“วารุณี คือชาวเน็ตมืออาชีพ คือผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เป็นหัวหน้าครอบครัวที่หาเงินส่งน้องเรียนมาตั้งแต่คุณแม่เสีย แล้วชีวิตก็ขึ้นๆ ลงๆ จนถึงจุดต่ำสุดที่เราเจอก็คือการต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำด้วยมาตรา 112” นี่คือคำตอบเมื่อเราขอให้เธอนิยามตัวเอง
ชื่อของวารุณี อาจจะไม่ได้คุ้นหูคนในวงกว้างมากนัก แต่บทบาทอีกอย่างหนึ่งของเธอที่สังคมจะรู้จักกันมากกว่า คือเพจเฟซบุ๊กชื่อ “น้องง” หรือสมาชิกกลุ่มเฟซบุ๊ก ”INTO THE BORDERLAND” ซึ่งใช้ภาพปกของกลุ่มเป็นภาพเซลฟี่หน้ากระจกของผู้หญิงคนหนึ่งในท่าสายทำคล้ายกำลังโหนสลิงลงมาจากเพดาน (แบบไม่มีสลิง) พร้อมตัวหนังสือสีแดงเขียนว่า #saveวารุณี
วารุณี อายุ 31 ปี ในวันที่ต้องเข้าเรือนจำ ผู้มีบทบาทเป็นพลเมืองแอคทีฟประเด็นการเมืองบนโลกออนไลน์ เล่าว่า เธอคิดตลอดว่าอะไรที่เสี่ยงโดนคดีมาตรา 112 หรือมาตรา 44 เธอจะไม่ทำเด็ดขาด จนวันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 วารุณีโพสต์ภาพตัดต่อพระแก้วมรกตใส่ชุดราตรีสีม่วงจากแบรนด์ SIRIVANNAVARI พร้อมแคปชั่น “แก้วมรกต X SIRIVANNAVARI Bangkok”
“ทำไมเขาตัดต่อเนียนขนาดนี้ เราคิดว่ามันขำขันดี เราก็เอามาโพสต์เหมือนหลายๆโพสต์ที่เราโพสต์ขำๆ โพสต์มีม (Meme) โพสต์อะไรไป ก็ไม่คิดว่าพออัยการเขาสั่งฟ้อง เขาให้เหตุผลว่าทำให้ท่านดูตลกขบขันเพราะท่านกำลังเปลี่ยนชุดพระแก้วมรกตอยู่ ทำให้เหมือนท่านกำลังเอาชุดราตรีไปเปลี่ยนให้พระแก้วมรกต” วารุณีเล่าถึงคดีของเธอ ที่ถูกข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามาตรา 112
28 มิถุนายน 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษา วารุณีคิดว่า คดีของเธอน่าจะได้รอลงอาญาเพราะเธอไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน และไม่ได้เป็นคนดังหรือมีอิทธิพลทางการเมือง ผลปรากฏว่าศาลพิพากษาให้จำคุกวารุณีเป็นเวลาหนึ่งปีหกเดือน ลดมาจากโทษจำคุกสามปี เนื่องจากเธอรับสารภาพ
“ไม่ได้ร้องไห้ แต่รู้สึกอึ้ง อึ้งแค่คำตัดสินไม่พอ อึ้งที่ไม่สามารถประกันตัวได้ตั้งแต่วันแรก ในใจก็คิดว่าโอเค มันมาถึงจุดนี้แล้วอะ มันก็ต้องไปต่อ ประกันตัวไม่ได้ก็ต้องเข้าเรือนจำ พอเข้าเรือนจำแล้วเราจะทำอะไรได้ เป็นคนตัวเล็กๆ ต้องอยู่ใต้กฏหมายถูกไหมคะ ถึงกฏหมายมันจะบิดเบี้ยวหรืออะไรก็ตาม”
ติด แกลม คุก
วันนัดสัมภาษณ์ วารุณีปรากฏตัวในชุดเดรสผ้าซีฟองสั้นสีขาว ผมยาวสีน้ำตาลเข้มมัดครึ่งหัว (Half Up Half Down) ปลายผมดัดลอน เหนือหูซ้ายติดโบว์เล็กๆ สีขาวผ้าลูกไม้ที่มีไข่มุกตรงกลาง เธอบอกว่าตอนที่อยู่ “ข้างใน” ต้องใส่แต่เสื้อผ้าชุดเดิม พอออกมาเลยเหมือนได้ปลดปล่อย
“เช้าวันหลังจากที่ได้ออกมา ไปต่อผมเลย ตั้งแต่ 11 โมง รู้สึกว่าเราไม่เหมาะกับผมสั้น ผมยาวดีกว่า ผมยาวที่ฉันใฝ่ฝันมานาน ลอนผม ทำสี ทำเล็บ”
ย้อนกลับไปวันที่ 28 มิถุนายน 2566 วารุณีส่งตัวไปคุมขังอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ในแดนแรกรับสำหรับนักโทษที่คดียังไม่เด็ดขาด วารุณีเล่าว่า การอยู่ในเรือนจำเหมือนอยู่ในค่ายทหาร เวลาอาบน้ำทุกคนจะนุ่งผ้าถุงกระโจมอก ยืนเรียงกันหน้าแทงค์น้ำยาวๆ มีผู้คุมคอยนับหนึ่ง…แปรงฟัน นับสอง…ทุกอย่างต้องทำให้เสร็จภายในสิบขัน
เมื่อถามถึงชีวิตความเป็นอยู่ข้างในเรือนจำ วารุณีเล่าว่า สำหรับผู้ต้องขังที่ไม่มีเงิน หรือไม่มีญาติคอยซื้อน้ำมาให้ คุณจะต้องดื่มน้ำที่ทางเรือนจำจัดไว้ให้ เป็น “น้ำดื่ม” ลักษณะเป็นท่อยาวต่อกับหัวก๊อกน้ำ เธอเล่าว่าเคยลองดื่มหนึ่งครั้งในคืนแรกที่เธอเข้าเรือนจำ
“โอ้โห กลิ่นคลอรีนตีหน้า คอแห้งผาก บ้วนทิ้งเลยอะ”
“เวลากินข้าวก็ยาก พอนั่งปุ๊บ..เอ้า ลุกได้แล้วคนอื่นรออยู่ ข้าวยังไม่ทันจะได้กิน ถ้าจะกินข้าวหลวงต้องกินข้าวให้หมด กับไม่หมดไม่เป็นไร ซึ่งเรากินข้าวไม่หมดอยู่แล้ว”
“คิดถึงครอบครัว คิดถึงเพื่อน คิดถึงเฟซบุ๊ก เราคิดถึงนู่นนี่นั่น ปกติเรานอนเตียงนุ่มๆ ต้องมานอนอัดกันบนพื้นมันแย่มากๆ”
ความบันเทิงเป็นสิ่งที่ต้องหาทางประยุกต์เอา เนื่องจากข้อจำกัดและกฎเกณฑ์ต่างๆ ในเรือนจำ เช่น การใช้สีดำจุ่มน้ำมาเขียนเป็นอายไลน์เนอร์ หรือการใช้แว่นสายตาสร้างความมึนเมา
“อยู่ข้างในถ้าอยากเมาทำยังไงรู้ไหมคะ สมมุติว่าเราสายตาสั้นร้อยกว่า เราก็ไปเอาแว่นของคนสายตายาวมากๆ มาใส่ เราก็จะเมา มึนหัวเดินไม่ตรง แบบว่านวัตกรรมไง (หัวเราะ)”
โรงพยาบาล but ห้องขัง
หลังจากอยู่ในเรือนจำได้ระยะหนึ่ง วารุณีถูกย้ายมายังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ด้วยเหตุผลทางด้านสุขภาพ เธอเล่าว่าบรรยากาศในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่ต่างจากโรงพยาบาลทั่วไปมากนัก คือ จะมีเตียงวางเรียงกันเป็นแนวยาว แต่ที่ประตูจะมีลูกกรง เปิด-ปิดเป็นเวลา หลังสี่โมงเย็นจะออกจากห้องพักไม่ได้ ทำให้ต้องใช้เวลาอยู่แต่ในห้องถึง 14 ชั่วโมงต่อวัน ในช่วงกลางวันที่ออกจากห้องได้ ก็ได้แต่เดินอยู่ในตึกโรงพยาบาล ห้ามคุยกับนักโทษชายอย่างเด็ดขาด ยกเว้นในกิจกรรมอบรม
“จะสังเกตว่ารูปตอนเราออกมา เราจะดูขาวมาก คือมันมีอยู่ตึกเดียวแล้วเราก็ไปไหนไม่ได้ ลงมากินข้าวแล้วก็ขึ้นไปข้างบน ใครอยากอ่านหนังสือก็อ่าน ใครอยากนอนก็นอน ชีวิตในคุกคือชีวิตที่ว่างเปล่าของจริง ไม่ว่าจะอยู่ในแดนที่เรือนจำหรือจะอยู่ที่โรงพยาบาลก็ตาม แต่โรงพยาบาลดีหน่อยเพราะเรามีหนังสืออ่านได้”
วารุณีเล่าว่า สิ่งที่ทำให้เธออดทนผ่านระยะเวลาในระหว่างการถูกคุมขังมาได้ คือการได้พูดคุยและรับรู้เรื่องราวของเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่น
“มีคนโดน 25 ปี บางคนโดน 49 ปี 250 ปีก็มี เราเลยรู้สึกว่าเขาโดนโทษขนาดนี้เขายังยิ้มได้เลยอะ“
“พี่คนนึงโดนโทษตลอดชีวิต เขาอยู่มาหกปีแล้วยังไม่ได้อภัย ซึ่งเขาอายุ 45 แล้วนะคะ เราถามเขาว่าไม่เครียดหรอ บางคนร้องไห้เลยนะ เขาตอบว่า เครียดแล้วมันเปลี่ยนอะไรในกระดาษได้หรอ เราเลยรู้สึกว่าเราโดนแค่หนึ่งปี หกเดือนเอง เราต้องอดทนได้”
วารุณีชื่อติดไมค์ ต้องมีคนมาเยี่ยมตลอด
วารุณีเล่าว่า ชื่อของเธอเป็นหนึ่งใน “ชื่อติดไมค์” หมายความว่า เมื่อถึงช่วงเวลาที่ให้ญาติมาเยี่ยม ชื่อของเธอจะถูกประกาศเรียกออกไปพบญาติตลอด อย่างน้อยๆ สามวันต่อสัปดาห์ ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนๆ ที่สลับเวียนกันมาที่ห้องเยี่ยม ลักษณะเป็นห้องที่มีเคาน์เตอร์ยาว กั้นกลางด้วยลูกกรงและแผ่นอะคริลิกใส มีเก้าอี้สองฝั่ง คุยกันผ่านโทรศัพท์ แตะมือกันไม่ได้ มีเวลาให้เยี่ยมได้ครั้งละประมาณ 15-20 นาที โดยเธอมีทั้งเพื่อนฝูงและทนายความที่ผลัดเปลี่ยนกันมาเยี่ยมตามระบบของเรือนจำ
“แรกๆ เพื่อนก็เศร้า เพื่อนบางคนเครียดจนผมร่วงเลย หลังๆ เพื่อนเห็นเราเปรี้ยว เริ่มแต่งหน้าทำผม เพื่อนก็อ๋อ มึงอยู่ได้แล้วสินะ (หัวเราะ) คุยอัปเดตนู่นนี่นั่นกัน นางงงนางงาม คุยกันในเรื่องที่เราชอบ“
”มีน้องคนนึงน่ารักมาก เขาทำงานอยู่แถว ม.เกษตร ก็จะอยู่แถวนั้นพอดี เขาก็ออกมาครึ่งชั่วโมงก่อนกินข้าวเที่ยง มาเยี่ยมเรา มาบ่อยมาก ไม่มีอาทิตย์ไหนวารุณีไม่มีเยี่ยมเลย ไม่มีอาทิตย์ไหนเหงาเลย รู้สึกว่าเรามีกำลังใจที่จะอยู่ต่อไปพรุ่งนี้”
“อีกอย่างคือกำลังใจจากเพื่อนๆ คนข้างนอก ทนายก็จะคอยเอาเรื่องมาเล่า พอรู้ว่ายังมีคนพูดถึงเรา ยังมีคนสู้อยู่ เหมือนเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว นี่คือสิ่งที่ทำให้เราต้องเข้มแข็ง”
วารุณีเล่าว่า ตอนเธออดอาหารเพื่อนบางคนก็ทำใจมาเยี่ยมไม่ได้ หรือบางทีไม่สามารถเยี่ยมได้เพราะตัวเธอเดินออกไปที่ห้องเยี่ยมไม่ไหว หรือบางครั้งก็ต้องนั่งรถเข็นออกไป
วันที่น้ำหนัก 31 กิโลกรัม
“ตัวเลขที่น้อยที่สุดที่เคยเห็นคือ 31 กิโลกรัม ถ้าตาชั่งไม่ผิดนะ ดูจะไม่เป็นตัวเองอยู่แล้ว ตอนถอดเสื้อดูกระจกคือแบบซี่โครงขึ้นแล้ว”
21 สิงหาคม 2566 วารุณีประกาศอดอาหารประท้วงคำสั่งศาลหลังจากที่ทนายได้พยายามยื่นขอประกันตัวมาห้าครั้ง แต่ศาลก็ยังยืนยันคำสั่งเดิมว่าไม่ให้ประกันตัว โดยอ้างเหตุผลว่า เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี, มีอัตราโทษสูง, จำเลยให้การรับสารภาพ และราชทัณฑ์ดูแลอาการเจ็บป่วยได้
“อยากประชดศาลอะ ทำไมโทษเราแค่นี้เอง ทำไมไม่ให้เราประกันตัว 4-5 รอบก็ประกันไม่ได้ ฟางเส้นสุดท้ายขาด อดอาหารไปเลย ตายก็ตาย“
”จริงๆ ไม่ได้คาดหวังให้คนข้างนอกช่วยนะ คาดหวังให้ตัวเราสามารถกดดันศาลได้ ให้มันแย่ ให้มันโคม่า ถ้าศาลเห็นว่าโคม่าแล้วยังไม่เห็นใจอีกก็ปล่อยฉันไป ออกไปแบบวิญญาณก็ได้”
วารุณีเล่าว่า ในช่วงระหว่างอดอาหาร เธอมีภาวะแทรกซ้อนจากโรคที่ป่วยอยู่ก่อนแล้ว ต้องกินยาที่มีผลข้างเคียงทำให้คลื่นไส้หนัก เธอจึงยอมกินอาหาร แต่จะกินเพียงสิบช้อนต่อวันเท่านั้น เธอเล่าว่าความรู้สึกตอนนั้นมันทั้งเหนื่อย ทั้งหิว
“เพื่อนที่อยู่ในแดนบอกว่ากินข้าวเหอะมึง อยู่ในนี้ไม่ต้องคิดอะไรมาก คิดแค่ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไรก็พอ”
6 ตุลาคม 2566 วารุณีออกแถลงการณ์แจ้งยุติการอดอาหารและจำกัดการดื่มน้ำ โดยยืนยันว่าไม่ได้ละทิ้งอุดมการณ์หรือจุดยืนที่เคยมี เพียงแต่เลือกที่จะเปลี่ยนไปเล่นเกมนี้อย่างมีความสุขก็เท่านั้น
“สมมติว่าตายไปด้วยการอดอาหาร แล้วน้องสาวจะอยู่ยังไงในเมื่อเราเสียแม่ไปแล้วตั้งแต่เด็กๆ ถ้าเสียพี่ไปอีกคนแล้วน้องสาวจะอยู่ยังไง ในเมื่อมันไม่ได้ผล เสียมากกว่าได้ เราก็เลยกลับมากินข้าวดีกว่า สู้ดีกว่า ไหนๆ ก็อยู่มาได้ขนาดนี้แล้ว ก็กลับมาสู้ใหม่”
ถ้าย้อนเวลาได้เธอจะบอกตัวเองก่อนเข้าเรือนจำว่า “ให้อดทน มันอาจจะทรมาน แต่อดทนแล้วเรียนรู้จากมันให้ได้มากที่สุด”
ครอบครัวเราใหญ่จัง
27 พฤศจิกายน 2567 วารุณีได้รับการปล่อยตัวจากทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ หลังถูกคุมขังมานานหนึ่งปี ห้าเดือน เกือบครบกำหนดโทษ ก่อนได้รับการปล่อยตัวเธอรู้แค่ว่าอีกไม่นานเธอจะได้ออกไป แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าจะเป็นวันไหน
“พอตอนเที่ยงผู้คุมมาบอกว่าไปเปลี่ยนชุด เท่านั้นแหละ รู้เลย ได้กลับบ้าน (หัวเราะ) ดีใจ…
เดาว่าเขาคงไม่อยากให้มันเอิกเกริก ออกมาตรงนี้แล้วคนแบบเยอะๆๆๆ ไม่อยากให้เป็นข่าว เพราะถ้าเรารู้ตัวว่าเราจะได้ออกวันไหน ทุกคนก็ต้องไปถูกไหมคะ”
หลังจากวารุณีได้รับอิสรภาพไม่นาน เพจน้องงประกาศจัดปาร์ตี้ “Warunee Homecoming Party! ต้อนรับเทพีสงครามกลับสู่อ้อมอกอ้อมใจ”
“อบอุ่นมาก บางคนเราไม่รู้จักชื่อเค้าด้วยซ้ำแต่เค้าก็มา เราก็ใส่เดรสม่วงไปสวยๆ ดีใจมาก เราเพิ่งรู้ว่าเรามีความสำคัญกับใครหลายๆ คนขนาดนั้นเลยหรอ บางคนออกมาเขาก็แค่กลับไปหาครอบครัว แต่อันนี้เรารู้สึกว่าครอบครัวเราใหญ่จังเลย”
วารุณีเล่าว่าอีกหนึ่งสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ครั้งนี้คือการได้กลับมาสนิทกับพ่อ เพราะตั้งแต่ที่เธอเข้าเรือนจำ พ่อเธอจะพยายามวิดีโอคอลมาหาตลอดเพื่อพูดคุย ให้กำลังใจ
“ตั้งแต่แม่เสียเราไม่เคยกอดพ่ออีกเลย จนเราออกมา พ่อมาหาที่กรุงเทพ ได้กอดกัน เรื่องดีๆมันก็เกิดขึ้น ไม่ได้มีแต่เรื่องไม่ดีอย่างเดียว แต่ไม่ได้แปลว่าเรา Romanticize การติดคุกนะ”
“อย่าฟ้องอีกนะคะ! พอ จบ ฉันเหนื่อยแล้ว”