13 กรกฎาคม 2566 ที่ประชุมรัฐสภานัดประชุมพิจารณา เพื่อลงมติเลือกผู้ที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนต่อไป โดยมีผู้อภิปรายจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. สรุปที่น่าสนใจได้ดังนี้
คำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายคุณสมบัติพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ โดยเน้นประเด็นสำคัญที่เขาไม่อาจออกเสียงรับรองพิธาไปที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล โดยระบุว่า แนวทางการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล จะกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์อยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ พร้อมระบุบทบาทของส.ว.ในปัจจุบันนอกจากจะต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ให้ความเห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ และติดตามการปฏิรูปประเทศแล้ว ยังจะต้องธำรงไว้ซึ่งสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งดำรงอยู่มาตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ไม่ให้ถูกกระทบหรือลดทอนจากการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล
คำนูณระบุว่า ประเด็นที่สมาชิกวุฒิสภาหลายคนติดใจ คือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางที่พรรคก้าวไกลใช้ในการรณรงค์หาเสียง ซึ่งพรรคก้าวไกลได้เคยนำเสนอร่างแก้ไขกฎหมายต่อสภาในปี 2564
เมื่อครั้งที่พรรคร่วมแปดพรรคแถลงข้อตกลงร่วมกันในวันที่ 22 พฤษภาคม 2566 เบื้องต้นเขามีความรู้สึกสบายใจเพราะในข้อตกลงดังกล่าวระบุชัดเจนว่า ทั้งแปดพรรคจะไม่กระทำการใดๆที่จะกระทบต่อรูปแบบของรัฐ ระบอบการปกครอง และการดำรงอยู่ในสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ของสถาบันพระมหากษัตริย์ ในตอนท้ายข้อตกลงยังระบุด้วยว่า พรรคการเมืองทุกพรรคสามารถผลักดันนโยบายของพรรคตัวเองได้ โดยจะต้องไม่ขัดหรือแย้งต่อเนื้อหาสาระของบันทึกข้อตกลง
แต่ปรากฎว่าเมื่ออ่านข้อตกลงจบพิธากลับตอบกับผู้สื่อข่าวว่า พรรคก้าวไกลจะผลักดันการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยใช้ส.ส.ของพรรค ซึ่งตัวเขาเห็นว่าเป็นนาทีแห่งความย้อนแย้ง อ่านข้อตกลงจบไม่กี่นาทีก็บอกว่าจะเสนอต่อไป โดยแม้จะไม่เสนอในนามคณะรัฐมนตรีแต่ส.ส.ของพรรคเป็นผู้นำเสนอซึ่งประเด็นนี้เขาไม่สามารถรับได้
ร่างกฎหมายที่พรรคก้าวไกลเสนอต่อรัฐสภาในปี 2564 ไม่ถูกบรรจุในระเบียบวาระเพราะรองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่หนึ่งได้วินิจฉัยตามความเห็นทางกฎหมายของสำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรว่า ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญมาตรา 6 พรรคก้าวไกลได้ทำหนังสือตอบโต้ แต่รองประธานรัฐสภาคนที่หนึ่งก็ได้วินิจฉัยซ้ำ ทำให้ร่างดังกล่าวได้ได้ถูกบรรจุในระเบียบวาระจนสิ้นสมัยประชุม
คงไม่ต้องเถียงกันว่า การเสนอร่างแก้ไขดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะองค์กรที่มีอำนาจหน้าที่วินิจฉัยยังไม่มีคำวินิจฉัยเป็นที่สุด แต่ร่างกฎหมายดังกล่าวกระทบต่อมาตรา 6 ซึ่งบัญญัติมานานแล้วว่า พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ และผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ มาตรา 6 จึงให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์อย่างเด็ดขาด ในฐานะที่พระมหากษัตริย์แยกไม่ออกจากรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
