“ถูกปิดตา และเปลี่ยนรถ 4 ครั้ง เลยไม่รู้ว่าตอนนั้นถูกพาตัวไปที่ไหน”
ธเนตรเปิดเผยกับเราเมื่อแรกบทสนทนาถามถึงสถานที่ และสภาพความเป็นอยู่ขณะถูกควบคุมตัว ตลอด 5 วัน …
21 ธันวาคม 2558 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ไอลอว์มีโอกาสพูดคุยกับธเนตร หรือตูน นักกิจกรรม วัย 25 ปี ที่ตกเป็นผู้ต้องหาคดียุยงปลุกปั่นให้เกิดความกระด้างกระเดื่องฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และถูกจับกุมเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2558 ขณะรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล และควบคุมตัวในสถานที่ปิดลับ กระทั่งถูกพาตัวมาแจ้งข้อหาก่อนที่สุดท้ายจะได้ประกันตัว
[ดูข้อมูลคดีของธเนตร ได้ที่ http://freedom.ilaw.or.th/case/698]
วันนี้ธเนตรมาพบกับทนายความ เพื่อทำเรื่องขอเลื่อนการไปรับทราบข้อกล่าวหาในคดีที่สอง ที่เขาถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐานชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน เขาและนักกิจกรรมรวม 11 คน ถูกตั้งข้อหาจากกิจกรรมนั่งรถไฟไปส่องทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2558
หลังเสร็จธุระ เขาเริ่มจากเล่าถึงบรรยากาศระหว่างถูกควบคุมว่า ตอนถูกพาตัวไปเขาถูกปิดตา และเปลี่ยนรถ 4 ครั้ง เลยไม่รู้ว่าตอนนั้นถูกพาตัวไปที่ไหน จากนั้นพาไปในห้องสี่เหลี่ยม ที่แทบพอจะเห็นแสงสว่างแค่ตอนถูกซักถาม เจ้าหน้าที่พยายามแจ้งกับเขาขณะสอบสวนว่า เขาเป็นคนทำภาพแผนผังเครือข่ายทุจริตอุทยานราชภักดิ์ให้คนนำไปเผยแพร่บนโลกออนไลน์ รวมถึงเอารูปภาพไปแชร์เพื่อกล่าวหาว่าร้ายกองทัพบก
ธเนตรสาธยายถึงสภาพในห้องควบคุมตัวว่า มีทีวีและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ที่ใช้การไม่ได้ แม้เจ้าหน้าที่ที่มาคุยจะใช้คำพูดที่ไม่สุภาพบ้าง แต่เรื่องอาหารการกินและยาที่เขาต้องรับประทานระหว่างนั้น ถือว่าเจ้าหน้าที่ก็ดูแลดี แต่ก็ยังรู้สึกถึงบรรยากาศคุกคาม ไม่มีความปลอดภัยอยู่ทุกขณะ เมื่อจะเปลี่ยนสถานที่ควบคุมตัว เขาจะถูกปิดตาเสมอขณะพาขึ้นรถ และได้ยินเสียงคนเฝ้าเวรยามอยู่เป็นระยะๆ อย่างน้อย 2 คน เขาต้องอยู่ในสภาพเช่นนี้จนกระทั่งครบกำหนดเวลาควบคุมตัว 7 วัน ตามประกาศหัวหน้า คสช. 3/2558
ธเนตรย้ำถึงเหตุการณ์ตอนถูกจับตัวว่า ตอนนั้นกำลังจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลสิรินทร ไม่มีเจตนาหลบหนี และรู้อยู่เเล้วว่าถูกออกหมายจับ และรู้ด้วยว่ามีเจ้าหน้าที่คอยดักอยู่หน้าห้องผู้ป่วย ตั้งแต่เข้ารักษาตัว เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2558 และพร้อมจะมอบตัวกับเจ้าหน้าที่หลังรักษาตัวเสร็จสิ้น
ภาพธเนตร
เมื่อถามถึงฐนกร ผู้ถูกดำเนินคดีตาม 112 และ 116 ที่พฤติการณ์มีลักษณะคล้ายกันเพราะถูกจับจากเรื่องภาพแผนผังเครือข่ายทุจริตอุทยานราชภักดิ์เหมือนกัน ธเนตรบอกว่า ไม่รู้จักกับฐนกรเป็นการส่วนตัวเลย และเขาเองไม่มีส่วนรู้เห็นกับการทำผังทุจริตอุทยานราชภักดิ์ เขาเป็นเพียงคนเล็กๆ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกเวลามีจัดกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมือง
ย้อนไปก่อนหน้านี้ ธเนตร หนุ่มจากจังหวัดอุทัยธานี มีบ้านอยู่ อ.หนองขาหย่าง เรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนพุทธมงคลวิทยา อ.เมือง วิชาประวัติศาสตร์คือสิ่งที่เขาสนใจ แม้จะไม่มีบุคคลไหนเป็นแรงบันดาลใจขณะทำกิจกรรมเคลื่อนไหว แต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 และ 6 ตุลา 2519 ก็เป็นสิ่งที่เขาพอซึมซับบรรยากาศมาบ้าง หลังเรียนจบ ธเนตรเข้ากรุงเทพฯ ทำงานรับจ้างทั่วไป เช่น เด็กส่งน้ำแข็ง ส่วนงานก่อสร้างคือสิ่งที่เขาถนัดที่สุด
ช่วงเวลาที่เขาอยู่กรุงเทพฯ เราจะพบเจอเขาได้ตามงานกิจกรรมทางการเมืองเสมอๆ ธเนตรเป็นคนตัวเล็ก สูงประมาณ 150 เซ็นติเมตร รูปร่างผอม ผิวสีดำแดง แต่บุคลิกแข็งแรงและคล่องแคล่ว เขาจะอยู่แถวหน้าในการเดินขบวน คอยทำหน้าที่โบกรถ ยกข้าวของ คอยตะโกนสื่อสารเรื่องต่างๆ กับคนที่มาร่วมกิจกรรม ธเนตรเป็นคนเข้าร่วมที่กระตือรือร้นพยายามเข้ามีส่วนร่วมเท่าที่สามารถช่วยได้ ทั้งที่จริงๆ เขาไม่ได้เป็นแกนนำหรือคนที่จัดกิจกรรมต่างๆ ขึ้นเอง
ว่าด้วยแนวคิดทางการเมือง ธเนตรบอกว่า กลุ่มไหนเป็นประชาธิปไตยเขาเอาด้วยหมด เขาเคยร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม นปช.และถูกจับกุมจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเมื่อปี 2553
เหตุผลที่มาเคลื่อนไหวกับนักศึกษาและกลุ่มประชาธิปไตยใหม่นั้น เพราะเห็นด้วยกับแนวทางการต่อสู้ และอยากมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย เขายังกล่าวด้วยว่า ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลและเผด็จการแบบ คสช.
“เมื่อได้เลือกเส้นทางนี้แล้ว ก็ไม่ได้หวังจะดัง หรือเป็นแกนนำใหญ่อะไร แค่อยากรู้ว่าประชาธิปไตยในไทยจะเกิดขึ้นได้หรือไม่” ธเนตรกล่าว
ธเนตรเล่าว่า ในการทำกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองก็มีการถูกคุกคามบ้าง เหตุการณ์ช่วงก่อนถูกจับขณะอยู่โรงพยาบาลจะรุนแรงที่สุด เขายังไม่ทราบเหมือนกันว่ามีเจ้าหน้าที่ไปตามหาเขาที่บ้านที่จังหวัดอุทัยธานีบ้างหรือเปล่า และถึงแม้พ่อเขาจะรู้สึกเป็นห่วง แต่ก็มาห้ามเขาไม่ให้ทำกิจกรรมไม่ได้ ถึงตอนนี้เขาและกลุ่มเพื่อนนักกิจกรรมเห็นตรงกันว่า ช่วงระหว่างปีใหม่นี้คงเพลากิจกรรมลงบ้าง เพื่อพักผ่อนร่างกาย
สำหรับคดีความผิดฐานยุยงปลุกปั่นตามมาตรา 116 ที่ต้องขึ้นศาลทหารนั้น ธเนตรกล่าวว่า ยังไม่ได้คิดต่อว่าจะเอาอย่างไรดี แต่การมีคดีติดตัวก็จะทำให้ชีวิตเขาลำบากขึ้นแน่นอน โดยเฉพาะข้อหานี้ที่ทำให้ถูกมองว่าเป็นเสมือนผู้ก่อการร้าย ทั้งที่ไม่ใช่ เขารู้สึกว่าเจ้าหน้าที่ให้เกียรติเขาสูงเกินไป ที่ผลักให้เขาเป็นแกนนำกิจกรรมเคลื่อนไหว ทั้งที่จริงๆ เป็นแค่คนธรรมดา ไม่ได้เป็นระดับแกนนำหรือเลขาธิการกลุ่มประชาธิปไตยใหม่อย่างที่ถูกกล่าวหา
ก่อนลาจาก ธเนตรกล่าวทิ้งท้ายฝากไปถึงหน่วยงานภาครัฐที่ดูแลงานด้านสิทธิมนุษยชนในประเทศว่า ควรให้ความเป็นธรรมกับคนกลุ่มเล็กๆ ที่ออกมาแสดงสิทธิเสรีภาพและเคลื่อนไหวด้วย และควรจะแสดงจุดยืนอะไรบางอย่างในทันที เมื่อประชาชนถูกละเมิด