13 กรกฎาคม 2566 ศาสตรา ศรีปาน ส.ส. เขต 2 จังหวัดสงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวระหว่างการอภิปรายก่อนลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ว่า
“…วันนี้อุดมการณ์ของพรรครวมไทยสร้างชาติคือความชัดเจนมาตั้งแต่เริ่มต้นเราจะปกป้องและดำรงไว้ซึ่งสถาบันหลักของชาติ ดังนั้นเราจึงไม่สนับสนุนพรรคการเมืองใดหรือนักการเมืองคนใดที่มีนโยบายในการแก้ไขมาตรา 112 เพราะเราเห็นว่า บ้านเมืองวันนี้ก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้ สามารถที่จะพัฒนาไปข้างหน้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องแก้ไขมาตรานี้เลยไม่มีความจำเป็นใดๆเลย และเราไม่จำเป็นต้องมาทำลายขนบธรรมเนียมประเพณีไทย หรือต้นทุนทางวัฒนธรรมไทยที่มีมาตั้งแต่ในอดีต ไม่มีความจำเป็นอะไรเลย”
อย่างไรก็ดี ข้อมูลทางประวัติศาสตร์กลับสะท้อนว่า ตัวบทกฎหมายของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ใช่ ‘ต้นทุนวัฒนธรรม’ ที่หยุดนิ่งไร้ความเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่อดีต กฎหมายว่าด้วยการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกราชวงศ์ผ่านการแก้ไขและยกเลิกตามบริบทของสังคมจากกฎหมายที่ลงโทษรุนแรงถึงชีวิตสู่การปรับตัวเพื่อให้ประเทศเดินหน้าสอดคล้องกับความเป็นไปของยุคสมัยตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง
โดยความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของมาตรา 112 คือ ตัวบทที่กำหนดอัตราโทษสูงตามคำสั่งของคณะรัฐประหารที่เกิดขึ้นหลังเหตุการณ์สังหารหมู่วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และมรดกจากคณะรัฐประหารชิ้นนี้ ก็อยู่ในกฎหมายไทยเรื่อยมานับตั้งแต่นั้น เป็นเวลา 46 ปี โดยมีช่วงเวลาของการบังคับใช้เป็นระลอกๆ ตามสถานการณ์ทางการเมือง โดยเฉพาะหลังการรัฐประหาร 2549 กับหลังการรัฐประหาร 2557
กฎหมายหมิ่นกษัตริย์โทษหนักถึงชีวิตในยุคที่ ‘คนไม่เท่ากัน’
ย้อนกลับไปในสมัยรัชกาลที่หนึ่ง ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ใช้กฎหมายตราสามดวง มีข้อหาที่ใกล้เคียงกับความผิดฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่หลากหลายและกว้างขวาง เช่น พระอัยการอาชญาหลวง มาตรา 7 ที่กำหนดความผิดฐานเจรจาหยาบช้าต่อพระเจ้าอยู่หัวและประมาทหมิ่นพระราชบัญญัติและพระบันทูลโองการ มีบทลงโทษรุนแรง 8 สถาน ให้ลงโทษอย่างใดอย่างหนึ่ง ได้แก่ ให้ฟันฅอริบเรือน, ให้ตัดปากตัดหูตัดมือตัดตีนเสีย, ให้ทวนด้วยลวดหนัง 25-50 ที, ให้จำ(คุก)ไว้เดือนหนึ่งแล้วเอาตัวลงหญ้าช้าง (เอาตัวไปทำงานเป็นคนเลี้ยงช้าง), ให้ไหมจัตุระคูร (ให้ปรับ 4 เท่า) แล้วเอาตัวลงเปนไพร่, ให้ไหมทวีคูน (ให้ปรับ 2 เท่า), ให้ไหมลาหนึ่ง หรือให้ภาคทัณฑ์ไว
ในงานวิจัยเรื่อง “การประกอบสร้างความกลัวและการเมืองว่าด้วยการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” อธิบายลักษณะสำคัญของกฎหมายตราสามดวงว่า “การนิยามความและกำหนดบทลงโทษตามลำดับศักดินาและเพศสภาพของผู้กระทำที่สัมพันธ์กับผู้ถูกกระทำ แนวโน้มของกฎหมายจึงวางอยู่บนฐานของการแยกความแตกต่างของสถานะทางสังคม…การกระทำเดียวกันจึงสามารถได้รับการส่งเสริมในสถานการณ์ทางสังคมหนึ่ง แต่สามารถลงโทษถึงตายในอีกสถานการณ์หนึ่ง”
ซึ่งหลักกฎหมายตราสามดวงนั้นตรงกันข้ามกับกฎหมายอาญาสมัยใหม่ที่ยึดหลักความเสมอภาคกันภายใต้กฎหมาย และความได้สัดส่วนของการลงโทษกับความเสียหายจากการกระทำความผิดกรอบคิดของกฎหมายตราสามดวงประกอบกับสถานะของกษัตริย์ยุคดังกล่าวที่เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดจึงเป็นผลสืบเนื่องให้โทษในความผิดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มีความรุนแรงแตกต่างไปจากสมัยใหม่มาก
สมบูรณาญาสิทธิราชย์ vs โลกสมัยใหม่
จุดเปลี่ยนของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์เริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่สี่ สยามเผชิญกับแรงกดดันของการล่าอาณานิคมและการลงนามในสนธิสัญญาเบาว์ริงที่นอกจากสัญญาการค้าแล้วต้องยอมรับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตจากการที่ชาติตะวันตกมองว่า กฎหมายไทยล้าสมัย จึงนำไปสู่การปรับปรุงกฎหมายให้ทันสมัยเหมาะสมกับโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในช่วงสมัยรัชกาลที่ห้า แต่ยังรักษาส่วนทางวัฒนธรรมของกฎหมายตราสามดวงไว้ โดยจำแนกความผิดลดหลั่นกันไปตามสถานะทางสังคมและความสัมพันธ์ของบุคคล ดังนี้
พระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118
มาตรา 4 ผู้ใดหมิ่นประมาทพระผู้เปนเจ้าซึ่งดำรงสยามรัฐมณฑล ฤๅสมเด็จพระอรรคมเหสี ฤๅสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชก็ดี ฤๅสมเด็จพระมหากระษัตราธิราชเจ้าผู้ครองเมืองต่างประเทศ ฤๅมหาประธานาธิบดีผู้ครองเมืองต่างประเทศซึ่งมีทางพระราชสำพันธมิตรไมตรีอันสนิทด้วยกรุงสยามก็ดี โดยกล่าวเจรจาด้วยปาก ฤๅเขียนด้วยลายลักษณอักษรฤๅกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่ง ในที่เปิดเผยท่ามกลางประชุมชนทั้งหลายด้วยกายวาจาอันมิบังควรซึ่งเปนที่แลเห็นได้ชัดว่า เปนการหมิ่นประมาทแท้ ท่านว่า ผู้นั้นกระทำผิด เมื่อพิจารณาเปนสัตย์ว่า ผู้นั้นกระทำผิดต่อข้อห้ามดังเช่นกล่าวมานี้แล้ว ก็ให้จำคุกไว้ไม่เกินกว่า ๓ ปี ฤๅให้ปรับเปนเงินไม่เกินกว่า ๑๕๐๐ บาท ฤๅทั้งจำคุกและปรับด้วย”
กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127
- มาตรา 98 “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมเหษีก็ดี มกุฎราชกุมารก็ดี ต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดินในเวลารักษาราชการต่างพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็ดี ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินกว่าเจ็ดปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าห้าพันบาทอีกโสดหนึ่ง”
- มาตรา 100 “ผู้ใดทนงองอาจ แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด ท่านว่าโทษของมันถึงจำคุกไม่เกินสามปี แลให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง”
กระบวนการเปลี่ยนผ่านในช่วงเวลานี้เห็นจากการเปลี่ยนโทษความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ จากโทษรุนแรงแปดสถานเป็นโทษจำคุกสามปี หรือปรับไม่เกิน 1,500 บาท หรือทั้งจำและปรับ จากนั้นปรับโทษเพิ่มขึ้นเป็นเจ็ดปีและปรับไม่เกิน5,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเพดานขั้นต่ำของโทษไว้ ซึ่งเป็นการปรับปรุงกฎหมายครั้งสำคัญที่ทำให้เห็นว่าในรัชสมัยของรัชกาลที่ 5 แนวคิดเรื่องความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก และตัวบทกฎหมายลักษณะนี้ก็ใช้อยู่ เป็นเวลาประมาณ 27 ปี นับตั้งแต่ รศ.127 (พ.ศ.2451) ถึง พ.ศ.2478
อภิวัฒน์สยาม – การคุ้มครองสถาบันกษัตริย์บนฐานของประชาธิปไตย
หลังการอภิวัฒน์สยามในปี 2475 ประเทศไทยหรือสยามได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชยมาสู่ระบอบประชาธิปไตยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์จึงถูกจำกัดขอบเขตให้คุ้มครองแต่สถาบันกษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ หรือคุ้มครองชื่อเสียงและเกียรติยศของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งประมุขของรัฐ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยควบคู่ไปด้วย ในปี 2478 รัฐสภาได้มีการแก้ไขกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 อย่างน้อยสองมาตรา ได้แก่
- หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 100 ที่กำหนดความผิดฐานแสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อพระราชโอรส พระราชธิดา ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ว่ารัชกาลหนึ่งรัชกาลใด
- สอง แก้ไขมาตรา 104 (1) เป็น “ผู้ใดกระทำการให้ปรากฏแก่คนทั้งหลายด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรือด้วยอุบายอย่างใดๆ ดังต่อไปนี้ ก) ให้เกิดความดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัฐบาล หรือข้าราชการแผ่นดินในหมู่ประชาชนก็ดี… ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินกว่า 7 ปี และให้ปรับไม่เกินกว่าสองพันบาทด้วยอีกโสดหนึ่ง
แต่ถ้าวาจา หรือลายลักษณ์อักษร หรือเอกสารตีพิมพ์ หรืออุบายอย่างใดๆ ที่ได้กระทำไปภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือเป็นเพียงการติชมตามปกติวิสัย ในบรรดาการกระทำของรัฐบาลหรือของราชการแผ่นดิน การกระทำนั้นไม่ให้ถือว่าเป็นความผิด”
จากบทบัญญัติดังกล่าว จะเห็นว่ามีการเพิ่มการคุ้มครองการใช้เสรีภาพในการแสดงออกเพื่อสาธารณะประโยชน์ หรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต หรือการติชมตามปกติวิสัย ภายใต้ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นช่วงเวลาประมาณ 21 ปีที่ความผิดต่อพระมหากษัตริย์มีบทบัญญัติยกเว้นความผิด อย่างไรก็ตามความผิดต่อพระมหากษัตริย์ในมาตรา 98 ของกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.127 กลับไม่ได้ถูกแตะต้อง ทำให้แสดงความอาฆาฎมาดร้ายหรือหมิ่นประมาทต่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระมเหษี มกุฎราชกุมาร และต่อผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน ยังมีอยู่อีกมตราหนึ่งด้วย แต่ทว่า บรรยากาศของการบังคับใช้ก็เป็นไปอย่างค่อนข้างจำกัด
สภาวะถดถอยของมาตรา 112 ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ
ในช่วงปลายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม มีการตราประมวลกฎหมายอาญา 2499 ย้ายกฎหมายหมิ่นกษัตริย์มาตรา 98 ไปอยู่ในมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญาฉบับใหม่นี้และนำไปอยู่ในหมวดความผิดที่เกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร โดยกำหนดให้มีอัตราโทษสูงสุด คือ จำคุกไม่เกินเจ็ดปีเช่นเดิม และใช้ต่อเนื่องไปอีกเป็นระยะวลา 17 ปี
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เกิดการขยายตัวของแนวคิดสังคมนิยม ความวิตกกังวลของชนชั้นนำต่อแนวคิดดังกล่าว มีการผูกโยงความเป็นภัยคอมมิวนิสต์เข้ากับการล้มล้างสถาบันฯ ตามด้วยการเพิ่มโทษของมาตรา 112 หลังการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ข้ออ้างของการยึดอำนาจคือ การที่นิสิตนักศึกษากระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยเจตจำนงทำลายสถาบันกษัตริย์ และออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงตัวบทมาตรา 112 เป็น “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทหรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี” ซึ่งเป็นอัตราโทษที่กำหนดขั้นต่ำไว้สามปี ต่างจากเดิมที่ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำ
จากเส้นทางประวัติศาสตร์ มาตรา 112 ตั้งแต่รัชกาลที่หนึ่งจนถึงปัจจุบัน เห็นได้ว่า กฎหมายเกี่ยวกับการหมิ่นกษัตริย์ฯ ถูกแก้ไขได้และถูกพัฒนาอยู่อย่างต่อเนื่อง สมัยรัชกาลที่ห้า กฎหมายถูกปรับปรุงให้กำหนดโทษหนักเบาตามลำดับชั้นของคนในสังคม และหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 ก็ปรับแก้ไขโดยเปิดพื้นที่ให้ความเห็นสุจริตขับเคลื่อนได้ในระบอบประชาธิปไตย การปรับเปลี่ยนทั้งสองระลอกก็กินระยะเวลาที่ยาวนานในช่วงเวลาสำคัญของประวัติศาสตร์ไทย จึงอาจกล่าวได้ว่า ช่วงเวลาดังกล่าวได้วางหลักการแนวคิดเกี่ยวกับความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ ในกฎหมายไทยที่ปรับตัวตามโลกสมัยใหม่ได้แล้ว
หากจะกล่าวถึง “ขนบธรรมเนียมประเพณี” ของไทยก็คงจะเริ่มนับเฉพาะหลังการรัฐประหารในปี 2519 เป็นต้นมาไม่ได้ แต่ต้องย้อนกลับไปอย่างน้อยรวมช่วงเวลาที่รัชกาลที่ห้าทรงวางรากฐานระบบกฎหมายไทยเป็นระบบประมวลกฎหมาย (Civil Law) รวมทั้งการปรับปรุงครั้งใหญ่จนเกิดขึ้นเป็นประมวลกฎหมายอาญาในปี 2499 ซึ่งตลอดระยะเวลาหลายสิบปีนี้ “มาตรา112” ก็ไม่ได้เขียนไว้ในลักษณะเดียวกับปัจจุบัน แต่จะเห็นได้ว่า ลักษณะสำคัญของความผิดฐานหมิ่นกษัตริย์ฯ ในประวัติศาสตร์ไทย คือ “สามารถเปลี่ยนแปลงได้” ซึ่ง “ต้นทุน” ที่ก่อตัวขึ้นในสังคมอย่างเด่นชัดกว่า คือ การปรับตัวของกฎหมายและสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยไปตามยุคสมัย