ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือก็มีความผิด จำคุกสูงสุด 6 เดือน!

ในกระบวนการสืบสวนสอบสวนผู้ต้องหาในคดีอาญา หนึ่งในขั้นตอนของการสืบสวนอย่าง ‘การพิมพ์ลายนิ้วมือ’ เป็นขั้นตอนตามปกติอย่างหนึ่งที่ตำรวจต้องเก็บประวัติของผู้ต้องหา เพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และบันทึกเอาไว้สำหรับกรณีที่มีการกระทำความผิดซ้ำอีก การถูกจับพิมพ์ลายนิ้วมือจนนิ้วดำจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการกลายเป็นผู้ต้องหาในคดี
แต่สำหรับผู้ต้องหาบางคนที่ถูกจับกุมตั้งข้อหาด้วยมูลเหตุจูงใจจากความคิดเห็นทางการเมือง และผู้ต้องหารู้สึกว่า การดำเนินคดีกับเขาเป็นการกลั่นแกล้งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ต้องหาจึงเลือกที่จะปฏิเสธ ไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เพื่อเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งว่า ไม่ยอมรับและไม่ขอมีส่วนร่วมในการดำเนินคดีตามข้อหานั้นๆ
อย่างไรก็ดี “การไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ” อาจไม่ใช่เพียงการแสดงออกเพื่อปฏิเสธกระบวนการที่สามารถทำได้โดยไม่มีต้นทุน เพราะมีประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับที่ 25/2549 กำหนดความผิดเกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือ หรือลายเท้า โดยเฉพาะ ซึ่งความผิดของการฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ ให้มีโทษจำคุกสูงสุด 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
คปค. คือ คณะรัฐประหารที่เข้ายึดอำนาจจากการรัฐประหารเมื่อปี 2549 และต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) อยู่ในอำนาจนาน 1 ปี 4 เดือน ประกาศฉบับนี้จึงเป็น “กฎหมาย” ที่ออกโดยอำนาจพิเศษของคณะรัฐประหาร โดยไม่มีการมีส่วนร่วม และไม่มีที่มายึดโยงกับประชาชน
ทั้งนี้ การให้ผู้ต้องหาพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 132(1) และการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร จึงเป็นความผิดอยู่แล้วตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 368 ซึ่งมีโทษที่ไม่รุนแรง จำคุกสูงสุดไม่เกิน 10 วัน หรือปรับสูงสุดไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
          มาตรา 132  เพื่อประโยชน์แห่งการรวบรวมหลักฐาน ให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจ ดังต่อไปนี้
          (1) ตรวจตัวผู้เสียหายเมื่อผู้นั้นยินยอม หรือตรวจตัวผู้ต้องหา หรือตรวจสิ่งของหรือที่ทางอันสามารถอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ ให้รวมทั้งทำภาพถ่าย แผนที่ หรือภาพวาดจำลอง หรือพิมพ์ลายนิ้วมือ ลายมือหรือลายเท้า กับให้บันทึกรายละเอียดทั้งหลายซึ่งน่าจะกระทำให้คดีแจ่มกระจ่างขึ้น
          ในการตรวจตัวผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาตามวรรคหนึ่ง หากผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาเป็นหญิง ให้จัดให้เจ้าพนักงานซึ่งเป็นหญิงหรือหญิงอื่นเป็นผู้ตรวจ ทั้งนี้ ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาจะขอนำบุคคลใดมาอยู่ร่วมในการตรวจนั้นด้วยก็ได้
          (2) ค้นเพื่อพบสิ่งของ ซึ่งมีไว้เป็นความผิด หรือได้มาโดยการกระทำผิด หรือได้ใช้หรือสงสัยว่าได้ใช้ในการกระทำผิด หรือซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยค้น
          (3) หมายเรียกบุคคลซึ่งครอบครองสิ่งของ ซึ่งอาจใช้เป็นพยานหลักฐานได้ แต่บุคคลที่ถูกหมายเรียกไม่จำต้องมาเอง เมื่อจัดส่งสิ่งของมาตามหมายแล้ว ให้ถือเสมือนว่าได้ปฏิบัติตามหมาย
          (4) ยึดไว้ซึ่งสิ่งของที่ค้นพบหรือส่งมาดังกล่าวไว้ในอนุมาตรา (2) และ (3)
ประมวลกฎหมายอาญา
          มาตรา 368  ผู้ใดทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบวัน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
          ถ้าการสั่งเช่นว่านั้น เป็นคำสั่งให้ช่วยทำกิจการในหน้าที่ของเจ้าพนักงานซึ่งกฎหมายกำหนดให้สั่งให้ช่วยได้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
*อัพเดท* 
กฎหมายเกี่ยวกับการพิมพ์ลายนิ้วมือ และสถานการณ์ในทางปฏิบัติมีการปรับเปลี่ยน

สามารถทำความเข้าใจเพิ่มเติมได้ที่ https://freedom.ilaw.or.th/node/1021

