ประเด็นในคำอุทธรณ์คดีสมยศ พฤกษาเกษมสุข

วสันต์ พานิช

ทนายความในชั้นอุทธรณ์

บทเริ่มต้น  ควรเห็นใจสมยศในฐานะบรรณาธิการ  ที่มิได้เป็นผู้เขียนบทความเอง  แต่ต้องมารับผิด  มิเช่นนั้นในอนาคต  หากมีผู้อื่นไม่ว่าหมิ่นประมาทใคร  ผู้ที่ไม่ได้เขียนก็ต้องรับผิดในข้อหานี้เช่นกัน

ข้อกล่าวหาในคดีนี้คือ  จำเลยหมิ่นประมาท  ดูหมิ่น  และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ภูมิพลอดุลยเดช ด้วยการจัดพิมพ์  จัดจำหน่าย  และเผยแพร่ นิตยสารเสียงทักษิณ [Voice Of  Taksin]  ต่อประชาชน   ทั้งในกรุงเทพมหานคร  และต่างจังหวัด  ทั่วราชอาณาจักร  รวม  ๒  ฉบับ  ได้แก่

1. ฉบับปีที่ ๑  เล่มที่  ๑๕  ปักษ์หลัง  กุมภาพันธ์  ๒๕๕๓  บทความ “คมความคิด” ของผู้ใช้นามปากกาว่า “จิตร พลจันทร์” เรื่อง “แผนนองเลือด กับยิงข้ามรุ่น” หน้าที่ ๔๕ – ๔๗ (จ.  ๒๔)

2. ฉบับปีที่ ๒  เล่มที่  ๑๖  ปักษ์แรก  มีนาคม  ๒๕๕๓  บทความ  “คมความคิด”   ของผู้ใช้นามปากกาว่า “จิตร  พลจันทร์” เช่นเดียวกัน  เรื่อง “๖ ตุลาแห่ง  พ.ศ.๒๕๕๓” หน้าที่ ๔๕ – ๔๗ (จ. ๒๕)

ประเด็นคำพิพากษาไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓๙ บัญญัติว่า

“บุคคลไม่ต้องรับโทษอาญา เว้นแต่ได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิด และกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่บุคคลนั้นจะหนักกว่าโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่กระทำความผิดมิได้”

เริ่มพิจารณาจาก พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔  คำว่า   “บรรณาธิการ”   ตามมาตรา ๔ บัญญัติว่า   “หมายความว่า  บุคคลซึ่งรับผิดชอบในการจัดทำ  ตรวจแก้  คัดเลือก  รวบรวม  ปรับปรุง  และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์”   และตามพระราชบัญญัติการพิมพ์  พ.ศ.๒๔๘๔  มาตรา ๔๘  วรรค ๒  บัญญัติถึงบทกำหนดโทษของบรรณาธิการไว้ว่า  “ในกรณีแห่งหนังสือพิมพ์  ผู้ประพันธ์และบรรณาธิการต้องรับผิดเป็นตัวการ  และถ้าไม่ได้ตัวผู้ประพันธ์ก็ให้เอาโทษแก่ผู้พิมพ์เป็นตัวการด้วย”

นอกจากนี้  ตามพจนานุกรม  ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ฉบับปี พ.ศ.๒๕๒๕ และฉบับปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๔๒ ได้บัญญัติไว้ตรงกันว่า

“บรรณาธิการ”  “(นาม) คือ ผู้จัดเลือกเฟ้น รวบรวม ปรับปรุง และรับผิดชอบเรื่องลงพิมพ์” และ“(กฎหมาย) คือ “บุคคลที่รับผิดชอบในการจัดทำ ตรวจแก้ หรือควบคุมบทประพันธ์หรือสิ่งอื่นในหนังสือพิมพ์”

ต่อมา  เปลี่ยนเป็น  พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ มาตรา ๓ ให้ยกเลิก

1. พระราชบัญญัติการพิมพ์  พ.ศ.๒๔๘๔

2. พระราชบัญญัติการพิมพ์  (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๔๘๕

3. พระราชบัญญัติการพิมพ์  (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๔๘๘

อนึ่ง  พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์  พ.ศ.๒๕๕๐ มิได้กำหนดโทษบรรณาธิการไว้เหมือน พระราชบัญญัติการพิมพ์ พ.ศ.๒๔๘๔ ที่ต้องร่วมรับผิดทางอาญากับผู้เขียนหรือผู้ประพันธ์ อีกด้วย

คำเบิกความพยานโจทก์  ๖ ปาก  ทั้งเจ้าของโรงพิมพ์ และฝ่ายตลาด  ต่างเบิกความว่า งานพิมพ์เข้ามารีบเร่ง  พิมพ์ไม่ทัน ทั้งที่กำไรดี  โดยรับพิมพ์เพียง ๒ ฉบับเท่านั้น  ส่วนบรรดาผู้ร่วมงาน ต่างเบิกความว่า บทความเข้ามารีบเร่ง ไม่มีเวลาตรวจดู บางครั้งต้องค้างคืนที่สำนักงาน บางฉบับจัดพิมพ์เลย อีกทั้งบทความในนามปากกา “จิตร พลจันทร์”  มิได้ตรวจแก้ เพราะเป็นผู้มีชื่อเสียง และเป็นผู้เขียนบทความประจำลงมาหลายครั้งแล้ว ประกอบกับจำเลยเอง  มีภาระหน้าที่ในการเขียนบทความลงใน นิตยสารเสียงทักษิณ เช่นเดียวกัน โดยจำเลยเขียนในชื่อและนามสกุลจริง  และไม่เคยมีปัญหาว่าเป็นบทความที่เกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับสถาบันพระมหากษัตริย์  แต่อย่างใด  เช่น โดยเขียนก่อนเกิดเหตุและระหว่างเกิดเหตุ  รวม  ๑๑   บทความ  ซึ่งเป็นภาระที่หนักหนา  โดยไม่มีเวลาไปตรวจสอบบทความผู้อื่นอีก

ประเด็นการประกันตัวจำเลย

เหตุผลที่จำเลยอ้างในการขอประกันตัว

1. คดีนี้  ในที่สุดศาลคงมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์อย่างแน่นอน  ด้วยเหตุผลที่คำพิพากษาดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ  ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว  และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด  และตามมาตรา ๖  บัญญัติว่า  “รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ  บทบัญญัติใดของกฎหมาย  กฎหรือข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญนี้  บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้”

2. การประกันตัวจำเลยจะกระทำได้หรือไม่ โดยอาศัยเงื่อนไขตามกฎหมาย กล่าวคือ

  • จำเลยมีพฤติกรรมที่จะหลบหนีหรือไม่  จำเลยถูกจับกุมเมื่อวันที่  ๓๐ เมษายน ๒๕๕๔ ที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง บริเวณด่านถาวรบ้านคลองลึก  อำเภออรัญประเทศ  จังหวัดสระแก้วโดยจำเลยถูกจับขณะพาลูกทัวร์ไปเที่ยวประเทศกัมพูชา  ไปในสภาพปกติ หลังจากถูกแจ้งจับมิได้แสดงอาการขัดขืนหรือหลบหนีแต่ประการใด  จำเลยถูกออกหมายจับโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ  โดยหมายจับของศาลอาญา  ฉบับลงวันที่  ๑๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔  เอกสารหมาย จ.๓๐   แต่ตามหนังสือเดินทางของจำเลยที่ใช้ประกอบการซักค้านพยานโจทก์  ปรากฏว่าจำเลยเดินทางไปกัมพูชาหลายครั้ง โดยครั้งสุดท้าย ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔  และกลับเข้าประเทศไทย  ๒๒ กุมภาพันธ์  ๒๕๕๔  ประกอบกับ เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ. ได้เรียกบรรดาผู้ร่วมงานของจำเลย ไปสอบสวนก่อนหน้านี้  ซึ่งจำเลยก็ทราบดี  แต่จำเลยก็มิได้หลบหนีแต่ประการใด
  • ห้ามไปยุ่งเหยิงกับพยาน  คดีนี้สืบพยานเสร็จสิ้นแล้ว  พร้อมทั้งศาลมีคำพิพากษา จึงไม่อาจไปยุ่งเกี่ยวกับพยานได้ 
  • ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง  ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีเมื่อวันที่ ๒๙ ตุลาคม  ๒๕๓๙  ข้อ ๙ ข้อ ๓ ย่อย บัญญัติว่า  “สิทธิในการได้รับการปล่อยตัว มิให้ถือเป็นการทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี  แต่ในการปล่อยตัวอาจกำหนดให้มีการประกันว่า

– จะกลับมาปรากฏตัวในการพิจารณาคดี

– ในขั้นตอนอื่นของการพิจารณา และ

– จะมาปรากฏตัว เพื่อการบังคับตามคำพิพากษา

ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมือง และสิทธิทางการเมือง  ใช้บังคับได้หรือไม่นั้น  ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๘๒   ส่วนที่ว่าด้วยนโยบายด้านต่างประเทศบัญญัติว่า  “ตลอดจนต้องปฏิบัติตามสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน  ที่ประเทศไทยเป็นภาคี……..”  ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งหมด ๗ ฉบับ  รวมทั้งกติการะหว่างประเทศที่กล่าวถึงด้วย  โดยฉบับสุดท้ายที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคี  คือ “อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของคนพิการ”

  • โทษที่ร้ายแรง  จำเลยถูกศาลมีคำพิพากษาจำคุกเพียง ๑๐ ปีในคดีนี้  แต่คดีอื่น ๆ ที่สามารถเทียบเคียงกัน  กรณี เด็กชายถูกฆ่าและนำศพมาแขวนคอเพื่ออำพรางคดี  โดยศาลอาญามีคำพิพากษาให้ประหารชีวิต  ๓ นาย  และอีก ๒ นาย โทษจำไม่ได้  โดยจังหวัดดังกล่าวเป็นเมืองที่ถูกประชาสัมพันธ์ว่าเป็นเมืองปลอดอาชญากรรม  เด็กชายหญิงที่เป็นเยาวชน  กระทำความผิดครั้งแรก  ถูกจำคุกโดยคำพิพากษาของศาลเกือบทั้งหมด  จนกระทั่งมีแผนกคดีครอบครัวและเยาวชนจึงมีการเปลี่ยนแปลง  แต่เด็กเยาวชนเหล่านี้  หากกระทำความผิดครั้งที่สอง เสียชีวิต โดยหาตัวผู้กระทำความผิดมิได้  รวมทั้งนายเกียรติศักดิ์ ฯ ในคดีดังกล่าวด้วย  บางรายอ้างว่าได้รับการประกันตัว  แล้วสูญหายไป  รวมทั้งสิ้นประมาณ ๒๐ กว่าราย  แต่จำเลยทั้งหมดในคดีนายเกียรติศักดิ์ ฯ ทุกคนได้รับการประกันตัว  (เป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องเท่าเทียมกันครับ)

  • จำเลยก่อนถูกจับกุมดำเนินคดีนี้  ได้รับการตรวจและรักษาพยาบาลที่  โรงพยาบาลบี. แคร์  เมดิคอลเซ็นเตอร์   ตั้งแต่ ๘ พฤษภาคม  ๒๕๔๙  จนถึงวันที่ ๕  เมษายน ๒๕๕๔  ด้วยโรคเกาท์  โรคความดันโลหิตสูง  และโรคไวรัสตับอักเสบบี  สมควรที่ได้รับการดูแลรักษาตลอดไป  

ประเด็นฎีกาคำสั่งศาลกรณีประกันตัว ว่าไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญมาตรา ๔๐ (๒) หลักประกันขั้นพื้นฐาน และมาตรา ๔๐ (๗)

มาตรา ๔๐ (๒) แห่งรัฐธรรมนูญได้ประกันในเรื่องของ

1. การพิจารณาคดีโดยเปิดเผย

2. การได้รับทราบข้อเท็จจริงและตรวจเอกสารอย่างพอเพียง

3. การเสนอข้อเท็จจริง ข้อโต้แย้ง และพยานหลักฐานของตน

4. การคัดค้านผู้พิพากษาและตุลาการ

5. การได้รับการพิจารณาโดยผู้พิพากษาหรือตุลาการที่นั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะ  และ

6. การได้รับทราบเหตุผลประกอบคำวินิจฉัย  คำพิพากษา หรือคำสั่ง

ส่วนมาตรา ๔๐ (๗) ประกันว่า ในคดีอาญา ผู้ต้องหาหรือจำเลยมีสิทธิได้รับการสอบสวน  หรือการพิจารณาคดีที่  ถูกต้อง รวดเร็ว และเป็นธรรม……………และการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว

อ้างอิง : คดีสมยศ บรรณาธิการนิตยสาร Voice of Taksin

📍ร่วมรณรงค์

JOIN : ILAW CLUB

ช่องทางการติดตาม

FACEBOOK PAGE

วิดีโอแนะนำ

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage
Trending post