ประกาศโหวตตาม ส.ส. เสียงข้างมากยังไม่เปลี่ยนแปลง 15 คน
1. วุฒิพันธุ์ วิชัยรัตน์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง โดยส.ว.วุฒิพันธ์ออกจดหมายเปิดผนึกสองฉบับยืนยันโหวตเลือกนายกฯ จากพรรคที่มีจำนวนส.ส.สูงที่สุด มีใจความสรุปจากเนื้อหาของจดหมายทั้งสองฉบับไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
17 พฤษภาคม 2566 จดหมายเปิดผนึกถึงสื่อมวลชน สรุปได้ว่า “ในฐานะสมาชิกวุฒิสภาคนหนึ่งที่เคยมีประสบการณ์ปฏิบัติงานสำคัญ รับใช้ชาติบ้านเมืองมาตลอดช่วงชีวิตของการรับราชการ เคยต้องขมขื่นกับความแตกแยกขัดแย้งในบ้านเมือง ขอถือโอกาสนี้แสดงเจตนารมณ์ภายใต้สิทธิสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 สนับสนุนให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวน ส.ส. มากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี”
8 กรกฎาคม 2566 จดหมายเปิดผนึกฉบับที่สอง โดยสรุปได้ว่า “เพื่อยืนยันถึงการน้อมนำ และยึดมั่นตามแนวทางในกระแสพระราชดำรัส จึงขอเน้นย้ำถึงเจตนารมณ์ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา ตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยืนยันให้การสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในบัญชีพรรคการเมืองที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด ได้ทำหน้าที่นายกรัฐมนตรี”
2. อำพล จินดาวัฒนะ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติและเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ สี่ครั้ง โดยส.ว.อำพล โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวและให้สัมภาษณ์ถึงจุดยืนของตนเองไว้ มีใจความเป็นไปในทำนองเดียวกันว่าจะเลือกนายกฯ จากพรรคที่รวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนราษฎร ไล่เรียงตามระยะเวลาที่แสดงจุดยืน ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า “ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 สะท้อนเจตนามหาชนชัดเจนแล้ว จากนี้ไปควรปล่อยให้กลไกประชาธิปไตยทำงานต่อ ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าได้แทรกแซงไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใด ร่วมกันสานพลังสร้างชาติ ตามบทบาทหน้าที่ของทุกฝ่าย จะดีกว่าประเทศไทยถึงจะไปต่อได้”
9 กรกฎาคม 2566 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ว่า “ ‘พร้อมโหวตนายก’ วันพฤหัสที่13ก.ค.66 ที่จะถึงนี้ มีนัดประชุมรัฐสภา (สส.+สว.) เพื่อโหวตเลือกนรม. ผมเตรียมโหวตให้คนที่พรรคการเมืองรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาผู้แทนฯเสนอชื่อ เพื่อให้เข้าไปเป็นรัฐบาลเสียงข้างมากบริหารประเทศต่อไป ใช้เหตุผลเดียวกันกับที่เคยใช้ตอนโหวตเลือกนรม. (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เมื่อปี62 จะกลับกลิ้งเป็นอย่างอื่นไม่ได้”
10 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์ในรายการกรรมกรข่าวนอกจอ โดยสรุปได้ว่า จะเลือก (นายกฯ) โดยใช้หลักการเดียวกับที่ยกมือให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาในปี 2562 คือ คนที่พรรคการเมืองรวมตัวเกินครึ่งเสนอเป็นนายกรัฐมนตรี ก็จะเลือกท่านนั้น เพื่อให้มาบริหารประเทศให้ได้ อีกทั้ง ส.ว.อำพล ได้ย้อนถามอีกว่า “เขาเลือกตั้งส.ส.และเขารวมกันได้เกินครึ่ง เนี่ย ก็คือเสียงส่วนใหญ่ ถ้าเราไม่เคารพตรงนี้แล้วเราจะมีระบบการเลือกตั้งไปทำไมล่ะ แล้วเราจะมีระบบประชาธิปไตยที่เราใช้ให้มีการเลือกตั้งอย่างนี้ไปทำไม มันก็เป็นระบบอื่นไปแล้ว” นอกจากนี้มองว่า เรื่องคุณสมบัติของพิธาหรือประมวลกฎหมายมาตรา 112 เป็นคนละเรื่องกับการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
10 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนอีกครั้งในรายการ THE STANDARD NOW โดยสรุปได้ว่า “เมื่อปี 2562 ใช้หลักคิดตรงไปตรงมา เนื่องจากเป็นส.ว.ที่อยู่ในกำหนดรัฐธรรมนูญให้มีส่วนร่วมในการโหวตนายก เราก็ฟังเสียงประชาชนก็คือโหวตให้กับคนที่พรรคการเมืองรวมเสียงเกินครึ่งหนึ่งเสนอมา ด้วยมาตรฐานนี้ วันนี้มาตรานี้ยังอยู่ … ในส่วนของผมเสนอให้สาธารณะรับทราบคือ โหวตเลือกคนที่พรรคเสียงข้างมากเสนอ ไม่ได้เกี่ยวกับพรรคไหนหรือบุคคลไหน ไม่ว่าพรรคไหนรวมมาแล้วเสนอแล้วเกินครึ่ง ผมก็จะเลือกคนนั้น”
3. ภัทรา วรามิตร อดีตส.ส.กาฬสินธุ์ ซึ่งเป็น ส.ว. จากระบบการแบ่งกลุ่มอาชีพผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งเคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง โดยส.ว.ภัทรา เคยแสดงจุดยืนประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุนพิธา แคนดิเดตพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกฯ
17 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก ระบุว่า “ภัทรา วรามิตร สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เคารพมติของประชาชน ขอประกาศจุดยืนสนับสนุน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี”
4. ซากีย์ พิทักษ์คุมพล อดีตอาจารย์สถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง โดยส.ว.ซากีย์เคยให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนในการโหวตนายกฯ ว่าต้องมาจากพรรคอันดับหนึ่งที่มาจากฉันทามติของประชาชน ไล่เรียงตามระยะเวลาที่ออกมาแสดงจุดยืน ดังนี้
17 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการเข้มข่าวใหญ่ PPTV โดยสรุปได้ว่า “หลักการเรื่องรัฐสภาต้องให้โอกาสพรรคอันดับหนึ่งจัดตั้งรัฐบาลก่อน ประเด็นมันอยู่ตรงนี้ เพราะว่าถ้าไม่เคารพกลไกรัฐสภาก็คงไม่ต้องมีการเลือกตั้ง ถ้ามีการเสนอชื่อคุณพิธา ก็ไม่มีปัญหา เพราะเขาเป็นพรรคได้รับเสียงอันดับหนึ่ง”
17 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว The Reporters โดยสรุปได้ว่า “ให้เป็นไปตามฉันทามติของประชาชนที่เลือกพรรคการเมือง ถ้าดูเจตนารมณ์ รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องการความต่อเนื่องในการปฏิรูปการเมืองไทย จึงให้มีบทบัญญัติแนบท้าย ให้ส.ว.เลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ 4 ปีที่ผ่านมา หน้าที่ของ ส.ว.ลุล่วงไปแล้ว จึงกลับมาอยู่ในหลักการรัฐสภา คือ การให้เกียรติกับพรรคการเมืองที่ได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับหนึ่ง ถ้าจัดตั้งรัฐบาลได้ ก็ไม่มีทางเลือกอื่น”
7 มิถุนายน 2566 ให้สัมภาษณ์รายการ Today Live สำนักข่าวทูเดย์ ยืนยันในหลักการว่าให้โอกาสพรรคที่ได้รับเสียงข้างมาก
5. ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม นักวิชาการ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ปิตสวิตช์ส.ว.เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง โดยส.ว.ดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยหลักที่ใช้ในการเลือกนายกฯ โดยยึดว่าต้องเคารพเสียงประชาชน ไล่เรียงตามระยะเวลาที่ออกมาแสดงจุดยืน ดังนี้
16 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า รับฟังเสียงประชาชนแน่นอน พร้อมโหวตสนับสนุนนายกฯ ที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ที่มาจาก ส.ส.ที่รวมกันได้เกิน 250 คน
17 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับไทยรัฐ ตนเองคำนึงถึงเสียงของประชาชนที่มาใช้สิทธิเป็นสำคัญและการที่จะพิจารณาเลือกนายกรัฐมนตรี มองว่าต้องผ่าน 3 ด่าน คือ หนึ่ง ต้องมีเสียง ส.ส. 250 เสียงขึ้นไป สอง ต้องดูว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ รวมถึงที่มีการร้องเรียนต่างๆ กับองค์กรอิสระ อยากเรียกร้องให้องค์กรอิสระ เร่งวินิจฉัยออกมา เพราะจะมีผลต่อการพิจารณาของ ส.ว. สาม ต้องดูความสามารถในการขับเคลื่อนนโยบาย”
18 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการข่าวเย็นประเด็นร้อนช่วง “ถกไม่เถียง” ย้ำและขยายความเพิ่มเติมถึงปัจจัยสามข้อในการเลือกนายกฯ โดยสรุปได้ว่า “ข้อหนึ่งต้องมีเสียงข้างมาก ใครรวมส.ส.ได้มากกว่ากึ่งหนึ่งควรได้รับการสนับสนุน ข้อสอง มีคุณสมบัติการเป็นส.ส.และนายกฯครบถ้วน เรียกร้องให้หน่วยงานที่ตรวจสอบคุณสมบัติต้องทำให้เรียบร้อยให้ชัดเจน ข้อสาม สามารถขับเคลื่อนนโยบาย ต้องทำความเข้าใจให้ชัด”
26 มิถุนายน 2566 ให้สัมภาษณ์ย้ำจุดยืนอีกครั้งในรายการ THE STANDARD NOW โดยสรุปได้ว่า “ยืนยันตามที่เคยโพสต์ แน่นอนว่าเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยยืนยันในหลักการเลือกตามเสียงข้างมาก กรณีให้ความเห็นถึงตัวบุคคลจะเป็นคุณพิธาหรือไม่เป็นอีกประเด็น ในหลักการถ้าคุณพิธาไม่ได้เสียงข้างมากก็ไม่เลือกอยู่แล้ว ” พร้อมตอบคำถามว่า หากรวมเสียงเกิน250 เสียง ไม่ว่าจะเป็นใครก็จะโหวตให้ โดยส.ว.ดิเรกฤทธิ์ให้เหตุผลว่า เป็นหลักการขั้นแรกเพราะหากเป็นคุณพิธาก็ตามถ้ารวมเสียงข้างมากไม่ได้ แล้วเราไปเลือกคุณพิธาเนี่ยเราก็ไม่ได้รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ เปิดประชุมครั้งแรกเปิดไม่ไว้วางใจก็ดีหรือกฎหมายสำคัญไม่ผ่าน คุณพิธาก็ต้องออกไป ทำงานต่อไม่ได้อยู่ดี หลักการนี้เป็นเรื่องใหญ่ของประชาธิปไตยอยู่แล้ว และในทางตรงกันข้าม ถ้าคุณพิธารวมเสียงข้างมากได้ก็ไม่มีเหตุผลในเบื้องต้นที่จะต้องไม่เลือกคุณพิธา”
5 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการอยากมีเรื่องคุย ข่าวสด โดยสรุปได้ว่า “ย้ำอีกทีว่าประชาธิปไตยต้องช่วยกันเคารพและประคับประคอง ในการเลือกฝ่ายบริหารเราใช้ระบบรัฐสภา ประชาชนเลือกสภา เลือกส.ส.ขึ้นมา และการมีส.ว.มาถ่วงดุลก็เป็นไปตามฉันทามติรัฐธรรมนูญที่กำหนดเงื่อนไขไว้ … เมื่อสภาได้ทำหน้าที่ มีเสียงข้างมาก เราก็ควรเคารพ”
7 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการไทยรัฐนิวส์โชว์ “ผมเองมีความชัดเจนอยู่แล้ว หนึ่งเสียงข้างมาก ผมก็ต้องสนับสนุนเป็นพื้นฐานบันไดขั้นแรก ขั้นที่สองถ้ากระบวนการเหล่านี้ยังไม่มีความชัดเจน ยังไม่สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ส.ส.ของคุณพิธาเราก็ต้องถือได้ว่าเขาผ่านขั้นที่สองได้ มาตรา112 ที่เป็นเรื่องใหญ่มันเป็นกระบวนการแก้ไขกฎหมาย การเลือกคุณพิธาเป็นฝ่ายบริหาร ไม่ได้ทำให้เป็นการแก้ไขมาตรา 112 ไปโดยปริยาย เพราะเรื่องนี้แปดพรรคร่วมก็ไม่ยอม”
10 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยโพสต์ย้ำจุดยืมเดิมโหวตเป็นไปตามภายใต้สามเงื่อนไข
6. ประมาณ สว่างญาติ ส.ว.จากเครือข่ายชาวนา ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.” แต่เคยออกมาแสดงจุดยืน ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ ส่วนตัวไม่คัดค้านใครจะมาเป็นนายกฯ ขอให้เป็นไปตามมติของประชาชน ซึ่งในฐานะเกษตรกรคนหนึ่ง ที่ได้รับเลือกจากข้างล่างขึ้นไปข้างบน และมีความเชื่อมโยงจากประชาชน ส่วน ส.ว.ท่านอื่น ก็ต่างคนต่างมา ต่างคนต่างจิตใจ แต่ตัวเองอยากให้ไปทางที่ไม่ขัดแย้ง ยิ่งมีมติประชาชนนำมาแล้ว ก็ควรที่จะไปทางนั้นมากกว่า
7. วันชัย สอนศิริ อดีตทนายความและอดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สนช.) เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ สี่ครั้ง และออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวทูเดย์ โดยสรุปได้ว่า “มุมมองของตนเองไม่มีเหตุผลอะไรจะปฏิเสธเสียงส่วนใหญ่ที่รวมกันได้กึ่งหนึ่ง พร้อมสนับสนุนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าตอนนี้พรรคก้าวไกลที่มาเป็นลำดับ 1 ได้ประสานทุกฝ่ายแล้วจริงหรือไม่ ทั้งเพื่อไทย ภูมิใจไทย พลังประชารัฐ หรือแม้กระทั่ง สว. คุณประสานหรือยัง เพื่อให้สามารถรวมกันได้ 376 เสียง ถ้ารวมกันได้ก็เชื่อว่าไม่น่าจะมีปัญหาอะไร”
17 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยสรุปได้ว่า “โดยส่วนตัวของผมยืนยันว่า หนึ่ง ใครรวมเสียงส.ส.ได้ข้างมากก็โหวตให้คนนั้น สองเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและตามความต้องการของเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน สามเพื่อความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จุดยืนนี้ไม่เปลี่ยนแปลงครับ”
23 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับไทยพีบีเอส ย้ำจุดยืนโหวตให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจาก ส.ส.เสียงข้างมาก
7 กรกฎาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยสรุปได้ว่า “ผมเคยประกาศไว้ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้งว่าใครรวมเสียงส.ส.ได้เกินกว่ากึ่งหนึ่ง ผมจะเลือกพรรคนั้นคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้แต่ขณะนี้หรือในวันที่ 13 ก.ค.ก็ไม่เปลี่ยนแปลง จะเป็นคุณพิธาหรือใคร ผมก็โหวตให้ในหลักการเดิม อันเป็นไปตามหลักประชาธิปไตยและความต้องการของประชาชน…”
8. มณเฑียร บุญตัน อดีตนายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ ห้าครั้ง โดยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
17 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากข่าวสด โดยสรุปได้ว่า “ส่วนตัวเคยพูดก่อนวันเลือกตั้งว่า จะไม่ขอใช้สิทธิในการโหวตนายกฯ แต่หลังการเลือกตั้งตนก็ได้ให้โอกาสพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภา เพราะพูดตรงๆ ตนได้เลือกพรรคที่มีคะแนนมากแล้วในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ส่วนการทำหน้าที่สว.ตนจะเลือกใครนั้นเดิมที่ตนว่าจะไม่ขอใช้สิทธิโหวต แต่ถ้าตอนนี้ตนไม่ใช้สิทธิเท่ากับว่าไม่เห็นด้วยกับเสียงข้างมากในสภา”
18 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากมติชน โดยสรุปได้ว่า “ตอนนี้จะโหวตตามน้ำ คือ ส.ส.เป็นน้ำ เอาอย่างไรตนก็เอาอย่างนั้น ไม่ต้องใช้สมองคิดเลย ไม่ต้องใช้วิจารณญาณเลย”
6 กรกฎาคม 2566 กล่าวบทเวทีเสวนาว่า โดยสรุปได้ว่า “ยืนยันในหลักการที่ว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมาก ของ ส.ส. ในสภา และจะโหวตตามเสียงของประชาชน และไม่มีเงื่อนไขในเรื่องนโยบาย ความชอบหรือไม่ชอบ เพราะมองว่านโยบายนั้นอยู่ที่การหาเสียง ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันในสภาฯ”
9. ประภาศรี สุฉันทบุตร เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ สี่ครั้ง โดยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
18 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยระบุข้อความไว้ชัดเจนว่า “ประภาศรี สุฉันทบุตร สมาชิกวุฒิสภา ประกาศจุดยืนเคารพมติของประชาชน เห็นชอบ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี”
7 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ โดยสรุปได้ว่า “ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังสนับสนุน นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนเรื่องการแก้ไขมาตรา 112 เรื่องหุ้นสื่อไอทีวี ที่ตนบอกว่าเป็นเรื่องขององค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องพิจารณา ส.ว.ไม่มีหน้าที่ไปตัดสินในเรื่องเหล่านี้นั้น ตนหมายความว่า ขณะนี้ เป็นวาระของการเลือกนายกรัฐมนตรี สำหรับเรื่องมาตรา 112 หากมีการเสนอเข้าสู่สภา ส.ว.ก็ต้องมีส่วนในการพิจารณากลั่นกรองกฎหมายตามหน้าที่ด้วยอยู่แล้ว…”
10. สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง โดยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
14 กุมภาพันธ์ 2566 ให้สัมภาษณ์กับผู้จัดการออนไลน์ โดยสรุปได้ว่า “ผมมีทางเลือกสองทาง คือ หนึ่งไม่ใช้สิทธิ เพราะว่าควรเลือกจากผู้แทนที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน สอง เลือกตามเจตจำนงของประชาชน ถ้าใครรวบรวม ส.ส.ได้เกิน 250 คน เกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ ก็ควรได้รับการสนับสนุนให้จัดตั้งรัฐบาล”
18 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับ The Standard โดยสรุปได้ว่า “เมื่อรวมกันแล้ว 313 เสียง และไม่ตั้งใจที่จะรวบรวมมากกว่านี้ แสดงว่ามีการเปิดสวิตช์ ส.ว. แล้ว ผมในฐานะ ส.ว. ต้องใช้สิทธิตามหลักการประชาธิปไตย ด้วยการโหวตให้ตามเสียงข้างมากของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตอนแรกที่ไม่ได้พูดออกมา เพราะต้องรอว่า ส.ส.จะปิดสวิตช์ ส.ว. หรือไม่ ซึ่งก็เป็นหลักการตามประชาธิปไตยอย่างหนึ่งและที่สัญญาไว้ให้กับประชาชน”
11. พิศาล มาณวพัฒน์ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐฯและอียู เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ ห้าครั้ง โดยออกมาแสดงจุดยืนดังนี้
5 มิถุนายน 2566 ให้สัมภาษณ์ในรายการคมชัดลึก The Nation โดยสรุปได้ว่า ผลการเลือกตั้งที่ออกมาก็เป็นฉันทามติที่ประชาชนแสดงออกชัดเจนว่าอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง ตัวเขาจึงจะเคารพเจตนารมณ์นั้น และจะทำตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญมาตรา 114 ที่กำหนดให้ ส.ส.และส.ว. เป็นผู้แทนของประชาชน ต้องตัดสินใจโดยไม่ถูกครอบงำทางความคิดหรืออาณัติหรืออยู่ภายใต้การครอบงำใดๆ โดยเฉพาะส.ว.ที่ต้องไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดและไม่อยู่ในการครอบงำของบุคคลใด
12. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ที่ทำงานใกล้ชิดกับภาคประชาชน อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯเลย
18 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากมติชน โดยสรุปได้ว่า “แนวทางโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีของตนเองจะดูว่าฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง ก็พร้อมโหวตให้เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ว่าจะเป็นนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล หรือใครก็ตาม เพราะถือเป็นฉันทามติที่ประชาชนต้องการ”
13. พีระศักดิ์ พอจิต อดีตรองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ หนึ่งครั้ง โดยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
19 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเรื่องเด่นเย็นนี้ กรณีการโหวตนายกรัฐมนตรีว่า “พร้อมโหวตให้กับนายพิธาเพิ่มให้อีก 1 เสียง โดยให้เหตุผลว่า ถ้าเขารวมตัวกันได้อย่างนี้ ตนตัดสินใจโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะรวบรวมเสียง ส.ส.ได้เกินกึ่งหนึ่งแล้ว อีกทั้งได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์เยอะ แสดงว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการให้คนรุ่นนี้เข้ามาเปลี่ยนแปลง ก็ต้องให้โอกาส อย่างไรก็ตาม หากเกิดการเล่นเกมในสภาที่พรรคอันดับ 2 เสนอชื่อคนอื่นขึ้นมาก็จะไม่โหวตให้”
23 มิถุนายน 2566 ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ “ส่วนตัวยืนยันชัดเจนว่าจะสนับสนุนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคที่ได้รับคะแนนเสียงอันดับ 1 เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งขณะนี้คือนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล”
14. ประยูร เหล่าสายเชื้อ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯเลย
21 พฤษภาคม 2566 มติชนรายงานว่า ประยูรประกาศว่า “ดิฉันสนับสนุนประชาธิปไตย โดยพร้อมลงคะแนนเสียงให้แก่พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงมากอันดับที่ 1 จากประชาชน เป็นนายกรัฐมนตรี “เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ”
15. ทัศนา ยุวานนท์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯเลย
23 พฤษภาคม 2566 อมรัตน์ โชคปมิตต์กุล อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ได้โพสต์เฟซบุ๊กเปิดเผยว่า “อีก 1 สว.ที่จะโหวตสนับสนุนให้ #พิธา เป็นนายกฯ ตามเสียงของประชาชน ขอบคุณ ส.ว.ทัศนา ยุวานนท์ วุฒิสมาชิกวัย 84 ปีจากโคราช”
กลุ่มเฝ้าระวัง ส.ว. ประกาศแล้ว “กลับลำ” เปลี่ยนจุดยืนกลางทาง
1. เฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ สี่ครั้ง โดยออกมาแสดงจุดยืนไล่เรียงตามระยะเวลา ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ “ส่วนตัวมีจุดยืนชัดเจนว่า ฝ่ายใดรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง จะโหวตให้ฝ่ายนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี แม้จะเป็นคนของพรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล ก็พร้อมโหวตให้ แต่กับ ส.ว.คนอื่นๆ ไม่กล้าการันตีจะคิดแบบเดียวกันหรือไม่”
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์รายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand สรุปจากบางช่วงบางตอนได้ว่า “ส่วนตัวผมตั้งใจว่าพรรคใดได้เสียงข้างมากแล้วรวมเสียงเกิน 250 เสียงขึ้นไป ผมจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคนั้น เพราะเป็นการเลือกตามเสียงข้างมาก”
17 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เผยเป็นการส่วนตัวว่าจะโหวตให้พิธา ถ้ารวมเสียงมาเกินครึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
6 กรกฎาคม 2566 ข่าวสดรายงานว่า เฉลิมชัย กลับลำ โดยกล่าวว่า “ตอนนี้ตนเปลี่ยนใจ จะไม่โหวตให้นายพิธาแล้ว หลังจากพิจารณานโยบายมาตรา 112 ทำให้รู้สึกว่าโหวตให้ไม่ได้ แต่ถ้านายพิธา ยอมยกเลิกก็พร้อมยกมือให้”
2. ทรงเดช เสมอคำ ส.ว.จากโควต้ากลุ่มอาชีพเกี่ยวกับการศึกษาและการสาธารณสุข เคยเป็นประธานฝ่ายเทคนิคสโมสรฟุตบอลสุโขทัย
17 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากผู้จัดการออนไลน์ กล่าวโดยสรุปว่า “เราต้องเคารพสิทธิเคารพเสียงส่วนมากของประชาชน ถึงแม้ว่าจะเป็นเสียงส่วนหนึ่ง หรือ 14 ล้านเสียงที่เห็นด้วย จึงตัดสินใจว่า ถ้าหากพรรคไหนสามารถรวมเสียงได้มากเกินครึ่งของ ส.ส. คือ 250 หรือ 251 เสียงขึ้นไป ตนก็พร้อมที่จะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้ อีกทั้งเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองของประเทศไทย จึงเห็นด้วยที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีจากเสียงข้างมาก”
6 กรกฎาคม 2566 เดอะสแตนดาร์ดรายงานว่าทรงเดชกลับลำ โดยกล่าวว่า “เดิมเคยมีหลักการโหวตให้พรรคการเมืองที่รวบรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ข้างมากได้เกิน 250 เสียงเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าพิธายังมีจุดยืนแก้ไขมาตรา 112 ก็ไม่สามารถโหวตให้เป็นนายกฯ ได้ เพราะมาตรา 112 แตะต้องไม่ได้ ไม่ว่าจะยกเลิกหรือแก้ไข ดังนั้น ถ้าพรรคก้าวไกลยังมีนโยบายแก้ไขมาตรา 112 ก็จะไม่โหวตให้พิธาเป็นนายกฯ จะต้องยกเลิกการแก้ไขมาตรา 112 เท่านั้น ค่อยมาว่ากัน”
10 กรกฎาคม 2566 กลับลำมายืนยันตามหลักการอีกครั้ง หลังจากที่ออกมากล่าวว่าจะไม่โหวตให้พิธาเพราะมาตรา 112 โดยระบุผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า “ขอยืนหยัดตัดสินใจตามที่ได้ตั้งหลักการตั้งแต่ครั้งแรกไว้ว่าขอโหวตให้พรรคที่รวบรวมเสียงข้างมากในการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้ประเทศของเราเดินหน้าไปได้ สำหรับการแก้กฎหมายขอให้เป็นไปตามกลไกของสภาและการประชุมร่วมกันของรัฐสภาต่อไป..”
3. วัลลภ ตังคณานุรักษ์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และกรรมการเลขาธิการ มูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก เคยลงมติเห็นชอบร่างแก้รัฐธรรมนูญให้ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ สี่ครั้ง ยืนยันหลักการเลือกนายกฯ จากพรรคที่รวมเสียงข้างมากได้ ไล่เรียงตามระยะเวลาที่ออกมาแสดงจุดยืน ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยสรุปได้ว่า “ขอนำมาสรุปให้ชัดขึ้นว่าคราวนั้น และให้สัมภาษณ์ต่อไปว่า ‘ใครรวมได้เสียงข้างมาก’ เกิน 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร ก็ได้เป็นนายกฯ ได้เป็นรัฐบาล ไม่มีใครขวางได้หรอกครับ เพราะครั้งที่ ‘พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา’ ได้เป็นนายกฯ ก็ด้วยเหตุผลเดียวกันคือ รวมเสียงได้เกิน 250 เสียง”
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์ โดยสรุปได้ว่า “หากใครก็ตาม ที่สามารถรวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้มากกว่า 250 เสียง ก็จะโหวตให้ฝ่ายนั้นทันที … ถ้าหากถามถึงว่า ปัจจุบันพรรคก้าวไกลสามารถรวมเสียงได้ 309 เสียง จะโหวตให้ หรือไม่ แน่นอนว่าตนสามารถโหวตให้ได้ โดยไม่มีข้อกังขา เพราะเป็นหลักการของตน”
6 กรกฎาคม 2566 ท็อปนิวส์รายงานการให้สัมภาษณ์ของวัลลภว่า “ส.ว.ที่ผมได้คุยด้วย ก็มีติดใจต่างๆ นานาในหลายประเด็น ประเด็นหนึ่งที่เป็นประเด็นร่วมก็คือประเด็นมาตรา 112 ซึ่งเป็นมาตราสำคัญเกี่ยวกับประมุขของประเทศ ซึ่งปกติแล้วท่านก็ทรงอยู่เหนือการเมือง การเมืองไม่ควรจะไปยุ่งกับท่าน ดังนั้นพอการเมืองจะไปยุ่ง จะไปแก้ไข หรือบางกระแสถึงขั้นจะไปยกเลิกมาตรา 112 เลย ก็ทำให้สมาชิกวุฒิสภารับไม่ได้…ขณเดียวกันก็มีหลายคนมีอีกหลายประเด็นเหมือนกันที่ติดใจ ยกตัวอย่างเช่น มีการขับเคลื่อนเรื่องการทำให้เกิดการแยกรัฐปัตตานี หรือล้านนาเป็นต้น ก็มีบางท่านที่กังวลว่าจะไปไกลอะไรขนาดนั้น…”
11 กรกฎาคม 2566 วัลลภโพสต์เฟซบุ๊กว่า “กรณีการอ้างว่ามี 20 ส.ส. เตรียมจะโหวตให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคก้าวไกล ให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 กรกฎาคมนี้ว่า เพื่อความชัดเจน ตามนี้เลยครับ สอบถามทุกคนในภาพมาแล้ว ตัวเลขปั่นจนข่าวเอาไปลงคือ 20 ตัวเลขแท้จริงคือ 10 ครับ” พร้อมนำภาพอินโฟกราฟฟิกของสำนักข่าวเดอะสแตนดาร์ดมาและขีดฆ่าใบหน้าของส.ว. หลายคนออก รวมถึงหน้าของตัวเองด้วย
4. เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปิน “กวีซีไรต์” ผู้ลงมติ “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลือกนายกฯ มาโดยตลอดทั้งห้าครั้ง เขียนบทกลอนอธิบายว่าต้องปิดสวิตช์ส.ว.
10 กรกฎาคม 2566 โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวเป็นภาพหีบเลือกตั้งมีข้อความ Vote และบทกลอนตอนหนึ่งเขียนว่า “บริบทเฉพาะกาล ควรผ่านแล้ว ยังไม่แคล้วต้องมาคั้น กันอีกหน ส.ว. ต้องติดกับ กับหมากกล แทนที่เสียงประชาชน จะชูชัย หน้าที่ของ ส.ส. อันพึงมี เลือกนายกรัฐมนตรี นี่แหละใช่ จงผู้แทนทั้งผอง ต้องรวมใจ …ไปเถิดไป ปิดสวิตช์ พวก ส.ว. !”
13 กรกฎาคม 2566 ภายในวันเดียวกันกับที่โหวตเลือกนายกฯ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เผยแพร่ข้อความ เนาวรัตน์ ประกาศจุดยืนโหวตนายกฯ อีกครั้งว่า “ยืนยันในเจตนารมณ์ ที่เคยแสดงให้ปรากฏในสภาแห่งนี้ว่า ส.ว.ไม่ควรมีสิทธิเลือกนายกรัฐมนตรี ผมจึงขอใช้สิทธิ โหวตงดออกเสียงในการเลือกนายกรัฐมนตรี… ตลอดไป”
กลุ่มตั้งเงื่อนไข ส.ว.โหวต ถ้าไม่แตะสถาบันฯ
1. รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล เกษตรกรและนักวิชาการจากจังหวัดร้อยเอ็ด ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.” แต่ส.ว.รณวริทธิ์ เคยออกมาแสดงจุดยืนพร้อมสนับสนุนรัฐบาลที่มาจากเสียงข้างมากแต่มีเงื่อนไขต้องไม่แตะสถาบัน ไล่เรียงตามระยะเวลาที่ออกมาแสดงจุดยืน ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับฐานเศรษฐกิจ โดยสรุปได้ว่า “ถ้ามีเสนอมาคนเดียว แล้วเสนอนายพิธา ก็ไม่ได้น่ารังเกียจ เพราะมาจากมติมหาชน ส.ส. เขตก็ได้มาก และ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ก็ได้เยอะ รวมกันแล้วได้อันดับ 1 ก็มีสิทธิ์อันชอบธรรมในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งองค์ประกอบที่จะพิจารณาพรรคร่วมมีใครบ้าง นโยบายเป็นอย่างไร ตรงนั้นน่าสนใจกว่า …ทั้งยังระบุเพิ่มเติมว่า ตนโฟกัสไปที่นโยบายด้านการเกษตร ถ้าไม่มีผมไม่ยกมือให้ ใครก็แล้วแต่ขึ้นมาเป็นรัฐบาล ถ้าไม่เห็นความสำคัญในการที่จะพัฒนาเกษตรกรทั้งระบบ ผมไม่โอเค ”
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับช่องสาม (3PlusNews) โดยสรุปได้ว่า การตั้งรัฐบาลเป็นเรื่องของส.ส.เสียงข้างมาก การโหวตเสียงจัดตั้งรัฐบาลหรือเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเชื่อว่าน่าจะดำเนินการได้โดยไม่ต้องพึ่ง ส.ว.อยู่แล้ว และหากทำไม่สำเร็จ หรือ พรรคเสียงข้างมาก หรือพรรครองลงมาทำไม่ได้ อาจจะมีการพรรคอื่นที่ต้องพึ่ง เสียง ส.ว. ก็พร้อมที่จะเข้าไปสนับสนุน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นจะต้องชัดเจนว่าจะต้องไม่แก้กฏหมาย ม.112 หรือแตะต้องสถาบันสูงสุด
19 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวประจำจังหวัดร้อยเอ็ด โดยสรุปได้ว่า “ผมเคารพเสียงของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่และขอแสดงความชื่นชมยินดีกับพรรคก้าวไกลที่จะได้จัดตั้งรัฐบาล ประชาธิปไตยคือการยอมรับเสียงข้างมากผมไม่ขัดข้องครับ … แต่ผมมีเงื่อนไขส่วนตัวคือนโยบายและการปฎิบัติราชการในฐานะรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีจะต้องไม่สร้างความเสื่อมถอยให้กับสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์และรักษาไว้ซึ่งความสงบสุขของพี่น้องประชาชนชาวไทย/เกษตรกร ระบบบริหารราชการแผ่นดิน ตลอดจนรักษาไว้ซึ่งเอกราช เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และบูรณภาพของประเทศไทย”
2. นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.” เคยแสดงความเห็นไว้แบบมีเงื่อนไข ดังนี้
15 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า “ผลการเลือกตั้งเป็นประเด็นที่ต้องวิเคราะห์ต่อไปว่าพรรคก้าวไกลชนะถล่มทลายเพราะอะไร พรรครวมไทยสร้างชาติโดยนายกฯ ลุงตู่ทำอะไรต่างๆ มากมายให้ประเทศไทยในช่วง 9 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐประหารปี 57 แต่ไม่สามารถได้ใจประชาชนแพ้การเลือกตั้งเพราะเหตุใด อย่างไรก็ตาม เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาแบบนี้ ต้องเคารพเสียงของประชาชนครับ”
19 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กโต้กระแสที่กล่าวตนจะโหวตให้พิธาโดยไม่มีเงื่อนไข โดยสรุปได้ว่า “ผมพูดเงื่อนไขชัดเจนว่า การตัดสินใจลงมติต้องรอจนถึงวันสุดท้าย เพราะยังมีเงื่อนไขระหว่างนี้อีกมาก…ข้อสำคัญ ผมมีเงื่อนไขสองข้อคือ ต้องไม่แตะมาตรา112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งจะเป็นการสร้างความขัดแย้งในประเทศและต้องไม่ยอมให้ขั้วอำนาจใดอำนาจหนึ่งสร้างฐานทัพในประเทศ อันจะเป็นการชักน้ำเข้าลึกชักศึกเข้าบ้านเกิดความขัดแย้งระหว่างประเทศ แม้จะยอมรับในชัยชนะของพรรคกก.ในการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย หากถึงวันสุดท้าย ยังจำเป็นต้องพึ่งเสียงสว. แต่ยังไม่แก้เงื่อนไขสองข้อของผมผมไม่ได้โหวตให้ ก็อย่ามาว่ากัน”
กลุ่มส่งสัญญาณ “แทงกั๊ก” รอดูนโยบาย112-ความมั่นคง
1. พล.อ. สิงห์ศึก สิงห์ไพร รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อนร่วมรุ่นพลเอกประยุทธ์ ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
5 กรกฎาคม 2566 ให้ความเห็นผ่านกลุ่มงานสื่อมวลชน สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาว่า “วุฒิสมาชิกมีวุฒิภาวะมากพอที่จะตัดสินใจลงหรือไม่ลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี ไม่ใช่เลือกเพราะความคุ้นเคย ศรัทธา หรือผลประโยชน์อื่นใด พิจารณาเลือกเพื่อให้บริหารประเทศที่เขารัก เพื่อประชาชน เพื่อลูกหลานในอนาคต”
7 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากแนวหน้า กล่าวถึงการโหวตนายกฯว่า “ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 คาดว่าจะมีการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ทางคณะวุฒิสภาต้องดำเนินการตามกระบวนการของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ซึ่งคณะสมาชิกวุฒิสภามีส่วนพิจารณาความเหมาะสม ทั้งทางด้านกฎหมาย นโยบายพรรค รวมถึงขนบธรรมเนียมประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ซึ่งทาง ส.ว.มีคุณสมบัติและวุฒิภาวะ มีวิธีคิดในการเลือกนายกรัฐมนตรีของแต่ละคน ส่วนตัวมีอยู่ในใจแล้วในการเลือกครั้งนี้”
2. พล.อ.ต.นายแพทย์ เฉลิมชัย เครืองาม อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) น้องชายของวิษณุ เครืองาม เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
5 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากเนชั่น กล่าวถึงการตัดสินใจโหวตนายกฯว่า “ไม่ได้มองที่ตัวบุคคล แต่ตนพิจารณาจากแนวคิด ยึดความมั่นคงของประเทศชาติ ศาสนาและประชาชนเป็นสำคัญ เพราะไม่อยากนอนผวาว่าวันดีคืนดี จะมีใครมาทำลายเรื่องของความมั่นคงของชาติ และส่วนตัวไม่ได้มองว่าใครจะสืบทอดอำนาจของใครแต่จะขอยึดความมั่นคงของประเทศเป็นหลัก ส่วนจะบทเลือกนายพิธาหรือไม่คำตอบอยู่ในคำชี้แจงข้างต้นแล้ว”
9 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากสำนักข่าวไทยโพสต์ ย้ำอีกครั้งว่า “มีแนวคำตอบอยู่แล้ว โดยใช้หลักยืนยันมั่นคงว่าใช้ดุลยพินิจโดยอิสระเพื่อประโยขน์ของประเทศชาติ ส่วนรวม สถาบันหลักทั้งหมดของชาติเป็นสำคัญ … ไม่ต้องการในสิ่งที่ได้มาแล้วจะเกิดความไม่มีเสถียรภาพของชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และความสามัคคี ก็จะเป็นสิ่งที่สามารถลงมติได้ โดยใช้เหตุผลประกอบเป็นหลักด้วยการนำสิ่งที่ปรากฏในสื่อทั้งสื่อหลักและสื่อออนไลน์มาประมวลเข้าด้วยกัน แล้วถามตัวเองและตอบตัวเองว่าเมืองไทยต้องการผู้นำเช่นใด ในบริบทของสังคมที่มีเรื่องความไม่มั่นคงของสถาบันเข้ามาแทรกแซง เพราะฉะนั้นสิ่งนี้คือคำตอบ”
3. พล.ต.ท.พิสัณห์ จุลดิลก อดีตเลขาธิการสมาคมกีฬาฟุตบอล ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
21 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากสำนักข่าวมติชนกล่าวถึงปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจโหวตนายกฯ ว่า “ตนเป็นข้าราชการเก่า พวกตนจงรักภักดี แต่เท่าที่ฟัง การแก้ไข ม.112 กระทบพระราชอำนาจ จะลองฟังดูอีกที ถ้าที่ประชุมพรรคร่วมไม่เอา ม.112 มาเกี่ยว ก็พิจารณาว่า เขาเหมาะสมนะ แต่ขออย่าไปแตะต้อง ถ้าไม่ยุ่งกับ 112 ก็โอเค ส่วนเรื่องนโยบายกีฬา ต้องขอดูก่อน จะมีทิศทางในการพัฒนาอย่างไร อีกประการหนึ่งคือ เรื่องพฤติกรรมของ ส.ส.ก้าวไกล ลักษณะก้าวร้าว ข่มขู่ บรรดา ส.ว.ก็มีประวัติรับราชการยาวนาน อยากให้พูดดีๆ อาจจะได้คะแนน แต่รู้สึกว่าจะมีการเตือนๆ กันแล้ว”
23 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับมติชนเรื่องการเลือกพิธาเป็นนายกฯหรือไม่ว่า “ยังเร็วเกินไป ขอให้รอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รับรองผลการเลือกตั้งก่อน ยังเหลือเวลาอีกหลายเดือน รวมถึงกรณีการถูกร้องถือหุ้นสื่อ ITV อยากให้เคลียร์ตรงนี้ให้จบ ส่วนเสียง ส.ว.ที่จะโหวตให้นายพิธามีมากหรือไม่นั้น ส่วนตัวเห็นว่าก้ำกึ่ง แต่คุณสมบัติของนายพิธาถือว่าเก่งมาก เหมาะสมเป็นผู้นำประเทศได้ อย่างไรก็ตามสถานการณ์เวลานี้สามารถปรับเปลี่ยนไปได้ตลอด สำหรับตนหากมีข้อมูลครบถ้วนตัดสินใจวันเดียวก็ได้ และยืนยันว่าไม่มีใครสามารถมาข่มขู่ ส.ว.ได้ ไม่มีประโยชน์ และไม่มีผลต่อ ส.ว.เลย”
10 กรกฎาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับมติชน โดยสรุปได้ว่า “ยังมีเวลา มีข้อมูลอีกเยอะที่ต้องรวบรวม จะพิจารณาจากอดีตมาทั้งหมดส่วนปัจจัยในการตัดสินใจนั้น การแก้มาตรา 112 ถ้าศาลรัฐธรรมนูญบอกแก้ไม่ได้ก็จบประเด็น เพียงแต่ว่าเบื้องหลังพรรคก้าวไกล มองว่ามี ส.ส.บางคนอยู่เบื้องหลังม็อบ ที่อาจมีเนื้อหาน่ากังวล แกนนำก็พูดเรื่องนี้เยอะ ตนคิดว่าอาจจะใช่ในอนาคต แต่ไม่ใช่ตอนนี้ ตนเป็นข้าราชการเก่า เป็นราชองครักษ์ ถ้าแสดงความไม่จงรักภักดี ก็ไม่เอาด้วย…” และยังเสริมต่อว่า “ถ้าเราไม่โหวตพิธาก็ไม่ใช่จะโหวตรัฐบาลเก่า ชู 2 ลุง ก็ไม่เอาด้วยหรอก เพราะไม่มั่นคง ต้องดูไม่ให้ประเทศชาติเสียหาย ส่วนนายเศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกฯพรรคเพื่อไทย ถ้ารวบรวมได้ก็เหมาะสม เพราะไม่ก้าวล่วง แต่เรื่องการจัดตั้งรัฐบาลผมจะไม่แสดงความเห็นแนะนำอะไร ว่าใครจับกับใครไม่เอาใคร เป็นเรื่องของพรรค”
4. สมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
16 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากเพจ สรยุทธ สุทัศนะจินดา กรรมกรข่าว ระบุว่า “ส่วนตัวมีกติกาชัดเจนว่า คนที่มาเป็นนายกรัฐมนตรี จะต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต มีวิสัยทัศน์นำพาประเทศไปสู่ความเจริญ ไม่สร้างความขัดแย้ง ไม่สร้างศัตรู หรือเป็นคู่กรณีกับประเทศใด สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนทั้งประเทศ และไม่ก่อให้เกิดสงครามกลางเมืองเหมือนต่างชาติ ต้องมีความรอบรู้ ทั้งการเมือง เศรษฐกิจ และการบริหารราชการแผ่นดิน นอกจากนั้นก็มีปัจจัยแวดล้อมที่ต้องพิจารณาด้วย เช่น จะสามารถพาประเทศ ไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้หรือไม่ ในการให้สัมภาษณ์ครั้งนี้สมชายยังไม่ได้ระบุออกมาอย่างเปิดเผยว่าจะให้ความเห็นชอบพิธาเป็นนายกหรือไม่ แต่พูดถึงพรรคก้าวไกลว่า
“ส่วนตัวเชื่อว่า พรรคก้าวไกล อาจรวมเสียงได้ไม่ถึง 309 เสียง เพราะยังมีบางพรรคที่มีปัญหา ต้องพิจารณาอีกหลายอย่างประกอบ อย่างเช่น การเสนอแก้ไขมาตรา 112 ที่หลายคนเป็นกังวล ดังนั้นต้องระบุให้ชัดเจนว่าจะแก้ไขหรือยกเลิก”
24 พฤษภาคม 2566 สมชายยังโพสต์เฟซบุ๊กพูดถึงความเป็นไปได้ที่พรรคก้าวไกลอาจถูกยุบพรรคกรณีที่มีบุคคลภายนอกครอบงำพรรค โดยระบุว่ามีกรณีแชทไลน์หลุดที่มีบุคคลภายนอกที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองสั่งการให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งรวมถึงให้ไปประกันตัวคนที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และสั่งให้ ส.ส.พรรคก้าวไกลเสนอร่างแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดย ส.ว.สมชายระบุว่าพรรคการเมืองที่ยินยอมให้บุคคลภายนอกครอบงำให้กรรมการการเลือกตั้งเสนอศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรคได้ สมชายยังติดแฮชแทก #กกตรู้หรือยัง ในโพสต์ดังกล่าวด้วย
11 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากTHE STANDARD ระบุถึงความไม่สบายใจที่จะโหวตพิธา โดยกล่าวว่า “ยังมีหลายประเด็นที่ยังไม่ค่อยสบายใจ เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หากพิธายืนยันว่าจะไม่มีการแก้ไขและจะเดินหน้าตั้งคณะกรรมการศึกษาไว้ก่อน ก็ขอถามกลับว่า พรรคก้าวไกลทั้ง 151 คนที่เหลือคิดแบบเดียวกันหรือไม่ ซึ่งรวมถึงเครือข่ายองค์กรอื่นที่เกี่ยวข้องยังคิดแบบเดียวกันหรือไม่”
สมชายยังกล่าวด้วยว่า “ส.ว. ใช้ดุลพินิจและความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง รับผิดชอบต่อชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ผมย้ำว่าเป็นความรับผิดชอบ รวมถึงประชาชนด้วย การที่เราจะเลือกใครเป็นนายกรัฐมนตรี เราไม่ได้เลือกในระบบประธานาธิบดี ถ้าเราเลือกประธานาธิบดีก็จบ แต่เราเลือกในระบบที่รัฐสภาเป็นผู้เลือก คณะรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาจากสภาเสนอ”
5. แพทย์หญิง คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ อดีตสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
15 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD ถึงกรณี ส.ว. ที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีว่า “หลักการของการเมืองทั่วไปไม่เคยให้ ส.ว. โหวตเลือกนายกฯ เนื่องจาก ส.ว. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แต่เหตุผลที่สนับสนุนให้ ส.ว. โหวตนายกฯ ในครั้งที่แล้ว เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับพิเศษที่มีบทเฉพาะกาลว่า ‘อยากให้ได้นายกฯ ที่จะมาปฏิรูป’ แต่สุดท้ายกลับไม่เป็นเช่นนั้น จึงตัดสินตั้งแต่แรกๆ ว่าจะไม่ใช้สิทธิในครั้งที่แล้ว ฉะนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้ขอยืนยันว่า จะไม่โหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเหมือนเดิม ส่วนคนอื่นๆ จะคิดเช่นไรก็คงมีหลายรูปแบบ”
22 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กในวันครบรอบเก้าปีการรัฐประหาร 2557 ว่า
“ในฐานะอดีตข้าราชการไทยที่เลือกอาชีพด้วยความตั้งใจเป็นข้าแห่งพระราชาดูแลประชาชน หรือในฐานะ ส.ว. หรือในฐานะคนไทย แม้นโยบายที่พรรคก้าวไกลเสนอก่อนเลือกตั้งจะยังไม่ได้ถูกตกลงหรือเปิดเผยให้สังคมได้เห็นว่าเมื่อต้องเป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคอื่นจะปรับนโยบายเป็นอย่างไร หลายอย่างเป็นสิ่งดีถ้าทำได้ เป็นสิ่งที่การเมืองก่อนหน้าไม่เคยทำสำเร็จ แต่นโยบายที่ต้องไม่แตะคือการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื้อหา 10 ข้อที่หาเสียงคงมาจาก“นายทุนความคิด” ที่จัดทำมาให้ เป็นสิ่งที่สะท้อนความเกลียด ความแค้น ความต้องการทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์
อย่าอ้างผลการเลือกตั้งที่ว่าได้เสียงส่วนใหญ่ เพราะที่ได้มาก็แค่มากกว่าพรรคอื่นแต่ไม่อาจอ้างได้ว่าคือเสียงส่วนใหญ่ของคนไทย
การเตรียมม็อบออกมาในวันที่ 23 จะยิ่งทำให้เห็นทุนที่อยู่เบื้องหลังว่าตั้งใจเหยียบย่ำหัวใจคนไทยที่ทำเลียนความจงรักภักดีในรัชกาลที่ 9 ยิ่งกดดันก็ยิ่งไม่ได้สิ่งที่ปรารถนา ยิ่งอ้าปาก ก็เห็นลิ้นไก่หมด อย่าประเมินความรักในแผ่นดินต่ำ พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ทรงธรรม ทรงทำนุบำรุงพระศาสนา ทรงเสียสละเพื่อรักษาชาติ ทรงสละทรัพย์เพื่อรักษาแผ่นดิน
ประชาชนต้องใจเย็น ต้องเปิดปัญญารอดูว่าเขาจะมาสร้างสิ่งที่หาเสียงไว้ไหม จะสร้างการเมืองดี จะสร้างปากท้องดี และทำให้มีอนาคตจริงหรือ ที่เห็นกองหนุนล้วนแต่แสดงความก้าวร้าวความต้องการทำลายสถาบัน รอดูชุด อุปกรณ์ประท้วง สัญลักษณ์ที่ผู้ประท้วงใช้ในวันอังคารนี้ ยิ่งออกมาจะยิ่งไม่ได้รับเสียงสนับสนุน คนที่จะทำให้พิธาไม่ได้เป็นนายกไม่ใช่สว แต่เป็นพรรคการเมืองที่เจรจาไม่สำเร็จ ที่สำคัญที่สุดไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีก็เพราะมีเบื้องหลังเป็น “นายทุนความคิด” “นายทุนต่างชาติ” ที่จะทำลายสถาบันกษัตริย์นี่แหละ
อย่าประเมินพลังรักแผ่นดินของคนไทยที่จะออกมาปกป้องสถาบันกษัตริย์ต่ำ ไม่เชื่อรอดู นักรบรักแผ่นดินพร้อมที่จะปกป้อง #อย่าแตะสถาบัน #อย่าแตะ112 #ช้างรักแผ่นดิน”
6.วีระศักดิ์ ฟูตระกูล อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลคสช. และเคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
5 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากสำนักข่าวสยามรัฐ กล่าวถึงการโหวตนายกฯว่า “ยังไม่ได้ตัดสินใจ รอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เมื่อถึงเวลาต้องชั่งน้ำหนักถึงหลักการและเรื่องนโยบาย ซึ่งโดยหลักการนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ก็มาตามกฎหมายมาตามรัฐธรรมนูญ แต่ก็ดูเรื่องนโยบายว่าสอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติหรือเปล่า เช่น การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 การขึ้นค่าแรงต่อการลงทุนของต่างประเทศ การอยู่รอดของอุตสาหกรรมไทย เรื่องนโยบายต่างประเทศที่อาจจะสร้างปัญหาให้กับประเทศเพื่อนบ้าน และกับประเทศมหาอำนาจ เป็นต้น รวมถึงอีกหลายประเด็นที่เป็นห่วง ดังนั้นตนจึงยังไม่ตัดสินใจ เพราะเห็นว่าพรรคก้าวไกลก็ปรับนโยบายไปเรื่อยๆ และดูว่าวันสุดท้ายจะมีการชูนโยบายของตนเองให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติมากน้อยแค่ไหน”
7.พล.ต.โอสถ ภาวิไล เลขาฯ คณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