คดี “คาร์บอม” ก่อนรัฐประหาร 2549 ผู้ต้องหาก็ไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ
24 สิงหาคม 2549 หน่วยรักษาความปลอดภัยของทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ตรวจสอบพบรถเก๋งยี่ห้อแดวู จอดอยู่บริเวณเส้นทางที่ขบวนรถของทักษิณต้องผ่าน เมื่อตรวจค้นพบวัตถุระเบิดและอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นระเบิดได้ และควบคุมตัวร.ท.ธวัชชัย กลิ่นชะนะได้จากที่เกิดเหตุ คดีนี้มีชื่อเสียงรู้จักกันว่า “คดีคาร์บอม”
ต่อมาคดีนี้มีการขยายพลไปยังนายทหารระดับสูงหลายคนเพิ่มเติมอีก พล.ต.ไพโรจน์ ธีระภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาคดีนี้ที่เดินทางเข้ามอบตัวเองที่กองปราบปราม เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2549 ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่า หลังจากเข้ารายงานตัวแล้วพล.ต.ไพโรจน์ปฏิเสธการพิมพ์ลายนิ้วมือ ต่อมาจึงถูกร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีเนื่องจากการไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออีก เป็นการดำเนินคดีในข้อหา ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 ซึ่งเป็นกฎหมายเท่าทีมีอยู่ในขณะนั้น
ในคดีเกี่ยวกับการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ พล.ต.ไพโรจน์ ไม่ได้มาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียก และต่อมาถูกศาลทหารออกหมายจับ แต่อย่างไรก็ดี หลังการปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือได้ 12 วัน คปค. ก็ทำรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง และอีก 10 วันถัดมา คปค. ก็ออกประกาศฉบับที่ 25 กำหนดให้การไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นความผิดพิเศษต่างหากมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในยุค คสช. ผู้ต้องหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมืออีกเพียบ
ในยุคสมัยตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครอง คดีความที่เกิดจากความคิดเห็นทางการเมืองมีจำนวนพุ่งสูงขึ้น นักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสันติเพื่อคัดค้านรัฐบาลเผด็จการหลายร้อยคนถูกจับกุมด้วยอำนาจพิเศษตามคำสั่งหัวหน้า คสช. และดำเนินคดีฐานฝ่าฝืน “กฎหมาย” ที่ คสช. เป็นคนออกเอง พวกเขาจำนวนหนึ่งเลือกที่จะแสดงออกว่า ปฏิเสธการใช้อำนาจจับกุมดำเนินคดีเช่นนี้ โดยการปฏิเสธไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นเหตุให้ตำรวจและทหารยกประกาศ คปค. ที่ออกเมื่อปี 2549 มาเป็นเครื่องมือเล่นงานนักกิจกรรมเหล่านี้เพิ่มเติม ตัวอย่างเช่น
23 มิถุนายน 2559 นักกิจกรรม นักศึกษา และกลุ่มนักเคลื่อนไหวด้านแรงงาน รวมตัวกันทำกิจกรรมแจกแผ่นพับใบปลิวและเอกสารให้ความรู้เรื่องร่างรัฐธรรมนูญและการลงประชามติ บริเวณพื้นที่ตลาดเคหะบางพลี จ.สมุทรปราการ ต่อมาผู้ต้องหา 13 คนถูกทหารเข้าจับกุม และแจ้งข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ข้อหาก่อความวุ่นวายในการลงประชามติ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 (1) วรรคสอง และวรรคสาม ผู้ต้องหา 8 คน ปฏิเสธไม่ยอมรับการจับกุมและดำเนินคดีครั้งนี้ โดยการไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ ไม่ให้การ และไม่ยื่นขอประกันตัว เนื่องจากยืนยันว่าไม่ได้กระทำผิดกฎหมาย ทำให้พวกเขา 8 คน ถูกแจ้งข้อหาเพิ่มเติม ตามประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549
10 กรกฎาคม 2559 นักกิจกรรมสี่คนและผู้สื่อข่าวเว็บไซต์ประชาไทอีกหนึ่งคน ถูกจับกุมที่อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เนื่องจากในรถมีสิ่งของเกี่ยวกับการคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ และมีพฤติกรรมแจกจ่ายสติ๊กเกอร์ที่มีข้อความรณรงค์ให้ “โหวตโน” ทั้งหมดถูกแจ้งข้อหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ผู้ต้องหาสี่คนเห็นว่า การจับกุมครั้งนี้ไม่ถูกต้องชอบธรรม จึงปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามที่พนักงานสอบสวนสั่ง และถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 ด้วย ส่วนผู้ต้องหาอีกหนึ่งคนถูกควบคุมตัวมาทีหลังจากคนอื่น จึงยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ
29 มกราคม 2561 ศาลจังหวัดราชบุรีอ่านคำพิพากษายกฟ้องห้าจำเลย ในข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานมายืนยันว่าจำเลยทั้งห้าแจกจ่ายเอกสารต่อบุคคลอื่น สำหรับจำเลยที่หนึ่งถึงที่สี่ซึ่งถูกกล่าวหาว่าไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือตามคำสั่งเจ้าพนักงานอันเป็นความผิดตามคำสั่งคปค ฉบับที่ 25/2549 ให้ลงโทษจำคุกปรับ 1000 บาท แต่จำเลยให้การรับสารภาพลดโทษเหลือปรับ 500 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสี่เคยถูกคุมขังในสภ.บ้านโป่งแล้วหนึ่งคืน จึงถือเป็นการกักขังแทนค่าปรับในอัตราวันละ 500 บาท จำเลยจึงไม่ต้องชำระค่าปรับ
6 สิงหาคม 2559 ก่อนการลงประชามติหนึ่งวัน จตุภัทร์ หรือ “ไผ่ ดาวดิน” และวศิน ถูกจับจากการไปแจกเอกสารรณรงค์ “โหวตโน” ที่ตลาดในอ.ภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ และถูกตั้งข้อหาร่วมกันเผยแพร่ข้อความ ภาพ ในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะปลุกระดม โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่ออกเสียง ผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 61 วรรคสอง ในวันที่ถูกจับกุมทั้งสองคนปฏิเสธไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ ตามที่พนักงานสอบสวนสั่ง และถูกแจ้งข้อกล่าวหาว่า ฝ่าฝืนประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 ด้วย ทั้งสองคนยังแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยต่อการจับกุม โดยการอดข้าวประท้วงด้วย
29 มีนาคม 2561 ศาลจังหวัดภูเขียวอ่านคำพิพากษาว่า การแจกเอกสารดังกล่าวไปเป็นโดยการใช้สิทธิเสรีภาพ ไม่เข้าข่ายการปลุกระดม ให้ประชาชนเกิดการลุกฮือ เป็นแต่เพียงการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นสิทธิเสรีภาพที่สามารถทำได้ ให้ยกฟ้องในข้อหาตามพ.ร.บ.ประชามติฯ แต่ในข้อหาไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือให้ปรับคนละ 1,000 บาท เนื่องจากจำเลยทั้งสองทำการสารภาพลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงเหลือปรับคนละ 500 บาท
จากตัวอย่างสองคดีหลังจะเห็นได้ว่า สุดท้ายคำพิพากษาของศาลก็ยกฟ้อง เท่ากับเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเลยต้องการยืนยันและแสดงออกมาโดยตลอด และการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือก็เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามแสดงออกถึงสิ่งที่สุดท้ายศาลก็ได้ยืนยันความจริงไว้แล้วเท่านั้น แต่การเลือกวิธีแสดงออกเช่นนี้ก็กลับเป็นช่องให้ถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งฐานความผิด ทำให้ผู้ต้องหาที่พยายามจะยืนยันความบริสุทธ์ของตัวเองต้องรับภาระทางคดีเพิ่มขึ้นอีก
ข้อหาไม่พิมพ์ลายนิ้วมือ เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนที่สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบจาก “กฎหมาย” ที่ออกมาด้วยอำนาจพิเศษของการรัฐประหาร โดยไม่ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมหรือไม่ผ่านการถ่วงดุลอำนาจให้การประกาศออกมา แม้ว่ารัฐประหารในปี 2549 จะผ่านไปจนเกิดรัฐประหารขึ้นอีกรอบ แต่ ประกาศ, คำสั่ง ต่างๆ ของ คปค. ก็ไม่ได้หายไปไหน ยังถูกนำมาใช้ได้จนถึงทุกวันนี้ โดยบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทั้งตำรวจ อัยการ และศาล ก็รับรองและบังคับใช้ประกาศเหล่านี้เสมือนหนึ่งเป็นกฎหมาย โดยยังไม่มีกำหนดเวลาว่า ประกาศและคำสั่งพิเศษเหล่านี้จะยังต้องบังคับใช้ต่อไปจนถึงเมื่อใด ในยุคของ คสช. ก็มีการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่ง เพื่อกำหนดความผิดจากการกระทำต่างๆ คอยควบคุมพฤติกรรมของประชาชนเป็นจำนวนมากเช่นกัน โดยมีรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 กำหนดให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ชอบด้วยกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ตลอดไป
ในอนาคตเราอาจได้เห็นการนำประกาศของคณะรัฐประหารในอดีตมา กลับมาใช้เพื่อลงโทษประชาชนได้อีก ดังเช่นกรณีของประกาศ คปค. ฉบับที่ 25/2549 เว้นเสียแต่ว่า ประชาชนจะร่วมกันส่งเสียงได้ดังพอเพื่อให้ออกกฎหมายมายกเลิกประกาศ และคำสั่ง ที่ถูกประกาศใช้โดยไม่ผ่านความเห็นชอบของประชาชนเช่นนี้
Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage