ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กาสิโนถูกกฎหมายที่คนไทย (ส่วนใหญ่) อาจไม่ได้เล่น

คนไทยผู้หลงใหลในการพนันอาจดีใจหลังรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร เสนอร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. (ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ) ต่อสภาผู้แทนราษฎร และถูก “ลัดคิว” ขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ ตามญัตติที่อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) พรรคเพื่อไทย เสนอเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2568 โดยพ่วงเอาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมสี่ฉบับ มาพิจารณาต่อด้วย แต่เมื่อดูเนื้อหาร่างกฎหมาย ก็อาจดีใจไม่ออก เพราะร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กำหนดให้คนไทยที่จะเข้ากาสิโนได้ต้องเสียค่าเข้า 5,000 บาท และมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหกเดือน ขณะที่คนต่างชาติไม่มีเงื่อนไขนี้ ซ้ำยังเขียน “ดักทาง” ห้ามถ่ายทอดการเล่นพนันในกาสิโนเพื่อให้บุคคลภายนอกกาสิโนเล่นพนันได้

การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (Entertainment Complex) ใช้ระบบ “อนุญาต” ผู้ที่จะประกอบธุรกิจได้ ต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท โดยในร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ “ยกเว้น” ให้ผู้ได้รับอนุญาตไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ และเปิดทางให้ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่มีนายกรัฐมนตรีนั่งหัวโต๊ะเคาะได้ว่าบริษัทที่จะมาประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร จะมีสัดส่วนกรรมการที่ไม่มีสัญชาติไทยได้เท่าไหร่ ซึ่งอาจกำหนดให้มีกรรมการเป็นคนสัญชาติอื่นมากกว่าคนสัญชาติไทยก็ได้ ทั้งยังเปิดทางให้รัฐบาลสามารถยกเว้นกฎหมายอื่นๆ ให้กับผู้ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรได้อีก

สถานบันเทิงครบวงจร เป็นนโยบายชุดที่เจ็ดของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตรที่จะส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศโดยการสร้างแหล่งท่องเที่ยวที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man Made Destination) เช่น สวนน้ำ สวนสนุก ห้างสรรพสินค้า สถานบริการรวมถึง “กาสิโน” โดยคาดหวังว่าจะนำไปสู่การจ้างงานแรงงานไทยในประเทศและดึงดูดการลงทุน

เพื่อไทยแจง “สถานบันเทิงครบวงจร ≠ กาสิโน” แต่บังคับในสถานบันเทิงครบวงจรต้องมีกาสิโน

แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะชี้แจงเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2568 ผ่านเเฟซบุ๊กเพจว่า “สถานบันเทิงครบวงจร ≠ กาสิโน” แต่ร่างพ.ร.บ. สถานบันเทิงครบวงจรฯ ระบุนิยามคำว่า “ธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร” ไว้ว่า คือ การให้บริการเพื่อการท่องเที่ยว การพักผ่อนหย่อนใจ หรือการนันทนาการในรูปแบบของธุรกิจหลายประเภทร่วมกันกับ “กาสิโน”

ประเภทของธุรกิจสถานบันเทิงตามบัญชีแนบท้ายร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบไปด้วย ห้างสรรพสินค้า โรงแรม สถานบริการ สนามกีฬา ยอร์ชและครูซซิ่งคลับ สถานที่เล่นเกม สระว่ายน้ำและสวนน้ำ สวนสนุก และกิจการอื่นที่คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจรออกประกาศกำหนดเพิ่มภายหลังหากกฎหมายมีผลบังคับใช้ โดยในสถานบันเทิงครบวงจรจะต้องมีธุรกิจอย่างน้อยสี่ประเภทและเป็น “ภาคบังคับ” ว่าจะต้องมี “กาสิโน” ร่วมอยู่ด้วย กาสิโนในประเทศไทยจะจัดขึ้นได้เฉพาะในสถานบันเทิงครบวงจรเท่านั้น (ร่างมาตรา 69 วรรคหนึ่ง) นอกจากนี้ ยังกำหนดบังคับให้สถานบันเทิงครบวงจร จะต้องมีพื้นที่สำหรับส่งเสริมสินค้า บริการและศิลปวัฒนธรรมไทยอีกไม่น้อยกว่า 10% ของพื้นที่ทั้งหมด (ร่างมาตรา 50 (1))

ทุนไทย-ทุนต่างชาติที่เงินถึง ขออนุญาตสร้างสถานบันเทิงครบวงจรได้

สำหรับการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้ระบบ “อนุญาต” ให้ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจ ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการนโยบายฯ) ซึ่งประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี (ประธาน) รองนายกรัฐมนตรี (รองประธาน) รัฐมนตรีหกกระทรวง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินหกคน

ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรจะต้องเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัดที่จดทะเบียนในประเทศไทย มีทุนชำระแล้ว (ค่าหุ้นที่ผู้ถือหุ้นชำระแล้ว) ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท 

ผู้ขอรับใบอนุญาตจะต้องยื่นต่อสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พร้อมระบุว่าจะประกอบธุรกิจประเภทใดบ้าง มีแผนผังรูปแบบสถานที่ สัดส่วนการจ้างงานคนไทย รายละเอียดโครงสร้างบริษัท ผู้บริหารและผู้ถือหุ้น รวมถึงมาตรการป้องกัน แก้ไข เยียวยาผลกระทบจากธุรกิจของตน

สำหรับการประกอบธุรกิจตามกฎหมายไทย ไม่ว่าจะรูปแบบบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) หรือบริษัทมหาชนจำกัดตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ) ไม่ได้จำกัดให้เฉพาะผู้ที่มีสัญชาติไทยเท่านั้นที่จะเป็นผู้เริ่มจัดตั้งบริษัทหรือกรรมการได้ คนสัญชาติอื่นก็สามารถประกอบธุรกิจในไทย เริ่มจัดตั้งบริษัทหรือเป็นกรรมการได้ ภายใต้เงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

กรณีของบริษัทมหาชนจำกัด ผู้เริ่มจัดตั้งจะต้องมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรเป็นจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้เริ่มจัดตั้งทั้งหมด และกรณีของกรรมการ จะต้องมีกรรมการที่มีมีถิ่นที่อยู่ในราชอาณาจักรไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการทั้งหมด นอกจากนี้ ในพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ) ยังกำหนดห้าม (1) คนสัญชาติอื่นที่ถูกเนรเทศ (2) คนสัญชาติอื่นที่เข้ามาในไทยโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบธุรกิจในไทย ดังนั้น คนสัญชาติอื่นที่จะประกอบธุรกิจในไทยได้ ต้องเข้ามาอยู่ในไทยโดยได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522

แต่ไม่ใช่ว่าคนสัญชาติอื่นจะประกอบธุรกิจใดๆ ในประเทศไทยโดยไร้เงื่อนไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ กำหนดให้การประกอบธุรกิจของ 1) คนสัญชาติอื่น 2) นิติบุคคล (เช่น บริษัทจำกัด บริษัทมหาชนจำกัด) ซึ่งไม่ได้จดทะเบียนในไทย 3) นิติบุคคลที่จดทะเบียนในไทย แต่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่น/เป็นนิติบุคคลที่ไม่ได้จดทะเบียนในไทยถือหุ้นตั้งแต่ 50% ขึ้นไป จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุม กล่าวคือ ห้ามประกอบธุรกิจเก้าประเภทตามบัญชีหนึ่งท้ายพระราชบัญญัติ หากจะประกอบธุรกิจตามบัญชีสอง เช่น การค้าของเก่า หรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรมของไทย ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์โดยอนุมัติของครม. ส่วนธุรกิจตามบัญชีสาม เช่น การทำกิจการโรงแรม จะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าโดยความเห็นชอบจากคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว

อย่างไรก็ดี ในร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ มาตรา 54 กำหนดให้ “ผู้รับใบอนุญาต” ได้รับยกเว้นจากกฎหมาย ดังนี้ต่อไป

  1. พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ส่งผลให้ ต่อให้เป็นบริษัทที่มีผู้ถือหุ้นเป็นคนสัญชาติอื่นเกิน 50% ก็สามารถประกอบธุรกิจโรงแรมในสถานบันเทิงครบวงจรได้ โดยไม่ต้องไปขออนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้าแยกอีก แต่ขออนุญาตคณะกรรมการนโยบายฯ ทีเดียว และหากจะจำหน่ายของเก่า หรือศิลปวัตถุ ซึ่งเป็นงานศิลปกรรม หัตถกรรมของไทย ก็ไม่ต้องขออนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
  1. พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัดฯ มาตรา 67 ที่ระบุให้กรรมการบริษัทไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งจะต้องมีถิ่นที่อยู่ในไทย ไม่ให้ใช้กับผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ทั้งยังระบุเพิ่มว่า ให้มีจำนวนกรรมการซึ่งเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทยได้ไม่เกินจำนวนที่คณะกรรมการนโยบายฯ กำหนด หมายความว่า บริษัทจำกัดหรือบริษัทจำกัด ที่จะมาขออนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร อาจเป็นบริษัทที่มีสัดส่วนกรรมการเป็นคนสัญชาติอื่นมากกว่าคนสัญชาติไทยก็ได้ กรรมการคนสัญชาติอื่นอาจไม่จำเป็นต้องมีถิ่นที่อยู่ในไทยก็ได้ ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบายฯ จะกำหนดสัดส่วนไว้
  1. ป.พ.พ. มาตรา 1105 วรรคสาม ซึ่งกำหนดว่า การจ่ายค่าหุ้นคราวแรกต้องชำระอย่างน้อย 25% ของมูลค่าหุ้น เป็นกำหนดให้ต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวนเท่านั้น สำหรับกรณีของบริษัทจำกัด
  1. กฎหมายอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา ซึ่งจะประกาศภายหลังหากร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ บังคับใช้

เงื่อนไขบริษัทผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีทุนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และในกรณีของบริษัทจำกัด จะต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเต็มจำนวนเท่านั้น ทำให้บริษัทที่จะมาขออนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรได้ต้องเป็น “ทุนใหญ่” พรรคเพื่อไทยระบุว่า “เงื่อนไขนี้จะดึงดูดบริษัทที่มีประสบการณ์ มีผลงานสำเร็จ มีมาตรฐานการจัดการระดับโลก” ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีกาสิโนถูกกฎหมายมาก่อน ดังนั้นบริษัทที่จะมีประสบการณ์หรือมาตรฐานระดับโลกได้จะมีเพียงแค่บริษัทต่างชาติเท่านั้น

ศักยภาพด้านการเงินของผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร นอกจากจะต้องพิสูจน์ผ่านทุนชำระไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทแล้ว ยังพิสูจน์ผ่านค่าธรรมเนียมใบอนุญาต โดยจะถูกกำหนดไว้ในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 52 วรรคท้าย) โดยมีเพดานขั้นสูงว่า “ต้องไม่เกิน” อัตราบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ  

ใบอนุญาต มีอายุ 30 ปี สำหรับใบอนุญาตครั้งแรก ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กำหนดไว้ฉบับละไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ใบอนุญาตรายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท หากผู้รับใบอนุญาต ประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรครบอายุใบอนุญาต 30 ปี จะมีค่าใช้จ่ายสำหรับใบอนุญาตรวมถึงใบอนุญาตรายปีสูงสุดรวมเป็นเงิน 35,000 ล้านบาท

กรณีใบอนุญาตหมดอายุก็อาจขอต่ออายุได้อีก 10 ปี (ร่างมาตรา 75 วรรคสอง) โดยจะต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาตครั้งแรกสำหรับการต่ออายุ 5,000 ล้านบาท และค่าธรรมเนียมรายปีมีเพดานสูงสุดคือปีละ 1,000 ล้านบาทดังเดิม

ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ มาตรา 64 กำหนดเงื่อนไขบังคับให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้อง (1) ประกอบธุรกิจด้วยตนเอง จะมอบการบริหารจัดการหรือยินยอมให้บุคคลอื่นมีอำนาจประกอบธุรกิจแทนไม่ได้ (2) ห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตให้บุคคลอื่นหรือนำหุ้นไปเป็นหลักประกันชำระหนี้ (3) ห้ามเปลี่ยนกรรมการ ผู้บริหาร หรือโครงสร้างองค์กร (4) ห้ามผู้ถือหุ้นในบริษัทจ่าย โอนหุ้น หรือนำหุ้นเป็นหลักประกันชำระนี้ แต่ก็มีข้อยกเว้นหากได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการบริหารฯ)

ผู้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามร่างกฎหมายฉบับนี้อย่างเคร่งครัด การฝ่าฝืนหรือไม่ดำเนินการตามจะต้องแก้ไขให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกปรับเป็นพินัย หรือพักใบอนุญาตบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้ ขึ้นอยู่กับความร้ายแรงของพฤติการณ์

คนไทยที่รวย (มาก) อาจได้เข้าเล่นกาสิโน

ไม่ใช่ว่าใครจะเข้าเล่นพนันในกาสิโนก็ได้ ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กำหนดมาตรการให้ผู้ที่จะเข้าเล่นพนันในกาสิโนได้จะต้อง 1) มีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี 2) ต้องลงทะเบียนและชำระค่าธรรมเนียมค่าเข้ากาสิโนครั้งละ 5,000 บาท

สำหรับบุคคล “สัญชาติไทย” มีเงื่อนไขพิเศษว่าจะต้องมีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาทต่อเนื่องกันไม่น้อยกว่าหกเดือน และจะต้องผ่านการตรวจสอบตามที่คณะกรรมบริหารฯ กำหนดเท่านั้น ส่วนบุคคลสัญชาติอื่น ในร่างกฎหมายนี้ไม่ได้กำหนดเงื่อนไขพิเศษเรื่องเงินฝากไว้

ฐานเศรษฐกิจ รายงานว่า จากข้อมูลยอดคงค้างเงินฝากในบัญชีในระบบธนาคารพาณิชย์ พบว่ามีบัญชีเงินฝากที่มีเงินฝากเกิน 50 ล้านบาทมีเพียง 30,629 บัญชีเท่านั้น แม้ว่าทางปฏิบัติแล้วบุคคลหนึ่งอาจเป็นเจ้าของหลายบัญชีในจำนวนนั้นได้ แต่หากตั้งสมมุติฐานว่าบุคคลสัญชาติไทยหนึ่งคนเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากเพียงบัญชีเดียว เท่ากับว่า จะมีคนสัญชาติไทย 30,629 คนจากประชากรทั้งหมด 65,932,105 คน หรือคิดเป็น 0.046 % เท่านั้นที่สามารถเล่นกาสิโนตามเงื่อนไขในร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ได้ อย่างไรก็ดี พรรคเพื่อไทยระบุว่าเงื่อนไขยอดเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำไม่น้อยกว่า 50 ล้านบาท อาจปรับเปลี่ยนได้ในชั้นกรรมาธิการวาระสอง

สำหรับบุคคลสัญชาติไทยที่ไม่มีเงินฝากในบัญชีเงินฝากประจำ 50 ล้านบาท แม้ว่าจะไม่สามารถเข้าเล่นพนันในกาสิโนได้ แต่ก็ยังสามารถใช้บริการอื่นๆ ในธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรได้ เช่น สระว่ายน้ำ สนามกีฬา สถานที่เล่นเกม หรือสวนสนุก เป็นต้น

หากผู้ใดฝ่าฝืนเข้าไปในกาสิโนโดยไม่มีคุณสมบัติที่จะเข้ากาสิโนได้ เช่น อายุต่ำกว่า 20 ปี หรือบุคคลสัญชาติไทยที่ไม่มีเงินฝาก 50 ล้านบาท ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 50,000 บาท

สำหรับบุคคลที่จะเข้าเล่นพนันในกาสิโนจะต้องไม่กระทำการ ดังต่อไปนี้

  • นำอาวุธเข้าไปในกาสิโน
  • เล่นพนันผิดหรือฝ่าฝืนหลักเกณฑ์ วิธีการเล่น และรายละเอียดของการพนันในกาสิโน
  • ข้องเกี่ยวกับยาเสพติด
  • ติดต่อ ชักชวน แนะนำตัว ติดตาม หรือรบเร้าบุคคลอื่นเพื่อค้าประเวณี โดยเปิดเผยหรือน่าอับอาย
  • มึนเมา ประพฤติตัววุ่นวาย ครองสติไม่ได้ 
  • ขัดขวางการประกอบธุรกิจ 
  • หรือก่อความไม่สงบในกาสิโน

หากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกาสิโนไม่ควบคุมหรือปล่อยปะละเลยให้มีการกระทำดังกล่าวจะมีโทษจำคุกไม่เกินสามปีหรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

คณะกรรมการนโยบายฯ มีอำนาจ เคาะวัน-เวลาขายเหล้า เปิดปิดสถานบันเทิง

กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพนันโดยตรง อย่างพระราชบัญญัติการพนัน พุทธศักราช 2478 (พ.ร.บ.การพนันฯ) กำหนดหลักเกณฑ์ห้ามไม่ให้มีการจัดเข้าเล่นการพนันบางประเภทตามบัญชีท้ายพระราชบัญญัติ ยกเว้นจะได้รับอนุญาตในบางพื้นที่ นอกจากนี้ ใน ป.พ.พ มาตรา 853 กำหนดว่าการพนันหรือขันต่อไม่ก่อให้เกิดหนี้ ทวงคืนไม่ได้

อย่างไรก็ดี ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ มาตรา 69 เขียนยกเว้นไม่ให้ใช้บังคับพ.ร.บ.การพนันฯ กับกรณีของกาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร หมายความว่า เงื่อนไขรายละเอียดการพนันต่างๆ ที่เกิดขึ้นในกาสิโน รวมถึงระบบการอนุญาตให้มีการพนันในกาสิโน จะยึดตามร่างพ.ร.บ. นี้เป็นหลัก ไม่ได้ยึดหลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.การพนันฯ และยังกำหนดยกเว้นป.พ.พ. มาตรา 853 ทั้งยังระบุชัดว่า ให้หนี้ที่เกิดจากการเล่นการพนันในกาสิโนเป็นหนี้ที่ต้องชำระตามกฎหมาย เท่ากับว่าผู้ที่เล่นพนันที่กาสิโนในสถานบันเทิงครบวงจร หากแพ้พนันก็จะต้องชำระหนี้ตามเงื่อนไขของกาสิโนแต่ละที่ ส่วนกาสิโนผู้เป็นเจ้าหนี้ก็จะมีสิทธิเรียกร้องให้ผู้เล่นที่แพ้พนันชำระหนี้ภายในเวลาที่กำหนด 

นอกจากนี้ ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ มาตรา 68 กำหนดให้มาตรการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรจะได้รับการยกเว้นกฎหมายอื่นๆ ดังนี้

1) การกำหนดวัน เวลา เปิดปิดและสถานที่ตั้งของสถานบริการตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ

ตามพระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 17 กำหนดว่า วันเวลาเปิดปิดของสถานบริการเป็นไปตามกฎกระทรวง ส่วนสถานที่ตั้งของสถานบริการ ต้องไม่อยู่ใกล้ชิดวัด สถานที่หรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา โรงเรียนหรือสถานศึกษา โรงพยาบาล สถานพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน สโมสรเยาวชน หรือหอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก ไม่อยู่ในย่านที่ประชาชนอยู่อาศัย และต้องมีทางถ่ายเทอากาศสะดวก

ซึ่งในกฎกระทรวงกำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการ พ.ศ. 2547 กำหนดวันเวลาเปิดปิดของสถานบริการไว้หลายประเภท สำหรับสถานบันเทิงที่มีการจำหน่ายสุรา ผับ บาร์ จะเปิดได้ระหว่างเวลา 18:00 ถึง 01:00 น. ของวันถัดไป หรือ 18:00 ถึง 24:00 น.ของวันเดียวกัน ขึ้นอยู่กับว่าสถานบริการนั้นตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อนุญาตใด 

2) การกำหนดเวลาและสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 กำหนดสถานที่ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่หรือบริเวณสถานที่เหล่านี้ 1) วัดหรือสถานที่ปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา 2) สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ 3) สถานที่ราชการ 4) หอพัก 5) สถานศึกษา 6) สถานบริการน้ำมันเชื้อเพลิง 7) สวนสาธารณะของทางราชการ 8) สถานที่อื่นๆ ที่รัฐมนตรีกำหนด

สำหรับเวลาที่ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรา 28 กำหนดให้รัฐมนตรีประกาศกำหนด ซึ่งในประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2567 กำหนดห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันสำคัญทางพุทธศาสนา ได้แก่ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา ยกเว้นการขายในอาคารที่ให้บริการผู้โดยสารภายในสนามบินที่บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศ สามารถจำหน่ายได้ในวันดังกล่าว

3) เขตสูบบุหรี่ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ

พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 กำหนดให้สถานที่สาธารณะ ที่ทำงาน จะต้องมีเขตปลอดบุหรี่โดยมีพื้นที่เป็นสัดส่วนชัดเจน มีเครื่องหมายติดแสดงชัดเจนว่าเป็นเขตสูบบุหรี่ แสดงสื่อรณรงค์การลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ ต้องไม่อยู่ในบริเวณทางเข้าออกของสถานที่หรือบริเวณที่เปิดเผยเห็นได้ชัด

ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ให้ดุลยพินิจของคณะกรรมการนโยบายฯ ในการกำหนดวัน เวลา เปิดปิดและสถานที่ตั้งของสถานบันเทิง เวลาและสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงเขตสูบบุหรี่ ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ อาจจะกำหนดแตกต่างกับพื้นที่ทั่วไปในประเทศไทยที่อยู่นอกสถานบันเทิงครบวงจรก็ได้

แยกพื้นที่กาสิโน แต่ต้องอยู่ในสถานบันเทิงครบวงจร

ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ มาตรา 49 ให้คณะกรรมการนโยบายฯ ออกประกาศกำหนดสัดส่วนพื้นที่กาสิโน โดยกำหนดเพดานขั้นสูงของสัดส่วนพื้นที่กาสิโนไว้ว่า ในสถานบันเทิงครบวงจรจะต้องมีสัดส่วนพื้นที่กาสิโนอยู่ไม่เกิน 10% ของที่ดินหรือพื้นที่ใช้สอยของอาคารที่ตั้งสถานบันเทิงครบวงจร แล้วแต่กรณีใดจะน้อยกว่ากัน

ภายในสถานบันเทิงครบวงจร จะต้องจัดโซนกาสิโนแยกจากสถานบันเทิงอื่น ดังนี้

  • กรณีกาสิโนที่อยู่ในอาคารเดียวกันกับสถานบันเทิงอื่น ต้องอยู่แยกชั้นต่างหาก มีทางเข้าออกหรือลิฟต์แยกเฉพาะสำหรับกาสิโน 
  • กรณีกาสิโนที่อยู่ในอาคารแยกจะต้องมีรั้วกั้นเขต และทางเข้าออกที่ชัดเจน

ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร จะต้องคุมเข้มตรวจสอบการเข้าออกกาสิโนโดยการตรวจบัตรประจำตัวประชาชนหรือหนังสือเดินทางอย่างเคร่งครัด

โป๊กเกอร์ ดัมมี่ ป็อกเด้ง คณะกรรมการนโยบายฯ เคาะว่าเล่นอะไรได้บ้าง

การเล่นการพนันในสถานบันเทิงครบวงจร จะเล่นการพนันประเภทใดได้บ้าง คณะกรรมการนโยบายฯ จะกำหนดประเภทของการพนันที่อนุญาตให้สามารถเล่นได้ โดยจะกำหนดหลักเกณฑ์ ลักษณะ วิธีการเล่น รวมถึงรายละเอียดของการพนันเอาไว้ (ร่างมาตรา 70) ซึ่งคณะกรรมการนโยบายฯ อาจจะกำหนดโดยอิงจากการพนันตามบัญชีท้ายพ.ร.บ.การพนันฯ หรือจะกำหนดประเภทอื่นก็ได้

หากผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีการเล่นพนันโดยฝ่าฝืนแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายกำหนดฯ และไม่แก้ไขให้ถูกต้อง ต้องชำระค่าปรับเป็นพินัยไม่เกิน 5,000,000 หรือ 0.5 % ของรายได้กาสิโนทั้งปี แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่ากัน และให้ชำระค่าปรับเป็นพินัยอีกวันละไม่เกิน 100,000 บาทจนกว่าจะปฏิบัติให้ถูกต้อง

สกัดดาวรุ่งห้ามปั๊มยอด ดักทางห้ามคนนอกกาสิโนเล่นพนันออนไลน์

ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ มาตรา 84 ยังกำหนดห้ามไม่ให้มีการจัดพนันในกาสิโนเชื่อมต่อผ่านระบบคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรือถ่ายทอดการเล่นพนันให้บุคคลภายในกาสิโนเล่นพนันได้ 

ผู้ใดจัดให้มีการเล่นพนันออนไลน์โดยเชื่อมต่อกาสิโนออกมาสู่โลกภายนอกจะมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกิน 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้รับใบอนุญาตจะได้รับโทษมากขึ้น “สองเท่า”

ผู้รับใบอนุญาตหรือบุคคลอื่นจะไม่สามารถจ้างหรือให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่บุคคลอื่นเพื่อเพิ่มยอดหรือเพิ่มจำนวนคนเล่นพนันในกาสิโน หรือเพิ่มจำนวนเงินที่จ่ายในการเล่นพนันได้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท

ตั้งคณะกรรมการสองชุด หนึ่งสำนักงาน รายได้จากค่าธรรมเนียมต่างๆ นำส่งคลังเป็นรายได้แผ่นดิน

ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กำหนดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสองชุดเพื่อทำงานเรื่องนี้โดยเฉพาะ คือ

  1. คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการนโยบายฯ) : มีอำนาจสำคัญๆ คือการพิจารณาและออกคำสั่งเกี่ยวกับการออก การต่อ การเพิกถอนใบอนุญาต เสนอแนะอัตราภาษีที่เกี่ยวข้องกับกาสิโนต่อ ครม. 
  2. คณะกรรมการบริหารสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (คณะกรรมการบริหารฯ) ประกอบไปด้วย นายกรัฐมนตรี (ประธาน) ปลัดหกกระทรวง และข้าราชการประจำนั่งเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ อธิบดีกรมการปกครอง เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าคน มีอำนาจสำคัญการควบคุมการดำเนินงานของสำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ให้เป็นไปตามกฎหมาย

สำนักงานควบคุมการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร (สำนักงานสถานบันเทิงครบวงจรฯ) เป็นหน่วยงานธุรการของคณะกรรมการทั้งสองชุด มีผู้อำนวยการที่คณะกรรมการนโยบายฯ แต่งตั้งทำหน้าที่เป็นผู้บริหาร โดยสำนักงานอาจได้รับเงินอุดหนุนจากงบประมาณที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามความจำเป็นและเหมาะสม (ร่างมาตรา 26 (1)) ส่วนค่าบริหาร ค่าตอบแทน หรือรายได้จากการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของสำนักงาน เช่น ค่าธรรมเนียมใบอนุญาต จะเป็นรายได้ที่ต้องนำส่งคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินด้วย (ร่างมาตรา 26 วรรคท้าย) ซึ่งเงินดังกล่าวก็จะถูกนำไปจัดสรรเพื่อใช้จ่ายเป็นงบประมาณรายจ่ายแผ่นดิน ตามกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่อไป

สำนักงานสถานบันเทิงครบวงจรฯ มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐ เป็นนิติบุคคล แต่ในร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ก็กำหนดให้ ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น ส่งผลให้สำนักงานสถานบันเทิงครบวงจรฯ ไม่เป็น “หน่วยรับตรวจ” ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดินฯ) หมายความว่า ระบบการตรวจเงิน (Audit) ของสำนักงานสถานบันเทิงครบวงจรฯ จะไม่เหมือนหน่วยรับตรวจหน่วยงานรัฐอื่นๆ ที่มีเจ้าหน้าที่ไปตรวจ หากมีข้อบกพร่อง เช่น เจ้าหน้าที่ของหน่วยรับตรวจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินสามารถแจ้งให้หน่วยงานรัฐที่เป็นหน่วยรับตรวจดำเนินการเรียกค่าเสียหายแก่รัฐหรือดำเนินการทางวินัยกับเจ้าหน้าที่ได้

อย่างไรก็ดี ในร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ก็กำหนดระบบการตรวจเงินของสำนักงานไว้โดยเฉพาะ โดยให้คณะกรรมการบริหารฯ ตั้งกรรมการจากผู้ทรงคุณวุฒิไม่น้อยกว่าสามคนเป็นคณะกรรมการตรวจสอบ พิจารณารายงานที่ผู้ตรวจสอบภายในของสำนักงานจัดทำ

แม้จะไม่ได้ใช้ระบบตรวจเงินตามพ.ร.ป.การตรวจเงินแผ่นดินฯ แต่สำนักงานสถานบันเทิงครบวงจรฯ ต้องจัดทำรายงานการเงินประจำปีงบประมาณ ส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายใน 90 วันนับแต่สิ้นปีงบประมาณ และให้ทำรายงานประจำปีเสนอต่อคณะกรรมการบริหารฯ เห็นชอบเพื่อเสนอ ครม. นำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาต่อไป

สำหรับบุคลากรที่จะปฏิบัติหน้าที่ในสำนักงานสถานบันเทิงครบวงจรฯ ช่วงเริ่มต้น บทเฉพาะกาลของร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กำหนดให้ครม. พิจารณาให้ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ หรือผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานรัฐอื่นๆ มาปฏิบัติงานในสำนักงานชั่วคราวโดยไม่ขาดสภาพเดิม 

เจ้าหน้าที่คุมเข้ม เข้า-ออก เรียกเอกสาร อายัดทรัพย์ได้ตลอด

ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ กำหนดให้พนักงานเจ้าหน้าที่ มีอำนาจในการ

  • เข้าไปในสถานบันเทิงครบวงจรหรือสถานที่ตั้งของผู้รับใบอนุญาต ระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตก หรือในระหว่างทำการ เพื่อตรวจสอบและสังเกตการณ์
  • เรียกเอกสารหลักฐานจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดในสถานบันเทิง รวมถึงเรียกมาให้ถ้อยคำเพื่อตรวจสอบได้
  • เข้าถึงระบบเทคโนโลยีของสถานบันเทิง
  • ยึดหรืออายัดทรัพย์เพื่อประโยชน์ในการสอบสวนคดี
  • รับและตรวจสอบข้อร้องเรียนหรือข้อพิพาทจากผู้ใช้บริการ
  • สั่งให้ผู้รับใบอนุญาตหรือพนักงานของกาสิโนหยุดให้บริการกาสิโน
  • สั่งให้ผู้ใช้บริการกาสิโนแจ้งชื่อ เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการฝ่าฝืนร่างกฎหมายฉบับนี้

เสียงค้านหวั่นได้ไม่คุ้มเสีย ห่วงกาสิโนกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน 

แม้ร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ จะเป็นหนึ่งในร่างกฎหมายสำคัญและ “เร่งด่วน” ของรัฐบาล ดังจะเห็นได้จากที่ สส. พรรคเพื่อไทยเสนอเลื่อนร่างกฎหมายดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาก่อนร่างกฎหมายอื่นๆ แต่ก่อนที่จะเข้าสู่การพิจารณาในวาระหนึ่ง ก็มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และข้อสังเกตจากประชาชนรวมถึงพรรคการเมือง อาทิ

กลุ่มเศรษฐศาสตร์เพื่อสังคม ออกจดหมายเปิดผนึกถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค คัดค้านร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ โดยหนึ่งในข้อคัดค้านที่ยกมา คือ กาสิโนอาจถูกใช้เป็นพื้นที่ฟอกเงินของธุรกิจผิดกฎหมายได้ 

ชมรมสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 2550 ได้ออกหนังสือเปิดผนึกคัดค้านร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ โดยให้เหตุผลว่าร่างกฎหมายดังกล่าวไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องรีบพิจารณา การเสนอร่างกฎหมายนี้ไม่สามารถแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจของชาติและปัญหาปากท้องของประชาชนได้ แต่กลับเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนต่างชาติบางกลุ่ม

กลุ่มอาจารย์และนักวิขาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกแถลงการณ์คัดค้านการออกร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ระบุว่า การดำเนินนโยบายจัดตั้งบ่อนกาสิโน โดยรัฐบาลอ้างว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจากการลงทุนและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น พิจารณาโดยรอบด้านแล้วเห็นว่า ผลได้ทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลกล่าวอ้างอย่างเลื่อนลอยไม่อาจหักล้างผลเสียที่จะเกิดกับสังคมในวงกว้างและยาวนานอย่างแน่นอน และจะเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ยั่งยืน ไม่ปลอดภัย

ด้านพริษฐ์ วัชรสินธุ สส. พรรคประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลมีความพยายามจะเร่งรัดร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ทั้งๆ ที่รัฐบาลยอมรับเองว่า ยังไม่ได้มีการทำ “รายงานการศึกษาความเป็นไปได้” (feasibility study) เกี่ยวกับนโยบายสถาบันเทิงครบวงจรหรือกาสิโน โดยรัฐบาลตั้งใจจะให้มีการทำ รายงานการศึกษาความเป็นไปได้ “หลัง” ร่างพ.ร.บ. สถาบันเทิงครบวงจรฯ ผ่านความเห็นชอบของสภา และมีการจัดตั้งคณะกรรมการและสำนักงานที่เกี่ยวข้องเสร็จเรียบร้อยแล้ว 

พริษฐ์ตั้งคำถามว่า เหตุใดรัฐบาลถึงไม่ไปทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้ให้เสร็จก่อน แล้วหากผลการศึกษาบอกชัดเจนว่าให้เดินหน้าต่อ จึงค่อยมาเสนอกฎหมายมาที่สภา และตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าทำรายงานการศึกษาความเป็นไปได้หลังกฎหมายผ่าน แล้วผลการศึกษาบอกว่าเราควรวางหลักประกันบางอย่างเพิ่มเติมในตัวบทกฎหมาย เช่น มาตรการป้องกันการติดการพนัน เพดานจำนวนกาสิโน สัดส่วนการจ้างงาน เช่นนี้จะต้องมาย้อนแก้ไขกฎหมายกันในสภาอีกรอบหรือไม่

ฝั่งสภาสูง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ก็แสดงความกังวลต่อร่างกฎหมายนี้ วีระพันธ์ สุวรรณนามัย สว. จากกลุ่มที่สี่ กลุ่มการสาธารณสุข เสนอญัตติให้วุฒิสภาพิจารณาผลกระทบจากการดำเนินการเกี่ยวกับร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ โดยในเอกสารประกอบการพิจารณาญัตติ ระบุเหตุผลที่เสนอญัตตินี้ว่า เนื้อหาบางส่วนในรางกฎหมายดังกล่าวยังมีข้อกังวลจากหลายภาคสวนในสังคม ทั้งในเรื่องการขยายเวลาทำการของสถานบันเทิงครบวงจร การกำหนดพื้นที่อนุญาตใหดำเนินกิจการ การควบคุมอายุผู้เข้าใช้บริการ การบังคับใช้กฎหมายในทางปฏิบัติตลอดจนผลกระทบตอเยาวชน ครอบครัว และภาพลักษณ์ของประเทศในเวทีระหว่างประเทศ

ด้านสรชาติ วิชย สุวรรณพรหม สว. จากกลุ่มที่ 13 กลุ่มผู้ประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร การพัฒนานวัตกรรม เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร ในเอกสารประกอบการพิจารณาญัตติ ระบุเหตุผลว่าในสภาผู้แทนราษฎรไทย ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร เพื่อแก้ไขปัญหาบ่อนพนันผิดกฎหมายและเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของประเทศขึ้น โดยได้มีรายงานผลการพิจารณาศึกษา ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ได้มีมติทราบแล้ว และมอบหมายกระทรวงการคลังศึกษาต่อ จนกระทั่งตอนนี้เข้าสู่ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ แล้ว จึงเป็นการสมควรที่วุฒิสภาจะตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจรขึ้น เพื่อทำงานต่อยอดจากผลการพิจารณาศึกษาที่ผ่านมาของสภาผู้แทนราษฎรและกระทรวงการคลัง โดยทำหน้าที่พิจารณาศึกษาแนวทางในการจัดตั้ง ผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบที่อาจเกิดขึ้นได้ รวมทั้งศึกษาร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีความละเอียดอ่อนและจะส่งผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจไทยอย่างยิ่งด้วย อีกทางหนึ่ง

โดยทั้งสองญัตติของ สว. จะเข้าสู่การพิจารณาของวุฒิสภาในวันที่ 8 เมษายน 2568 หนึ่งวันก่อนที่ฝั่งสภาผู้แทนราษรจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.สถานบันเทิงครบวงจรฯ