9 เมษายน 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีนัดพิจารณาร่างพ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรฯ และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับ ก่อนจะปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 11 เมษายน 2568 ซึ่งภายนอกรัฐสภาเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจัดกิจกรรม “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” ณ บริเวณทางเข้า-ออก ฝั่ง สส. รัฐสภาเกียกกาย ภายในงานมีการจัดเสวนา “ชีวิตของผู้ต้องขัง” บอกเล่าเรื่องราวความรู้สึกและสถานการณ์ของผู้ต้องขังในเรือนจำ ผ่านบุคคลที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังในเรือนจำ
ร่วมเสวนาโดย ธีรภพ เต็งประวัติ หรือไม้โมก เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมือง หรือ Thumb Rights ภราดร เกตุเผือก หรือลุงดร ยูทูบเบอร์ และอกนิษฐ์ ต๊ะดิ หรือ นิท ผู้ประสานงานโครงการ Freedom Bridge ดำเนินรายการโดย อานนท์ ชวาลาวัณย์ จากพิพิธภัณฑ์สามัญชน

เพราะสิ่งที่ผู้ต้องขังต้องการมากที่สุดคือ “ความหวัง”
ลุงดร เป็นยูทูบเบอร์ที่คอยช่วยเหลือจำเลยในคดีการเมือง ความสนใจในประเด็นนี้เริ่มจากที่ตนเองได้มีโอกาสไปถ่ายทอดสดสถานการณ์ทางการเมืองในพื้นที่ต่างๆ และเกิดความสงสัยว่าผู้ต้องขังในคดีทางการเมืองที่เข้าเรือนจำไปจะต้องพบเจอกับอะไรบ้าง องค์กรที่ให้ความช่วยเหลือต่างๆ ทำงานอย่างไร เมื่อไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก็พบว่าตนเองควรจะมีส่วนร่วมด้วยเพราะอยากให้ผู้ต้องขังทางการเมืองได้พบกับความหวัง
“ลุงดร ไลฟ์สดมาเรื่อยๆ จนเริ่มคิดแล้วว่าเราทำอะไรได้มากกว่าการไลฟ์สด” ลุงดร กล่าว
การทำงานของลุงดร จะเริ่มจากการไลฟ์สด โดยลุงดรจะหาข้อมูลพื้นฐานตั้งแต่แรกว่าจำเลยโดนคดีได้อย่างไร ทนายของจำเลย นายประกัน หรือคำพิพากษาเป็นอย่างไร เพื่อทำข่าว จนไปร่วมรับฟังการพิจารณาคดีและได้พบกับจำเลยและญาติ แนะนำตัวเองให้พวกเขารู้จักและให้คำแนะนำในเรื่องแนวทางการสู้คดีพร้อมให้กำลังใจเขาในทุกเมื่อที่มีโอกาส
หากคดีถูกยกฟ้องลุงดรจะดีใจด้วย แต่ถ้าต้องติดคุกก็ต้องรอผลการประกันตัว ซึ่งในระหว่างนั้นลุงดรจะไปตะโกนเรียกจำเลยที่หน้าลูกกรง ซื้อข้าว ขนมและน้ำให้กับผู้ต้องขังและญาติ ลุงดรจะไปตะโกนแจ้งข่าวสารเป็นระยะว่าขั้นตอนการประกันตัวเป็นอย่างไรและเฝ้ารอจนกว่าจะรู้ผลการประกันตัว แม้ว่าจะมีพัสดีควบคุมตัวจำเลยอยู่ ลุงดรก็จะเดินตามและตะโกนให้กำลังใจเพราะสิ่งที่จำเลยต้องการมากที่สุดคือ “ความหวัง”
กรณีผู้ต้องขังที่สะเทือนในลุงดรคือ กรณีชายคนหนึ่งอายุ 25 ปีจากการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกหนึ่งปีหกเดือน ส่วนศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น วันนั้นลุงดรเห็นแม่ของจำเลยนั่งร้องไห้อยู่ในห้องพิจารณาคดี เขาก็พยายามช่วยเหลือจำเลยคนนั้นทุกวิถีทางไม่ว่าจะเป็นให้คำแนะนำทางกฎหมายหรือแม้กระทั่งให้เสนอตัวลุงดรเป็นผู้ไว้วางใจเพื่อให้ได้รับการช่วยเหลือในเรือนจำ
“พอศาลขึ้นบัลลังก์ เริ่มอ่าน (คำพิพากษา) ลุงดรเห็นแล้วว่าทีท่ามันไม่ดีแล้ว ลุงดรเขียนชื่อภราดร เกตุเผือก… แล้วก็สะกิดคุณลูกหว้าให้เขียนชื่อปฐมพร แก้วหนูแล้วก็ยัดใส่มือเด็ก (จำเลย)”
“ใส่ชื่อเราสองคนเป็นผู้ไว้วางใจด้วย ” ลุงดรเล่า พร้อมแนะนำให้จำเลยต้องท่องจำชื่อผู้ไว้ววางใจของตนให้ดีเพราะไม่สามารถนำกระดาษที่จะเข้าเรือนจำไปได้
หลังจากนั้นเมื่อเจ้าหน้าที่นำตัวจำเลยไปยังใต้ถุนศาล ลุงดรก็ไปยืนตะโกนเรียกจำเลยเพื่อให้กำลังใจเขาพร้อมกับแฟนและแม่ของจำเลย ลุงดรมองเห็นรอยยิ้มดีใจของจำเลยจนเขาขึ้นรถและเดินทางไปสู่เรือนจำ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ลุงดรสะเทือนใจคือแฟนของจำเลยร้องไห้จนแทบสลบล้มลงและซบกับแม่จำเลยระหว่างที่เห็นแฟนหนุ่มของตัวเองนั่งรถเข้าเรือนจำ
“แฟนเธอต้องอยู่ในนั้นก่อนนะ เดี๋ยวลุงดรจะติดตามเรื่องการเข้าไปเยี่ยมให้” ลุงดรกล่าวกับแฟนของจำเลย
จำเลยเข้าเรือนจำไปตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2568 ในวันที่ 3 เมษายน 2568 พัสดีแจ้งว่าจำเลยยังไม่ได้กรอกชื่อผู้ไว้วางใจ จนผ่านมาถึงวันที่ 8 เมษายน 2568 แม่และแฟนก็ยังไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมได้ ลุงดรคิดว่าจะต้องมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นสักอย่าง หากจำเลยกรอกแล้วแต่พัสดีแจ้งว่าไม่ได้หรอกก็จะต้องแจ้งให้ญาติของจำเลยทราบและประสานงานเพื่อแก้ปัญหาต่อไป ลุงดรอธิบายว่าสิ่งที่คนไม่เคยเข้าเรือนจำจำเป็นต้องได้รับคือข้อมูล เพื่อให้ได้รับสิทธิในการติดต่อกับผู้ไว้วางใจ
พื้นที่สื่อสารชีวิต-ความรู้สึก-ความหวังของนักโทษคดีการเมือง
จดหมายอาจเป็นเพียงเครื่องมือเดียวที่สื่อสารระหว่างผู้ต้องขังในเรือนจำกับโลกภายนอก พูดคุยกับไม้โมก นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และหนึ่งในสมาชิกของ Thumb Rights เล่าว่า จุดเริ่มต้นสนใจการเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขังทางการเมืองเริ่มจากงานนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์สามัญชน ร่วมกับ ThumbRights และ DAY BREAKER NETWORK ชื่อว่า “The Letter: คนในส่งออก คนนอกส่งเข้า” ตนเองได้เคยมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือทีมงานในการคัดจดหมายผู้ต้องขัง ทำให้เห็นว่าการเขียนจดหมายเป็นเรื่องสำคัญ
หลังจากนั้นเขาก็เริ่มรับหน้าที่ส่งจดหมายให้กับผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังคนแรกที่ได้มีโอกาสเขียนจดหมายถึงคือ “ก้อง” หรืออุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล จากรู้จักกันผิวเผินจนทำให้รู้จักกันผ่านการเขียนจดหมายตอบโต้กันไปมากว่า 40 ฉบับ ไม้โมกเองได้มีโอกาสเขียนจดหมายถึงผู้ต้องขังคนอื่นด้วยจากการทำงานกับ Thumb Rights เนื้อหาจดหมายของผู้ต้องขังส่วนใหญ่เป็นเรื่องราวในชีวิตในเรือนจำ ความหวัง หรือความฝัน แต่สิ่งที่เขาค้นพบจากการเขียนจดหมายเหล่านี้คือเรือนจำไม่ใช่พื้นที่ที่มีความสุข
“สภาพของการอยู่ในเรือนจําเนี่ย มันก็เป็นสภาพที่ไม่ได้มีความสุข หลายคนเจอสังคม Toxic บางคนต้องกินยานอนหลับทุกวันถึงจะนอนหลับ บางคนครอบครัวแตกแยกก็ต้องอยู่ในเรือนจํา” ไม้โมกกล่าว
แต่เรื่องราวของบางคนก็เป็นเรื่องราวชีวิตในเรือนจำที่ทำให้สะเทือนใจอย่างเช่นกรณีการไม่ได้สอบของก้อง เป็นต้น จนนำมาสู่การผลักดันเป็นแคมเปญชื่อว่า “ก้องต้องได้สอบ”
นอกจากนี้สำหรับผู้ต้องขังที่เป็นนักเคลื่อนไหวก็มักจะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองผ่านจดหมาย ใน หลายกรณีจะมีการเซ็นเซอร์จดหมายจากเจ้าหน้าที่โดยการถมขาวลงบนข้อความส่วนที่ต้องการเซ็นเซอร์ ไม้โมกอธิบายว่าตนไม่ทราบว่ามาตรฐานในการเซ็นเซอร์ของเจ้าหน้าที่นั้นเป็นอย่างไร ในฐานะผู้อ่านก็ทำได้เพียงแค่คาดเดาว่าผู้ต้องขังน่าจะเขียนว่าอะไรเท่านั้น
ไม้โมกเล่าว่าปัญหาอย่างแรกสุดของการติดต่อจากคนนอกเรือนจำคือการไม่รู้ชื่อผู้ต้องขัง แต่ตอนนี้เรามีระบบของแอมเนสตี้ประเทศไทยในเว็บไซต์ https://freeratsadon.amnesty.or.th/ ที่ทำให้เราสามารถเขียนถึงผู้ต้องขังทุกคนได้
แต่ไม้โมกจะใช้ช่องทางแอปพลิเคชันอย่าง DomiMail เป็นระบบจดหมายออนไลน์ในเรือนจำของกรมราชทัณฑ์ จากจำนวนเรือนจำราว 140 แห่ง มีเเพียงแค่ 15 เรือนจำที่มีระบบ DomiMail ซึ่งในกรุงเทพจะส่ง DomiMail ได้คือสามแห่งคือ เรือนจำพิเศษกรุงเทพ เรือนจำกลางคลองเปรม และทัณฑสถานหญิงกลาง ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้ต้องขังถูกย้ายเรือนจำ ก็อาจไม่สามารถส่ง DomiMail ได้ การเขียนจดหมายส่งไปทางไปรษณีย์ไม่สามารถรับประกันได้ว่าจดหมายจะเดินทางไปถึงผู้ต้องขังหรือไม่ เพราะว่าอาจถูกเก็บไว้ที่ไหนสักแห่งจนไม่ถึงมือของผู้ต้องขัง
การมีกองทุน Freedom Bridge สะท้อนคนเข้าเรือนจำเพิ่ม
นิท ผู้ประสานงานโครงการ Freedom Bridge เล่าให้ฟังว่า Freedom Bridge เป็นกลุ่มที่คอยให้ความช่วยเหลือผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรมหรือไม่ เริ่มต้นมาจากได้เห็นครอบครัวของทนายอานนท์ นำภา เปิดกองทุนคอยให้ความช่วยเหลือคนที่อยู่ในเรือนจำ แต่ที่ผ่านมาพบว่ามีคนเข้าเรือนจำเพิ่มขึ้นในหลายจังหวัด การตั้งเป็นกองทุนขึ้นมาเพื่อให้มีการทำงานเป็นกิจจะลักษณะมากขึ้น
“ตอนนี้เราดูแล 48 คน… ในนี้ก็จะมีทั้งคนที่เป็นชาวบ้านธรรมดา คนที่เป็นแอคติวิสท์ คนเสื้อแดง หรือผู้ชุมนุมทั่วไป 11 จังหวัดทั่วประเทศ”
กรณีที่ดูแลส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ยังสู้คดีอยู่ สิ่งที่ตนต้องการคือให้พวกเขาเหล่านั้นได้ประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดี ประเด็นเรื่องเรือนจำคือการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากการไม่ได้รับการประกันตัว ค่าเฉลี่ยอายุของคนที่อยู่ในเรือนจำคือ 33 ปี คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนวัยทำงาน ต้องหาเลี้ยงปากท้องและครอบครัว การเข้าไปอยู่ในเรือนจำส่งผลกระทบต่อชีวิตพวกเขามหาศาล
“พอติดคุกอ่ะค่ะ มันไม่ได้โดนคนเดียวเนาะ ครอบครัวก็โดนด้วย” นิท เล่า
ทางกองทุนยังคอยให้ความช่วยเหลือครอบครัวของผู้ต้องขังด้วยอย่างเช่น เงินช่วยเหลือญาติ ค่าเลี้ยงดูลูก ค่าเทอมลูก หรือการดูแลสุขภาพจิต เป็นต้น ซึ่งก็จะมีการประเมินตามความเปราะบางของแต่ละครอบครัวแตกต่างกันออกไป
ข้อจำกัดในการทำงานของกองทุนคือ เรือนจำในประเทศไทยไม่ได้มีมาตรฐาน ทำให้แต่ละพื้นที่ระเบียบและกฎเกณฑ์ไม่เหมือนกันเช่น การใช้เงิน สิทธิ์การเยี่ยม การติดต่อสื่อสาร เป็นต้น และในส่วนของงบประมาณที่จะต้องใช้จ่ายในส่วนของเงินช่วยเหลือผู้ต้องขังและครอบครัวมีค่าใช้จ่ายประมาณ 300,000 บาทต่อเดือน จำเป็นต้องอาศัยการระดมเงินเป็นหลักอยู่ คนที่สนใจสามารถร่วมช่วยเหลือผ่านทางเฟซบุ๊ก หรือในหน้าเว็บไซต์ของ Freedom Bridge
นิรโทษกรรมคือทางออกและทางรอดของผู้ต้องขัง
ไม้โมกและลุงดรยังรอคอยการเคลื่อนไหวของร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน ไม้โมกเล่าเสริมว่าจากจดหมายของผู้ต้องขังหลายคนไม่ว่าจะเป็น เวหาหรือไบร์ท ชินวัตร ต่างมองเห็นถึงความสำคัญของร่างกฎหมายฉบับนี้ อยากให้มีการเคลื่อนไหวต่อไป
นิทเล่าว่า คนที่อยู่ข้างในเรือนจำทุกคนมีความหวังกับร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เขามองว่าการนิรโทษกรรมจะทำให้คดีนับพันคดีหายไป ขณะนี้ (9 เมษายน 2568) ยังมีคนถูกฟ้องใหม่อยู่เรื่อยๆ นิรโทษกรรมจึงเป็นทางออกเดียวที่จะทำให้พวกเขาได้เป็นอิสระ
รับชมไลฟ์ย้อนหลังเสวนา “ชีวิตของผู้ต้องขัง” ได้ที่: https://www.facebook.com/100064908843382/videos/980276047590572