจับกุมอย่างไม่ต้องระมัดระวังภาพลักษณ์ นอกจากนี้ ในวันที่ 20,21 และ 23 สิงหาคม 2564 ยังมีการใช้ชุดเคลื่อนที่เร็ว ในลักษณะที่ตำรวจขึ้นรถกระบะเป็นหน่วยย่อยๆ และวิ่งเข้าหาผู้ชุมนุม อาจมีการยิงกระสุนยางระหว่างที่เคลื่อนที่เข้าหาผู้ชุมนุมด้วย 

วันที่  17 สิงหาคม 2564 เดลินิวส์รายงานคำกล่าวของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีระบุว่า “วันนี้ได้เห็นพฤติกรรมมีเบื้องหลัง เบื้องหน้าเยอะพอควร ดังนั้นต้องฝากในเรื่องอาชีวะที่ออกมาเคลื่อนไหวใช้ความรุนแรง แบบนักเลงมันใช้ได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นพวกศิษย์เก่า ศิษย์ใหม่ จะอยู่กันอย่างไรคนพวกนี้พอถูกดำเนินคดีก็มีปัญหา ใครทำผิดต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายทุกคน แล้วไปสู้คดีเอา โดยขอให้ระมัดระวังเรื่องการชุมนุม”

ขณะที่ตำรวจในฐานะผู้ใต้บังคับบัญชาชัดเจนในวันที่ 23 สิงหาคม 2564 พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า เมื่อวานหรือหลายๆ วันมันไม่ใช่การออกมาเรียกร้องอะไรแล้ว ฉะนั้นแล้วเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการที่จะปรับแผนในการจับกุม บอกให้หยุดก็ไม่หยุด ใช้น้ำผสมแก๊สฉีดก็ไม่ถอย ไม่ไป เพราะฉะนั้นแล้วความเสียหายที่เกิดขึ้นในวงกว้างจะเกิดขึ้นอีก ต้องดำเนินการระงับยับยั้ง จับกุม…”

พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวว่า “สังเกตดูในช่วงการแถลงข่าวหลังๆ มักจะไม่ใช้คำว่า ผู้ชุมนุม เป็นผู้ที่ก่อความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองแล้ว…ไม่ได้มีจุดในการเรียกร้องใดๆ มีแต่พฤติการณ์การละเมิดกฎหมายหลายบทบัญญัติและก่อเหตุละเมิดกฎหมายบ้านเมือง”

ต่อมาเมื่อกลุ่ม “ทะลุแก๊ซ” เริ่มรวมตัวกันได้ต่อเนื่อง ตำรวจก็จงใจแยกวิธีการปฏิบัติออกจากกลุ่มอื่นอย่างชัดเจน วันที่ 19 สิงหาคม 2564 ในระหว่างการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้าที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พล.ต.ต.อรรถวิทย์ สายสืบ ผู้บังคับการนครบาล 3 กล่าวว่า ผมอยากให้ตรงนี้[ทะลุฟ้า]เป็นตัวอย่างว่าทำได้ อย่าทำให้เหมือนที่ดินแดง มาโดยสงบมาเรียกร้องใดๆก็ได้ แต่ต้องไม่มีการใช้กำลัง ไม่มีการปะทะ และอย่าให้มีการเผาใดๆ ทั้งสิ้น” โดยกิจกรรมในวันดังกล่าวของกลุ่มทะลุฟ้าดำเนินไปจนจบ ตำรวจที่เข้าดูแลแต่งชุดสีกากี ส่วนที่แยกดินแดงก็ยังมีเหตุปะทะ โดยตำรวจชุดสีน้ำเงินใช้กำลังกับผู้ชุมนุมอย่างรุนแรง

บนสมรภูมิไม่มี “หลักสากล” มีแต่ความรุนแรง

วันที่ 19 สิงหาคม 2564 จิตภัสร์ ตั๊น กฤดากร รองประธานกรรมาธิการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎรแถลงข่าวหลังพล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเข้าชี้แจงเหตุการสลายการชุมนุมที่แยกดินแดง ระบุว่า “การดำเนินงานเพื่อควบคุมสถานการณ์ชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในปัจจุบัน แม้พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2558 จะไม่ได้นำมาบังคับใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงยึดหลักและกรอบขั้นตอนการดำเนินการตามแผนการดูแลชุมนุมสาธารณะตามพระราชบัญญัติชุมนุมสาธารณะในการควบคุมและสลายการชุมนุม”

เท่าที่สามารถติดตามได้แผนการดูแลการชุมนุมสาธารณะในปัจจุบันได้รับการปรับปรุงในปี 2563 และถูกเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อต้นปี 2564 ในบทที่หกว่าด้วยการใช้กำลัง เครื่องมือ อุปกรณ์และอาวุธ ระบุว่า ต้องใช้เมื่อมีเหตุจำเป็นและเหมาะสมกับความรุนแรงของสถานการณ์ ในเบื้องต้นให้ใช้การเจรจา และ ก่อนการใช้กำลัง มาตรการ อุปกรณ์หรือเครื่องมือ ให้ใช้การเจรจากับผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมและแจ้งเตือนก่อน “หากสามารถกระทำได้และไม่เกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่หรือบุคคลอื่น”  และการปฏิบัติต่อเด็ก สตรีและคนชราจะต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อไม่ให้เสียภาพพจน์ในการปฏิบัติงาน

ในหลักพื้นฐานของการควบคุมฝูงชน พ.ต.อ.วีระวุธ ชัยชนะมงคล รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง อธิบายว่า จะอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การใช้กำลัง เช่น ใช้วิธีการไม่รุนแรงเป็นอันดับแรก การใช้กำลังต้องมีความจำเป็นและไม่มีข้อยกเว้นสำหรับการใช้กำลังที่ผิดกฎหมาย การใช้กำลังทุกระดับจะต้องมีการเจรจากับฝูงชนตลอดเวลา การใช้รถฉีดน้ำ, กระสุนยางและอาวุธปืนจะต้องแจ้งให้ผู้ชุมนุมทราบก่อนทุกครั้งก่อนการใช้เพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายและหลักการใช้กำลัง

นอกจากแผนการชุมนุมดังกล่าวแล้ว การใช้กระสุนยางของตำรวจจะต้องสอดคล้องกับแนวปฏิบัติด้านสิทธิมนุยชนของสหประชาชาติว่าด้วยการใช้อาวุธที่มีความร้ายแรงต่ำในการบังคับใช้กฎหมาย (United Nations Human Rights Guidance on Less-Lethal Weapons in Law Enforcement) คือ ควรเล็งไปที่ ‘ท้องส่วนล่าง หรือขา ของบุคคลที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้นและเฉพาะในกรณีที่เล็งเห็นว่ากำลังจะเกิดอันตรายต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือสาธารณชน’ การใช้กระสุนยางไม่ควรเล็งไปที่ ‘หัว หน้า หรือคอ’ ด้วย โดยการเล็งไปที่ส่วนเหล่านั้น อาจส่งผลให้กระโหลกศีรษะแตก สมองบาดเจ็บ เกิดอันตรายต่อดวงตา

การเผชิญหน้าที่แยกดินแดงตลอดเดือนสิงหาคม 2564 “ไม่มีการเจรจา” การชุมนุมบางครั้งมีแกนนำที่ประกาศตัวชัดเจน และบางครั้งไม่มี แต่ตำรวจไม่เคยประกาศที่จะขอเจรจากับผู้ชุมนุมไม่ว่าในสถานการณ์ใด ตำรวจพยายามแสดงออกถึงการปฏิบัติตามขั้นตอน “บ้าง” โดยการแจ้งให้ทราบล่วงหน้าว่าจะใช้อาวุธ เช่น การฉีดน้ำ และแก๊สน้ำตา แต่ “ระยะอดทน” ของตำรวจก็สั้นมาก ตำรวจไม่ได้ประกาศกำหนดเวลาชัดเจนว่า ให้เวลาผู้ชุมนุมเท่าใดในการเลิกการชุมนุม และหลังจากประกาศเตือนไม่กี่นาทีก็ลงมือใช้อาวุธทันที 

มีภาพถ่ายและคลิปวิดีโอเป็นหลักฐานยืนยันมากมายว่า ตำรวจใช้ปืนยิงกระสุนยางในระดับสายตา ไม่ใช่การยิงกดลงเพื่อให้โดนส่วนล่างของร่างกาย มีภาพการใช้อาวุธจ่อยิงในระยะประชิด หรือยิงใส่บุคคลและกลุ่มบุคคลที่กำลังหลบหนีหรือล่าถอย การใช้อาวุธแต่ละชนิดก็ไม่ได้ไล่ลำดับจากเบาไปหาหนัก แต่ใช้ทุกประเภทไปพร้อมกัน หรืออาจจะใช้กระสุนยางก่อน และใช้การฉีดน้ำทีหลัง ขึ้นอยู่กับอำเภอใจของตำรวจ 

นอกจากนี้ตำรวจยังไม่มีแนวปฏิบัติที่แยกผู้ชุมนุมที่เป็นเด็กและเยาวชน แม้มาตรา 69 วรรค 3 พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ จะกำหนดเเนวทางการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ในระหว่างการจับกุมด้วยว่า การจับกุมและการควบคุมตัวต้องทำโดยไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีลักษณะเป็นการประจาน รวมไปถึงไม่ใช้เครื่องพันธนาการ แต่ที่สมรภูมิดินแดงซึ่งทราบกันว่ามีเด็กและเยาวชนเข้าร่วมจำนวนมาก ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าจับกุมโดยไม่เลือก ไม่มีความระมัดระวัง และใช้ความรุนแรงกับผู้ถูกจับกุมและเครื่องพันธนาการ โดยไม่สนใจอายุและไม่สอบถามอายุของผู้ที่ถูกจับกุม 

ผลกระทบต่อชาวดินแดง และผู้สัญจรผ่านทาง

การใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมของตำรวจ ส่งผลกระทบต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่ผู้ชุมนุมอยู่เป็นระยะ ตั้งแต่ก่อนการปะทะที่สมรภูมิดินแดง สื่อมวลชนที่ทำข่าวในพื้นที่ถูกยิ่งกระสุนยางหลายกรณี ตั้งแต่การชุมนุมของกลุ่มรีเด็มที่สนามหลวง เมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2564 มีผู้สื่อข่าวถูกกระสุนยาง 3 คน คือ ผู้สื่อข่าวข่าวสดบริเวณขา, ผู้สื่อข่าวช่อง 8 ถูกยิงเข้าที่ศีรษะ, ผู้สื่อข่าวประชาไทถูกกระสุนยางยิงเข้าที่หลังบริเวณเหนือเอว อีกครั้งในวันที่ 18 กรกฎาคม 2564 ระหว่างการเผาหุ่นฟางที่แยกผ่านฟ้า ตำรวจยิงกระสุนยางถูกสะโพกช่างภาพข่าว Plus Seven และระหว่างการสลายการชุมนุมที่บริเวณใกล้กับโรงเรียนราชวินิต ช่างภาพ The Matter ถูกยิงกระสุนยางเข้าใส่บริเวณแขน 

ต่อมาในการชุมนุมวันที่ 7 สิงหาคม 2564 กองบัญชาการตำรวจนครบาลประกาศให้สื่อมวลชนลงทะเบียนเพื่อรับปลอกแขนสื่อที่ตำรวจเป็นฝ่ายจัดทำขึ้นเพื่อแสดงตัว  อย่างไรก็ตามในการเผชิญหน้าที่แยกดินแดง ผู้สื่อข่าวยังคงได้รับผลกระทบจากกระสุนยาง แม้จะมีปลอกแขนแสดงตัวชัดเจน ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนรายงานว่า #ม็อบ10สิงหา มีสื่อมวลชนถูกกระสุนยางอย่างน้อย 2 ราย #ม็อบ11สิงหา พบว่ามีสื่อมวลชน 1 ราย ถูกกระบองตีไหล่ที่ด้านขวา หลังจากนั้น #ม็อบ13สิงหา และ #ม็อบ15สิงหา มีสื่อมวลชน 3 ราย และ 2 ราย ถูกยิงกระสุนยางตามลำดับ

ด้านตำรวจเองก็พยายามปรับตัวตามผลกระทบที่เกิดขึ้น วันที่ 21-22 สิงหาคม 2564 ตำรวจพยายามกันพื้นที่ให้ผู้สื่อข่าวอยู่ด้านหลังแนวตำรวจ ระบุเหตุผลเรื่องความปลอดภัย โดยระบุด้วยว่า ให้ถอยไปอยู่ตามแนวที่ตำรวจกันไว้ให้ไม่เช่นนั้นจะเป็นปัญหาอีก แต่สำหรับสื่อมวลชนที่ต้องการภาพเหตุการณ์ที่ดีที่สุดก็ไม่อาจปฏิบัติตามสิ่งที่ตำรวจต้องการได้ตลอด ยังมีผู้สื่อข่าวที่ประจำอยู่ในฝั่งผู้ชุมนุม หรืออยู่บริเวณแนวปะทะ ตำรวจยังคงพยายามประกาศผ่านเครื่องขยายเสียงเป็นระยะให้สื่อมวลชนอยู่ในพื้นที่จำกัด เช่น อยู่บนฟุตบาทไม่ลงบนพื้นผิวถนน หรือกรณีที่ผู้สื่อข่าวอยู่ใกล้กับผู้ชุมนุมและตำรวจจะเดินหรือวิ่งเข้าหาผู้ชุมุนมเพื่อทำการจับกุมก็ขอไม่ให้นักข่าววิ่งตามผู้ชุมนุมไป แต่ในการทำงานสื่อมวลชนก็ไม่อาจปฏิบัติตามได้มากนัก

ขณะที่ประชาชนที่อยู่อาศัยบริเวณดินแดง เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการสลายการชุมนุมอย่างหนักหน่วงทั้งแก๊สน้ำตาและกระสุนยางของตำรวจ ตั้งแต่วันที่ 7 สิงหาคม 2564 มีรายงานว่า พ่อค้าขายผักถูกตำรวจยิงด้วยกระสุนยางที่กลางหลังทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องและแสดงตัวชัดเจนว่าต้องการผ่านทางไปเก็บของ วันที่ 15 สิงหาคม 2564 ตำรวจยิงกระสุนยางเข้าไปในโครงการชุมชนดินแดง แปลง G ริมถนนอโศก ดินแดง ขณะที่ชาวแฟลตดินแดงถูกยิงด้วยกระสุนยางเข้าที่โหนกแก้ม หลังจากพยายามตะโกนบอกตำรวจว่า อย่ายิงแก๊สน้ำตา 

ต่อเนื่องมาในวันที่ 20 สิงหาคม 2564 ตำรวจใช้ชุดเคลื่อนที่เร็วขึ้นรถกระบะกราดยิงกระสุนยางใส่ผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณคลองสามเสนก่อนเข้าแยกสามเหลี่ยมดินแดง ซึ่งระหว่างนั้นบนถนนยังมีผู้สัญจรตามปกติอยู่ด้วย มีคนที่ขับรถลงมาต่อว่า การจับกุมผู้ชุมนุมของตำรวจ ตำรวจนิ่งเฉย เมื่อรถมอเตอร์ไซด์เร่งเครื่องผ่านเข้ามาตำรวจหันปืนยิงใส่ ซึ่งอยู่ในทิศทางที่มีประชาชนทั่วไปอยู่ด้วย นอกจากนี้การใช้แก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่องหลายวัน ทำให้ประชาชนและร้านค้าที่ตั้งอยู่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิได้รับผลกระทบอย่างมาก 

“เราก็ค้าขายไม่ได้ แล้วก็ต้องปิดร้านเร็วกว่าทั่วๆ ไปลูกค้าก็น้อยคนก็น้อย” เสียงจากสมกิจ ร้านอาหารตามสั่ง วัย 55 ปี      

วันที่ 20 สิงหาคม 2564 แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดีโพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่มีการชุมนุมต่อเนื่องเป็นที่ตั้งของ Hospitel ด้วยสถานการณ์การเผชิญหน้าทำให้แพทย์ไม่สามารถผลัดเวรเข้าออกได้ตามปกติเนื่องจากมีโอกาสทั้งอันตรายจากลูกหลงที่เกิดขึ้นจากความรุนแรง ที่ก็ไม่มีทางทราบว่ามาจากฝ่ายไหน เท่าที่อยู่ในพื้นที่ถึงเวลาประมาณ 20.00 น. การสลายการชุมนุมวันดังกล่าวตำรวจจึงไม่ได้รุกเข้าไปถึงบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและปักหลัก แต่เป็นการรุกและถอยกลับไปที่แยกดินแดง

ต่อมาวันที่ 21 สิงหาคม 2564 เวลา 14.00 น. ชาวชุมชนดินแดงติดป้าย “พวกเราชาวดินแดง ไม่ต้องการให้ที่นี่เป็นสนามรบ” และขอให้ตำรวจย้ายคอนเทนเนอร์กลับไปที่หน้าราบ 1 เนื่องจากเห็นว่า เป็นการยั่วยุและสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ต้องการสัญจร ซึ่งก่อนหน้านี้เวลา 13.30 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแถลงข่าวในทำนองว่า จะปรับเปลี่ยนยุทธวิธีและสั่งการไม่ให้ติดตามผู้ต้องสงสัยเข้าไปในที่พักอาศัย 

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage