ในช่วงบั้นปลายของชีวิต ผู้สูงอายุ หลายคนที่เคยรับราชการอาจมีหลักประกันชีวิตจากเงินบำเหน็จบำนาญ ส่วนผู้ที่ไม่ได้รับราชการแต่เป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายประกันสังคม อาจมีเงินบำนาญจากกองทุนประกันสังคม ผู้สูงอายุบางส่วนอาจได้รับเพียงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่รัฐจ่ายเป็นเงินรายเดือน
ปัญหาของประเทศไทยคือ หลักประกันสำหรับผู้สูงอายุที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการเป็นหลักประกันทางรายได้และยังมีความเหลื่อมล้ำ คนที่ประกอบอาชีพต่างๆ จะได้รับเงินจากรัฐเมื่ออายุเลยวัยทำงานแล้วในอัตราที่แตกต่างกันอยู่มาก อีกทั้งการจ่ายเงินของภาครัฐยังมีลักษณะเป็นการสงเคราะห์มากกว่าการเป็น “สวัสดิการพื้นฐาน” ที่ประชาชนทุกคนพึงได้รับ โดยเหตุนี้ ภาคประชาชนจึงใช้กลไกเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เสนอร่างพระราชบัญญัติผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ) แก้ไขพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 (พ.ร.บ.ผู้สูงอายุฯ) ที่ใช้บังคับอยู่ โดยในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ 2 ภาคประชาชนเคยเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติต่อสภาชุดที่มาจากการเลือกตั้ง 2562 แล้ว แต่พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี “ปัดตก” ไม่ให้คำรับรองร่างกฎหมายดังกล่าว ทำให้ร่างนั้นตกไป ไม่มีโอกาสเสนอเข้าสภา
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ต่อสภา ได้ทาง https://pension-4all.com/ ตามกฎหมาย ต้องการรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 ชื่อจึงจะยื่นเข้าสภาได้
ผู้สูงอายุ 60 ปี รับบำนาญรายเดือนไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจน
ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ หรือชื่อเต็มคือ ร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เป็นร่างกฎหมายที่ภาคประชาชนผลักดันเพื่อเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ ที่ใช้บังคับอยู่ โดยไม่ได้เสนอออกกฎหมายฉบับใหม่แยกออกมา และเปลี่ยนชื่อจากพ.ร.บ.ผู้สูงอายุ เป็นพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสำคัญของร่างที่วางระบบบำนาญแห่งชาติเพื่อเป็นหลักประกันสำหรับผู้สูงอายุ
ร่างพ.ร.บ.ผู้สูงอายุและบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ฉบับภาคประชาชน กำหนดให้มีการจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานแห่งชาติเป็นรายเดือน เพื่อเป็นหลักประกันรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป สำหรับอัตราเงินรายเดือนนั้นจะเป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ นอกจากนี้ ในร่างยังกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของการกำหนดอัตราเงินบำนาญที่จะจ่ายเป็นรายเดือนไว้ ว่าควรมีอัตราที่ไม่ต่ำกว่าเส้นแบ่งความยากจนตามที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติกำหนดไว้ในปีก่อนหน้าปีที่จ่าย และให้มีการศึกษาเพื่อปรับปรุงอัตราการจ่ายทุกสามปี
หากดูข้อมูลใน สถิติด้านความยากจนและการกระจายรายได้ ที่จัดทำขึ้นโดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่า ในปี 2564 เส้นแบ่งความยากจน (Poverty Line) ค่าเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 2,803 บาท
ตั้งกองทุน จัดแจงเงินสำหรับจ่ายบำนาญพื้นฐานถ้วนหน้า
สำหรับที่มาของเงินที่จะนำมาจ่ายเป็นเงินบำนาญผู้สูงอายุรายเดือน ตามร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กำหนดให้จัดตั้ง “กองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ” (กองทุนบำนาญ) เป็นอีกกองทุนแยกมาจากกองทุนผู้สูงอายุเดิมที่มีอยู่ โดยกองทุนบำนาญมีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยเงินในกองทุนบำนาญ จะใช้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการจัดสวัสดิการบำนาญพื้นฐานแห่งชาติสมทบงบประมาณประจำปี
สำหรับที่มาของเงินในกองทุนบำนาญ ประกอบด้วยสองส่วนหลักด้วยกัน คือ
หนึ่ง เงินจากงบประมาณ ภาษี และค่าธรรมเนียมต่างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
- เงินทุนประเดิมที่รัฐบาลจัดสรรให้
- เงินที่ได้รับจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี
- เงินบำรุงจากภาษีสรรพสามิตสุรา ยาสูบ น้ำมันเชื้อเพลง รถ หรือภาษีอื่น รายละเอียดจะเป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนด
- เงินที่ได้รับจากสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
- เงินบำรุงได้ที่จากส่วนแบ่งค่าสัมปทาน ค่าธรรมเนียม ใบอนุญาตกิจการสื่อสารวิทยุ โทรศัพท์
- เงินบำรุงที่ได้จากส่วนแบ่งรายได้จากค่าภาคหลวง (ภาษีที่รัฐเรียกเก็บจากการทำเหมืองและขุด ผลิตแร่)
- เงินบำรุงที่ได้จากภาษีรถยนต์
สอง เงินจากการบริจาคโดยประชาชนทั่วไป
ในร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กำหนดให้ประชาชนสามารถบริจาคเงินหรือทรัพย์สินเข้ากองทุนบำนาญได้ ผู้ที่บริจาคก็จะมีสิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้หรือได้รับการยกเว้นภาษีสำหรับทรัพย์สินที่บริจาค
กองทุนบำนาญ จะจัดแจงและจ่ายเงินบำนาญพื้นฐานให้แก่ผู้สูงอายุ หากจ่ายล่าช้าหรือไม่ครบถ้วน จะต้องจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย 15% ต่อปี จนกว่าจะจ่ายครบถ้วนด้วย
ตั้งกรรมการ ออกแบบนโยบายจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรม
ร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ กำหนดให้มี คณะกรรมการนโยบายและบริหารกองทุนบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ (คณะกรรมการนโยบาย) แยกออกมาจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ซึ่งมีอยู่แล้ว
คณะกรรมการนโยบาย ประกอบด้วย
- นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน
- รองนายกรัฐมนตรีที่นายกฯ มอบหมาย รองประธาน คนที่หนึ่ง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รองประธานคนที่สอง
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รองประธาน คนที่สาม
- รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รองประธาน คนที่สี่
- กรรมการโดยตำแหน่ง : ปลัดกระทรวงจาก 10 กระทรวง ปลัดกรุงเทพมหานคร ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการสภาพัฒนาการเศษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
- กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนไม่เกินห้าคน ที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง สองในห้าคนต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ รัฐสวัสดิการ
- ผู้แทนองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่ดำเนินกิจกรรมมาไม่น้อยกว่าสองปี และดำเนินกิจกรรมต่างๆ ดังนี้ เป็นกรรมการด้านละหนึ่งคน
- ด้านผู้ใช้แรงงาน
- ด้านผู้สูงอายุ
- ด้านเด็กและเยาวชน
- ด้านสตรี
- ด้านชาติพันธ์ุและชนกลุ่มน้อย
- ด้านคนพิการ
- ด้านเกษตรกร
- ด้านผู้ป่วยเรื้อรัง
- ด้านชุมชนแอดอัด
- ด้านสิทธิมนุษยชน
- ด้านกองทุนการออมของชุมชน
- ด้านคุ้มครองผู้บริโภค
คณะกรรมการนโยบาย มีอำนาจหน้าที่ เช่น
- กำหนดนโยบายการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติที่เป็นธรรมและสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชาการเศรษฐกิจและสังคมที่ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม และเสนอนโยบายต่อคณะรัฐมนตรี
- กำหนดระเบียบเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติ
- ประสานงานเกี่ยวกับการจัดทำงบประมาณบำนาญพื้นฐานแห่งชาติรายปี
- ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติตามแผนหลักของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ศึกษาเพื่อปรับปรุงอัตราการจ่ายบำนาญพื้นฐานแห่งชาติทุกสามปีเพื่อรายงานต่อคณะรัฐมนตรีและรัฐสภา
สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง สามารถร่วมลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.บำนาญพื้นฐานแห่งชาติ ได้ทาง https://pension-4all.com