ก่อนการรัฐประหารปี 2557 จำเลยที่เป็นทหารเท่านั้นต้องขึ้นศาลทหาร แต่ประกาศคสช.ฉบับที่ 37/2557, 38/2557 และ 50/2557 กำหนดให้พลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีความต่อไปนี้
>> คดีความผิดต่อพระมหากษัตริย์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 107-112
>> คดีความผิดต่อความมั่นคงภายในราชอาณาจักร มาตรา 113-118
>> คดีความผิดตามประกาศ และคำสั่ง คสช. ทุกฉบับ
>> ความผิดฐานมีหรือใช้อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด ที่ใช้เฉพาะแต่การสงครามที่นายทะเบียนไม่อาจออกใบอนุญาตให้ได้ อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พุทธศักราช 2490
>> คดีความผิดที่เกี่ยวโยงกับความผิดที่ต้องขึ้นศาลทหาร
โดยหลักแล้ว วิธีการพิจารณาคดีในศาลทหารให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้โดยอนุโลม แต่ในรายละเอียดศาลทหารก็มีวิธีการพิจารณาคดี และเงื่อนไขการอำนวยความยุติธรรมต่างกับศาลพลเรือน เช่น
++ ศาลทหารภายใต้กฎอัยการศึกมีชั้นเดียว ไม่มีการอุทธรณ์ฎีกา
++ ตุลาการตัดสินคดีเป็นทหารทั้งหมด คดีหนึ่งมีอย่างน้อย 3 คน 2ใน3 คน เป็นนายทหารระดับสูงที่ไม่ต้องเรียนจบนิติศาสตร์
++ อัยการที่ทำหน้าที่ฟ้องคดีเป็นอัยการทหาร ไม่ต้องสอบผ่านเนติบัณฑิตก่อน
++ การพิจารณาและสืบพยานในศาลทหาร ถ้าจำเลยรับสารภาพหรือไม่ติดใจฟัง ไม่ทำต่อหน้าจำเลยก็ได้
++ การสืบพยานในศาลทหาร ไม่ใช้วิธีนัดต่อเนื่องกัน ทำให้การถามพยานขาดช่วง มีโอกาสให้พยานเตรียมตัวล่วงหน้าได้
++ ศาลทหารไม่มีกระบวนการสืบเสาะ เพื่อตรวจสอบประวัติและความประพฤติของจำเลย เพราะกระบวนการสืบเสาะเป็นภารกิจของกรมคุมประพฤติ กระทรวงยุติธรรม แต่ศาลทหารสังกัดกระทรวงกลาโหม
++ ศาลทหารเคยสั่งไม่อนุญาตให้ทนายความจำเลยคัดถ่ายสำเนาคำฟ้อง และเอกสารที่เกี่ยวข้องในคดี โดยศาลให้เหตุผลว่าศาลจะจัดส่งให้จำเลยเองอยู่แล้ว
++ วันที่อัยการส่งฟ้องต่อศาลทหาร ไม่ต้องพาตัวจำเลยมาศาลด้วย แต่เมื่ออัยการส่งฟ้องแล้วศาลจะกำหนดวันนัดสอบคำให้การหลังจากนั้นเพื่อพาจำเลยมารับทราบข้อกล่าวหา จากการสังเกตพบว่าแต่ละคดีศาลทหารใช้เวลาไม่เท่ากันในการกำหนดวันนัดสอบคำให้การ บางคดีใช้เวลาหลายเดือนกว่าที่ศาลจะนัดสอบคำให้การครั้งแรก ทำให้จำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ไม่อาจทราบอนาคตของตัวเองได้
++ ทางปฏิบัติของศาลทหาร เมื่อศาลรับฝากขังจำเลย ศาลทหารจะถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจการควบคุมของกรมราชทัณฑ์และต้องถูกส่งตัวไปเรือนจำทันที ไม่ว่าจำเลยจะยื่นขอประกันตัวหรือไม่ก็ตาม และแม้จำเลยยื่นขอประกันตัวและได้ประกันตัวในวันเดียวกันกับที่ศาลอนุญาตให้ฝากขัง จำเลยก็ยังคงต้องเข้าไปผ่านการทำประวัติและตรวจร่างกายในเรือนจำ ก่อนถูกปล่อยเวลาประมาณ 20.00 น.
++ ปกติศาลทหารมีคดีที่ต้องพิจารณาไม่มาก ทั้งตุลาการและเจ้าหน้าที่ไม่เคยมีประสบการณ์แบกรับคดีที่มีปริมาณเยอะ และคดีที่มีความซับซ้อนทางพยานหลักฐานและการตีความกฎหมาย
สถิติคดีการเมืองที่พลเรือนต้องขึ้นศาลทหาร
นับตั้งแต่หลังการรัฐประหารถึงสิ้นเดือนกันยายน 2558 มีพลเรือนต้องขึ้นศาลทหารในคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อย 145 คน แบ่งเป็น
(1) คดีฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 7/2557 ห้ามชุมนุมทางการเมือง 62 คน
(2) คดีฝ่าฝืนประกาศคสช.ฉบับที่ 41/2557 ไม่มารายงานตัวตามกำหนด 10 คน
(3) คดีมาตรา 112 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ 39 คน
(4) คดีมาตรา 116 ฐานปลุกปั่นยั่วยุฯ 20 คน
(5) คดีเกี่ยวกับอาวุธปืนที่เกี่ยวข้องกับการเมือง 59 คน
บางคนถูกดำเนินคดีหลายข้อหา บางคนมีมากกว่าหนึ่งคดี
[ดูข้อมูลคนถูกตั้งข้อหาทางการเมืองหลังการรัฐประหารได้คลิกที่ https://www.ilaw.or.th/articles/9667]ตัวเลขชุดนี้เป็นการนับจากข้อมูลของ iLaw เท่านั้น เป็นที่ทราบกันว่า นอกจากคดีที่เกี่ยวข้องกับการเมืองแล้วยังมีพลเรือนที่ถูกตั้งข้อหาครอบครองอาวุธปืนและข้อหาอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่ต้องขึ้นศาลทหารด้วย โดยองค์กร Human Rights Watch เคยอ้างถึงจำนวนรวมของพลเรือนที่ต้องขึ้นศาลทหารในยุคคสช. ว่ามีสูงถึงอย่างน้อย 700 คน
.
ข้อสังเกตเกี่ยวกับศาลทหารในปี 2557-2558
++ คดีฝ่าฝืนคำสั่งและประกาศคสช.ศาลทหารมีแนวโน้มกำหนดโทษเหมือนกันทุกคดี และให้จำเลยได้รอลงอาญา [ดูรายละเอียดที่ ++ คดีฝ่าฝืนคำสั่งและประกาศคสช.ศาลทหารมีแนวโน้มกำหนดโทษเหมือนกันทุกคดี และให้จำเลยได้รอลงอาญา [ดูรายละเอียดที่https://www.ilaw.or.th/articles/9667 ]
++ ศาลทหารพิพากษาคดีมาตรา 112 มีแนวโน้มกำหนดโทษสูง ซึ่งหลายคดีกำหนดโทษจำคุก 10 ปี ต่อการกระทำ 1 กรรม ขณะที่คดีมาตรา 112 หลายคดีศาลพลเรือนกำหนดโทษจำคุก 5 ปี ต่อ 1 กรรม และศาลทหารมีแนวโน้มสั่งพิจารณาคดีลับ [ดูรายละเอียดต่อในบทความ]
++ มีคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 4 คดี ที่การกระทำเกิดขึ้นก่อนการรัฐประหาร แต่เนื่องจากข้อความยังปรากฏอยู่บนอินเทอร์เน็ต จึงถูกตีความว่าเป็นความผิดต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และถูกให้ไปพิจารณาที่ศาลทหาร [ดูรายละเอียดที่ http://ilaw.or.th/node/3213]
++ การพิจารณาคดีส่วนใหญ่ ศาลทหารไม่อนุญาตให้ผู้เข้าสังเกตการณ์จดบันทึกในห้องพิจารณาคดี [ดูรายละเอียดที่ http://prachatai.com/journal/2014/10/56236]
++ จำเลยที่เป็นพลเรือนอย่างน้อย 4 คน เคยยื่นคำร้องคัดค้านอำนาจของศาลทหาร แต่ศาลทหารปฏิเสธที่จะส่งคำร้องเรื่องเขตอำนาจให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย [ดูรายละเอียดที่https://www.ilaw.or.th/articles/8852]
++ วันที่ 26 มิถุนายน 2558 ศาลทหารกรุงเทพเคยเปิดทำการถึงเวลาประมาณเที่ยงคืน เพื่อรอออกคำสั่งให้ฝากขัง 14 ผู้ต้องหากลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสื่อมวลชน