กลไกหนึ่งที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) วางเอาไว้เพื่อควบคุมการเมืองไทยคือบรรดาองค์กรอิสระ โดยองค์กรที่ทำหน้าที่ได้อย่างดีในช่วงเวลาที่ผ่านมาก็คือศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากทั้งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ได้รับการแต่งตั้งจาก คสช. อีกทอดหนึ่ง โดยเหตุการณ์ล่าสุดก็คือการสั่งให้พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลหยุดปฏิบัติหน้าที่
ที่ผ่านมา ศาลรัฐธรรมนูญมีแนวโน้มตัดสินให้โทษกับพรรคฝ่ายตรงข้ามกับ คสช. ในขณะที่หากเป็นเหล่าทหารโดยเฉพาะพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลับมีคำวินิจฉัยที่เป็นคุณ รวมคำวินิจฉัยสำคัญของศาลรัฐธรรมนูญที่มีผลต่อการเมืองไทย
ยุบพรรคไทยรักษาชาติ
แผ่นดินไหวทางการเมืองครั้งใหญ่ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2562 คือการเสนอชื่อทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระโสทรเชษฐภคินีพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีโดยพรรคไทยรักษาชาติ ทำให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อขอให้มีคำสั่งยุบพรรคไทยรักษาชาติ และมีคำสั่งเพิกถอนสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค
คำวินิจฉัยที่ 3/2562 วันที่ 7 มีนาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าการกระทำของพรรคไทยรักษาชาติเป็นการเป็นการนำสมาชิกชนชั้นสูงไปฝักฝ่ายทางการเมืองทำให้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยเสื่อมทราม เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติ พร้อมทั้งให้ตัดสิทธิรับสมัครเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคไทยรักษาชาติเป็นเวลาสิบปีด้วย
ไม่รับคำร้อง พล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ไม่ครบ
หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2562 ในระหว่างการถวายสัตย์ปฏิญาณของคณะรัฐมนตรีต่อต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีประเด็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 161 วรรคหนึ่ง กำหนด โดยจงใจเลี่ยงประโยคว่า “ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ” การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และทำให้การทำหน้าที่ของพลเอกประยุทธ์ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งที่ 35/2562 มติ “เอกฉันท์” มีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการถวายสัตย์ต่อหน้าพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำทางการเมือง (Political Issue) ของคณะรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นฝ่ายบริหาร การถวายสัตย์ปฏิญาณไม่ได้อยู่ในอำนาจตรวจสอบขององค์กรตามรัฐธรรมนูญใด นอกจากนี้การกระทำของพลเอกประยุทธ์ ไม่ใช่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามมาตรา 49
วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่รัฐ
หลังการเลือกนายกรัฐมนตรีไม่นาน ส.ส. พรรคฝ่ายค้านรวมตัวกันยื่นหนังสือถึงประธานสภาให้ส่งคำร้องถึงศาลรัฐธรรมนูญ ประเด็นว่าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นการดำรงตำแหน่งเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ซึ่งจะทำให้ความเป็นรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงหรือไม่
ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัยที่ 11/2562 ว่า ตำแหน่งหัวหน้าคสช. มาจากการเข้ายึดอำนาจการปกครองประเทศ โดยมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งเป็นการใช้อำนาจรัฎฐาธิปัตย์ ที่เป็นอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศ ดังนั้นการทำงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นเพียงการเข้าสู่ตำแหน่งเพื่อให้มีอำนาจในการรักษาความสงบเรียบร้อยเพียงเท่านั้น นอกจากนี้การดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการแต่งตั้งที่ไม่ได้ขึ้นกับกฎหมาย ทำให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติไม่ได้อยู่ภายใต้การบังคับบัญชา และการทำงานของรัฐ จึงไม่มีสถานะเป็นเจ้าหน้าที่ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐตามรัฐธรรมนูญ
สั่งธนาธรพ้น ส.ส. ถือหุ้นสื่อ-วีลัค
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จากกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด เดิมชื่อบริษัท โซลิค มีเดีย จำกัด ประกอบธุรกิจสื่อนิตยสาร อันทำให้สมาชิกภาพ ส.ส. ของธนาธรสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 101(6) ประกอบ มาตรา 98(3) กรณีถือครองหุ้นสื่อหรือไม่
ในเดือนพฤษภาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้สั่งให้ธนาธรหยุดปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ไว้ก่อน ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 ให้ธนาธรพ้นจากความเป็น ส.ส. โดยศาลเห็นว่าแม้ว่าบริษัทจะจดแจ้งยกเลิกการพิมพ์ แต่จะกลับมาดำเนินการอีกเมื่อใดก็ได้ ดังนั้น การจะอ้างว่าปิดกิจการหรือหยุดกจิการชั่วคราวไม่ได้ หลังจากคำวินิจฉัย กกต. ยังดำเนินคดีมาตรา 151 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 กับธนาธรเพิ่มเติมว่ารู้อยู่แล้วว่าไม่มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ยังลงสมัครรับเลือกตั้ง แต่ในกรณีนี้ อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
ยุบพรรคอนาคตใหม่
คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณี ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรค ทำสัญญาให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนกว่า 191 ล้านบาท โดย กกต. อ้างว่าเป็นนิติกรรมอำพราง ทำเพื่อปกปิดและให้ประโยชน์แก่พรรคการเมือง จึงร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคผู้ถูกร้อง เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและห้ามดำรงตำแหน่งบริหารพรรคการเมือง
ในกรณีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การกู้เงินของพรรคอนาคตใหม่ไม่เป็นไปตามปรกติวิสัยของการให้กู้ยืมเงิน การกระทำของธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ให้กู้เงินแก่พรรคอนาคตใหม่จำนวนมาก ย่อมก่อให้เกิดการครอบงำพรรคการเมือง บงการพรรค เป็นธุรกิจการเมือง มีเจตนาหลีกเลี่ยงการรับบริจาคตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 66 ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนมาตรา 72 จึงมีคำสั่งให้ยุบพรรคอนาคตใหม่และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งและจดทะเบียนหรือดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารพรรคการเมืองเป็นระยะเวลาสิบปี
วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ อยู่บ้านพักหลวงไม่ผิด
กรณีนี้มีเหตุจากว่า พล.อ.ประยุทธ์ พักอาศัยในบ้านพักข้าราชการทหารแม้เกษียณอายุไป 6 ปีแล้ว ทำให้ ส.ส. ฝ่ายค้าน รวมตัวกันร้องว่าการกระทำดังกล่าวถือเป็นการรับเงินหรือประโยชน์ใดๆ จากหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเป็นพิเศษ นอกเหนือไปจากที่หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจปฏิบัติต่อบุคคลอื่นๆ ในธุรกิจการงานปกติ ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง และการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือไม่
แต่ในคดีนี้ ศาลมีคำวินิจฉัยที่ 29/2563 ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ไม่ขาดคุณสมบัติความเป็นนายกฯ เนื่องจากเป็นไปตามระเบียบภายในของกองทัพบก (ทบ.) ปี 2548 และยังชี้ว่ารัฐพึงจัดสรรที่พำนักให้ผู้นำประเทศ เพื่อ “สร้างความพร้อมทั้งสุขภาพกายและจิตใจในการปฏิบัติภารกิจในการบริหารประเทศล้วนเป็นประโยชน์ส่วนรวม” และกรณีนี้ไม่ถือประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ของประเทศ ไม่เป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตัวเอง โดยในคดีนี้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเห็นตรงกันว่าพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ขาดคุณสมบัติ เสียงไม่แตก
วินิจฉัย พล.อ.ประยุทธ์ ยังเป็นนายกไม่ถึง 8 ปีตามรัฐธรรมนูญ
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดพรรคฝ่ายค้านจึงได้มีหนังสือร่วมกันส่งถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ส่งคำร้องไปศาลรัฐธรรมนูญให้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับกรณีวาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย โดยหนังสือของพรรคร่วมฝ่ายค้านระบุเหตุผลหกประการที่วาระการดำรงตำแหน่งนายกฯ ของประยุทธ์จะต้องเริ่มในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 และจะสิ้นสุดครบแปดปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
ในกรณีนี้ ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน ต่อมาในวันที่ 30 กันยายน 2565 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 6 ต่อ 3 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งนายกฯ ของพล.อ.ประยุทธ์ ต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลใช้บังคับ คือ 6 เมษายน 2560 ดังนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ยังดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่ครบ 8 ปี จึงทำให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่สิ้นสุดลง พล.อ.ประยุทธ์ จึงสามารถดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อไปได้
สั่งพิธาหยุดปฏิบัติหน้าที่ ถือหุ้นสื่อ-ไอทีวี
หลังการเลือกตั้งทั่วไป 2566 มีการเปิดเผยว่าพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล มีสถานะเป็นผู้จัดการมรดกซึ่งปรากฏหุ้นบริษัทไอทีวี 42,000 หุ้น ต่อมา วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 เรืองไกร ลีกิจวัฒนะยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้พิจารณากรณีว่าเป็นการถือครองหุ้นสื่อซึ่งถือเป็นลักษณะต้องห้ามหรือไม่ ในทีแรก กกต. ปัดตกคำร้องของเรืองไกรและคำร้องที่เกี่ยวข้องอ้างเกินระยะเวลาของการร้องตามกฎหมายแล้ว แต่ต่อมา 12 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุม กกต. มีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพ ส.ส. ของพิธา
ต่อมา ในวันที่ 19 กรกฎาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้อง และยังมีมติ 7 ต่อ 2 เห็นว่า การปฏิบัติหน้าที่ของพิธาอาจจะนำไปสู่การเกิดปัญหาต่อข้อกฎหมายและเป็นอุปสรรคของการประชุมรัฐสภาได้ จึงมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดการปฏิบัติหน้าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2566 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยต่อไป
RELATED POSTS
No related posts