คุมเข้ม ธเนตร แถลงข่าว-ฝากขัง ตั้งข้อหา 116 ยังไม่ชัดว่าจากโพสต์เรื่องอะไร

18 ธันวาคม 2558 กองปราบจัดแถลงข่าวการจับกุมตัว “ธเนตร” ตั้งข้อหายุงยงปลุกปั่นมาตรา 116 ก่อนศาลทหารให้ประกันหลักทรัพย์ 100,000 บาท บันทึกแจ้งข้อกล่าวหา ระบุธเนตรใช้เฟซบุ๊กมีเนื้อหาโจมตีรัฐบาลและกองทัพ

ธเนตร เป็นนักกิจกรรมที่ร่วมเดินทางกับกลุ่มประชาธิปไตยศึกษา ไปตรวจสอบการทุจริตโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ในวันที่ 7 ธันวาคม 2558 และถูกออกหมายจับเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 เจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวธเนตรที่โรงพยาบาลสิรินธร ขณะที่กำลังรักษาตัวจากอาการลำไส้ใหญ่อักเสบและไส้เลื่อนบริเวณถุงอัณฑะ และนำตัวธเนตรไปคุมขังโดยไม่เปิดเผยสถานที่เป็นเวลา 6 วัน ภายใต้อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558

เช้าวันที่ 18 ธันวาคม 2558 พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ควบคุมตัวธเนตรมาที่กองบังคับการปราบปรามเพื่อตั้งข้อหาและแถลงข่าว ธเนตรทำมือไขว้กันบนอกเป็นสัญลักษณ์แทนนกพิราบต่อหน้าผู้สื่อข่าว แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสั่งให้เอามือลงก่อนถูกนำตัวเข้าไปสอบสวนในอาคาร

ก่อนการแถลงข่าว มีการเปลี่ยนสถานที่แถลงข่าวถึงสามครั้ง ครั้งแรกผู้สื่อข่าวตั้งกล้องที่บริเวณโถงภายในอาคารกองปราบ แต่เจ้าหน้าที่มาแจ้งว่าให้ย้ายเข้าไปในห้องประชุม โดย สิรวิชญ์ เพื่อนนักกิจกรรม ได้เดินตามผู้สื่อข่าวเข้ามาในห้องด้วย แต่เจ้าหน้าที่เชิญให้สิรวิชญ์ออกไปจากห้องแถลงข่าวภายหลังสิรวิชญ์ต่อรองขออยู่ข้างใน หลังจากนั้นครู่ใหญ่ จึงมีเจ้าหน้าที่เข้ามาแจ้งผู้สื่อข่าวอีกครั้งว่า ให้ย้ายออกไปด้านนอกตามเดิม เมื่อผู้สื่อข่าวออกมาบริเวณโถงด้านนอกอีกครั้ง เจ้าหน้าที่ก็ขอให้ผู้สื่อข่าวทุกคนออกไปนอกอาคารพร้อมกับมีกำลังเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งยืนประจำการบริเวณทางเข้าอาคารกองปราบฯ

ประมาณ 12.30 น. เจ้าหน้าที่เดินมาแจ้งผู้สื่อข่าวว่าจะมีการแถลงข่าวในห้องประชุม พร้อมกับกำชับว่า ผู้ที่ไม่ใช่สื่อมวลชนห้ามเข้าไปในห้องแถลงข่าว ทำให้สิรวิชญ์และเพื่อนที่มาให้กำลังใจไม่สามารถเข้าไปในห้องแถลงข่าวได้

แพทย์จากโรงพยาบาลตำรวจแถลงกับสื่อมวลชนว่า จากการตรวจร่างกายพบว่าธเนตรปกติดี ไม่มีร่องรอยถูกซ้อมทรมาน และมีสติสัมปชัญญะดี สามารถให้การได้ แต่ก็มีอาการอัณฑะอักเสบซึ่งดีขึ้นแล้ว เพราะได้รับยาและได้รับการดูแลจากแพทย์ทหาร

ในส่วนของคดี เจ้าหน้าที่ตำรวจแถลงว่า ธเนตรเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลทหารที่ 64/2558 มีอาชีพขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พฤติการณ์แห่งความผิดคือ โพสต์เฟซบุ๊กที่มีเนื้อหาต่อต้านรัฐบาล กองทัพ และบุคคลสำคัญ เคยมีประวัติเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง เบื้องต้นเจ้าหน้าที่แจ้งข้อหาฐานปลุกปั่นยั่วยุ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) ยังไม่มีการแจ้งข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 ซึ่งเมื่อสอบสวนที่กองปราบเสร็จ จะนำตัวไปขอฝากที่ศาลทหารต่อไป

สำหรับบรรยากาศที่ศาลทหารกรุงเทพ มีการกั้นรั้วเหล็กและมีเจ้าหน้าที่ทหารเดินตรวจอยู่รอบๆ ก่อนที่ธเนตรจะมาถึงศาลทหาร เจ้าหน้าที่ได้เดินตรวจบุคคลที่อยู่ในพื้นที่และอนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปในอาคารศาล แต่บุคคลอื่นห้ามเข้า โดยให้เหตุผลว่า “เป็นการควบคุมให้พื้นที่ดังกล่าวมีแต่สื่อ เพราะไม่ต้องการให้มวลชนหรือกลุ่มนักศึกษาเข้ามาวุ่นวายในพื้นที่”

ต่อมาในเวลา 14.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบังคับการปราบปราม พร้อม พ.อ.บุรินทร์ ทองประไพ นายทหารพระธรรมนูญ ควบคุมตัว ธเนตร มาขออำนาจศาลทหารฝากขังเป็นเวลา 12 วัน ในเวลาประมาณ 15.00 น. สิรวิชญ์พร้อมกับพ่อของธเนตรเดินทางมาที่ศาลทหาร แต่เจ้าหน้าที่ไม่ให้เข้ามาในพื้นที่ จึงเกิดการเจรจากัน เพราะพ่อของธเนตรเดินทางมาจากจังหวัดอุทัยธานีเพื่อมาขอพบลูกชาย ทหารจึงอนุญาตให้พ่อของธเนตรเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ ส่วนคนอื่นให้รออยู่ด้านนอก

ในห้องพิจารณาคดี พนักงานสอบสวนขออนุญาตฝากขัง โดยในคำร้องระบุเพียงว่า ผู้ต้องหาโพสต์เผยแพร่ภาพ ข้อความ รวมทั้งแสดงความคิดเห็นด้วยตนเอง และแชร์จากเฟซบุ๊กของผู้อื่นแล้วแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม เป็นเหตุให้รัฐบาลและกองทัพได้รับความเสียหาย พล.ตรี วิจารณ์ จดแตง จึงเป็นผู้มาร้องทุกข์กล่าวโทษให้ดำเนินคดี แต่ยังไม่ได้ระบุว่าเป็นโพสต์ใดที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับอะไรบ้าง

ด้านทนายของธเนตรยื่นคำร้องคัดค้านการฝากขัง โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ นอกจากนั้นผู้ต้องหายังมีอาการป่วย และต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม ศาลทหารอนุญาตให้ฝากขังธเนตรเป็นเวลา 12 วัน โดยระบุว่า “มีเหตุให้เห็นชอบตามคำร้องของพนักงานสอบสวน”

ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เล่าว่า เมื่อสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับข้อกล่าวหาของธเนตร ก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีการดำเนินคดีตามมาตรา 112 และไม่เกี่ยวข้องกับกรณีที่มีการเผยแพร่ภาพ “ผังอุทยานราชภักดิ์” แต่เป็นการดำเนินคดีตามมาตรา 116 เนื่องจากการแสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทนายยังเปิดเผยด้วยว่า ในชั้นสอบสวน ธเนตรให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา แต่ระหว่างถูกควบคุมตัวในค่ายทหาร มีบรรยากาศกดดันให้ธเนตรต้องให้การไปโดยที่ไม่มีทนายอยู่ร่วมด้วย

หลังศาลทหารอนุญาตให้ฝากขัง ทนายจึงยื่นขอประกันตัวธเนตรด้วยเงินสด 400,000 บาท ศาลทหารอนุญาตให้ประกันตัวธเนตร ด้วยวงเงิน 100,000 บาท ธเนตรจะถูกปล่อยที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพในช่วงค่ำ และจะต้องผ่านกระบวนการตรวจร่างกายตามระเบียบของทางราชทัณฑ์

สำหรับรายละเอียดของคดีนี้ ดูเพิ่มเติมได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/698

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage