27 กุมภาพันธ์ 2562 เวลา 10.00 น. ศาลปกครองกลางออกนั่งพิจารณาคดีเป็นครั้งแรกในคดีที่วอยซ์ ทีวีฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และสำนักงาน กสทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 โดยตุลาการศาลปกครองจะแถลงข้อเท็จจริงในคดี ก่อนที่ในเวลา 14.00 น. ตุลาการฯจะอ่านคำพิพากษาของคดีนี้
เหตุแห่งคดีนี้สืบเนื่องจากวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 กสทช.ได้ออกคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวี ทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 13-27 กุมภาพันธ์ 2562 ระบุว่า เนื้อหาออกอากาศของวอยซ์ ทีวีส่อสร้างความสับสนขัดต่อประกาศคสช.ที่ 97/2557 จึงผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการฯ ประกอบกับเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากจึงสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี
เมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวีได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง โดยขอให้ศาลปกครองกลางมีคำสั่งหรือคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานีที่ออกเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562, ขอให้เพิกถอนมติกสทช.ครั้งที่ 3/2562 ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการระงับการออกอากาศ และเพิกถอนบันทึกข้อตกลงระหว่างวอยซ์ ทีวีและสำนักงานกสทช. ระหว่างนี้ขอให้ศาลปกครองทุเลาคำสั่งระงับการออกอากาศทั้งสถานี
ต่อมาวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2562 ศาลปกครองกลางนัดไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งของกสทช. โดยหลักแล้ววอยซ์ ทีวีสู้ว่า การปิดวอยซ์ ทีวีในช่วงการเลือกตั้งสร้างความเสียหายในการรับรู้ข่าวสารของประชาชน และธุรกิจของวอยซ์ ทีวีเองด้วย นอกจากนี้กสทช.ยังได้รับการคุ้มครองจากคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง, อาญาและวินัย จึงเกรงว่า สถานะของ กสทช.จะหลุดออกจากหลักนิติรัฐ ขณะที่กสทช.สู้ว่า การออกคำสั่งของกสทช.ปฏิบัติตามกฎหมายทุกประการและวอยซ์ ทีวีได้เผยแพร่เนื้อหาสร้างความสับสนและผูกตัวเองเข้ากับอุดมการณ์ฝั่งใดฝั่งหนึ่ง หากยังปล่อยให้ออกอากาศต่อไปจะทำให้เกิดการแบ่งแยกไม่เป็นการปรองดองสมานฉันท์หรือไม่
ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า คำสั่งของกสทช. น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงทุเลาคำสั่งของ กสทช.ไว้ระหว่างการพิจารณาคดี ทำให้ในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2562 วอยซ์ ทีวีกลับมาออกอากาศได้เป็นปกติ ขณะที่ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงวอยซ์ ทีวีได้สู้ในประเด็นหลักคือ การออกคำสั่งของกสทช.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย, การแสดงความคิดเห็นเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชนและสื่อมวลชนและ กสทช.ขาดความเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์เนื้อหาและกระบวนการทำข่าว
ที่ผ่านมารัฐบาลคสช.ได้ออกประกาศและคำสั่งในการจำกัดเสรีภาพของสื่อมวลชน ฉบับหลักที่นำมาใช้คือ ประกาศคสช.ที่ 97/2557 ที่มีเนื้อหาห้ามสื่อวิพากษ์วิจารณ์คสช.และเสนอข่าว ‘ส่อ’ สร้างความสับสนแก่ประชาชน ที่มีความหมายกว้างขวางอย่างมาก โดยคำว่า ‘ส่อ’ ไม่จำเป็นต้องเกิดผลสับสนจริง, ประกาศ คสช.ที่ 103/2557 ที่แก้ไขให้วิจารณ์คสช.ได้แต่ต้องไปด้วยความสุจริต และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 41/2559 คุ้มครองให้ กสทช. ทำหน้าที่โดยไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง,ทางอาญาและทางวินัย
ผู้ใช้อำนาจตามประกาศและคำสั่งเหล่านี้คือ กสทช. โดยที่ผ่านมาลงโทษสื่อการเมืองไปไม่น้อยกว่า 59 ครั้ง วอยซ์ ทีวีถือเป็นสื่อที่โดนลงโทษมากที่สุด 24 ครั้ง โดยการลงโทษขั้นหนักที่สุดคือ การระงับการออกอากาศทั้งสถานีเป็นเวลา 15 วันในปี 2560 และปี 2562 นี้
ข้อมูลเพิ่มเติม
๐ เปิดคำเบิกความ กรณีวอยซ์ ทีวีขอศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉินทุเลาคำสั่งกสทช.
๐ ศาลปกครองไต่สวนข้อเท็จจริงคดีวอยซ์ ทีวีฟ้องกสทช.
๐ สถิติการพิจารณาลงโทษสื่อมวลชนภายใต้กลไก กสทช.
๐ ปัญหาของการพิจารณาลงโทษสื่อ โดยกลไก กสทช.