สถานการณ์นักโทษการเมืองคดีมาตรา 112 อย่างน้อย 30 คนก่อนวาระนิรโทษกรรมประชาชน

จนถึงวันที่ 7 เมษายน 2568 มีผู้ถูกคุมขังในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 30ราย แบ่งเป็นคดีถึงที่สุดแล้ว สิบคน คดียังไม่ถึงที่สุด (ขังระหว่างอุทธรณ์) 11 คน คดียังไม่ถึงที่สุด (ขังระหว่างฎีกา) เจ็ดคนและคดียังไม่ถึงที่สุด (ขังระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น) สองคน 

ระยะเวลาการคุมขัง ผู้ถูกคุมขังที่มีระยะเวลาการถูกคุมขังนานที่สุดในระลอกปัจจุบันคือ อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งถูกคุมขังตั้งแต่วันที่ 19 มกราคม 2564 คิดเป็นเวลา 1,540 วัน หรือประมาณสี่ปีกับสองเดือน โดยอัญชัญมีโทษจำคุก 43 ปี หกเดือน และคาดว่าจะได้รับการปล่อยตัวในเดือนกันยายน 2574 ขณะที่ผู้ถูกคุมขังรายล่าสุดคือ ‘ตรัณ’ กรณีคอมเมนต์ข้อความบนไลฟ์ศปปส. โดยวันที่ 1 เมษายน 2568 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้จำคุกหนึ่งปีหกเดือน 

อัตราโทษของผู้ถูกคุมขังสูงที่สุดสี่อันดับแรก ดังนี้

  1. บัสบาส-มงคล ถิระโคตร : จำคุก 54 ปี หกเดือน จากการโพสต์ข้อความและรูปภาพบนเฟซบุ๊กรวมสามคดี
  2. อัญชัญ ปรีเลิศ: จำคุก 29 ปี 174 เดือนหรือประมาณ 43 ปี หกเดือน จากการอัพโหลดและเผยแพร่คลิปเสียง
  3. แม็กกี้: จำคุก 25 ปี จากการทวีตข้อความ 18 ข้อความ
  4. อานนท์ นำภา: จำคุก 20 ปี สิบเดือน 20 วัน จากคดีมาตรา 112 รวมเจ็ดคดีจากทั้งหมด 14 คดี

สถานที่คุมขัง นักโทษการเมืองคดีมาตรา 112 ถูกคุมขังกระจายอยู่ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ 

  1. เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ: มีผู้ถูกคุมขังเก้าคน ได้แก่ เวหา แสนชนชนะศึก เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง สมบัติ ทองย้อยอานนท์ นำภา ไบร์ท-ชินวัตร จันทร์กระจ่าง ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ แอมป์-ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา แบงค์-ณัฐพลและ ‘ตรัณ’
  2. ทัณฑสถานหญิงกลาง: มีผู้ถูกคุมขังสี่ราย ได้แก่ อัญชัญ ปรีเลิศ มานี-เงินตา คำแสน อาย-กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน และจินนี่-จิรัชยา สกุลทอง
  3. เรือนจำกลางบางขวาง: มีผู้ถูกคุมขังห้าราย ได้แก่ ก้อง-อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุล เชน ชีวอบัญชา สถาพร อาลีฟ-วีรภาพ วงษ์สมาน และอัฏสิษฐ (หมายเหตุ : เรือนจำกลางบางขวางยังมีบุ๊ค-ธนายุทธอีกหนึ่งคนแต่ถูกจำคุกในคดีความผิดอื่น)

นอกจากนี้ผู้ต้องขังทางการเมืองยังถูกคุมขังกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ที่คุมขังอาจสัมพันธ์กับภูมิลำเนา แต่หลายคนกลับต้องห่างไกลบ้านและครอบครัว เช่น อุดม พันธ์นิล เขาทำงานและมีครอบครัวที่จังหวัดปราจีนบุรี คดีของเขาถูกกล่าวหาไว้ที่สภ.สุไหงโกลกและต้องขึ้นศาลจังหวัดนราธิวาสที่ห่างไกลบ้านของเขากว่าพันกิโลเมตร คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุกสี่ปีไม่รอลงอาญา ระหว่างที่รอฎีกาเขาไม่ได้รับการประกันตัว ต้องห่างไกลจากครอบครัวและลูกสาว การเยี่ยมแต่ละครั้งเป็นไปด้วยความยากลำบาก ภรรยาของเขาที่ตอนนี้คือเสาหลักของบ้านต้องใช้เวลาเดินทางไปเยี่ยม 3-4 วัน ทำให้การพบหน้าทำได้ไม่บ่อยครั้งนัก เช่นเดียวกับ ‘กัลยา’ ชาวจังหวัดนนทบุรีที่ถูกกล่าวหาจากผู้ร้องทุกข์คนเดียวกับอุดมและต้องเดินทางไกลไปสู้คดีและใช้ชีวิตในเรือนจำที่ไกลบ้าน

ยังมีแม่ลูกอ่อนอย่างพลอย-ธนพร ชาวจังหวัดอุทัยธานี คดีของเธออยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า มีความผิดแต่ให้รอการลงโทษไว้ก่อน แต่ศาลอุทธรณ์และฎีกาไม่รอการลงโทษ ทำให้เธอต้องห่างจากลูกเล็กสองคน ในวันที่พลอยมาฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ลูกเล็กวัยหกเดือนยังอยู่ที่อกเธอ วันนั้นคือวันสุดท้ายที่ลูกคนเล็กของพลอยได้ดื่มน้ำนมจากอกแม่

เดือนมกราคม 2568 ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมีนโยบายขับเคลื่อนเรือนจำระหว่างการพิจารณาของกรุงเทพมหานคร โดยกำหนดให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครเป็นเรือนจำนำร่อง คุมขังผู้ต้องขังระหว่างการสอบสวนในชั้นตำรวจและชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้นในคดีทั่วไปและคดียาเสพติด โดยก่อนมีนโยบายดังกล่าวผู้ต้องในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯมีอยู่ประมาณ 3,500 คน กลุ่มเป้าหมายหรือแผนในการย้ายคือ นักโทษเด็ดขาด 2,000 คน ผู้ต้องขังระหว่างการอุทธรณ์และฎีกาจะย้ายออก 900 คน ในจำนวนนี้ 400 คนไปที่เรือนจำคลองเปรมอีก 500 คนไปที่เรือนจำบางขวาง

นโยบายดังกล่าวเป็นผลให้นักโทษการเมืองที่ถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถูกย้ายมาที่เรือนจำกลางบางขวางที่ถือเป็นเรือนจำที่มีความมั่นคงสูง ใช้สำหรับการคุมขังผู้ต้องขังที่มีโทษจำคุก 50 ปีถึงประหารชีวิต ผู้ที่ถูกย้ายมาที่เรือนจำแห่งนี้ เช่น ก้อง-อุกฤษฎ์ สันติประสิทธิ์กุลและสถาพร นอกจากนี้ยังมีกิ๊ฟ-ทีปกรที่ถูกย้ายไปที่เรือนจำกลางพระนครศรีอยุธยา ทำให้ครอบครัวไม่สามารถตามไปเยี่ยมได้

ผู้ต้องขังหลายคนต้องเผชิญกับภาวะเจ็บป่วยทางกายและจิตใจ เช่น ขนุน-สิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ วันที่ 25มีนาคม 2567 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกสามปี ก่อนลดเหลือสองปีไม่รอลงอาญา โดยเขาไม่ได้รับการประกันตัวนับแต่นั้นแม้จะขอประกันตัวนับสิบครั้ง เขาจึงประกาศอดอาหาร หลังอดอาหารมา 24 วันจนอาจส่งผลแก่ชีวิต เขาตัดสินใจเริ่มเข้ากระบวนการ “Refeeding” เริ่มรับอาหารเหลวและเกลือแร่เพื่อรักษาภาวะขาดสารอาหาร ภาวะโพแทสเซียมที่ต่ำมาก และน้ำหนักตัวที่ลดลงไปประมาณเก้ากิโลกรัม 

นอกจากนี้ยังมีผู้ป่วยจิตเวชที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำอย่างอาย-กันต์ฤทัย คล้ายอ่อน อายมีภาวะเป็นโรคซึมเศร้า ได้เข้ารักษาตัวครั้งแรกในปี 2562 ที่โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หลังจากนั้นรักษาอาการต่อเนื่องเรื่อยมาโดยไปพบแพทย์เฉลี่ยเดือนละสองครั้งและรับยามารับประทานทุกวัน ระหว่างการพิจารณาคดีอายยังมีอาการและอารมณ์ดิ่งอยู่ หลังเข้าเรือนจำเธอมีภาวะอารมณ์แปรปรวน สภาพจิตใจแย่ลง “หาทางระบายความเครียดด้วยการแอบทำร้ายตัวเอง ทำให้ตัวเองมีแผลทางร่างกาย โดยนำหนังยางมาดีดใส่ข้อมือจนเหมือนรอยกรีด ทุบพื้นให้นิ้วช้ำ หรือดึงเล็บจนให้มีเลือดไหล” อายยังคงเผชิญกับความยากลำบากในการรักษาโรคซึมเศร้าภายในเรือนจำ

อีกคนหนึ่งที่ต้องเผชิญกับภาวะซึมเศร้าคือ มานี-เงินตา คำแสน เธอบอกว่า การรักษาในเรือนจำเป็นเรื่องยาก ต้องรอแพทย์สามสี่ชั่วโมงและได้รับการจ่ายยาที่ไม่ได้ระบุว่า รักษาอาการอะไร ความวุ่นวายและแออัดที่เพิ่มขึ้นในเรือนจำทำให้อาการแพนิคของเธอกำเริบ หลังอาการกำเริบเธอยังไม่ได้พบจิตแพทย์เนื่องจากจิตแพทย์จะเข้าเวรสัปดาห์ละครั้ง การได้รับยาเพื่อรักษาอาการต้องพบหมอสองครั้งและใช้เวลากว่าสัปดาห์ ประกอบกับความไม่มั่นใจในประสิทธิภาพการรักษาจึงตัดสินใจไม่ไปพบจิตแพทย์