ผู้รายงานพิเศษยูเอ็นส่งหนังสือขอรัฐบาลไทยชี้แจงกรณี ม.112 ของบี๋-นิราภร อ่อนขาว

20 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteur) ส่งหนังสือถึงรัฐบาลไทยขอให้ชี้แจงกรณีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับบี๋-นิราภร อ่อนขาว นักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยตั้งแต่การชุมนุมของเยาวชนในปี 2563 และการโจมตีนิราภรด้วยสปายแวร์เพกาซัส นอกจากนี้ผู้รายงานพิเศษยังเรียกร้องให้มีการยุติการใช้และ “ยกเลิก” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เนื่องจากการมีอยู่ของประมวลกฎหมายนี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ

ผู้รายงานพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Rapporteurs) ทำงานภายใต้กลไกพิเศษแห่งสหประชาชาติ (Special Procedures) โดยดำเนินงานแบ่งเป็นติดต่อสื่อสารกับรัฐบาลไทย (Communications) เช่น ส่งหนังสือมายังกระทรวงต่างประเทศเพื่อสอบถามข้อเท็จจริง และส่งข้อแนะนำให้ปฏิบัติตาม และการตรวจเยี่ยม (Country Visit) เพื่อศึกษารายละเอียดข้อเท็จจริงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นได้ ทั้งนี้ผู้รายงานพิเศษแต่ละคนจะมีประเด็นตามขอบเขตหรืออาณัติของตัวเอง

ในกรณีของนิราภรผู้รายงานพิเศษ ประกอบไปด้วย ไอรีน ข่าน (Irene Khan) ผู้รายงานพิเศษในการเสริมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก แมรี่ ลอว์เลอร์ (Mary Lawlor) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสถานการณ์ของผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชน และอนา บริแอน นูแกลร์ (Ana Brian Nougrères) ผู้รายงานพิเศษเรื่องสิทธิในความเป็นส่วนตัว โดยหนังสือที่ส่งถึงรัฐบาลไทยทั้งสามคาดหวังให้รัฐบาลไทยชี้แจงเพิ่มเติม เช่น ข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างไร

ทั้งนี้ในวันที่ 28 มีนาคม 2568 อุศณา พีรานนท์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา ตอบรับจดหมายร้องเรียนฉบับดังกล่าว ระบุว่า จดหมายร้องเรียนถูกส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยเพื่อพิจารณาแล้ว

ร้องผู้รายงานพิเศษยูเอ็น กรณีถูกกล่าวหามาตรา 112 และใช้สปายแวร์เพกาซัสโจมตี

เนื้อความในจดหมายสื่อสารของผู้รายงานพิเศษทั้งสามอาณัติที่ส่งถึงรัฐบาลไทยมีดังนี้

เราขอนำข้อมูลที่เราได้รับเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อนิราภร อ่อนขาว เยาวชนนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  ซึ่งดูเหมือนว่าจะมาจากการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของเธอนำเรียนให้รัฐบาลของท่านทราบ

นิราภร อ่อนขาว อายุ 23 ปี เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งเรียกร้องเสรีภาพในการแสดงออก ความเท่าเทียมทางเพศ และสิทธิในด้านดิจิทัล เธอเป็นหนึ่งในสมาชิกของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่เรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยตั้งแต่ปี 2566 เธอมีส่วนร่วมกับโครงการ Digital Rights Champion ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งมุ่งรณรงค์เรื่องสิทธิในทางออนไลน์

ผู้ถืออาณัติตามกลไกพิเศษเคยแสดงความกังวลในการใช้ “กฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์” เพื่อดำเนินคดีกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรม และผู้วิจารณ์ที่ใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกในหลายวาระในอดีตดังเช่นในกรณีของหนังสือ THA 8/2024 (กรณีการเสียชีวิตของบุ้ง-เนติพร เสน่ห์สังคม) และ THA 4/2022 (กรณีสุณัย ผาสุกและวราภรณ์ อุทัยรังษี) ซึ่งเราขอขอบคุณที่ท่านได้ตอบหนังสือที่ THA 4/2022 แต่เราเสียใจที่ไม่ได้รับคำตอบหนังสือที่ THA 8/2024 ก่อนหน้านี้เรายังเคยส่งหนังสือแสดงความกังวลที่ THA 1/2023 ในประเด็นที่เกี่ยวกับการใช้สปายแวร์เพกาซัสต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมในประเทศไทย เราขอขอบคุณรัฐบาลที่รับทราบหนังสือและยังคงรอคอยคำตอบที่ครอบคลุม

ข้อมูลที่ผู้รายงานพิเศษได้รับในกรณีของนิราภร อ่อนขาว มีดังนี้ 

ในวันที่ 17 กันยายน 2564 เวลา 07.00 น. ตำรวจจากสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงและตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เข้าค้นบ้านพักของนิราภรตามหมายค้นที่ออกโดยศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อค้นหาอุปกรณ์หรือหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดในทางอาญา ซึ่งนิราภรถูกขอให้มอบโทรศัพท์มือถือแต่เธอปฏิเสธ

ระหว่างที่มีการค้น มีการแสดงหมายจับที่ออกโดยศาลอาญา กล่าวหานิราภรว่าได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง แห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) (พ.ร.บ. คอมฯ)

หลังจากตรวจค้นนิราภรถูกนำตัวไปยัง บก.ปอท. เหตุในคดีนี้สืบเนื่องจากการกล่าวหาว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมโพสต์ข้อความปลุกระดมให้เกิดการชุมนุมประท้วงที่มีความรุนแรง และกล่าวหาว่านิราภรเป็นผู้ดูแลแฟนเพจเฟซบุ๊กของเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม

ในเดือนพฤศจิกายนปี 2564 นิราภรเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯมาตรา 14 (3) ที่ บก.ปอท. เธอถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ดูแลเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่ได้โพสต์ข้อความจำนวนสามโพสต์ในวันที่ 10 สิงหาคม 2563 วันที่ 10 มกราคม 2564 และวันที่ 6 ตุลาคม 2564 ซึ่งเธอปฏิเสธข้อกล่าวหาทั้งหมด

ในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 นิราภรได้รับการแจ้งเตือนว่า โทรศัพท์มือถือของเธอตกเป็นเป้าหมายของ “แฮกเกอร์” ที่ได้รับการสนับสนุนโดยรัฐและสามารถเข้าถึงการสื่อสารของเธอจากระยะไกล เข้าถึงกล้อง ไมโครโฟน และข้อมูลที่ละเอียดอ่อนของเธอ ซึ่งภายหลังจากที่ตรวจสอบในเดือนกรกฎาคม 2565เธอได้รับการยืนยันว่ามือถือของเธอถูกโจมตีด้วยสปายแวร์เพกาซัสอย่างน้อย 14 ครั้งในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนมิถุนายนปี 2564 ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่สูงที่สุดที่บุคคลหนึ่งจะถูกโจมตีด้วยสปายแวร์เพกาซัสในประเทศไทย

ในปี 2565 นิราภรถูกเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาเกี่ยวกับการกระทำความผิดตามคอมพิวเตอร์อีกครั้ง ซึ่งเป็นกล่าวหาว่า โพสต์ข้อความละเมิดกฎหมายดังกล่าว วันที่ 7 มีนาคม 2565 เธอเข้ารับทราบข้อกล่าวหาต่อปอท. เช่นเดียวกันกับคดีก่อนหน้าเธอให้การปฏิเสธและให้การเป็นลายลักษณ์อักษรแทน

วันที่ 19 เมษายน 2565 เธอไปรายงานตัวต่ออัยการในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีที่หนึ่งของเธอ  ต่อมาวันที่ 18 เมษายน 2566 เธอถูกฟ้องต่อศาลอาญารัชดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ คดีนี้เป็นคดีที่สองที่เธอถูกกล่าวหาในปี2565 เธอได้รับการประกันตัวในระหว่างดำเนินคดี ซึ่งศาลอาจมีคำพิพากษาในระหว่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคมปี 2568  หากศาลพิพากษาว่าเธอมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112เธออาจต้องเผชิญโทษจำคุก ระหว่าง 3 – 15 ปีในเรือนจำ

ในวันที่ 12 มีนาคม 2567 นิราภรขึ้นกล่าวในสมัยประชุมที่ 55 ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองเจนีวา ซึ่งเป็นการพูดคุยกันระหว่างผู้รายงานพิเศษในด้านสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 11-15 เมษายน 2567  นิราภรเข้าร่วมการประชุมด้านสิทธิทางดิจิตัลของเยาวชนในเมืองบัวโนส ไอเรส ซึ่งจัดโดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล

หลังจากที่เธอกลับสู่ประเทศไทยในวันที่ 18 เมษายน 2567  ทนายของเธอได้แจ้งเธอว่าคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 คดีแรกของเธอตั้งแต่ปี 2564 ที่เคยถูกส่งให้อัยการตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2565 จะถูกนำไปฟ้องต่อศาล วันที่ 21 เมษายน 2567 หลังจากค้างอยู่ในกระบวนการมากว่า 2 ปี 

วันที่ 29 เมษายน 2567 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องนิราภรต่อศาลอาญา รัชดาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ เธอได้รับการประกันตัวระหว่างกระบวนการในศาล ในวันที่ 23 กันยายน 2567 ศาลได้นัดวันเพื่อตรวจพยานและหลักฐานในวันที่ 26 – 29 สิงหาคม พ.ศ 2568  หากศาลพิพากษาว่าเธอกระทำความผิด เธออาจเผชิญโทษจำคุก 3 – 15 ปีในแต่ละข้อความที่เธอถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้โพสต์ในเพจในเรื่องธรรมศาสตร์และการชุมนุม ซึ่งรวมแล้วอาจมีโทษจำคุกตั้งแต่ 9 ถึง 45 ปี 

เรียกร้องรัฐบาลไทยยุติการใช้มาตรา 112 ต่อนักปกป้องสิทธิฯและผู้เห็นต่าง

ผู้รายงานพิเศษทั้งสามแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อนิราภร “ซึ่งเรากลัวว่า อาจจะมีความเชื่อมโยงกับการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนและการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของเธอ” เราขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติการใช้ประมวลกฎหมายอาญาโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบัญญัติเกี่ยวกับหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ (มาตรา 112) ที่ตั้งเป้าหมายต่องานที่มีความสันติและชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างหรือเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในประเทศ

“เราขอย้ำการเรียกร้องของเราต่อรัฐบาลของท่านให้ยกเลิกมาตรา 112 นอกเหนือจากการเรียกร้องซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยผู้ถืออาณัติตามกลไกพิเศษแล้ว คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนและกลไกระหว่างประเทศอื่นๆ ก็ได้เรียกร้องให้ยกเลิกบทบัญญัตินี้เช่นกัน เนื่องจากไม่สอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศและพันธกรณีระหว่างประเทศของประเทศไทย”

(We reiterate our call to your Excellency’s Government to repeal section 112. In addition to such repeated calls by Special Procedures mandate holders, the Human Rights Committee and other international mechanisms have also urged for this provision to be repealed as it is incompatible with international law and Thailand’s international obligations.)

นอกจากนี้ผู้รายงานพิเศษทั้งสามยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับการโจมตีโทรศัพท์มือถือของนิราภรด้วยสปายแวร์เพกาซัสและขอให้ชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

1.      ข้อมูลเพิ่มเติมและ/หรือความคิดเห็นที่คุณอาจมีต่อข้อกล่าวหาที่กล่าวถึงข้างต้น

2.      ข้อมูลในรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและฐานทางกฎหมายของข้อกล่าวหาต่อนิราภร และขอให้ระบุว่าข้อกล่าวหาเหล่านี้สอดคล้องกับหลักกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศอย่างไร รวมถึงที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในการแสดงออก

3.      ระบุมาตรการที่ดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าคุณนิราภรมีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม (fair trial) และอธิบายว่ามาตรการเหล่านี้สอดคล้องกับหลักประกันทางศาลภายใต้พันธกรณีในการเคารพสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศอย่างไร หากไม่มีมาตรการดังกล่าว ขอให้อธิบายว่า สิ่งนี้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของประเทศไทยอย่างไร

4.      ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่ได้ดำเนินการแล้วหรือคาดว่าจะดำเนินการในอนาคต เพื่อให้แน่ใจว่าการสอบสวนเกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวจะดำเนินการสืบสวนอย่างเต็มที่และเป็นกลางมีประสิทธิภาพ ละเอียดถี่ถ้วนและเป็นอิสระเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว ในเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องการแฮ็กและการใช้สปายแวร์ต่อนิราภรที่เชื่อมโยงกับงานปกป้องสิทธิมนุษยชนของเธอ หากมีข้อมูลขอให้แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับผลการสอบสวน

5.      ข้อมูลเกี่ยวกับแผนที่รัฐบาลมีเพื่อป้องกันและคุ้มครองปัจเจกบุคคลและกลุ่มจากการโจมตีในลักษณะคล้ายกัน และเกี่ยวกับมาตรการที่มีอยู่เพื่อให้มั่นใจว่ามีการคุ้มครองสิทธิความเป็นส่วนตัวของพวกเขา

6.      ข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการที่มีอยู่หรือขั้นตอนที่รัฐบาลของท่านได้ดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่านักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้มีบทบาทในภาคประชาสังคมสามารถใช้เสรีภาพในการแสดงออกและดำเนินงานของพวกเขาในสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้ออำนวย รวมถึงทางออนไลน์ โดยปราศจากความกลัวการคุกคามทางกฎหมาย การสอดส่ง หรือการข่มขู่ คุกคามหรือการตอบโต้เอาคืนอื่นใด