คำสั่งศาลรัฐธรรมนูญที่ให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีจนกว่าจะมีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญว่า “วาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าครบ 8 ปี แล้วหรือไม่” ส่งผลให้เกิดคำถามเกี่ยวกับสถานะปัจจุบันของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ พลเอกประยุทธ์ มีสถานะอย่างไร ทำไมพลเอกประวิตรถึงเป็นรักษาการนายกฯ และในระหว่างที่คดีของพลเอกประยุทธ์กำลังรอคำวินิจฉัย พลเอกประวิตร รักษาการนายกฯ จะสามารถยุบสภาได้หรือไม่ ชวนย้อนดูลำดับเรื่องราว และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้
ประยุทธ์ ยังคงมีสถานะเป็นนายกฯ อยู่ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว
ส.ส.พรรคฝ่ายค้าน ได้ยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีดำรงตำแหน่งเกิน 8 ปี ของพลเอกประยุทธ์ ว่าเป็นเหตุให้สิ้นสุดความเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ โดย ส.ส.พรรคฝ่ายค้านได้ขอให้ศาลมีคำสั่งให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยด้วย โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติด้วยคะแนนเสียง 5 ต่อ 4 สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่
โดยมาตรา 82 กำหนดให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญสามารถสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ได้ “เมื่อได้รับเรื่องไว้พิจารณา หากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าสมาชิกผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้สมาชิกผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย…”
อย่างไรก็ตาม แม้พลเอกประยุทธ์จะถูกคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญหยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่สถานะปัจจุบันยังคงดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอยู่ แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยว่า การดำรงตำแหน่งของประยุทธ์ครบ 8 ปีแล้วหรือไม่
ประวิตร เป็นรักษาการนายกฯ ได้อย่างไร
การขึ้นมาทำหน้าที่รักษาการนายกฯ ของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ในระหว่างที่พลเอกประยุทธ์ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เป็นไปตาม มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ที่บัญญัติว่า
“ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติราชการได้ ให้รองนายกรัฐมนตรีเป็นผู้รักษาราชการแทน ถ้ามีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน ให้คณะรัฐมนตรีมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งเป็นผู้รักษาราชการแทน…”
ทั้งนี้ พลเอกประยุทธ์ ยังเคยออกคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 237/2563 กำหนดผังการมอบหมายให้รองนายกฯ รักษาราชการแทนตามลำดับ ดังนี้
- 1. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
- วิษณุ เครืองาม
- อนุทิน ชาญวีรกูล
- จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์
- ดอน ปรมัตถ์วินัย
- สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์
รักษาการนายกฯ มีหน้าที่เพียงบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ยุบสภาไม่ได้
พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน มาตรา 48 วรรคหนึ่ง กำหนดว่า “ให้ผู้รักษาราชการแทนตามความในพระราชบัญญัตินี้มีอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับผู้ซึ่งตนแทน” หมายความว่า การทำหน้าที่ของรักษาการนายกฯ สามารถทำหน้าที่ในการบริหารประเทศตามที่กฎหมายต่างๆ กำหนดเท่านั้น เช่น การจัดสรรงบประมาณ การแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ การสั่ง การอนุญาต หรือการอนุมัติ ตามขอบข่ายบทบาทหน้าที่ที่พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กำหนดไว้
แต่การยุบสภาผู้แทนราษฎรเป็นอำนาจที่รัฐธรรมนูญกำหนด ซึ่งรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด และมีลำดับชั้นทางกฎหมายสูงกว่าพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และการยุบสภายังเป็นอำนาจทางการเมืองอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับหลักการแบ่งแยกอำนาจ เป็นการถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างนายกรัฐมนตรีกับสภาผู้แทนราษฎร กล่าวคือ นายกรัฐมนตรีที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาเท่านั้นจึงจะมีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร
โดยลักษณะของอำนาจยุบสภาแล้ว มีความแตกต่างกับอำนาจในการบริหารราชแผ่นดิน ดั้งนั้น อำนาจในการยุบสภา จึงเป็นอำนาจเฉพาะตัวที่ติดอยู่กับนายกฯ ที่ได้รับเลือกจากรัฐสภาซึ่งประกอบด้วยผู้แทนประชาชน ด้วยเหตุนี้ ณ ปัจจุบันผู้ที่มีอำนาจในการยุบสภา จึงมีเพียงแค่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เท่านั้น ส่วนพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นเพียงรองนายกฯ ที่ได้รักษาการแทนเพื่อปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน เท่านั้น แต่ไม่มีสถานะเป็นนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