จะเห็นได้ว่าบทคุ้มครองพระมหากษัตริย์อยู่ถัดจากบททั่วไปในรัฐธรรมนูญ มาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์ จึงวางรากฐานว่า การละเมิดพระมหากษัตริย์ คือการละเมิดต่อรัฐ ต่อความมั่นคงของรัฐและเป็นสิ่งที่รัฐในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขยอมรับไม่ได้ จึงต้องมีประมวลกฎหมาย 112 ที่ให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2499 โดยก่อนหน้านั้นก็มีกฎหมายลักษณะเดียวกันอยู่เพียงแต่จะมีบทยกเว้นโทษ
เป็นเวลากว่า 90 ปี ที่รัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติคุ้มครองสถานะของพระมหากษัตริย์ และเป็นเวลา 67 ปี ที่มีประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กระทบต่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการลดระดับการคุ้มครองพระมหากษัตริย์ จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองที่มีเงื่อนไข คำสำคัญในการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลมีอยู่หกคำ คือ ย้ายหมวด ลดโทษ เว้นความผิด ยกเว้นโทษ ให้เป็นคดีที่ยอมความได้ และจำกัดผู้ร้องทุกข์
กระดุมเม็ดแรกที่กลัดผิดคือย้ายหมวด นำกฎหมายออกมาจากหมวดความมั่นคงของรัฐ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วมาสร้างความผิดหมวดใหม่ เฉพาะเรื่ององค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งมีผลใหญ่หลวง จากความผิดต่อต่อความมั่นคง กลายมาเป็นความผิดในระนาบบุคคลธรรมดา แล้วนำเอาหลักการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดามาใช้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งไม่ใช่หลักที่ของรัฐธรรมนูญมาตั้งแต่ 10 ธันวาคม 2475 เป็นต้นมา แล้วก็เขียนไว้ในนโยบายว่า บัญญัติคุ้มครองไว้ชัดเจนในกฎหมายเพื่อคุ้มครองกรณีการวิจารณ์โดยสุจริต การพูดความจริงเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
เป็นการนำพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับรัฐ เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับระบอบการปกครองของประเทศ ลงมาเปรียบเทียบกับบุคคลธรรมดา ใช้มาตรฐานเดียวกันไปจับ ซึ่งในที่นี้จะขอยกแต่เพียงบทยกเว้นความผิด ที่หากทำโดยสุจริตเพื่อเหตุสามประการถือว่า ไม่มีความผิด หนึ่งเพื่อรักษาระบอบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข สองเพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ และสามเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งกว้างเป็นมหาสมุทรแปซิฟิก ถ้าแก้ไขตามแนวทางนี้สำเร็จ ต่อไปการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ หากกระทำไปโดยสุจริตเพื่อรักษาไว้ซึ่งระบบการปกครอง เพื่อประโยชน์สาธารณะ ไม่เป็นความผิด นอกจากนั้นการจำกัดผู้ร้องทุกข์ก็เป็นปมปัญหาที่มีความละเอียดอ่อน ที่คนไทยส่วนใหญ่ในรุ่นของตัวเขา หรือมีอายุมากกว่าเขา หรือรุ่นต่ำกว่าตัวเขาไม่เคยเห็นหลักการเช่นนี้มาก่อน
ร่างแก้ไขหรือข้อเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ไม่ได้จำกัดอยู่แค่การกระทบสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ของพระมหากษัตริย์เท่านั้น เรื่องต่อมาที่ใหญ่พอกัน เมื่อกระดุมเม็ดแรกได้นำพระมหากษัตริย์ลงมาอยู่ระระดับทั่วไปกับคนในสังคม แล้วลดโทษของการละเมิดพระมหากษัตริย์ลงมาต่ำมาก จำคุกไม่เกินหนึ่งปี ปรับเงิน 300,000 บาท พระราชินี พระรัชทายาท จำคุกไม่เกินหกเดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อลดโทษบุคคลที่มีสถานะทางสังคมสูงลงมาขนาดนี้ ก็จำเป็นที่จะต้องปรับลดโทษบุคคลทุกระดับลงไป ทั้งประมุขของรัฐต่างประเทศ ผู้แทนของรัฐต่างประเทศ เจ้าพนักงานที่ทำตามหน้าที่ และตามกฎหมาย ใครหมิ่นประมาทมีแค่โทษปรับ ศาลซึ่งกำลังพิจารณาคดี ถูกดูหมิ่นถูกหมิ่นประมาท ปรับไม่เกิน 20,000 บาท ไม่มีโทษจำคุก เข้าใจว่าโทษดูหมิ่นหมิ่นประมาทผู้พิพากษามีโทษปรับหลักแสน แต่ไม่ได้กำหนดโทษปรับขั้นต่ำไว้ เมื่อลงมาถึงบุคคลธรรมดาเหลือแค่โทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท
คำนูณระบุว่า ส่วนตัวเขาอาจจะมองโลกในแง่ที่ไม่ดีว่าหากมีการแก้ไขกฎหมายในลักษณะนี้ ทั้งการแก้ไขกฎหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ และในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลอื่น ลดโทษลงมาขนาดนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ในโลกยุคโซเชียล ก็มีข้อดีที่มีข้อมูลต่างๆส่งถึงกัน แต่การประณามหยามเหยียดใส่ร้าย การวิพากษ์วิจารณ์โดยไม่เป็นธรรมก็เกิดขึ้นชนิดเสียผู้เสียคน ตัวเขาเคยประสบพบเจอ ครอบครัวเคยประสบพบเจอมาแล้ว เพียงเพราะตัวเขาอภิปรายในที่ประชุมแล้วถูกสื่อนำไปลง ก็มีคนนำไปเปรียบเทียบ ประณาม เมื่อลูกของเขาพยายามจะเขียนข้อความให้กำลังใจก็ถูกใช้สิทธิเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสียผู้เสียคน หลายๆคนเคยประสบพบเจอ
คำนูณตั้งคำถามว่า สังคมใหม่ที่กำลังจะถูกสร้างตามแนว(ของการแก้กฎหมาย) คืออะไร
ทั้งหมดที่กล่าวมาก็เป็นเหตุผลในภาพรวมที่ทำให้เขาไม่อาจเห็นด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล การแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลยังมีลักษณะสำคัญอีกสามประการที่สมควรจะถูกกล่าวถึง ประการแรกการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลกระทบต่อสถานะของพระมหากษัตริย์ตามที่เขาได้อภิปรายไปแล้ว ประการที่สองการแก้ไขมาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกลจะเป็นเสมือนการแก้รัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสถานะของพระมหากษัตริย์ “ทางประตูหลัง” เพราะจะส่งผลให้การคุ้มครองพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญถูกลดระดับลงไปทันที ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน และประการที่สาม หากกฎหมายดังกล่าวผ่านออกมาบังคับใช้ก็จะเป็นเสมือนการนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ทันที เพราะไม่ได้มีการเขียนบทเฉพาะกาลกำกับไว้ เพียงแต่ระบุให้บังคับใช้ได้ทันทีนับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา
แม้จะมีคนบอกว่าการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จะยังอยู่อีกยาวไกล ยังไม่แน่ว่าจะถูกบรรจุในวาระการประชุมหรือไม่ และก็อาจจะผ่านไม่ง่าย เท่าที่ตัวเขาได้ฟังก็เห็นว่า พิธาซึ่งเป็นแคนดิเดตนายกฯพูดได้ดี บอกว่า ตัวเองมีความเป็นผู้นำ รุกได้ ถอยเป็น ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส.ว.บางส่วนเคยขอว่า ให้ถอยในประเด็นมาตรา 112 ได้หรือไม่ แต่ตัวพิธาก็ให้สัมภาษณ์ว่าจะไม่ถอย ซึ่งตัวคำนูณก็เข้าใจและเคารพที่พรรคก้าวไกลเชื่อมั่นในแนวทางของตัวเอง แต่ก็ขอให้พรรคก้าวไกลเคารพในความคิดความเชื่อและอุดมการณ์ของเขาและส.ว.อีกส่วนหนึ่งด้วย
ตัวเขายังมีความเชื่อว่าคนไทยอีกไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นคน 14 ล้านเสียงที่เลือกพรรคก้าวไกล คน 25 ล้านเสียงที่เลือกว่าที่พรรคร่วมรัฐบาล รวมถึงคนที่อื่นๆที่ไม่ได้เลือก ไม่ได้มองประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่า เป็นแค่กฎหมายอาญามาตราหนึ่ง แต่มองว่าเป็นมรดกทางวัฒนธรรม และมรดกทางจริยธรรมที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน ซึ่งสะท้อนความผูกพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชน ซึ่งการรักษามรดกทางวัฒนธรรมและจริยธรรมนี้ในสังคมที่ก้าวไปข้างหน้า ควรจะทำไว้
มีสื่อหลายสำนักที่สอบถามเขาว่าจะลงคะแนนอย่างไร ซึ่งเขาไม่เคยตอบแต่รอจนถึงนาทีสุดท้ายก่อนถึงวันนี้ เพราะตั้งใจจะรอดูความเป็นผู้นำที่รุกได้ ถอยเป็นว่า พิธาจะชี้แจงอย่างไรและเชื่อถือได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการทำข้อตกลงระหว่างแปดพรรคร่วม แต่ผ่านไปไม่กี่นาทีก็เกิดความย้อนแย้งขึ้น เขาจึงตกผลึกคำถามที่ว่า ส.ว.มีไว้ทำไม
“ต่อคำถามที่ว่ามีส.ว.ไว้ทำไม ผมถามตัวเองว่า ความเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสมัยปัจจุบัน ในสถานการณ์ปัจจุบัน นอกจากการกลั่นกรองกฎหมาย นอกจากการให้บุคคลดำรงตำแหน่ง นอกจากการติดตามการปฏิรูปประเทศแล้ว มีอะไรที่สำคัญอยู่ในจิตวิญญาณของผมและของพวกเราทุกคนบ้าง ผมเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจครับว่า การธำรงไว้ ซึ่งบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ บทคุ้มครองฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ ให้ดำรงอยู่เทียบเท่ากับที่เคยเป็นมานับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 มิให้กระทบหรือลดทอนลงไป เพราะการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ตามแนวทางของพรรคก้าวไกล ถือเป็นภารกิจที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งของการเป็นสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์ปัจจุบัน”
“สำหรับผม การโหวตคือการกระทำทางการเมืองในรัฐสภาอันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ คือการแสดงสัญลักษณ์ในทุกเวลา ในทุกโอกาสว่า กระผมมิอาจยอมรับว่า ไม่เห็นด้วยและไม่สนับสนุนแนวทางการแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล กราบขอบพระคุณครับท่านประธาน”
ที่เจ็บปวดกว่านั้น มีคำพูดต่อผู้นำจิตวิญญาณพรรคก้าวไกลว่า ถ้าพิธาได้เป็นนายกฯ จะให้ไปลงสัตยาบรรณกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ซึ่งมีสาระสำคัญ สามารถฟ้องประมุขรัฐได้ อันนี้รับไม่ได้ จะให้พิธาไปลงนาม หมายความว่า คนนอกประเทศฟ้องในหลวงได้ ผมทำใจไม่ได้ หลับตานึกสิครับ พระมหากษัตริย์สูงสุดที่คุ้มกะลาหัวเราไปถูกฝรั่งมังค่าสอบสวน เป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตราย
ด้าน พิธา ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ กล่าวว่า ผมพยายามพัฒนาให้เป็นคนที่ฟังมากกว่าพูด… ในขณะเดียวกันผมก็พัฒนาภาวะผู้นำให้เป็นคนที่รักษาคำพูดเหมือนกับสโลแกนของพรรคท่าน (ภูมิใจไทย) พูดแล้วทำ เพราะงั้น สัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนอย่างไรก็คงที่จะต้องทำตามอย่างนั้น
ถึงผมจะไม่เห็นด้วยกับทุกเรื่องที่ท่านพูดมา แต่ผมเห็นว่าท่านมีเสรีภาพในการที่จะพูดและนี่คือหน้าที่ของรัฐสภา นี่คือหน้าที่ของสภา ที่ท่านชาดา ก็มีประสบการณ์แบบหนึ่ง มีความคิดแบบหนึ่ง ผมก็มีชุดความคิดแบบหนึ่ง ประสบการณ์แบบหนึ่ง นี่คือสาเหตุที่เราต้องใช้สภาแก้กฎหมาย ที่ท่านชาดาพูดถึงการลดโทษ ลดการคุ้มครองก็ดี ซึ่งนี่เป็นเวทีเลือกนายก ไม่ใช่เวทีแก้ไขกฎหมายใดๆ ตรงนี้เป็นบรรยากาศที่ดี และสุดท้ายผู้นำที่ดีต้องมีความอดทนอดกลั้นฟังข้อเท็จจริงที่กล่าวหาจะจริงหรือไม่จริงก็แล้วแต่
RELATED POSTS
No related posts