31 ตุลาคม 2564 คณะราษฎรยกเลิก112 หรือ ครย.112 เปิดแคมเปญเข้าชื่อเสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใข้ช่องทางตามมาตรา 133 ของรัฐธรรมนูญ 2560 โดยเปิดให้ลงชื่อบนกระดาษและทางออนไลน์ที่ www.no112.org ซึ่งผ่านไปเพียง 24 ชั่วโมงได้รายชื่อมากกว่าหนึ่งแสนรายชื่อ ต่อมาวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 เวลาประมาณ 23.00 น. มีผู้แจ้งว่า www.no112.org ไม่สามารถเข้าใช้ได้ตามปกติ โดยขึ้นสัญลักษณ์ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระบุว่า เนื้อหานี้ถูกระงับเรื่องจากมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และ/หรือเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ.2478 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
จากการสืบค้นพบว่า ศาลอาญาไต่สวนตามคำร้องของเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ตามด้วยคำสั่งปิดกั้นและสาธารณะทราบในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 เป็นเหตุให้อานนท์ นำภา ผู้เสนอร่างกฎหมายยกเลิกมาตรา 112 ในเวลานั้นยื่นคัดค้านการปิดเว็บไซต์ต่อศาลอาญา

ดีอีอ้างปกป้องสถาบันกษัตริย์ไม่ให้เสื่อมเสีย ปิดช่องกระทำความผิด
คดีนี้มีผู้ร้องคือ พ.ต.ท.พันธุ์ล้าน ปฐมพรวิวัฒน์ ในฐานะเจ้าพนักงานตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ สืบเนื่องจากวันที่ 31 มกราคม 2565 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมอบหมายให้ยื่นคำร้องต่อศาลให้มีคำสั่งระงับหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์จำนวน 52 URLs ลำดับที่หนึ่งคือ www.no112.org ในคำให้การผู้ร้องระบุว่า เว็บไซต์ทั้งหมดเป็นเว็บไซต์ที่ประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ มีเนื้อหาอันเข้าข่ายขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมฯ จึงเป็นเหตุให้ยื่นคำร้องต่อศาลแพ่งให้ระงับการเข้าถึงและขอให้มีคำสั่งระงับข้อมูลที่มีลักษณะเดียวกันที่อาจมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ในอนาคต
“เนื่องจากในทางเทคนิคและวิธีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ นั้นสามารถทำได้หลายวิธีการตามแต่เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปจึงมีผลทำให้ข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม URL ข้างต้นสามารถนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และแพร่หลายต่อไปได้อีก ผู้ร้องจึงมีความประสงค์ขอให้ศาลได้โปรดไต่สวนคำร้องและมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาอันเข้าข่ายมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน จำนวน 52 URLs ดังกล่าวออกจากระบบคอมพิวเตอร์เพื่อปิดช่องทางในการกระทำความผิดและเพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ มิให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง รวมทั้งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีเนื้อหาซึ่งศาลได้มีคำสั่งในคดีนี้ให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบออกจากระบบคอมพิวเตอร์แล้วมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์และเผนแพร่ในระบบคอมพิวเตอร์ซ้ำอีก รวมทั้งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะอันเดียวกันกับข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ผู้ร้องได้บันทึกไว้ในแผ่นวิดีทัศน์ ไม่ว่าจะมีการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์นั้นได้ในภายภาคหน้าอีกกี่ครั้งก็คาม ก็ให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งให้ผู้ให้บริหารทำการระงับการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวได้”
ด้านอานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษชน ผู้เสนอกฎหมายเพื่อยกเลิกมาตรา 112 เบิกความคัดค้านการปิดเว็บไซต์ว่า มีเนื้อหาที่ไม่ขัดต่อกฎหมายและจัดทำขึ้นเพื่อประชาชนลงชื่อเสนอกฎหมายเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ เหตุผลที่เสนอให้ยกเลิกมาตรา 112 นั้นเพราะเห็นว่า เนื้อหาของมาตรา 112 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย อัตราโทษสูงเกินไปจึงไม่ชอบธรรม และเห็นว่าหลายประเทศที่มีการปกครองโดยระบอบกษัตริย์ไม่มีกฎหมายเช่นเดียวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นอกจากนี้หากมาตราดังกล่าวยังคงมีผลบังคับใช้ การตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์จะไม่สามารถทำได้ แต่หากไม่มีจะทำให้ตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตได้
อานนท์มองว่า เมื่อยกเลิกมาตรา 112 ไปแล้วก็สามารถใช้กฎหมายหมิ่นประมาทธรรมดาแทน โดยสามารถเพิ่มโทษในส่วนการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์และจะใช้บทยกเว้นโทษตามกฎหมายหมิ่นประมาททั่วไปได้ เขาย้ำว่า การเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎหมายนั้นเป็นการกระทำโดยสันติวิธีผ่านทางรัฐสภา อีกทั้งไม่เป็นข้อยกเว้นห้ามแก้ไขตามรัฐธรรมนูญ 2560 ส่วนคำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันการเมืองนั้น ปรากฏอยู่ในทางวิชารัฐศาสตร์
ไต่สวนฝ่ายเดียวชอบด้วยกฎหมายแล้ว ข้อความขัดต่อความสงบเรียบร้อย
การร้องขอศาลสั่งปิดและมาตรการปิดเว็บไซต์ตามคำสั่งศาลแพ่ง เป็นกระบวนการที่กระทำโดยผู้ที่เกี่ยวข้องของเว็บไซต์ไม่ได้รับรู้จนกระทั่งไม่สามารถเข้าถึงเว็บไซต์ได้ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2565 จึงเป็นเหตุให้มีการร้องคัดค้านทั้งเรื่องการไต่สวนฝ่ายเดียวและคำสั่งปิดเว็บไซต์ ต่อมาวันที่ 1 มีนาคม 2566 ศาลอาญามีคำสั่งเห็นว่า มาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมฯ เป็นกฎหมายที่มุ่งระงับการแพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่แพร่หลายออกไป ไม่ว่าจะทราบตัวบุคคลที่กระทำการเผยแพร่ข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือไม่เพื่อป้องกันความเสียหายเป็นวงกว้างดังนั้นการไต่สวนจึงอาจทำได้ฝ่ายเดียว เพื่อให้เกิดความรวดเร็วสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ทั้งไม่มีกฎหมายห้ามให้ศาลไต่สวนฝ่ายเดียว ดังนั้นจึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ในเรื่องการแก้ไขกฎหมายแม้จะเป็นเรื่องที่ทำได้ “แต่หลักการและเหตุผลในการอ้างอิงเพื่อแก้ไขต้องอยู่บนพื้นฐานแห่งความสุจริตและความชอบธรรม” เว็บไซต์ดังกล่าวโพสต์เหตุผลของการเสนอกฎหมายตอนหนึ่งว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมือง…จึงเป็นการโพสต์ข้อความบิดเบือนทั้งข้อเท็จจริงกฎหมายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน เนื่องจากสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันหลักของชาติไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง ข้อความดังกล่าวจึงเป็นข้อความที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย” จึงไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งระงับการเข้าถึงเว็บไซต์
อุทธรณ์ระบุการยอมให้วิจารณ์สถาบันฯจะส่งผลเป็นการเซาะกร่อน บ่อนทำลาย
วันที่ 18 เมษายน 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาแบ่งเป็นสองประเด็นหลักคือ ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ และคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ในประเด็นแรก ผู้ร้องยื่นคำร้องตามมาตรา 20 ของพ.ร.บ.คอมฯ ระบุว่า มีข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยตามวรรคสอง โดยวรรคสี่ ระบุว่า“การดำเนินการของศาลตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาใช้บังคับโดยอนุโลม…” ซึ่งทำให้กระบวนการพิจารณาของศาลจะต้องเป็นไปตามประมวลวิธีพิจารณาความอาญา อย่างไรก็ตามทั้งพ.ร.บ.คอมฯและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการยื่นคำร้องขอการพิจารณารวมทั้งการออกคำสั่งของศาลในกรณีนี้ไว้โดยเฉพาะจึงต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับเท่าที่พอจะบังคับได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 15
ในการยื่นคำร้องคดีนี้ผู้ร้องบรรยายคำร้องพร้อมพยานหลักฐานว่า ข้อมูลคอมพิวเตอร์ 52 URLS ตามคำร้องมีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนดังที่ระบุไว้ตามพ.ร.บ.คอมฯ มาตรา 20 วรรคสอง คำร้องมีลักษณะเป็นการเสนอคดีต่อศาลเป็นคดีที่ไม่มีข้อพิพาทตามประมวลกฎหมายอาญาวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 188 การที่ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งรับคำร้อง เรียกไต่สวน แล้วมีคำสั่งให้ระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ถือว่าศาลขั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาตามความจำเป็นและวินิจฉัยชี้ขาดตามที่เห็นสมควร เพื่อให้เท่าทันกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่จะส่งผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนโดยส่วนรวมอันเป็นการให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่ายตรงตามเจตนารมณ์ของการประกาศใช้พ.ร.บ.คอมฯ การดำเนินกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่ดำเนินถือว่า ชอบแล้ว ศาลอุทธรณ์เห็นพ้องด้วย
ในประเด็นคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติหลักการเรื่องสิทธิและเสรีภาพทำนองว่า แม้ประชาชนจะมีสิทธิเสรีภาพ แต่ต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่ไม่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนและไม่ละเมิดหน้าที่ในการพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อานนท์ ผู้คัดค้านมีการเผยแพร่เนื้อหาที่ชักชวนให้มีการยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่รัฐธรรมนูญ 2560มาตรา 6 บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ สอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ดังกล่าวจึงเป็นการใช้เสรีภาพเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญกำหนด
ทั้งหลักการที่ยอมให้ประชาชนสามารถวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ในฐานะสถาบันทางการเมืองได้นั้นจะนำไปสู่การ “เซาะกร่อน บ่อนทำลาย” ทำให้ไม่อยู่ในสถานะเคารพสักการะอีกต่อไป ก่อให้เกิดความแตกแยกหรือเกลียดชังในสังคม จึงถือว่า www.no112.org มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน ศาลอุทธรณ์ได้เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น