ผู้ถูกดำเนินคดี 112 ในรูปแบบ “ใหม่ซ้ำเดิม” หลังรัฐประหาร

หลังรัฐประหาร 2557 คสช.ประกาศใช้กฎหมายและออกกฎระเบียบหลายฉบับที่มีเนื้อหากระทบสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงประกาศฉบับที่ 37/2557 ที่ให้ผู้ถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับความมั่นคงต้องขึ้นศาลทหาร ความผิดประเภทหนึ่งที่ต้องขึ้นศาลทหาร คือ ความผิดหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ หรือที่เรียกกันว่า มาตรา 112 ที่เจ้าหน้าที่จับกุมบุคคลตามข้อหานี้มากขึ้น พร้อมแนวโน้มของศาลที่กำหนดบทลงโทษรุนแรงยิ่งกว่าเดิม

ช่วงสองปีของรัฐบาล คสช. มีบุคคลถูกตั้งข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น อย่างน้อย 62 คน ซึ่งส่วนใหญ่ถูกจับกุมด้วยเหตุแชร์ข้อมูลในโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก นอกจากนี้ยังพบว่า มีอย่างน้อย 3 ราย ที่ถูกดำเนินคดีซ้ำ หรือถูกฟ้องเป็นความผิดถึงสองครั้งสองครา

 

โอภาส เขียนฝาผนังห้องน้ำสองห้อง ถูกฟ้องสองคดี

โอภาส อายุ 68 ปี อาชีพประกอบธุรกิจส่วนตัว ถูกพนักงานรักษาความปลอดภัยของห้างสรรพสินค้าซีคอนสแควร์ จับตัวได้เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2557 จากการเขียนผนังห้องน้ำของห้างฯ ก่อนประสานให้ทหารรับตัวไปดำเนินคดี ข้อความที่โอภาสเขียนมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง โจมตีการรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และพาดพิงถึงพระมหากษัตริย์ โอภาสถูกตั้งข้อหาตามมาตรา 112 และถูกพิจารณาคดีที่ศาลทหาร

ระหว่างการสอบสวนโอกาสไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว จนกระทั่งวันที่ 20 มีนาคม 2558 โอภาสขึ้นศาลในวันนัดสอบคำให้การ เขาให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา และศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา 

ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพตามคำพิพากษาคดีแรก ตำรวจจาก สน.ประเวศ เข้าไปพบโอภาสในเรือนจำและแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเป็นอีกคดีหนึ่ง จากการเขียนฝาผนังห้องน้ำที่ห้างซีคอนสแควร์ ซึ่งเป็นห้องน้ำที่อยู่คนละชั้นกับห้องน้ำในคดีแรก จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจก็อายัดตัวโอภาสไว้เพื่อดำเนินคดีที่สอง

7 กรกฎาคม 2558 อัยการทหารมีคำสั่งฟ้องคดีที่สองของโอภาส ในคำฟ้องระบุว่าการเขียนฝาผนังห้องน้ำห้องที่สอง เกิดขึ้นในเวลาไล่เลี่ยกับการเขียนฝาผนังห้องน้ำห้องแรก ข้อความในห้องน้ำคดีที่สองก็มีเนื้อหาคล้ายกับข้อความในห้องน้ำคดีแรก แต่ยาวกว่า และพาดพิงถึงบุคคลหลายคนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง โดยใช้สมญานามแทนการเอ่ยชื่อบุคคลโดยตรง 

16 ตุลาคม 2558 ศาลทหารกรุงเทพพิพากษาจำคุกโอภาสในคดีที่สองเป็นเวลา 3 ปี ลดเหลือ 1 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา จากข้อกล่าวหาว่าเขียนฝาผนังห้องน้ำอีกห้องหนึ่ง โดยศาลทหารยังสั่งด้วยว่าให้นับโทษต่อจากคดีแรก 

โดยสรุปแล้วโอภาสเขียนฝาผนังห้องน้ำสองห้องในเวลาไล่เลี่ยกัน เขาถูกฟ้องเป็นสองคดี ศาลทหารลงโทษจำคุกตามมาตรา 112 คดีละ 3 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยรับสารภาพเหลือคดีละ 1 ปี 6 เดือน รวมแล้วโอภาสต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 12 เดือน 

 

ปิยะ ขอต่อสู้ทั้งสองคดี ยังมองไม่เห็นปลายทาง

ปิยะ อายุ 46 ปี อดีตเจ้าหน้าที่ตลาดหลักทรัพย์ ถูกแจ้งความหลังมีผู้พบเห็นภาพถ่ายจากบัญชีเฟซบุ๊กชื่อ “นายพงศธร บันทอน” ซึ่งใช้รูปของปิยะเป็นรูปประจำตัว เผยแพร่ข้อความเข้าข่ายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ผู้พบเห็นจึงนำเรื่องไปกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ปิยะถูกจับกุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2557 และถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพเรื่อยมาระหว่างการต่อสู้คดี

ปิยะให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาและต่อสู้คดีว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กและโพสต์ข้อความตามที่ถูกฟ้อง ขณะที่ศาลสั่งให้พิจารณาคดีนี้เป็นการลับ เพื่อป้องกันไม่ให้ประชาชนล่วงรู้ถึงความลับเกี่ยวกับความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ เนื่องจากคดีนี้มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่เคารพสักการะของประชาชน 

20 มกราคม 2559 ศาลอาญาพิพากษาจำคุกปิยะ 9 ปี โดยคดีนี้ศาลอาญากำหนดโทษคดีมาตรา 112 สูงเป็นสถิติใหม่ของศาลพลเรือน ศาลเห็นว่าคำให้การของปิยะระหว่างสืบพยาน เป็นประโยชน์ต่อทางพิจารณา ลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 6 ปี 

หลังศาลพิพากษา ปิยะไม่ต้องการให้คดีถึงที่สุดเพื่อขออภัยโทษหรือขอพักโทษ ปิยะประสงค์จะสู้คดีต่อในชั้นอุทธรณ์ เพราะเขาทราบดีว่าต่อให้เขาได้รับการปล่อยตัวจากคดีแรกเขาก็ยังต้องถูกคุมขังในคดีที่สองต่ออยู่ดี

เพราะระหว่างการต่อสู้คดีแรก ปิยะถูกพาตัวไปที่ศาลอาญาและถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่งจากการส่งอีเมลสองอีเมลไปยังธนาคารกรุงเทพ และหน่วยงานต่างๆ ตั้งแต่ปี 2551 และ 2553 ในคดีที่สอง ปิยะปฏิเสธว่า อีเมลที่ส่งออกไม่ใช่อีเมลของเขา เขายืนยันที่จะต่อสู้ในเรื่องการพิสูจน์ตัวตนทางคอมพิวเตอร์ว่าเขาไม่เกี่ยวข้องกับอีเมลเหล่านั้น

ปัจจุบันปิยะจึงมีคดีมาตรา 112 อยู่ที่ศาลอาญา 2 คดี คดีแรกอยู่ระหว่างการยื่นอุทธรณ์ คดีที่สองอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา ศาลอาญาจะนัดสอบคำให้การคดีที่สอง วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2559

 

‘ทอม ดันดี’ ขึ้นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน

ธานัท หรือ ทอม ดันดี อายุ 57 ปี อดีตศิลปินและนักแสดงที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองร่วมกับกลุ่มคนเสื้อแดง ถูกควบคุมตัว 2 ครั้งภายใต้รัฐบาลคสช. ครั้งแรกกรณีไม่รายงานตัวตามประกาศ คสช. เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2557 ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกันตัว และหนึ่งเดือนถัดมา ธานัทถูกเจ้าหน้าที่บุกควบคุมตัวอีกครั้งที่บ้านพัก อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี ก่อนจะถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากคลิปปราศรัยที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ บนยูทูบ ซึ่งอัยการทหารยื่นฟ้องเป็นความผิด 2 กรรม 

ธานัทถูกฝากขังต่อศาลทหารในคดีมาตรา 112 เมื่อเดือนกรกฎาคม 2557 ทนายความของเขาให้ข้อมูลว่า คดีนี้มีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายเนื่องจากการกระทำตามข้อกล่าวหา เกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ที่มีประกาศให้พลเรือนขึ้นศาลทหาร โดยคลิปการปราศรัยของธานัทถูกเผยแพร่คลิปบนยูทูป 2 คลิป คลิปแรกปราศรัยเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2556 ที่เรดการ์ดเรดิโอ คลิปที่สองปราศรัยวันที่ 13 พฤศจิกายน 2556 บริเวณวงเวียนหลักสี่ เขตบางเขน กรุงเทพฯ อัยการทหารมองว่าคดีนี้ต้องขึ้นศาลทหาร เพราะการอัพโหลดคลิปไว้บนอินเทอร์เน็ตถือเป็นความผิดต่อเนื่องตลอดเวลาที่คลิปยังเข้าถึงได้อยู่ และนับเป็นการกระทำต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันด้วย

ธานัทถูกส่งตัวไปควบคุมที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว ธานัทให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยทนายของเขาเปิดเผยด้วยว่า คดีนี้ธานัทจะต่อสู้คดีในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากธานัทไม่ได้เป็นผู้อัพโหลดคลิปเสียงขึ้นบนยูทูบด้วยตัวของเขาเอง หากพิสูจน์ได้ว่าเขาเพียงแค่กล่าวปราศรัยเท่านั้นไม่ได้เป็นผู้อัพโหลดคลิปเสียง คดีนี้ย่อมไม่เกี่ยวกับการกระทำบนอินเทอร์เน็ต และต้องพิจารณาที่ศาลพลเรือน 

ธานัทยังต่อสู้โดยยื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เนื่องจากเห็นว่าคดีของเขาไม่ควรถูกฟ้องที่ศาลทหาร ต่อมานายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนให้สัมภาษณ์ว่า กรณีที่ผู้ต้องหาต้องการให้กรรมการสิทธิฯ เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครองว่า การเอาพลเรือนขึ้นศาลทหารเป็นการละเมิดสิทธินั้น ปัจจุบันนี้กรรมการสิทธิฯ ไม่มีอำนาจดังกล่าวแล้ว เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกยกเลิก อำนาจในการส่งเรื่องไปยังศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ หรือการฟ้องคดีแทนผู้เสียหายจึงหมดไป 

ภรรยาของธานัท ยื่นประกันตัวกว่า 7 ครั้ง แต่ศาลก็ไม่อนุญาตให้ประกันตัว

แต่เเล้วระหว่างต่อสู้อยู่ในชั้นสืบพยานธานัทก็ถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ เพิ่มอีกหนึ่งคดี ซึ่งคดีที่ 2 พนักงานอัยการฟ้องธานัทต่อศาลอาญา จากคลิปปราศรัยที่เผยแพร่บนยูทูบในเวลาใกล้เคียงกับคลิปที่เป็นเหตุแห่งคดีแรก ในคดีที่สอง ธานัทให้การปฏิเสธและขอสู้คดีอีกครั้ง การสืบพยานในคดีที่สองของธานัท จะเริ่มขึ้นในวันที่ 26 กรกฎาคม 2559

ทั้งที่การกระทำทั้งสองคดีมีลักษณะคล้ายกัน ดังนั้น หากคดีแรกต้องขึ้นศาลทหารคดีที่สองก็ต้องขึ้นศาลทหาร และหากคดีที่สองขึ้นศาลพลเรือนคดีแรกก็ต้องขึ้นศาลพลเรือนเช่นกัน

ปัจจุบันธานัทหรือทอม ดันดี จึงมีคดีมาตรา 112 อยู่สองคดี จากการปราศรัยในเวลาไล่เลี่ยกัน แต่คดีหนึ่งฟ้องที่ศาลทหาร อีกคดีหนึ่งฟ้องที่ศาลอาญา

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage