เสวนาโต๊ะกลม: การทำงานศิลปะท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนผ่าน

30 มีนาคม 2568 เวลา 15:50 – 17:30 น. Gallery VER ร่วมกับศิลปิน ส้ม ศุภปริญญา จัดงานเปิดตัวหนังสือ Collapsing Clouds Form Stars ฝุ่นถล่มเป็นดาว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ Collapsing Clouds Form Stars ฝุ่นถล่มเป็นดาว A Mini-Retrospective และวงเสวนา “การทำงานศิลปะท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนผ่าน” เพื่อพูดคุยเกี่ยวกับเส้นทางของศิลปะในช่วงสองทศวรรษแห่งความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ตั้งแต่รัฐประหารปี 2549 และ 2557, การระบาดของโควิด-19 สู่ยุคที่เทศกาลศิลปะร่วมสมัยและสถาบันศิลปะเอกชนเติบโตขึ้นในไทย ร่วมกับศิลปินรับเชิญสามท่านได้แก่ อำพรรณี สะเตาะ อาจารย์ประจำสาขาศิลปะภาพถ่ายและสื่อทัศนภาพ วิทยาลัยการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต, ประกิต กอบกิจวัฒนา ครีเอทีฟโฆษณา เจ้าของเพจการเมือง “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง Pop” และ เรืองศักดิ์ อนุวัตรวิมล นักสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติ

Untitled Artwork

เวลาที่เปลี่ยนผ่านทำให้มองเห็นและรู้จักปัญหาอื่นในสังคมมากขึ้น

อำพรรณีทำงานภาพถ่ายมาตั้งแต่อยู่ที่บ้านเกิดในจังหวัดปัตตานี ปัญหาที่เขาเจอมาตลอดคือเรื่องการถูกกดทับของคนสามจังหวัดชายแดนใต้และการรัฐประหาร  เขาจึงพยายามถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาที่เกิดขึ้นผ่านงานภาพถ่ายเพื่อตอบโต้สื่อกระแสความคิดและความเชื่อกระแสหลักที่มีต่อสามจังหวัดชายแดนใต้

สำหรับอำพรรณีการทำงานศิลปะการเมืองทำให้ตนเองได้มองเห็นมุมมองใหม่ในสังคม เช่น ช่วงรัฐประหาร 2559 ที่ทำให้เขาไม่สามารถนำเสนอประเด็นสุ่มเสี่ยงได้ เขาจึงได้มีโอกาสมองย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ในพื้นที่ มองเห็นประเด็นอื่นๆ และปรับวิธีการนำเสนอผลงาน

ตัวอย่างผลงานของอำพรรณีคือผลงานชุดภาพถ่ายชื่อว่า “ภายใต้ฮิญาบ” เป็นชุดภาพถ่ายขาวดำในแนวคิดว่า “เมื่อผู้หญิงถูกมองเป็นหนึ่งในกลไกของการสร้างความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้” เขาจึงได้เลือกฮิญาบหรือผ้าคลุมผมของมุสลิมมาเป็นเครื่องมือถ่ายทอดเรื่องราวในพื้นที่ให้สังคมได้รับรู้ ผลงานชิ้นนี้ได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพถ่าย โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย 2550 

อำพรรณีเล่าว่าสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมาจำเป็นต้องอาศัยความกล้าหาญในการลงมือทำและต่อสู้กับสังคมพอสมควร แต่สิ่งที่เป็นเหมือนเครื่องเตือนใจอยู่เสมอคือคนในครอบครัวและสังคมที่ยังได้รับผลกระทบจากปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ความจำเป็นในการต่อสู้จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และสิ่งที่ตนคาดหวังคือการที่รัฐมีงบประมาณสนับสนุนศิลปินตัวเล็กตัวน้อยให้ได้รับโอกาสเติบโตมากขึ้นในอนาคต

ศิลปะกับการเมืองเป็นของคู่กัน แยกให้ขาดคงไม่ได้

ประกิตเล่าว่า เขาเริ่มต้นการทำงานศิลปะการเมืองเพราะต้องการประชดประชันสังคมชนชั้นกลางที่เป็นคนลืมง่ายและเพื่อประชดทหาร ผลงานของเขาเป็นการทำงานศิลปะผ่านผลิตภัณฑ์และตัวอักษร เผยแพร่ผ่านเพจเฟซบุ๊กชื่อว่า “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้อง Pop” ที่สร้างขึ้นหลังการสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงในปี 2553 ตัวอย่างเช่น ภาพเสื้อสีขาวพร้อมตัวอักษร “อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อป” หรือภาพกระป๋องที่มีฉลากเขียนว่า “คนดีสำเร็จรูป Fake Land ควรบริโภคด้วยสมองระวังเน่าบูด” เป็นต้น

สำหรับประกิตตั้งแต่วันแรกที่ทำงานศิลปะการเมืองตั้งแต่ปี 2549 จน 2568 เขาเชื่อว่าการเมืองเป็นเรื่องที่อยู่ในเนื้อตัวร่างกายของเราแต่เพียงแค่ไม่มีใครรู้สึกตัว ประกิตยังคงทำงานศิลปะต่อต้านและตั้งคำถามกับสังคมที่เป็นอยู่ สำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสองถึงสามปีที่ผ่านมา สำหรับตัวเขาไม่ได้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไป แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือความคาดหวังของนักการเมืองที่มีต่อตนเอง เช่น อดีตผลงานตนเองเคยสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองพรรค นักการเมืองพรรคนั้นมองเป็นมุมมองบวก แต่มาปัจจุบัน (2568) ผลงานของตนไม่ได้สนับสนุนอุดมการณ์แล้ว มุมมองนักการเมืองคนนั้นก็เปลี่ยนไป ทั้งที่ตัวเองยืนอยู่บนแนวทางการทำงานเดิม เป็นต้น การทำงานศิลปะทำให้โลกของตนเปิดกว้างและมองเห็นผลงานอื่นๆ มากมาย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการทำให้สังคมที่เป็นอยู่ดีขึ้น 

พื้นที่ทางศิลปะมีคุณค่าสำคัญเทียบเท่ากับพื้นที่ประชาธิปไตย เพราะว่าผลงานที่จัดแสดงไม่ว่าผู้ชมจะมองแล้วเข้าใจหรือไม่ สิ่งที่ได้อาจทำให้ผู้ชมได้แง่คิดอะไรบางอย่างกลับไป การแสดงงานศิลปะบ่อยๆ เป็นข้อดีต่อพลเมืองไทยเพราะเป็นหนึ่งในการศึกษา, การเรียนรู้ทางอ้อมและทำให้ผู้คนได้ขบคิด หลายครั้งงานศิลปะมีการสื่อสารที่เข้าใจยากจนเกินไป ประกิตมองว่าหากทำให้งานศิลปะมองแล้วเข้าใจง่ายขึ้นจะสามารถทำให้ชาวบ้านในพื้นที่อื่นๆ เข้าถึงได้ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก 

งานศิลปะไม่ได้ยืนโดดเดี่ยวแต่ยืนอยู่บนเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม หากอยากให้งานศิลปะไทยเติบโต ศิลปินต้องทำงานที่สามารถดึงคนรากหญ้าขึ้นมามีพื้นที่ให้ได้ รัฐต้องทำความเข้าใจและต้องมียุทธศาสตร์ในการบริหารนโยบาย

แม้ว่าสังคมจะเปลี่ยนแปลงแต่สิ่งที่น่าสนใจคือเปลี่ยนแล้วเกิดประโยชน์อะไรบ้าง

จุดเริ่มต้นการทำงานศิลปะของเรืองศักดิ์มาจากความเจ็บป่วยตั้งแต่วัยเด็กจากโรคภูมิแพ้เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ดินประสิว ฯลฯ ทำให้ต้องได้รับการฉีดยากระตุ้นภูมิคุ้มกันอยู่ทุกสัปดาห์ไม่หายขาด เมื่อได้เข้าเรียนศิลปะที่วิทยาลัยเพาะช่าง ทำให้เขาทำงานศิลปะด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง หนึ่งในผลงานที่ถูกพูดถึงในงานเขียนคือ Monolith Souvenir ที่จัดแสดงในนิทรรศการ Shift Path: 2.5 PM ซึ่งเป็นการนำเสนอฝุ่นที่เกาะอยู่บริเวณใบไม้ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อสื่อสารปัญหาฝุ่น PM 2.5

เรืองศักดิ์บอกว่า การเมืองเชิงศิลปะในปี 2568 เปลี่ยนไปมากจากอดีตที่ผ่านมา แม้ว่าจะมีพื้นที่การนำเสนองานศิลปะแต่การสื่อสารไปถึงใจกลางของปัญหาทางสังคมเป็นสิ่งที่เขาไม่แน่ใจว่าเดินไปถึงแล้วหรือยัง อุดมการณ์ทางการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลาแต่สิ่งที่เขาให้ความสนใจคืออุดมการณ์นั้นเปลี่ยนไปในทิศทางไหนและนำไปสู่ประโยชน์อะไร สิ่งที่รัฐควรทำคือการสร้างพื้นที่หลากหลายให้ผู้คนได้เติบโตทางศิลปะ ไม่จับมารวมกันอยู่ในกองเดียว

นิรทรรศการ Collapsing Clouds Form Stars ฝุ่นถล่มเป็นดาว โดย ส้ม ศุภปริญญา จะจัดแสดงถึงวันเสาร์ที่ 26 เมษายน 2025 ที่แกลเลอรี VER (นราธิวาสราชนครินทน์ 22) เวลา 12:00-18:00 ทุกวันอังคาร-เสาร์ (ปิดวันอาทิตย์และวันจันทร์)