ร่วมจับตานัดสืบพยาน คดีต้านรัฐประหาร !

คดีอภิชาต ชุมนุมต้านรัฐประหาร นัดสืบพยานที่ศาลแขวงปทุมวัน 11 และ 30 กันยายน 2558 ก่อนหน้านี้อภิชาตยืนยันพร้อมสู้คดี และยินดีรับผลการพิพากษา แต่จะไม่ยอมรับประกาศคสช.

ก่อนถูกดำเนินคดี อภิชาต เป็นนักศึกษาปริญญาโท มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นเจ้าหน้าที่คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย อดีตที่ปรึกษาอนุกรรมาธิการด้านเด็กและเยาวชน วุฒิสภา และอดีตประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย อภิชาตเริ่มศึกษากฎหมายอย่างจริงจังตั้งแต่สมัยเรียนในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองทั้งการชุมนุมทางการเมืองและการเสวนาทางการเมือง

อภิชาตยังเป็นนักกิจกรรมที่มีบทบาทโดดเด่นในการทำกิจกรรมเพื่อสังคมในนามสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นับว่ามีบทบาทสำคัญในการผลักดันร่างข้อบังคับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย รวมถึงได้ทำหน้าที่เป็นกรรมการในการแก้ไขกฎหมายหลายฉบับในเวลาต่อมา ปี 2556 อภิชาต จัดตั้งสถาบันยุวชนสยาม โดยมี เนติวิทย์ โชติภัทรไพศาล เป็นรองประธานสถาบันฯ และมี สุลักษณ์ ศิวรักษ์ เป็นประธานที่ปรึกษา

อภิชาต ถูกจับกุมตัวระหว่างการชุมนุมต่อต้านการหลังรัฐประหาร เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ที่หน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯสี่แยกปทุมวันเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 เขาเป็นคนแรกที่ถูกจับจากการแสดงออกในที่สาธารณะหลังกการรัฐประหาร ขณะถูกทหารคุมตัวไปที่รถอภิชาตถือป้ายที่เขียนข้อความต้านรัฐประหารพร้อมตะโกนว่า “ไม่ยอมรับอำนาจคณะรัฐประหาร” เขาถูกควบคุมตัวด้วยข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่อง ห้ามชุมนุมทางการเมือง

ก่อนนัดสืบพยานวันศุกร์นี้ ไอลอว์มีโอกาสสัมภาษณ์อภิชาตสั้นๆ เกี่ยวกับสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศและร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังจะมีขึ้นใหม่ในขณะนี้

iLaw: รู้สึกอย่างไรต่อกระแสที่นักกิจกรรม หรือคนที่เคลื่อนไหวทางการเมือง ถูกเจ้าหน้าที่ทหารตามไปถึงบ้าน?

อภิชาต: รู้สึกแย่มาก  เพราะการแสดงความคิดเห็นที่สันติวิธีของนักกิจกรรมล้วนตั้งอยู่บนเจตนาดีที่จะให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ แต่การที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้กำลัง ในลักษณะมา ข่มขู่ คุกคามตนเอง และครอบครัว เป็นอะไรที่สุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายกับชีวิต ทรัพย์สินและเสรีภาพ และไม่สร้างบรรยากาศของความเป็นประชาธิปไตย ผมเองก็เคยโดนเจ้าหน้าที่ ที่ไม่รู้ว่าเป็นทหารหรือตำรวจติดตาม แต่ผมไม่มีอะไร การแสดงความคิดเห็นทางการเมืองและการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ผ่านมาทำด้วยความสันติและไม่มีประโยชน์แอบแฝง มาจากความคิดและข้อเสนอที่อยากให้สังคมเราเป็นเท่านั้นเอง แต่มันเสียความรู้สึกในฐานะที่เราเป็นประชาชนถูกคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐและรัฐบาลก็เพิกเฉยต่อการกระทำนั้น

iLaw: คดีของอภิชาตเป็นหนึ่งในไม่กี่คดีที่ข้อหาฝ่าฝืนฯ ได้ขึ้นศาลพลเรือน คิดว่า ข้อแตกต่างจริงๆของศาลพลเรือน และ ศาลทหารเป็นอย่างไรบ้าง ?

อภิชาต: คดีนี้เป็นเรื่องที่พลเมืองลุกขึ้นมาปกป้องรัฐธรรมนูญและต่อต้านการรัฐประหาร ซึ่งเป็นการได้มาซึ่งอำนาจการปกครองที่ไม่ชอบตามหลักประชาธิปไตยอยู่แล้ว จึงเป็นสิทธิหน้าที่ที่พลเมืองต้องทำ  หากเห็นว่าพลเมืองทำหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยคำสั่ง การพิจารณาคดีก็ต้องทำโดยศาล และศาลในที่นี้ก็ไม่ควรเป็นศาลทหาร เพราะศาลต้องดำรงไว้ด้วยความเป็นกลาง ศาลทหารมีตุลาการเป็นทหารและมีส่วนได้เสียกับการรัฐประหารด้วย ความชอบธรรมของศาลทหารในการพิจารณาคดีพลเรือนที่ต่อต้านรัฐประหารจึงไม่มี

สำหรับศาลพลเรือนจริงๆก็พอคาดเดาได้ว่าศาลจะพิพากษาคดีนี้มาในแนวทางไหน แต่ตัวผมเองเลือกที่จะสู้คดีถึงที่สุด ในวันที่ออกมาต่อต้านการรัฐประหารก็เลือกที่จะไม่ยอมให้ใครมาแย่งอำนาจอธิปไตยจากเราและปกครองโดยมิชอบ วันนั้นแม้จะสู้อำนาจปลายกระบอกปืนไม่ได้ แต่วันนี้ก็เลือกที่จะต่อสู้ในทางศาลต่อไป อย่างน้อยเป็นการยืนยันอำนาจอธิปไตยและสิทธิหน้าที่ของประชาชน ให้คนในกระบวนการยุติธรรมได้ละอายใจบ้าง หากยังมีใจให้ประชาชนอยู่บ้าง

iLaw: ในฐานะคนที่ทำงานด้านปฏิรูปกฎหมาย หวังอะไรบ้างต่อ ร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นใหม่ ในเรื่องสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง?

อภิชาต: โดยส่วนตัวไม่คาดหวังว่ารัฐธรรมนูญภายใต้สถานการณ์แบบนี้ จะใส่ใจความสันติสุขของประชาชน เพราะคนร่างรัฐธรรมนูญขาดแนวคิดในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชน บางคนดูถูกประชาชนด้วยซ้ำไป บางคนก็เห็นดีเห็นงามกับการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนจากการรัฐประหารครั้งนี้ จึงไม่คาดหวังอะไรกับคนพวกนี้ได้

การให้สิทธิและเสรีภาพของประชาชนต้องเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในรัฐธรรมนูญและไม่ใช่เฉพาะชนชาวไทย แต่จะต้องคุ้มครองทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยโดยไม่เลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ เชื้อชาติ ภาษา  ฐานะทางสังคม เป็นต้น สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ในรัฐธรรมนูญก็ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญและเปิดรับฟังความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ถ้ามีการจำกัดสิทธิเสรีภาพอย่างที่ทำกันอยู่ สังคมนี้อาจมีรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีทางสันติสุขได้

*คดีของอภิชาต เกิดขึ้นก่อนวันที่ 25 พฤษภาคม 2557 ก่อนการออกประกาศ คสช.ฉบับที่ 37/2557 ให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพลเรือนในข้อหาความผิดต่อความมั่นคง (เช่น ม.112 ม.116) และความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคำสั่งของคสช.

*นอกจากอภิชาต แล้วหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ยังมีผู้ถูกดำเนินคดี ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ฝ่าฝืนประกาศคสช. ฉบับที่ 7/3557 หรือ ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/3558 ข้อ 12 อีกอย่างน้อย 69 คน

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage