นกน้อยในกรงพราง : เสรีภาพสื่อภายใต้ยุค คสช. กรณี วอยซ์ ทีวี

นับตั้งแต่ คสช. เข้ามายึดอำนาจปกครองประเทศ วอยซ์ ทีวีต้องเผชิญกับการจำกัดเสรีภาพในการนำเสนอเนื้อหาอย่างหนักหน่วง โดยในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควบคุมการออกอากาศของสื่อทั่วประเทศ อย่างไรก็ดีในวันถัดมา คสช. จึงผ่อนคลายให้สื่อต่างๆเริ่มทยอยออกอากาศได้ เริ่มจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 23/2557  ที่ให้สถานีโทรทัศน์ระบบแอนาล็อกสามารถออกอากาศได้ ตามมาด้วยประกาศ คสช. ฉบับที่ 27/2557 ที่ให้สถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลออกอากาศได้ยกเว้นที่มีรายชื่อตาม ประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 ซึ่งวอยซ์ ทีวี เป็นเพียงสถานีโทรทัศน์ระบบดิจิตอลสถานีเดียวที่มีรายชื่อในประกาศดังกล่าว

คสช. มีมาตรการสำหรับโทรทัศน์ที่ถูกระงับออกอากาศตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 15/2557 คือ จะอนุญาตให้กลับมาออกอากาศก็ต่อเมื่อลงนามในบันทึกข้อตกลง ระหว่างสถานีกับ กสทช. แล้ว ส่งผลให้ วอยซ์ ทีวี ต้องทำบันทึกข้อตกลงกับกสทช. โดยสาระของบันทึกข้อตกลงตามที่เปิดเผยในร่างรายงานวิจัย หัวข้อ “การกำกับดูแลเนื้อหา: สื่อวิทยุและโทรทัศน์” ของโครงการการปฏิรูปสื่อ: การกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม มีอยู่ว่า วอยซ์ ทีวี ยินยอมงดเว้นการนำเสนอเนื้อหาที่ขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสารตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. หากฝ่าฝืนอาจถูกพิจารณาถอนใบอนุญาตทันที

บันทึกข้อตกลงดังกล่าวได้ส่งผลให้การควบคุมเนื้อหาข่าวของช่องวอยซ์ ทีวีซับซ้อนมากขึ้น กล่าวคือ ก่อนหน้าการรัฐประหาร กสทช. กำกับดูแลเนื้อหาอยู่แล้ว โดยใช้อำนาจตามพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ 2551 (พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ) ในการลงโทษการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ โดยมาตราที่นำมาใช้เป็นหลักคือมาตรา 37 ระบุว่า ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

เมื่อ คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และวอยซ์ ทีวีเองก็มีความจำเป็นที่จะต้องทำบันทึกข้อตกลงเพื่อให้กลับมาออกอากาศได้ ทำให้ขอบเขตของเนื้อหาที่ต้องห้ามออกอากาศกว้างขวางมากขึ้น และหลักเกณฑ์ของเนื้อหาต้องห้ามตามประกาศฉบับต่างๆ ก็ทับซ้อนกัน เช่น การยุยงปลุกปั่น การสร้างความหวาดกลัว หรือวิจารณ์ได้แต่ต้องสุจริตและต้องไม่เป็นข้อมูลเท็จ ขณะที่การพิจารณาความผิด กสท. สามารถเรียกสถานีเข้าไปชี้แจง หรือเรียกผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาให้ความเห็นเพิ่มเติมได้ สำหรับการตีความความผิดของเนื้อหา กสท. สามารถอ้างตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ หรือ อ้างตามประกาศ คสช. เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การลงมติของ กสท. หรือคณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯ ยังปรากฏความไม่ชัดเจนของดุลพินิจและการเลือกปฏิบัติโดยเฉพาะอย่างยิ่งในมติที่อาศัยการตีความประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 เพียงอย่างเดียว สะท้อนผ่านความเห็นต่างในของสุภิญญา กลางณรงค์ หนึ่งในคณะกรรมการ กสทช. ในมติวันที่ 8 สิงหาคม 2559 กรณีรายการ Tonight Thailand เทปวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 ว่า คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาฯ มีความเห็นว่า เนื้อหาของรายการมีลักษณะสร้างความสับสน ยุยงปลุกปั่นอันเป็นลักษณะต้องห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 แต่สุภิญญามีความเห็นแย้งว่า เนื้อหาเป็นการวิเคราะห์ข่าวและเสนอข้อเท็จจริงในแง่มุมอื่นๆออกมาสร้างประโยชน์ให้แก่ผู้รับชม และหากข้อมูลดังกล่าวสร้างความเสียหายต่อบุคคลใดจริงๆก็สามารถร้องเรียนตามมาตรา 40 ของพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯได้ อีกนัยหนึ่งคือหากมีผู้ได้รับความเสียหายจริง กลไกของพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯยังสามารถคุ้มครองและทำงานได้อยู่

ขณะที่การรับฟังความเห็นประกอบของคณะอนุกรรรมการฯไม่ได้เป็นไปอย่างรอบด้านและมีมาตรฐานอย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ วันที่ 1 สิงหาคม 2559 คณะอนุกรรมการฯได้ทำหนังสือของให้หัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อฯ คสช. มาให้ความเห็น ซึ่งสุภิญญาได้เสนอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมาร่วมให้ความเห็นอย่างที่เคยทำในกรณีพิจารณามติของพีซ ทีวี แต่ปรากฏว่า คณะอนุกรรมการฯเชิญแค่เพียงฝ่าย คสช. มาเพียงฝ่ายเดียว  และอีกครั้งในมติวันที่ 29 สิงหาคม 2559 กรณีรายการ Wake Up News เทปวันที่ 15 และ 16 สิงหาคม 2559 ที่กสท. เห็นว่า ผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 กรณีนี้สุภิญญาเห็นควรว่า เนื้อหาข่าวและลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์อยู่ในขอบเขตที่ทำได้ มากไปกว่านั้น กสท. ยังรับฟังความเห็นประกอบเพียงคณะทำงานติดตามสื่อฯ คสช. ฝ่ายเดียวอีกครั้ง ทั้งความเห็นยังไม่มีการระบุชัดว่า เนื้อหาส่วนใดเข้าข่ายความผิด ลักษณะดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงความไม่รอบด้านและไม่ชัดเจนในแนวทางปฏิบัติ

ตารางที่ 1 เปรียบเทียบกฎหมายและประกาศ คสช.

มาตรา 37 พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯประกาศ คสช. ฉบับ 97/2557ประกาศ คสช. ฉบับที่ 103/2557
1.เนื้อหาล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยฯ1.ข้อความเท็จหรือหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์อนุญาตวิจารณ์การทำงานของ คสช. ได้แต่ต้องทำด้วยความสุจริตและไม่เป็นเท็จ
2.เนื้อหากระทบต่อความมั่นคงของรัฐ2.ข่าวสารที่เป็นภัยต่อความมั่นคง
3.เนื้อหาลามกอนาจาร3.การวิจารณ์การทำงานของคสช.
4.เนื้อหาก่อให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน4.ข้อมูลความลับของหน่วยงานราชการ
 5.ข่าวสารที่ยั่วยุปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง
6.การชักชวน ซ่องสุมเพื่อต่อต้าน คสช.
7.การขู่ประทุษร้ายที่สร้างความหวาดกลัวแก่ประชาชน

แม้ว่าเนื้อหาที่นำเสนอไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 37 ของพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ แต่เมื่อขัดต่อประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557  จึงถือว่าเนื้อหานั้นเป็นความผิดและนำมาซึ่งการลงโทษในรูปแบบต่างๆ เช่น การตักเตือน, การระงับการออกอากาศรายการ, การระงับการดำเนินรายการของผู้วิเคราะห์ข่าว และล่าสุดคือ การระงับการออกอากาศทั้งช่อง ขณะที่เนื้อหาที่วอยซ์ ทีวีถูกตักเตือน หรือระงับเกือบทั้งหมดเป็นเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับประเด็นทางการเมืองที่สังคมกำลังให้ความสนใจอยู่ในเวลานั้น

จากอำนาจการกำกับเนื้อหาของพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ และประกาศ คสช. ที่กล่าวมา ทำให้วอยซ์ ทีวี และสื่ออื่นๆ ต้องเผชิญกับการตรวจสอบเนื้อหาผ่านกระบวนการของ กสท. โดยในกรณีของวอยซ์ ทีวี มีไม่น้อยกว่า 14 ครั้ง (ไม่นับรวมการระงับการออกอากาศครั้งแรกหลังรัฐประหาร)  ที่ กสท. ใช้อำนาจต่างๆ กันเข้ามาควบคุมดูแลเนื้อหาที่นำเสนอ แบ่งเป็นการตักเตือนจำนวน 7 ครั้ง , การระงับการออกอากาศรายการ 4 ครั้ง,การระงับการดำเนินรายการของพิธีกร 2 ครั้ง และการระงับการออกอากาศทั้งช่อง 1 ครั้ง (อีก 1 ครั้งในช่วงรัฐประหาร) โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ไทม์ไลน์การปิดกั้นการรายงานข่าว กรณีวอยซ์ ทีวี

20 พฤษภาคม 2557 (ระงับการออกอากาศทั้งช่อง)

คำสั่งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยที่ 7/2557 ระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์วอยซ์ ทีวี ให้เหตุผลเรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อยผ่านการแพร่ข่าวสารที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือน อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและขยายสถานการณ์ความขัดแย้ง ต่อมาวันที่ 14 มิถุนายน 2557 คสช. ออกประกาศ ฉบับที่ 65/2557  ให้วอยซ์ ทีวีกลับมาออกอากาศได้ตามปกติ หลังจากวอยซ์ ทีวีได้ทำบันทึกข้อตกลงกับ กสทช. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

30 มีนาคม 2558 (ตักเตือน)

คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up Thailand เรื่องคุยกับนักข่าวในวันนักข่าว ออกอากาศวันที่ 5 มีนาคม 2558 และเรื่องเสียภาษีเลี้ยงดูสภาขับเคลื่อนต่อไป ออกอากาศวันที่ 9 มีนาคม 2558 มีมติให้มีหนังสือขอให้วอยซ์ ทีวีใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเนื้อหารายการก่อนที่จะนำออกอากาศ รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ดำเนินรายการที่ควรจะต้องนำเสนอเนื้อหารายการโดยมุ่งเน้นการรายงานข้อเท็จจริง และเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรง และการนำเสนอความคิดเห็นส่วนบุคคลต่อเหตุการณ์ที่นำมาออกอากาศ

11 พฤษภาคม 2558 (ตักเตือน)

คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. พิจารณาเนื้อหารายการ The Daily Dose ออกอากาศวันที่ 9 มีนาคม2558 และรายการ Wake Up Thailand เรื่องชะลอภาษีที่ดิน…อ้างคนจน ช่วยคนรวย ออกอากาศวันที่ 13 มีนาคม 2558 มีมติให้มีหนังสือขอให้วอยซ์ ทีวีใช้ความระมัดระวังในการตรวจสอบเนื้อหารายการก่อนที่จะมีการนำออกอากาศ รวมถึงการพิจารณาความเหมาะสมของผู้ดำเนินรายการที่ควรจะต้องมีการนำเสนอเนื้อหารายการโดยมุ่งเน้นการรายงานข้อเท็จจริง และเว้นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยถ้อยคำที่รุนแรงและการนำเสนอความคิดเห็นส่วนบุคคลต่อเหตุการณ์ที่นำมาออกอากาศ

3 มิถุนายน 2558 (ระงับการออกอากาศ 2 สัปดาห์)

คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up Thailand เรื่องต้องปรับร่างรัฐธรรมนูญถ้าไม่อยากล้ม ออกอากาศวันที่ 27 เมษายน 2558 และเรื่องรำลึกถึงความสูญเสียของคนไทยในพฤษภาอำมหิต ออกอากาศวันที่ 20 พฤษภาคม 2558 มีมติ 2 ข้อคือ ให้วอยซ์ ทีวีดำเนินการปรับปรุงรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาให้เป็นไปตามที่คณะอนุกรรมการฯ ได้ให้ความเห็น เพื่อไม่ให้ขัดต่อมาตรา 37 ของ พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ หรือขัดต่อบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช. และวอยซ์ ทีวี และให้รับทราบถึงการดำเนินการของวอยซ์ ทีวีที่จะงดการออกอากาศรายการ Wake Up Thailand เป็นเวลา 2 สัปดาห์

24 สิงหาคม 2558 (ตักเตือน)

กสท. มีมติว่า รายการ Tonight Thailand เทปที่ออกอากาศวันที่ 13 กรกฎาคม 2558 มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97 /2557 และ 103/2557 และเป็นการขัดต่อบันทึกข้อตกลงที่วอยซ์ ทีวีได้ทำไว้กับ กสทช. จึงส่งหนังสือตักเตือนไปยังวอยซ์ ทีวี ให้ปรับปรุงเนื้อหาต้องห้ามดังกล่าว

15 กุมภาพันธ์ 2559 (ระงับการออกอากาศ 3 วัน)

กสท. พิจารณาเนื้อหา รายการ The Daily Dose เรื่อง ปัญหา: คนส่วนน้อยไม่ยอมรับมติจากเสียงส่วนใหญ่ออกอากาศเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2559 มีมติเห็นว่า  มีเนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่97/2557 และ 103/2557 และเป็นการขัดต่อบันทึกข้อตกลงที่วอยซ์ ทีวีได้ทำไว้กับ กสทช. จึงมีคำสั่งระงับการออกอากาศรายการ The Daily Dose เป็นเวลา 3 วัน

7 มีนาคม 2559 (ตักเตือน)

กสท. มีมติมอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหาเชิญผู้รับผิดชอบรายการ Voice News และ Voice Insight ที่ออกอากาศวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2559 มาตักเตือนเกี่ยวกับการออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม

13 มิถุนายน 2559 (ตักเตือน)

กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up News เรื่อง พลเมืองโต้กลับนัดชุมนุมใหญ่ ศุกร์นี้เจอกัน ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2559 มีมติว่า เนื้อหาของรายการเกี่ยวกับกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ประกาศจัดกิจกรรมอีกครั้ง เพื่อเรียกร้องปล่อยตัวนายวัฒนา เมืองสุข แบบไม่มีเงื่อนไข และเป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์การเมือง อย่างไรก็ดี รายการไม่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมาตรา 37 ของพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ จึงได้มีมติให้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยัง วอยซ์ ทีวี ให้ใช้ความระมัดระวังและความละเอียดรอบคอบในการ ออกอากาศรายการในลักษณะที่ต้องห้ามตามกฎหมาย

8 สิงหาคม 2559 (ตักเตือน)

กสทช. พิจารณาเนื้อหาของรายการ Tonight Thailand ออกอากาศวันที่ 25 พฤษภาคม 2559 มีคำสั่งเตือนทางปกครองไปยังวอยซ์ ทีวี ให้ระงับการออกอากาศเนื้อหาที่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศคสช. ที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2557 และขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงที่ทำร่วมกับ กสทช.  โดยก่อนหน้านี้วันที่ 1 สิงหาคม 2559 ที่ประชุม กสท. มีการประชุมเรื่องนี้แล้ว แต่ยังไม่มีข้อสรุป จึงมีมติให้ กสทช. เชิญผู้แทนฝ่ายความมั่นคงมาให้ความเห็นประกอบเพิ่มเติม ก่อนจะมีมติสรุปออกมาในวันนี้

15 สิงหาคม 2559 (ตักเตือน)

กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up News เรื่องบิ๊กตู่อย่าดึงประเทศไทยกลับไปสมัยจอมพลสฤษฎิ์ ออกอากาศวันที่ 4 กรกฎาคม 2559 มีมติว่า เนื้อหาลักษณะเป็นการส่อเสียดโดยนำรัฐธรรมนูญฉบับเก่ามาเปรียบเทียบกับฉบับปัจจุบัน แต่โดยรวมยังไม่พบเนื้อหาที่มีลักษณะต้องห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมาตรา 37 พ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ จึงให้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยัง วอยซ์ ทีวี ให้ใช้ความระมัดระวังและความละเอียดรอบคอบในการออกอากาศรายการในลักษณะที่ต้องห้ามตามกฎหมาย

15 สิงหาคม 2559 (วาระที่ 2) (ระงับการดำเนินรายการของพิธีกร 10 วัน)

กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up News เรื่อง ฉันทามติสังคม ไม่ให้ คสช. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับต่อไป ออกอากาศวันที่ 21 กรกฎาคม 2559, เรื่อง ประยุทธ์ประกาศอยู่ยาว ไม่สนร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านไม่ผ่าน ออกอากาศวันที่ 22 กรกฎาคม 2559, เรื่อง ทองแดงเสียงแตก ชวนอุ้มมาร์ค เทือกสวนใจแคบ ออกอากาศวันที่ 29 กรกฎาคม 2559 และเรื่อง จับกระแสหลังโหวตรับ อยากให้เลือกตั้งเร็วไม่รอ 16 เดือน ออกอากาศวันที่ 8 สิงหาคม 2559 มีมติว่า เนื้อหามีลักษณะต้องห้ามตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 และมาตรา 37 ของพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ รวมทั้งยังขัดต่อบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช. กับวอยซ์ ทีวี มีคำสั่งให้พักการดำเนินรายการของ ม.ล. ณัฏฐกรณ์ เทวกุล ในรายการ Wake Up News และ Tonight Thailand เป็นเวลา 10 วัน และของอธึกกิต แสวงสุข ในรายการ Wake Up News และคอลัมน์ Overview ในรายการ Voice News เป็นเวลา 10 วัน

29 สิงหาคม 2559 (ระงับการออกอากาศ 7 วัน)

กสท.  พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up News เรื่อง วิเคราะห์เหตุระเบิด 7 จังหวัดใต้, ไผ่ ดาวดิน อดอาหารวันที่ 9 อาการทรุดหนักและ มีชัยชี้ สว. เลือกนายกฯ ได้ 5 ปี แต่เสนอได้ชื่อเดียว ออกอากาศเมื่อวันที่ 15 และ 16 สิงหาคม 2559 มีมติว่า เนื้อหาขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557  อีกทั้งเป็นการขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช.และวอยซ์ ทีวี จึงมีมติสั่งระงับการออกอากาศรายการ Wake Up News เป็นเวลา 7 วัน

7 กุมภาพันธ์ 2560 (ระงับการออกอากาศ 7 วัน)

กสท. พิจารณาเนื้อหารายการ The Daily Dose เรื่อง ขัดแย้งเพราะตุลาการ (ไม่) ภิวัฒน์ ออกอากาศเมื่อวันจันทร์ที่ 23 มกราคม 2560 มีมติว่า มีเนื้อหาเป็นการวิเคราะห์ที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และนำข้อเท็จจริงมาเสนอไม่ครบถ้วนขัดต่อประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และขัดต่อข้อกำหนดในบันทึกตกลง ระหว่าง กสทช. กับวอยซ์ ทีวี มติดังกล่าวสืบเนื่องจากการได้รับการร้องเรียนจากคณะทำงานติดตามสื่อ คสช. ระบุว่า เนื้อหาการออกอากาศเป็นการวิเคราะห์ให้เห็นอีกมุมมองหนึ่งที่ทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม และนำข้อเท็จจริงมานำเสนอไม่ครบถ้วน ให้ระงับการออกอากาศรายการ The Daily Dose เป็นระยะเวลา 7 วัน

4 มีนาคม 2560 (ระงับการดำเนินรายการของพิธีกร 10 วัน)

จากกรณีที่อธึกกิต แสวงสุข พิธีกรวอยซ์ ทีวี วิเคราะห์ข่าวเรื่อง อำนาจมาตรา 44 ของกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ในรายการ Wake Up News ออกอากาศเมื่อวันที่ มีเนื้อหาที่และมีการทำข้อตกลงให้อธึกกิตงดจัดรายการเป็นเวลา 10 วัน

27 มีนาคม 2560 (ระงับการออกอากาศทั้งช่อง)

กสท. มีคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ ทีวีเป็นเวลา 7 วัน โดยก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการด้านเนื้อหาของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) แจ้งมาว่า วอยซ์ ทีวีมีรายการ 4 รายการมีเนื้อหาที่เข้าข่ายละเมิดประกาศคสช. และพ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ ดังนี้

1. รายการ ใบตองแห้ง ออกอากาศวันที่ 15 มีนาคม 2560 เรื่อง จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ

2. รายการ In her View ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560 เรื่องไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร

3. รายการ Over View ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560  เรื่องกองทัพป้องทหารยันยิงทิ้งเด็กล่าหู่ถูกต้องทุกกรณี

4. รายการ Voice News ช่วง Voice News Report ออกอากาศวันที่ 20 มีนาคม 2560 เรื่อง วีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณี บ่อนตาพระยา

คณะอนุกรรมการฯ มีคำสั่งระงับการออกอากาศวอยซ์ทีวีเป็นเวลา 3 วัน ก่อนที่ต่อมา กสท. จะมีคำสั่งระงับการออกอากาศเป็นเวลา 7 วันตามมาทีหลัง โดยให้เหตุผลว่าวอยซ์ ทีวีทำความผิดซ้ำซาก โดยมีการออกอากาศรายการขัดต่อประกาศคสช. ฉบับที่ 97 /2557และ 103/2557 ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสมยุยงให้มีความแตกแยกและขัดต่อพ.ร.บ. ประกอบกิจการกระจายเสียงฯ มาตรา 37 กว่า 10 ครั้ง

9 สิงหาคม 2560 (ตักเตือน)

ที่ประชุม กสทช. พิจารณาเนื้อหารายการ Wake Up News เมื่อวันพุธที่ 21 มิถุนายน 2560 ทางช่อง วอยซ์ ทีวี ไม่เป็นไปตามคำสั่งทางปกครอง มีมติให้มีหนังสือแจ้ง วอยซ์ ทีวี เพื่อขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามคำสั่ง กสท. โดยเคร่งครัด

14 พฤศจิกายน 2560 (ตักเตือน)

ที่ประชุม กสทช. พิจารณาเนื้อหารายการ In Her View เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2560  และรายการ Wake Up News เมื่อวันที่ 7 กันยายน  2560 ทางสถานีวอยซ์ ทีวี มีมติให้มีหนังสือแจ้งวอยซ์ ทีวี เพื่อขอให้ใช้ความระมัดระวังในการนำเสนอรายการที่มีประเด็นสุ่มเสี่ยง 3 ประเด็นคือ

1. การเลือกเนื้อหาจากสื่อหรือแหล่งข่าวมานําเสนอออกอากาศในลักษณะลําเอียง ไม่สมดุล หรือไม่รอบด้าน
2. การขึ้นข้อความหน้าจอ หรือ CG ส่อแววว่า อาจจะทําการปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในสังคม
3.  การไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง กสทช. ซึ่งห้ามไม่ให้ วอยซ์ ทีวี นําความคิดเห็นจากเฟซบุ๊กมาออกอากาศ

20 มีนาคม 2561  (ระงับรายการ 15 วัน)

ที่ประชุม กสทช. พิจารณาเนื้อหารายการ Tonight Thailand ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 เห็นว่า การนำเสนอรายการดังกล่าวมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร ขัดต่อประกาศ คสช. ที่ 97/2557 และ 103/2557 และบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช. และวอยซ์ ทีวี สั่งให้ระงับการออกอากาศรายการ Tonight Thailand เป็นเวลา 15 วัน และห้ามนำรายการดังกล่าวไปออกอากาศในวันและเวลาอื่น รวมถึงนำเทปรายการเดิมมาออกอากาศซ้ำในช่วงวันและเวลาดังกล่าว

 29 มิถุนายน 2561 (ระงับรายการ 3 วัน)

ที่ประชุม กสทช. สั่งพักการออกอากาศรายการThe Daily Dose และ Wake Up News  เป็นเวลา 3 วัน  โดยคำสั่งดังกล่าวระบุด้วยว่า คำสั่งระงับการออกอากาศดังกล่าวเพื่อให้บริษัทฯ ได้พิจารณาปรับปรุง แก้ไข ทบทวนแนวคิด รูปแบบและเอกลักษณ์ รวมถึงกระบวนการคัดเลือก กลั่นกรอง และตรวจสอบเนื้อหารายการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ และหากยังฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามคำสั่ง อาจเป็นเหตุให้ กสทช. มีความจำเป็นต้องมีคำสั่งพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตวอยซ์ทีวีต่อไป

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage