25 ปี 4 ศพ ค้านโรงโม่หินดงมะไฟยังไม่จบ ย้อนดูความขัดแย้งแฝงหยาดน้ำตา

ภาพชุดเสื้อยืดสีเขียวของกลุ่มประชาชนหลักร้อยที่ทำกิจกรรม “เดิน-ปิด-เหมือง” บอกเล่าปัญหาเหมืองและโรงโม่หินปูนในพื้นที่ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา ปรากฏเป็นข่าวเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา   

ผู้คนเดินจากบ้านของตัวเองสู่ศาลาลางจังหวัดหนองบัวลำภู เพราะอยากให้ประชาชนในเขตตัวเมืองได้รับทราบปัญหาและความสำคัญในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ พื้นที่อนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได อันอุดมไปด้วยมรดกทางวัฒนธรรม เป็นสิ่งที่พวกเขายกเป็นประเด็นขึ้นมาต่อสู้กับโรงโม่หิน สิ่งแปลกปลอมที่สร้างความขัดแย้งและหยาดน้ำตาร่วม 25 ปี 

วันนี้ พวกเขาบอกเล่าถึงปัญหาอะไร พบเจอเรื่องราวรุนแรงอะไรบ้าง การต่อสู้คัดค้านโรงโม่หิน ชาวบ้านดงมะไฟต้องเผชิญชะตาชีวิตอย่างไรมาบ้าง ไอลอว์พาไปสำรวจฉากและชีวิตการต่อสู้ของพวกเขา 

—————–

ราว 600 กิโลเมตรจากเมืองหลวง หากนั่งรถโดยสารคงใช้เวลาเดินทางข้ามคืน แต่เราย่นระยะได้จากสนามบินอุดรธานี วิ่งต่อบนถนนสองเลนสาย 2263 ระหว่างอำเภอเมืองอุดรฯ-กุดจับ ก่อนจะบีบแคบลงผ่านเข้าตัวอำเภอสุวรรณคูหา สองข้างทางเป็นไร่อ้อยสีน้ำตาลเบียดเสียดจนแทบมองไม่เห็นพืชพันธุ์อื่น กระทั่งพบเขาหินปูนน้อยใหญ่จนอาจคิดไปได้ว่ากำลังอยู่ในเขตสระบุรี-ลพบุรี แต่เมื่อรถตู้โดยสารมาหยุดที่หน้าถ้ำศรีธน ภาษาพูดคุยของชาวบ้านตำบลดงมะไฟก็ปลุกเราจากภวังค์ให้รู้ว่ากำลังอยู่ในทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศ

“บ่ย่านจั่งได๋ ผมนอนบ่หลับ แต่มันจำเป็นต้องสู้เพื่อความถูกต้อง บอกลูกบอกหลานที่จะมานอนด้วยว่าไม่ต้องมานอน ถ้าจะตายก็ให้ตายคนเดียว เพราะที่ทำกินผมติดกับภูเขาเลย ผมได้รับผลกระทบก่อนเพื่อนเลย ตั้งแต่ตอนเขามาตั้งเสาไฟฟ้า แล้วมันเคยล้มทับต้นมันพืชไร่ผมหมด”  

สมควร เรียงโหน่ง ประธานกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได เปรยใจถึงสถานการณ์ที่เขาพร้อมรับทุกความเสี่ยง

โรงโม่หินดงมะไฟ – แปลกปลอมปนประหลาด มาพร้อมการตั้งจังหวัดใหม่

ปี 2536 เป็นปีที่จังหวัดหนองบัวลำภูแยกออกมาจากจังหวัดอุดรธานี แม้เป็นปีแห่งการเริ่มต้นอะไรหลายอย่าง แต่ก็เป็นจุดเริ่มของสิ่งแปลกปลอมที่เปลี่ยนวิถีของคนที่นี่ไปเช่นกัน  

ปีนั้นเริ่มมีบริษัทเอกชนเข้ามายื่นขอสัมปทานภูผายา ตำบลดงมะไฟ อำเภอสุวรรณคูหา เพื่อทำเหมืองหิน แต่คนในชุมชนไม่เห็นด้วยจึงเริ่มรวมกลุ่มกันคัดค้าน เพราะเห็นว่าบนเขามีสำนักสงฆ์ ทั้งยังสำรวจพบภาพเขียนสีประวัติศาสตร์ กรมศิลปากรจึงประกาศขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งสำคัญทางโบราณคดีในเวลาต่อมา   

นอกจากนี้ยังเชิญทองใบ ทองเปาว์ ทนายความสิทธิมนุษยชนมาอบรมชาวบ้านเพื่อคัดค้านโรงโม่หิน มีชาวบ้านมาร่วมทั่วอำเภอราว 1,000 คน ทองใบใช้วิธีแจกนามบัตรกลุ่มทนายความอีสานไว้ให้ชาวบ้านแสดงให้เจ้าหน้าที่เห็นว่ามีกลุ่มคอยช่วยเหลือทางกฎหาย หากถูกดำเนินคดี ประกอบกับการต่อสู้ในหลากหลายวิธี เพราะเอย่างนั้นโรงโม่จึงถอยไป  

ปีถัดมา ในพื้นที่ไม่ไกลกัน บริษัทย้ายมายื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองหินบนภูผาฮวกเนื้อที่กว่า 175 ไร่ และโรงโม่หินอีก 50 ไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าเก่ากลอยและป่านากลาง

“ตั้งแต่เริ่มคัดค้านจนถึงตอนนี้มีผู้นำเสียชีวิต 4 คน และบริษัทเอกชนก็มีความขัดแย้งกับชาวบ้านมาตลอด” สมควร เรียงโหน่งเล่าและกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้บริษัทยังฟ้องชาวบ้าน 12 คน ข้อหาวางเพลิงที่พักคนงาน ทั้งที่ชาวบ้านไม่ได้ทำ แต่ก็มีคนถูกตัดสินจำคุก 2 คน ต่อมาศาลได้ยกฟ้องทั้งหมด 

เรื่องราวเกิดขึ้นในปี 2538 เมื่อชาวบ้านรวมตัวกันเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างหนักเป็นเหตุให้บุญรอด ด้วงโคตะ และสนั่น  สุวรรณ ถูกลอบยิงเสียชีวิต จนถึงปัจจุบันก็ยังจับคนร้ายไม่ได้ จากนั้นชาวบ้านก็ปักหลังคัดค้านการขอสัมปทานเหมืองมาตลอด ขณะที่ทางบริษัทก็ยังรุกคืบเดินหน้ารังวัดขอบเขตเหมือง โดยไม่สนใจเสียงคัดค้าน

เสียงปืนและหยาดน้ำตาในดงมะไฟ

4 ปีถัดมามีเสียงปืนดังขึ้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งของตำบลดงมะไฟ  กำนันทองม้วน คำแจ่ม หนึ่งในแกนนำต่อสู้คนสำคัญต้องจบชีวิตลง 

สอน คำแจ่ม ภรรยากำนันเล่าให้ฟังด้วยเสียงสะอื้น

“ช่วงนั้นก็สู้กันหนัก เป็นเรื่องการเมืองท้องถิ่นเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะสมาชิกอบต. บางรายเขาอยากขายภูเขาให้บริษัทเหมือง แต่กำนันไม่ยอมแล้วบอกว่าถ้าอยากจะได้ต้องไปถามประชาชนดู ผมได้เป็นกำนันเพราะชาวบ้านเลือกผมมา ถ้าไทบ้านไม่เอาผมก็ไม่เอา “

ภรรยาวัย 56 ปี ของกำนันทองม้วนเล่าอีกว่า คนกลุ่มนั้นไม่ได้สนใจเสียงชาวบ้านและอยากขายอย่างเดียว จึงมีการขู่กันว่า “ถ้าจะตายก็ไม่ได้ตายเรื่องอื่นหรอก ตายเรื่องนี้แหละ”

“เขาหลอกว่าให้ไปคุยธุระกันก่อน เรียกทางโทรศัพท์ไปที่หมู่บ้านหนึ่งในตำบล ส่วนเราก็รออยู่อีกหมู่บ้านหนึ่งเพราะเห็นว่าเขาไปคุยธุระ แล้วช่วงประมาณห้าโมงกว่า คนที่เพิ่งกลับจากขายข้าวแถวอำเภอบ้านผือผ่านมาแถวนั้นบอกว่ากำนันถูกยิง อยู่ที่บ้านหนองเหลียง ก็รู้ได้เลยว่าเป็นกลุ่มไหนพาไป ส่วนจะเป็นใครยิงนั้นไม่รู้ “

การเปิดเหมือง เปลี่ยนหน้าฉากชุมชนไปตลอดกาล

ในที่สุดอุตสาหกรรมจังหวัดหนองบัวลำภูอนุญาตประทานบัตรเหมืองหินแก่บริษัทบนภูผาฮวก มีระยะเวลาทำเหมืองหิน 10 ปีตั้งแต่เดือนกันยายน 2543 – กันยายน 2553  

จากนั้นชาวบ้านชุมนุมประท้วงและใช้มาตรการปิดถนนที่เป็นเส้นทางขนเครื่องจักรกลของคนงานเหมือง แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าสลายการชุมนุมจนสามารถขนเครื่องจักรกลเข้าสู่พื้นที่ที่จะทำเหมืองบนภูผาฮวกได้   

ชาวบ้านยื่นฟ้องศาลปกครองขอให้มีคำพิพากษาเพิกถอนประทานบัตรทำเหมืองหิน  ทั้งนี้ระหว่างนั้นแกนนำชุมชนถูกจับกุมดำเนินคดี 12 คนข้อหาวางเพลิงเผาที่พักคนงานเหมืองและโรงเก็บอุปกรณ์

 “ตอนแรกเขาขนปูนมาสามสิบถุง เหล็กห้ามัด เป็นสถานที่เก็บระเบิดเขา แล้วมีมือที่สามมาเผา เขาเลยหาว่าเราเป็นคนวางเพลิงเผา เราคิดว่าเป็นคนของเขาทำ ตอนนี้เพื่อนร่วมรบสู้มานานจนตายไปแล้ว 6 คน ”  พ่อตูโด้ หนึ่งในขบวนการต่อสู้โรงโม่หินบอกไว้

กระทั่งปี 2547  ศาลปกครองนครราชสีมา มีคำพิพากษาเพิกถอนคำขอประทานบัตร เหมือนข้อพิพาทมีทีท่าสงบลง แต่แล้วปี 2553 ศาลปกครองสูงสุดกลับคำพิพากษา คืนประทานบัตรให้บริษัททำเหมืองหิน แต่อายุประทานบัตรก็หมดอายุลงพอดี เป็นเหตุให้บริษัทต้องเริ่มขอต่อใบอนุญาตและขอใช้พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติเพื่อเข้าทำเหมืองแร่ในพื้นที่ใหม่

บริษัทได้รับการต่อใบอนุญาตการเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ รวมถึงต่ออายุประทานบัตรอีกครั้ง ตั้งแต่ 25 กันยายน 2553 – 24 กันยายน 2563 แม้ชุมชนดงมะไฟจะยืนยันการคัดค้านอย่างเข้มแข็งต่อเนื่องก็ตาม

สู้ทุกประตู – สิ่งแวดล้อม ประวัติศาสตร์ นิติศาสตร์

ปี 2555 ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่จำนวน 78 รายยื่นฟ้องต่อศาลปกครองอุดรธานี เพื่อขอให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าเก่ากลอยและป่านากลาง และเพิกถอนใบอนุญาตต่ออายุประทานบัตรของบริษัททำเหมือง 

3 ปีถัดมากลุ่มชาวบ้านดงมะไฟได้รับพระราชทาน “ธงพิทักษ์ป่า เพื่อรักษาชีวิต” ตามโครงการราษฎรอาสาสมัครพิทักษ์ป่า (รสทป.) ซึ่งเกิดจากการดำเนินกิจกรรมในการอนุรักษ์ บำรุงรักษาป่าไม้ และทรัพยากรธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้พวกเขายังเล็งเห็นความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของอาณาบริเวณโดยรอบ ตั้งแต่ภูผายาที่สำรวจพบภาพเขียนสียุคก่อนประวัติศาสตร์ และยังพบชิ้นส่วนพระพุทธรูปบุเงินกำหนดอายุว่าอยู่ในยุคล้านช้าง ชุมชนจึงสร้างสำนักสงฆ์ขึ้น กระทั่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถาน และที่ถ้ำศรีธนเองก็เป็นอีกสถานที่ที่ชาวบ้านอยากให้ขึ้นเป็นโบราณสถานเพื่อการคุ้มครองพื้นที่ เพราะมีการพบหลักฐานโบราณคดีประเภทชิ้นส่วนภาชนะดินเผาทั้งแบบเนื้อดิน(Earthenware) และเนื้อแกร่ง(Stoneware)

 “ตอนนี้ชาวบ้านกังวลว่า ภาพเขียนสีที่ถ้ำภูผายาที่เป็นภาพก่อนประวัติศาสตร์จะได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการของเหมืองหินหรือไม่ แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายงานฉบับนั้น” ทิพย์วรรณ วงศ์อัสสไพบูลย์ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 8 กล่าวถึงรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่กำหนดว่าจะต้องมีคณะกรรมการชุดหนึ่งตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมในเชิงโบราณคดี  

“เราตรวจสอบแหล่งโบราณสถานที่อยู่ใกล้เคียงทุก 3 เดือนว่า ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองหรือไม่ ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีผลกระทบ”  เธอย้ำอีกครั้ง

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ของการขึ้นทะเบียน  เธอตอบว่า “การที่จะทำให้เป็นแหล่งโบราณคดี 100 % ได้หรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้ เพราะสภาพมันแตกต่าง เราจะพิจารณาที่ความเก่าแก่ มีเอกลักษณ์เฉพาะ มีที่เดียว แห่งเดียว มีข้อมูลทางวิชาการที่เพียงพอ และมีการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งมันก็มีขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่จะพิสูจน์อีกครั้ง ตอนนี้ถ้ำศรีธนอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่ค่อนข้างจะยากถ้าไม่มีการขุดค้น”

มองผ่านหลายแว่น – รัฐ ชาวบ้าน และเอ็นจีโอ

“หนึ่งในหลักรัฐธรรมนูญคือเคารพสิทธิชุมชนที่เขียนเอาไว้ ก่อนการตัดสินใจทำอะไร ต้องเคารพเรื่องผลกระทบของชาวบ้าน  อีกอันกฎหมายกรมป่าไม้ การอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าต้องไม่มีประชาชนคัดค้าน  ซึ่งสำคัญมาก เราเลยสงสัยว่าทำไมมีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และ อบต.ต้องฟังความเห็นของภาพรวม เพราะมีอำนาจและหน้าที่ต้องรับฟังความเห็นอย่างรอบด้าน ถึงจะสั่งอนุมัติได้  เวทีนี้เปิดให้ทุกหน่วยงานและชาวบ้านมาช่วยกันหากติการ่วม โดยเฉพาะหลักการรัฐธรรมนูญที่บอกถึงหน้าที่ของตัวละครทั้งหมดที่จะต้องเป็นไป ”  สุนีย์ ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวในเวทีเสวนาหน้าถ้ำศรีธน เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562

ด้านจรูญ วิริยะสังวร  นายอำเภอสุวรรณคูหา ยืนยันกับชาวบ้านดงมะไฟว่าประชาชนต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่ มี 3 หมู่บ้านที่กระทบเรื่องเสียง เรื่องอนามัย  แต่บางทีอาจจะมองคนละระบบ มองผ่านแว่นหลากสี แต่ก็ยืนยันว่าเราทำงานแก้ไขเป็นระบบ เรารู้ดีว่าสิ่งที่พี่น้องรักที่สุดคือธรรมชาติ ตอนนี้ยังไม่มีการอนุมัติใดๆ ทั้งสิ้น เพราะเอกสารต้องสมบูรณ์ทุกอย่างและมีผลประชาพิจารณ์ ตอนนี้จึงอยู่ในชั้นตอนของเอกชนขอต่อใบอนุญาต

สุรชัย ตรงงาม ทนายความจากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กล่าวว่าเป็นเรื่องน่ายินดีที่นายอำเภอยืนยันหลักการดังกล่าว เหมืองหินที่นี่ก็มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ปี 2542 ตอนนี้จะ 20 ปีมาแล้ว และมีความเปลี่ยนแปลงมากมาย หากจะมีการต่อใบอนุญาตต้องได้รับการเห็นชอบจากประชาชน ผลของคำพิพากษาก็ยังพูกผันอยู่ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมาย และตอนนี้ก็มีการขอคุ้มครองชั่วคราวจากศาลปกครอง ให้มีการระงับกิจการโรงโม่หินไว้ก่อน

สมพร เพ็งค่ำ ผู้อำนวยการ Community Health Impact Assessment (CHIA) บอกว่า ตามกฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดไว้ว่าต้องมีการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็น โดยมีมาตรการต่างๆ ออกมาเสนอให้ชาวบ้านพิจารณาว่าจะรับข้อเสนอเหล่านี้ไหม ตั้งแต่ปี 2543 มาชาวบ้านไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการนี้เลย ประชาชนก็มีความกังวล แล้วก็เกิดผลกระทบจริงๆ โดยเฉพาะการสัญจรไปในที่ทำกินที่ต้องผ่านพื้นที่โรงโม่หิน ข้อเรียกร้องคือ ให้บริษัททำการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่

ข้อมูลจากตัวแทนชาวบ้านระบุว่า บริษัทกำลังเร่งดำเนินการต่อใบอนุญาตขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อทำเหมืองหินบนภูผาฮวกอีก 10 ปี ซึ่งถ้าบริษัทสามารถต่อใบอนุญาตได้สำเร็จ ภูเขาและป่าไม้จะถูกระเบิด แหล่งอาหารของชุมชนก็จะสูญหาย และอาจมีการขนเอาแร่ไปขายต่อไปอีกจนถึงปี 2573 

เดิน-ปิด-เหมือง อีกแนวทางแห่งความหวังของการต่อสู้

เมื่อถามว่าจะต่อสู้อย่างไรต่อไปก็ได้คำตอบว่า พวกเขากำลังจัดกิจกรรมเดิน-เปิด-เหมือง จากภูผาฮวกสู่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภูในระหว่างวันที่ 7-12 ธันวาคม 2562 เพื่อบอกเล่าเรื่องราวการต่อสู้ของกลุ่มอนุรักษ์ป่าชุมชนเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได ตลอดระยะเวลากว่า 25 ปีที่ผ่านมา

โดยช่วงกลางวันของทุกวัน จะเป็นขบวน เดิน-ปิด-เหมือง ไปตามเส้นทาง และช่วงกลางคืนของทุกคืนจะมีเวทีเสวนาวิชาการ ได้แก่

คืนวันที่ 1 ประเด็น “หินอุตสาหกรรมและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ”

คืนวันที่ 2 ประเด็น “นิเวศวัฒนธรรมเขาเหล่าใหญ่-ผาจันได”

คืนวันที่ 3 ประเด็น “25 ปี เหมืองหินสุวรรณคูหากับลมหายใจของผู้คน”

คืนวันที่ 4 ประเด็น “สิทธิชุมชน นิเวศนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ”

คืนวันที่ 5 ประเด็น “มรดกหนองบัวลำภู : ประวัติศาสตร์และโบราณคดี”

เพจเหมืองแร่หนองบัวรายงานว่า กลางดึกคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2562  ภายหลังจากเสร็จสิ้นเวทีเสวนาช่วงค่ำ ปรากฏเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.เมืองหนองบัวลำภูเข้ามาสอบถามรายชื่อและนามสกุลของคนที่เข้าร่วมกิจกรรม เดิน-ปิด-เหมือง ทีละคน

บุคคลที่อ้างตัวว่าเป็นผู้กำกับการ สภ.เมืองหนองบัวลำภูได้เข้ามาบอกว่า ชาวบ้านไม่ได้แจ้งการชุมนุมสาธารณะ และไล่ให้ชาวบ้านไปแจ้งการชุมนุมใหม่กับทุก สภ. ที่เดินผ่าน

ตัวแทนชาวบ้านเข้าชี้แจงกรณีดังกล่าวว่า ชาวบ้านแจ้งการชุมนุมสาธารณะอย่างถูกต้องครบถ้วนแล้วกับ สภ.สุวรรณคูหา และเป็นไปตามกฎหมายแล้ว การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบังคับให้เขียนชื่อนามสกุลของผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นการข่มขู่คุกคามผู้ชุมนุม ทำให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมคนอื่นๆ รู้สึกไม่ปลอดภัยต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช้หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่พึ่งกระทำต่อผู้ชุมนุม และมีลักษณะขัดต่อ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

และนั่นจึงมีการโต้เถียงกันเล็กน้อยเกี่ยวกับท่าทีการข่มขู่คุกคามของเจ้าหน้าที่ตำรวจ สุดท้ายทางเจ้าหน้าที่ตำรวจมีท่าทีอ่อนลงและเดินหนีไปขึ้นรถเดินทางกลับ

ชาวบ้านยืนยันจะทำกิจกรรมต่อไปโดยมีหมุดหมายสุดท้ายคือ ช่วงบ่ายวันที่ 12 ธันวาคม 2562 จะเข้ายื่นหนังสือเรียกร้องให้มีการปิดเหมืองหินปูนที่ศาลากลางจังหวัดหนองบัวลำภู เป็นอันเสร็จสิ้นกิจกรรมเดิน-ปิด-เหมืองอย่างมีความหวังว่าจะเห็นความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage