![-ฟ้า](https://www.ilaw.or.th/wp-content/uploads/2021/06/ฟ้า-1.jpg)
คำในภาษาเยอรมันที่ยาวที่สุด คือ Rindfleischetikettierungsüberwachungsaufgabenübertragungsgesetz ซึ่งหมายถึง ‘กฎหมายการตรวจสอบฉลากเนื้อ’ คำๆนี้แสดงให้เห็นถึงเสน่ห์อันน่ารักน่าชังของภาษาเยอรมันที่สามารถนำคำมาต่อกันให้ยืดยาวออกไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นความหมายใหม่ได้อย่างน่าอัศจรรย์
สำหรับเดียร์-รวิสรา เอกสกุล และฟ้า-สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ ข้อความภาษาเยอรมันในแถลงการณ์ที่ทั้งสองร่วมกันอ่านต่อหน้าผู้ชุมนุมหลายพันคนหน้าสถานทูตเยอรมนีเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 เป็นถ้อยคำที่ไม่ยืดยาวเท่าคำข้างต้น แต่มีความหมายหนักแน่นมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของทั้งคู่ให้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
จากเภสัชกรและนักบรรพชีวินวิทยาสู่นักเรียนภาษาเยอรมัน
ฟ้ากับเดียร์เริ่มบทสนทนาด้วยการเล่าถึงชีวิตของพวกเธอในวัยเด็ก ซึ่งอาชีพในฝันของทั้งสองดูจะแตกต่างไปอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่พวกเธอกำลังเรียนหรือหรือกำลังทำอยู่ในปัจจุบัน
“ฟ้าเป็นชื่อของดาราคนหนึ่งสมัยแม่สาวๆ แม่เอามาตั้งเป็นชื่อเรา ส่วนเพื่อนจะเรียกเราว่า ฟ้าจ่าง เพราะมีคนชื่อฟ้าหลายคน เพื่อนๆเลยเอาว่าจ่างที่เป็นคำแรกของนามสกุลเรามาต่อกับชื่อ ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านหนังสือ ชอบดูสารคดีเกี่ยวกับไดโนเสาร์ สัตว์ดึกดำบรรพ์ เราเคยฝันอยากจะเป็นนักบรรพชีวินวิทยา(ผู้ศึกษาสัตว์โบราณ) แต่ตอนหลังคิดว่าถ้าอยู่ที่เมืองไทยหนทางในอาชีพนั้นน่าจะไม่รุ่ง พอขึ้นม.ปลายเราเลือกเรียนสายศิลป์เพราะเราเริ่มงงๆ กับคณิตศาสตร์ ว่ามันต้องใช้สูตรไหนในการแก้สมการ แล้วไม่รู้ว่าสูตรมาจากไหน ใช้ทำอะไรได้บ้าง ไม่เข้าใจมัน จนตอนนี้เราเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะอักษรศาสตร์ ที่จุฬาฯ”
“เรามีพี่สาวคนหนึ่ง ชื่อว่า ดรีม พ่อกับแม่เลยตั้งชื่อเราให้คล้องจองกับพี่ว่าเดียร์ ตอนเด็กๆ เราผอมมาก ตัวแห้งๆ คุณย่า คุณตา อาม่าก็เลยเรียกว่า “อาบ๊วย” เพราะเราตัวแห้งเหมือนลูกบ๊วย บางทีก็เรียกว่าไอ้บ๊วย ตอนเด็กๆเราอยากเป็นเภสัชกร เพราะมันดูเท่ (หัวเราะ) แต่พอโตขึ้นก็ได้รู้ว่าเราไม่เก่งเลข ไม่เก่งวิทย์ เราเลยเบนมาเรียนสายศิลป์ จนได้มาเรียนศิลป์เยอรมันที่โรงเรียนเตรียมอุดมฯจนเรารู้สึกชอบภาษาเยอรมันมากขึ้นๆ พอเรียนจบเราก็ทำงานเป็นนักแปลอิสระจนถึงตอนนี้แต่ไม่ได้แปลวรรณกรรมอะไรหรอกนะ ที่ผ่านมาก็แปลพวกคู่มือรถ คู่มือการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาไทย”
เมื่อถามเดียร์ถึงเหตุผลที่ทำให้เดียร์เลือกเรียนและทำงานเกี่ยวกับภาษาเยอรมัน เดียร์ตอบว่าความรักในภาษาเยอรมันของเธอเป็นสิ่งที่ซึมซับผ่านเวลาที่ยาวนาน
“มันไม่ใช่ว่าอยู่ๆ ก็รู้สึกตัวว่าชอบเลย เราอยู่กับมันมานานมากแล้ว 7-8 ปี เพิ่งรู้สึกเหมือนกันว่าภาษานี้มันตลกดีเนอะ มันดิ้นได้ ถ้ามีใครเคยเห็นศัพท์ภาษาเยอรมันจะงงมากว่าทำไมมันยาวขนาดนี้ เสน่ห์ของภาษาเยอรมันคือเราสามารถเอาคำอะไรมาปะติดปะต่อกันก็ได้ แล้วคำนั้นมันก็จะมีความหมายขึ้นมาจริงๆ”
![](/wp-content/freedom/sites/default/files/wysiwyg_imageupload/5855/51143937553_9207022348_kss_1.jpg)
ฟ้า-สุธินี จ่างพิพัฒน์นวกิจ
การเมืองของการเมืองเป็นเรื่องไกลตัว
นอกจากจะรักในภาษาเยอรมันเหมือนกันแล้ว ทั้งเดียร์และฟ้าต่างก็เคยมองการเมืองว่าเป็นเรื่องไกลตัวเหมือนกัน ทั้งสองต่างก็ไม่เคยคิดว่าวันหนึ่งจะมีโอกาสร่วมการชุมนุมและไม่เคยคิดว่าจะมาถูกดำเนินคดีเพราะการร่วมชุมนุม
“ตอนเด็กๆ เราไม่สนใจการเมืองเลย รู้สึกว่ามันเป็นเรื่องไกลตัวเรามาก ผู้ใหญ่ชอบบอกว่าการเมืองไม่ใช่เรื่องของเด็ก เราก็ตั้งใจเรียนไป พอเข้ามหาวิทยาลัย เรามีโอกาสเป็นติวเตอร์สอนภาษาเยอรมัน ทำให้เราได้เห็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาว่า โรงเรียนดังมากเด็กเก่งมาก โรงเรียนดังน้อยเด็กก็เก่งอยู่ แต่โรงเรียนที่ไม่ดังเลยเด็กก็ไม่ได้เลย พื้นฐานมันไม่เท่ากัน อยากจะแก้ไขตรงนั้น ตอนแรกก็ไม่ได้มุ่งประเด็นไปที่การเมือง มุ่งไปที่การศึกษามากกว่า แต่พอคิดหาต้นตอไปๆ มาๆ ทุกอย่างก็เกี่ยวข้องกันหมด” เดียร์ระบุด้วยว่า แม้เธอจะรู้ว่าการเมืองไทยมีปัญหา แต่มุมมองของสังคมในช่วงเวลาที่เธอยังอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัยที่มีต่อคนที่ออกมาเคลื่อนไหวคือคนเหล่านั้นเป็น ‘คนแปลก’
“เราใช้ทวิตเตอร์มาตั้งแต่อายุ 15 ปี รับรู้ข้อมูลข่าวสารทุกอย่างผ่านทวิตเตอร์เป็นหลัก ตอนรัฐประหาร 2557 แรกๆ คนในทวิตเตอร์ก็ยังขำๆ ลุงตู่เป็นคนตลก ไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องคอขาดบาดตายขนาดนั้น ตอนนั้นเราเป็นหนึ่งคนที่ยังขี้ขลาดอยู่ ไม่ชอบนะ แต่ก็ไม่กล้าออกมา ไม่กล้าไปม็อบ ไม่กล้าไปประท้วงกับเขา คนที่ออกไปเราก็จะมองว่าทำไมแปลกจัง ทำไมกล้าจัง พอโตขึ้นในทวิตเตอร์ก็มีเรื่องการเมืองมากขึ้นเรื่อยๆ เราเห็นมันทุกวัน
“กระแสโควิด 19 เป็นฟางเส้นสุดท้าย บ้านเมืองมันแย่มากจนเราไม่สามารถจะปิดตาแล้วอยู่เฉยๆ ต่อไปได้แล้ว แม้เราจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่มีคนเยอะมากๆ ที่กำลังจะตาย การที่เรานั่งอยู่เฉยๆ อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนบางคนต้องตาย เราจะสู้แค่ในทวิตเตอร์ไม่ได้แล้ว ต้องออกมาแสดงพลังให้เขาเห็นว่า เราไม่ได้เป็นแค่นักเลงคีย์บอร์ด ถ้าเราไม่เป็นหนึ่งคนที่ออกมา คนรอบตัวเราก็อาจจะยังไม่กล้าอยู่ต่อไปเรื่อยๆ
“ครั้งแรกที่ไปม็อบคือ เดือนสิงหาคม 2563 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ความรู้สึกตอนนั้นตื่นเต้น แล้วก็กลัวด้วย เพราะชอบมีข่าวลือไม่ดีว่า เดี๋ยวทหารจะมา มีคนสั่งให้ยิงนะ รู้สึกกลัวว่าทำไมการออกมาใช้สิทธิใช้เสียงของพลเมืองประเทศนี้ กลับต้องเสี่ยงชีวิตขนาดนี้ แต่พอไปแล้วก็ไม่ได้เป็นอย่างข่าวลือ ทุกคนช่วยเหลือกันดีมาก”
ขณะที่ฟ้า เพื่อนร่วมชะตากรรมของเดียร์ก็เล่าว่าตัวเธอเองก็ไม่ต่างจากเดียร์ ที่เติบโตมาด้วยการเป็น “เด็กดี” ตามระบบ ระหว่างที่เรียนหนังสืออยู่ที่ราชบุรี ฟ้าเป็นเด็กที่ตั้งใจเรียนและเป็นเด็กเรียบร้อยในสายตาครู
“ตั้งแต่เด็กถึงมัธยมต้นก็ไม่ได้สนใจการเมือง คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว พอมีโอกาสได้มาเรียนที่กรุงเทพฯ ก็เห็นปัญหาสังคมมากขึ้น เห็นความเหลื่อมล้ำ อย่างรถเมล์ที่เก่ามาก วิ่งไม่ตรงเวลา มันเกี่ยวพันกับเราโดยตรง ก็เลยทำให้สนใจการเมืองมากขึ้น ช่วงหนึ่งมีการเผยแพร่เอกสารทางประวัติศาสตร์ และมีการอธิบายด้วยเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลนี้ถึงล้มเหลวในการบริหารจัดการ เราอ่านเยอะๆ แล้วก็รู้สึกว่าเห็นด้วย และการเมืองมันเกี่ยวข้องกับตัวเรานะ ม็อบที่เกิดขึ้นในปี 2563 ก็ไปเข้าร่วม ตอนแรกพ่อแม่ไม่อยากให้ไปม็อบหรอก เพราะเห็นข่าวแล้วเป็นห่วง มีตำรวจควบคุมฝูงชนใช้ความรุนแรง เขาก็ห้ามเรา แต่พอเขาเห็นว่าห้ามไม่ได้ก็บอกให้เราระวังตัว”
นาทีอ่านแถลงการณ์และนาทีอ่านหมายเรียก
เดียร์เล่าจุดเริ่มต้นของการขึ้นไปอ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมนีซึ่งต่อมาเป็นเหตุให้เธอถูกดำเนินคดีร้ายแรงอย่างประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า
“วันนั้นเราก็แค่ไปร่วมม็อบ แล้วมีเพื่อนหลายคนโทรมาหา บอกว่าเห็นเขาประกาศทางทวิตเตอร์ ตามหาคนอ่านแถลงการณ์ภาษาเยอรมันอยู่ เราก็คิดๆ ดูว่าเราทำได้ เป็นสิ่งที่เราถนัด ก็เลยติดต่อทีมงานไป ถ้าย้อนไปดูวิดีโอตอนอ่านแถลงการณ์ จะเห็นว่ามือสั่นมาก (หัวเราะ) เพราะมันเป็นการอ่านต่อหน้าคนไม่รู้กี่พันกี่หมื่นคน กลัวอ่านผิด ด้วยสถานการณ์ตรงนั้น ด้วยความที่เราเข้าใจสารที่เขียนอยู่ เราอ่านส่วนที่เกี่ยวกับวันที่รัฐบาลใช้ความรุนแรงสลายการชุมนุมครั้งแรกที่แยกปทุมวัน ทั้งอิน ทั้งโกรธ ตื่นเต้น ปนกันไปหมดเลย”
“ตอนที่คนอ่านแถลงการณ์ภาษาไทยกับภาษาอังกฤษได้หมายเรียก 116 แต่คนที่อ่านภาษาเยอรมันยังไม่ได้ เราก็คิดว่า เขาอาจจะหาเราไม่เจอ เราเป็นคนธรรมดา ไม่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองโดดเด่นมาก่อน แต่สุดท้ายหมายเรียกของเรามาทั้ง 112 และ 116 พร้อมกันเลย เราโชคดีที่ที่บ้านเข้าใจ แล้วก็ซัปพอร์ตมากๆ เราเตรียมพร้อม เตรียมใจมาตลอด เตรียมตัวสำหรับสิ่งที่แย่ที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่ก็คาดหวังว่าความยุติธรรมจะอยู่ข้างเรา”
ขณะที่ฟ้าเล่าว่าเธอเห็นประกาศหาคนอ่านแถลงการณ์ทางทวิตเตอร์ด้วยตัวเอง ก็เลยติดต่อไปเอง เพราะเห็นว่ายังไม่มีใครอาสาอ่านภาษาเยอรมัน “ตื่นเต้นมากค่ะ เพราะไม่ใช่คนที่พูดต่อหน้าที่สาธารณะเก่ง พูดไม่เก่งเลย ตอนนั้นก็มือสั่นเหมือนกัน ส่วนนาทีที่ได้รับหมายเรียกก็คือ วันรุ่งขึ้นต้องไปรายงานตัวกับตำรวจแล้ว เพราะหมายเรียกถูกส่งไปที่บ้านที่ราชบุรี แต่ว่าก่อนหน้านั้นทนายความโทรมาบอกก่อน ก็เลยไม่ตกใจมาก แม่ก็ซัปพอร์ตดีค่ะ เขาก็คงคิดไว้บ้างแล้วตั้งแต่เห็นเราไปม็อบ”
![](/wp-content/freedom/sites/default/files/wysiwyg_imageupload/5855/IMG_6295 ss.jpg)
เดียร์-รวิสรา เอกสกุล
ความรู้สึกระหว่างรอคำสั่งคดีของอัยการ
หลังถูกออกหมายเรียกด้วยข้อกล่าวหาร้ายแรงแห่งยุคสมัย ฟ้าและเดียร์ต่างรู้สึกกังวลกับชะตากรรมของตัวเองโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้เห็นข่าวเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะมาตรา 112 ที่ถูกรายงานตามหน้าสื่อ และได้เห็นมามีคนที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาเดียวกันนี้ถูกคุมขังในเรือนจำทั้งที่ยังไม่มีคำตัดสินเป็นที่สุดว่าพวกเขามีความผิด
“เอาจริงๆ ก็คือ เราไม่ค่อยมั่นใจในกระบวนการยุติธรรมเท่าไหร่เลย ทนายความบอกว่า ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่เคยมีคดี 112 มาก่อน ก็เลยไม่สามารถรู้ได้เลยว่าจะเจออะไรบ้าง แต่ก็เตรียมใจไว้ส่วนหนึ่ง แล้วก็กังวลเรื่องเรียน ถ้าเราถูกฝากขังโดยไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัว การเรียนครึ่งหลังของภาคการศึกษาสุดท้ายของเราก็จะหายไปเลย” ฟ้าตอบด้วยสีหน้ากังวล
ขณะที่เดียร์เล่าความกังวลในใจด้วยสีหน้ามุ่งมั่นเจือรอยยิ้ม
“สิ่งที่กังวลที่สุดก็น่าจะเป็นเรื่องต้องถูกขัง เพราะว่าคงไม่มีใครอยากถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพ แต่เราก็เตรียมใจไว้แล้วว่าถ้าต้องไปอยู่ในนั้นจริงๆ เราก็อยู่ได้แหละ แต่ห่วงคนข้างนอก ห่วงพ่อแม่ว่าเขาจะรู้สึกยังไง น่าจะต้องทุกข์ทรมานใจในระดับหนึ่ง ก็อยากบอกครอบครัวว่าไม่ต้องเป็นห่วง ต่อให้ในนั้นจะลำบากแค่ไหน เราก็อยู่ได้แน่ๆ ไม่อยากให้คนรอบตัวเสียใจนาน แต่ก็อยากให้คนรอบตัวไม่ลืมเรา”
#ถ้าการเมืองดี วันนี้จะมีหน้าตาแบบไหน
“ถึงแม้ตอนนี้เราจะยังหาตัวเองไม่เจอ แต่ถ้าการเมืองดี เราก็มีโอกาสที่จะได้อ่านหนังสือใหม่ๆ ได้มีพื้นที่สาธารณะดีๆ ให้นั่งอ่านหนังสือโดยไม่ต้องเสียเงิน มีพิพิธภัณฑ์ดีๆ ให้เราไปหาไอเดียจากตรงนั้น เราอาจจะได้เป็นนักแปล นักเขียนหรืออะไรก็ได้ที่เราอยากเป็น”
ฟ้าจินตนาการถึงสิ่งที่ดูเรียบง่ายจนชวนตั้งคำถามว่าเหตุใดเรื่องที่ดูเรียบง่ายนี้ยังเป็นแค่ความฝัน ไม่ใช่ความจริงของสังคมไทย ขณะที่เดียร์ชวนตั้งคำถามถึงระบบการศึกษาที่ควรจะเป็น
“เราเคยบอกว่าอยากเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาไทยเนอะ เคยคิดอยากเป็นครู แต่ใครๆ ก็รู้ว่าค่าครองชีพที่กรุงเทพฯ สูงมาก ส่วนค่าตอบแทนของการเป็นครูมันน้อยมาก ด้วยภาระต่างๆ ของครอบครัวทำให้เราไม่สามารถที่จะเป็นครูได้ ถ้าประเทศไทยดีกว่านี้ มีสวัสดิการครูที่ดีกว่านี้ ก็น่าจะดึงดูดคนที่มีคุณภาพมาเป็นครู ทำให้ระบบการศึกษามันดีขึ้นตามไปด้วย”
ถึงผู้ที่อยากเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยดีกว่านี้
“ถ้าถามเดียร์นะ เราไม่อยากให้เสียกำลังใจแล้วล้มเลิกสิ่งที่ทำมา ไม่อยากให้ทุกคนรู้สึกแย่ที่มีคนจำนวนหนึ่งโดนจับไป อยากให้ทุกคนสู้ต่อไปเพื่อเป้าหมายที่เรามีด้วยกัน ต่อให้เราจะอยู่ในคุกหรืออยู่ที่ไหน เราก็จะยังสู้เหมือนกัน ไม่อยากให้ทุกคนสิ้นหวัง โมโหได้ โกรธได้ แต่อย่าเพิ่งล้มเลิก”
“ฟ้าอยากให้ทุกคนหันมาสนใจการเมืองมากขึ้น เรามีสิทธิหลายอย่างที่ควรจะได้รับในประเทศของเรา เราอยากเจริญ เราก็มีสิทธิ เราอยากมีงานทำ เราก็มีสิทธิ แต่ในเมื่อรัฐบาลให้เราไม่ได้ เราก็ควรจะต่อสู้เพื่อให้ได้มันมาสักหน่อย”