“นี่คือการนับคะแนนที่นานที่สุด”
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง 66 ทวงถามผลเลือกตั้งจาก กกต. หลังครบหนึ่งเดือน
(เลื่อนลงด้านล่างเพื่ออ่านเนื้อหาหนังสือทวงถามผลการเลือกตั้ง)
14 มิถุนายน 2566 ครบรอบหนึ่งเดือนการเลือกตั้ง 2566 แต่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ โดยรัฐธรรมนูญ มาตรา 85 วรรคท้าย กำหนดว่า ให้กกต. ประกาศผลการเลือกตั้งเมื่อตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว มีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม และมีจำนวนไม่น้อยกว่า 95% ของเขตเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งกกต. ต้องตรวจสอบเบื้องต้นและประกาศผลการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จโดยเร็ว แต่ต้องไม่ช้ากว่า 60 วันนับแต่วันเลือกตั้ง ซึ่งจะครบกำหนดภายใน 13 กรกฎาคม 2566
ระยะเวลา ความช้า-เร็วในการประกาศผลการเลือกตั้งของกกต. ส่งผลต่อการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพราะในรัฐธรรมนูญ มาตรา 121 กำหนดว่า ให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรก ภายใน 15 วันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หากกกต. ประกาศผลเร็ว ก็จะสามารถเปิดประชุมสภา เพื่อเลือกประธานสภา และการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกันสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ชุดพิเศษ ได้เร็ว
หลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 ครบรอบหนึ่งเดือนวันแล้ว เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเดินทาง ได้เดินทางไปยื่นหนังสือข้อเรียกร้องต่อ กกต. ให้รีบรับรองผลการเลือกตั้งโดยเร็ว ณ สำนักงาน กกต. อาคารรัฐประศาสนภักดี (อาคารบี) ศูนย์ราชการฯ แจ้งวัฒนะ เวลา 14.00 น.
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ระบุว่า แม้ตามกรอบเวลาทางกฎหมายแล้วสามารถใช้เวลาได้ 60 วัน แต่ กกต. สามารถใช้เวลาน้อยกว่านี้ได้ ดังที่การเลือกตั้งปี 2544 ใช้เวลาตรวจผลคะแนนเพียง 16 วัน การเลือกตั้งปี 2548 ใช้เวลาเพียง 29 วัน และการเลือกตั้งปี 2554 ใช้เวลาเพียง 24 วันเท่านั้น การตรวจผลคะแนนเกินหนึ่งเดือนดังในการเลือกตั้ง 66 เป็นการตรวจผลคะแนนที่ล่าช้ากว่าปกติเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันการเลือกตั้งที่ใช้เวลาในการประกาศผลอย่างเป็นทางการเกินหนึ่งเดือน เคยเกิดขึ้นหนึ่งครั้งในการเลือกตั้งปี 2562 ยิ่งชีพระบุว่าในการเลือกตั้งครั้งดังกล่าวซ้อนทับกับช่วงเวลาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จึงถือว่าความล่าช้าในการประกาศรับรองผลครั้งนั้นยังมีคำอธิบายอยู่บ้าง แตกต่างจากความล่าช้าในปัจจุบัน
ยิ่งชีพ กล่าวถึงข้อเรียกร้องทวงถามการรับรองผลคะแนนที่เครือข่ายฯ ได้เรียกร้องไปก่อนหน้านี้แล้วเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2566 จนได้รับคำตอบจาก กกต. ว่า เป็นเพราะต้องมีการนับคะแนนใหม่หลายเขต ซึ่งปัจจุบันมีการนับคะแนนในเขตเหล่านี้เสร็จสิ้นแล้วตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2566 ทั้ง 47 หน่วยเลือกตั้ง ความล่าช้าในปัจจุบันจึงไม่มีเหตุอันสมควรที่สามารถอธิบายได้
มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ระบุว่า ปัจจุบันประชาชนกำลังเฝ้ารอการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีส่วนร่วมโดยประชาชน ทว่า ความล่าช้าของ กกต. ครั้งนี้จะยิ่งทำให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกประวิงเวลาออกไป และจะไม่เป็นผลดีต่อฝ่ายใดเลย หากมีความพยายามโค่นล้มรัฐบาลจากเสียงประชาชน ตนเชื่อว่าจะมีผู้ออกมาส่งเสียงเป็นจำนวนมาก
ด้านกฤต แสงสุรินทร์ ตัวแทนจาก We Watch กล่าวถึงปัญหาที่ตรวจพบในการเลือกตั้งแต่ยังไม่ถูกพูดถึงก่อนการประกาศผลการเลือกตั้ง เช่น ปัญหาการกรอกหน้าซองใส่บัตรเลือกตั้งล่วงหน้าที่ผิดพลาด ระบบการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าที่ไม่อนุญาตให้ผู้ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วแต่ไม่สามารถไปใช้สิทธิได้กลับมาใช้สิทธิในวันเลือกตั้งจริง ทำให้มีผู้เสียสิทธิมากถึง 200,000 ราย
ปัญหาต่อมาพบได้ในวันเลือกตั้งจริง เช่น การไม่กรอกเอกสารรายหน่วยให้ชัดเจน จนทำให้การตรวจสอบหน่วยเลือกตั้งเพื่อป้องกัน “บัตรเขย่ง” เป็นไปได้ยากขึ้น หรือการที่อาสาสมัครจำนวนมากไม่ได้รับความร่วมมือจากคณะกรรมการเลือกตั้งประจำหน่วย (กปน.) สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่ความผิดพลาดในลักษณะ “Human Errors” แต่เป็นปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างและข้อกฎหมายอย่างชัดเจน ดังนั้น ปัญหาเหล่านี้จึงควรถูกภาคประชาสังคมและ กกต. พูดถึง เพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขต่อไป
สุดท้ายเครือข่ายฯ ระบุว่า ยิ่งมีการรับรองผลการเลือกตั้งเร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งได้รัฐบาลใหม่เร็วเท่านั้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อนโยบายและความต่อเนื่องของการบริหารประเทศต่อไป กกต. จึงควรเร่งการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งครั้งนี้โดยเร็ว
วันที่ 14 มิถุนายน 2566เรื่อง ขอติดตามให้ประกาศผลอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด
เรียน ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง
นับถึงวันนี้เป็นเวลา 30 วันแล้วตั้งแต่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 แต่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ยังไม่ประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ทําให้กระบวนการเปิดประชุมสภาและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ยังเริ่มขึ้นไม่ได้ ก่อนหน้านี้ทางกกต.เคยอธิบายว่ามีเหตุความผิดพลาดในการนับคะแนน ทําให้ต้องรอการนับคะแนนใหม่บางหน่วยเลือกตั้ง และกระบวนการนี้ก็ได้เสร็จสิ้นไปแล้ว เมื่อวันอาทิตย์ที่ 11 มิถุนายน 2566 จึงไม่มีเหตุใดที่จะปล่อยเวลาให้ช้าออกไปอีก
แม้นับถึงวันนี้ยังไม่เลยกรอบเวลา 60 วัน ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 2561 มาตรา 127 กําหนดไว้ แต่หากเปรียบเทียบกับการเลือกตั้งครั้งก่อนๆในประเทศไทย ไม่เคยใช้เวลาตรวจสอบและรับรองผลนานเพียงนี้โดยในปี 2548 กกต. ใช้เวลา 16 วัน ในปี 2550 กกต. ใช้เวลา 29 วัน ในปี 2554 กกต. ใช้เวลา 24 วัน และในปี 2562 กกต. ใช้เวลา 45 วันซึ่งมีสาเหตุพิเศษเพราะเป็นช่วงเวลาระหว่างจัดพระราชพิธีพระบรมราชาภิเษก จึงเห็นได้ว่าในปี 2566 กกต. กําลังใช้เวลาในการ“ตรวจสอบเบื้องต้น”นานผิดปกติจนทําให้เกิดความสงสัยในการทําหน้าที่ และกระทบต่อความเชื่อมั่นของประชาชน
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง’66 มีความกังวลใจว่าความล่าช้า และไม่ชัดเจนของกระบวนการรับรองสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและความต้องการของประชาชนในการจัดการเลือกตั้งของคณะกรรมการเลือกตั้ง จึงขอเรียกร้องให้กกต. ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยเร็วที่สุด โดยไม่มีเงื่อนไข หรือข้ออ้างอื่น เพื่อให้การออกเสียงของประชาชนในวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 มีความหมาย และส่งผลโดยตรงต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่
นอกจากนั้น ยังเรียกร้องให้กตต.ชี้แจงเหตุผลพร้อมหลักฐานประกอบว่าเหตุใดถึงดำเนินการล่าช้าตลอดหนึ่งเดือนที่ผ่านมา เพื่อใช้เป็นบทเรียนในการปรับปรุงการจัดการเลือกตั้งที่โปร่งใส โดยหวังยังเป็นอย่างยิ่งว่าการตอบรับของกกต.ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของแนวทางที่ดีในการแก้ไขปัญหาการเลือกตั้งให้เป็นที่ยอมรับของประชาชนในอนาคต
ด้วยความเชื่อมั่นในการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย
เครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์เลือกตั้ง’66
ไฟล์แนบ
RELATED POSTS
No related posts