ทุบให้หลาบ ทุบให้ล้า ทุบให้ลืม เป็นกลยุทธ์หลักที่ คสช. ใช้ในการจัดการกับผู้เห็นต่างที่ใช้สิทธิเสรีภาพในลักษณะที่เป็นภัยต่อการคุมอำนาจของพวกตน ย่างเข้าปีที่สี่ของการรัฐประหาร สิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกตีวงล้อมอย่างหนักโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ผู้เห็นต่างอ่อนเปลี้ยลง ความอ่อนเปลี้ยดังกล่าวไม่ได้เกิดจากความเหนื่อยล้าหรือชาชินต่อการปกครองของทหาร แต่เกิดจากการถูกผู้มีอำนาจ “ทุบ” ด้วยเครื่องมือหลายรูปแบบทั้งในและนอกกฎหมาย เหยื่อผู้ถูกทุบให้หลาบ-ล้า-ลืมรายล่าสุด คือผู้ที่ออกมาแสดงออกด้วยรูปแบบต่างๆ เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อรำลึกถึง 85 ปีของการอภิวัฒน์สยาม 24 มิถุนายน 2475
หมุดคณะราษฎร – สัญลักษณ์ที่ต้องทุบให้ “ลืม”
การ “ทุบ”แรกสุดเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนวันที่ 24 มิถุนายน มีผู้ตั้งกิจกรรม “วันชาติไทย ปีที่ 85 ณ บริเวณหมุดคณะราษฎร” บนเฟซบุ๊ก เชิญชวนให้คนร่วมวางดอกไม้ที่หมุดคณะราษฎร โดยมีผู้ใช้เฟซบุ๊กเกือบๆ 200 คน กดเข้าร่วม หรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรม แม้จะเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ผู้ใช้เฟซบุ๊กว่าการกดเข้าร่วมหรือสนใจเข้าร่วมกิจกรรมไม่ได้หมายความว่าผู้กดจะไปเข้าร่วมกิจกรรมในวันจริง ทั้งจำนวนผู้กดเข้าร่วมหรือสนใจก็มีไม่ถึง 200 คน ซึ่งก็เป็นเพียงอณูเล็กๆหากเปรียบเทียบกับประชากร 65 ล้านคนของประเทศ(สถิติปี 2559) แต่ปรากฎว่าเจ้าหน้าที่กลับมีความหวั่นไหวกับกิจกรรมนี้มากถึงขนาดทำการติดต่อผู้ใช้เฟซบุ๊กที่กดเข้าร่วมหรือสนใจบนหน้ากิจกรรมดังกล่าวอย่างน้อยเก้าคน ได้แก่
- กรณีของ “เอ” ที่จังหวัดอุบลราชธานี ตำรวจไลน์ไปหาแม่ของ “เอ” เพื่อขอเบอร์โทรศัพท์เอและโทรมาสอบถาม “เอ” ว่า จะมาร่วมงานวันที่ 24 มิถุนายนหรือไม่
- กรณีของ “บี” ตำรวจโทรศัพท์ไปหา “บี” เพื่อนัดดื่มกาแฟโดยบอกว่าไปหาที่บ้านแล้วไม่พบ
- กรณีของ “ซี” ตำรวจโทรศัพท์ไปหา “ซี” เนื่องจากเขากดสนใจกิจกรรม
- กรณีของ “ดี” ตำรวจบุกไปที่บ้านของ “ดี” พบแต่เพียงพ่อและแม่เนื่องจาก “ดี” กำลังเดินทางไปมหาวิทยาลัย
- กรณีของ “เอฟ” ตำรวจบุกไปที่แฟลตบ้านพักของ “เอฟ” พบแต่เพียงแม่และน้องสาว พร้อมสอบถามว่า ลูกชายอยู่ที่ไหนและพรุ่งนี้จะไปไหนหรือไม่ โดยล่าสุดเวลาประมาณ 21.50 น. มีรายงานว่าตำรวจยศพันตำรวจเอกเข้ามาขอข้อมูลเรื่องของเขากับน้องสาวของเขาอีกครั้ง
- กรณีของ “จี” ที่จังหวัดพัทลุง ตำรวจบุกไปที่บ้านของ “จี” โดยระบุว่า อยากห้ามไม่ให้ไปที่กทม. ในวันที่ 24 มิถุนายน
- กรณีของ “เจ” ตำรวจโทรศัพท์ไปหา “เจ” ถามว่า ในวันที่ 24 มิถุนายนเขาจะไปที่บริเวณหมุดคณะราษฎรหรือไม่ เขาตอบว่า ไม่ไป แม่ของ”เจ”โทรบอกเขาในเวลาต่อมาว่ามีคนมาถ่ายรูปที่หน้าบ้าน
- กรณีของ “พี” เจ้าหน้าที่ติดต่อไปหา “พี” เธอระบุว่า เป็นเพราะการเข้าไปกดสนใจ (Interested) กิจกรรมบนเฟซบุ๊ก หมุดคณะราษฎร
- กรณีของกันต์ ตำรวจเข้าไปที่บ้านของกันต์ และสอบถามป้าของเขาว่า ในวันที่ 24 มิถุนายนเขาจะไปไหนหรือไม่
แม้ทั้งเก้ากรณีเจ้าหน้าที่จะยังไม่ได้ทำการจับกุมหรือดำเนินการทางกดหมายใด แต่ลำพังการติดต่อมาโดยเจ้าตัวไม่รู้ว่าไปได้ข้อมูลส่วนตัวเบอร์โทรศัพท์มาจากไหนหรือการมาพูดคุยกับพ่อแม่หรือญาติก็เพียงพอแล้วที่จะเป็นการ “ทุบ” ให้ผู้ที่เพียงแค่อยากแสดงออกโดยสันติ รำคาญใจ หรือหวดกลัว หรืออาจถึงขั้นหวาดกลัว
วันที่ 24 มิถุนายน เจ้าหน้าที่วางกำลังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เช้าเพื่อจับตาดูว่าจะมีใครเข้ามาทำกิจกรรมตามที่มีการประกาศเชิญชวนหรือเปล่า อย่างไรก็ตามไม่ปรากฎว่ามีผู้ใดมาทำกิจกรรมรำลึกใดๆในช่วงเช้าตรู่ เจ้าหน้าที่ต้องรอจนถึงช่วงสายจึงมีความเคลื่อนไหวที่สำคัญเกิดขึ้น เอกชัย หงส์กังวาน นักกิจกรรมทางการเมืองที่เคยโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กซึ่งตั้งค่าเป็นสาธารณะว่าจะนำหมุดคณะราษฎรจำลองมาเปลี่ยนแทนหมุดคณะราษฎรที่หายไปอย่างลึกลับเดินทางมาถึงบริเวณใกล้ๆลานพระบรมรูปทรงม้านตอนแปดโมงเศษ เอกชัยไม่มีโอกาสเปลี่ยนหมุดตามความตั้งใจเพราะในเวลาประมาณ 8.40 น. เขาถูกควบคุมตัวไปที่ค่ายมณฑลทหารบกที่ 11 เอกชัยถูกคุมตัวจนถึงช่วงค่ำเจ้าหน้าที่จึงพามาส่งบ้าน แม้จะไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาแต่เจ้าหน้าที่ก็ค้นบ้านของเขาเพื่อหากล่องพัสดุตามที่เอกชัยบอกว่าเขาได้รับหมุดจำลองทางพัสดุ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่าหมุดคณะราษฎรคือของไม่พึงประสงค์ที่ต้องทำให้ถูกลืม การเปลี่ยนแปลงการปกครองคือเหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ซึ่งไม่ว่าจะดีหรือร้ายสมควรเป็นที่ถกเถียงทว่าในวันที่ 24 มิถุนายน 2560 บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้ากลับกลายเป็นที่หวงห้าม การเข้าไปวางดอกไม้โดยสงบก็กลายเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ ขณะที่ผู้ต้องการแสดงออกทั้งการคลิ้กสนใจหรือเข้าร่วมกิจกรรมบนโลกออนไลน์กับผู้ที่นำหมุดจำลองมาทำกิจกรรมในสถานที่จริงต่างก็ถูกคุกคามราวกับว่าผู้ที่ริอ่าน “จำ” เหตุการณ์ดังกล่าวต้องถูกทุบให้หลาบและลืมมันไป
ทุบให้หลาบด้วย “สายตา”: การปรากฎตัวในงานเสวนา 2475 และการบันทึกภาพผู้เข้าร่วมโดยเจ้าหน้าที่
ตั้งแต่วันที่ 23 – 25 มิถุนายน นักวิชาการ และนักกิจกรรมหลายกลุ่มจัดงานเสวนาเพื่อพูดคุยถึงการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 ขณะเดียวกันก็มีนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะรำลึกถึงเหตุการณ์ด้วยการไปทำบุญที่วัดพระศรีมหาธาตุ วัดที่เก็บรักษาอัฐฐิของสมาชิกคณะราษฎรหลายๆคน แม้ว่าท้ายที่สุดกิจกรรมเหล่านี้จะจัดได้ตั้งแต่ต้นจนจบแต่ก็จัดได้ท่ามกลางการจับตาอย่างใกล้ชิดของเจ้าหน้าที่และมีการบันทึกภาพผู้จัด วิทยากรไปจนถึงผู้เข้าร่วมทั้งภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา นอกจากในนี้ระหว่างที่กิจกรรมบางกิจกรรมดำเนินไปเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เพียงแต่เฝ้ามองแต่เข้ามาแทรกแซงโดยตรงเช่นการห้ามพูดหรือถามคำถามบางคำถาม
วันที่ 23 มิถุนายน ระหว่างงานเสวนา 85 ปีปฏิวัติสยาม 2475 ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าหน้าที่ตำรวจห้ามไม่ให้พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยถามว่า “ใครขโมยหมุดคณะราษฎร” ขณะที่งานเสวนา 85 ปี ประชาธิปไตยปักที่ไหนก็ได้ ของกลุ่ม YPD ซึ่งจัดที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในวันเดียวกัน แม้งานจะดำเนินไปด้วยดีตั้งแต่ต้นจนจบแต่เจ้าหน้าที่ทั้งตำรวจและทหารก็เข้ามาบันทึกภาพและเสียงในงานอย่างคับคั่ง
วันที่ 24 มิถุนายน กลุ่มเสรีเกษตรศาสตร์จัดกิจกรรม “ทำบุญกรวดน้ำคว่ำขัน ในวัน(ไม่มี)ประชาธิปไตย” ที่วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน โดยกิจกรรมนี้เป็นการวางดอกไม้และทำบุญอัฐิของสมาชิกคณะราษฎรผู้ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ 85 ปีก่อน แม้จะเป็นเพียงกิจกรรมทำบุญแต่ก็ได้รับความสนใจจากเจ้าหน้าที่โดยมีกำลังตำรวจในเครื่องแบบอย่างน้อยห้านายและนอกเครื่องแบบอีกกว่า 30 นายมากระจายตัวในวัดพระศรีมหาธาตุตั้งแต่ก่อนเริ่มงานประมาณหนึ่งชั่วโมง และเมื่อเริ่มกิจกรรมเจ้าหน้าที่ซึ่งมีจำนวนมากกว่าผู้ร่วมงานก็ตามบันทึกภาพการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิดชนิดหายใจรดต้นคอ นอกจากนี้ก็มีรายงานภายหลังว่านักกิจกรรมอย่างน้อยสองคนคือภิสิทธิ์และคุณภัทรถูกเจ้าหน้าที่ติดตามตั้งแต่ออกจากบ้านในตอนเช้า หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ยังให้ข้อมูลด้วยว่าในวันที่ 22 มิถุนายน มีตำรวจโทรศัพท์ถึงชลิตา บัณฑุวงศ์ อาจารย์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสอบถามถึงกิจกรรมพร้อมกล่าวว่าทหารมีความเป็นกังวลต่อกิจกรรมดังกล่าว
ในช่วงบ่าย ที่งานเสวนา “ขุดราก ถอนโคน โค่นมรดกคณะราษฎร” ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบกระจายตัวสังเกตการณ์หลายนาย บางส่วนนั่งอยู่ด้านหลังของห้องจัดงานและมีการบันทึกภาพโดยตลอด แม้ไม่ปรากฎว่ามีการแทรกแซงการทำกิจกรรมครั้งนี้มากไปกว่าการบันทึกภาพและเสียง แต่ส.ศิวรักษ์ หนึ่งในผู้ร่วมเสวนาก็พูดในเวทีก่อนเริ่มงานว่า ในงานเสวนาวิชาการครั้งก่อนตนถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ครั้งนี้จึงมีการเตรียมสคริปที่จะพูดในวันนี้อย่างระมัดระวังและจะนำสคริปที่พูดในวันนี้ให้ตำรวจด้วย แม้จะไม่มีข้อมูลว่าท้ายที่สุดว่าส.ศิวรักษ์จะนำสคริปส่งตำรวจตามที่พูดหรือไม่แต่การแสดงความกังวลของส.ศิวรักษ์ก็เป็นตัวอย่างที่จัดเจนว่าแม้แต่การแสดงออกทางวิชาการก็มีความเสี่ยงที่ผู้พูดจะถูกทุบให้หลาบจำ
ไม่ใช่แค่กิจกรรมที่กรุงเทพที่ถูกจับตาอย่างใกล้ชิด กิจกรรมรำลึกครบรอบ 85 ปีของการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตย และทวงคืนหมุดคณะราษฎร ที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามก็มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบและเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยคอยสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและมีการพูดคุยกับผู้เข้าร่วมบางส่วนทำให้บางคนตัดสินใจกลับบ้าน เจ้าหน้าที่ยังถ่ายรูปและขอรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกคนไปด้วยแต่ทางผู้จัดก็ไม่ยอมให้รายชื่อไป
วันที่ 25 มิถุนายน มีกิจกรรมที่มีความเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์ในปี 2475 อีกหนึ่งงานได้แก่งาน Start Up People Start Up Talk ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯ ซึ่งก่อนงานรังสิมันต์ โรม หนึ่งในนักกิจกรรมที่มีคิวขึ้นพูดในเวทีถูกจับกุมตัวที่หอสมุดเมืองกรุงเทพโดยเจ้าหน้าที่แสดงหมายจับศาลทหารกรุงเทพซึ่งระบุข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 โดยรังสิมันต์ถูกดำเนินคดีหลังไปแจกใบปลิวรณรงค์โหวตโนประชามติที่เคหะบางพลีเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 มีข้อน่าสังเกตว่าหมายจับดังกล่าวถูกออกตั้งแต่วันที่ 26 สิงหาคม 2559 แล้ว แต่เจ้าหน้าที่พึ่งมาทำการจับกุมเขาในวันที่ 25 มิถุนายน 2560 ก่อนเวลาที่เขาจะต้องขึ้นพูดในกิจกรรมที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาฯไม่นาน
ตามให้ล้าหมายให้ถอย: การติดตามนักวิชาการ หรือนักกิจกรรมที่อาจร่วมงานรำลึก 2475
ช่วงใกล้ถึงงานรำลึก 24 มิถุนา มีนักกิจกรรม นักวิชาการ หลายคนเปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กหรือคำบอกเล่าของเพื่อนว่าถูกเจ้าหน้าที่ติดตามอย่างใกล้ชิดราวกับว่าเจ้าหน้าที่หวังทำให้พวกเขาล้าจนไม่ไปร่วมงานในวันที่ 24 มิถุนา เช่นกรณีของธนพล นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรที่มีเจ้าหน้าที่สี่นายไปหาที่บ้านและสอบถามยายของเขาว่าเป็นคนอย่างไร เคยร่วมชุมนุมไหม กรณีของชลธิชา แจ้งเร็ว นักกิจกรรมกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตยที่ในวันที่ 22 มิถุนายน โพสต์เฟซบุ๊กว่ามีเจ้าหน้าที่ไปที่แฟลตทหารของพ่อและพยายามจะเข้าไปข้างในโดยไม่มีหมายศาล
อีกหนึ่งกรณีที่น่าสนใจคือในวันที่ 23 มิถุนายน มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปเฝ้าที่หน้าบ้านของอนุสรณ์ อุณโณ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และสมาชิกเครือข่ายนักวิชาการเพื่อสิทธิพลเมืองโดยทั้งหมดแต่งกายแตกต่างกันเช่น เป็นช่างก่อสร้าง แต่งชุดกีฬาทำท่าเหมือนออกกำลังกายที่สนามกีฬาตรงข้ามบ้านของอนุสรณ์ และอีกคนแต่งกายในลักษณะภูมิฐาน จากการพูดคุยทราบว่าตำรวจได้รับมอบหมายจาก คสช. ให้มาหาข่าวเกี่ยวกับอนุสรณ์ และต้องติดต่ออนุสรณ์ให้ได้ก่อนเวลา 12.00 น.ของวันเดียวกัน
ขณะที่ในวันที่ 24 มิถุนายนก็มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่เดินทางไปเยี่ยมบ้านประชาชนอย่างน้อยสองคน คือ สงวน คุ้มรุ่งโรจน์ ผู้สื่อข่าวอาวุโส ซึ่งระบุว่า ในเวลา 9.00 น. เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบสองนายพร้อมรถกระบะได้เข้ามาหาที่บ้านและถามว่า ช่วงนี้ทำกิจกรรมที่ไหนหรือเปล่า อีกหนึ่งกรณีคือสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว นักกิจกรรมที่ระบุว่ามีเจ้าหน้าที่มาหาที่บ้านในเวลาประมาณ 10.00 น. และเมื่อออกจากบ้านมีเจ้าหน้าที่สองคนเข้ามาหาบอกว่า ขอติดตาม และจะขับรถไปส่ง แต่สิรวิชญ์ปฏิเสธ ตำรวจจึงขับรถตามรถเมล์ของเขามาเรื่อยๆ
ทั้งหมดสะท้อนภาพความพยายามอย่างหนักหน่วงของรัฐที่ต้องการ “ทุบ” ประชาชนให้หลาบ-ล้า-ลืม สิทธิและเสรีภาพในวันอภิวัฒน์สยาม 24มิถุนายน 2475 อีกด้านหนึ่งกิจกรรมและการแสดงออกทั้งหมดก็ได้สะท้อนถึงความพยายามของประชาชนในการรักษาไว้ซึ่งสิทธิและเสรีภาพของตนเอง รวมทั้งความทรงจำ 85 ปีของประชาธิปไตยไทย