25 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากสำนักข่าวเดลินิวส์เผยบทสัมภาษณ์โดยสรุปได้ว่า “ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะโหวตให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่” แม้ว่าตนได้รับการติดต่อสอบถามจากพรรคก้าวไกลซึ่งได้ตอบไปว่า “อยากจะขอดูนโยบายก่อน หากมีเรื่องมาตรา 112 ก็ลำบากใจ เพราะส่วนตัวเป็นผู้ที่รักชาติ ศาสนา และเทิดทูนสถาบันฯ” แล้วจึงทิ้งท้ายเสริมความเห็นในส่วนที่ติดเงื่อนไขมาตรา 112 ว่า “ผมคิดว่า แต่สุดท้ายเขาก็ทำอยู่ดี ส.ว. ทุกคนได้ยินอย่างนี้ เขาก็ต้องตัดสินใจเอง แต่เขาบอกว่าเดี๋ยวจะมีรายละเอียดในตอนแถลงนโยบายอีกครั้งหนึ่ง ก่อนโหวตนายกฯ ต้องมีการอภิปรายกันก่อน ผมเองก็จะรอฟังตรงนั้นก่อนเช่นกัน ถ้าเป็นไปได้ ผมก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรที่จะโหวต แต่ถ้าเกิดดูกันแล้ว จะเกิดผลกระทบกระเทือนกันมากก็ลำบาก ส.ว. ต่างมีความเห็น ก็ต้องแล้วแต่ความคิดของแต่ละคน”
8.นิพนธ์ นาคสมภพ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านสื่อสารมวลชน เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
10 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากสำนักข่าวไทยโพสต์ “ยังไม่ได้ตัดสินใจ แต่เห็นว่าการโหวต ต้องไม่ใช่ตามกระแส แต่ต้องเลือกตามความรู้ความเข้าใจที่แต่ละคนมี เขาเรียกวุฒิสภาว่าสภาผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งการเลือกก็จะดูว่าตกลงฝ่ายที่เสนอชื่อมา รวมเสียงส.ส.ได้เกิน 250 เสียงแล้วใช่หรือไม่ ถ้าเกิน 250 เสียงแล้ว จากนั้นก็ดูที่นโยบายที่สำคัญที่สุด อย่างเช่นบอกว่าจะมีนโยบายช่วยประชาชนต่างๆ ก็ต้องดูว่าแล้วนำงบประมาณจากส่วนไหนมา ถ้าสมมุติว่าก้าวไกล เสนอชื่อบุคคลเป็นนายกฯมา ก็ไม่ใช่ว่าก้าวไกลพรรคเดียวที่จะทำนโยบายได้ ก็จะรอดูว่านายพิธาจะแถลงนโยบายต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภาก่อนโหวตนายกฯอย่างไร”
9. ชาญวิทย์ ผลชีวิน อดีตโค้ชฟุตบอลทีมชาติไทยและเคยเป็นอดีตสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
21 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากมติชน กล่าวถึงจุดยืนการโหวตนายกฯ โดยสรุปได้ว่า “จะดูนโยบายเป็นหลัก อันดับแรกต้องการ 60 วัน ก่อนที่ กกต.จะประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติ ถึงจะบอกได้ว่าจะโหวตให้ใคร แต่ส่วนตัวมีหลักการในการพิจารณาอยู่แล้ว คือ นโยบายในการบริหารประเทศว่าเป็นอย่างไร และอีกอย่างคือ นโยบายด้านกีฬา … ส่วนมาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งที่ผมให้ความสำคัญมากๆ เพราะผมยึดถือชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาธิปไตยเต็มตัว”
9 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจากมติชน กล่าวถึงการตัดสินใจโหวตนายกฯ โดยสรุปได้ว่า “จะเอาตามกระแสไม่ได้ ส.ว.มาตามรัฐธรรมนูญ มีหน้าที่กลั่นกรอง ซึ่งการจะโหวตนายพิธาหรือไม่นั้น ต้องขอรอฟังแนวความคิดของนายพิธา จนถึงวันสุดท้าย ต้องพิจารณาคุณสมบัติและนโยบาย ต้องแถลงให้ได้ในสภา ที่จะถามกันหนัก” นอกจากนี้ ยังได้รับการติดต่อสอบถามจากพรรคก้าวไกลแล้วโดยตนก็รับไว้ในหลักการ แต่ในฐานะคนกีฬาก็มองว่า 23 นโยบายของก้าวไกล ไม่มีนโยบายกีฬา ทั้งที่ทั่วโลกยกไว้ต้นๆ นำการเมืองด้วยซ้ำ เสริมสุขภาพ สร้างสปิริต สุดท้ายแล้วต้องรอดูการแถลงของนายพิธาในสภา”
กลุ่มส.ว. “ออกตัวแรง” ชัดเจน ไม่โหวตพิธา แน่นอน!
1.กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส.ว.แกนนำเครือข่ายชาวนาชื่อดังจากการโต้คารมกับส.ส.และเรียกทัวร์จากประชาชนอยู่บ่อยครั้งซึ่งไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.” เลย
19 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับข่าวสด ประกาศไม่สนับสนุนพิธาชัดเจน “เอาเฉพาะผมเอง ส.ว.กิตติศักดิ์เนี่ยบอกว่า แม้นประชาชนจะเลือกส.ส.พรรคก้าวไกลมาเป็นอันดับหนึ่งแต่ตัวส.ว.เองจะไม่สนับให้คุณพิธา ให้เป็นนายกฯ เนื่องจากติดปัญหาว่าเกี่ยวข้องกับม็อบเด็ก”
31 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเป็นนายกรัฐมนตรี “ถ้าคุณพิธาเป็นนายกฯ สถานการณ์บ้านเมืองจะลุกเป็นไฟ” และระบุว่า แม้การทำบันทึกข้อตกลงแปดพรรคจะไม่มีการแก้ไขมาตรา 112 รวมอยู่ด้วยแต่ประเด็นดังกล่าวเป็นวาระเฉพาะที่พรรคก้าวไกลจะผลักดัน ซึ่งส่วนตัวเขามองว่าการแก้ไขมาตรา 112 ทำให้พิธาขาดคุณสมบัติการเป็นแคนดิเดตนายกที่จะต้อง “รักชาติ ศาสน์ กษัตริย์” กิติศักดิ์ยังขยายความด้วยว่าการมุ่งปฏิรูปกองทัพ ลดงบประมาณ ลดกำลังทหารเป็นการแสดงออกว่าไม่รักชาติ ขณะที่การยกเลิกมาตรา 112 คือไม่รักสถาบันพระมหากษัตริย์
1 มิถุนายน 2566 กล่าวระหว่างรายการเรื่องเล่าเช้านี้ตอนหนึ่งด้วยว่า “…ตอนนี้สองล้านเปอร์เซ็นกิติศักดิไม่เลือกพิธา เพราะว่าคุณพิธามีพฤติกรรมที่ถ้าหากเป็นนายกรัฐตรีแล้วประเทศจะลุกเป็นไฟ ขณะนี้กระแสจงรักภักดีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์พร้อมมากที่จะเข้ากรุงเทพ เรามองเห็นว่าบ้านเมืองกำลังจะเกิดความขัดแย้งอย่างรุนแรง และจะนำไปสู่การนองเลือดของคนไทยด้วย คือไทยฆ่าไทย…”
กิติศักดิ์ขยายความด้วยว่าส.ว.หลายคนเชื่อว่าหากพรรคก้าวไกลเข้าไปเป็นรัฐบาล ความขัดแย้งของคนไทยจะมากมายมหาศาล ส.ว.จึงจะชักฟืนออกจากไฟก่อนที่จะลุกลามเป็นคนไทยฆ่ากันเอง
2.จเด็จ อินสว่าง อดีตข้าราชการ ส.ว.ทายาทบ้านใหญ่สุพรรณบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับไทยโพสต์ว่า ส.ว.คงต้องรอดูก่อนว่าฝ่ายใดจะรวบรวมเสียงข้างมากได้เกิน 250 เสียง และจะเสนอชื่อบุคคลใดเป็นนายกรัฐมนตรี จึงค่อยพิจารณาจะโหวตให้หรือไม่ แต่ถ้าเสียงข้างมากเสนอชื่อพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี จเด็จจะไม่ออกเสียงให้ เพราะพิธามีจุดด้อยเรื่องทัศนคติการเมืองที่จะยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งเขารับไม่ได้เพราะได้ปฏิญาณตนว่าจะจงรักภักดี ถ้าเลือกพิธาไปก็ไม่รู้จะเสียของหรือไม่ ส่วนหากมีการเสนอชื่อคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี เช่น แพทองธาร ชินวัตร เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทย อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย หรือคนอื่นๆ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องพิจารณาอีกทีว่า มีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไรบ้าง
31 พฤษภาคม 2566 จเด็จยังได้ย้ำอีกครั้งว่าจะไม่สนับสนุนพิธาเพราะพรรคก้าวไกลยังเดินหน้าแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จเด็จยังเสนอให้หาทางออกในการตั้งรัฐบาลแห่งชาติโดยเชิญพรรครวมไทยสร้างชาติและพลังประชารัฐมาร่วมรัฐบาลด้วย
3.สังศิต พิริยะรังสรรค์ นักวิชาการ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวไทยรัฐ โดยส่วนหนึ่งระบุว่า “การโหวตเลือกนายกฯ ถ้ามีนโยบายเพิ่มความขัดแย้งในสังคม ผมไม่สนับสนุน ส่วนตัวมองว่าการเมืองต้องยึดถือผลประโยชน์ประเทศ มากกว่ายึดถือเสียงส่วนใหญ่ แม้ว่าผมเป็นเสียงส่วนน้อย แต่นายกฯ คนใหม่ ต้องไม่มีนโยบายอนุญาตให้ต่างชาติเข้ามาตั้งฐานทัพในไทย และต้องไม่อนุญาตให้ชาติมหาอำนาจ ใช้ไทยเป็นเวทีในการต่อสู้กัน” อีกทั้งยังกล่าวอีกว่า “ส่วนตัวไม่โหวตให้ คุณพิธา เป็นนายกฯ ซึ่งพรรคก้าวไกลรู้อยู่แล้วว่าไม่สามารถรวบรวมเสียงถึงกึ่งหนึ่ง (376 เสียง) เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. ได้ เพราะก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่มีมิตรในสภาน้อย คนในพรรคน่าจะมองออก และเต็มใจแพ้ในสภาเพื่อเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งถัดไป … สำหรับส่วนตัวผม ยังคงยึดมั่นหลักการของตัวเอง โดยไม่ได้ฟังเสียงของใคร”
17 พฤษภาคม 2566 โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊ก โดยสรุปได้ว่า “การออกเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะพิจารณาจากผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก โดยต้องการดูท่าทีและนโยบายของหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่จะเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีในสองประเด็นคือ 1. มีความเห็นต่ออธิปไตยไทยอย่างไร 2. มีความเห็นต่อความสงบสุขของคนในประเทศอย่างไร … ผมไม่สนใจว่าใครจะมีเสียงข้างมากหรือเสียงข้างน้อย แต่จะสนับสนุนนายกรัฐมนตรีตามหลักการที่ตั้งไว้ … ผมใคร่ขอยกคำของหลวงพ่อชา ที่เคยกล่าวเอาไว้ว่า หากมีแมลงวันฝูงหนึ่งกับผึ้งหนึ่งตัวบินมาเจอกองอุจจาระ ฝูงแมลงวันจะบอกว่าหอม ส่วนผึ้งจะบอกว่าเหม็น ดังนั้น การจะวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้นจะถือเอาแต่เสียงข้างมากเพียงอย่างเดียวเสมอไปคงไม่ได้ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องยึดถือหลักธรรมะ ซึ่งก็คือหลักการทั้งสองประการข้างต้นนั่นเอง”
4.เสรี สุวรรณภานนท์ อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ว. ในปี 2543 ไม่เคยลงมติรับร่าง “ปิดสวิตช์ส.ว.”
16 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากไทยโพสต์ กล่าวถึงข้อเรียกร้องให้ “ส.ว.ลงคะแนนสนับสนุนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งได้เสียงอันดับหนึ่งว่า ส.ว.จะพิจารณานโยบายต่างๆ ของพรรคร่วมรัฐบาล ถ้ามีการยกเลิกหรือแก้ไขเรื่องสำคัญอย่างมาตรา 112 ตัวเขาก็ไม่สามารถลงคะแนนให้บุคคลที่พรรคร่วมดังกล่าวเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ไม่ใช่เฉพาะพิธา ไม่ว่าเป็นบุคคลใดถ้าไปแตะต้องประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก็ไม่สามารถลงคะแนนให้ได้ เสรีระบุด้วยว่าเท่าที่ฟังเสียง ส.ว.ส่วนใหญ่ก็ไม่เอาด้วยกับการแก้ไขมาตรา 112 เพราะถ้าปล่อยให้แก้ไขมาตรา 112 คนที่ไม่เห็นด้วยก็ต้องต่อต้านจนเกิดความขัดแย้งวุ่นวาย”
8 กรกฎาคม 2566 ข้อมูลจาก The Standard กล่าวว่าแม้แคนดิเดตไม่ใช่พิธาแต่หากพรรคร่วมรัฐบาลยังมีก้าวไกลก็ไม่โหวตให้ “ส.ว. เคยหารือกันถึงกรณีถ้าเปลี่ยนตัวนายกฯ เป็นของพรรคเพื่อไทย แต่ยังมีพรรคก้าวไกลร่วมรัฐบาลอยู่ เสียง ส.ว. ส่วนใหญ่ก็ไม่สนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ถ้าพรรคก้าวไกลยังร่วมรัฐบาลและจะแก้มาตรา 112 อยู่ ส.ว. ก็ไม่สบายใจ”
“ดังนั้นหากพรรคก้าวไกลยังร่วมรัฐบาลและไม่ลดราวาศอก ไม่หยุดแก้ไขมาตรา 112 ส.ว. ก็ไม่เลือก ไม่ว่าจะเสนอชื่อใครเป็นนายกฯ ก็ตาม ถ้าก้าวไกลไม่ถอยแก้มาตรา 112 วุฒิสภาก็ไม่ถอย ถ้าพรรคเพื่อไทยข้ามขั้วไปจับมือกับพรรคร่วมรัฐบาลเดิมตั้งรัฐบาลโดยไม่ไปแตะต้องมาตรา 112 ก็ถือเป็นการเมืองปกติ ส.ว. พร้อมโหวตสนับสนุน ปัญหาจะไม่มีเลย”
กลุ่ม “งดออกเสียง” โหวตเลือกนายกฯ ถือหลักปฏิบัติรักษาความ “เป็นกลาง”
16 พฤษภาคม 2566 ข้อมูลจากเดลินิวส์ สำหรับส.ว.ที่เป็นผู้บัญชาการเหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมรวมหกคน มีจุดยืนในเรื่องการทำหน้าที่ ส.ว. ตั้งแต่การประกาศไม่รับเงินเดือนมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะงดออกเสียงในประเด็นทางการเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงข้อครหาการวางตัวไม่เป็นกลางทางการเมือง และจะยึดแนวทางปฏิบัติซึ่งมีส.ว. ดังต่อไปนี้
พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.)
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.)
พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.)
พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.)
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.)
12 กรกฎาคม 2566 ห้าผบ.เหล่าทัพพร้อมใจลาประชุมรัฐสภาฯ ไม่เข้าร่วมโหวตนายกฯ ด้าน พล.ร.อ.เชิงชาย (ผบ.ทร.) ระบุ ” ยืนยันว่าภารกิจในวันพรุ่งนี้เรากำหนดล่วงหน้าไว้นานแล้ว และกระทำกันทุกปี ซึ่งปีนี้จัดยิ่งใหญ่พอสมควร ในรอบ 130 ปี ทั้งนี้ยืนยันว่าพิธีรำลึก รศ.112 ตรงกับวันที่ 13 กรกฎาคม ไม่ได้เกี่ยวข้องกับ ม.112 และไม่ได้ส่งสัญญาณอะไร ถือเป็นงานสำคัญซึ่งผมจะอยู่ในงานตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น และได้มีการยื่นใบลา ไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว” โดยห้าผบ.เหล่าทัพที่ติดภารกิจไม่เข้าโหวตนายกฯ มีดังนี้
พล.ร.อ.เชิงชาย ชมเชิงแพทย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ติดภารกิจไปร่วมงานพิธีรำลึก รศ.112 ที่ป้อมพระจุลจอมเกล้า
พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) เดินทางราชการต่างจังหวัดพิษณุโลก
พล.อ.ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ติดภารกิจตรวจชายแดน
พล.อ.อ. อลงกรณ์ วัณณรถ ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) เดินทางไปราชการที่ต่างประเทศ
พล.อ.สนิธชนก สังขจันทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ติดราชการจังหวัดลพบุรี
พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และรองประธานรัฐสภา
16 พฤษภาคม 2566 ให้สัมภาษณ์กับข่าวสด ย้ำจุดยืนงดออกเสียงเช่นเดิมโดยระบุว่า “ตนทำหน้าที่ ประธานวุฒิสภาและรองประธานรัฐสภา ซึ่งวาระที่จะมาถึงนี้ เป็นการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ตนก็จะถือหลักปฏิบัติก็คืองดออกเสียง เหมือนกับ เมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกฯในปี 2562 ซึ่งมีการโหวต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้เป็นนายกฯ ครั้งนั้น ตนก็งดออกเสียงมันก็เป็นหลักที่ทำมาตลอด ถ้าไม่ทำอย่างนั้นมันก็ผิดแปลกไปจากธรรมเนียมปฏิบัติ แต่ในส่วนของส.ว.ก็ต้องถือว่า เป็นอิสระ และการที่เขาจะเเสดงความเห็นอย่างไรก็เป็นอิสระของเขา”
RELATED POSTS
No related posts