
9 เมษายน 2568 สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมคดีการเมืองรวมสี่ฉบับ แต่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เสนอญัตติด่วนเพื่อถกเรื่องการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกาตามนโยบายของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์รวม 10 ญัตติ จึงยังไม่มีความชัดเจนว่าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรจะเริ่มพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับภายในวาระการประชุมวันนี้หรือไม่ ทั้งที่สมัยประชุมสภานี้เหลือเพียงหนึ่งวันเท่านั้น
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน องค์กรภาคประชาชนที่รณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชนต่อสภา แถลงข้อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความจริงใจด้วยการเสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรมอีกฉบับเพื่อพิจารณาประกบกับร่างของพรรคการเมืองและภาคประชาชน และให้สภาคงวาระกฎหมายนิรโทษกรรมเป็นวาระ “เร่งด่วน” ต้องพิจารณาทันทีหลังเปิดสมัยประชุมหน้าในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568
ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมฉบับที่ภาคประชาชนเสนอ มีผู้เตรียมเข้าชี้แจงในสภาที่ออกมาแถลงข้อเรียกร้อง ประกอบไปด้วย พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ธนพัฒน์ กาเพ็ง เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีถึง 24 คดี เบนจา อะปัน นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง 22 คดี ศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการ iLaw
แถลงการณ์เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน

ในห้วงความขัดแย้งทางการเมืองไทยนับแต่การรัฐประหาร 2549 ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายพันชีวิตสะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของ “ความเป็นการเมือง” ที่ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายในการประหัตประหารฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเหล่านี้ถูกคดีความตรวนตราและพรากเสรีภาพที่ถือเป็นลมหายใจหล่อเลี้ยงชีวิต มาถึงวันนี้คดีจำนวนมากดำเนินจนถึงที่สุด อีกไม่น้อยที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ระยะเวลาความขัดแย้งทางการเมืองยาวนานเช่นนี้ทำให้จำเลยหลายคนรับโทษจนครบกำหนด มีอีกไม่น้อยที่ยังต้องเผชิญกับผลพวงของคดีทางการเมืองอยู่ระหว่างจำคุก
สองทศวรรษของความขัดแย้ง ไม่มีข้อหาความผิดใดที่มี “ความเป็นการเมือง” เทียบเท่ากับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกแล้ว ตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 สถิติของคดีความผิดดังกล่าว “ขึ้นลง” สัมพันธ์กับความขัดแย้งการเมืองไทย และขึ้นสู่จุดสูงสุดในช่วงระหว่างปี 2563 – เดือนเมษายน 2568 สะท้อนให้เห็นถึงความยืดเยื้อของการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองโดยฉวยอ้างความเคารพรักสถาบันกษัตริย์มาเป็นเกราะกำบัง นี่เป็นเพียงปัญหาของการ “บังคับใช้” ยังไม่นับรวมปัญหาของตัวบทกฎหมายและโทษที่หนัก ขณะที่คดีความผิดทางการเมืองอื่นๆอีกจำนวนมากที่เนื้อแท้แล้วผู้ซึ่งถูกกฎหมายตีตราว่า กระทำความผิดต้องการเพียงนำพาประเทศให้กลับสู่ระบอบประชาธิปไตยก็นำพาให้สังคมไทยให้ยังตกอยู่ในวังวนความขัดแย้งทางการเมือง
ปัญหาซ้ำเดิมที่สังคมไทยจำต้องเผชิญกลายเป็นตัวบ่งชี้ความ “เร่งด่วน” ของการพิจารณากฎหมายว่าด้วยการนิรโทษทางการเมืองเพื่อปลดเปลื้องโซ่ที่ตรวนตราเสรีภาพของประชาชน หลายฝ่ายเห็นพ้องนำโดยพรรคก้าวไกลหรือพรรคประชาชนที่เสนอกฎหมายชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่บุคคลซึ่งได้กระทำความผิดอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง” ในเดือนตุลาคม 2566 ตามด้วยพรรคเล็กอย่างพรรคครูไทยเพื่อประชาชนเสนอกฎหมายชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัติสร้างเสริมสังคมสันติสุข” ในเดือนธันวาคม 2566 ขณะที่ฝ่ายอนุรักษนิยมที่มีจุดยืนปกป้องสถาบันกษัตริย์อย่างพรรครวมไทยสร้างชาติเสนอกฎหมายในชื่อเดียวกันกับพรรคครูไทยฯ ตามด้วยภาคประชาชนในนามเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเสนอกฎหมายชื่อว่า “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน” ในเดือนมีนาคม 2567
วาระพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับถูกบรรจุอยู่ในวาระค้างมาแรมปี ระหว่างนี้มีสถานการณ์ “เร่งด่วน” ที่ควรต้องยกร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาหลายครั้ง เฉพาะในปี 2568 ในเดือนมกราคมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจากสหประชาชาติแสดงความกังวลอย่างมากต่อสถานการณ์ในประเทศไทย ที่ยังคงใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์อย่างต่อเนื่อง เรียกร้องให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และหากจะตีความเสรีภาพการแสดงออกให้สัมพันธ์กับปากท้อง ในเดือนมีนาคม สมาชิกรัฐสภายุโรปเรียกร้องให้คณะกรรมาธิการใช้การเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีเป็นเครื่องมือต่อรองให้ประเทศไทยปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และปล่อยตัวนักโทษทางการเมือง
อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งสี่ฉบับยังไม่ถูกตีความว่า “เร่งด่วน” คงค้างไว้ในวาระพิจารณาเรื่อยมา จนกระทั่งวันที่ 3 เมษายน 2568 อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.พรรคเพื่อไทยก็ได้เสนอแก้ไขวาระการประชุมโดยให้นำร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ที่เพิ่งถูกเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้เพียงสองวัน และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับที่คงค้างมาหนึ่งปีขึ้นมาพิจารณาก่อนในวันที่ 9 เมษายน 2568 การรีบเร่งเลื่อนร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ และร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับ “แซงคิว” ขึ้นมาพิจารณาก่อนหน้ากฎหมายฉบับอื่นๆ สร้างความกังขาว่า เป็นการใช้ข้อเสนอนิรโทษกรรมฉวยโอกาสในการผลักดันวาระที่อยู่ในความสนใจของรัฐบาล
ต่อมาวันที่ 8 เมษายน 2568 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีแถลงข่าวเลื่อนวาระพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ออกไปก่อนด้วยเหตุผลว่า มีเรื่องสำคัญอย่างนโยบายภาษีนำเข้าของโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาที่ไทยถูกตั้งกำแพงภาษีสูงที่ร้อยละ 37 จนกระทั่งในวันนี้ (9 เมษายน 2568) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสนอญัตติด่วนในเรื่องดังกล่าวแทรกขึ้นมา ทำให้วาระ“ตัวประกอบ” เดิมอย่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับไม่สามารถพิจารณาได้ทัน
ในสถานการณ์ก่อนการปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรที่เหลือเวลาการพิจารณาไม่กี่ชั่วโมงเช่นนี้การเลื่อนพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับถือเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ แต่พวกเราเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนขอยืนยันว่า เรื่องนิรโทษกรรมเป็นหนึ่งในเรื่อง “เร่งด่วน” เสมอมาเพื่อเปิดประตูสู่การแก้ไขความขัดแย้งยาวนานกว่าสองทศวรรษ อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับยังคงค้างอยู่ในวาระการประชุมที่จะต้องพิจารณาหลังเปิดประชุมสมัยถัดไปในเดือนกรกฎาคม 2568
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนจึงมีข้อเรียกร้อง ดังนี้
1. รัฐบาลต้องแสดงความจริงใจอย่างเป็นรูปธรรม โดยเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ฉบับของคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาควบคู่กับร่างของพรรคการเมืองและประชาชน พร้อมทั้งประกาศจุดยืนที่ชัดเจนว่า สส. ฝ่ายรัฐบาลจะลงมติรับหลักการของร่างทุกฉบับเพื่อนำประเด็นข้อสงสัยไปถกเถียงในวาระที่สอง เพื่อลดความตึงเครียดระหว่างการพิจารณา
2. สส. ฝ่ายรัฐบาลต้องรักษามาตรฐานตามบรรทัดฐานประวัติศาสตร์ไทย โดยนิรโทษกรรมให้คดีความทั้งหมดที่เกิดจากความขัดแย้งทางการเมือง โดยพิจารณาที่ช่วงเวลาเป็นสำคัญ ไม่แบ่งแยกตามประเภทข้อหา เช่นเดียวกับการนิรโทษกรรมหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 6 ตุลาคม 2519 พฤษภาทมิฬ 2535 และเหตุการณ์อื่นๆ
3. วาระนิรโทษกรรมยังคงถือเป็นวาระเร่งด่วน เมื่อเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยถัดไปที่ประชุมจะต้องพิจารณาเรื่องนี้โดยทันที
4. นายกรัฐมนตรีต้องใช้อำนาจดำเนินมาตรการชั่วคราวโดยทันที ในฐานะผู้บังคับบัญชาโดยตรงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ นายกฯ ต้องออกคำสั่งให้ตำรวจชะลอหรือหยุดการฟ้องคดีการเมืองในชั้นตำรวจทั้งหมดทันทีระหว่างรอพิจารณาร่างนิรโทษกรรม และต้องเร่งผลักดันมาตรการชั่วคราวกับองค์กรในกระบวนการยุติธรรม โดยเจรจากับสำนักงานอัยการสูงสุดให้ชะลอการสั่งฟ้องคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และเจรจากับประธานศาลฎีกาให้ศาลชะลอการพิจารณาคดีการเมืองที่อยู่ในชั้นศาลทั้งหมดโดยไม่มีข้อยกเว้น