ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2568 ศาลจังหวัดพัทยาอ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ อ.700/2567 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดพัทยา โจทก์ เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช โจทก์ร่วมและภัทรชาภา เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น โดยพิพากษายกฟ้องระบุว่า เป็นการแสดงความเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชน

เหตุในคดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อปี 2565 ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Titisak Pech” โพสต์วิดีโอประกอบข้อความว่า “ที่ฉิบหายอยู่ทุกวันนี้เป็นไปด้วยอีโก้ของตาคนนี้แหละ รศ.เชิด ชายฝั่ง” โดยบุคคลในวิดีโอคือ เชิดวงศ์ แสงศุภวานิช จากนั้นภัทรชาภาแชร์โพสต์ดังกล่าวและเขียนข้อความประกอบว่า “ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพัน เท่ากับวิถีของธรรมชาติ” โดยตั้งค่าโพสต์เป็นสาธารณะ ต่อมาเชิดวงศ์แจ้งความดำเนินคดีกับภัทรชาภาระบุว่า การแชร์โพสต์ทำให้ประชาชนที่พบเห็นข้อความดังกล่าวเข้าใจว่า เขาเป็นคนต้องการทำลายธรรมชาติชายฝั่งทะเล ทำให้กลายเป็นคนไม่น่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่อาจารย์ในมหาวิทยาลัย ได้รับความอับอาย ไม่กล้าพบผู้คน ขอให้ลงโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ในชั้นศาล เชิดวงศ์ ในฐานะผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วมและยื่นคำร้องขอให้ชดใช้เป็นเงินหนึ่งล้านบาท
รายละเอียดคำพิพากษาดังนี้
ขณะเกิดเหตุเชิดวงศ์ ดำรงตำแหน่งรองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและรองศาสตราจารย์ที่คณะพาณิชย์นาวีนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา มีหน้าที่สอนนิสิต ให้คำปรึกษาด้านวิชาการและบริการวิชาการ และมีบทบาทในการออกแบบโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งให้กาหน่วยงานราชการและเอกชน เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2565 นัตติกานต์ ผู้ช่วยของเขาแจ้งว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อว่า “Titisak Pech” โพสต์วิดีโอที่เชิดวงศ์เคยให้สัมภาษณ์ แต่ตัดมาเฉพาะช่วงที่ให้สัมภาษณ์ในเชิงสนับสนุนการสร้างเขื่อนกันคลื่น ประกอบข้อความว่า “ที่ฉิบหายอยู่ทุกวันนี้เป็นไปด้วยอีโก้ของตาคนนี้แหละ รศ.เชิด ชายฝั่ง” เมื่อตรวจสอบผู้แชร์โพสต์ดังกล่าวพบว่า ภัทรชาภาเป็นหนึ่งในผู้แชร์และเขียนข้อความประกอบว่า “ไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพัน เท่ากับวิถีของธรรมชาติ”
จากโพสต์ดังกล่าวทำให้เข้าใจว่า เชิดวงศ์คือตัวทำลายชายหาด ทำให้ธรรมชาติและชายฝั่งฉิบหาย กระทบต่อความน่าเชื่อถือในฐานะนักวิชาการและได้รับเชิญไปแสดงความคิดเห็นทางวิชาการน้อยลง มีนิสิตที่เห็นโพสต์มาถามเขาด้วยว่า เขาสอนเนื้อหาผิดให้แก่นิสิต โดยเนื้อหาเป็นการทำลายธรรมชาติจริงหรือไม่ ทำให้เชิดวงศ์ได้รับความอับอาย เขาระบุว่า หากภัทรชาภาเพียงแต่พิมพ์ข้อความเฉยๆ ไม่ได้แชร์โพสต์ร่วมด้วยเขาคงไม่ฟ้องคดีนี้
เห็นว่า โพสต์ที่เป็นเหตุในคดีนี้เป็นการแชร์โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กคนอื่นที่โพสต์วิดีโอมีภาพเชิดวงศ์ ชื่อ นามสกุลจริงและตำแหน่ง รายละเอียดเป็นบทสัมภารณ์ที่เชิดวงศ์ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเลือกโครงสร้างการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งว่า เนื่องจากชาวบ้านเรียกร้องให้มีการสร้างโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรง กรมโยธาธิการและผังเมืองจึงเลือกสร้างเขื่อนกันคลื่น แบ่งเป็นสองชนิดคือ เขื่อนหินใหญ่เรียงและเขื่อนชนิดคอนกรีตขั้นบันได ซึ่งเมื่อสร้างแล้วสามารถอยู่นาน 50 ปี ไม่พัง แต่โครงสร้างชั่วคราวเช่น การปักไม้ไผ่ การทำถุงทรายนั้นอยู่ได้เพียงหนึ่งถึงสองปี กรมฯจึงไม่เลือกโครงสร้างชนิดดังกล่าว นอกจากนี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กต้นทางยังพิมพ์ข้อความประกอบว่า “ที่ฉิบหายอยู่ทุกวันนี้เป็นไปด้วยอีโก้ของตาคนนี้แหละ รศ.เชิด ชายฝั่ง” คำว่า ฉิบหายตามพจนานุกรมราชบัณฑิตยสถานแปลว่า สูญหมด เสียหมด ป่นปี้
เห็นได้ว่า บุคคลทั่วไปดูคลิปวิดีโอและอ่านข้อความดังกล่าวย่อมเข้าใจความหมายว่า สาเหตุที่ชายฝั่งเสียหายป่นปี้ในปัจจุบันเพราะเชิดวงศ์ยึดถือความคิดของตนในการสนับสนุนการสร้างเขื่อนกันคลื่นเช่นนี้ แม้จำเลยจะไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่การที่จำเลยแชร์โพสต์โดยตั้งค่าการมองเห็นเป็นสาธารณะ บุคคลทั่วไปที่เห็นโพสต์ย่อมเข้ามาดูคลิปวิดีโอและอ่านทั้งข้อความของจำเลยและข้อความของผู้ใช้เฟซบุ๊กต้นโพสต์ ทำให้เข้าใจความหมายเช่นเดียวกันว่า สาเหตุที่ชายฝั่งเสียหายป่นปี้ในปัจจุบันเป็นเพราะเชิดวงศ์ยึดถือความคิดของตัวเองในการสนับสนุนการสร้างเขื่อนกันคลื่น การที่ภัทรชาภาแชร์โพสต์ดังกล่าวจึงเป็นการใส่ความเชิดวงศ์ต่อบุคคลที่สาม
ด้านภัทรชาภาเบิกความว่า เคยรับฟังข้อมูลว่าการสร้างกำแพงหรือเขื่อนกันคลื่นมีผลกระทบต่อธรรมชาติและเคยเห็นตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ใกล้บ้านที่หลังจากมีการสร้างเขื่อนกันคลื่น ปรากฏว่าชายหาดในบริเวณดังกล่าวหายไปและชาวบ้านไม่สามารถจับปลาได้ดังเดิม การแชร์โพสต์และพิมพ์ข้อความเพิ่มเติมเพราะต้องการแสดงความคิดเห็นว่า สิ่งที่ยั่งยืนที่สุดคือการปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ สิ่งก่อสร้างของมนุษย์นั้นไม่ยั่งยืน
จำเลยนำดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยาการทางทะเลและชายฝั่ง รศ.ดร.สมปรารถนา ฤทธิ์พริ้ง และอภิศักดิ์ ทัศนี นักรณณงค์สิ่งแวดล้อมมาเป็นพยานเบิกความสรุปได้ว่า นโยบายในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ผ่านมาทางกรมฯได้รับความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่างๆ ทั้งจากประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ซึ่งมีมุมมองที่แตกต่างกัน สำหรับการสร้างกำแพงหรือเขื่อนกันคลื่นเป็นทางเลือกสุดท้ายที่จะนำมาแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งเนื่องจากมีผลกระทบสูงสุดต่อระบบนิเวศ ถือเป็นมาตรการสีเทาและเป็นโครงสร้างวิศวกรรมแบบตรึงถาวร เดิมก่อนการสร้างกำแพงหรือเขื่อนกันคลื่นต้องจัดทำรายงานผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมแต่ภายหลังถูกยกเลิกไป หลังจากนั้นปรากฏว่า มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นเพิ่มจำนวนมากส่งผลกระทบต่อการทำประมง ทำให้ชาวประมงจอดเรือไม่ได้ ส่งผลกระทบต่อชายหากทำให้นักท่องเที่ยวลดลง
อีกทั้งมีชาวบ้านร้องเรียนว่า มีการสร้างเขื่อนกันคลื่นรุกล้ำลงไปในทะเล ซึ่งในระยะยาวอาจส่งผลให้มีการกัดเซาะชายฝั่งต่อไปและกระทบต่อระบบนิเวศชายหาด ทำให้ชายหาดหายไปได้ในอนาคต ซึ่งเรื่องนี้ได้ความว่า โครงการสร้างเขื่อนกันคลื่นที่เชิดวงศ์ร่วมออกแบบในพื้นที่ชายฝั่งตำบลม่วงงามและพื้นที่ชายฝั่งหาดทรายแก้ว อภเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา และพื้นที่ชายฝั่งหาดมหาราช อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ศาลปกครองสงขลามีคำพิพากษาให้ยกเลิกโครงการก่อสร้างพื้นที่ตำบลม่วงงามและศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้ระงับโครงการที่หาดมหาราช ส่วนโครงการของหาดทรายแก้ว หลังก่อสร้างได้เพียงสามปีมีรายงานข่าวว่าเกิดปัญหากำแพงเขื่อนพังเสียหาย
เห็นได้ว่า นโยบายการสร้างเขื่อนกันคลื่นเพื่อป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลนั้น มีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากการสร้างเขื่อนกันคลื่นมีผลกระทบต่อธรรมชาติและวิถีชีวิตของประชาชน มีกรณีที่ประชาชนร้องเรียนและศาลเคยมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ระงับหรือยกเลิกโครงการก่อสร้างในบางพื้นที่ ฟังได้ว่า ประเด็นดังกล่าวเป็นประเด็นสาธารณะที่สังคมให้ความสนใจ ประชาชนทั่วไปมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น เมื่อเชิดวงศ์เป็นนักวิชาการและเคยมีบทบาทในการร่วมออกแบบ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการสร้างเขื่อนกันคลื่นย่อมมีความเห็นได้ว่า เชิดวงศ์สนับสนุนการสร้างเขื่อนกันคลื่นอันเป็นเหตุให้ชายฝั่งได้รับความเสียหาย
ดังนั้นแม้โพสต์ของภัทรชาภา จำเลยที่แชร์โพสต์ต้นทางพร้อมข้อความแสดงความคิดเห็นจะประกอบด้วยเนื้อหาที่เป็นการใส่ความเชิดวงศ์แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการที่จำเลยแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมอันเป็นวิสัยของประชาชนที่จะกระทำ จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) เมื่อไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการละเมิดต่อเชิดวงศ์ไม่ต้องชำระค่าสินไหมทดแทนแก่เชิดวงศ์
อ้างอิงข้อมูล : Community Resource Centre Foundation – มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน