สว.โหวตนายกฯ​ ผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด พลิกจุดยืนกันครั้งใหญ่

13 กรกฎาคม 2566 วาระสำคัญโหวตเลือกนายกฯ คนที่ 30 จากการที่มีส.ว.จำนวนหนึ่งเคยออกมาประกาศแสดงจุดยืนและให้สัมภาษณ์โดยอ้างหลักการต่างๆ เป็นไปตามสมควรว่าจะลงคะแนนเสียงเป็นไปตามมติมหาชน สนับสนุนนายกฯ จากพรรคที่ได้เสียงอันดับหนึ่ง มาในวันนี้ ‘กลับลำ’ พลิกลิ้นกันอีกรอบหรือบางคนก็ ‘หายตัว’ ไปอย่างไร้ร่องรอย ไม่เหมือนกับที่เคยหนักแน่นไว้ในอดีต
โดยพบว่ามี ส.ว. 7 คนที่เคยประกาศพร้อมลงมติตามเสียงข้างมากจากการเลือกตั้งแต่สุดท้ายไม่ได้ทำตามที่พูด โดยแบ่งเป็นคนที่ลงมติ “งดออกเสียง” ไป 2 คน คือ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป และทัศนา ยุวานนท์ ส่วนอีก 5 คน ไม่มาประชุม ได้แก่ ภัทรา วรามิตร, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, ประมาณ สว่างญาติ, สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์, ประยูร เหล่าสายเชื้อ
นอกจากนี้ส.ว. 2 คน ที่เคยประกาศแต่ก็ยักเยื้องเป็นอย่างอื่นแย้งกับที่เคยกล่าวเอาไว้หลายรอบและผลสุดท้ายลงมติ “งดออกเสียง” ได้แก่ เฉลิมชัย เฟื่องคอน และ ทรงเดช เสมอคำ

ย้ำจุดยืนชัดเจนแต่วันสำคัญดันหายตัวไม่มาโหวตนายกฯ 

เปิดด้วย ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นักวิชาการที่ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ปิตสวิตช์ส.ว.เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง ดิเรกฤทธิ์เป็นคนที่โดดเด่นที่สุดที่เคยออกมาให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนหลายต่อหลายครั้ง ในครั้งนี้เมื่อถึงลำดับการออกเสียงของเขาดันกลับ ‘หายตัว’ ไป ไม่แม้แต่จะลงคะแนนเสียงโหวตเลือกนายกฯ  
ก่อนหน้าวันโหวต ส.ว.ดิเรกฤทธิ์ เคยเปิดเผยหลักที่ใช้ในการเลือกนายกฯ โดยยึดว่าต้องเคารพเสียงประชาชน ไล่เรียงตามระยะเวลาที่ออกมาแสดงจุดยืน ดังนี้ 
16 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า รับฟังเสียงประชาชนแน่นอน พร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่มาจาก ส.ส.ที่รวมกันได้เกิน 250 คน 
17 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ ตนเองคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่มาใช้สิทธิเป็นสำคัญและการที่จะพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี มองว่าต้องผ่าน 3 ด่าน คือ 1. ต้องมีเสียง ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป 2. ต้องดูว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงที่มีการร้องเรียนต่างๆ กับองค์กรอิสระ อยากเรียกร้องให้องค์กรอิสระ เร่งวินิจฉัยออกมา เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาของ ส.ว. 3. ต้องดูความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบาย” 
18 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการข่าวเย็นประเด็นร้อนช่วง “ถกไม่เถียง” ย้ำและขยายความเพิ่มเติมถึงปัจจัยสามข้อในการเลือกนายกฯ โดยสรุปได้ว่า “ข้อหนึ่งต้องมีเสียงข้างมาก ใครรวมส.ส.ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งควรได้รับการสนับสนุน ข้อสอง มีคุณสมบัติการเป็นส.ส.และนายกฯครบถ้วน เรียกร้องให้หน่วยงานที่ตรวจสอบคุณสมบัติต้องทำให้เรียบร้อยให้ชัดเจน ข้อสาม สามารถขับเคลื่อนนโยบาย ต้องทำความเข้าใจให้ชัด”
26 มิถุนายน 2566 ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนอีกครั้งในรายการ THE STANDARD NOW โดยสรุปได้ว่า “ยืนยันตามที่เคยโพสต์ แน่นอนว่าเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยยืนยันในหลักการเลือกตามเสียงข้างมาก กรณีให้ความเห็นถึงตัวบุคคลจะเป็นคุณพิธาหรือไม่เป็นอีกประเด็น  ในหลักการถ้าคุณพิธาไม่ได้เสียงข้างมากก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ”  พร้อมตอบคำถามว่า หากรวมเสียงเกิน250 เสียง ไม่ว่าจะเป็นใครก็จะโหวตให้ โดยส.ว.ดิเรกฤทธิ์ให้เหตุผลว่า เป็นหลักการขั้นแรกเพราะหากเป็นคุณพิธาก็ตามถ้ารวมเสียงข้างมากไม่ได้ แล้วเราไปเลือกคุณพิธาเนี่ยเราก็ไม่ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เปิดประชุมครั้งแรกเปิดไม่ไว้วางใจก็ดีหรือกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน คุณพิธาก็ต้องออกไป ทำงานต่อไม่ได้อยู่ดี หลักการนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประชาธิปไตยอยู่แล้ว และในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณพิธารวมเสียงข้างมากได้ก็ไม่มีเหตุผลในเบื้องต้นที่จะต้องไม่เลือกคุณพิธา” 
5 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการอยากมีเรื่องคุย ข่าวสด โดยสรุปได้ว่า “ย้ำอีกทีว่าประชาธิปไตยต้องช่วยกันเคารพและประคับประคอง ในการเลือกฝ่ายบริหารเราใช้ระบบรัฐสภา ประชาชนเลือกสภา เลือกส.ส.ขึ้นมา และการมีส.ว.มาถ่วงดุลก็เป็นไปตามฉันทามติรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขไว้ … เมื่อสภาได้ทำหน้าที่ มีเสียงข้างมาก เราก็ควรเคารพ” 
7 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการไทยรัฐนิวส์โชว์  “ผมเองมีความชัดเจนอยู่แล้ว หนึ่งเสียงข้างมาก ผมก็ต้องสนับสนุนเป็นพื้นฐานบันไดขั้นแรก ขั้นที่สองถ้ากระบวนการเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ของคุณพิธาเราก็ต้องถือได้ว่าเขาผ่านขั้นที่สองได้ มาตรา112 ที่เป็นเรื่องใหญ่มันเป็นกระบวนการแก้ไขกฎหมาย การเลือกคุณพิธาเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ได้ทำให้เป็นการแก้ไขมาตรา 112 ไปโดยปริยาย เพราะเรื่องนี้แปดพรรคร่วมก็ไม่ยอม” 
10 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยโพสต์ย้ำจุดยืมเดิมภายใต้สามเงื่อนไข
ภัทรา วรามิตร  อดีตส.ส.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น ส.ว. จากระบบการแบ่งกลุ่มอาชีพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง ก่อนหน้านี้ ภัทรา เคยแสดงจุดยืนประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพิธา แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกฯ 
17 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี” 
ประมาณ สว่างญาติ ส.ว.จากเครือข่ายชาวนา ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.” แต่เคยออกมาแสดงจุดยืนก่อนหน้านี้ประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนตามมติของประชาชน
15 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ  ส่วนตัวไม่คัดค้านใครจะมาเป็นนายกฯ ขอให้เป็นไปตามมติของประชาชน ซึ่งในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง ที่ได้รับเลือกจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน และมีความเชื่อมโยงจากประชาชน ส่วน ส.ว.ท่านอื่น ก็ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจิตใจ แต่ตัวเองอยากให้ไปทางที่ไม่ขัดแย้ง ยิ่งมีมติประชาชนนำมาแล้ว ก็ควรที่จะไปทางนั้นมากกว่า
สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง ก่อนหน้านี้ สถิตย์ เคยแสดงจุดยืนประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพิธา แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกฯ โดยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
14 กุมภาพันธ์ 2566 ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ โดยสรุปได้ว่า “ผมมีทางเลือกสองทาง คือ หนึ่งไม่ใช้สิทธิ เพราะว่าควรเลือกจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน สอง เลือกตามเจตจำนงของประชาชน ถ้าใครรวบรวม ส.ส.ได้เกิน 250 คน เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ก็ควรได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาล”
18 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับ The Standard โดยสรุปได้ว่า “เมื่อรวมกันแล้ว 313 เสียง และไม่ตั้งใจที่จะรวบรวมมากกว่านี้ แสดงว่ามีการเปิดสวิตช์ ส.ว. แล้ว ผมในฐานะ ส.ว. ต้องใช้สิทธิตามหลักการประชาธิปไตย ด้วยการโหวตให้ตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตอนแรกที่ไม่ได้พูดออกมา เพราะต้องรอว่า ส.ส.จะปิดสวิตช์ ส.ว. หรือไม่ ซึ่งก็เป็นหลักการตามประชาธิปไตยอย่างหนึ่งและที่สัญญาไว้ให้กับประชาชน”
ประยูร เหล่าสายเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯเลย แต่ก่อนหน้านี้ ประยูร เคยแสดงจุดยืนประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพิธา แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกฯ ดังนี้
21 พฤษภาคม 2566 มติชนรายงานว่า ประยูรประกาศว่า “ดิฉันสนับสนุนประชาธิปไตย โดยพร้อมลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากอันดับที่ 1 จากประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ”

ผิดหวังแต่ไม่ผิดคาด วันจริง “งดออกเสียง”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป  อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาชน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งไม่เคยลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯเลย อย่างไรก็ตาม แม้พลเดช จะ “งดออกเสียง” แต่เคยแสดงจุดยืนประกาศมีท่าทีชัดเจนว่าจะสนับสนุนพิธา แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกฯ ดังนี้
18 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากมติชน โดยสรุปได้ว่า  “แนวทางโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของตนเองจะดูว่าฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ก็พร้อมโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือใครก็ตาม เพราะถือเป็นฉันทามติที่ประชาชนต้องการ”
ทัศนา ยุวานนท์  ซึ่งไม่เคยลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯเลย อย่างไรก็ตาม มีข้อมูลปรากฎออกมาว่า มีท่าทีจะโหวตให้พิธา แต่ผลสุดท้าย “งดออกเสียง” โดยแสดงจุดยืนไว้ ดังนี้ 
23 พฤษภาคม 2566  อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า “อีก 1 สว.ที่จะโหวตสนับสนุนให้ #พิธา เป็นนายกฯ ตามเสียงของประชาชน ขอบคุณ ส.ว.ทัศนา ยุวานนท์ วุฒิสมาชิกวัย 84 ปีจากโคราช”
เฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ สี่ครั้ง ในประเด็นเรื่องการโหวตนายกฯ เฉลิมชัยอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวังว่าจะโหวตไปในทิศทางไหนกันแน่ ด้วยเหตุที่ออกมาให้สัมภาษณ์แสดงจุดยืนกลับไปกลับมา และผลสุดท้ายในครั้งนี้แม้ประชาชนจะต้องผิดหวังอีกครั้งแต่ก็ไม่ผิดคาด โดยเฉลิมชัยโหวต “งดออกเสียง”
เฉลิมชัยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้ 
15 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ “ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจนว่า ฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่กับ ส.ว.คนอื่นๆ ไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่”
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand สรุปจากบางช่วงบางตอนได้ว่า  “ส่วนตัวผมตั้งใจว่าพรรคใดได้เสียงข้างมากแล้วรวมเสียงเกิน 250 เสียงขึ้นไป ผมจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคนั้น เพราะเป็นการเลือกตามเสียงข้างมาก” 
17 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เผยเป็นการส่วนตัวว่าจะโหวตให้พิธา ถ้ารวมเสียงมาเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) 
6 กรกฎาคม 2566 ข่าวสดรายงานว่า เฉลิมชัย กลับลำ โดยกล่าวว่า “ตอนนี้ตนเปลี่ยนใจ จะไม่โหวตให้นายพิธาแล้ว หลังจากพิจารณานโยบายมาตรา 112 ทำให้รู้สึกว่าโหวตให้ไม่ได้ แต่ถ้านายพิธา ยอมยกเลิกก็พร้อมยกมือให้” 
นอกจากนี้ ทรงเดช เสมอคำ ส.ว.จากโควต้ากลุ่มอาชีพเกี่ยวกับการศึกษาและการสาธารณสุข เคยเป็นประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย แสดงความเห็นในเรื่องโหวตนายกฯ กลับไปกลับมาจัดอยู่ในกลุ่มเฝ้าระวัง แม้ความเห็นที่ออกมาล่าสุดก่อนโหวตนายกฯ เพียงสามวัน เหมือนส่งสัญญาณว่าจะอยู่ข้างประชาชน แต่ผลสุดท้ายก็โหวต “งดออกเสียง”
10 กรกฎาคม 2566  กลับลำมายืนยันตามหลักการอีกครั้ง หลังจากที่ออกมากล่าวว่าจะไม่โหวตให้พิธาเพราะมาตรา 112 โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอยืนหยัดตัดสินใจตามที่ได้ตั้งหลักการตั้งแต่ครั้งแรกไว้ว่าขอโหวตให้พรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ประเทศของเราเดินหน้าไปได้ สำหรับการแก้กฎหมายขอให้เป็นไปตามกลไกของสภาและการประชุมร่วมกันของรัฐสภาต่อไป..” 
จุดยืนต่าง ๆ ก่อนหน้าของทรงเดช ไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้ 
17 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ กล่าวโดยสรุปว่า “เราต้องเคารพสิทธิเคารพเสียงส่วนมากของประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงส่วนหนึ่ง หรือ 14 ล้านเสียงที่เห็นด้วย จึงตัดสินใจว่า ถ้าหากพรรคไหนสามารถรวมเสียงได้มากเกินครึ่งของ ส.ส. คือ 250 หรือ 251 เสียงขึ้นไป ตนก็พร้อมที่จะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทย จึงเห็นด้วยที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีจากเสียงข้างมาก”
6 กรกฎาคม 2566  เดอะสแตนดาร์ดรายงานว่าทรงเดชกลับลำ โดยกล่าวว่า “เดิมเคยมีหลักการโหวตให้พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ข้างมากได้เกิน 250 เสียงเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าพิธายังมีจุดยืนแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่สามารถโหวตให้เป็นนายกฯ ได้ เพราะมาตรา 112 แตะต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะยกเลิกหรือแก้ไข ดังนั้น ถ้าพรรคก้าวไกลยังมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ก็จะไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ จะต้องยกเลิกการแก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น ค่อยมาว่ากัน”

RELATED TAGS

Amnestypeople.com
Join iLaw club
Facebook Fanpage