“ช้างในห้อง” เช่าหมายเลข 112

โดย ชานันท์ ยอดหงษ์

ขณะที่หนังสือ “ห้องเช่าหมายเลข112” ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ เวลาเดียวกันนั้น จตุภัทร์ บุญภัทรรักษาหรือ “ไผ่ ดาวดิน” ยังคงอยู่ในเรือนจำ เขาถูกจับกุมดำเนินคดีอาญา ข้อหาละเมิดมาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญาและพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ  เนื่องจากเป็น 1 ใน 2,697 คน (ณ เวลา 13.00 น. ของวันที่ 3 ธันวาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่เขาถูกจับกุม)  ที่แชร์บทความพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากสำนักข่าว บีบีซีไทย -BBC Thai แต่ก็เป็นเพียงคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีนี้ ทั้งๆที่ทั้งนายกรัฐมนตรีและรองนายกรัฐมนตรีรัฐบาลทหารแสดงท่าทีเป็นปฎิปักษ์กับผู้วิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ตลอดตั้งแต่รัฐประหาร ให้สัมภาษณ์ในกรณีนี้ว่า สำนักข่าวนี้มีทั้งสาขาสำนักงานอยู่ในประเทศไทย และมีนักข่าวเป็นคนไทย แต่ก็ไม่ได้ดำเนินคดีเอาผิดมาตรา 112 กับใครนอกจากนี้ในกรณีนี้ ทว่าปัญหาไม่ใช่อยู่ที่ว่า บรรณาธิการ ผู้แปล ผู้ที่แชร์ที่เหลือต้องถูกดำเนินคดีด้วย หากแต่ปัญหามันอยู่ที่กระบวนการใช้และตีความมาตรานี้ ? 

หนังสือเล่มนี้ชวนให้ผู้อ่านเห็นว่า “ไผ่ ดาวดิน” ไม่ใช่เพียงคนเดียวที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในนามมาตรา 112 เขาเพียงแต่เป็นคนแรกที่ถูกตั้งข้อกล่าวหามาตรา 112 ในรัชกาลที่ 10 เท่านั้น แต่ยังมีคนจำนวนมากที่ต้องตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 และเรื่องเล่าของพวกเขาและเธอเผยให้เห็นปัญหาในการใช้กฎหมายหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ  ที่รัฐขยายการตีความหมายเกินกว่าเจตนารมย์ของกฎหมาย หลายคนถูกพิพากษาทั้งๆที่ไม่มีหลักฐานในการกระทำความผิดที่แน่ชัดเช่น “จารุวรรณ” (น. 9-12) บางคนต้องสูญเสียอิสรภาพอันเนื่องมาจากข้อกล่าวหาที่พิสูจน์ไม่ได้อย่าง “ยุทธภูมิ” (น.97-100) 

อันเนื่องมาจากตัวกฎหมายที่ให้ใครก็ได้มีอำนาจร้องทุกข์กล่าวโทษ ใครก็ตามก็สามารถเป็นจำเลยได้ พอๆกับเป็นโจทก์ การเผชิญต่อการถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎหมายอาญามาตรา 112 จึงกลายเป็นสิ่งใกล้ตัว และเกิดขึ้นกับใครง่ายกว่าที่เราคิด คนๆนั้นอาจจะเป็นบรรณาธิการนิตยสาร ยาม สาวโรงงาน คนดูแลอพาร์ทเมนต์ ดารานักแสดงนักร้องที่เคยเห็นตามโทรทัศน์ ผู้รับเหมาก่อสร้าง คนขับแท็กซี่ที่เคยโดยสาร นักจัดรายการวิทยุ นักเขียน นักศึกษา แม้แต่คนแปลกหน้าที่บอกเล่าข่าวลือที่เขาเพิ่งได้ยินมา ทั้งเขาและเธออาจจะเป็น พ่อ แม่ ลูก ปู่ คนรัก เมีย ผัว พี่น้อง (แต่พี่น้องด้วยกันเอง ก็ทำให้ตกเป็นผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 เช่น “ยุทธภูมิ” (น. 97-100) ) หรือเพื่อนสนิท เพื่อนบ้าน เพื่อนสมัยเรียน mutual friend ใน facebook แม้กระทั่งพ่อเพื่อนก็ได้ เช่น “สมยศ” (น. 121-125) หรือพวกเขาและเธออาจจะเป็นแค่เพียงคนที่คิดต่างเท่านั้น 

เสียงของ “ผู้เช่าห้องหมายเลข 112” ทั้ง 22 คนที่เปล่งออกมา ประกาศถึงตัวตนของความเป็นคนว่าพวกเขาและเธอต่างก็มีชีวิตจิตใจ ร้อยยิ้ม น้ำตา ความขมขื่นเจ็บปวดกับการเฝ้าฝันอิสรภาพและความเป็นธรรม ไม่ใช่ความเวทนาสงสาร และความเป็นธรรมนั้นก็ไม่ใช่แค่ความยุติธรรม หากแต่รวมถึงความมีมนุษยธรรม ขณะเดียวกันหนังสือกเล่มนี้ก็เล่าเรื่องอีกหลายชีวิตนอก “ห้องเช่า” ที่ต้องเผชิญกับความคิดถึง ความงุนงนสับสนต่ออัตตวิสัยเจ้าหน้าที่ การเฝ้ารอความเนิ่นนานยืดเยื้อของ “ระบบ” ราชการ หนทางอันยาวไกลเพื่อโอกาสให้ได้เข้าเยี่ยม “ผู้เช่า” ในระยะเวลาจำกัดอันน้อยนิด แต่กำแพงของห้องเช่าก็ไม่สามารถแยกความรักความคิดถึงของพวกเขาเหล่านั้นออกจากกัน พอๆกับกุญแจมือที่ไม่เป็นอุปสรรคให้คนรักของผู้ต้องโทษสวมกอดกัน

“…เขายกแขนสองข้างซึ่งสวมกุญแจมือขึ้นเหนือศีรษะเพื่อให้ภรรยาลอดตัวเข้ามาในวงแขน พวกเขากอดกันแน่น รอยยิ้มปรากฎบนใบหน้าของทั้งสองคน” (น. 67)

ตัวตนของพวกเขาและเธอจึงเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  และการรักษาฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ของกษัตริย์และชนชั้นศักดินา จากรัฐตามจารีต มาสู่รัฐสมัยใหม่ จากคติเทวราชาธรรมราชา มาสู่ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์และ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทว่าสำนึกของการลงโทษ ไต่สวน และพิสูจน์หาความผิดหรือบริสุทธิ์นั้นแทบไม่ได้แตกต่างไปจากกัน 

เหมือนกับที่กระบวนการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เต็มไปด้วยปริศนาและความกังขา “อากง” (น.127-138) ที่ลึกลับดำมืดไม่ได้ต่างไปจากการพิสูจน์ผู้บริสุทธิ์หรือกระทำความผิดตามจารีตนครบาลในราชอาณาจักรสยาม พุทธศตวรรษที่ 22-23 ที่โจทก์และจำเลยให้กินยาลูกกลอนที่พระสงฆ์ปรุงขึ้นพร้อมคำเสกสาปแช่ง ผู้ที่ดำรงสัตย์จะสามารถเก็บไว้ในกระเพาะได้โดยไม่อาเจียน หรือใช้ความรุนแรง เช่นลุยไฟด้วยเท้าเปล่า จุ่มมือลงไปในน้ำมันเดือด ผู้บริสุทธิ์ดำรงสัตย์ย่อมไม่เป็นอันตราย ซึ่งแม้จะมีกระบวนการพิสูจน์ความจริงเป็นลำดับขั้นตอน แต่ในที่สุดก็ไม่สามารถพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ได้ 

บทลงโทษผู้หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ  “ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี” ก็รุนแรงฉกรรจ์ มีแต่เพียงโทษจำคุกสถานเดียว และกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้อีกด้วย ไม่ต่างอะไรกับบทลงโทษในสมัยรัฐจารีตเก่าแก่ต้องการให้เอาผู้กระทำผิดไปทรมานในระยะยาวให้ได้รับทุกขเวทนายิ่งกว่าตาย  แต่นั่นก็เป็นสำนึกการลงโทษทางกฎหมายเองที่ไม่ได้เพื่อให้ผู้กระทำที่ถูกพิพากษาว่ามีความผิดได้แก้ไขปรับรุงตัวเอง แต่เป็นการลงโทษให้หลาบจำไม่ให้ผู้ถูกพิพากษากระทำผิดซ้ำ และผู้พบเห็นหวาดกลัวไม่บังอาจเอาเยี่ยงอย่าง หนังสือเล่มนี้เผยให้เห็นชีวิตภายในเรือนจำเต็มไปด้วยความจำใจปรับตัวและทัศนคติ อดทนแม้แต่เรื่องขั้นพื้นฐานเช่นสุขอนามัยและการรักษาพยาบาลที่ไม่ถูกวิธีจนเป็นอันตรายถึงกับพิการหรือเสียชีวิตได้ (“ทอม ดันดี” น.67-75, “โอภาส” น.103-106, “อากง” น.127-138) การลงโทษจำคุกในคดีนี้ จึงไม่ต่างอะไรกับการทรมานให้ตายอย่างช้าๆ

และจากแบบแผนตุลาการแห่งราชอาณาจักรสยามในพุทธศตวรรษที่ 22-23 ผู้ที่กระทำความผิดมักพ้นอาญาได้ยากเพราะแม้ว่าหลบหนีไปได้ก็ตาม แต่พ่อแม่เครือญาติที่ใกล้ชิด มิตรสหายจะถูกจองจำแทน จนกว่าผู้กระทำผิดจะมาแสดงตนต่อศาล  ไม่ต่างไปจากกรณีของการดำเนินคดีกับ “บรรพต” หรือหัสดินนั้น นอกจากลูกสาวสองคนของเขา จะถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปพบเพื่อสอบถามข้อมูล สมาชิกคนอื่นภายในบ้านก็ถูกจับกุมไปสอบสวนหาความเชื่อมโยง ทั้งภรรยาของเขา “สายฝน” และมอเตอร์ไซค์รับจ้างคนสนิทของเขาก็ถูกจับกุมและตั้งข้อหาดำเนินคดีในฐานะผู้สนับสนุนการก่ออาชญกรรม (น. 55) 

และนั่นก็เป็นพุทธศตวรรษเดียวกับที่อุปนิสัยของผู้คนถูกบันทึกอธิบายไว้ว่า

 “…วิญญาณแห่งภาระจำยอมตกเป็นทาส ที่พวกเขาได้นำติดตัวมาแต่ถือกำเนิดเกิดขึ้นในโลกและแล้วได้รับการอบรมให้มีศรัทธาอยู่อย่างนั้น ได้ริดรอนความกล้าหาญและทำให้เป็นคนขี้ขลาด จนกระทั่งตัวสั่นเมื่อเห็นภัยเฉพาะหน้าแต่เพียงเล็กน้อย และอาจจะเป็นเพราะความขี้ขลาดโดยธรรมชาตินี่เอง ที่ทำให้พวกเขาถวายความจงรักภักดีต่อองค์พระมหากษัตริย์เป็นอย่างยิ่ง และเคารพนับถือถึงขนาดไม่กล้าเงยหน้ามองขึ้นดู ในเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงมีพระราชดำรัส…” 

แม้ว่าก้าวมาสู่พุทธศตวรรษที่ 25 ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่กษัตริย์ไม่ใช่รัฐาธิปัตย์อีกต่อไป แต่กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ยังคงดำรงอยู่ในทางปฎิบัติ ไม่ใช่สัญลักษณ์ พ.ศ. 2500 รัฐบาลจอมพล แปลก พิบูลสงคราม ได้เริ่มใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อันมีรากเหง้ามาจากลักษณะอาญา ร.ศ.127 ที่เคยประกาศใช้ใน พ.ศ. 2451 ครั้งยังปกครองในระบอบราชาธิปไตย 

และถูกเพิ่มมาตรการลงโทษให้หนักขึ้นจากจำคุกไม่เกิน 7 ปี มาสู่ต่ำสุด 3 ปี สูงสุด 15 ปี หลังเหตุการณ์สังหารหมู่ประชาชนในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และความพยายามขยายขอบเขตคุ้มครองบุคคลภายใต้มาตรา 112 โดยรัฐบาลเผด็จการที่มาจากรัฐประหารพ.ศ. 2549 เพื่อที่จะคุ้มครองครอบคลุมสามัญชนบางประเภทด้วย ทว่าไม่สำเร็จ จนเป็นที่สังเกตได้ว่าการสถาปนารัฐบาลเผด็จการการรัฐประหารแต่ละครั้ง จะนำมาซึ่งการเพิ่มความเข้มข้นให้กับกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 

การไร้ซึ่งสิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์ การแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายภายใต้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เพื่อดำรงถึงสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะและล่วงละเมิดมิได้ของสถาบันกษัตริย์ มาตรานี้จึงเสมือน Elephant in the room ช้างตัวใหญ่ในห้องแต่ไม่ถูกมองเห็นหรือถูกแสร้งไม่เห็นตัวตน 

เช่นเดียวกับข้อเท็จจริง ความเป็นธรรรมและความเป็นคนของผู้ต้องคำกล่าวหามาตรานี้ ที่เป็นช้างอีกเชือกในห้องที่ถูกเลือกให้มองไม่เห็น แม้ว่าพวกเขาและเธอจะเป็น “นักโทษคดีประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัย” (น. 21) ก็ตาม

RELATED TAGS

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post