25 มีนาคม 2568 ศาลอาญารับฟ้องคดีที่บริษัท นาคราพิวัฒน์ จำกัด ผู้ผลิตภาพยนตร์ “2475 Dawn of Revolution” โดยวิวัธน์ จิโรจน์กุล เป็นโจทก์ฟ้องคดีหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ โดยมีจำเลยประกอบไปด้วยมูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชนหรือประชาไท จำเลยที่หนึ่ง เกษม ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิ จำเลยที่สอง เทวฤทธิ์ มณีฉาย อดีตบรรณาธิการบริหารประชาไท จำเลยที่สาม และประชาชนอีกสามคนที่แชร์เนื้อหาจากประชาไทเป็นจำเลยที่ห้าถึงหกตามลำดับ โดยศาลนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 พฤษภาคม 2568
ฟ้องโพสต์ประชาไททำคนเข้าใจผิดว่า รับเงินกองทัพบก ภาษีประชาชน
คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 15 มีนาคม 2567 เพจประชาไทโพสต์ข้อความ “ผ่านไป 1 วัน ยอดวิวแอนิเมชั่น“ 2475 Dawn of Revolution” ทะลุ 3 แสน ขณะที่เช็คผ่าน ACT AI พบเจ้าของแอนิเมชันรับโครงการทำสื่อแบบวิธีเฉพาะเจาะจง ‘กองทัพบก’ 11 สัญญา ระหว่าง 2563 ถึง 2565” นอกจากนี้แล้วในเพจประชาไท ยังได้เน้นข้อความใต้รูปภาพในเพจ โดยมีข้อความว่า “พบเจ้าของ ‘2475 Dawn of Revolution’ รับโครงการทำสื่อแบบวิธีเฉพาะเจาะจง กองทัพบก ๑๑ สัญญา จากการนำเสนอข่าวดังกล่าวเป็นการนำเสนอข้อมูลข่าวสารอันเป็นความเท็จ โดยมีความหมายว่า โจทก์รับเงินจากกองทัพบกมาใช้ในการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชัน ๒๔๗๕ Dawn of Revolution ซึ่งทำให้ประชาชนทั่วเชื่อว่า โจทก์รับเงินในการผลิตภาพยนตร์ดังกล่าวจากกองทัพบกจริง
ทั้งที่ความจริงแล้วการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นกิจการของโจทก์ เป็นงานของเอกชน ไม่เกี่ยวกับหน่วยงานของรัฐ หรือกองทัพบก การนำเสนอข่าวดังกล่าวจึงเป็นการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ตามมาตรา 14(1) ทำให้โจทก์เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง และเป็นการทำลายความน่าเชื่อถือเพื่อให้โจทก์ได้รับความเสื่อมเสียทางธุรกิจ ทำให้ประชาชนเข้าใจทันทีว่า โจทก์รับเงินมาจากกองทัพบกเป็นการหมิ่นประมาทใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สาม ดูหมิ่นโจทก์ด้วยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 ซึ่งในส่วนนี้เป็นการกล่าวหาจำเลยที่ 1-3
ส่วนจำเลยที่ 4-6 ผู้แชร์โพสต์มีพฤติการณ์ดังนี้
- จำเลยที่ 4 แชร์โพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้พร้อมข้อความประกอบว่า “อ่าว…ส่วนตัวเฉยๆ นะ ใครอยากจะทำใครอยากจะดู ทุกคนมีสิทธิ์แต่อันนี้มันแปลกๆ เน้ออ เอาภาษีประชาชนมาจ่ายอวยพวกตัวเองเนี่ย” ซึ่งคำว่า “เอาภาษีประชาชนมาจ่ายอวยพวกตัวเองเนี่ย” เป็นความเท็จ ความจริงแล้วการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นกิจการของโจทก์และเป็นงานของเอกชนทั้งสิ้น ไม่ใช่เงินจากภาษีประชาชนและทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ในทันทีว่าการที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นโครงการทำสื่อของกองทัพบกและรับเงินจากกองทัพบก ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน
- จำเลยที่ 5 แชร์โพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้พร้อมข้อความว่า “ไม่แปลก เมื่อไปดูในเอ็นเครดิตจะพบว่ารายชื่อผู้สนับสนุน จะมีชื่อ “ผู้ไม่ประสงค์ออกนาม” อยู่รายการนึงที่ยอดบริจาคสูงกระโดดขึ้นมาจากรายชื่ออื่นๆ อย่างผิดวิสัย (ดูในคอมเม้น)” ซึ่งความจริงแล้วการสร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นกิจการของโจทก์และเป็นงานของเอกชนทั้งสิ้น ไม่ใช่เงินจากภาษีประชาชน และทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ในทันทีว่าการที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นโครงการทำสื่อของกองทัพบกและรับเงินจากกองทัพบก ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน
- จำเลยที่ 6 แชร์โพสต์ที่เป็นเหตุแห่งคดีนี้ ทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจได้ในทันทีว่าการที่โจทก์สร้างภาพยนตร์ดังกล่าวเป็นโครงการทำสื่อของกองทัพบกและรับเงินจากกองทัพบก ซึ่งเป็นเงินภาษีประชาชน ทั้งนี้ตามเอกสารท้ายฟ้อง จำเลยที่ 6 ทำเพียงแชร์โพสต์เท่านั้นไม่มีข้อความประกอบอื่นๆ
ศาลรับฟ้อง จำเลยแย้งไม่มีอำนาจฟ้องพ.ร.บ.คอมฯและไม่ผิดหมิ่นประมาท
11 ตุลาคม 2567 โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งหกคนต่อศาลอาญา เนื่องจากเป็นคดีที่ประชาชนเป็นโจทก์ฟ้องเอง ศาลอาญาจึงนัดหมายไต่สวนมูลฟ้องเพื่อพิจารณาว่า รับหรือไม่รับฟ้องสามนัดคือ วันที่ 9 ธันวาคม 2567 และวันที่ 3 และ 17 มีนาคม 2568 ต่อมาวันที่ 25 มีนาคม 2568 ศาลอาญามีคำสั่งรับฟ้อง ประชาไทรายงานคำแถลงก่อนศาลมีคำสั่งรับฟ้องในสามประเด็นดังนี้
โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องพ.ร.บ.คอมฯ – พ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 14(1) วรรคท้ายระบุว่า “..อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องข้อหาหมิ่นประมาท พร้อมๆ กับข้อหาตาม ม.14(1) ตามพ.ร.บ.คอมฯ ได้ ซึ่งประเด็นนี้ศาลฎีกาเคยวินิจฉัยไว้เป็นบรรทัดฐานแล้วในหลายกรณี
คดีขาดอายุความ – ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96 ซึ่งต้องร้องทุกข์หรือฟ้องคดีภายในสามเดือนนับแต่วันรู้เหตุแห่งการกระทำ แต่โจทก์ฟ้องหลังจากผ่านไปแล้วราวเจ็ดเดือน
เนื้อหาไม่ปรากฏความเท็จ – เมื่อพิจารณาคำฟ้อง เอกสารต่างๆ รวมถึงคำเบิกความของโจทก์ ไม่ปรากฏข้อความเท็จ และไม่ปรากฏว่ามีข้อความใดที่แสดงให้เห็นว่าโจทก์รับเงินจากกองทัพมาทำแอนิเมชั่น “2475 Dawn of Revolution” ทั้งพยานยังเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านรับว่า ในการรับจ้างกองทัพบกโดยวิธีการเฉพาะเจาะจงหรือโดยวิธีพิเศษ เป็นกระบวนการที่เป็นไปตามกฎหมาย และเป็นข้อเท็จจริงที่โจทก์รับงานจากกองทัพบกในช่วงระหว่าง 2563-2565 จำนวน 11 สัญญาจริง
ส่วนที่โจทก์นำสืบยอมรับว่าแม้ข้อความไม่ปรากฏชัดเจนว่าโจทก์สร้างภาพยนตร์โดยรับเงินจากกองทัพบกโดยตรง แต่ข้อความดังกล่าวเป็นการชี้นำให้ผู้รับข่าวสารเข้าใจว่าโจทก์ได้รับงบจากกองทัพมาดำเนินการทำแอนิเมชั่นนั้น ก็เป็นเพียงการกล่าวอ้างและนำสืบลอย ๆ ของพยานโจทก์ อันเป็นการนำเอาความรู้สึกส่วนตัวเพียงคนเดียวมายืนยัน และเมื่อข้อความไม่ผิดตามความผิดฐานหมิ่นประมาทแล้ว การกระทำของจำเลยที่ 4-6 จึงไม่เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วย