ช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป 2566 ความเคลื่อนไหวในการเมืองไทยที่สำคัญหนึ่งคือการควบรวมกันระหว่างพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่มีขนาดเล็ก มีที่นั่งจำกัดอยู่ในท้องถิ่นบางพื้นที่ หรือพรรคการเมืองที่เพิ่งก่อตั้งขึ้นใหม่โดยนักการเมืองที่เคยเป็นขุนพลหลักของพรรคการเมืองขนาดใหญ่แต่ตัดสินใจแยกตัวออกมา ตัวอย่างคือ “พรรคชาติพัฒนากล้า” ที่เกิดจากการย้ายรวมกันของพรรคกล้าของ กรณ์ จาติกวนิชย์ และพรรคชาติพัฒนาของ สุวัจน์ ลิปตพัลลภ ที่มีฐานอยู่ในจังหวัดนครราชสีมา รวมถึงข่าวลืมหนาหูว่าพรรคไทยสร้างไทยของ “หญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ กำลังพิจารณาควบรวมกับพรรคสร้างอนาคตไทย ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มสี่กุมาร
ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นผลโดยตรงจากสูตรทางคณิตศาสตร์ที่เปลี่ยนไปในระบบเลือกตั้งใหม่ จากเดิมที่พรรคขนาดเล็กและกลางมีโอกาสที่จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อผ่าน “ส.ส. ที่พึงมี” ตามระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม (MMA) ตามรัฐธรรมนูญ 2560 แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในปี 2565 เปลี่ยนให้ระบบเลือกตั้งกลับไปคิดที่นั่งบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนาน (MMM) ทำให้การจะได้สักหนึ่งที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์ต้องได้คะแนนเพิ่มขึ้นหลายเท่า จนเป็นเหตุให้พรรคเหล่านี้ต้องเร่งหนีตายกันยกใหญ่
จากหาร 500 กลับสู่หาร 100
ระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสม หรือ MMA คือระบบเลือกตั้งที่หาไม่ได้ที่อื่นในโลก แต่เป็นผลผลิตจากมันสมองของมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการนำระบบเลือกตั้งแบบเยอรมนี (MMP) มาปรับเปลี่ยนให้เหลือบัตรใบเดียวแทนที่จะเป็นสองใบ วิธีการคำนวณก็เริ่มจากการหา “ส.ส. ที่พึงมี” จากคะแนนทั่วประเทศที่พรรคการเมืองหนึ่งได้ แล้วหารด้วยจำนวน ส.ส. จากนั้นจึงนำที่นั่งทั้งหมดไปลบด้วยจำนวน ส.ส. เขต จึงจะได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อที่พรรคนั้นได้
วิธีการคำนวณแบบ “หารห้าร้อย” ซึ่งเรียกตามการหารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมดในรัฐสภาไทย 500 คน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดกลางได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อมากขึ้น เนื่องจากพรรคเหล่านี้แม้จะไม่สามารถเอาชนะในระดับเขตได้ แต่มักจะมีคะแนนนิยมในระดับประเทศประมาณหนึ่ง เสียงที่เคยกลายเป็นเสียง “ตกน้ำ” ในระดับเขตจึงสามารถแปรเปลี่ยนเป็น ส.ส. ที่พึงมีให้กับพรรคที่หาเสียงในเชิงนโยบายหรือมีความนิยมจำกัดอยู่ในบางพื้นที่ได้บ้าง แต่สิ่งที่ต้องแลกมาคือการมีจำนวนพรรคในสภามากขึ้น และทำให้รัฐบาลต้องเจอกับอุปสรรคกับการต่อรองกับกลุ่มที่หลากหลาย
แต่ระบบเลือกตั้ง MMA ของมีชัยยังมีอีกส่วนที่ต่างจากระบบเยอรมนี กล่าวคือ ไม่มีการระบุเกณฑ์คะแนนเสียงขั้นต่ำที่พรรคจะได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเอาไว้ ในประเทศเยอรมนี มีการกำหนดว่าพรรคใดที่ได้คะแนนเสียงในระดับประเทศไม่ถึงร้อยละห้าจะไม่มีสิทธิได้รับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อป้องกันไม่ให้มีจำนวนพรรคในสภามากเกินไป แต่ในระบบ MMA ที่ใช้ในการเลือกตั้ง 2562 กลับไม่ได้ระบุเกณฑ์ขั้นต่ำเอาไว้ ทำให้เกิดพรรค “ขนาดจิ๋ว” ที่มีเพียงที่นั่งเดียวจำนวนมาก
ตามระบบ MMA จากผู้มาใช้สิทธิออกเสียง 35,500,000 คนในปี 2562 จำนวนคะแนนต่อ ส.ส. ที่พึงมีหนึ่งคนจะเท่ากับประมาณ 71,000 คะแนน ผลการเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่น่าสนใจเป็นดังนี้
พรรค | คะแนน | ส.ส. เขต | ส.ส. บัญชีรายชื่อ | ส.ส. ทั้งหมด |
เพื่อไทย | 7,881,006 | 136 | 0 | 136 |
พลังประชารัฐ | 8,441,274 | 97 | 19 | 116 |
อนาคตใหม่ | 6,330,617 | 31 | 50 | 81 |
ประชาธิปัตย์ | 3,959,358 | 33 | 20 | 53 |
ภูมิใจไทย | 3,734,459 | 39 | 12 | 51 |
ชาติพัฒนา | 244,770 | 1 | 2 | 3 |
หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้งทั่วไป 2562 จะเห็นว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่เสียประโยชน์อย่างชัดเจนจากระบบเลือกตั้ง MMA พรรคเพื่อไทยไม่ได้รับ ส.ส. บัญชีรายชื่อเลยแม้แต่คนเดียว เนื่องจากมีจำนวน ส.ส. เขตมากกว่า ส.ส. ที่พึงมีอยู่แล้ว และด้วยการมีบัตรเพียงใบเดียวตามระบบเลือกตั้งแบบมีชัย ประชาชนในเขตที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครลงแข่งขันกว่า 150 เขต แต่ไปส่งในนามพรรคไทยรักษาชาติซึ่งต่อมาถูกยุบ จึงไม่มีตัวเลือกให้เลือกพรรคเพื่อไทย ผลที่ได้จึงทำให้พรรคเพื่อไทยคะแนนในระดับชาติน้อยกว่าตัวเลขการคำนวณ ส.ส. ที่พึงมี ซึ่งควรจะมีประมาณ 111 คน เมื่อหักลบกับ ส.ส. เขตที่ได้ 136 คน จึงไม่ได้รับการจัดสรรที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อ
ส่วนพรรคที่ได้ประโยชน์จาก “หารห้าร้อย” คือพรรคขนาดกลางและเล็ก พรรคอนาคตใหม่กลายเป็นพรรคการเมืองอันดับสามในสภาทั้งที่เพิ่งลงเลือกตั้งครั้งแรก โดยได้รับการจัดสรร ส.ส. บัญชีรายชื่อไป 50 ที่นั่ง เนื่องจากพรรคได้รับความนิยมในระดับชาติมาก แม้ว่าจะชนะได้ในไม่กี่เขต แต่คะแนนโดยรวมกลับทำให้อนาคตใหม่มี ส.ส. ที่พึงมีกว่า 81 คน ระบบ MMA จึงทำการชดเชยที่นั่งให้กว่าครึ่งร้อย ส่วนพรรคเล็กอย่างชาติพัฒนาซึ่งต่อมาจะมีการรวมพรรค ก็มี ส.ส.บัญชีรายชื่อสองที่นั่งจากระบบเลือกตั้งนี้ด้วย
บรรดาพรรคใหม่ที่ก่อตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง 2562 ก็เกิดขึ้นมาภายใต้แนวคิดว่าระบบเลือกตั้ง MMA จะทำให้ตนเองได้ที่นั่งในสภาจากการคิดคำนวณ ส.ส. ที่พึงมี ซึ่งเป็นการอุดจุดอ่อนของพรรคใหม่หรือที่มีขนาดไม่ใหญ่ที่มักจะทำพื้นที่เขตได้ไม่แข็งแรง เนื่องจากตัวผู้สมัครที่เป็นผู้มีอิทธิพลก็มักจะอยู่กับพรรคใหญ่ แต่เน้นการนำเสนอนโยบายที่จะทำให้สามารถรวบรวมเสียงจากทุกเขตทั่วประเทศได้ พรรคเหล่านี้มักจะมีอดีตนักการเมืองที่เคยเป็นแกนนำในพรรคใหญ่ แต่ตัดสินใจแยกทางเดิน เป็นผู้ก่อตั้ง เช่น พรรคไทยสร้างไทย ของ“หญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธ์ อดีตแกนนำและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย พรรคสร้างอนาคตไทย ของ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ และกลุ่มสี่กุมาร ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลของ คสช. และเป็นหัวเรือหลักในการก่อตั้งพรรคพลังประชารัฐก่อนจะถูกการเมืองในพรรคเล่นงาน และพรรคกล้า ของ กรณ์ จาติกวนิชย์ อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์
หาร 100 พาพรรคเล็กหนีตาย
แต่การกลับมาของการคำนวณแบบ “หารร้อย” ตามระบบเลือกตั้ง MMM ที่มีการแก้ไขล่าสุดนั้นทำให้ฝันของพรรคใหม่เหล่านี้กำลังจะไม่เป็นจริง ในปี 2564 รัฐสภาโหวตผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเปลี่ยนระบบเลือกตั้งให้กลับไปใช้บัตรสองใบและใช้ระบบการคำนวณบัญชีรายชื่อแบบคู่ขนาน แม้ว่าเกือบจะมีการพลิกล็อกในสภาเพื่อมีการพิจารณากฎหมายลูก แต่ในที่สุดระบบ MMM ที่คล้ายคลึงกับที่เคยใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ผ่านสภารวมถึงศาลรัฐธรรมนูญไปได้
ในระบบแบบคู่ขนานหรือที่เรียกกันว่า “หารร้อย” ตามการคำนวณที่ใช้เลขจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คนเป็นตัวหาร จะไม่มีการคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีแล้ว แต่จะคำนวณที่นั่งบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองจากสัดส่วนคะแนนในบัตรใบที่สองหรือใบที่เลือกพรรค เช่น หากได้คะแนนร้อยละ 10 พรรคนั้นก็จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อ 10 ที่นั่ง โดยไม่ต้องคำนึงว่าได้ ส.ส.เขตเท่าไร ระบบ MMM นี้ให้ผลตรงกันข้ามกับระบบ MMA คือพรรคใหญ่ที่ได้คะแนนเสียงในเขตมาก ก็จะกลับมาเป็นฝ่ายได้เปรียบ ในขณะที่พรรคขนาดเล็กและกลางซึ่งมักจะหวังที่นั่งบัญชีรายชื่อก็จะมีจำนวน ส.ส. น้อยลงอย่างเห็นได้ชัด
และนี่จึงเป็นเหตุให้หลายพรรคต้องเร่งปรับทัพเพื่อหนีตายระบบเลือกตั้งแบบใหม่
ภายใต้ระบบใหม่ หากมีผู้ออกมาใช้สิทธิเท่าเดิมคือประมาณ 35,500,000 คน การจะได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน พรรคจะต้องได้รับเสียงมากถึง 355,000 เสียง เปรียบเทียบกับ MMA ที่ต้องการขั้นต่ำเพียง 71,000 เสียง หรือเพิ่มมามากกว่าห้าเท่า
การคำนวณคะแนนขั้นต่ำที่จะได้รับการจัดสรร ส.ส.บัญชีรายชื่อหนึ่งคน
ระบบ MMA หรือหารห้าร้อย (เลือกตั้ง 2562): ~71,000 = 35,500,000/500
ระบบ MMM หรือหารร้อย (เลือกตั้ง 2566): ~355,000 = 35,500,000/100
เปรียบเทียบวิธีการคำนวณผลการเลือกตั้ง 2562 ด้วยสูตร MMA และ MMM โดยยังไม่ปัดเศษ
พรรค | คะแนน | ส.ส. บัญชีรายชื่อ MMA (หารห้าร้อย 62) | ส.ส. บัญชีรายชื่อ MMM (หารร้อย 66) | ผลต่างของที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ |
เพื่อไทย | 7,881,006 | 0 | 22 | +22 |
พลังประชารัฐ | 8,441,274 | 19 | 23 | +4 |
อนาคตใหม่ | 6,330,617 | 50 | 17 | -33 |
ประชาธิปัตย์ | 3,959,358 | 20 | 11 | -9 |
ภูมิใจไทย | 3,734,459 | 12 | 10 | -2 |
เสรีรวมไทย | 824,284 | 10 | 2 | -8 |
ชาติไทยพัฒนา | 783,689 | 4 | 2 | -2 |
ประชาชาติ | 481,490 | 1 | 1 | 0 |
ชาติพัฒนา | 244,770 | 2 | 0 | -2 |
**** จำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อในปี 62 มีทั้งหมด 150 คนในขณะที่ปี 66 มี 100 คน
หากนำผลคะแนนการเลือกตั้ง 2562 มาคำนวณด้วยระบบเลือกตั้ง “หารร้อย” ผลลัพธ์ที่ได้จะต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง พรรคที่ได้ประโยชน์จากการคำนวณแบบคู่ขนานที่สุดกลับกลายเป็นพรรคเพื่อไทย ที่จะได้ ส.ส. บัญชีรายชื่อเพิ่มขึ้นเป็น 22 ที่นั่งจากที่ไม่ได้รับการจัดสรรเลย พรรคพลังประชารัฐที่ “ดูด” ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ให้เข้ามาอยู่ในพรรค ก็จะได้ประโยชน์เพิ่มที่นั่งบัญชีรายชื่อเล็กน้อย ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือพรรคอนาคตใหม่ หรือในปัจจุบันคือพรรคก้าวไกล ที่จะเสียที่นั่งบัญชีรายชื่อไปถึง 33 ที่นั่ง เหลือเพียง 17 ที่นั่งภายใต้ระบบ “หารร้อย” เท่านั้น
สำหรับพรรคชาติพัฒนา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาตั้งแต่สมัยชาติชาย ชุณหะวัณ จะเสียที่นั่งบัญชีรายชื่อทั้งหมดจากที่มีอยู่สองที่ในระบบใหม่ เนื่องจากเป็นพรรคท้องถิ่น มีความนิยมจำกัดอยู่ในพื้นที่ของตนเองเท่านั้น โอกาสที่จะได้รับที่นั่งบัญชีรายชื่อซึ่งต้องได้คะแนนกว่าสามแสนนั้นดูจะเป็นไปได้ยากยิ่ง ด้วยเหตุนี้ จึงต้องเกิด “ดีล” ควบรวมกับพรรคกล้า โดยหวังว่าจะได้กรณ์ซึ่งเคยเป็นมือเศรษฐกิจให้กับพรรคประชาธิปัตย์ให้เป็น “แม่เหล็ก” เชิงนโยบายในระดับชาติ ในขณะที่พรรคกล้าเอง ก็ไม่ประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่ซึ่งพรรคหมายมั่นปั้นมือว่าจะต้องชนะ พรรคใหม่ของกรณ์จึงต้องการฐานเสียงจากพรรคเก่าแก่เพื่อหวังจะได้ที่นั่งบัญชีรายชื่อ ยุทธศาสตร์การควบรวมพรรคจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็นและสมประโยชน์กันทั้งสองพรรค ดังที่ทั้งสุวัจน์และกรณ์ประกาศร่วมกันว่า “พรรคชาติพัฒนากล้า” จะเป็นส่วนรวมของ “มือการเมือง” และ “มือเศรษฐกิจ”
นอกจากพรรคชาติพัฒนากล้าแล้ว ยังมีความเป็นไปได้ว่าพรรคไทยสร้างไทยและสร้างอนาคตไทยกำลังพิจารณาควบรวมกัน โดยเริ่มจากการประกาศจับมือเป็นพันธมิตรกัน และอยู่ในระหว่างการเจรจาต่อรองโดยมีเก้าอี้หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายรัฐมนตรีที่ทั้งสุดารัตน์และสมคิดก็อยากได้ทั้งคู่ อย่างไรก็ดี ก็เป็นเพราะการแก้ไขระบบเลือกตั้งนั่นเอง ที่บีบให้อดีตแกนนำพรรคเพื่อไทยต้องกลับมาจับมือกันอีกครั้งเพื่อความอยู่รอดทางการเมือง