กฎหมายละเมิดอำนาจศาล การชั่งน้ำหนักระหว่างความศักดิ์สิทธิ์ของศาล กับเสรีภาพในการแสดงออก

กฎหมายละเมิดอำนาจศาลถูกกำหนดขึ้นเพื่อป้องกันการแทรกแซงหรือการขัดขวางกระบวนการยุติธรรม โดยมีการกำหนดบทลงโทษเพื่อสงวนไว้ซึ่งอำนาจและความน่าเชื่อถือในการพิจารณาคดีของศาลรวมทั้งกำหนดให้การกระทำบางอย่างที่อาจทำให้ประชาชนผู้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมไม่ได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรมเป็นความผิด

การขัดกันระหว่างเสรีภาพของสื่อมวลชนหรือเสรีภาพในการแสดงออกของบุคคลทั่วไปเกี่ยวกับคดีสำคัญ กับสิทธิของคู่ความในการได้รับการพิจารณาคดีที่เป็นธรรมและไม่ถูกสังคมตัดสินไปก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษามักจะเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง งานชิ้นนี้จึงมุ่งหาคำตอบว่าในประเทศอื่นๆที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยสถาบันตุลาการมีการสร้างความสมดุลระหว่างการปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก กับสิทธิในทางคดีของคู่ความอย่างไร

รวมทั้งหาคำตอบว่าสถาบันตุลาการของประเทศตัวอย่างได้แก่สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และประเทศยุโรปที่ยอมรับเขตอำนาจศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีกลไกทางกฎหมายอะไรที่ใช้ตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจขององค์กรตุลาการที่มีตามกฎหมายละเมิดอำนาจศาลในการดำเนินคดีบุคคลที่แสดงความคิดเห็นในลักษณะที่อาจกระทบสิทธิของคู่ความหรือวิพากษ์วิจารณ์องค์กรตุลาการเอง

การชั่งน้ำหนักสิทธิของคู่ความกับเสรีภาพสื่อในการรายงานข่าวคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา

กรณีสหราชอาณาจักร

หนึ่งในข้อห้ามตามกฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่อาจขัดต่อหลักเสรีภาพการแสดงออกหรือเสรีภาพของสื่อมวลชนคือการห้ามตีพิมพ์เผยแพร่เนื้อหาที่มีความเสี่ยงว่าจะก่อให้เกิดอคติต่อคู่ความในคดีระหว่างที่การพิจารณาคดียังไม่สิ้นสุด ข้อห้ามที่ว่านี้กำหนดขึ้นมาเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้พิพากษาหรือลูกขุนถูกกระแสสังคมที่เกิดขึ้นจากการเสนอข่าวอย่างคึกโครมกดดันจนอาจตัดสินคดีโดยไม่เที่ยงธรรม นอกจากนี้ข้อห้ามที่ว่ายังกำหนดขึ้นเพื่อคุ้มครองสิทธิในการได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดเป็นอย่างอื่น ซึ่งถือเป็นหนึ่งในสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ได้รับการคุ้มครองตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) โดยในกรณีนี้การเผยแพร่ข้อมูลที่อาจสร้างอคติในหมู่ลูกขุน เช่น ความผิดก่อนหน้าของจำเลยซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีปัจจุบันจึงอาจเข้าค่ายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

ในสหราชอาณาจักร กฎหมายการละเมิดอำนาจศาลปี 2524 กำหนดการตรวจสอบทางกฎหมายเพื่อบ่งชี้ว่ามีการกระทำความผิดไว้ในมาตรา 2(2)ว่า “การกำหนดความรับผิดตามกฎหมายนี้ หมายรวมเฉพาะการเผยแพร่เนื้อหาที่เป็นภัยอย่างชัดแจ้งหรือก่อให้เกิดอคติอย่างร้ายแรงต่อกระบวนการยุติธรรมที่กำลังดำเนินอยู่” ดังนั้น การจะชี้ว่าการแสดงออกหรือการให้ความเห็นใดเป็นการกระทำผิด จะต้องชี้ให้ได้ว่ามีภยันตรายอันชัดแจ้งเกิดขึ้นและภยันตรายนั้นจะก่อให้เกิดอคติอย่างรุนแรงต่อการพิจารณาคดีที่ดำเนินอยู่

ตัวอย่างที่ชัดเจนของการระบุวามผิดตามตัวบทข้างต้นได้แก่ กรณีมีการประท้วงนอกห้องพิจารณาคดี ถ้าผู้ประท้วงชุมนุมด้วยความสงบ ภยันตรายที่ชัดแจ้งซึ่งสามารถขัดขวางหรือก่อให้เกิดอคติต่อกระบวนการพิจารณาคดีอย่างร้ายแรงยังไม่ถือว่าปรากฎ แต่ถ้าการประท้วงนั้นมีการกีดกั้นจำเลยไม่ให้เข้าห้องพิจารณาคดีย่อมถือว่าภยันตรายที่ชัดแจ้งเกิดขึ้นแล้วเพราะกระบวนการพิจารณาคดีไม่สามารถดำเนินไปโดยปกติจึงถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

นอกจากการพิสูจน์ข้างต้น มาตรา 5 ของกฎหมายเดียวกันก็ระบุว่า สิ่งตีพิมพ์ที่ (1) ถกเถียงประเด็นสาธารณะหรือสิ่งซึ่งเป็นผลประโยชน์ทั่วไป “ด้วยความสุจริต” และ (2) สิ่งที่อาจเป็นภยันตรายเป็นเพียงผลพวงของการถกเถียงที่เกิดขึ้น ไม่อาจถือได้ว่าสิ่งตีพิมพ์ดังกล่าวละเมิดอำนาจศาล

บรรทัดฐานการระบุความผิดในกฎหมายละเมิดอำนาจศาลของสหราชอาณาจักรฉบับปี 2524 ในกรณีที่เกี่ยวข้องกับการแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกล้อมามาจากบรรทัดฐานที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปวางไว้ในคำพิพากษาคดีระหว่าง เดอะซันเดย์ไทมส์ (the Sunday Times) กับสหราชอาณาจักร ในปี 2522

คดีดังกล่าวศาลของสหราชอาณาจักรมีคำสั่งห้ามหนังสือพิมพ์เดอะซันเดย์ไทมส์ตีพิมพ์บทความที่เกี่ยวข้องกับการเจรจาประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างบริษัทผลิตยาระงับประสาทแห่งหนึ่งกับผู้ปกครองของเด็กที่พิการเพราะแม่ของเด็กใช้ยาระงับประสาทระหว่างการตั้งครรภ์  รวมทั้งเมื่อเดอะซันเดย์ไทม์ประกาศว่าจะเผยแพร่บทความเชิงสืบสวนว่ายาระงับประสาทตัวที่เป็นปัญหาผ่านการทดสอบทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมหรือไม่ ศาลแห่งสหราชอาณาจักรก็มีคำสั่งห้ามเผยแพร่บทความดังกล่าว เมื่อศาลแห่งสหราชอาณาจักรมีคำสั่งห้ามเผยแพร่บทความดังกล่าวโดยระบุว่าอาจเป็นการละเมิดอำนาจศาล เดอะซันเดย์ไทม์ได้ส่งเรื่องให้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเป็นผู้วินิจฉัย

ตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปข้อ 10 ย่อหน้า 2 เสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้อย่างถูกต้องเมื่อมีเงื่อนไขครบสามข้อคือ (ก) เป็นการจำกัดตามบทบัญญัติของกฎหมาย (ข) เป็นการจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมซึ่งรวมถึง”รวมถึง “การปกป้องชื่อเสียงหรือสิทธิของผู้อื่น” และ “ดำรงซึ่งอำนาจและความเป็นกลางการพิจารณาคดี” และ (ค) เป็นการจำกัดที่มีความจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่า คำสั่งห้ามของศาลแห่งสหราชอาณาจักรเป็นการจำกัดสิทธิ ตามบัญญัติของกฎหมาย และ เป็นการจำกัดสิทธิที่มีจุดประสงค์อันชอบธรรม เพื่อปกป้องความเป็นกลางในการพิจารณาคดีจึงถือว่าเป็นไปตามเงื่อนไขสองข้อแรกตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชน แต่ในเงื่อนไขข้อที่สาม ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่าคำสั่งห้ามดังกล่าวไม่ “มีความจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย” โดยเห็นว่าเนื้อหาในบทความมีความเป็นกลาง และประเด็นดังกล่าวก็เป็นประเด็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวางในสังคมอยู่แล้ว หากการเผยแพร่บทความจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกระบวนการยุติธรรมในคดีนี้บ้างก็เป็นแต่เพียงเล็กน้อยและไม่อาจล้มล้างผลประโยชน์สาธารณะที่เกิดจากการคุ้มครองเสรีภาพสื่อได้

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปจึงยกเลิกคำสั่งห้ามเผยแพร่บทความของศาลสหราชอาณาจักรพร้อมทั้งสั่งว่าการเผยแพร่บทความดังกล่าวไม่ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล คำพิพากษาคดี เดอะซันเดย์ไทมส์ (the Sunday Times) กับสหราชอาณาจักร วางบรรทัดฐานการกลั่นกรองการใช้อำนาจของศาลของสหราชอาณาจักรให้อยู่บนหลักความได้สัดส่วนรวม ทั้งทำให้กฎหมายละเมิดอำนาจศาลที่ออกมาในปี 2524 มีความรัดกุมมากขึ้น

กรณีสหรัฐอเมริกา

ในสหรัฐอเมริกา การพิสูจน์ทางกฎหมายเพื่อระบุความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเข้มงวดกว่าสหราชอาณาจักร โดยมีเกณฑ์ที่ชัดเจนว่า การตีพิมพ์บทความหรือเนื้อหาไม่อาจถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาลได้เว้นแต่เป็น “ภยันตรายที่เห็นได้ชัดเจน” ต่อกระบวนการยุติธรรม โดยบรรทัดฐานการพิสูจน์ทางกฎหมายนี้ถูกวางขึ้นจากคำพิพากษาคดีระหว่าง บริดเจส (Bridges) กับแคลิฟอร์เนีย ในปี 2484

คดีนี้ แฮร์รี่ บริดเจส (Harry Bridges) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สหภาพแรงงานแห่งหนึ่งส่งโทรเลขถึงรัฐมนตรีกระทรวงแรงงานของสหรัฐ โทรเลขฉบับดังกล่าวถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของแคลิฟอร์เนียด้วย โดยเนื้อหาของโทรเลขกล่าวถึงคดีอีกคดีหนึ่งซึ่งอยู่ในชั้นศาลและปรากฎข้อความที่บริดเจสเขียนในทำนองว่า หากคำพิพากษาไม่เป็นที่น่าพอใจอาจจะมีการนัดหยุดงาน ศาลในแคลิฟอร์เนียพิพากษาว่าการกระทำของบริดเจสเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล อย่างไรก็ตามศาลฎีกาสหรัฐมีคำพิพากษายกฟ้องบริดเจสในเวลาต่อมาโดยให้เหตุผลว่า การกระทำใดจะเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลได้ต่อเมื่อการกระทำนั้นต้องแสดงให้เห็นถึงอันตรายอย่างชัดแจ้งซึ่งในคดีนี้ยังไม่ปรากฎอันตรายที่ชัดแจ้ง ศาลฎีกาชี้ต่อไปว่าการดำเนินคดีจำเลยด้วยความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลครั้งนี้อาจก่อให้เกิดภยันตรายต่อศาลเองเพราะกลายเป็นการบังคับให้จำเลยเงียบและอาจเกิดความไม่พอใจยิ่งขึ้น ศาลฎีการะบุด้วยว่าการตัดสินว่าจำเลยในคดีนี้มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเท่ากับเป็นการยอมรับว่าผู้พิพากษาขาดความหนักแน่นมั่นคง เพราะแม้เพียงข้อความในโทรเลขก็มีอิทธิพลเหนือการตัดสินคดีได้

 

การชั่งน้ำหนักระหว่างการปกป้องความน่าเชื่อถือขององค์กรตุลาการกับเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ

การแสดงออกหรือแสดงความคิดเห็นอีกลักษณะหนึ่งที่มักนำมาซึ่งการดำเนินคดีละเมิดอำนาจศาลได้แก่การวิพากษ์วิจารณ์องค์คณะผู้พิพากษาหรือองค์กรตุลาการ โดยการกำหนดให้การกระทำลักษณะนี้เป็นการละเมิดอำนาจศาล มีจุดประสงค์เพื่อปกป้องความน่าเชื่อถือและความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อองค์กรตุลาการ โดยมักถูกใช้เมื่อผู้พิพากษาหรือศาลถูกกล่าวหาว่ามีอคติหรือความลำเอียงในการพิจารณาคดี

ในประเทศที่ใช้กฎหมายจารีตอย่างสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ การพิสูจน์ทางกฎหมายเพื่อกำหนดความรับผิดจำเป็นต้องมีการตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงที่จะทำลายความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อระบบการพิจารณาคดี ซึ่งในทางสากล “ความเสี่ยงที่แท้จริง” หมายถึง “ระดับของความเป็นไปได้ที่เหมาะสม” ซึ่งการตีความคำว่า “ความเสี่ยงที่แท้จริง” ของศาลในประเทศที่ใช้ระบบกฎหมายแบบจารีตก็มีความแตกต่างกันไป

ในอังกฤษ ศาลเคยมีคำพิพากษาในคดีระหว่าง อาร์ (R.) กับบรรณาธิการนิวสเตทสแมน (New Statesman) ในปี 2471 ว่า การที่หนังสือพิมพ์นิวสเตทสแมนตีพิมพ์บทความกล่าวหาว่าผู้พิพากษาที่มีความเชื่อในศาสนาที่เคร่งครัดมีแนวโน้มที่จะตัดสินคดีเป็นโทษกับผู้หญิงที่สนับสนุนสิทธิในการคุมกำเนิด ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ขณะที่ศาลในประเทศออสเตรเลียมีคำวินิจฉัยในคดีระหว่างอัยการสูงสุดรัฐนิวเซาท์เวลส์กับมุนเดย์ (Mundey) ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันในปี 2515 ว่าการกล่าวหาเรื่องอคติไม่ได้ถือเป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเสมอไป

ในกรณีของแคนาดา จะต้องมีการพิสูจน์ทางกฎหมายให้เห็นว่า เนื้อหาที่เผยแพร่เป็น “ภยันตรายที่เห็นได้ชัดเจน” ต่อการพิจารณาคดี จึงจะนับว่าผู้เผยแพร่เนื้อหาดังกล่าวมีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ในคดีระหว่างอาร์และโคปีโต (Koptyo) โคปีโตซึ่งเป็นทนายความถูกดำเนินคดีในความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลหลังวิจารณ์การพิจารณาคดีของศาลต่อผู้สื่อข่าวคนหนึ่งหลังลูกความของเขาแพ้คดี

เสียงส่วนใหญ่ของศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายกฟ้องว่าการกระทำของโคปีโตไม่เป็นการละเมิดอำนาจศาลโดยให้เหตุผลว่า ในการตัดสินว่าบุคคลใดทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล จะต้องมีการพิสูจน์ทางกฎหมายว่า มีภยันตรายที่ “เห็นได้ชัดเจน” ต่อกระบวนการยุติธรรม โครี เจเอ (Cory JA) หนึ่งในผู้พิพากษาระบุว่า “ศาลทำงานได้อย่างดีและมีประสิทธิภาพในเวลาที่ยากลำบาก ศาลเป็นที่เคารพในสังคมเพราะศาลมีคุณความดี และศาลจะต้องไม่กลัวการวิพากษ์วิจารณ์

สำหรับศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ศาลใช้การพิสูจน์ทางกฎหมายเงื่อนไขสามประการเช่นเดียวกันกับที่อธิบายไว้ข้างต้นได้แก่ เป็นการจำกัดตามบทบัญญัติของกฎหมาย เป็นการจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมและ เป็นการจำกัดที่มีความจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย นอกจากนี้ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมักตัดสินว่าการวิจารณ์ศาลไม่ถือว่าเป็นการละเมิดอำนาจศาล หากเป็นคำวิจารณ์ที่มุ่งให้เหตุผลทางกฎหมายของผู้พิพากษา มากกว่าการโจมตีเรื่องส่วนบุคคลและเป็นคำวิจารณ์ที่ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล เพื่อทำความเข้าใจว่าศาลดำเนินการอย่างไรต่อคดีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ “ให้ศาลเสื่อมเสีย” สามารถพิจารณาได้จากคดีสำคัญสองคดี คือระหว่าง บาร์ฟอด (Barfod) กับเดนมาร์ค ในปี 2536 และคดีระหว่าง เดเฮอีสและจิสเจลส์ (De Haes and Gisjels) กับเบลเยี่ยม ในปี 2530

คดีบาร์ฟอดกับเดนมาร์ค

รัฐบาลท้องถิ่นของกรีนแลนด์ตัดสินเก็บภาษีชาวเดนมาร์คที่ทำงานในฐานทัพสหรัฐฯซึ่งตั้งอยู่ในกรีนแลนด์ ชาวเดนมาร์คที่ถูกเก็บภาษีรู้สึกว่าพวกตนไม่ได้รับความเป็นธรรมเพราะถูกเก็บภาษีโดยที่ไม่มีสิทธิในการเลือกตั้งท้องถิ่นหรือรับผลประโยชน์ใดๆจากรัฐบาลท้องถิ่น บาร์ฟอดเขียนบทความลงในสิ่งพิมพ์ชื่อ กรอนแลนด์ ดานสค์ กล่าวหาว่าผู้พิพากษาสมทบสองคนที่ร่วมตัดสินให้รัฐบาลท้องถิ่นเก็บภาษีได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนในการตัดสินคดีนี้เพราะทั้งสองเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลท้องถิ่น บาร์ฟอดถูกพิพากษาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประสาทชื่อเสียงของศาลสูงแห่งกรีนแลนด์

อย่างไรก็ตามศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีความเห็น 6-1 เสียงในเวลาต่อมาว่า คำพิพากษาของศาลสูงกรีนแลนด์ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิในการใช้สรีภาพในการแสดงออกของบาร์ฟอด เพราะการกระทำของบาร์ฟอดไม่ใช่การวิจารณ์ต่อการให้เหตุผลจากกฎหมายของผู้พิพากษาสมทบทั้งสอง แต่เป็นการโจมตีเรื่องส่วนบุคคล และมีแนวโน้มที่จะทำให้ผู้พิพากษาสูญเสียความเคารพจากสาธารณะ นอกจากนี้ ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรประบุด้วยว่า ข้อกล่าวหาของบาร์ฟอดปราศจากหลักฐานประกอบใดๆ

เดเฮอีสและจิสเจลส์ กับเบลเยี่ยม

คดีนี้มีจำเลยสองคนคือบรรณาธิการและนักข่าวของนิตยสารรายสัปดาห์ ทั้งสองเผยแพร่บทความห้าชิ้นซึ่งวิจารณ์ผู้พิพากษาที่ตัดสินคดีหย่าร้างคดีหนึ่ง ที่ตัดสินให้ฝ่ายบิดาได้สิทธิในการดูแลบุตร ทั้งที่บิดายอมรับว่าตนนิยมลัทธินาซี และถูกดำเนินคดีฐานร่วมประเวณีและทำร้ายบุตร บทความวิจารณ์ผู้พิพากษาว่ามีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนฝ่ายบิดาโดยใช้รายงานทางการแพทย์เป็นหลักฐานเพื่อสนับสนุนข้อวิจารณ์ ว่า บุตรมีร่องรอยของการถูกข่มขืนภายหลังกลับจากการเดินทางกับบิดา ผู้พิพากษาฟ้องบรรณาธิการและนักข่าวในความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยศาลอุทธรณ์สั่งจำเลยทั้งสองชดเชยค่าเสียหาย และสั่งให้ตีพิมพ์คำพิพากษาละเมิดอำนาจศาลลงในนิตยาสารของจำเลย

อย่างไรก็ตามศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปกลับคำพิพากษาคดีนี้โดยระบุว่า สิทธิในการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของจำเลยถูกละเมิด เพราะการกระทำของจำเลยจะเข้าข่ายเงื่อนไขสองประการของการถูกจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกที่ชอบธรรม ได้แก่เป็นการจำกัดเสรีภาพที่มีบัญญัติไว้ตามกฎหมายและมี เป้าหมายอันชอบธรรม ได้แก่การเพื่อดำรงไว้ซึ่งอำนาจของศาลในการพิจารณาคดี แต่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปเห็นว่าการจำกัดเสรีภาพด้วยการดำเนินคดีจำเลยยังไม่เข้าข่ายเงื่อนไขข้อที่สามในการจำกัดเสรีภาพที่ชอบธรรม ได้แก่ความจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย โดยศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปย้ำความสำคัญของสื่อในการให้ข้อมูลข่าวสารและความคิดในทุกประเด็นที่เป็นประโยชน์สาธารณะ ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานของกระบวนการยุติธรรมด้วย

ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรประบุด้วยว่า ผู้พิพากษาต้องได้รับการปกป้องจาก “การโจมตีที่ไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักเหตุผล” แต่บทความในคดีนี้มีการอ้างอิงหลักฐานที่เหมาะสม จึงไม่ถือเป็นการละเมิดอำนาจศาลและถือว่าสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของจำเลยถูกละเมิด

ตามอนุสัญญาสิทธิมนุษยชนยุโรปข้อ 10 ย่อหน้า 2 เสรีภาพในการแสดงออกอาจถูกจำกัดได้อย่างถูกต้องเมื่อมีเงื่อนไขครบสามข้อคือ (ก) เป็นการจำกัดตามบทบัญญัติของกฎหมาย (ข) เป็นการจำกัดเพื่อวัตถุประสงค์ที่ชอบธรรมซึ่งรวมถึง”รวมถึง “การปกป้องชื่อเสียงหรือสิทธิของผู้อื่น” และ “ดำรงซึ่งอำนาจและความเป็นกลางการพิจารณาคดี” และ (ค) เป็นการจำกัดที่มีความจำเป็นต่อสังคมประชาธิปไตย

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage