9 เมษายน 2568 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดกิจกรรม “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” ที่บริเวณหน้าประตูทางเข้ารัฐสภา (เกียกกาย) ฝั่งสภาผู้แทนราษฎร หลังเมื่อ 3 เมษายน 2568 อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส. พรรคเพื่อไทย เสนอเลื่อนร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมรวมสี่ฉบับขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ ต่อมา วันที่ 8 เมษายน 2568 แพทองธาร ชินวัตร ก็นำคณะรัฐมนตรีมาแถลงว่าจะเลื่อนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ออกไป
อย่างไรก็ดี วันที่ 9 เมษายน 2568 สภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ได้พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรม เนื่องจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เสนอญัตติด่วนเพื่อถกเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์รวม 10 ญัตติ
ภายในกิจกรรม จัดกิจกรรม “9 เมษา พาส่งใจให้นิรโทษกรรม” มีงานเสวนา “ชีวิตของผู้ถูกดำเนินคดี” ร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การต่อสู้ ความยากลำบาก ความรู้สึกในการออกมาเคลื่อนไหว และความฝันที่อยากจะเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองสามคน จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และถิรนัย หรือธี ดำเนินรายการโดย อชิรญา บุญตา

ไผ่ จตุภัทร์ : ผู้มีอำนาจอาจฟังถ้าประชาชนเสียงดังพอ
จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ เล่าภูมิหลังของตัวเองว่า เติบโตมาในพื้นที่ที่มีความอยุติธรรมอย่างที่ราบสูงอีสาน ด้วยสภาพสังคมรัฐรวมศูนย์อยู่ที่ส่วนกลาง ทำให้ไผ่เติบโต เรียนรู้มาโดยเห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในภาคอีสาน มาจากโครงสร้างทางการเมืองที่ไม่เป็นธรรม นายทุนอยู่เบื้องหลังรัฐบาลอีก ประกอบกับช่วงที่ไผ่เข้าเรียนระดับมหาวิทยาลัยในปี 2553 เป็นช่วงที่สถานการณ์ทางการเมือง “เดือด” คนเสื้อแดงถูกสังหาร จนกระทั่งรัฐประหารปี 2557 ปัจจัยเหล่านี้หล่อหลอมให้ไผ่เห็นปัญหา และต่อมาเขาก็ถูกดำเนินคดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการแชร์ข่าวของสำนักข่าวบีบีซีไทย
จากประสบการณ์ที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหาร เขามองว่าศาลทหาร “เถื่อน” กว่าศาลอื่น ไม่เปิดให้ผู้สังเกตการณ์เข้าไปสังเกตการณ์คดี บางครั้งก็พิจารณาคดีโดยลับบ้าง แต่ไม่ว่าจะความอยุติธรรมในศาลทหารหรือศาลยุติธรรม ก็เป็นความอยุติธรรมอย่างเดียวกัน ไผ่มองว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศนี้ไม่ได้ใช้กฎหมายอย่างมีมาตรฐาน แต่เป็นการนำกฎหมายมาใช้เป็นเครื่องมือของผู้มีอำนาจ เหตุปัจจัยทางการเมืองก็มีผลต่อการใช้กฎหมายเช่นกัน เช่น การใช้มาตรา 112 ที่ช่วงหนึ่งหยุดใช้ไป แต่ก็กลับมาใช้อีกหลังพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาออกมาแถลงในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ว่าจะใช้กฎหมายกับผู้ชุมนุมอย่างเคร่งครัด
สำหรับประเด็นการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม แต่เป็นเรื่องการเมืองด้วย ไผ่ยกตัวอย่างกรณีของร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ที่พอมีคนออกมาวิพากษ์วิจารณ์เยอะ มีคนมาชุมนุมคัดค้าน รัฐบาลก็แสดงท่าทีถอย ทำนองเดียวกัน นิรโทษกรรมก็จำเป็นต้องมีแรงกดดันจากประชาชนเยอะๆ หากประชาชนออกมาสนับสนุนออกมาเรียกร้องให้เยอะ ไผ่เชื่อว่าผู้มีอำนาจอาจจะฟังและปัญหาจะได้รับการแก้ไข
หลังจากออกจากเรือนจำ เขาถอดบทเรียนว่า สังคม-ปากท้องจะดีขึ้นได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง ไผ่เห็นว่า “งานทางความคิด” เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำต่อไป โดยทางทะลุฟ้าจะทำกิจกรรมรณรงค์เรื่องรัฐธรรมนูญให้ทั่วทั้ง 77 จังหวัดรวมกรุงเทพมหานคร
ตะวัน ทานตะวัน : ชวนติดตามคดีของประชาชน “คนธรรมดา” เพราะกำลังใจสำคัญกับคนในเรือนจำ
ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน เล่าถึงแรงบันดาลที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองว่า ความโกรธความแค้นกับประเทศที่ไม่เปิดพื้นที่ให้กับการแสดงออกหรือพูดในสิ่งที่คิด พอเกิดความโกรธหรือแค้น ทำให้ยิ่งอยากออกมาพูดในสิ่งที่คิด และยิ่งผู้มีอำนาจไม่ให้เราพูด ก็ยิ่งทำให้อยากพูดในสิ่งที่คิด
ตะวันเล่าว่า ตนก็ประเมินไว้แล้วบ้างว่าหากออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองจะถูกดำเนินคดี ห้วงเวลาที่เคลื่อนไหวและถูกดำเนินคดีนั้นผ่านมาเนิ่นนานเหลือเกิน จนวันนี้เราต้องจบความขัดแย้งและอยู่ร่วมกันโดยที่ความคิดเห็นของคนในสังคมเราต่างกัน ผ่านการผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรม
เมื่อถูกดำเนินคดีและต้องเข้าไปอยู่ในทัณฑสถานหญิง ตะวันเล่าถึงสิ่งที่ประสบพบเจอมาในตอนนั้นว่า เรือนจำเปรียบเสมือนเมืองลับแล ถ้าไม่ได้เข้าไปก็จะไม่รู้ว่าความจริงเป็นอย่างไร แต่ต่อให้ไปแล้ว ก็อาจจะไม่ได้รู้ความจริงทั้งหมด
ก้าวแรกที่เข้าไปในเรือนจำ “เข้าไปแต่ตัว” จะต้องถอดทุกอย่างออกให้หมดไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ เจ้าหน้าที่จะให้ใส่ผ้าถุงและมีการตรวจร่างกายว่าเราแอบเอาอะไรเข้าเรือนจำหรือเปล่า บรรยากาศในเรือนจำ เหมือนโรงเรียนประจำ ตอนนั้นได้ไปอยู่ในแดนแรกรับ ซึ่งเป็นแดนสำหรับของผู้ที่ยังไม่ต้องคำพิพากษา ในแดนแรกรับมีบ้านสามหลัง ช่วงแรกต้องกักตัวก่อน จากนั้นจึงจะสามารถลงมาใช้ชีวิตได้
ตะวันระบุว่า ภาพที่ทางราชทัณฑ์พยายามนำเสนอ คืออาหารสำหรับนักโทษที่มีเนื้อ มีข้าว มีสารอาหารหลากหลาย โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ทว่าความเป็นจริง มื้ออาหารจริงๆ กลับประกอบด้วยเศษผัก เศษไก่
ส่วนตัว ตะวันถูกจับตามองตลอด คอยดูตลอดว่าทำอะไร คิดกับใคร และมีกล้องวงจรปิดอีก ส่วนภาพรวมคุณภาพต่างๆ ของการรักษาพยาบาล หรือสิทธิต่างๆ ค่อนข้างแย่ ถ้านักโทษคนอื่นๆ ลงชื่ออยากพบแพทย์กว่าจะได้พบแพทย์อาจจะข้ามปีไปแล้วด้วยซ้ำ แต่กรณีของตะวัน เพียงแค่เล่าอาการป่วยให้ฟัง ก็ถูกส่งไปพบทันตแพทย์อย่างรวดเร็ว สะท้อนให้เห็นว่า ราชทัณฑ์อยากแสดงภาพว่าดูแลผู้ต้องขังดี เพื่อให้ตะวันออกมาเล่าต่อว่าดี แต่ในความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น
เมื่อถูกถามว่า อยากพูดถึงใครที่อยู่ในเรือนจำ ตะวันบอกว่าอยากพูดถึงทุกคนในเรือนจำ ไม่ว่าจะเรือนจำชาย เรือนจำหญิง เรือนจำในต่างจังหวัด ที่ผ่านมาพยายามไปเยี่ยมคนในเรือนจำ ชวนคนมาร่วมอวยพรวันเกิดคนที่อยู่ในเรือนจำและไปเล่าให้เขาฟัง อย่างไรก็ดี ตะวันชวนให้ประชาชนมาร่วมจับตา ติดตาม ให้ความสนใจกับคดีของประชาชนทั่วไปที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 และยังอยู่ในเรือนจำ เช่น “วุฒิ” หรือแม็กกี้ ที่ศาลพิพากษาจำคุกถึง 25 ปี ตะวันกล่าวว่า สำหรับคนที่อยู่ในเรือนจำ กำลังใจเป็นสิ่งสำคัญมาก ทำให้คนที่อยู่ในเรือนจำยังอยู่ต่อไปได้
ธี ถิรนัย : แม้ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่กับการศึกษา แต่ก็ไม่ท้อ
ถิรนัย หรือธี เล่าว่า ออกมาเคลื่อนไหวช่วงประมาณปี 2563-2564 และถูกดำเนินคดีในปี 2564 ภายใต้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ช่วงนั้นเป็นนักศึกษาอาชีวะ แรงขับเคลื่อนที่ทำให้ออกมาเคลื่อนไหว เพราะตอนนั้นประเทศเราเริ่มแย่ โดยบทบาทของการ์ดอาชีวะที่ธีร่วมเคลื่อนไหวด้วยนั้น จะเป็นการช่วยเหลือดูแลความปลอดภัยและความเรียบร้อยในพื้นที่ชุมนุมต่างๆ
ธีเล่าถึงช่วงเวลาที่ต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำว่า ตอนแรกรับไม่ได้ สภาพจิตใจแย่มาก และถูกจับแยกกับชัยพร เพื่อนอีกคนหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีมาด้วยกัน ตอนอยู่ในเรือนจำ ก็ถูกเจ้าหน้าที่รวมถึงนักโทษคนอื่นๆ ตั้งคำถาม ว่าทำไปทำไม ทำไมไม่ใช้ชีวิตในระบบการศึกษาตามระบบปกติ แต่ก็ตอบเขากลับไปว่า “พี่ไม่เห็นความผิดปกติของประเทศนี้เหรอ” หลังออกมาจากเรือนจำ ธีต้องมาเริ่มนับหนึ่งใหม่สำหรับการศึกษา แต่เขายืนยันว่าไม่ท้อ เรียนรู้ได้เรื่อยๆ