#Attitude adjusted? พี่ “จี๊ด” : แกนนำแดงอุดรผู้ถูกเรียกเข้าค่ายสามครั้ง

“ถามว่าเราเป็นแกนนำไหม?…ก็ใช่ เพราะว่าเวลามีกิจกรรมอะไร เราจะเป็นคนคอยประสานงาน หารถให้ มันก็ทำให้เขา(ทหาร) เข้าใจได้ว่าเราเป็นแกนนำ ทั้งๆที่อาชีพของเราจริงๆ คือค้าขาย และทำไร่ทำนา”
 
พี่ “จี๊ด” หญิงวัยกลางคนชาวจังหวัดอุดรธานีเริ่มเปิดอกถึงความเป็นมาเป็นไปที่ทำให้เธอตกเป็นบุคคลเป้าหมายของคสช. หลังการรัฐประหารและเป็นที่มาของการถูกเรียกปรับทัศนคติถึงสามครั้ง 
 
แม้ว่าการไปเยือนค่ายทหารของพี่”จี๊ด”จะเป็นแบบ “เช้าไปเย็นกลับ” ไม่ต้องนอนค้างอ้างแรมอยู่ในค่ายแต่นั่นก็เพียงพอแล้วที่จะสร้างความกังวลให้กับพี่ “จี๊ด” จนต้องขอให้ไอลอว์ไม่เปิดเผยชื่อเสียงเรียงนามหรือภาพถ่ายของเธอต่อสาธารณะชน
 
ไปทำอะไรมาถึงถูกปรับทัศนคติรอบแรก? 
 
“พี่เริ่มเข้ามาทำกิจกรรมทางการเมืองตั้งแต่ปี 2553 หลังเหตุการณ์สลายการชุมนุม ตอนนั้นมีการเลือกตั้งแล้วนายกยิ่งลักษณ์ก็ชนะการเลือกตั้ง ตั้งแต่นั้นมาตัวพี่ก็มีบาบาทในการเคลื่อนไหวมากขึ้น ประมาณช่วงต้นปี 2554 พี่กับเพื่อนๆเริ่มทำกลุ่ม “สมาพันธ์หมู่บ้านเสื้อแดง” เดินสายให้ความรู้เรื่องประชาธิปไตย มีวิทยากรไปบรรยาย และมีกิจกรรมเปิดป้าย “หมู่บ้านคนเสื้อแดง รักประชาธิปไตย นอกจากนั้นก็มีการรวมตัวทำกิจกรรมเกี่ยวกับอาชีพเช่นการเกษตรหรือขายปุ๋ยด้วย”
 
“ช่วงก่อนยึดอำนาจพี่ก็ลงมาร่วมชุมนุมกับเขาที่ถนนอักษะ พอมีการยึดอำนาจพี่ก็ไม่ได้กลับบ้าน หลบไปอยู่เงียบๆประมาณ 15 วัน เสร็จแล้วก็มีคนโทรบอกว่าไม่มีอะไรแล้ว ไม่ได้ถูกดำเนินคดีอะไร พอพี่ออกมาก็ปรากฎว่ามีทหารมาที่บ้าน ก่อนหน้าที่พี่จะกลับมาทหารเค้าก็มาที่บ้านพี่อยู่แล้วเพียงแต่เค้าไม่เจอพี่
 
“พี่จี๊ด” ย้อนรำลึกถึงความหลังช่วงก่อนหน้าที่เธอจะถูกปรับทัศนคติครั้งแรก
 
“ทหารที่มาหาพี่ที่บ้านรอบแรกเป็นทหารในพื้นที่ พี่ก็ตอบเค้าไปว่าพี่ไปชุมนุม(ที่อักษะ)จริง ครั้งแรกก็ไม่มีอะไร แต่พอทหารกลุ่มนั้นกลับไปได้ประมาณ 2-3 วัน ก็มีจดหมายมาจากค่ายมทบ. 24 (ค่ายประจักษ์ศิลปาคม) เชิญพี่ไปพูดคุย”
 
“ก่อนถึงวันนัดเค้าถามว่าจะขับรถไปเองหรือให้ไปรับ พี่ก็บอกว่าจะไปเอง พอถึงวันนัดนอกจากพี่แล้วก็มีคนถูกเรียกเข้าค่ายด้วยกันอีกสามคนรวมเป็นสี่คน พี่ขับรถไปถึงที่ค่ายประมาณเก้าโมง เข้าไปถึงก็มีทหารพาพวกพี่เข้าห้องไปคุยกับทหารยศนายพันทีละคน คุยเรื่องสารทุกข์สุขดิบทั่วไป คุยเสร็จเค้าก็เลี้ยงข้าวกลางวัน หลังกินข้าวถึงเริ่มคุยจริงจังกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่อีกคนหนึ่ง”
 
แล้วคุยอะไรกัน?
 
“เค้าก็ขอร้องไม่อยากให้เคลื่อนไหว กลัวจะเป็นตัวอย่างให้กลุ่มอื่นๆทำตาม กลัวจะมีมือที่สามเข้ามา”  
 
“เค้าพยายามบอกพี่ว่าต้องมองภาพยาวๆว่าทหารเข้ามาทำไม มาแก้ปัญหาอะไร พี่ก็เลยบอกไปว่าประชาชนทั่วไปเค้าไม่มองขนาดนั้นหรอก เค้ามองว่าวันนี้พรุ่งนี้เค้าจะมีกินมั้ย” 
 
พี่ “จี๊ด” เล่าถึงบทสนทนาที่นายทหารชั้นผู้ใหญ่คู่สนทนาพยายามจะเปลี่ยนความคิดและทัศนคติของเธอ ซึ่งการพูดคุยในรอบบ่าย พี่ “จี๊ด” และคนที่เข้าค่ายพร้อมกับเธออีกสองคนได้พูดคุยกับนายทหารชั้นผู้ใหญ่พร้อมกัน
 
คุยเสร็จแล้วทหารมีข้อเรียกร้องอะไรไหม?
 
“เค้าก็ขอว่าไม่ให้เคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่ให้เรียกชาวบ้านมาชุมนุม พี่เลยถามว่าอ้าวแล้วถ้าพี่ทำธุรกิจต้องเรียกชาวบ้านมาฟังบรรยายอย่างเรื่องขายปุ๋ยจะทำยังไง ทหารก็ได้แต่เกาหัว สงสัยคงรำคาญพี่มั้ง (หัวเราะ) แล้วก็บอกว่าก็ได้แต่อย่าให้มีเรื่องการเมือง แต่พี่ก็ยอมรับว่าเขา(นายทหารชั้นผู้ใหญ๋) ก็พูดดีอยู่นะ” 
 
หลังเสร็จการพูดคุยเธอก็ได้รับการปล่อยตัวกลับบ้านในวันเดียวกันเลยไม่ต้องเป็น”แขกรับเชิญ” ค้างคืนในค่ายทหาร 
 
แม้จะไม่ต้องนอนในค่ายและทหารที่มาคุยกับเธอก็คุยด้วยดีแต่พี่จี๊ดก็มองว่า 
 
“เหมือนเขากดดันพี่กลายๆนะ ว่าอย่าเพิ่งไปเคลื่อนไหว ให้ดูคสช.บริหารงานไปก่อน พอพี่ถามกลับไปว่าทำไมต้องทำรัฐประหาร ทำไมไม่เข้ามาตามระบอบประชาธิปไตย คือคนที่มาชุมนุมเค้าก็แสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย มาชุมนุมก็ไม่มีอาวุธ ทำไมถึงต้องเอาปืนไปจี้ ไปยึด เค้าก็บอกว่าคสช.จำเป็นต้องทำรัฐประหาร เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและป้องกันมือที่สามเข้ามาก่อเหตุ ถ้าปล่อยไว้เกิดมีคนฆ่ากันตายจะทำยังไง” 
 
พี่ “จี๋ด” ระบุด้วยว่าเธออยากจะตอบกลับไปว่า “แล้วพวกท่าน(ทหาร) รู้ได้ยังไงว่ามีมือที่สาม แล้วถ้ารู้ทำไมไม่ไปจัดการมือที่สาม มายึดอำนาจทำไม” แต่สุดท้ายเธอก็ตัดสินใจเลือกที่จะเงียบเอาไว้เพราะคิดว่ายังไงก็คงสู้ไม่ได้
 
ก่อนออกจากค่ายพี่ “จี๊ด” ต้องเซ็นข้อตกลง (MOU) กับทางทหารว่าจะไม่เคลื่อนไหวทางการเมือง “ทหารเขาบอกว่าอยู่จังหวัดเดียวกัน พบกันครึ่งทาง จะได้คุยกันรู้เรื่อง พวกผมก็ทำตามหน้าที่ แต่เราต้องพบกันครึ่งทาง ถ้าผมไม่ได้ตรงนี้คุณก็คงรู้นะว่าพวกผมจะต้องเจอกับอะไรบ้าง พี่ก็เข้าใจเขานะก็เลยยอมเซ็น แต่ตอนออกจากค่ายเค้าก็ไม่ได้ให้พี่ถือเอกสารออกมานะ”
 
เห็นว่าหลังจากครั้งแรกก็ยังโดนเรียกปรับทัศนคติอีกครั้ง?
 
“พอโดนรอบแรกพี่ก็ไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรอีกนะ เพราะเราเป็นไม้ไผ่ต้องลิ่วตามลม จะไปแข็งขืนคงไม่ได้ พี่ก็คุยกับเพื่อนๆว่าจะงดเคลื่อนไหว เงียบไปก่อน ผ่านไปถึงปี 58 มีหนังสือ “เชิญ” พี่ไปงานที่ราชภัฎอุดร เป็นการอบรมของคสช. ระหว่างการบรรยายพี่ก็ไม่ได้ยกมือหรือขัด ตอนสุดท้ายก็มีการมีการแจกแบบสอบถามที่มีคำถามประมาณสิบข้อ มีข้อหนึ่งถามว่า“คิดเห็นอย่างไรกับการบริหารงานของ คสช.” พี่ก็จัดเต็มเลยโดนเรียกอีกรอบ”
 
“พี่ตอบเค้าไปตรงๆว่าไม่ชอบการรัฐประหาร ไม่ชอบการบริหารแบบนี้ พี่ชอบระบอบประชาธิปไตยเพราะทั่วโลกเขายอมรับการปกครองระบอบประชาธิปไตย จำได้ว่าวันนั้นเขียนยาวมา พอส่งแบบฟอร์มก็กลับบ้าน ไม่มีอะไร ผ่านไปเดือนกว่าๆก็มีหนังสือจากมทบ.24 เชิญพี่เข้าค่ายอีกแล้ว”
 
“คราวนี้พี่คนที่คุยกับพี่เป็นทหารยศนายพัน พี่ก็ถามเค้าว่าครั้งนี้เรียกพี่มาเพราะอะไร เขาก็บอกว่าเป็นเรื่องที่พี่ไปงานที่ราชภัฎอุดร พี่ก็ท้วงเค้าไปเลยว่าก็ไหนทางท่าน(ทหาร)ให้เสรีภาพในการตอบคำถาม ทหารคนนั้นก็ตอบพี่ว่าก็ให้เสรีภาพแต่ก็อยากรู้ความคิดของคุณ พี่ก็บอกว่าความคิดของพี่พี่ก็เขียนไปหมดแล้ว ทหารคนนั้นก็ครับๆแล้วก็ชวนพี่คุยเล่น”
 
“เค้าถามพี่ด้วยว่าจะเปิดใจรอดูผลงาน(คสช.)อีกสักปีหนึ่งได้ไหม พี่ก็บอกว่ารอดูผลงานอยู่ รอมากๆด้วย รอว่าจะมีอะไรดีๆมาให้คนรากหญ้าบ้าง”
 
หลังจากสองรอบนี้แล้วยังถูกเรียกเข้าค่ายอีกไหม?
 
“ช่วงเดือนพฤษภาคม (ปี 2559) พอเขารู้ข่าวว่าพวกพี่จะเปิดศูนย์ปราบโกง(ประชามติ) ก็เชิญพี่กับแกนนำคนเสื้อแดงในพื้นที่อื่นๆของจังหวัดอุดรเข้าค่ายอีกรอบ”
 
“ครั้งนี้พวกพี่นั่งกันตัวลีบเลย เพราะไม่ได้มีแค่ทหารแต่มีผู้ว่าราชการจังหวัด กอ.รมน. ผู้กำกับสภ.เมืองมาด้วย วันนั้นผู้ว่านั่งหัวโต๊ะเลย วันนั้นเค้าไม่ได้ยึดมือถือ พวกพี่ก็เลยถ่ายรูประหว่างการพูดคุยไว้ด้วย เค้าก็พยายามขอร้องพวกพี่ว่าอย่าเปิดได้ไหมศูนย์ปราบโกงเนี่ย ตอนแรกพวกพี่ก็ไม่ได้รับปาก แต่ครั้งนี้เค้าพูดเจาะจงเลยว่าไม่ให้เปิด พี่ก็เถียงว่า เห็นท่านประยุทธ์พูดว่าเปิดได้นี่คะ ช่วยกันปราบโกง  เขาก็ย้ำอีกว่าขออย่าให้เปิด แต่สุดท้ายพี่ก็เปิดจนโดนคดีชุมนุมห้าคน”
 
“เบื่อเหมือนกันนะ ถูกเรียกบ่อยๆแบบนี้” พี่”จี๊ด”ไม่วายตัดพ้อถึงชะตากรรมของตัวเองที่ถูกเชิญเข้าค่ายทหารไปแล้วสามครั้ง
 
หลังจากสามครั้งนี้แล้วยังถูกเรียกเข้าค่ายอีกไหม?
 
“หลังเค้าค่ายครั้งที่สามก่อนที่พี่จะเปิดศูนย์ปราบโกงพี่ก็ไม่ถูกเรียกเข้าค่ายแล้ว แต่จะมีทหารแวะเวียนมาที่บ้านอยู่บ่อยๆ มาถ่ายรูป เวลาพี่จะออกนอกจังหวัดบางทีก็ต้องแจกพวกเขา เมื่อก็แจ้งทหารเดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาแจ้งสันติบาลแทน
 
ตอนเข้าค่ายรู้สึกกลัวทหารหรือไม่ และคิดว่าการถูกพาไป “ปรับทัศนคติ” ทำให้ความคิดความเชื่อเราเปลี่ยนไปหรือไม่?
 
“เรื่องความคิดคงไม่เปลี่ยนเพราะพี่ก็เชื่อของพี่อย่างงี้ พี่รู้ว่าสิ่งที่เขาพูดมาทั้งหมด มันไม่ใช่ความจริง จะเปลี่ยนใจคน มันเปลี่ยนกันไม่ได้ง่ายๆ นะ คนเขามีประสบการณ์เคยเห็นมาอย่างนี้ แล้วจะมาเปลี่ยนกะทันหัน มันเป็นไปได้เหรอ ปรับทัศนคติ ปรับไปก็แค่นั้นเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ต่อให้เอาเขาไปขัง ก็เปลี่ยนเขาไม่ได้ คุณขังได้แต่ตัว คนมันรักไปแล้วศรัทธาไปแล้ว ความศรัทธามันลบยาก”
 
ถ้าอยากให้คนมีทัศนคติที่ดีต่อทหารต้องทำอย่างไร?
 
“คุณก็ต้องทำหน้าที่ของคุณ คณเป็นทหาร คุณก็ไปทำหน้าที่เป็นทหารไปสิ จะไปสั่งลูกน้องในกรม คุณจะมายุ่งการเมืองทำไม การเมืองมันเป็นเรื่องของนักบริหารเขา การเมืองเหมือนธุรกิจเลยนะ ถ้าบริหารเป็นก็เจริญรุ่งเรือง ถ้าคุณบริหารเสียหายละ มันก็เป็นแบบทุกวันนี้ไง”
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage