ศาลทหารทำโอที ฝากขัง 14 “ประชาธิปไตยใหม่” ตอนเที่ยงคืน
โดยปกติเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจับตัวผู้ต้องหาได้จะมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อการสอบสวนไม่เกิน 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 87 วรรคสาม หากครบ 48 ชั่วโมงเจ้าหน้าที่จะต้องปล่อยตัวผู้ต้องหาหรือนำตัวไปที่ศาลเพื่อขอฝากขัง ซึ่งใน 48 ชั่วโมงนี้ พนักงานสอบสวนก็พอจะมีเวลาทำการสอบสวนเบื้องต้นหรือในกรณีที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมนอกเวลาราชการ พนักงานสอบสวนก็มีเวลาพอที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้จนกว่าจะถึงเวลาทำการของศาล
แต่ในคืนวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ก็มีกรณีแปลก เมื่อศาลทหารซึ่งปกติจะเปิดทำการระหว่าง 8.30 ถึงเวลา 16.30 น. กลับต้องเปิดทำการถึงเที่ยงคืน เพื่อรอพนักงานสอบสวนนำตัว 14 ผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งถูกจับในเย็นวันเดียวกันมาฝากขัง ทั้งที่ผู้ต้องหาทั้งหมดเพิ่งถูกจับกุมแค่สามถึงสี่ชั่วโมงและพนักงานสอบสวนยังมีอำนาจควบคุมตัวผู้ต้องหาเพื่อรอศาลทหารเปิดทำการในวันรุ่งขึ้นได้ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งอยู่ที่ศาลทหารในคืนที่เปิดทำการถึงเที่ยงคืนระบุว่า
“จากประสบการณ์ที่ทำคดีผ่านมาไม่พบว่ามีคดีใดที่ศาลเป็นทำการฝากขังถึงเที่ยงคืน เพราะโดยปกติตามกฎหมายเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถคุมขังตัวบุคคลได้ไม่เกิน 48 ชั่วโมงเมื่อควบคุมตัวบุคคลมาแล้วฝากขังไม่ทันในเวลาทำการ ก็สามารถควบคุมตัวที่สถานีตำรวจไว้และทำการฝากขังในวันถัดไปได้ กรณีนี้เป็นกรณีเฉพาะมากและทราบว่าศาลทหารเปิดเพื่อรอการฝากขังคดีนี้เพียวคดีเดียวในคืนดังกล่าว”
บรรยากาศที่หน้าศาลทหารในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ซึ่งศาลเปิดทำการถึงเที่ยงคืนและมีการปิดทางเข้าหน้าอาคารศาล (ภาพจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)
สำหรับเหตุผลที่อาจอธิบายความเร่งรีบครั้งนี้อาจมีอยู่อย่างน้อยสองข้อ คือ
ข้อแรก ตำรวจเกรงว่า การควบคุมตัวไว้ที่สถานีตำรวจชั่วคราว อาจทำให้นักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากไปรวมตัวกันทำกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม เหมือนกรณีควบคุมตัวผู้ชุมนุมกิจกรรมเลือกตั้งที่(รัก)ลัก และกรณีชุมนุมครบรอบหนึ่งปีรัฐประหารที่หอศิลป์กรุงเทพ ที่เมื่อมีการนำนักกิจกรรมที่ถูกจับจากที่ชุมนุมไปควบคุมไว้ก็มีคนมาให้กำลังใจ ทำกิจกรรมจุดเทียน หรือกระทั่งนั่งสังสรรค์เพื่อรอการปล่อยตัว ซึ่งยากต่อการที่เจ้าหน้าที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ต่อเนื่อง การนำผู้ต้องขังไปควบคุมตัวยังเรือนจำจะลดแรงเสียดทานในการทำงานของตำรวจได้ระดับหนึ่ง อีกข้อหนึ่ง การนำเร่งนำตัวไปฝากขังแบบ ‘ด่วนพิเศษ’ อาจเป็นการส่งสัญญาณถึงบรรดานักกิจกรรมว่าแม้ที่สุดแล้วศาลอาจจะพิพากษายกฟ้องหรือรอลงอาญา ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีความเสี่ยงที่จะสิ้นอิสรภาพ
กระบวนการสืบพยานที่ศาลทหาร นานจนสายเกินไป
การต้องตกเป็นจำเลยในคดีอาญาขึ้นโรงขึ้นศาลเป็นเรื่องที่น่าหนักใจอยู่ไม่น้อยสำหรับคนทั่วไป เพราะต้องเสียทั้งเวลาในการมาศาล รวมทั้งคอยกังวลใจว่าจะสู้คดีอย่างไร แล้วศาลจะตัดสินว่าอย่างไร การพิจารณาคดีโดยรวดเร็ว เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนในกระบวนการยุติธรรม และช่วยให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ต้องทนอยู่ในความทุกข์นานจนเกินไป
จากการติดตามและสังเกตการณ์การพิจารณาคดีในศาลตั้งแต่ปี 2554 ไอลอว์พบว่า การพิจารณาคดีจะเสร็จช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับปัจจัยอย่างน้อยสี่ประการ
ประการแรก จำนวนคดีในศาลซึ่งหากมีไม่มากศาลก็อาจนัดสืบพยานหลังวันฟ้องได้เร็ว ประการที่สอง จำนวนพยาน หากมีพยานเยอะก็อาจจะต้องใช้เวลาสืบพยานหลายวัน ประการที่สาม เวลาที่คู่ความกับศาลว่างตรงกันซึ่งอาจมีผลต่อการกำหนดวันนัดพิจารณาคดี ประการที่สี่ ความซับซ้อนของคดีซึ่งอาจมีผลต่อระยะเวลาในการทำคำพิพากษา ระบบที่ออกแบบกันมาในศาลยุติธรรม คือ การนัดสืบพยานต่อเนื่องกัน เพื่อให้สืบพยานได้ติดต่อกัน การพิจารณาคดีดำเนินไปอย่างรวดเร็วและไม่เปิดช่องให้แต่ละฝ่ายมีเวลาไปสร้างพยานหลักฐานใหม่จนได้เปรียบเสียเปรียบกัน เช่น คดีติดป้ายแยกประเทศล้านนา ศาลจังหวัดเชียงรายนัดสืบพยานต่อเนื่องกันในวันที่ 12, 14 – 15 และ 19 พฤษภาคม 2558 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาในเดือนกรกฎาคม 2558 ส่วนคดี 112 ของปิยะ (คดีแรก) ศาลอาญานัดสืบพยานต่อเนื่องในวันที่ 17 – 19 และ 24 พฤศจิกายน 2558 ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 20 มกราคม 2559 หรือประมาณสองเดือนหลังการสืบพยาน
สำหรับคดีที่พิจารณาในศาลทหาร กระบวนการสืบพยานจะต่างออกไปเพราะศาลทหารจะนัดสืบพยานของแต่ละคดี 1-2 นัด ต่อเดือนและจะสืบเฉพาะช่วงเช้าเท่านั้น ทำให้การสืบพยานของหลายๆคดีกินเวลานาน
ศาลทหารจังหวัดทหารบกเชียงราย สถานที่ที่สมัครต้องเดินทางไปเก้อหลายครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล
“วันนี้จะตัดสินหรือยังครับ” คือคำถามที่สมัคร จำเลยคดี 112 ซึ่งถูกฟ้องต่อศาลทหารเชียงรายเฝ้าถามทนายแทบทุกครั้งที่ถูกนำตัวมาพิจารณาคดีที่ศาล ศาลนัดสืบพยานคดีของสมัครครั้งแรกในวันที่ 12 มกราคม 2558 หลังจากนั้นก็นัดสืบพยานเดือนละหนึ่งนัดเรื่อยมาโดยสืบเฉพาะช่วงเช้า การสืบพยานโจทก์ปากที่สาม ถูกเลื่อนออกไปถึงสามครั้งเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้การสืบพยานซึ่งควรจะมีในเดือนมีนาคม 2558 ถูกเลื่อนไปทำเดือนมิถุนายน 2558 โดยสมัครต้องเดินทางมาศาลเก้อถึงสามครั้งในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ขณะที่ทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนซึ่งเดินทางไปจากกรุงเทพก็ต้องเสียค่าที่พักและค่าเดินทางโดยไม่ได้สืบพยานทั้งสามครั้งเพราะไม่มีการแจ้งเลื่อนนัดศาลล่วงหน้า
ในเดือนกรกฎาคม 2558 สมัครตัดสินเลิกสู้คดีและรับสารภาพต่อศาล เนื่องจากทุกข์ใจเพราะที่ผ่านมาคดีนี้นัดสืบพยานมาหลายนัดแต่คดีก็ยังไม่เสร็จเสียที ทั้งที่ข้อต่อสู้ของเขา คือ เขามีใบรับรองแพทย์ว่ามีอาการทางจิต และยังไม่มีโอกาสได้บอกศาล ศาลพิพากษาจำคุกสมัครเป็นเวลาสิบปีก่อนลดโทษเหลือห้าปี “มันนานเกินไป…” สมัครกล่าวหลังทราบคำพิพากษาแต่ก็ก้มหน้ายอมรับชะตากรรม
นอกจากคดีของสมัคร คดีอื่นๆ ที่พิจารณาในศาลทหารแล้วจำเลยเลือกสู้คดีแทนรับสารภาพก็มีการพิจารณาที่ยาวนานเหมือนกัน เช่น คดีข้อหาไม่ไปรายงานตัวของสิรภพ ที่นอกจากจะกินเวลานานเพราะศาลนัดสืบเฉลี่ยน้อยกว่าหนึ่งครั้งต่อเดือนแล้วยังเกิดจากพยานโจทก์ไม่มาศาลทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานอย่างน้อยสามครั้ง
ตัวอย่างการนัดสืบพยานในศาลยุติธรรมและศาลทหารที่ไอลอว์ติดตามช่วงหลังการรัฐประหาร 2557
คดี | ศาล | วันนัดสืบพยาน | สถานะการสืบพยาน |
อภิชาต (ข้อหาชุมนุม) | ศาลแขวงปทุมวัน | 11, 29-30 กันยายน 2558 5 พฤศจิกายน 2558 | จบแล้ว |
ออด (ข้อหา 116) | ศาลจังหวัดเชียงราย | 12, 14 – 15, 19 พฤษภาคม 2558 | จบแล้ว |
สมบัติ (ข้อหาไม่มารายงานตัว) | ศาลแขวงดุสิต | 26 มกราคม 2558 5,12,19 มิถุนายน 2558 | จบแล้ว |
จิตรา (ข้อหาไม่มารายงานตัว) | ศาลทหารกรุงเทพ | 8 ตุลาคม 2558 11 กุมภาพันธ์ 2559 (เว้นสืบพยาน เพราะจำเลยไปต่างประเทศ) 25 เมษายน 2559 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 1 กรกฎาคม 2559 | ยังไม่จบ |
ธานัท (ข้อหา 112) | ศาลทหารกรุงเทพ | 4 สิงหาคม 2558 22 ตุลาคม 2558 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 12 พฤศจิกายน 2558, 26 กุมภาพันธ์ 2559, 11 มีนาคม 2559, 27 มิถุนายน 2559 | ยังไม่จบ |
สิรภพ (ข้อหาไม่มารายงานตัว) | ศาลทหารกรุงเทพ | 11 พฤศจิกายน 2557 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 22 มกราคม 2558 27 มีนาคม 2558 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 6 กรกฎาคม 2558 7 กันยายน 2558 (เลื่อนนัดเพราะพยานโจทก์ไม่มาศาล) 4 พฤศจิกายน 2558, 26 มกราคม 2559, 10 กุมภาพันธ์ 2559, 25 กุมภาพันธ์ 2559 | ยังไม่จบ |
การต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล ด่านแรกของกระบวนการยุติธรรมยุค คสช.
เท่าที่ไอลอว์เก็บข้อมูล ในยุกรัฐบาล คสช. มีพลเรือนอย่างน้อย 167 คน ถูกดำเนินคดีในศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมือง มีพลเรือนจำนวนหนึ่งที่เห็นว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นเรื่องที่ผิดหลักการ จึงยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจศาลทหารแม้รู้ว่านั่นจะทำให้กระบวนการพิจารณาคดีที่ล่าช้าอยู่ต้องใช้เวลามากขึ้นไปอีก เพราะศาลทหารจะต้องชะลอการพิจารณาคดีจนกว่าจะมีข้อยุติว่าคดีอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลใด สำหรับประเด็นที่ใช้ในการคัดค้านอำนาจศาลทหารอาจแบ่งได้สองประเด็นใหญ่ๆ ได้แก่ ประเด็นเงื่อนเวลา ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาเกิดก่อนหรือหลังมีการออกประกาศฉบับที่ 37/2557 กับว่าการนำพลเรือนขึ้นศาลทหารไม่ชอบธรรมขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนสากล
จาตุรนต์ ฉายแสง จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวของ คสช.และคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมืองตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 คัดค้านอำนาจศาลโดยระบุว่า คดีไม่รายงานตัวไม่อยู่ในศาลทหารเพราะเหตุเกิดก่อนมีการออกประกาศให้ผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.ขึ้นศาลทหาร ขณะที่ความผิดฐานยุยงปลุกปั่นที่เกิดจากการโพสต์เฟซบุ๊กและการจัดแถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แม้เกิดหลังมีการออกประกาศแต่ประกาศยังไม่ตีพิมพ์ในราชกิจจานุเบกษา จึงถือว่ายังไม่มีผลบังคับใช้ นอกจากนี้ประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหารก็ขัดต่อมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองที่ให้ความคุ้มครองสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีโดยเปิดเผยโดยองค์คณะที่เป็นอิสระเอาไว้
สิรภพ จำเลยคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัวและคดี 112 เป็นจำเลยอีกคนหนึ่งที่ต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาล แม้สิรภพจะไม่ได้ประกันตัวแต่ก็ยอมที่จะต่อสู้เรื่องเขตอำนาจศาลแม้จะรู้ว่านั่นจะทำให้การพิจารณาคดีของเขาต้องล่าช้าออกไป สิรภพต่อสู้ว่าการกระทำตามข้อกล่าวหาในคดีของเขาเกิดขึ้นตั้งแต่ก่อนมีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร คดีของเขาจึงอยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรม สิรภพยังขอให้ศาลทหารส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยว่าประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557 ขัดหรือแย้งกับมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวด้วย
สิรภพ จำเลยคดี 112 และคดีฝ่าฝืนคำสั่งรายงานตัว
ในภาพรวมมีอย่างน้อย 11 คดี ที่จำเลยยื่นเรื่องคัดค้านอำนาจของศาลทหาร ซึ่งอย่างน้อย 3 คดีที่ศาลทหารมีคำสั่งแล้วว่า จะไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยเพราะศาลทหารไม่มีหน้าที่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ
ดูรายละเอียดการคัดค้านอำนาจศาลทหารในคดีพลเรือนได้ ที่นี่
ให้การโดยไม่มีทนายร่วมฟัง สุดท้ายติดคุก 7 ปี 30 เดือน
วันที่ 15 ธันวาคม 2558 ชญาภา หญิงวัยกลางคนถูกศาลทหารตัดสินจำคุกเป็นเวลา 7 ปี 30 เดือนจากการโพสต์ข้อความที่อาจจะเข้าข่ายผิดมาตรา 112 สองข้อความและมาตรา 116 อีกสามข้อความบนเฟซบุ๊ก ในยุคของ คสช.ปรากฏการณ์ที่ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตถูกดำเนินคดีร้ายแรงและต้องติดคุกเป็นเวลานานเพียงเพราะการแสดงความเห็นบนโลกออนไลน์เกิดขึ้นบ่อยจนเกือบจะกลายเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ทำให้เรื่องราวของชญาภา หญิงวัยกลางคนที่ต้องสูญเสียอิสรภาพเป็นกรณีที่ต้องหยิบยกมาพูดถึงเกิดจากการที่เธอต้องรับสารภาพโดยที่ไม่มีทนายความทั้งที่ได้แต่งตั้งทนายแล้ว
ชญาภาเซ็นแต่งตั้งทนายจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนในเดือนกันยายน 2558 หลังอัยการทหารส่งฟ้องคดีต่อศาล ทนายของชญาภาเคยขอถ่ายสำเนาคำฟ้องต่อศาลทหารในเดือนกันยายน 2558 แต่ถูกปฏิเสธโดยอ้างว่าศาลต้องส่งคำฟ้องไปให้จำเลยอยู่แล้ว และเพิ่งมาได้รับคำฟ้องในเดือนตุลาคมหลังขอถ่ายสำเนาไปอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 14 ธันวาคม 2558 ทนายสอบถามกับศาลทหารว่ามีหมายนัดคดีของชญาภาแล้วหรือยัง เจ้าหน้าที่ศาลตอบว่ายังไม่มีวันนัด แต่ปรากฏว่าในคืนนั้นชญาภากลับได้รับแจ้งจากทัณฑสถานหญิงกลางว่า จะต้องมาศาลในวันรุ่งขึ้น
ชญาภาถูกนำตัวมาที่ศาลโดยลำพัง ญาติของเธอและทนายความไม่ได้มาด้วย เธอยังไม่ได้ปรึกษากับทนายความในเรื่องคดีของเธอ ในห้องพิจารณาคดีชญาภาจึงต้องเผชิญหน้าและตอบคำถามกับตุลาการศาลทหารโดยลำพัง เธอเลือกรับสารภาพว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความทั้งหมดจริง และศาลมีคำพิพากษาในทันที ทนายของชญาภารู้ว่าเธอรับสารภาพก็หลังจากศาลตัดสินไปแล้ว เมื่อชญาภาขอเจ้าหน้าที่โทรติดต่อทนายว่าต้องการความช่วยเหลือ
แม้ชญาภาจะรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่ข้อความที่ชญาภาถูกกล่าวหาหลายข้อความ สามารถต่อสู้ได้ว่าไม่เข้าข่ายความผิดทั้งมาตรา 112 และมาตรา 116
การมีทนายความให้คำปรึกษาถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้ถูกดำเนินคดีอาญาทุกคน เพราะการตัดสินใจในคดีจะมีผลผูกพันกับผู้ตกเป็นจำเลยในคดี การตัดสินใจไม่ว่าจะรับสารภาพหรือสู้คดีโดยไม่ได้รับการปรึกษาจากทนายซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายอาจทำให้อิสรภาพผู้ถูกดำเนินคดีอยู่ในความเสี่ยง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่สำนวนคดีอ่อนและมีโอกาสชนะแต่จำเลยรับสารภาพเพราะไม่ได้รับคำปรึกษาจากทนาย สำหรับคดีของชญาภายังไม่อาจสรุปได้ว่า การที่ศาลส่งหมายให้จำเลยล่าช้าและไม่มีหมายนัดส่งถึงทนายเกิดจากความผิดพลาดในขั้นตอนใด แต่ราชทัณฑ์และศาลทหารน่าจะใช้คดีนี้เป็นกรณีศึกษาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดลักษณะนี้ขึ้นอีกในอนาคต
ศาลทหารสั่งเอง หมิ่นประมาท”ผู้นำ”ไม่ใช่คดีความมั่นคง ไม่ต้องขึ้นศาลทหาร
ในภาพรวมศาลทหารมีปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่ปัญหาทางวิธีปฏิบัติ เช่น การนำตัวผู้ต้องหา/จำเลยที่ได้ประกันไปปล่อยจากเรือนจำทำให้ต้องผ่านกระบวนการตรวจร่างกาย หรือปัญหาในการพิจารณาคดีที่มักสั่งพิจารณาคดี 112 เป็นการลับ รวมทั้งการลงโทษจำเลยคดี 112 หลายคนอย่างหนัก แต่การทำงานของอัยการทหาร-ศาลทหารก็พอจะมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้างคือ การใช้ดุลพินิจพิจารณาความสอดคล้องระหว่างกฎหมายที่ใช้ฟ้องกับการกระทำตามข้อกล่าวหา ดังกรณีของรินดา และ “แจ่ม”
รินดาถูกตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 จากการโพสต์เฟซบุุ๊กกล่าวหาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โอนเงินจำนวนมหาศาลไปสิงคโปร์ ซึ่งเป็นข้อหาที่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลทหาร เธอถูกฝากขังต่อศาลทหาร ต่อมาในเดือนธันวาคม 2558 ศาลทหารนัดรินดาไปถามคำให้การว่าจะรับสารภาพหรือปฏิเสธ แต่ศาลทหารบอกกับรินดาและอัยการทหารว่าศาลทหารพิจารณาสำนวนคดีแล้วเห็นว่าคดีนี้ไม่ใช่คดีตามมาตรา 116 แต่น่าจะเป็นคดีหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณา แต่อัยการทหารคัดค้านศาลทหารจึงทำความเห็นส่งให้ศาลพลเรือนพิจารณา ต่อมาศาลพลเรือนมีความเห็นพ้องด้วยว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจของศาลอาญา คดีของรินดาจึงถูกจำหน่ายออกให้ไปฟ้องใหม่ที่ศาลของพลเรือน ในข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา ซึ่งมีโทษเบากว่าคดีตามมาตรา 116
รินดาถูกตั้งข้อหา 116 จากการโพสต์ข่าวลือ พล.อ.ประยุทธ์โอนเงินไปต่างประเทศ
“แจ่ม” ถูกกล่าวหาว่าโพสต์ข้อความเกี่ยวกับข้อสงสัยเรื่องการทุจริตในการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์และความขัดแย้งในกองทัพ “แจ่ม” ถูกนำตัวไปฝากขังกับศาลทหารในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2558 ต่อมาในเดือนเมษายน 2559 อัยการทหารมีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง “แจ่ม” ในข้อหายุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ส่วนความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ศาลทหารไม่มีอำนาจพิจารณาคดีพลเรือน จึงคืนสำนวนให้พนักงานสอบสวนไปดำเนินการฟ้องแจ่มต่อศาลพลเรือนต่อไป
กรณีของ “แจ่ม” และรินดาแสดงให้เห็นว่ายังมีพัฒนาการทางบวกอยู่บ้างที่ศาลทหาร เพราะอัยการทหารและผู้พิพากษาศาลทหารมีความพยายามที่จะกลั่นกรองคดีอยู่บ้าง เมื่อพิจารณาเห็นว่าข้อหาที่จำเลยถูกกล่าวหาไม่ถูกต้องก็ไม่ดำเนินคดีต่อ ยังมีอีกหลายคดีที่ลักษณะคล้ายกับรินดาและ “แจ่ม” เช่น คดีที่มีแอดมินเพจแปดคนถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 116 จากการทำเนื้อหาล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จากนี้จึงต้องจับตาต่อไปว่าศาลหรืออัยการจะมีความเห็นอย่างไร