หลังประเทศไทยมีสมาชิกวุฒิสภาชุดพิเศษ 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ที่อยู่ในตำแหน่งมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2562 และกำลังจะสิ้นสุดการทำงานในวันที่ 11 พฤษภาคม 2567 ซึ่งรวมแล้วมีอายุห้าปีนับแต่วันที่มีพระบรมราชโองการแต่งตั้ง หลังจากสิ้นสุดวาระของ สว.ชุดพิเศษ ก็จะต้องเปิดทางให้มี สว. ชุดถัดไปที่มีที่มาตามรัฐธรรมนูญ 2560 เข้ามาทำหน้าที่แทน
สำหรับคุณสมบัติพื้นฐานและคุณสมบัติต้องห้ามในการสมัครชิงตำแหน่ง สว.ชุดใหม่ได้ถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.สว. ฯ) ดังนี้
20 กลุ่มอาชีพ สว. มีอะไรบ้าง
- กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง เช่น อดีตข้าราชการ อดีตเจ้าหน้าที่ของรัฐ
- กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เช่น ผู้ที่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ หรือผู้ประกอบวิชาชีพด้านกฎหมาย
- กลุ่มการศึกษา เช่น เช่น ผู้เป็นหรือเคยเป็นครู อาจารย์ นักวิจัย ผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรทางการศึกษา
- กลุ่มการสาธารณสุข เช่น แพทย์ทุกประเภท พยาบาล เภสัชกร
- กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก
- กลุ่มอาชีพทำสวน ป่าไม้ ปศุสัตว์ ประมง
- กลุ่มพนักงานหรือลูกจ้างของบุคคล ซึ่งมิใช่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐ
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านสิ่งแวดล้อม ผังเมือง อสังหาริมทรัพย์และสาธารณูปโภค ทรัพยากรธรรมชาติ พลังงาน
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมตามกฎหมาย (SME) และ ผู้ประกอบกิจการอื่นๆ
- กลุ่มผู้ประกอบกิจการอื่นนอกจากข้อ (9)
- กลุ่มผู้ประกอบธุรกิจหรืออาชีพด้านการท่องเที่ยว เช่น มัคคุเทศก์ ผู้ประกอบกิจการหรือพนักงานโรงแรม
- กลุ่มผู้ประกอบอุตสาหกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตรกรรม หรืออื่นๆ ในทำนองเดียวกัน
- กลุ่มสตรี
- กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- กลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี นักกีฬา การแสดงและบันเทิง
- กลุ่มประชาสังคม องค์กรสาธารณประโยชน์
- กลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม
- กลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ
- กลุ่มอื่นๆ
คุณสมบัติทั่วไป อายุเท่าไร? อยู่ในทะเบียนบ้านนานเท่าไร? ใช้ที่อยู่ทำงานสมัครได้หรือไม่?
เมื่อรู้ว่าต้องการจะสมัครชิงตำแหน่ง สว. ในกลุ่มอาชีพใดแล้ว ถัดมาจึงต้องดูว่าเป็นผู้มีคุณสมบัติในการลงสมัครหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.ป. สว. ฯ มาตรา 13 ระบุเอาไว้ดังนี้
- ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยกำเนิด
- ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ในวันที่สมัครรับเลือก
- มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี ไม่นับรวมผู้สมัครกลุ่มสตรี กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการหรือทุพพลภาพ กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มอัตลักษณ์อื่น
- ต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้
- เกิดในอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก
- มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านของอำเภอที่ลงสมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
- เคยทำงานอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปีนับถึงวันที่สมัคร
- เคยทำงานหรือเคยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือก แล้วแต่กรณี เป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่าสองปี
- เคยศึกษาในสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในอำเภอที่สมัครรับเลือกเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า สองปีการศึกษา
ลักษณะต้องห้าม! ถ้ามีคุณสมบัติแบบนี้สมัคร สว. ไม่ได้
- เป็นสมาชิกพรรคการเมือง (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านวิธีลาออกจาสมาชิกพรรคการเมืองได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22228 และสามารถตรวจสอบการเป็นสมาชิกพรรคการเมือง ได้ที่ https://party.ect.go.th/checkidparty
- เป็นข้าราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ (ถ้าลาออกก็สมัครได้) อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/22161
- เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
- เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน
- เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
- เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ
- เป็นหรือเคยเป็นตำแหน่งดังต่อไปนี้ เว้นแต่พ้นตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีนับถึงวันสมัคร
- สส.
- รัฐมนตรี
- สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ผู้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมือง ได้แก่
- หัวหน้าพรรคการเมือง
- เลขาธิการพรรคการเมือง
- เหรัญญิกพรรคการเมือง
- นายทะเบียนสมาชิกพรรคการเมือง
- กรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง
- หัวหน้าและกรรมการสาขาพรรคการเมือง
- ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
- ตำแหน่งอื่นๆ ที่ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับของแต่ละพรรคการเมือง
๐ อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับตำแหน่งในพรรคการเมือง ที่ต้อง “เว้นวรรค” มาก่อนห้าปี ถึงจะสมัคร สว. ได้ ได้ที่ https://www.ilaw.or.th/articles/27766
- เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้ดำรงตำแหน่งต่อไปนี้
- สส.
- สว.
- ข้าราชการการเมือง
- สมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
- ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ
- เป็นบุพการี (บิดามารดา ปู่ย่า ตายาย) คู่สมรส หรือบุตร ของผู้สมัครรับเลือกเป็น สว. ในคราวเดียวกัน (หนึ่งครอบครัว สมัครได้แค่คนเดียวในหนึ่งสมัย)
- เคยเป็นสว. ตามรัฐธรรมนูญ 2560 (สว. ชุดพิเศษ สมัครไม่ได้)
- ติดยาเสพติดให้โทษ (ดูจากใบรับรองแพทย์)
- วิกลจริต จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
- อยู่ในระหว่าง (ข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้)
- ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
- ถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราว หรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
- ต้องห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
- ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
- เคยรับโทษจำคุก พ้นโทษยังไม่ถึง 10 ปี ยกเว้นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ
- เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่
- เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาลงโทษจำคุกเพราะทำผิดตามกฎหมายปราบปรามการทุจริต
- เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือ ต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือความผิดตามกฎหมายความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดกฎหมายยาเสพติด การพนัน การค้ามนุษย์ หรือการฟอกเงิน
- เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าทุจริตในการเลือกตั้ง
- เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มีส่วนในการเสนอหรือกระทำการใดๆ ที่มีผลให้สส. สว. หรือกรรมาธิการ มีส่วนในการใช้งบประมาณ
- เคยพ้นตำแหน่งเพราะศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาว่า เป็นผู้มีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม