ก่อนปี 2564 หลายคนที่เคยร่วมเข้าชื่อเสนอ #แก้รัฐธรรมนูญ หรือเสนอร่างพระราชบัญญัติ น่าจะยังจำบรรยากาศของการร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายได้ที่ต้อง “เขียนด้วยมือ” กรอกเอกสารแบบฟอร์มเข้าชื่อ และต้องถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชนหรือบัตรที่รัฐออกให้ และต้องเซ็นสำเนาถูกต้องกำกับ ซึ่งการร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย กรณีเป็นร่างพระราชบัญญัติจะต้องใช้รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 ชื่อ แต่กรณีเสนอร่างแก้รัฐธรรมนูญ ต้องใช้รายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งถึง 50,000 รายชื่อ การรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อร่างกฎหมายต่อสภา จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ต้องใช้ทั้งแรงกายและแรงใจจากประชาชนที่ร่วมลงชื่อเข้ามา
แต่ปัจจุบัน ขั้นตอนการเสนอเข้าชื่อเสนอกฎหมายถูกปรับปรุง ให้ง่ายมากขึ้น ลดภาระ สร้างความสะดวกให้กับประชาชนเท่าที่จะเป็นไปได้ เนื่องจากกฎหมายเข้าชื่อฉบับใหม่ พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2564 กำหนดให้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายทำได้โดยไม่ต้องถ่ายเอกสารสำเนาบัตรประชาชนอีกต่อไป แล้วยังเปิดทางให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางออนไลน์ได้อีกด้วย การเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางออนไลน์ทำได้สองรูปแบบ คือ
- เข้าชื่อผ่านทางเว็บไซต์ที่ผู้เชิญชวนกำหนด ตัวอย่างเช่น เข้าชื่อเสนอแก้ประมวลกฎหมายแพ่งฯ #สมรสเท่าเทียม https://www.support1448.org/ ซึ่งการเข้าชื่อผ่านเว็บไซต์ของผู้เชิญชวนส่วนใหญ่ ผู้ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายจะต้องกรอกข้อมูลตามแบบฟอร์มเข้าชื่อ จากนั้นระบบก็จะแปลงข้อความไปใส่ในเอกสารแบบฟอร์มเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เมื่อได้จำนวนรายชื่อถึงเป้าหมายแล้ว ผู้เชิญชวนก็นำเอกสารเข้าชื่อไปยื่นต่อสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
- เข้าชื่อผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร รูปแบบนี้ไม่ใช่ระบบบังคับ ขึ้นอยู่กับว่าผู้เชิญชวนต้องการให้สำนักงานเลขาฯ ช่วยอำนวยความสะดวกในการรับและรวบรวมรายชื่อประชาชนหรือไม่ ถ้าหากผู้เชิญชวนต้องการก็สามารถร้องขอสำนักงานเลขาฯ ได้เลย โดยการเข้าชื่อจะทำผ่านเว็บไซต์ของสภา หากใช้วิธีนี้ ผู้เชิญชวนก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายหลายๆ อย่าง เช่น ค่าบำรุงเว็บไซต์ ค่าเดินทางนำเอกสารรายชื่อไปส่ง ฯลฯ
ช่วงเริ่มต้นหลังจาก พ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ประกาศใช้ ก็ยังไม่มีการเปิดใช้เว็บลงชื่อเสนอกฎหมายของสภา ทำให้ผู้เชิญชวนหลายกลุ่มต้องเปิดเว็บไซต์ลงชื่อเสนอกฎหมายเอง แต่ปัจจุบัน ทางสำนักงานเลขาฯ เปิดเว็บลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านทาง https://dev.parliament.go.th/einitiative/ โดยการร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย ไม่ต้องใช้การเขียนลงชื่อหรือเซ็นผ่านหน้าจอโทรศัพท์ แต่ต้องยืนยันตัวตนผ่านแอปพลิเคชัน D.Dopa ของกระทรวงมหาดไทยแทน ซึ่งทำให้ขั้นตอนการเริ่มลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์สภา ค่อนข้างยุ่งยากกว่าการลงชื่อผ่านทางเว็บไซต์ที่ผู้เชิญชวนจัดทำเอง
สำหรับผู้ที่สนใจอยากร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายที่กำลังเปิดให้เข้าชื่ออยู่หรือร่างกฎหมายอื่นๆ ที่อาจเปิดเข้าชื่อในอนาคตผ่านทางระบบของสภา สามารถทำตามขั้นตอน 10 ขั้นตอนได้ ดังนี้
1. โหลดแอปพลิเคชัน D.Dopa ก่อน แอปพลิเคชันนี้ เปรียบเสมือนบัตรประชาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital ID) ไว้ยืนยันตัวบุคคลทางดิจิทัลกับงานบริการภาครัฐต่างๆ แอปพลิเคชันนี้ทำโดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งการลงชื่อเสนอกฎหมายผ่านเว็บไซต์ของสภา จำเป็นต้องใช้แอปพลิเคชัน D.Dopa เพื่อยืนยันตัวบุคคลผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงจำเป็นต้องโหลดแอปนี้ไว้ในโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลตก่อน
- ระบบปฏิบัติการ iOS สามารถดาวน์โหลดผ่าน App Store ทาง https://apps.apple.com/th/app/d-dopa/id1533612248
- ระบบปฏิบัติการ Android ดาวน์โหลดผ่าน Google Play ทาง https://play.google.com/store/apps/details?id=th.go.dopa.bora.dims.ddopa&hl=th&gl=US
2. หลังจากโหลดแอปพลิเคชัน D.Dopa แล้ว จะต้องยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่รัฐด้วย โดยการนำบัตรประชาชนใบล่าสุด พร้อมโทรศัพท์มือถือหรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน D.Dopa ไปยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่ ที่สำนักทะเบียน สำหรับกรุงเทพมหานคร สามารถเดินทางไปได้ที่ สำนักงานเขตทั้ง 50 เขต สำหรับ 76 จังหวัด สามารถไปได้ที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาลใกล้บ้าน
3. เมื่ออยู่ที่สำนักงานเขต ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาลแล้ว ให้เปิด แอปพลิเคชัน D.Dopa ขึ้นมา แอปจะแจ้งว่ามีการใช้งานอินเทอร์เน็ตและอัตลักษณ์บุคคล เข้าถึงกล้องเพื่อใช้สแกน QR Code (คิวอาร์โค้ด) ให้กดปุ่ม “ต่อไป” จนกว่าจะถึงหน้า “ลงทะเบียนใช้งาน D.Dopa”
4. เมื่ออยู่ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ ให้กด “เริ่มการลงทะเบียน” จากนั้นจะขึ้นหน้าแจ้งขั้นตอนการลงทะเบียนโดยเจ้าหน้าที่ กด “ต่อไป” จะขึ้นหน้าให้ระบุเลขประจำตัวประชาชน ใส่เลขประจำตัว 13 หลัก แล้วกดปุ่ม “ลงทะเบียน” จากนั้นจะขึ้นหน้าให้ยอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขการใช้บริการ กดปุ่ม “ยอมรับ”
5. จากนั้น ส่งโทรศัพท์หรือแท็บเลต และบัตรประชาชน ให้กับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะนำบัตรประชาชนเสียบเข้ากับเครื่องอ่าน (Card Reader) ถอนหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าเพื่อยืนยันตัวตน และให้ประทับลายนิ้วมือบนเครื่องอ่าน
6. เจ้าหน้าที่จะนำโทรศัพท์หรือแท็บเลตไปสแกน คิวอาร์โค้ด และให้เราตั้งรหัสผ่านแปดหลัก รหัสผ่านควรตั้งที่เราจดจำได้ โดยรหัสผ่านนี้จะต้องใช้งานในการเข้าแอปพลิเคชันครั้งต่อๆ ไป หลังกรอกรหัสผ่านสองครั้ง และรหัสผ่านตรงกัน หน้าจอก็จะแสดงผลว่าสถานะการสมัครสำเร็จแล้ว
7. การเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านทางเว็บไซต์ของสภา สามารถเข้าไปได้ที่เว็บ https://dev.parliament.go.th/einitiative/ จะปรากฏรายชื่อร่างกฎหมายที่กำลังเปิดให้เข้าชื่อเสนอกฎหมายอยู่ สนใจร่วมลงชื่อหรืออ่านร่างกฎหมายฉบับไหน ให้คลิกเข้าไปที่ชื่อร่างกฎหมายนั้น
- กรณีที่ประสงค์จะอ่านร่างกฎหมาย ให้คลิกที่เมนู “รายละเอียดและเอกสารที่เกี่ยวข้อง” ดูที่ข้อความ “ไฟล์แนบ” และคลิกที่ไฟล์ PDF ข้างใต้
- กรณีที่สนใจร่วมลงชื่อเสนอร่างกฎหมายนั้น ให้คลิกปุ่ม “ร่วมลงชื่อ” สีเขียว
8. หลังคลิกปุ่ม “ร่วมลงชื่อ” แล้ว เว็บไซต์จะขึ้นหน้าที่มีไอคอนแอปพลิเคชัน D.Dopa และมีข้อความว่า “สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรร่วมกับกรมการปกครองในการตรวจสอบตัวตนก่อนทำรายการ” ให้คลิกที่ปุ่ม “Login by D.Dopa”
9. จากนั้นจะมี คิวอาร์โค้ด การเข้าชื่อเสนอกฎหมายขึ้นมา ให้นำโทรศัพท์หรือแท็บเลต ที่มีแอปพลิเคชัน D.Dopa และยืนยันตัวตนเรียบร้อยแล้ว เปิดแอป ใส่รหัสผ่านแปดหลัก และกดที่เครื่องหมายสแกนคิวอาร์โค้ด ตรงมุมขวาของหน้าหลัก จะขึ้นกล้องสำหรับสแกนคิวอาร์โค้ด ให้นำไปสแกนคิวอาร์โค้ดเว็บเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่ขึ้นบนหน้าจอ
10. หลังสแกนคิวอาร์โค้ดเสร็จ ในโทรศัพท์หรือแท็บเลต จะขึ้นหน้า “ยืนยันตัวตน” แจ้งว่าระบบเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ขอยืนยันตัวตนเพื่อเข้าสู่ระบบ โดยใช้ข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน และชื่อ-นามสกุล ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ หากต้องการจะยืนยันเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ให้กด “ยินยอม” แต่ถ้าเปลี่ยนใจ อยากยกเลิก สามารถกด “ไม่ยินยอม” ได้
กรณีที่กดยินยอม แอปพลิเคชัน D.Dopa จะขึ้นให้ใส่รหัสผ่านแปดหลัก หลังใส่รหัสผ่านเรียบร้อยแล้ว หน้าแอปจะเด้งกลับมาที่หน้าหลัก ก็เป็นอันเสร็จสิ้นขั้นตอนลงชื่อเสนอกฎหมาย ทั้งนี้ ควรทำทุกขั้นตอนให้เสร็จต่อเนื่องกัน หากทิ้งช่วงไว้ ระบบอาจรีเซ็ตคิวอาร์โค้ดใหม่ ทำให้ต้องสแกนคิวอาร์โค้ดอีกรอบ