TRANSLATION IN NEED!
To be a volunteer? click here for detail.
………………………………..
กฎหมายกำหนดเงื่อนไขการปิดกั้นสื่อแต่ละประเภทไว้ไม่เหมือนกัน โดยรวมอาจมีหลักการหลายอย่างที่สอดคล้องกันแต่หากเปรียบเทียบกฎหมายหลายฉบับจะพบว่า มีเนื้อหาบางประเภทที่สามารถเผยแพร่ในสื่อบางประเภทได้ แต่ไม่สามารถเผยแพร่ในสื่อบางประเภทได้ ขณะที่เนื้อหาบางประเภท เช่น เนื้อหาที่ “ขัดต่อความสงบเรียบร้อย” หรือ “ศีลธรรมอันดี” ถูกกำหนดให้เป็นเงื่อนไขห้ามเผยแพร่ในกฎหมายที่ควบคุมดูแลสื่อทุกประเภท
เงื่อนไขการสั่งเซ็นเซอร์สื่อ | |||||||
ประเภทสื่อ | สถาบันพระมหากษัตริย์ | ความมั่นคงของรัฐ | ความสงบเรียบร้อย | ศีลธรรมอันดี | ลามกอนาจาร | ชื่อเสียงบุคคล | อื่นๆ |
วิทยุและโทรทัศน์ | / | / | / | / | / | กระทบต่อความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพ | |
สิ่งพิมพ์ | / | / | / | / | |||
ภาพยนตร์ | / | / | / | / | / | เหยียดหยามศาสนา สร้างความแตกแยก กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ | |
อินเทอร์เน็ต | / | / | / | / | / |
วิทยุและโทรทัศน์
พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๕๑ กำหนดว่า
“มาตรา ๓๗ ห้ามมิให้ออกอากาศรายการที่มีเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจาร หรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง”
เงื่อนไขของการเซ็นเซอร์เนื้อหาในวิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่ เป็นเงื่อนไขที่ต้องห้ามสำหรับสื่อประเภทอื่นด้วยอยู่แล้ว มีข้อน่าสังเกตคือ เงื่อนไขเกี่ยวกับรายการที่มีเนื้อหาสาระที่มีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง เป็นเงื่อนไขที่มีในกฎหมายฉบับนี้เพียงฉบับเดียว นอกจากการห้ามออกอากาศรายการบางประเภทแล้ว ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ยังมีบทบัญญัติที่ควบคุมเนื้อหาในกรณีอื่นๆ อยู่อีกบ้าง เช่น การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้ประกอบกิจการสื่อต้องจัดผังรายการตามที่คณะกรรมการกำหนด (มาตรา ๓๔) การออกอากาศแจ้งข่าวหรือเตือนภัยในกรณีมีภัยพิบัติฉุกเฉิน (มาตรา ๓๕) หรือ การกำหนดมาตรการบางอย่างเพื่อส่งเสริมสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาส (มาตรา ๓๖) เป็นต้น
สิ่งพิมพ์
พระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๕๐ กำหนดว่า
“มาตรา ๑๐ ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจออกคำสั่งโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักร ซึ่งสิ่งพิมพ์ใดๆ ที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือจะกระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โดยจะกำหนดเวลาห้ามไว้ในคำสั่งดังกล่าวด้วยก็ได้ การออกคำสั่งตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้นำข้อความที่มีลักษณะที่เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือข้อความที่กระทบต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชนมาแสดงไว้ด้วย สิ่งพิมพ์ที่เป็นการฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมีอำนาจริบและทำลาย”
ทั้งนี้ กฎหมายให้อำนาจผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเพียงออกคำสั่งห้ามสั่งเข้าหรือนำเข้าเพื่อเผยแพร่ในราชอาณาจักรเท่านั้น แต่ไม่ได้ให้อำนาจองค์กรใดสั่งปิดกั้น เช่น สั่งห้ามพิมพ์ ยึดแท่นพิมพ์ หรือทำลายสื่อสิ่งพิมพ์ที่ตีพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักร เรื่องนี้ถูกนับรองไว้ในมาตรา ๔๕ วรรคสอง แห่งรัฐธรรมนูญไทย ซึ่งบัญญัติไว้ว่า การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอยเสรีภาพ จะกระทำมิได้
อย่างไรก็ดี ในกรณีที่สื่อสิ่งพิมพ์ถูกตีพิมพ์ขึ้นในราชอาณาจักรโดยมีเนื้อหาและเจตนาที่เป็นความผิดต่อกฎหมายที่มีโทษทางอาญา เช่น มีเนื้อหาและเจตนาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ หรือหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา หรือเป็นสื่อลามกอนาจารที่ผลิตขึ้นเพื่อการค้า หรือเป็นสิ่งพิมพ์ที่ปลุกระดมให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หากศาลตัดสินว่าผู้ผลิตสิ่งพิมพ์นั้นมีความผิดแล้ว ศาลอาจสั่งให้ริบสิ่งพิมพ์นั้นทั้งหมด ในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่ทำขึ้นเป็นความผิดหรือได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดด้วย (ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๒ และมาตรา ๓๓)
ภาพยนตร์
พระราชบัญญัติภาพยนตร์และวีดิทัศน์ พ.ศ.๒๕๕๑ กำหนดให้ภาพยนตร์ทุกเรื่องต้องผ่านการตรวจพิจารณาจากคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ ซึ่งหากคณะกรรมการเห็นว่า ภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่บ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้ (มาตรา ๒๙)
“มาตรา ๒๙ ในการพิจารณาอนุญาตภาพยนตร์ตามมาตรา ๒๕ ถ้าคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์เห็นว่าภาพยนตร์ใดมีเนื้อหาที่เป็นการบ่อนทำลาย ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรืออาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงของรัฐและเกียรติภูมิของประเทศไทย ให้คณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์มีอำนาจสั่งให้ผู้ขออนุญาตแก้ไขหรือตัดทอนก่อนอนุญาต หรือจะไม่อนุญาตก็ได้”
การตรวจพิจารณาภาพยนตร์จะนำไปสู่การจัดประเภทภาพยนตร์ซึ่งกำหนดช่วงอายุผู้ชมที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี คณะกรรมการมีอำนาจสั่งให้ภาพยนตร์เรื่องใดเป็นภาพยนตร์ประเภทที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรได้ โดยอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ.ภาพยนตร์และวีดิทัศน์มาตรา ๒๖ (๗)
ส่วนหลักเกณฑ์ที่กำหนดว่าภาพยนตร์ลักษณะใดจัดอยู่ในประเภทห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักรนั้น ต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงกำหนดลักษณะของประเภทภาพยนตร์ พ.ศ. ๒๕๕๒ ว่า
“ข้อ ๗ ภาพยนตร์ที่ห้ามเผยแพร่ในราชอาณาจักร มีลักษณะอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้
(๑) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
(๒) สาระสำคัญของเรื่องเป็นการเหยียดหยามหรือนำความเสื่อมเสียมาสู่ศาสนาหรือไม่เคารพต่อปูชนียบุคคล ปูชนียสถาน หรือปูชนียวัตถุ
(๓) เนื้อหาที่ก่อให้เกิดการแตกความสามัคคีระหว่างคนในชาติ
(๔) เนื้อหาที่กระทบกระเทือนต่อสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศ
(๕) สาระสำคัญของเรื่องเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์
(๖) เนื้อหาที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ที่เห็นอวัยวะเพศ”
อินเทอร์เน็ต
พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มีมาตราที่กำหนดเงื่อนไขการใช้อำนาจที่ปิดกั้นเว็บไซต์ไว้อย่างชัดเจน คือ มาตรา ๒๐ ซึ่งระบุว่า การทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายอาญา หรือที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี สามารถยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ได้
นอกจากเงื่อนไขตามมาตรา ๒๐ แล้วองค์ประกอบของเว็บไซต์ถูกปิดกั้นได้ ต้องเข้าข่ายเป็นความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อันกำหนดไว้ในมาตรา ๑๔ และ มาตรา ๑๖
“มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
(๑) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน
(๒) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน
(๓) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา
(๔) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้
(๕) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (๑) (๒) (๓) หรือ (๔)
มาตรา ๑๖ ผู้ใดนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ปรากฏเป็นภาพของผู้อื่น และภาพนั้นเป็นภาพที่เกิดจากการสร้างขึ้น ตัดต่อ เติมหรือดัดแปลงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์หรือวิธีการอื่นใด ทั้งนี้ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง หรือได้รับความอับอาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”