เปิดเหตุผลหลากหลายที่ศาลให้ “รอลงอาญา” คดี 112 แต่ไม่รับประกันว่าจะได้เหมือนกันทุกคน

คดีฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศบังคับใช้กฎหมายทุกฉบับทุกมาตราเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 จากสถิติของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (ศูนย์ทนายฯ) นับถึงวันที่ 9 เมษายน 2568 มีผู้ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 278 คนใน 311 คดี มีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 179 คดี

หลังการกลับมาดำเนินคดีระลอกนี้ได้สี่ปี ห้าเดือน ในคดีศาลมีคำพิพากษาแล้วอย่างน้อย 179 คดี แยกเป็น คดีที่จำเลยเลือกปฏิเสธและขอต่อสู้คดี อย่างน้อย 91 คดี

เปิดเหตุผลหลากหลายที่ศาลให้ “รอลงอาญา” คดี 112 แต่ไม่รับประกันว่าจะได้เหมือนกันทุกคน

โดยผลคำพิพากษาแยกได้เป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 18 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 53 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 13 คดี, คดีที่ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่นๆ 4 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้องจำเลยบางคน แต่ลงโทษจำคุกจำเลยอีกราย 3 คดี

คดีที่จำเลยรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาแล้ว อย่างน้อย 88 คดี แยกเป็นคดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 38 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 47 คดี และคดีที่ศาลให้รอการกำหนดโทษ 3 คดี

แม้การดำเนินคดีระลอกนี้จะมีปริมาณคดีที่สูงที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน แต่จากคำพิพากษาที่ออกมาก็จะเห็นว่า ในระลอกนี้มีสัดส่วนคดีที่ศาลกำหนดโทษ “รอลงอาญา” จำนวนมาก เปรียบเทียบกับในยุคสมัยก่อนหน้านี้ “แทบไม่มี” คดีที่ศาลพิพากษาให้รอลงอาญาเลย ชวนย้อนทบทวนเหตุผลตามคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ที่ศาลตัดสินให้จำเลยมีความผิด แต่ก็ให้จำเลยได้ “รอลงอาญา” 

รอลงอาญา ทางเลือกของศาลให้จำเลยไม่ต้องเข้าคุก

การรอลงอาญาหรือการรอการลงโทษ เป็นหนึ่งในวิธีการของกระบวนการยุติธรรมทางเลือก ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ซึ่งใช้กับคดีทุกประเภททุกข้อหา มีวัตถุประสงค์เพื่อไม่ให้ผู้ที่ได้รับโทษจำคุกในระยะเวลาสั้นตามข้อหาที่ไม่ร้ายแรงต้องเข้าสู่เรือนจำในทุกกรณี เป็นหนึ่งในทางเลือกเพื่อให้ผู้ที่ถูกตัดสินว่ากระทำความผิดได้มีโอกาสกลับตัวกลับใจ ยังไม่ถูกตีตราจากสังคมว่าเป็นผู้ต้องโทษ และลดปัญหาความแออัดในเรือนจำ ลดภาระของรัฐในการดูแลและควบคุมนักโทษในเรือนจำ 

หากเงื่อนไขของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ผู้ที่ถูกศาลพิพากษาว่ามีความผิดและมีโทษจำคุกแล้ว ยังมีโอกาสจะได้รับการรอลงอาญา ต้องเข้าข่ายคุณสมบัติดังต่อไปนี้

  1. ในคดีนั้นศาลจะลงโทษจำคุกจริงไม่เกินห้าปี
  2. ผู้นั้นไม่เคยโดนจำคุกมาก่อน หรือ เคยได้รับโทษจำคุก แต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือลหุโทษหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือ เคยได้รับโทษจำคุกมาแล้วและพ้นโทษมาเกินห้าปี แล้วมาทำความผิดซ้ำ ในข้อหาประมาทหรือลหุโทษ
  3. ศาลได้พิจารณาแล้วว่า มีเหตุให้รอลงอาญาได้


ซึ่งหลักเกณฑ์ที่ศาลจะใช้ในการพิจารณาว่าผู้ใดควรได้รอลงอาญาหรือไม่ มีอย่างน้อย 14 ข้อด้วยกัน คือ

  1. อายุ
  2. ประวัติ
  3. ความประพฤติ
  4. สติปัญญา
  5. การศึกษาอบรม
  6. สุขภาพ
  7. ภาวะแห่งจิต
  8. นิสัย 
  9. อาชีพ
  10. สิ่งแวดล้อม
  11. สภาพความผิด
  12. การรู้สึกความผิด
  13. การพยายามบรรเทาผลร้ายที่เกิดขึ้น
  14. เหตุอื่นอันควรปราณี

หากศาลเห็นว่า จำเลยคนใดมีลักษณะเข้าเงื่อนไข และมีเหตุที่ควรให้รอลงอาญาได้ ก็อาจสั่งให้จำเลยมีความผิด มีโทษ แต่ให้รอลงอาญาเอาไว้ก่อน โดยมีกำหนดไม่เกินห้าปี นับตั้งวันที่ได้มีคำพิพากษา

ผลของการรอลงอาญา คือ ผู้ที่ถูกตัดสินให้ต้องรับโทษนั้น “ยัง” ไม่ต้องรับโทษนั้นโดยทันที แต่ให้ “รอ” เอาไว้ก่อน และให้ผู้นั้นอยู่กับความรู้สึกผิดและสำนึกกับการกระทำของตัวเองนอกเรือนจำ โดยถือเป็นการให้โอกาสจากศาลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนิสัย และศาลอาจกำหนดเงื่อนไขระหว่างการรอลงอาญาก็ได้  เช่น ให้มารายงานตัวตามกำหนดอย่างต่อเนื่อง ให้ทำงานสาธารณะประโยชน์ หากภายในระยะเวลาที่สั่งให้ “รอ” ลงอาญานี้ จำเลยคนนั้นกระทำความผิดซ้ำอีก และศาลไม่เห็นว่าควรจะรอลงอาญาอีกต่อไป โทษที่ศาลกำหนดไว้ก็จะถูกนำมาบังคับใช้ทันที 

การเลือกเส้นทางต่อสู้ที่แตกต่าง ทำให้โอกาสรอลงอาญาไม่เท่ากัน 

ข้อมูลจากศูนย์ทนายฯ จากคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษาไปแล้วเท่าที่ทราบ 179 คดี หรือร้อยละ 57.56 ของคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา แบ่งออกเป็นสองกลุ่มหลักคือ

  1. กลุ่มที่ต่อสู้คดีในชั้นศาลมีจำนวน 92 คดี ศาลพิพากษาให้ รอลงอาญา 14 คดี คิดเป็นประมาณร้อยละ 15 
  2. กลุ่มให้การรับสารภาพมีจำนวน 88 คดี ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา 47 คดี คิดเป็นประมาณร้อยละ 53

จากสถิติจะเห็นได้ว่า คดีที่จำเลยตัดสินใจรับสารภาพมีอัตราส่วนการได้รอลงอาญาสูงกว่าคดีที่จำเลยปฏิเสธ ซึ่งอาจเป็นเพราะเงื่อนไขตามมาตรา 56 ที่ศาลอาจเห็นว่า จำเลย “รู้สึกถึงความผิด” นั้นแล้ว แต่ก็ไม่แน่เสมอไปเพราะคดีอีกจำนวนไม่น้อยที่จำเลยรับสารภาพ พร้อมเขียนคำร้องประกอบการรับสารภาพโดยสำนึกถึงความผิดแล้ว แต่ศาลก็ยังพิพากษาให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา และอีกหลายคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธพร้อมต่อสู้คดีโดยยืนยันเสรีภาพในการแสดงความเห็นของตัวเองอย่างเต็มที่ แต่ศาลก็ยังให้รอลงอาญา

อย่างไรก็ดีมีสองคดีที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยได้รอลงอาญา แต่พนักงานอัยการก็ยื่นอุทธรณ์ขอให้ลงโทษเต็ม และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ก็เปลี่ยนใจ แก้ให้จำเลยต้องรับโทษจำคุกทันที คือ คดีของธนพร จากการคอมเมนต์ท้ายโพสต์ของเพจที่เผยแพร่ภาพตัดต่อรัชกาลที่ 8 และ 9 ศาลอาญาตลิ่งชันพิพากษาจำคุกสองปี ให้รอลงอาญาสองปี ต่อมาศาลอุทธรณ์แก้ไม่ให้รอลงอาญา ท้ายสุดศาลฎีกายืนคำพิพากษาตามศาลอุทธรณ์ และธนพรถูกส่งตัวเข้าเรือนจำทันที และคดีของอาร์ม จากการเผยแพร่คลิป Tiktok คุยหยอกแมว ศาลจังหวัดกำแพงเพชรพิพากษาจำคุกหนึ่งปีหกเดือน โดยให้รอลงอาญาสองปี ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ไม่ให้รอการลงโทษ

เหตุผลจากศาลหลากหลาย สำนึกผิด-เป็นนักศึกษา ได้รอหลายคดี

เมื่อศาลในแต่ละคดีจะพิพากษาให้จำเลยได้รอลงอาญา ศาลจะต้องให้เหตุผลประกอบการพิจารณาให้เป็นไปตามเงื่อนไขของมาตรา 56 ด้วย จากข้อมูลคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่รวบรวมไว้โดยศูนย์ทนายฯ สามารถพบสถิติการให้เหตุผลของศาลประกอบการพิพากษาให้รอลงอาญา ดังต่อไปนี้ 

เงื่อนไขของการรอลงอาญา ที่ศาลยกมาใช้มากที่สุดห้าอันดับแรก ได้แก่

อันดับ 1 ไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน 18 คดี

ตัวอย่างเช่น คดีของเบญจา อะปัญ นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกฟ้องในกรณีปราศรัยและอ่านแถลงการณ์ที่หน้าบริษัทซิโน-ไทย ในระหว่างกิจกรรม ‘คาร์ม็อบใหญ่ไล่ทรราช’ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท แม้จะเบิกความว่าข้อเรียกร้องในการชุมนุมไม่มีข้อใดที่เรียกร้องโดยตรงถึงกษัตริย์ แต่ไม่มีเหตุที่จะต้องกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 มาเปรียบเทียบให้เกิดความเสื่อมเสีย ให้จำคุกสามปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษเหลือจำคุกสองปี 

ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าจำเลยไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อนและยังศึกษาอยู่ อยู่ในวิสัยที่จะกลับตัวเป็นพลเมืองดีได้ โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้สองปี

อันดับ 2 สำนึกผิด สิบคดี

ตัวอย่างเช่น คดีของวรินทร์ทิพย์ วัชรวงษ์ทวี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 เหตุจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” บริเวณหน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เมื่อ 10 กันยายน 2565 ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า ให้จำคุกสามปี จำเลยรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์ไปบางปาก ลดโทษให้เหลือจำคุกสองปี 

ศาลเห็นว่าจำเลยสำนึกผิดจากการรับสารภาพและไม่เคยกระทำผิดมาก่อน โทษจำคุกให้รอลงอาญาสองปี คุมประพฤติหนึ่งปี รายงานตัวต่อศาลทุกสามเดือนและบำเพ็ญประโยชน์ไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

อันดับ 3 อาชีพ เก้าคดี

ตัวอย่างเช่น คดีของ ‘ธิดา’ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถูกฟ้องข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการเผยแพร่คลิปวิดีโอในแอพพลิเคชัน TikTok ลิปซิงค์เพลง “พระราชาในนิทาน” ที่เป็นกระแสนิยมเล่นกันในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษจำคุกสามปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกหนึ่งปีหกเดือน

เมื่อพิเคราะห์รายงานจากคุมประพฤติแล้วเห็นว่า จำเลยประกอบอาชีพสุจริตและใช้ TikTok ในการเพิ่มยอดวิวและหาได้รายได้ เห็นว่าจำเลยโพสต์คลิปดังกล่าวเพื่อต้องการเพิ่มยอดวิวเท่านั้น เป็นไปได้ว่าจำเลยจะขาดความยับยั้งชั่งใจ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เห็นควรรอการลงโทษของจำเลยมีกำหนดสองปี และให้รายงานตัวต่อคุมประพฤติไว้หนึ่งปี มีกำหนดสี่ครั้ง หลังอ่านคำพิพากษาศาลได้ตักเตือนจำเลยห้ามกระทำการลักษณะเดียวกันนี้อีก

อันดับ 4 การศึกษา แปดคดี

ตัวอย่างเช่น คดีของสิริชัย อายุ 22 ปี นักศึกษาคณะวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 358 เหตุพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ยกเลิก 112 และ “ภาษีกู” บนรูปพระราชวงศ์บริเวณย่านคลองหลวง ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิด ตามมาตรา 112 ให้จำคุกสามปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุกกระทงละสองเดือน ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวมห้ากระทง เป็นจำคุกสิบเดือน ปรับ 30,000 บาท และกรณีครอบครองบุหรี่ไฟฟ้า ลงโทษปรับ 1,177 บาท

ในคำพิพากษาระบุด้วยว่า ไม่ปรากฎว่าจำเลยเคยต้องโทษจำคุกมาก่อน และจำเลยยังเป็นนักศึกษาอยู่ โทษจำคุกจึงเห็นควรให้รอลงอาญาไว้สองปี

อันดับ 5 ไม่เคยทำผิดมาก่อนหกคดี

ตัวอย่างเช่น คดีของธัญดล โปรแกรมเมอร์วัย 38 ปี ถูกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) เหตุแชร์ข้อความจากเพจเฟซบุ๊ก “KonthaiUK” จำนวนสองโพสต์เกี่ยวกับการอุ้มบริษัทการบินไทย ตั้งแต่เมื่อช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดให้ลงโทษตามมาตรา 112 จำคุกกระทงละสามปี แต่จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกกระทงละหนึ่งปีหกเดือน รวมจำคุกสองปี 12 เดือน

แต่พบว่า ภายหลังที่จำเลยได้กระทำความผิด จำเลยได้น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 10 อันเป็นการสำนึกในการกระทำความผิดแล้ว ประกอบกับจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน เห็นว่าควรให้โอกาสจำเลยสักครั้ง น่าจะเป็นผลดีแก่จำเลยและสังคมมากกว่า จึงเห็นว่าควรให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลาสามปี พร้อมกำหนดให้คุมประพฤติเป็นเวลาสามปี และให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกสี่เดือน และให้ทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์เป็นเวลา 48 ชั่วโมง

อย่าางไรก็ดี หากพิจารณาเพียงเหตุผลที่ศาลใช้พิพากษาทั้งหมดข้างต้นก็อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้แน่ชัดได้ว่า คดีที่มีเงื่อนไขอย่างเดียวกันจะได้ผลเป็นการรอลงอาญาเสมอไป และในความเป็นจริงก็มีคำพิพากษาหลายคดี ที่จำเลยมีเงื่อนไขประกอบที่เหมือนกัน แต่กลับไม่ได้รับการรอลงอาญา เช่น คดีของอุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล ที่ถูกฟ้องจากการโพสต์เฟซบุ๊กห้าข้อความ แม้เขาจะให้การรับสารภาพ มีสถานะเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน แต่กลับไม่ได้รับโทษรอลงอาญา ศาลอาญาและอุทธรณ์ให้ความเห็นว่า การกระทำของก้องถือเป็นความร้ายแรง ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดและดูหมิ่นเกลียดชังสถาบันฯ หรือคดีของสิรภพ หรือขนุน ที่ถูกฟ้องจากการกล่าวปราศรัยในการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ ซึ่งคดีนี้เป็นการกระทำครั้งแรกและเขาถูกดำเนินคดีเพียงคดีเดียว และขนุนยังเป็นนักศึกษาปริญญาโทอยู่ แต่ศาลก็ให้จำคุกโดยไม่รอลงอาญา 

ซึ่งมีข้อสังเกตว่า นอกจากเงื่อนไขที่มาตรา 56 กำหนดไว้ให้ศาลสั่งรอลงอาญาได้แล้ว ศาลอาจจะนำ “เนื้อหา” หรือข้อความที่จำเลยถูกกล่าวหาว่า เป็นคนพูดหรือโพสบนโลกออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของการพิจารณาด้วย หากว่าเนื้อหาเป็นการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา หรือใช้ถ้อยคำรุนแรงหรือหยาบคาย หรือเป็นการกระทำซ้ำๆ เช่น การโพสหลายข้อความ การปราศรัยหลายครั้ง ศาลก็อาจพิจารณาไม่รอลงอาญา หรือหากเนื้อหาเป็นการกล่าวถ้อยคำอ้อมๆ ที่สุภาพ หรือมีลักษณะเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ด้วยคำสุภาพ ไม่ใช่การด่าทอ ศาลอาจพิจารณาให้รอลงอาญา แต่เนื้อหาของการกระทำที่ถูกฟ้องไม่ใช่หนึ่งในหลักเกณฑ์การพิจารณาให้รอลงอาญา ตามมาตรา 56 ศาลจึงไม่อธิบายแนวทางการพิจารณาเช่นนี้ไว้ในคำพิพากษา

ความจงรักภักดี เหตุผลพิเศษใหม่จากศาล

นอกจากเหตุผลตามเงื่อนไขในมาตรา 56 ที่ศาลอธิบายไว้แล้ว ยังมีหลายคดีที่ศาลอธิบายเหตุของการรอลงอาญาด้วย “เหตุอื่นอันควรปราณี” ที่จำเลยนำเสนอต่อศาล และศาลหยิบมาใช้ประกอบการพิจารณา ดังนี้ 

เดินทางไปถวายพระพรองค์ภาฯ และขอขมารัชกาลที่ 10

คดีของพิทักษ์พงษ์ พนักงานบริษัทวัย 27 ปี ถูกฟ้องคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการใช้บัญชีเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์กลุ่มปกป้องสถาบันกษัตริย์ฯ พร้อมแนบภาพถ่ายแสดงภาพบุคคลยืนชูมือ ข้างซ้ายชูสามนิ้ว และข้างขวาชูนิ้วกลางหนึ่งนิ้ว หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เมื่อ17 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณรัฐสภา ในชั้นศาล พิทักษ์พงษ์รับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า เห็นว่าจำเลยมีความผิด ลงโทษจำคุกห้าปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือจำคุกสองปีหกเดือน โดยศาลชั้นต้นไม่รอลงอาญา

ต่อมาศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น แต่เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกสามปี เนื่องจากเห็นว่าจำเลยรู้สึกสำนึกผิด จากการเดินทางไปถวายพระพรให้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภาฯ และขอขมาต่อรัชกาลที่ 10 โดยแสดงต่อพระบรมฉายาลักษณ์ อีกทั้งจำเลยไม่เคยกระทำผิดมาก่อน มีอาชีพมั่นคง ยังพอแก้ไขให้เป็นพลเมืองดีได้ กำหนดเงื่อนไขให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกสี่เดือน ให้ทำงานบริการสังคมเป็นระยะเวลา 84 ชั่วโมง รวมถึงห้ามกระทำการที่มีส่วนล่วงเกินให้สถาบันกษัตริย์เสียหายอีก

บริจาคร่างกายและดวงตาแก่สภากาชาดไทย 

คดีของ ‘เอก’ พนักงานบาร์ วัย 29 ปี ถูกฟ้องคดีมาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์โพสต์ข้อความจากเพจ “KTUK – คนไทยยูเค” ซึ่งมีเนื้อหาเชื่อมโยงคุกวังทวีวัฒนา และรัชกาลที่ 10 ในชั้นศาล ‘เอก’ ให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ให้จำคุกสี่ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงโทษจำคุกสองปี

พิเคราะห์รายงานการสืบเสาะและพินิจ เห็นว่าจำเลยประกอบอาชีพที่มั่นคง อาศัยอยู่ร่วมกับครอบครัวและมีลูกอายุสามปี อีกทั้งจำเลยได้บริจาคดวงตาและร่างกายไว้กับสภากาชาดไทยด้วย เห็นควรให้รอการลงโทษจำคุกไว้สองปี พร้อมให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติแปดครั้ง ภายในสองปี และให้ทำงานบริการสังคม 48 ชั่วโมง

ขออภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ 

คดีของ ‘เซ็นเตอร์’ นักศึกษาปริญญาโท ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมโดยการยิงกระสุนยาง แก๊สน้ำตา และฉีดน้ำแรงดันสูงในกรุงเทพฯ ช่วงกลางเดือนตุลาคม 2563 ในชั้นศาล ‘เซ็นเตอร์’ ให้การรับสารภาพตามคำฟ้อง 

ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้อง แต่เมื่อพิจารณาประวัติการทำงาน การศึกษา พฤติการณ์จากรายงานการสืบเสาะ พบว่าจำเลยทำคุณความดี และคุณประโยชน์ต่อสังคม แต่รับข้อมูลจากสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นความเท็จเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงที่มีการชุมนุมทางการเมือง โดยได้กระทำการขออภัยโทษต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ประกอบกับไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน จึงเห็นควรให้โอกาสจำเลย พิพากษาให้รอการกำหนดโทษไว้สองปี รายงานตัวต่อนักจิตวิทยาสังคมของศาลสี่ครั้งในระยะเวลาหนึ่งปี

ช่วยเหลือราชการอันเป็นประโยชน์ต่อสังคมและโครงการพระราชดำริ 

คดีของอาเล็ก – โชคดี ร่มพฤกษ์ และ นุ้ย – วรันยา แซ่ง้อ ถูกฟ้องตามมาตรา 112 ร่วมกันจากการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” ในระหว่างกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบแปดปี บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อ 23 สิงหาคม 2565 ในชั้นศาลหลังจากเริ่มการสืบพยานโจทก์ไปได้สองนัดทั้งสองคนกลับคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตามมาตรา 112 ลงโทษจำคุกคนละหกปี ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละสี่ปี

พิเคราะห์คำฟ้องและรายงานการสืบเสาะแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำ หรือผู้จัดกิจกรรม และไม่พบว่ามีการกระทำเข้าร่วมกับกลุ่มผู้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีกภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว จำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริต มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีภาระหน้าที่ตามปุถุชนคนทั่วไป จากประวัติที่ผ่านมาจำเลยทั้งสองได้มีส่วนร่วมในการทำงานช่วยเหลือราชการอันเป็นประโยชน์สาธารณะต่อสังคม และกิจกรรมก็เป็นโครงการในพระราชดำริของสถาบันพระมหากษัตริย์

ปัจจุบัน จำเลยทั้งสองเข้าสู่วัยชรา โดยจำเลยที่หนึ่ง เป็นหญิงมีภาระที่ต้องอุปการะมารดาซึ่งเป็นบุคคลชราภาพ ส่วนจำเลยที่สองแพทย์มีความเห็นว่า การมองเห็นของจำเลยอยู่ในระดับตาบอดถาวรทั้งสองข้างตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพและคำสาบานต่อหน้าศาล จำเลยทั้งสองได้ตระหนักแล้วว่าการกระทำของตนเป็นการมิบังควร ทั้งสำนึกในการกระทำความผิด ขอกลับตัวเป็นพลเมืองดี ยึดมั่นและเทิดทูนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้คำมั่นสัญญาและสาบานว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันใดที่มีลักษณะเช่นเดียวกับคดีนี้อีก

จากพฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนหลงผิด ภายหลังได้เข้าใจในข้อความจริงอย่างถ่องแท้แล้วไม่ได้หวนกระทำความผิดอีก จำเลยทั้งสองเคยทำประโยชน์ต่อสังคมและมีสภาพการดำรงชีพมีความทุกข์ยากลำเค็ญ นับว่ายังมีคุณงามความดีต่อประเทศชาติ และมีข้อให้น่าเห็นใจอันเป็นเหตุให้ควรปราณีอยู่บ้าง ประกอบกับนิสัยและความประพฤติอื่นไม่พบข้อเสื่อมเสียที่ร้ายแรงประการอื่นใดอีก น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวกลับใจเป็นพสกนิกรที่ดี มีแนวคิดยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักในการปกครอง โดยนำวิธีการคุมความประพฤติมาใช้บังคับสักครั้งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม 

โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษสองปี คุมความประพฤติหนึ่งปี พร้อมให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุกสามเดือน และให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร

อย่างไรก็ดี ไม่ใช่จำเลยทุกคนที่มีพฤติกรรมสำนึกผิดหรือแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์แล้วศาลจะพิจารณาให้รอลงอาญาเสมอไป ตัวอย่างเช่น ชินวัตร จันทร์กระจ่าง หรือไบรท์ ซึ่งถูกดำเนินคดีมาตรา 112 มากถึงแปดคดี ภายหลังเขาเลิกเข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มเดิมแต่ย้ายไปทำงานให้กับพรรครวมไทยสร้างชาติ และเข้าร่วมกิจกรรมที่แสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง แต่ศาลก็ให้จำคุกทุกคดีโดยไม่รอลงอาญา หรือคดีของ “แม็ค” ซึ่งถูกฟ้องจากการคอมเมนต์ในเฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับอาการประชวรของ ร.10 ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา และศาลยังอธิบายถึงสาเหตุที่ไม่รอลงอาญาไว้ว่า แม้จำเลยสำนึกในการกระทำ เลิกใช้บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้อง และแสดงความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ แต่ข้อความมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์อันเป็นที่รักและเคารพ เป็นการไม่สมควรอย่างยิ่ง ทำให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา เห็นว่าพฤติการณ์มีความร้ายแรง ไม่สมควรรอการลงโทษ